สายตาที่ทอดมองไปในยามพลบค่ำที่แสงหรุบหรู่ ความมืดเข้าครอบคลุม แต่แสงไฟที่จับพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วกลับสว่างจ้าเปล่งรัศมีจนขนลุกซู่ เมื่อรถเมล์วิ่งมาถึงสนามหลวง ผ่านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรมศิลปากร ฯลฯ แล้วเลี้ยวเลาะรอบพระบรมมหาราชวังไปสุดทางที่ท่ารถเมล์สาย 33 ริมคลองหลอด ตรงกระทรวงมหาดไทย
การท่องเที่ยวแบบประหยัดสุดๆ 1 วัน 3 จังหวัด ด้วยค่าโดยสารเพียง 21 บาท สำหรับไป-กลับ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
1 การเดินทางของ 'สมัย' ในวันหยุดปีใหม่
สมัย หนูนิ่ม เป็นหนุ่มเต็มวัย อายุ 18 ปี เป็นเด็กต่างจังหวัด เพิ่งเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เป็นปีแรก เขาไม่ได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้วยความที่เป็นนักศึกษาเบี้ยน้อยหอยน้อยจึงหาวิธีการท่องเที่ยวที่มีราคาถูก ได้ปริมาณและมีคุณภาพมากที่สุด
เขาได้ค้นพบว่า รถเมล์สาย 33 สนามหลวง-ปทุมธานี ตอบโจทย์ของเขาได้อย่างหมดจด
แม้เขาจะเปิดดูในกระทู้ของเว็บไซต์ต่างๆ ที่กล่าวถึงรถเมล์สายนี้ในแง่ไม่ดีก็ตาม อาทิ การให้รายละเอียดถึงสภาพของรถเมล์สายนี้อย่างน่ากลัวว่า "เบรกสะบัด คลัตช์เสีย เกียร์หลุด เครื่องสะดุด เพลาหัก สลักหาย หัวเทียนห่าง ยางแฟบ แหนบตาย หาดูได้ที่รถเมล์สาย33 สนามหลวง - ปทุมธานี"
หรือการเล่าประสบการณ์เสี่ยงตาย อย่างเห็นภาพที่ชัดเจน จนน่าขนลุกขนพอง "ที่จริงน่าจะเปลี่ยนเป็นรถเมล์สาย 33 เป็น นรก-อเวจี ดีกว่าค่ะ เร็วสุดๆ เคยนั่งช่วง 6 โมงเช้า จากปากเกร็ดถึงสนามหลวง 25 นาที ตื่นไปเรียนไม่เคยนั่งหลับบนรถสายนี้เลย เพราะเคยมีคนนั่งหลับแล้วรถเข้าโค้งหน้าวัดสร้อยทอง ไม่รู้เจ้าที่แรงหรือเหตุอันใด ชายผู้นั้นได้กระเด็นตกจากเบาะมาอยู่ที่พื้นรถโดยไม่รู้ตัว แต่สามารถกลับขึ้นไปนั่งหลับต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เคยขึ้นสะพานแล้วลอยตัวอยู่ประมาณ 3 วินาที พอตกลงมากระจกข้างๆ เราร้าวหมดทั้งแผ่นนึกว่า มอเตอร์ครอส เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ขอแนะนำนะค่ะ คนในรถนั่งมองหน้ากันแบบ...สงสัยว่าตูจะมีชีวิตรอดมั้ยนี่?!"
ทำให้สมัยเกิดอาการสองจิตสองใจ ชั่งใจอยู่นานก่อนที่จะใช้บริการรถสาย 33 ท่องเที่ยวในวันหยุดปีใหม่ ซึ่ง สมัย ได้เล่าการท่องเที่ยวอันสุดแสนระทึกหรือประทับใจมาให้ฟัง สรุปได้ว่า เป็นทริปท่องเที่ยวด้วยตัวเองแบบน่าทึ่งภายในวันเดียวถึง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี อย่างเต็มอิ่ม
โดยเริ่มที่เกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งจุดสตาร์ทที่สนามหลวง เห็นพระบรมมหาราชวังยามเช้าอันสดใส แม้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ โรงละครแห่งชาติปิดวันหยุดก็ตาม แต่การได้รดน้ำพระพุทธสิหิงค์ที่ท้องสนามหลวงก็ถือว่าเป็นมิ่งมงคลต้นปี 2549 อย่างเหลือล้น
รถเมล์สาย 33 เคลื่อนอย่างช้าๆ เนื่องรถมีพอสมควรในวันปีใหม่ ลอดใต้สะพานปิ่นเกล้า เข้าสู่ถนนพระอาทิตย์ เห็นย่านชุมชนที่สงบ เข้าถนนสามเสน บางลำพูอันอึกทึก ชมวิวทิวทัศน์ข้างทางไปเรื่อยๆ รถเริ่มควบห้อเพราะถนนว่าง แต่ไม่น่ากลัว เพราะขับไม่ฉวัดเฉวียนแซงซ้ายแซงขวา สภาพความเจริญก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เห็นความเป็นเมืองเก่าที่ไม่ค่อยมีตึกรามสูงใหญ่มากนัก ผ่านย่านค้าไม้แถบบางโพ เป็นชุมชนที่สานตัวพัฒนามายาวนาน ความเป็นต่างจังหวัดในเขตปริมณฑลเริ่มฉายออกมาเด่นชัด
เข้าตัวเมืองนนทบุรี ก่อนที่รถจะเลี้ยวขวาไปทางแคราย และปากเกร็ด สมัย ตัดสินใจลงตรงตลาดสด เดินชมตลาดเพื่อไปที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ทั้งหมดเสียค่าโดยสารเพียง 7 บาท
2 มิตรเมืองนนท์-มนต์เมืองนิด
จังหวัดนนทบุรี มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า 'พระตำหนักสง่างาม ลือนามสานสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ'
สมัย อ่านคู่มือการท่องเที่ยวที่ติดมือมาด้วย ทำให้ทราบว่า นนทบุรี เป็นเมืองเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมตั้งอยู่ที่ ต.บ้านตลาดขวัญ ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ในปีพ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมา เพราะเดิมนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมทางบางใหญ่ วกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชลด ออกหน้าวัดเขมา เมื่อขุดคลองลัดที่ขุดใหม่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ซึ่งอุดมไปด้วยสวนผลไม้และนาข้าว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีคูคลองทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่ขุดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก เพื่อสัญจรไปมาติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด พื้นที่ส่วนที่ห่างจากแม่น้ำและลำคลอง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
นนทบุรี เมืองที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 400 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองน้อยใหญ่มากมาย มีเนื้อที่ประมาณ 622 ตร.กม. เป็นเมืองเก่าแก่ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2092
ท่ามกลางรถราที่ไม่หนาแน่นมากนัก สมัย เดินทอดน่องแบบสบายๆ ยังมีรถสามล้อถีบอยู่คับคั่ง เดินไปที่วงเวียนหอนาฬิกาใกล้ท่าน้ำนนท์ เห็นศาลากลางเก่าแก่โดดเด่นเป็นสง่า อ่านพบประวัติความเป็นมาว่า
'ในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อ บ้านตลาดขวัญ และในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งศาลากลางเมืองขึ้นที่ปากคลองบางซื่อ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปี พ.ศ. 2471 รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายศาลากลาง มาตั้งที่ ราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองฝึกอบรมกระทรวงมหาดไทยตั้งอยู่บนถนนประชาราษฎร์ สาย 1 อำเภอเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรป ลักษณะเป็นตึกพื้นไม้ทาสีไข่ไก่ ประตูหน้าต่างสีเขียว หลังคามุงกระเบื้องลูกฟูกเนื่องจากเดิมเป็นโรงเรียนประจำ คือ โรงเรียน ราชวิทยาลัย ลักษณะอาคารจึงมีหลายหลังติดต่อกัน หอประชุมอยู่ท้ายสุด ตามอาคารประดับด้วยไม้ฉลุ สลักเสลา สวยงามมาก ตั้งอยู่เห็นตระหง่านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นบัญชีไว้เป็น โบราณสถานแห่งหนึ่ง ตามประกาศลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2524 การปรับปรุงซ่อมแซมเคยมีในปี พ.ศ. 2511 ต่อมาได้ทำการซ่อมแซมใหญ่ ในปี พ.ศ. 2515'
ตอนแรก สมัย จะข้ามไปเที่ยวเกาะเกร็ด แต่อีกใจอยากไปเที่ยวปทุมธานีมากกว่า เพราะเกาะเกร็ดสามารถมาในวันหลังได้ จึงเดินกลับมาที่ป้ายรถเมล์เพื่อรอรถสาย 33 มุ่งตรงไปปทุมฯ ฝั่งตรงข้ามเป็นโรงหนังสแตนอโลนเก่าแก่ชื่อ นนทบุรีราม่า ฉายหนังควบ 2 เรื่อง ยังคงกรุ่นกลิ่นอายโรงหนังสมัยเก่าอย่างครบถ้วน แม้เงียบเหงาและดูโทรมไปบ้าง
ในใจเขาคิดว่า นนทบุรีแม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าค้นหาอีกมากมาย รถมาแล้ว เขารีบวิ่งกระโดดขึ้นรถเพื่อมุ่งสู่เมืองแห่งดอกบัว
3 ปทุมธานี-เงียบสงบแต่เปี่ยมมนต์เสน่ห์
รถเมล์เหยียบห้อโลดสู่แคราย ผ่านห้าแยกปากเกร็ด บรรยากาศของต่างจังหวัดเริ่มอบอวล ผ่านวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งเป็นแหล่งธรรมะอันเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ข้ามสะพานนนทบุรี ซึ่งหลายคนรู้จักกันดีว่า 'สะพานนวลฉวี' ซึ่งเกิดจากคดีฆาตกรรมที่โด่งดังคดีหนึ่งของเมืองไทยในยุค 30-40 ปีที่แล้ว
เข้าสู่จังหวัดปทุมธานี สมัย เปิดข้อมูลอ่าน พบว่า ปทุมฯ มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า 'เมืองก๋วยเตี๋ยวเรือ กุ้งเต้นส้มเขียวหวาน ลอนตาลสด' เดิมชื่อ เมืองสามโคก ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปีพ.ศ.2157 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดเกล้าฯให้ชาวมอญ อพยพออกจากเมืองเมาะตะมะ ไปยังบ้านสามโคก ซึ่งใกล้กับวัดสิงห์ เขต อ.สามโคกในปัจจุบัน และสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ย้ายครอบครัวมอญมาเพิ่มอีกในปีพ.ศ.2358 ต่อมา ร.2 ได้ประพาสเมืองสามโคก ชาวเมืองได้นำดอกบัวหลวงมาถวายเป็นจำนวนมาก จึงพระราชทานนามให้ว่า ประทุมธานี ในรัชกาลที่ 6
ลงเดินชมตลาดเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เงียบสงบ เวิ้งน้ำกว้างใหญ่ อากาศแสนสดชื่น แต่มีสีสันของชีวิตที่เคลื่อนไหวแบบชาวบ้านอยู่ดาษดื่น สมัย เลียบๆ เคียงๆ ไปที่วินมอเตอร์ไซค์ เพื่อหาข้อมูลของปทุมฯ บุญชัย อุ่นผล คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นคนปทุมฯ มาตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบันอายุ 40 กว่า เล่าความหลังอย่างมีน้ำจิตน้ำใจว่า
"เห็นตั้งแต่เป็นป่า ทุ่งนา จนปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปหมดแล้ว ในตัวเมืองปทุมธานีก็มีที่เที่ยวก็เป็นวัด เป็นสถานที่ราชการเก่าๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียงหรือดังพอชูให้คนเข้ามาได้ แต่ก็มีบ้านไทยเก่าบรรยากาศริมน้ำที่มีให้เห็นอยู่ เป็นภาพชนบทภาคกลางที่อยู่ริมน้ำยังมีให้เห็นอยู่อีกเยอะ"
สมศักดิ์ สมบุญดี ครูสอนพิเศษศูนย์ศึกษาเด็กพิเศษปทุมธานี ที่เดินเข้ามาสมทบ ก็เสนอทริปท่องเที่ยวง่ายภายในเวลาเพียงครึ่งวันว่า
"ถ้ามาเมืองปทุมฯ จะหาของกินที่ดังๆ ก็คือภัตตาคารกุ้งเต้นอึ้งจั้วกี่ หรือที่กุ้งเต้นปทุม อิ่มแล้ว ดูศาลากลางหลังเก่า ศาลจังหวัด ไปดูปลาก็เดินหรือนั่งสามล้อไปวัดหงษ์ ซึ่งมีวังปลา ซึ่งมีปลาเยอะมาก หรือมีอีกที่หนึ่งไปทางปทุมฯสายในมียาสมุนไพรไทยที่เกี่ยวกับกระดูกที่ขึ้นชื่อมาก คนจะมาที่นี่ วัดน้ำวน มีปลาให้ดูมีอาหารให้ทาน มียาสมุนไพรหลายๆ อย่าง
ผมจะแนะนำวัดฉาง ก่อนถึงวัดน้ำวน เส้นปทุมฯสายใน ซึ่งเดิมทีเป็นเส้นทางเดินทัพ และจะมีหลักฐานเส้นทางเดินทัพในสมัยรัชกาลที่ 2 หลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นที่พักเดินทัพกินข้าวที่ตรงวัดฉาง และในโบสถ์ จะมีพระประธานที่สวยงามมาก ตอนนี้มีการบูรณะบริเวณริมแม่น้ำสวยงามมาก สามารถชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยาได้ถ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางฝั่งรังสิต มีเรือข้ามฟากบริการอยู่ก็มีวัดเขียนเขต แล้วก็มีวัดโบสถ์ ซึ่งมีเกจิอาจารย์ที่โด่งดังคือ หลวงปู่เทียน มาเที่ยววัด 9 วัดในละแวกปทุมฯ นั้นไปได้แบบสบายๆ ในวันเดียว"
เดินผ่านโรงหนังเจริญผลราม่า บรรยากาศเหมือนโรงหนังนนทบุรีราม่า แต่ที่นี่ดูมีชีวิตมากกว่า บรรยากาศของตัวเมืองปทุมฯ ดูสงบเงียบกว่าเมืองนนท์ แต่มีรถสามล้อถีบอยู่ในปริมาณที่สูสีกัน ใช้บริการพาไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในราคาเป็นกันเอง และไม่แพง
มาเที่ยวถึง 2 จังหวัดเสียเงินค่ารถไปแค่ 14 บาท เมื่อบวกอีก 7 บาทในขากลับกรุงเทพฯ รวมทั้งหมดแค่ 21 บาทเท่านั้นเอง
4 สาย 33 รถเมล์ท่องเที่ยวในฝัน
จากสถิติตัวเลขเมื่อช่วงต้นปี 2547 ของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก ระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่รถเมล์ 'วิ่งเร็วน่าหวาดเสียว' 30% 'ไม่จอดป้าย' 25% นอกจากนี้ยังมีที่คนขับ-กระเป๋า 'แสดงกริยาไม่สุภาพ' อีกกว่า 20%
ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 4,524 คน ของสถานีวิทยุ สวพ.91 มีการสรุปผล 'รถเมล์ยอดแย่' โดยอันดับ 1 คือ สาย 8 (ตลาดแฮปปี้แลนด์-สะพานพระพุทธยอดฟ้า) และสาย 38 (ราชภัฏจันทรเกษม- มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2) 38.46%, อันดับ 2 สาย 33 (ปทุมธานี-สนามหลวง) 26.28%, อันดับ 3 สาย 92 (คลองตัน-โรงพยาบาลสงฆ์) 19.23%, อันดับ 4 สาย 146 (วงกลม บางแค-วงแหวนรอบนอก) 12.18%
วิลาศ พึ่งสาย นายท่ารถเมล์ร่วมบริการ ขสมก. สาย 33 สนามหลวง-ปทุมธานี ซึ่งนั่งประจำอยู่ท่ารถริมคลองหลอดหน้ากระทรวงมหาดไทย ยอมรับความจริงในข้อนี้ เพราะรถวิ่งระยะทางไกล ต้องมีปัญหากันอยู่แล้ว พร้อมกับเล่าย้อนความหลังว่า รถเมล์สายนี้เริ่มวิ่งมาตั้งแต่ปี 2512 โดยบริษัทบางบัวทองได้สัมปทาน ต่อมาก็เป็นรถเมล์ขาวนายเลิศ แล้วก็อภิชัยขนส่ง จากนั้นขสมก. รับกลับไปทำเอง แล้วมาให้บริษัทกิตติสุนทรรับสัมปทานตั้งแต่ปี 2532 มาจนถึงปัจจุบัน
"ผมมานั่งตำแหน่งนายท่าตอนปี 2534 แต่ก็รู้เรื่องรถเมล์สายนี้หมด คิดว่าเป็นรถเมล์สายที่วิ่งยาวที่สุด ระยะทาง 3 จังหวัดก็ 48 กิโลเมตร รถเมล์สายนี้เคยเก็บค่าโดยสารมาตั้งแต่ 20 สตางค์ จนปัจจุบันที่ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เป็น 7 บาท ถือว่าถูกที่สุดในบรรดารถเมล์ที่วิ่งกันอยู่ เมื่อเทียบกับระยะทางที่ต้องวิ่งถึง 3 จังหวัด"
ทางด้านวันนา ปัญญาใหญ่ พนักงานขับรถเมล์สายนี้ บอกว่า ขับรถสายนี้เหนื่อยมาก โดยเฉพาะช่วงรถติด
"รถมันวิ่งไกล ก็มีหลายช่วงที่ติดกันยาว ไม่ต้องพูดถึงช่วงสนามหลวง บางลำพูนั้นติดอยู่แล้ว เข้าเมืองนนท์ก็ติด กว่าจะผ่านห้าแยกปากเกร็ดก็ยาวเหยียด ถึงแม้ผมเหนื่อยก็ดีใจที่ได้ขับรถสายนี้ เพราะผ่านถึง 3 จังหวัด คิดว่าเป็นรถเมล์สายเดียวที่วิ่งกันผ่านทีเดียวแบบนี้"
การท่องเที่ยวของ สมัย หนูนิ่ม ถือได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบพอเพียงและติดดินอย่างแท้จริง ประสบการณ์ที่เขาเล่าให้ฟังนั้น ได้สะท้อนให้เห็นภาพแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในเขตเมืองหลวง โดยเฉพาะหัวใจกลางเมืองอย่าง เกาะรัตนโกสินทร์ และจังหวัดในเขตปริมณฑลอย่าง นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งมีความเป็นมาของการสร้างบ้านแปงเมืองมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
เพราะฉะนั้นปัญหาทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรการท่องเที่ยว แต่เป็นปัญหาของระบบการบริหารจัดการของผู้รับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ การค้นพบของปัจเจกบุคคลคนหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยแรงโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เลยแม้เพียงแต่น้อย แต่สามารถเที่ยวด้วยเงินเพียงสองร้อยบาทในกระเป๋าอย่างมีความสุข
รถเมล์สาย 33 ก็เช่นกัน โดยภาพลักษณ์ของรถร่วมบริการ ภาพลักษณ์ของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บเงินก็สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้ผู้ใช้บริการ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เส้นทางบริการของรถเมล์สายนี้ล้วนผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและมีความสำคัญถึง 3 จังหวัดด้วยกัน แต่ถูกปล่อยปละละเลย ด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่
รถเมล์สาย 33 ท่องเที่ยว 3 จังหวัด ด้วยค่าโดยสารที่ถูกที่สุดในโลก เป็นเรื่องราวของชนชั้นล่างที่แสวงหาวิถีการท่องเที่ยวด้วยตัวเองได้อย่างมีความสุข รวมถึงสามารถชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยที่เด่นชัด เพราะแค่ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ซึ่งของดีมีอยู่ ไม่สามารถมองเห็นหรือยกระดับเป็นรถท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เลย
กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี รอนักท่องเที่ยวทั้งหลายให้ไปท่องเที่ยวแบบง่ายๆ ถูกๆ แต่มีความสุขอย่างเปี่ยมล้นด้วยรถเมล์สาย 33
********************************
เรื่อง - พรเทพ เฮง