xs
xsm
sm
md
lg

อูรักลาโว้ย ศิลปะ และมรสุมลันตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามคำบอกเล่าจาก จิตติมา ผลเสวก ผู้ศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของชาวเล ใน โครงการศึกษาเผยแพร่ เพื่อฟื้นฟู "วิถีเผ่าชนคนแห่งทะเล" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม และการจัดการระบบนิเวศที่ยั่งยืนของเกาะลันตา เธอบอกกับเราว่า ชาวอูรักลาโว้ยซึ่งเป็นหนึ่งในชาวเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย คือกลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าลงหลักปักรากบุกเบิกพื้นที่ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่แห่งนี้

ชาวอูรักลาโว้ยที่นี่แม้ความเป็นอยู่มิได้คงรูปดั้งเดิมเช่นบรรพบุรุษอีกต่อไป แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเขาละทิ้งรูปรอยอดีตจนหมดสิ้น พวกเขาปรับตัวตามสภาวะวิถีแห่งปัจจุบันเท่าที่มันจะไม่ทำร้ายสามัญสำนึกของความเป็นชาวเลเกินกว่าจะแบกหามไว้ ทะเลยังคงเป็นบ้านของพวกเขา กระทั่งยามแตกดับดวงตาแห่งซากร่างนั้นก็ยังต้องเพ่งมองท้องทะเล

เฉกเช่นกับทุกแห่งหนบนโลก ชนพื้นเมืองมักตกเป็นเบี้ยล่างในการสู้รบตบมือกับโลกาภิวัตน์ ถ้าโชคดีก็พอจะรักษาอัตลักษณ์ไว้ได้ตามสมควร ถ้าโชคร้ายก็บาดเจ็บสาหัสพลัดพรากรากเดิมของตนชนิดสิ้นแรงทัดทาน และทุกวันนี้ชาวอูรักลาโว้ยแห่งเกาะลันตาก็มีสภาพไม่ต่างกับพลเมืองชั้นล่างสุดของที่นี่ ดูเหมือนเค้าลางความพ่ายแพ้จะรออยู่ไม่ไกล

17 ธันวาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปชมศิลปะชุมชน หมู่บ้านโต๊ะบาหลิว (ART TO THE VILLAGE) ที่เกาะลันตา งานที่กลั่นตัวจากการฝังตัวในพื้นที่เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชาวเลอูรักลาโว้ยตลอด 4 เดือนของศิลปิน 4 คน ...มีเรื่องราวมากมายที่เขาทั้ง 4 อยากบอกกับคนอย่างเราๆ ท่านๆ อาจไม่ต้องเข้าใจชาวเลก็ได้ แค่รู้จักกันมากขึ้นอีกหน่อย...ก็แล้วกัน

1
กับคนทั่วไปการปกปักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างอาจเป็นเรื่องไม่ใช่เรื่อง เหน็ดเหนื่อย และไร้ประโยชน์ แต่หากอัตลักษณ์คือสิ่งบ่งบอกว่า ‘ฉันเป็นใคร’ และนั่นหมายถึงการเรียนรู้ที่จะเคารพต่อสิทธิ ความเชื่อของ ‘คนอื่น’ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เรื่องแบบนี้ไม่น่าเป็นเรื่องที่เปล่าเปลืองแรงอย่างไร้เหตุผล

จิตติมาพูดถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เป็นความสนใจส่วนตัวในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จนเมื่อประมาณปี 2537 ตอนนั้นเธอกำลังเดินทางอยู่ในละแวกจังหวัดกระบี่และได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับชาวอูรักลาโว้ย นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของเธอและเริ่มเก็บข้อมูลเขียนสารคดี หลังจากสึนามิผ่านไปเธอจึงได้กลับมาเก็บข้อมูลเรื่องชาวเลอีกครั้งหนึ่ง นำไปสู่การพูดคุยเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมและระบบนิเวศของเกาะลันตา

"ทุกวันนี้เราปฏิเสธการท่องเที่ยวไม่ได้แล้ว แต่จะทำยังไงไม่ให้วิถีชีวิตดั้งเดิมมันไม่สูญหายไปกับกระแสการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว และให้ชาวบ้านเขามีสิทธิ์ที่จะจัดการชีวิตของเขาเอง พอคุยกันไปคุยกันมาจึงเกิดการรวมตัวแบบพหุภาคีกลายเป็นโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตฯ นี้ขึ้น

พอเราเก็บข้อมูลมาระดับหนึ่งทางโครงการเขาก็ถามเราว่ามีอะไรอยากจะทำมากกว่านี้มั้ย ก็เลยนึกถึงเรื่องศิลปะชุมชนเพราะเราเคยทำที่สาละวินจึงอยากจะลองทำตรงนี้ดู โดยการนำศิลปินเข้ามาทำงานในชุมชน เกิดเป็นศิลปะชุมชนที่เกี่ยวข้องกับชาวเลตามเนื้องานที่ศึกษาอยู่ มีกำหนดระยะเวลาให้ศิลปินทำงาน 4 เดือน

เชิญศิลปินมา 4 คนคือ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง เป็นคนที่ทำงานศิลปะชุมชนมาก่อน มีประสบการณ์ด้านนี้มาตั้งแต่ทำงานศิลปะที่เกาหลี วิชชุกร ตั้งไพบูลย์ ทำงานด้านเพอร์ฟอร์แมนซ์ ซึ่งเคยทำงานร่วมกันมา มณฑลี วิจิตรธนสาร เป็นศิลปิน จะวาดภาพเป็นหลัก และก็ ตุ๊ แครี่ออน-สุธน สุขพิทักษ์ นักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลง ซึ่งพี่ตุ๊นี่สาเหตุหนึ่งที่ชวนมาก็คือโครงการนี้จะทำหนังสือและวีซีดีออกมา จะทำซาวนด์แทร็กเราจึงชวนพี่ตุ๊ลงมาเพื่อให้เขาศึกษาเสียงของชาวเลเพื่อนำไปทำเป็นดนตรี"

2

ช่วงสายวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากการขึ้นบ้านใหม่ของเหล่าศิลปินที่ไปฝังตัวอยู่ที่นั่นตามพิธีกรรมแบบชาวอูรักลาโว้ย ช่วงบ่ายจึงเป็นการชมงานศิลปะของศิลปินทั้ง 4 คนที่แปรรูปจากความคิด ข้อมูล และการพบปะพูดคุยกับชาวบ้านโต๊ะบาหลิว

เริ่มตั้งแต่ตัวสะพานเข้าหมู่บ้านโต๊ะบาหลิวงานจัดวางที่ชื่อว่า ณ เล แลดิน ของวิชชุกรรอต้อนรับทุกคนอยู่ที่นั่น มองจากภายนอกมันเป็นซุ้มโค้งที่พาดคร่อมตัวสะพาน ส่วนแรกของซุ้มมุงด้วยใบจากและอีก 2 ใน 3 มุงด้วยผ้าใบพลาสติก ภายในซุ้มมีผ้าแดงห้อยลงมาและมีไม้ไผ่ทำเป็นรูปเรือวางสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น ในลำเรือเล็กๆ มีสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมของชาวอูรักลาโว้ยบ้านโต๊ะบาหลิววางอยู่ ที่กลางซุ้มมีไม้ไผ่ตั้งอยู่ เปลือกไม้ไผ่ถูกถากและกางออกมาเป็นแฉกๆ สามชั้น ชั้นล่างสุดมี 7 แฉก ชั้นสองมี 5 แฉก และชั้นบนสุดมี 3 แฉก ในไม้ไผ่แต่ละแฉกที่ยื่นออกมานั้นจะมีข้าวตอกและขนมที่ทำจากแป้งสีสันสดใสวางอยู่ อะไร? คือสิ่งที่เขาอยากบอก

"ปัจจุบันตัวจากหายากไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกของปัจจุบันได้ ชาวบ้านก็เลยมาเปลี่ยนใช้ผ้ายางแทนเพื่อความทนทาน มันสะท้อนการอยู่ของชาวบ้านด้วยว่าชาวบ้านที่นี่มีความร่วมสมัยค่อนข้างสูง ในขณะที่มีพิธีกรรมที่เรามองว่าเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีความรื่นเริงอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่รู้สึกแตกต่าง แปลกแยก ผมอยากสื่อถึงความร่วมสมัยของการมีชีวิตเพื่อดำรงอยู่ว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรและนี่คือการสะท้อนให้เห็น เป็นลักษณะการสะท้อนให้เห็นถึงเรือที่ห่อเห่ ซึ่งของที่อยู่ในนี้จะเป็นของที่อยู่ในพิธีกรรมส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ผมดึงมาเฉพาะส่วนที่มองแล้วเพิ่มความรู้สึกของการมีชีวิตอยู่ต่อไปกับความหวังข้างหน้า

"ส่วนตัวเลขในชั้นแต่ละชั้น จากชั้นแรกมีเจ็ด ชั้นสองมีห้า และชั้นสามมีสาม มันเป็นความเชื่อของชาวบ้านในการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ เขาเชื่อว่าเป็นเลขที่จะนำพาโชคดี นำพาสิ่งมงคลมาสู่หมู่บ้าน และของพวกนี้จะเป็นของที่อยู่ในพิธีกรรมของชาวบ้านในเวลาที่เขาลอยเรือกัน"

เมื่อก้าวเข้าสู่หมู่บ้านโต๊ะบาหลิวเราได้เห็นภาพบนผืนผ้ามัดย้อมจำนวนหนึ่งติดอวดสายตาไว้ตามจุดต่างๆ มันเป็นผลงานของมณฑลีศิลปินจากเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เธอใช้ฝีไม้ฝีมือการทำผ้ามัดย้อมดึงเด็กๆ ในหมู่บ้านมาร่วมกันย้อมผ้าและวาดรูป เป็นผลงานดรออิ้ง ชีวิต ศรัทธา มหาสมุทร ที่สื่อสารให้เห็นวิถีชาวเลออกมาอย่างเรียบง่าย

"เราจะทำเกี่ยวกับวิถีชีวิต บางชิ้นเป็นภาพของชีวิตที่เขาอยู่ที่นี่ เป็นเรือ เป็นป่าโกงกาง เป็นทุกอย่างที่เรารู้สึก เขาอยู่กับทะเล ออกเรือ จับปลา กลับมาแกะอวน มันเป็นชีวิตที่สบายดี และเราประทับใจ อย่างภาพงานลอยเรือซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเขา จะมีการทำเรือจำลองจากไม้ระกำที่สวยมาก ชาวบ้านเขาช่วยกันทำภายในหนึ่งคืน อีกวันหนึ่งก็มีพิธีบูชาศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว

"ของมณจะทำงานกับเด็ก ให้เด็กช่วยกันย้อมผ้า เขาก็จะได้ความรู้เรื่องการย้อมผ้า และเราก็เอาผ้าแต่ละผืนที่เด็กช่วยยอมมาทำงานศิลปะ มีรูปที่เด็กๆ วาดด้วย"

3
ห่างออกไปไม่ไกลจากผลงานของมณฑลี เสียงเคาะไม้ดังก๊องแก๊งไร้จังหวะจะโคน เด็กๆ ชาวอูรักลาโว้ยกำลังใช้ไม้เคาะกับลำไม้ไผ่ขนาดต่างๆ ที่แขวนอยู่บนราวที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ เด็กๆ ดูสนุกสนานกับเสียงดนตรีแบบไร้กฎเกณฑ์ มันง่ายและรื่นรมย์กว่าซิมโฟนีหมายเลข 5

การจัดวางและโครงสร้างของเสียง มันเป็นผลงานของสุธนหรือตุ๊ แครี่ออน ที่เขาอยากสร้างขึ้นเองด้วยความครึกครื้นส่วนตัว จิตติมาบอกว่า "ทีแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าพี่ตุ๊จะต้องทำงานติดตั้ง (Installation) อย่างที่เราเห็นหรอกแต่แกนึกสนุกอยากจะทำขึ้นมาเอง"

ตุ๊ แครี่ออน ให้เด็กๆ และคนที่เข้าชมช่วยกันถือไม้ไว้ในมือ บางคนก็เตรียมเป่าขวดที่ภายในมีน้ำในปริมาณไม่เท่ากันเพื่อก่อให้เกิดเสียงในโทนต่างๆ เขาบอกทุกคนให้ช่วยกันสร้างเสียงดนตรีร่วมกัน เขาเริ่มเคาะ ทุกคนก็เริ่ม บ้างเคาะ บ้างเป่าตามแต่ทฤษฎีดนตรีของตัวเอง ดูเหมือนเด็กๆ ชาวอูรักลาโว้ยจะสนุกเคาะ สนุกเป่าจนลืมเรื่องทฤษฎีดนตรีจนหมด

ตุ๊ แครี่ออนอธิบายกับเราสั้นๆ ว่า "จุดแรกคือมันใช้วัสดุท้องถิ่น อันที่สองก็คือการพยายามให้เห็นว่าดนตรีมันเป็นแค่เรื่องของการผสมเสียง มันใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ ถ้าคุณรู้จักที่จะแบ่ง รักษาระยะของเสียง และจัดชั้นของมัน จัดการเชื่อมโยงของเสียง เท่านั้นเอง มันอยู่แค่นั้น มันก็เหมือนกับคนที่สามารถสัมพันธ์กันได้ ไม่ว่าจะมีความคิด มีอารมณ์แบบไหน แต่สามารถเข้ามาทำอะไรร่วมกันในเรื่องเดียวกัน ในเวลาเดียวกันได้ ดนตรีคือเรื่องเหล่านี้ อาจจะรวมไปถึงเรื่องของความคิด ความเชื่อ เรื่องของข้างในนั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ถ้าคุณเคารพกติกากลางคุณก็สามารถแลกกับคนอื่นได้"

ปิดท้ายด้วย เรือแห่งหวัง-Hopefully Boat การแสดงศิลปะสื่อแสดงสด (Performance Art) ของไพศาล เปลี่ยนบางช้าง เขายืนอยู่ใต้โครงของเรือไม้ลำเล็กที่แขวนค้างไว้บนอากาศ ค่อยๆ แกะห่อข้าวตอกถุงเล็กๆ ออกทีละถุงแล้วโยนขึ้นฟ้า ข้าวตอกหล่นร่วงตามแรงโน้มถ่วง ไม่มีข้าวตอกชิ้นไหนตกค้างอยู่บนเรือไม้ที่มีแต่โครงนั้นได้ ข้าวตอกถุงสุดท้ายแล้ว เขาเงยหน้าขึ้นและเอาข้าวตอกมาวางโปะลงบนหน้า จุดเทียนหนึ่งดอก ยกมันขึ้นไปจ่อกับชิ้นไม้ส่วนที่เป็นท้องเรือ จากนั้นค่อยๆ ลดลงมาถือไว้ที่บริเวณปากของตัวเอง

สองสามอึดใจต่อมาเขาสลัดข้าวตอกออกจากใบหน้า ดับเทียน และประกาศกับคนดูรอบข้างว่า หลังจากพิธีกรรมย่อมต้องมีการเฉลิมฉลอง เราจะมาเฉลิมฉลองร่วมกัน เขาเรียกเด็กๆ ชาวอูรักลาโว้ยมายืนด้วยกัน พลางส่งกระป๋องสเปรย์ให้คนละกระป๋อง พอเขาบอกให้ปล่อยสเปรย์ เส้นสีเขียว ชมพู ฟ้า แดงก็ปลิวกระจายอยู่ในอากาศ

"การสร้างงานสไตล์กลางแจ้งอย่างหนึ่งจะคล้ายๆ งานแบบจัดวาง เมื่อเราได้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน มันมีอะไรที่เราพอมองเห็นได้ เรารู้สึกถึงความผูกพันของเขากับเรือ เราจึงใช้เรือเป็นสัญลักษณ์ เรืออาจจะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่แน่นอนก็จริงแต่มันยังมีพื้นที่ที่ไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เราจึงตั้งชื่อว่าเรือแห่งหวัง เพราะถ้าเราสิ้นหวังเสียแล้ว ทุกสิ่งก็หายหมด"

4
จิตติมาบอกว่า คงจะนำผลงานต่างๆ ของศิลปินทั้ง 4 คนมาจัดแสดงในกรุงเทพ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าให้คนเมืองได้รู้จักกับคนพื้นเมือง ได้สื่อสารกันและกันผ่านงานศิลปะ

ชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะลันตายังต้องเผชิญความไม่แน่นอนต่อไป มีปัญหามากมายที่กลุ้มรุมเข้ามา เช่น ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่โตที่ยังไม่คลี่คลาย พื้นที่ป่าช้าของบรรพบุรุษถูกรีสอร์ตลุกไล่จากพื้นที่ชายฝั่ง พวกเขาต้องขุดร่างบรรพบุรุษย้ายไปฝังแห่งอื่นที่สามารถมองเห็นทะเลได้ตามความเชื่อดั้งเดิม

"ปัญหาที่ดินมันสืบเนื่องมานาน เพราะว่ากลุ่มชาวเลเขาไม่ถือครองที่ดินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของเขา" จิตติมาเล่าถึง ...จะเรียกว่าอะไรถ้ามันไม่ใช่ความซื่อของชาวอูรักลาโว้ย และความเจ้าเล่ห์ของนายทุน "เขาไม่ถือการยึดครองที่ดินเพราะแต่เดิมเขาจะใช้ชีวิตแต่ในเรือ และไปตามหมู่เกาะต่างๆ หากินในทะเล ขึ้นฝั่งในฤดูมรสุม พอขึ้นฝั่งก็จะทำการเกษตร บ้านจะเล็กๆ อยู่ติดทะเล พอเขาไม่ถือครองที่ดิน ไม่รู้เรื่องกฎหมายที่ดิน ทีนี้สมัยก่อนใครมาขอซื้อที่ดินราคาถูกๆ ก็ขาย บางทีเอาข้าวมาแลกเพราะข้าวถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา หรือบางทีด้วยความที่ชาวเลเป็นคนสนุกสนานบางทีเอาเหล้าขาวมาแลกกับที่ดิน หรือบางทีซื้อแค่นี้แต่ออกเอกสารสิทธิครอบคลุมไปทั้งหมด จนในที่สุดที่อยู่ของตัวเองก็โดนรุกเข้ามาเรื่อยๆ จะให้เขาไปอยู่ในเรือแบบเดิมก็คงไม่ได้แล้ว

"แม้แต่บ้านโต๊ะบาหลิวซึ่งเป็นป่าโกงกางของรัฐแต่มันก็เป็นที่ตั้งศาลบรรพบุรุษของเขา ตรงนี้น่าจะได้รับการพูดถึงในแง่ของการเป็นมนุษย์ มากกว่าที่จะเป็นแค่เรื่องของสัมปทานหรือโฉนดที่ดิน เพราะถ้าพูดกันเรื่องกฎหมายชาวบ้านเขาไม่มีทางสู้อยู่แล้ว"

………….
3 วันบนเกาะลันตา มรสุมคลุมฟ้าอยู่ตลอด ชาวบ้านบอกว่าฝนตกติดต่อมาหลายวันแล้ว ลมพัดตึงตัง ท้องฟ้าทึมหม่นคล้ายคนเหงากำลังร้องไห้ ถ้าทะเลไม่ร้าย คลื่นลมไม่แรงนัก ฝนฟ้าใจดีบ้าง ชาวอูรักลาโว้ยคงออกเรือหาปลาเช่นที่เคยเป็น

ชาวอูรักลาโว้ยคนหนึ่งบอกกับเราว่า เขาทำอย่างอื่นไม่เป็น เขาจะจับปลาต่อไป เขาจะอยู่กับทะเล

*************************

เรื่อง - กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล







กำลังโหลดความคิดเห็น