'อนุสรณ์สถานสึนามิ' สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงความสูญเสียจากมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ผลงานจากผู้ส่งเข้าประกวด 379 ทีม ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการระดับนานาชาติ ณ วันนี้เหลือผู้เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย เราลองมาดูแนวคิดของพวกเขาว่าแต่ละคนมีแรงบันดาลใจอย่างไร และใครสมควรได้รับเลือกเพียงหนึ่งเดียว
*379 ทีม คัดเหลือเพียง 5
มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดซึ่งอยู่ในแนวชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั้งชาวไทยและนักท่องที่ยวต่างชาติไปถึง 5,395 คน และเมื่อรวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิในทุกประเทศที่อยู่รอบมหาสมุทรอินเดียแล้ว พบว่ามีจำนวนมากกว่า 280,000 คนทีเดียว พิบัติภัยที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนทั้งโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมานับเป็นสิ่งที่ตราตรึงอยู่ในใจทุกคน และเตือนให้เห็นถึงภัยธรรมชาติอันมีต้นเหตุมาจากความละเลยที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องตระหนัก
จากความคิดที่ว่าเราควรให้มหันตภัยครั้งนี้เป็นสิ่งเตือนใจผู้คนให้หันมาดูแลรักษาธรรมชาติ ภาครัฐของไทยจึงมีมติให้มีการจัดสร้าง 'อนุสรณ์สถานสึนามิ' ขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดในประเทศไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของผู้ที่เสียชีวิตและความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่จากคลื่นยักษ์สึนามิ
โครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานสึนามินั้นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2547 โดยมีการจัดประกวดแนวความคิดระดับนานาชาติ ซึ่งมีกลุ่มสถาปนิก นักออกแบบ ศิลปินจาก 43 ประเทศทั่วโลกสนใจส่งผลงานเข้าประกวด รวมแล้วถึง 379 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการอันประกอบด้วยนักออกแบบมืออาชีพที่มีชื่อเสียงจากประเทศไทยและนานาชาติ ได้ทำการคัดเลือกจาก 379 ผลงาน เหลือเพียง 5 ผลงานเท่านั้น และได้ประกาศรายชื่อผลงานที่เข้ารอบดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา
*เรือ (BOATS)สืบพิธีกรรมมอแกน
ผลงานชิ้นแรกที่เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย คือผลงานหมายเลข 0133 ซึ่งใช้ชื่อว่า 'BOATS' หรือ 'เรือ' เป็นผลงานของ บริษัท แอวันโต อาคิเตตส์ จำกัด (Avonto Architects Ltd.) ผู้ออกแบบคือ อันนู ปัสติน (Anu Puustinen) และ วิลเล ฮาร่า (Ville Hara) จากประเทศฟินแลนด์
'BOATS' เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ได้แนวคิดมาจากพิธีกรรมของชาวมอแกนซึ่งจะพับใบไผ่เป็นรูปเรือแล้วนำไปลอยในทะเลเพื่อระลึกถึงการจากไปของผู้เสียชีวิต และสื่อให้เห็นว่ามนุษย์ควรเรียนรู้และเคารพธรรมชาติ พร้อมทั้งดูแลรักษาธรรมชาติให้ดำรงอยู่ เพราะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดจะยิ่งใหญ่เกินเงื้อมมือของธรรมชาติ
อาคารนี้จะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิ และให้ผู้คนได้รำลึกถึงความสูญเสียดังกล่าว โดยเส้นสีน้ำเงินที่ห็นในรูปนั้นคือทางเดินของน้ำที่ตัดผ่านหน้าอาคารในช่วงหน้าฝน อันเป็นสัญลักษณ์แทนท้องทะเล ส่วนเส้นสีขาวคือถนนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอก ซึ่งจะนำผู้คนเข้ามาชมอาคารอนุสรณ์สถานแห่งนี้
คณะกรรมการฯ ได้เลือกผลงานชิ้นนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานที่เน้นแนวความคิดที่เรียบง่าย และความเป็นพิธีกรรมอย่างลึกซึ้งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการแสดงความรำลึกหรือการละเล่นก็ตาม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เสนอว่าควรปรับลดขนาดของอาคารลง และควรจัดกลุ่มอาคารให้อยู่ใกล้กับถนนทางเข้ามากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งโครงข่ายการสัญจรเชื่อมต่อและการเข้าถึงพื้นที่ตั้งนั้นควรมีการระบุอย่างชัดเจนด้วย
'สะพานไม้ไผ่' ผลงานที่มีคนไทยร่วมทีม
ผลงานชิ้นที่ 2 ผลงานหมายเลข 0236 ซึ่งใช้ชื่อว่า 'BAMBOO BRIDGE' หรือ 'สะพานไม้ไผ่' ที่น่าสนใจคือเป็นผลงานที่มีคนไทยร่วมอยู่ในทีมด้วย ทีมนี้ใช้ชื่อว่า ' ดีไซน์ทีม' ซึ่งประกอบด้วย รวิวรรณ โชคสมบัติชัย สาวไทยเพียงหนึ่งเดียว และ วิลเลี่ยม โอเรน (William Oren) จากสหรัฐอเมริกา โดยมี แอนดรู แชนเกน (Andrew Shanken) เป็นที่ปรึกษา
'BAMBOO BRIDGE' เป็นอาคารที่มีลักษณะคล้ายรั้วที่ล้อมด้วยต้นไผ่ ผู้ออกแบบได้แนวคิดมาจากต้นไผ่ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในแถบเขาหลัก จ.กระบี่ โดยต้องการสื่อให้เห็นถึงความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวของสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์และธรรมชาติที่อยู่แวดล้อม สถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นอาคารคอนกรีตที่ซ่อนอยู่ในวงล้อมของธรรมชาติ ราวกับจะนำผู้คนเดินทางไปสู่อ้อมแขนของธรรมชาติ ใช้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสึนามิและเก็บรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ
คณะกรรมการฯ เลือกให้ 'BAMBOO BRIDGE' เป็น 1 ใน 5 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายเพราะมองว่าสิ่งก่อสร้างมีลักษณะคล้ายโครงสร้างสะพานนี้มีความกระชับของพื้นที่ใช้สอย มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยมาก และวัสดุที่ใช้มาจากธรรมชาติ โดยมีข้อตระหนักถึงโครงสร้างเดี่ยวซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ รวมถึงความทนทานของวัสดุธรรมชาติที่ใช้ภายนอก อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับเส้นทางเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ตั้งด้วย
*แบบจำลองภูเขา เกาะแก่ง และเจดีย์
ผลงานชิ้นที่ 3 ผลงานหมายเลข 0103 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของงาน ผู้ออกแบบคือ แอนนา โซโมซ่า จิเมนเนซ (Ana Somoza Jimenez) แอนเจิล มาร์ติเนซ (Angel Martinez) อีวา เซบาสเตียน เพนิน (Eva Sebastian Penin) และ ราเคล โลซาโน (Raquel Lozano) ซึ่งเป็นชาวสเปน
อาคารสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายสุ่มไก่นี้เป็นแบบที่จำลองมาจากภูเขา เกาะแก่ง รวมถึงเจดีย์ของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่พบมากในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยผู้ออกแบบต้องการสื่อถึงความหลุดพ้นของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ ขณะเดียวกันก็แสดงถึงภูมิทัศน์ของพื้นที่ในแถบนี้ซึ่งประกอบด้วยภูเขาสูง เกาะแก่งน้อยใหญ่ และวัดวาอารามต่างๆ ทั้งนี้อาคารรูปสุ่มไก่ดังกล่าวจะตั้งกระจายอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานสึนามิ
ผลงานชิ้นนี้เป็น 1 ใน 5 ที่เข้ารอบสุดท้าย เพราะคณะกรรมการฯเห็นว่า โครงสร้างที่มีรูปทรงธรรมชาติเหมือนหอสูงหรือเจดีย์ชิ้นนี้ จินตนาการว่าเสมือนหลุดพ้นจากการอ้างอิงใดๆ ของทั้งเวลาและสถานที่ ก่อให้เกิดเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย ในขณะเดียวกันก็มีความสอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ตั้งด้วย อย่างไรก็ดี มีบางจุดที่คณะกรรมการฯท้วงติง คือในส่วนของพื้นที่จอดรถ เส้นทางการเข้าถึงหาดทราย รวมทั้งรูปแบบของพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งคณะกรรมการมองว่าต้องมีความชัดเจนมากขึ้น และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงโครงสร้างของหอสูง รวมทั้งรายละเอียดต่างๆที่ตอบสนองต่อสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของโครงสร้างด้วย
*รวมเป็นหนึ่ง (ONE NEEDS ANOTHER)
ผลงานชิ้นที่ 4 ผลงานหมายเลข 0157 ซึ่งใช้ชื่อว่า 'ONE NEEDS ANOTHER' หรือ 'รวมเป็นหนึ่ง' เป็นผลงานของ เหลียง โหว (Liang HOU) จากประเทศจีน
อาคารสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงที่เกาะเกี่ยวกันเป็นวงล้อมนี้ ผู้ออกแบบได้แนวคิดมาจากการจับมือล้อมวงกันของเด็กๆ อันจะเป็นสัญลักษณ์แทนเด็กที่สูญเสียในเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งการเกาะกุมมือกันนั้นหมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อเกิดภัยภิบัติขึ้นไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน ภาษาใด ก็สามารถแจกจ่ายความรักและให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้
ผลงานชิ้นนี้เป็นอีกชิ้นที่ได้รับคัดเลือก เพราะคณะกรรมการฯมีความประทับใจในการสื่อแสดงอย่างหนักแน่น โดยสัญลักษณ์ของรูปทรงกลมนี้สื่อถึงภาพคนจับมือกัน อันหมายถึงความรัก ความเอื้ออาทรต่อมวลมนุษยชาติ รวมทั้งคณะกรรมการเห็นว่าอาคารหลังนี้น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อย พื้นที่ภายในที่ถูกโอบล้อมถูกผนวกเข้ากับหอสูงที่เอื้อให้เกิดมุมมองโดยรอบทั้งบนแผ่นดินและทะเล อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีข้อเสนอแนะว่าควรคำนึงถึงความสอดคล้องกับสัดส่วนของมนุษย์ให้มากขึ้น การจัดระบบความเชื่อมโยงภายในระหว่างพื้นที่ ที่จอดรถ ตลอดจนวิธีการเข้าถึงของสาธารณชนและการบริการก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
*'สังเวย' ชื่อไทย แต่ออกแบบโดยออสเตรเลีย
ผลงานชิ้นสุดท้าย ได้แก่ ผลงานหมายเลข 0195 ซึ่งมีความแปลกตรงที่ใช้ชื่อผลงานเป็นภาษาไทยว่า 'สังเวย' แต่ผู้ออกแบบกลับเป็นชาวออสเตรเลียทั้ง 2 คน คือ ริชาร์ด เวลเลอร์(Richard Weller)และ แกรี่ มารินโค (Gary Marinko)
ผลงานชิ้นนี้มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์และส่วนที่เป็นอนุสรณ์สถาน โดยส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์นั้นจะตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา กั้นระหว่างพื้นที่ราบและพื้นที่ของภูเขา ใช้จัดแสดงนิทรรศการต่างๆ สำหรับส่วนที่เป็นอนุสรณ์สถานนั้นตัวสิ่งปลูกสร้างจะอยู่ใต้ทะเล และมีดวงไฟจำนวนมากมายที่ส่องแสงขึ้นมาบนผิวน้ำทะเลในยามค่ำคืน สื่อให้เห็นถึงดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับในเหตุการณ์สึนามิ โดยในช่วงเวลากลางวันจะให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์ ขณะที่ช่วงเวลากลางคืนผู้คนจะมาชมดวงไฟและไว้อาลัยให้กับผู้ล่วงลับบริเวณริมทะเล
คณะกรรมการฯเลือก 'สังเวย' เป็นหนึ่งใน 5 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายด้วยรู้สึกว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการผนวกทะเลให้เข้ากับโครงการได้อย่างประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยการสร้างตารางสัญลักษณ์ของแสงไฟในทะเล และเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วย อีกทั้งการจัดกลุ่มอาคารอยู่เฉพาะบริเวณถนนทางเข้าก็ยังประโยชน์ในการนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทัศนวิสัยของอนุสรณ์สถานในเวลากลางวัน ความเป็นได้ทางเทคนิค และพื้นผิวสะท้อนแสงของโครงสร้างบริเวณถนนทางเข้า พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่าควรสร้างความชัดเจนในแง่ของการเข้าถึงชายหาด ระบบการเชื่อมต่อทางสัญจร และจัดหาพื้นที่จอดรถเพื่อรองรับไว้ด้วย
*สถาปนิกนานาชาติร่วมเป็นกรรมการ
การพิจารณาคัดเลือกการออกแบบ 'อนุสรณ์สถานสึนามิ' ให้เหลือเพียง 5 ผลงานสุดท้ายนั้น นับเป็นความยากลำบากของบรรดาคณะกรรมการอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะต้องคัดเลือกจากผลงานที่ถูกเสนอมาเกือบ 400 แบบแล้ว แต่ละผลงานยังมีความเป็นเยี่ยม ทั้งด้านแนวคิด การออกแบบ และรูปแบบการก่อสร้าง ดังนั้นคณะกรรมการจึงต้องระดมสมองอย่างหนักเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด
ที่สำคัญคณะกรรมการที่ร่วมพิจารณาคัดเลือกผลงานการออกแบบอนุสรณ์สถานสึนามิล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมจากนานาประเทศ อันประกอบด้วย สเตฟาโน โบเอรี (Stefano Boeri) สถาปนิกบรรณาธิการนิตยสาร Domus เป็นตัวแทนจากประเทศอิตาลี ,โยนาส โบห์ลิน (Jonas Bohlin) นักออกแบบจากสวีเดน และอดีตอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมการตกแต่งภายใน และการออกแบบเครื่องเรือนของวิทยาลัยศิลปะ งานฝีมือ และการออกแบบ กรุงสตอกโฮล์ม
ศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ (Decha Boonkham) อาจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ซู อันจื้อ (Xu Anzhi) นายกสมาคมสถาปัตยกรรมแห่งประเทศจีน เดวิด เอลเลียต (David Elliott) ผู้อำนวยการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ ณ กรุงโตเกียว และ เยนส์ ลุดลอฟ (Jens Ludloff) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ กรุงโตเกียว เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน
*ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่
ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า กรรมการแต่ละคนนั้นมีความเห็นไม่เหมือนกัน ก็ต้องยึดหลักการและเหตุผลเป็นหลัก การตัดสินว่าจะเลือกผลงานชิ้นใดนั้นต้องเป็นไปตามมติเสียงข้างมาก
"การตัดสินต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรม โดยกรรมการจะไม่รู้มาก่อนเลยว่าผลงานชิ้นไหนเป็นของใคร มาจากประเทศอะไร เราจะใช้หมายเลขกำกับแทนชื่อผู้ออกแบบ บางชิ้นที่เข้ารอบ 5 ผลงานสุดท้ายก็ไม่ใช่ชิ้นที่ผมชอบนะ แต่เราก็ต้องฟังความเห็นคนอื่นด้วย ผลงานที่ผมชอบมากคือ 'สังเวย' ชิ้นนี้มีความลึกซึ้งในการสร้างงานมาก เขาใช้ดวงไฟสื่อแทนดวงวิญญาณที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล แสงไฟที่สาดขึ้นมาบนผิวน้ำนี่เวลากลางคืนจะสวยมาก ผมเชื่อว่าจุดนี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี เวลากลางวันเขาก็ดูพิพิธภัณฑ์ไป ตกค่ำก็มาดูอนุสรณ์สถาน " ม.ร.ว.ชาญวุฒิ กล่าวยิ้มๆ
ทั้งนี้ผลงานการออกแบบก่อสร้างอนุสรณ์สถานสึนามิที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการวางไว้ คือสะท้อนแนวความคิดที่จะให้อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นที่สถานที่ซึ่งผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวจะระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ รวมทั้งเรียนรู้บทเรียนของธรรมชาติจากอุบัติภัย
เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างความเข้าใจต่อคลื่นสึนามิ และปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่สำคัญแม้ผู้ออกแบบจะมีแนวความคิดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ต้องสามารถก่อสร้างได้และสอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างอนุสรณ์สถานด้วย
และหลังจากนี้ผู้เข้ารอบทั้ง 5 รายจะได้รับเชิญให้ดำเนินการออกแบบในรายละเอียดร่วมกับสถาปนิกและวิศวกร ฯลฯ ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศไทย เพื่อส่งแนวความคิดเข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศ โดยกำหนดปิดรับแนวความคิดในวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 จากนั้นคณะกรรมการฯจะพิจารณาผลงานของผู้เข้ารอบทั้ง 5 รายและนำเสนอผลการตัดสินคัดเลือกแนวความคิดที่ชนะเลิศต่อรัฐบาลไทยภายในเดือนพฤษภาคม 2549
หลายคนต่างหวังว่า 'อนุสรณ์สถานสึนามิ' จะไม่ใช่เพียงสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นตามกระแสเท่านั้น หากแต่เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้เหล่ามวลมนุษยชาติหันมาดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหยิ่งผยอง เพราะจากมหันตภัยครั้งนี้คงทำให้เราตระหนักดีว่า 'ไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่เกินเงื้อมมือธรรมชาติ'
* * * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน