xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางสุดท้าย ของรถเมล์มินิบัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าถามถึงรถมินิบัสเขียว หลายคนคงจะส่ายหน้า นอกจากสภาพรถที่เก่า และการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว คนที่ใช้รถใช้ถนนจะพบเห็นภาพเจนตาของการขับรถอันคึกคะนอง กระทั่งในระยะหลังข่าวการเกิดอุบัติเหตุในหลายครั้งยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของรถมินิบัสให้ตกต่ำลงไปอีก จนมีเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมตรวจสอบและดำเนินการอย่างจริงจัง

ดูเหมือนว่า หลังหมดสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2549 รัฐบาลมีท่าทีว่าจะไม่ต่อสัญญาให้อีก และจะให้เปลี่ยนเป็นรถขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทน ถึงตอนนี้ แม้พวกเขาจะมีความหวังเล็กๆที่จะต่อรองกับรัฐบาล แต่ก็ดูริบหรี่เต็มที เราลองไปฟังเสียงของผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการรถมินิบัสทั้งเจ้าของ คนขับ กระเป๋า พูดถึงชะตากรรมของตัวเอง หลังวันที่รถมินิบัสเขียวกำลังจะหายไปจากสังคมไทย

*จัดระเบียบครั้งใหญ่

5 พฤศจิกายน 2548 ข่าวประกาศยกเลิกรถเมล์มินิบัสเขียวได้ปรากฏตามสื่อต่างๆ สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม มีกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆนานา

สาเหตุหลักที่หยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกมินิบัสก็คือ การบริการที่ตํ่ากว่ามาตรฐาน ขับรถอันตรายจนสร้างปัญหาอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้สถิติปริมาณผู้ใช้รถเมล์ลดลงมาก จาก4 ล้านคนต่อวัน ลดลงมาเหลือ 2 ล้านคนต่อวัน

กลุ่มผู้ประกอบการรถเมล์มินิบัส คนขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงได้รวมกลุ่มกันเป็น 'ม็อบมินิบัส' เข้าไปประท้วงหน้ากระทรวงคมนาคมเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่า รายได้จากค่าโดยสารน้อย ต้นทุนนํ้ามันในการเดินรถสูง จึงทำให้ไม่สามารถปรับปรุงสภาพรถและพนักงานบริการให้ดีขึ้นได้

ในวันนั้น พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาชี้แจงว่า "กระทรวงคมนาคมไม่มีนโยบายยกเลิกการให้บริการรถมินิบัสจนกว่าจะหมดสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2549 ในระหว่างนี้จะมีการตรวจสภาพรถเมล์มินิบัสทุกคันเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ส่วนในอนาคตนั้นจะมีการเปลี่ยนรถมินิบัสเป็นรถเมล์ขนาดใหญ่ที่ให้บริการดีขึ้น ซึ่งได้เตรียมเจรจากับทางเอสเอ็มอีแบงก์ จัดหาวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะเป็นอัตราประมาณร้อยละ 4 ให้แก่ผู้ประกอบการ คาดว่าจะใช้เงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยรถเมล์รูปแบบใหม่ก็จะเน้นการใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นหลัก ส่วนรถมินิบัสหากยังมีสภาพพอใช้ได้ ก็อาจจะมีการปรับไปให้บริการในตรอกซอยต่างๆ"

ถ้าจะพูดสั้นๆแบบชกตรงเป้าก็คือ ตอนนี้ยังไม่เลิก แต่หมดสัญญาในปีหน้าเมื่อไหร่ เลิกแน่

จากนั้นทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกตรวจสภาพรถเมล์มินิบัสทุกคัน ประกาศมาตรฐานการตรวจที่ชัดเจนคือ ระบบเบรก ศูนย์ล้อและตัวถัง หากพบว่ารถคันใดไม่ผ่านการตรวจสภาพก็จะได้รับป้ายแดง โดยจะต้องนำกลับไปซ่อมแซมภายใน 15 วัน และนำมาตรวจซํ้า ถ้ายังไม่ผ่านการตรวจสภาพหรือลงความเห็นว่า ไม่ผ่านการตรวจสภาพจริงๆ ก็ต้องให้หยุดใช้บริการ

การตรวจสภาพรถเมล์มินิบัสเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.2548

*เสียงสะท้อนจากคนมินิบัส

หลังที่ได้รับข่าวเกี่ยวกับการยกเลิกรถเมล์มินิบัสเขียว คนกลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายโดยตรงเลยก็คือ ผู้ประกอบการเจ้าของรถ คนขับรถ กระเป๋ารถเมล์ วันชัย ลีเกษม ผู้ประกอบการรถเมล์มินิบัสเขียวสาย 42 กับ 56 ได้เป็นตัวแทนออกมาร้องทุกข์ถึงความเสียหายที่เขาจะได้รับหากมีการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนรถเมล์มินิบัส

"ไม่เห็นด้วยเลยกับการยกเลิกมินิบัส หมายถึงการยกเลิกไม่ต่อสัญญาไปเลยนะ คิดดูสิว่าจะมีกี่คนจะได้รับความเดือดร้อน ทั้งเจ้าของรถ คนขับรถ กระเป๋ารถตั้งไม่รู้เท่าไหร่"

วันชัยบอกว่า บางคนเพิ่งผ่อนชำระหมดไปหมาดๆ บางคนเหลืออีกเพียงสองเดือนก็จะหมดหนี้หมดสินแล้ว พอมาเจอกับข่าวนี้มันเหมือนกับความฝันที่ได้สร้างมากับมือพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตา

"ในเรื่องที่จะเปลี่ยนมาเป็นรถใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีนั้น ค่าใช้จ่ายมันก็ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน รถเมล์มินิบัสตอนนี้ขายแล้ว ได้แค่ไม่กี่แสน แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นรถใหญ่ คิดดูว่า จะกี่ล้าน แต่ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือด้านเงินทุนก็เอา แต่ต้องรอดูเพื่อนผู้ประกอบการคนอื่นๆก่อนว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ถ้าตกลงกันหมด เราก็แห่ไปด้วย"

ส่วนข้ออ้างที่ว่า ต้นทุนนํ้ามันสูง รายได้ตํ่า ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้นได้นั้นวันชัยกล่าวว่า

"เรื่องอย่างนี้มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่านะ ไม่เกี่ยวกับรายได้หรอก มันขึ้นอยู่กับจิตใจและศีลธรรมของแต่ละคน "

การร้องเรียนจากผู้โดยสารต่อรถเมล์มินิบัสนั้นมีทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง การขับรถเร็วอันตราย รับ-ส่งผู้โดยสารนอกป้ายและมารยาทแย่ อาจมีคนสงสัยว่า คำฟ้องร้องเหล่านี้จะตกไปถึงผู้ประกอบการหรือเปล่า?

"มีแต่คนพูดกันว่า จะฟ้องร้องไปทำไม ฟ้องไปพวกนี้ก็ได้ผลรึเปล่าก็ไม่รู้ ฟ้องไปเถ้าแก่จะรู้ไหม จะอบรมตักเตือนไหม ...ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ทุกคำร้องตกถึงผู้ประกอบการหมด ทาง ขสมก.เขามีการตรวจสอบที่แน่นอนชัดเจน ถ้าโดนฟ้องก็ต้องไปเสียค่าปรับ แล้วก็เรียกมาตักเตือนกัน "

วันชัยเล่าว่า เวลาที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับมินิบัสเมื่อไหร่ เขากับผู้ประกอบการเจ้าของรถเมล์มินิบัสเขียวทุกคนทั่วทั้งกรุงเทพฯให้ความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆทุกครั้ง

"ให้ความร่วมมือเต็มที่ทุกอย่าง เรื่องการตรวจสภาพรถก็ไป เรื่องการจัดการอบรมพนักงาน เราก็ส่งคนไปทุกครั้งที่มีงานไม่เคยขาด"

ขณะที่ สุดใจ บุตรพรม กับ ทองพูน พาผล สองคู่หูพนักงานขับรถเมล์มินิบัสเขียวสาย 56 ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ถ้าหากยกเลิกมินิบัสจริงๆ บทสรุปของเขาทั้งสองก็คงไม่พ้นคำว่า 'ตกงาน'

"ถ้าจะถามว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนต่อไป ผมก็คงต้องไปขับรถใหญ่ อาจจะเป็น ขสมก. หรือรถร่วม หรือไม่ก็โน่นเลยสิบล้อ"

สุดใจเล่าว่า เขาขับรถเมล์ทั้งประจำทางและไม่ประจำทางมา 10 กว่าปีแล้ว ถึงจะรายได้น้อย แต่ก็เป็นอาชีพที่เขารัก

"รายได้ของมินิบัสน้อยมาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 8 บาท ขับตั้งแต่หกโมงเช้าเลิกสามทุ่มครึ่ง ยิ่งรับผู้โดยสารเยอะก็ยิ่งได้เงินเยอะ"

รายได้เช่นนี้จึงทำให้ไม่แปลกที่จะเห็นรถเมล์มินิบัสเขียวขับด้วยความเร็วเพื่อจะได้รับผู้โดยสารขึ้นรถของตน

"วันๆ หนึ่งวิ่งได้ 2,000-2,300 ค่านํ้ามันก็ 1,000 นึงแล้ว ให้เถ้าแก่อีก 700 ที่เหลือก็มาแบ่งกันสองคนกับกระเป๋ารถ " ทองพูนพูดเสริมขึ้นมาด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าที่เปรอะเปื้อนคราบนํ้ามัน

"ผมพยายามผ่อนรถจนจะหมดอยู่แล้ว อยู่ๆก็จะมาเลิกสัญญา ทำอย่างนี้ผมก็เดือดร้อนสิ"

ทั้งสองคนโอดครวญว่า เมื่อวันที่เขาทั้งสองนำรถไปตรวจสภาพนั้น ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย

"ซ่อมครั้งแรกไม่ผ่าน ก็ต้องกลับมาเข้าอู่ 2-3 วัน ก็ไปตรวจอีกถึงจะผ่าน แล้วคิดดูว่าวันที่เราไม่วิ่งรถน่ะ เสียหายไปเท่าไหร่" ทองพูนเล่าถึงครั้งที่นำรถไปตรวจสภาพ

พนักงานของรถเมล์มินิบัสเขียวที่ทุกคนมองว่าหยาบคายนั้น ทองพูนบอกว่า ควรแยกแยะให้ออกระหว่างคนที่ดีกับคนที่เลว ไม่ควรเหมารวมทั้งหมด

"ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า สายนี้ใครเป็นยังไง ถ้าคนไหนขับดีก็ให้เขาขับต่อไป คนไหนขับไม่ดีก็เอาออกไปซะ จะได้ไม่เป็นจุดด่างพร้อย"

ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนจากรถเมล์มินิบัสเป็นรถเมล์ใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีนั้น ทองพูนตั้งคำถามว่า จำนวนปั๊มแก๊สจะเพียงพอหรือไม่?

"อยากรู้ว่าที่คุณเสนอมานั้น มีปั๊มแก๊สรองรับเพียงพอรึเปล่า ดูๆเอาสิว่า มีรถกี่คันในตอนนี้ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทั้งรถส่วนตัว แท็กซี่ ไหนจะเพิ่มมินิบัสใหม่เข้าไปอีก นึกภาพรถเมล์ใหญ่รอต่อคิวเติมแก๊สกันจนล้นออกมานอกปั๊มสิ มันจะเป็นอย่างไร"

รถเมล์มินิบัสของทั้งสองคนตรวจสภาพผ่านเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้อีกไม่นานทั้งคู่ก็จะไปเข้ารับการอบรมจริยธรรมของพนักงานที่ทาง ขสมก.จัดขึ้น

*ความเห็นจากภาครัฐ

หากไปฟังความเห็นจาก พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล ผบก.จร. เขากล่าวว่า เห็นด้วยในกรณีที่จะนำรถมินิบัสเขียวที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากระบบภายใน 6 เดือน เนื่องจากสภาพรถค่อนข้างเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะให้บริการ ที่สำคัญคนขับรถเมล์ส่วนใหญ่ยังไม่มีวินัยในการขับขี่เท่าที่ควร

"กลุ่มรถมินิบัสเขียวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพราะรถกว่า 1,000 คัน มีสัญญาการเดินรถมากถึง 900 สัญญา แต่ก็ควรมีทางเลือกให้พวกเขา หลังนำรถออกจากระบบเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ส่วนคนขับที่เป็นลูกจ้างก็มีรายได้น้อย ต้องเร่งเดินรถให้เร็วเพื่อให้ตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้น" พล.ต.ต.ภาณุกล่าว

ในช่วงเวลาของการตรวจสภาพรถมินิบัส มีผู้นำรถเข้ามารับการตรวจสภาพในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูราบรื่นด้วยความร่วมมืออันดีจากผู้ประกอบการรถมินิบัสทั่วทั้งกรุงเทพฯ

แต่ผลของการตรวจสภาพรถมินิบัสโดยรวมแล้วมันกลับออกมาไม่ราบรื่นอย่างที่คิด มันถูกแทนที่ด้วยสถิติที่น่าตกใจ

ปิยะพันธ์ จำปาสุต อธิบดีกรมการขนส่งทางบกสรุปผลการตรวจสภาพรถโดยสารประจำทาง (มินิบัส) ว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า

"จนถึงขณะนี้มีผู้ประกอบการนำรถตรวจสภาพเฉลี่ยวันละ 100 คันจากที่มียอดรถรวมทั้งสิ้น 1,118 คัน ผลปรากฏว่ามีรถมินิบัสเข้ารับการตรวจสภาพ 1,020 คัน ไม่มาตรวจ 107 คัน ซึ่ง ขสมก.ได้สั่งระงับการออกวิ่งบริการมีผ่านการตรวจในรอบแรกและจากการตรวจซ้ำหลังให้เจ้าของรถไปปรับปรุงแก้ไข 828 คัน ไม่ผ่านการตรวจซ้ำ 136 คัน อีก 56 คัน ยังไม่มารับการตรวจซ้ำ โดยจำนวนรถมินิบัสที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพทั้ง 136 คัน ขสมก.ได้สั่งห้ามวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารจนกว่าเจ้าของรถจะทำการปรับปรุงแก้ไขและนำมาให้ตรวจสอบสภาพรถอีกครั้ง ถ้าผ่านการตรวจจึงจะนำออกวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารได้ตามปกติรวมถึงรถมินิบัส 107 คัน ที่ไม่มาตรวจสภาพ ขสมก.ได้สั่งระงับการวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารไปแล้ว หากฝ่าฝืนนำออกวิ่งจะลงโทษสถานหนัก"

นี่มันยิ่งชี้ชัดให้ประชาชนเห็นอีกว่า รถเมล์มินิบัสที่ใช้โดยสารอยู่เป็นประจำทุกวันนั้น กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้มาตรฐานการตรวจสภาพรถ พูดง่ายๆคือ ไม่สมควรที่จะนำมาออกวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารจำนวนล้านๆคนต่อวัน

ถึงตอนนี้ผู้อ่านที่ใช้บริการรถเมล์มินิบัสเขียวทุกๆวันคงลอบถอนหายใจ ว่า รถคันที่ใช้บริการนั้นผ่านการตรวจสอบสภาพรถมาหรือยัง?

*มุมมองของผู้ใช้บริการ

วัชรี ทรัพย์ชิด แม่บ้านวัย 47 ปีเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตคลุกคลีกับรถเมล์มินิบัสมากว่าสิบปีเห็นด้วยอย่างยิ่งกับกรณียกเลิกสัญญามินิบัส

"ในส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยนะ ถ้าจะยุบรถเมล์เขียวไปเลย เพราะสภาพมันไม่ไหวแล้ว คนขับก็ขับเร็วอีกต่างหาก แถมพฤติกรรมของพนักงานรถนั้นแย่มากๆ แต่ก็น่าเห็นใจพนักงานที่ต้องตกงานอีกไม่รู้กี่คน ทางรัฐบาลควรช่วยให้พวกเขาให้มีงานทำหลังจากยกเลิกสัญญาด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมาอีกเยอะแยะเลย"

วัชรีเล่าให้ฟังว่า เธอเคยเห็นคนขับรถบางคันสูบบุหรี่บนรถ พูดคำหยาบคายกับกระเป๋ารถเมล์ แถมยังวางท่าเป็นจิ๊กโก๋เที่ยวพูดจากระโชกโฮกฮากกับผู้โดยสาร

"อยากให้มีการอบรมจริยธรรมพนักงานทุกคนของรถเมล์มินิบัส ตรวจสอบให้เคร่งครัดไปเลยว่า คนไหนควรที่จะออกมาบริการผู้โดยสาร ไม่ใช่ใครจะมาทำงานบริการตรงนี้ก็ทำได้ คนที่ต้องขึ้นรถเมล์ทุกวันๆ ถ้าต้องมาเจอกับเรื่องไม่ดี สุขภาพจิตคงเสียหมด"

ส่วนศรีเสาวลักษณ์ กิจพ่อค้า หรือ 'พิม' นักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 5 ร.ร.ชื่อดังแห่งหนึ่งย่านสะพานพุทธกล่าวว่า ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับมินิบัส ทำให้เธอตัดสินใจเลิกขึ้นรถเมล์ร่วมบริการ

"ตอนนั้นดูข่าวที่ว่า ผู้หญิงกลับบ้านดึกๆ แล้วโดนคนขับรถกับกระเป๋ารถเมล์มินิบัสพยายามจะลากไปข่มขืน เมื่อดิ้นรนขัดขืน ก็โดนทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม จนป่านนี้ยังจับคนร้ายไม่ได้เลย "

เธอเชื่อเหลือว่า การยกเลิกรถมินิบัสก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย

"ผลดีก็คือ อัตราการเกิดอุบัติเหตุน่าจะลดลง โครงสร้างรถประจำทางดูเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ดูแลจัดการได้ง่ายแถมทำให้ประชาชนเป็นล้านๆคนรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่บนท้องถนน ส่วนผลเสียนั้นคือ จะมีคนตกงานมากมาย แต่กรณีนี้ถ้ามีมาตรการที่รัดกุมมารองรับก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"

*การต่อสู้กำลังจะเริ่มขึ้น

"ขอขอบคุณทุกๆคนที่มาร่วมประชุมกันในวันนี้ ขอบคุณทุกคนที่ไม่ทอดทิ้งผม และขอให้เราเกาะกลุ่มสามัคคีกันไว้" นี่เป็นเพียงประโยคหนึ่งที่ สำราญ ไหลประสิทธิ์พร หรือ "เฮียหยู" นายกสมาคมผู้ประกอบอาชีพรถเมล์เล็ก(มินิบัส) ได้กล่าวในช่วงการเปิดประชุมใหญ่ผู้ประกอบการรถโดยสารขนาดเล็ก(มินิบัส) ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการรถมินิบัสทั่วกรุงเทพฯจำนวนกว่า 200 คนจากรถเมล์มินิบัส 1,118 คัน ต่างก็มาเข้าฟังการประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง หลังจากที่ได้รับข่าวว่า กระทรวงคมนาคมประกาศจะยกเลิกมินิบัสเขียวและมีแนวโน้มว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นรถเมล์ใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี

แน่นอนว่า ทุกคนย่อมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ เนื่องจากหลายคนเล็งเห็นว่า หากมีการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ ค่าใช้จ่ายอะไรในการนี้ต้องมากมายมหาศาล

พละกำลังและความสามารถของพวกเขาหรือเธอคงไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เว้นเสียแต่ว่า ทางรัฐบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระด้านค่าใช้จ่ายให้น้อยลงที่สุด

หลังจากถกเถียงและการระดมสมองของผู้ประกอบการจำนวนกว่า 200 คนก็ได้ผลสรุปออกมาว่า จะส่งตัวแทนผู้ประกอบการ 14 คนไปเจรจากับทางฝ่ายรัฐบาลในเดือนหน้า

ท้ายสุดแล้วผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องรอดูปลายเดือนพฤษภาคมปี 2549 ทิศทางของรถเมล์มินิบัสจะเป็นอย่างไร จะยังคงอยู่ด้วยรูปโฉมใหม่ที่แปลกหูแปลกตาหรือจะกลายเป็นเพียงความทรงจำสีเทาๆในประวัติศาสตร์

แน่นอนว่า ผู้ประกอบอาชีพรถเมล์เล็กเหล่านี้ยังมีความหวังสำหรับอนาคตที่ริบหรี่จากรัฐบาล แต่เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาก็ต้องตอบคำถามสังคมถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาด้วย

************

เรื่องแย่ๆของมินิบัส

เอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็นที่ทางราชการจะไม่ต่อสัมปทานให้กับอู่รถร่วมบริการ ขสมก. (มินิบัส) ที่สภาพรถและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ได้มาตรฐาน ปรากฏว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 10.3 ระบุไม่เห็นด้วย

ด้านปัญหาที่เกิดจากรถขสมก.พบว่า
1 ขับรถเร็ว/อันตราย ร้อยละ 47.5
2 พูดจาไม่สุภาพ/มารยาทไม่ดี ร้อยละ 22.7
3 ผู้โดยสารยังขึ้นลงไม่เรียบร้อยก็ออกรถ/ผู้โดยสารตกรถ ร้อยละ 15.2
4 รถชน/อุบัติเหตุชนคนตาย ร้อยละ 13.0
5 ไม่จอดป้าย ร้อยละ 6.1
6 ทะเลาะวิวาทบนรถร้อยละ 5.1
7 รถสภาพแย่/ไม่เหมาะที่จะนำมาขับ/รถเสีย/ควันดำ ร้อยละ 4.4
8 จอดนอกป้าย/จอดขวางการจราจร ร้อยละ 4.2
9 ขับรถไม่มีวินัย/ ผิดกฎจราจร ร้อยละ 4.0
10 ปิดประตูหนีบผู้โดยสาร ร้อยละ 3.8
(จากผลสำรวจเมื่อวันที่ 25-11-48)

**************************************

เรื่องโดย:อินทรชัย พาณิชกุล
ภาพ-อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์









กำลังโหลดความคิดเห็น