เมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นในภูมิภาคยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2484 สงครามครั้งนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายอักษะ นำโดยประเทศเยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี และฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นแกนนำ
ขณะนั้นข่าวการสู้รบของฝรั่งในภูมิภาคที่ห่างไกลออกไปก็ส่งมาถึงเมืองไทยเป็นระยะๆ แต่หลายคนก็อยากจะคิดว่าสงครามในดินแดนยุโรปอันห่างไกล คงไม่ลุกลามมาถึงประเทศไทยได้ง่ายๆ แต่อีกสองปีถัดมา ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ประเทศไทยก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นมายังแผ่นดินไทยผ่านทางจังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ เพื่อเดินทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีพม่า และอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองในความควบคุมของประเทศอังกฤษ แกนนำฝ่ายสัมพันธมิตร
การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นขณะนั้นเกี่ยวข้องกับชาวบางกอกน้อยโดยตรง เพราะบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟบางกอกน้อย จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นกองบัญชาการสำหรับขนส่งยุทธปัจจัยขึ้นรถไฟไปยังสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบางกอกน้อยจึงเป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในครั้งนี้โดยไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้นเลย
60 ปีที่ผ่านมานี้... ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามก็ยังคงติดอยู่ในใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยากจดจำหรือไม่ก็ตาม
1.
ลุงวีระ รุ่งแสง ประธานชุมชนบ้านบุ ย่านบางกอกน้อย ที่ในขณะนั้นยังเป็นเพียงเด็กชายวีระ อายุ 14 ปี นักเรียนในโรงเรียนอำนวยศิลป์ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า
"ตอนที่พวกญี่ปุ่นมาลุงก็เสียใจ เพราะพอมีข่าวว่าญี่ปุ่นบุก งานฉลองรัฐธรรมนูญที่กำลังจะจัดก็เลยต้องงดไป บรรยากาศตอนนั้นก็มีแต่ทหารเต็มไปหมด ตอนเช้าทหารไทยก็เอาปืนกลมาไว้เต็มสนามหลวง พอถึงบางกอกน้อยก็เห็นทหารญี่ปุ่นมากันเต็มสองคันรถบรรทุก และพวกคนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ก็ลุกขึ้นมาแต่งชุดทหาร อย่างพ่อค้าขายรองเท้าอย่างน้อยก็มียศพันโท พวกนี้เขาแทรกซึมเข้ามานานแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีผลกระทบอะไรกับเรา เขาก็เป็นมิตรดี" ลุงวีระ เล่า
ส่วนป้าถาวร อนุชา จากชุมชนบ้านข้าวเม่า ย่านบางกอกน้อยเช่นกัน ก็มีชีวิตคล้ายกับอังศุมาลิน ในเรื่อง "คู่กรรม" ไม่มีผิด จะต่างก็นิดหน่อยกันตรงที่เป็นอังศุมาลินเมื่ออายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น ป้าถาวรเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในช่วงสงครามว่า
"ตอนนั้นที่บ้านก็มีพวกญี่ปุ่นเข้ามาเยอะ พวกผู้ใหญ่ก็บอกว่าให้ระวังตัวให้ดีๆ นะ เขาอยากได้อะไรก็ให้เขาไป มีอยู่วันหนึ่งทหารญี่ปุ่นหนีระเบิดเข้ามาอยู่ในสวนของบ้านป้า ทีแรกป้าก็กลัว เขาชี้มาที่โอ่งน้ำแล้วก็ชี้มาที่ปาก ป้าก็ไปถามยายว่า เขาขอกินน้ำ จะให้เขาไหม ยายก็บอกให้ให้ไป แล้วจากนั้นบางทีเขาก็มีของมาแลกเปลี่ยน อย่างเช่นน้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ ซึ่งเป็นของหายากในตอนนั้น พอบ้านเรามีกล้วย มะละกอ มีปลาต่างๆ เราก็ให้เขาบ้าง"
ในตอนนั้นทหารญี่ปุ่นก็คงดูแปลกแยกจากคนไทยไม่น้อย แต่สิ่งที่คนไทยมองคนญี่ปุ่นว่าประหลาดก็คือ พฤติกรรมการยืนปัสสาวะริมถนน หรือแก้ผ้าอาบน้ำในคลอง ลุงวีระเล่าให้ฟังว่าพอเย็นๆ ก็จะชวนพรรคพวกไปดูทหารญี่ปุ่นอาบน้ำ แต่โดยรวมแล้วทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะเป็นมิตรกับชาวบ้าน เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เพราะเวลาทหารญี่ปุ่นมาซื้อของก็จะให้ราคาที่สูงกว่าปกติ อย่างกล้วยหอมในสมัยนั้นหวีละหนึ่งสลึง ญี่ปุ่นซื้อในราคาสองบาทโดยไม่ต่อสักคำ
สำหรับคนที่เคยดูหรือเคยอ่านเรื่อง "คู่กรรม" ของทมยันตี คงจะจำกันได้กับบทลงโทษคนไทยที่ขโมยน้ำมันด้วยการกรอกน้ำมันใส่ปาก ซึ่งนั่นก็เป็นบทลงโทษที่เกิดขึ้นจริงๆ ถือเป็นการลงโทษให้หลาบจำโดยไม่ทำให้ถึงตาย
ด้วยความขี้สงสารของคนไทย ใครแพ้เราก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นจะแพ้เราก็ช่วยเหลือญี่ปุ่น แต่พอฝรั่งเสียทีบ้างเราก็แอบช่วยฝรั่ง อย่างป้าถาวร ที่แอบเอามะนาวกลิ้งไปให้ทหารเชลยฝ่ายพันธมิตรที่ถูกเกณฑ์มาสร้างถนนกลางแดดจ้าจนตัวแดง ป้าถาวรเล่าว่า พอเขาได้มะนาวไปก็ดีใจใหญ่ รีบบีบน้ำกลืนลงคอ เนื่องจากหิวน้ำจนคอแห้งผาก ทหารญี่ปุ่นก็คงจะเห็น แต่ไม่ว่าอะไร เพราะป้าก็เคยช่วยเขาไว้มากเหมือนกัน
2.
เหตุการณ์ระหว่างชาวบางกอกน้อยกับทหารญี่ปุ่นดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ระเบิดตกลงสู่กรุงเทพฯเป็นลูกแรก ลุงวีระเล่าว่า ทางฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งใจจะทิ้งระเบิดให้ลงสะพานพุทธ แต่เกิดพลาดมาตกลงกลางบ้านของชาวบ้านในแถบวัดพิชัยญาติ ส่วนระเบิดลูกแรกในย่านบางกอกน้อยนั้น เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในตอนกลางวัน ลูกระเบิดไปตกที่วัดใหม่ยายแป้น บังเอิญระเบิดลูกนั้นตกลงในโบสถ์หน้าพระประธานและเกิดด้าน จึงเป็นโชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต
เสียงหวอเตือนภัยทางอากาศยังคงสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนอยู่เรื่อยมา แต่วันที่ชาวบางกอกน้อยจะไม่ลืมเลยก็คือวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 เมื่อฝ่ายทหารพันธมิตรส่งฝูงบิน B-29 เข้าโจมตีทิ้งระเบิดบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย เนื่องจากทราบจากฝ่ายข่าวกรองมาว่า ในวันนั้นกองทัพญี่ปุ่นจะมีการขนส่งสัมภาระยุทธปัจจัยจำนวนมาก ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มการโจมตีตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 พ.ย.
"คืนนั้นมีเสียงหวอเตือนตอน 5 ทุ่มครึ่ง ชาวบ้านก็ออกไปหลบกัน แต่พอหกทุ่มก็ยังไม่มีเครื่องบินมา ก็เลยกลับบ้านกัน แล้วทีนี้พอหกทุ่มครึ่งคนกลับบ้านกันหมดแล้วก็มีเสียงเครื่องบินมาดังกระหึ่มเลย บ้านของลุงโดนระเบิดจากเครื่องบินลำที่ 3 เห็นระเบิดเพลิงเต็มหน้าบ้าน เขามักทิ้งระเบิดเพลิงก่อนเพื่อให้มีแสงสว่าง และสร้างความวุ่นวาย ตอนนั้นที่บ้านลุงก็มีหลุมหลบภัย แต่วันนั้นในหลุมมีน้ำท่วม ยังวิดน้ำออกไม่หมด เลยไม่ได้เข้าไปหลบในนั้น แต่ถ้าลงไปก็ตายเพราะระเบิดลงกลางหลุมพอดี"
เรื่องของหลุมหลบภัยกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้ใจเท่าไรนัก เพราะบางครั้งก็กลายเป็นหลุมฝังศพได้ ป้าถาวรเล่าว่า ชาวสวนทำหลุมหลบภัยเองโดยการขุดหลุมแล้วเอาไม้กระดานปูพื้นด้านล่างและด้านข้าง ส่วนข้างบนวางด้วยขอนไม้ ปิดด้วยสังกะสีและเศษดิน แต่มีบางบ้านที่เข้าไปหลบแล้วก็โดนกลบทั้งหลุม คราวนี้ชาวบ้านเลยไม่ไปหลบในหลุมอีกเลย แต่จะเข้าไปหลบในสวนห่างจากทางรถไฟแทน และจะมีทหารไทยคอยประกาศว่า "ห่างรัศมีๆ"
เรื่องราวของการหลบลูกระเบิดนั้นก็มีหลายรูปแบบ บ้างก็เข้าไปหลบในป่าช้า หลบข้างโกดังเก็บศพ นาทีนั้นไม่มีคำว่ากลัวผี มีแต่ต้องการเอาชีวิตรอดจากระเบิดเท่านั้น หรือบางคนพยายามพายเรือหลบไปในลำคลอง แต่พายเท่าไรเรือก็ไม่เคลื่อนย้ายไปไหนเพราะตกใจและรีบจนลืมแกะเชือกผูกเรือออก ฟังแล้วก็เหมือนเป็นเรื่องตลก แต่รับรองได้ว่าในขณะนั้นไม่มีใครขำออกแน่ๆ
"ตอนเช้าหลังจากการทิ้งระเบิดในวันนั้นก็เงียบเหมือนป่าช้า ศพทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่อยู่เต็มริมคลอง จนสนามโรงเรียนสุวรรณารามยังไม่พอฝัง..."
จำนวนชาวบางกอกน้อยผู้เสียชีวิตในคืนนั้นกว่าร้อยศพ ไม่นับรวมผู้บาดเจ็บ ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ที่พลัดหลงกับครอบครัวโดยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว บรรยากาศในขณะนั้นเต็มไปด้วยความเงียบงันที่น่าหดหู่
ซากความเสียหายเกิดขึ้นทั่วทั้งบริเวณชุมชนชาวบางกอกน้อย สถานีรถไฟมีแต่กองเศษอิฐ รถไฟหงายท้องอยู่นอกราง อาคารของโรงพยาบาลศิริราชโดนระเบิดเสียหายไปบางส่วน เช่น ตึกพระองค์หญิง (ตึกเด็ก) ห้องคลอด ระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่อาคารผู้ป่วย แต่โชคดีที่ไม่ระเบิด เล่ากันว่า คนไข้ที่เป็นโรคเหน็บชาลุกไม่ได้ ยังสามารถวิ่งหลบระเบิดออกไปนอกโรงพยาบาลได้ ส่วนวัดอมรินทรารามเกือบทั้งวัดถูกลูกระเบิดเสียหายเกือบหมด ยกเว้นตำหนักเขียว และมณฑปพระพุทธบาทจำลองที่รอดเหลือมาได้
และอีกหนึ่งปีถัดมา ในพ.ศ.2488 สงครามสงบลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยรอดจากการเป็นผู้แพ้เพราะขบวนการเสรีไทย ผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นทหารไทย ทหารญี่ปุ่น ทหารสัมพันธมิตร และประชาชนผู้บริสุทธิ์...
3.
60 ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนบางกอกน้อยที่อยู่ในเหตุการณ์ยังคงรำลึกถึงคืนแห่งความสูญเสียนั้นได้ และมีการจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในวันที่ 29 พฤศจิกายนอยู่เสมอ
สงครามไม่เคยให้อะไรนอกจากเจ็บปวดและความสูญเสียของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยเท่านั้น การที่คนซึ่งไม่มีความแค้นต่อกัน ไม่เคยรู้จักกันเลยแม้แต่นิดต้องมาฆ่าฟันกัน นับเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ โลกของเรามีเรื่องวุ่นวายมากพอแล้ว... ไม่ว่าชาวบางกอกน้อยหรือใครๆ ก็คงไม่ต้องการจะให้สงครามเกิดขึ้นอีกต่อไป
********************
ข้อมูลจากงาน "รำลึก 60 ปี ชาวบางกอกน้อยกับสงครามมหาเอเชียบูรพา ปีที่ 2" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โดยกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมกับชุมชนบ้านบุ วัดสุวรรณารามฯ สภาวัฒนธรรมบางกอกน้อย เครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนบางกอกน้อย และแหล่งเรียนรู้ธนบุรี
*************************
เรื่อง - ทีมข่าวท่องเที่ยว