ใครที่ดู 'แดจังกึม' ซี่รีย์ดังจากเกาหลี คงรู้สึกคล้ายๆกันคือ อยากกินอาหารเกาหลี โดยเฉพาะเมนู'อาหารในราชสำนัก' ซึ่งทั้งหน้าตาและวิธีการทำช่างละเมียดละไมน่าลิ้มชิมรสไปทุกเสียอย่าง "ผู้จัดการปริทรรศน์"พาท่านไปชิมและชมวิธีการทำอาหารแห่งราชสำนักเกาหลี ทั้งที่เป็นเมนูดั้งเดิมและที่ถูกดัดแปลงออกไปภายหลังจากสูตรลับถูกเผยแพร่ออกนอกวัง ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหญิงนพเก้า อาหารว่างเลื่องชื่อ , ซัน จอก บาบีคิวเกาหลี , ซัมเกทัง ซุปไก่ตุ๋นโสม หรือ โทลโซด บิบิมบับ ข้าวอบในชามหินร้อน
*ปรับเมนูรับกระแส'แดจังกึม'
กระแส 'แดจังกึม' จอมนางแห่งวังหลวง ที่เข้ามาฉายในเมืองไทย ทำให้ความนิยมอาหารเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจการร้านอาหารเกาหลีเฟื่องฟูอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลายร้านปรับเมนูให้มีอาหารซึ่งเสิร์ฟในราชสำนักแห่งราชวงศ์โชซอนเพื่อตอบรับกระแส'แดจังกึมฟีเวอร์'
ชุตินันท์ มากสงวน ผู้จัดการร้านยูริมจอง สุขุมวิทพลาซ่า ซอยสุขุมวิท 12 บอกว่า คนไทยนิยมกินอาหารเกาหลีมากขึ้น หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องแดจังกึมเข้ามาฉายในประเทศไทย จากเดิมลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นชาวเกาหลี แต่ปัจจุบันอัตราส่วนลูกค้าคนไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง และมักจะถามถึงเมนูที่เห็นในเรื่องแดจังกึม ซึ่งบางอย่างก็เป็นเมนูประจำของทางร้านอยู่แล้ว เช่น หมี่เย็น , ซุปมันดู หรือหมั่นโถน้ำ , ไก่ตุ๋นโสม , ข้าวอบในชามหิน ,เจ้าหญิงนพเก้า แต่บางอย่างเราก็ทำเพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้า
" เวลาเขามากินก็จะถามว่าอันนี้ใช่อย่างเดียวกับที่เห็นในหนังไหม วิธีทำเป็นยังไง เราก็อธิบายให้ฟัง จริงๆแล้วอาหารในราชสำนักเกาหลีก็จะคล้ายกับอาหารชาววังของไทย คือแต่ก่อนจะทำถวายเฉพาะในวัง ต่อมาก็เผยแพร่ออกมานอกวัง และกลายเป็นอาหารที่คนธรรมดาก็สามารถหากินได้ ซึ่งสูตรการปรุงต่างๆก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง ไม่เหมือนกับที่ปรุงในราชสำนัก เพราะถ้าเป็นสูตรราชสำนักจริงๆจะใช้ของดี ราคาแพงทั้งหมด อาหารจานนั้นก็จะราคาสูงมาก ลูกค้าธรรมดากินไม่ไหว ถ้าพูดถึงลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่จะชอบรสชาติที่เข้มข้น ก็อาจจจะขอพริกขอน้ำจิ้มเพิ่ม" ชุตินันท์ บอกยิ้มๆ
ด้าน คิม ฮันนา ผู้จัดการภัตตาคารคองจู โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ภัตตาคารเกาหลีซึ่งร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 จัดกิจกรรมสอนทำอาหารให้แฟนๆที่คลั่งไคล้'แดจังกึม' กล่าวว่า ตอนนี้ภัตตาคารคองจูได้เพิ่มเมนูซึ่งเป็นอาหารตำรับราชวงศ์เกาหลีอีกหลายอย่าง
" เมนูราชสำนักตอนนี้มีอยู่แค่ 2 อย่าง คือ เจ้าหญิงปทุมวัน หรือ กู จอล พัน อาหารว่างที่ขึ้นชื่อของราชสำนักฯ และ ซันจอก หรือ บาบีคิวเกาหลี แต่ในเดือนมกราคมปีหน้าเราจะจัดเมนูพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 3 รายการ คือ ,เนื้อเค็มต้มพุทธา , ซี่โครงเนื้อต้มซีอิ๊วเกาหลี และผักกาดแก้วห่อกุ้งกรอบใส่โสมเกาหลี โดยทั้ง 3 เมนูจะมีเฉพาะในช่วงเดือนมกราฯและกุมภาฯ ปี 49 เท่านั้น ที่ผ่านมากระแสตอบรับที่มีต่ออาหารในราชสำนักดีมาก โดยเฉพาะเจ้าหญิงปทุมวัน ซึ่งใครๆมาก็ต้องสั่ง" ฮันนา เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
*หมั่นโถน้ำ เมนูแรกที่'แดจังกึม'แสดงไหวพริบ
สำหรับเมนูแรกที่อยากจะกล่าวถึงคือ 'ซุปมันดู' หรือที่ในภาพยนตร์เรื่องแดจังกึมเรียกว่า 'หมั่นโถน้ำ' ด้วยน่าจะเป็นเมนูแรกๆที่ติดตราตรึงใจผู้ชม เพราะในตอนต้นๆของเรื่อง 'ซอจังกึม' นางเอกของเรื่อง(ยังไม่ได้เป็นหมอหลวง จึงยังใช้ชื่อซอจังกึม) ต้องแข่งขันทำอาหารจานนี้เพื่อคัดเลือกเข้าเป็นหนึ่งในนางกำนัลประจำห้องเครื่อง แต่นางเอกของเราถูกขโมยแป้งซึ่งใช้ทำแผ่นเกี๊ยวไป จึงเลือกใช้ผักกาดแก้วซึ่งมีสรรพคุณให้ความเย็น กินแล้วเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มาห่อแทน
'ซุปมันดู' มีลักษณะคล้ายกับเกี๊ยวน้ำ เหตุที่เรียกว่า 'หมั่นโถ' เพราะในสมัยก่อนนั้นคำว่าหมั่นโถนอกจากจะหมายถึงซาลาเปาแล้วยังหมายถึงเกี๊ยวด้วย
การทำ 'ซุปมันดู' ก็ไม่ยากเย็นอะไร ขั้นแรกคือการทำน้ำซุป โดยน้ำเนื้อมาต้ม ใส่หัวไชเท้าชิ้นหนาๆ หัวหอมใหญ่ใส่ทั้งหัว และใสต้นหอมลงไปหลายๆต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความหวานของน้ำซุปแล้ว ยังช่วยดูดกลิ่นคาวของเนื้อ ทำให้น้ำซุปหอมน่ากิน ปราศจากกลิ่นคาว จากนั้นปรุงรสด้วยซีอิ้วเกาหลี แล้วกรองเอาแต่น้ำซุปพักไว้ ลงมือทำไส้ โดยนำหมูบด กุ้งบด และใบกุ้ยช่าย นำแป้งหมี่มานวดจนได้ที่ แผ่เป็นแผ่นบางๆเพื่อทำแผ่นเกี๊ยว ใส่ไส้ที่เตรียมไว้แล้วห่อให้มิด ตั้งน้ำซุปให้เดือดอีกครั้ง นำแป้งที่ห่อแล้วไปต้มพอสุก
" มันดูจะมีทั้งแบบนึ่ง ทอด และทำเป็นซุป ซึ่งตัวแป้งและไส้จะเป็นแบบเดียวกันหมด เพียงแต่จะรับประทานแบบไหน โดยปกติแล้วคนเกาหลีไม่นิยมกินอาหารมันๆ จึงชอบมันดูนึ่งและซุปมันดูมากกว่า ถ้าจะกินแบบทอดก็จะใช้น้ำมันน้อยมาก แค่พรมไม่ให้ติดกระทะ ไม่เหมือนคนไทยที่ต้องทอดแบบน้ำมันท่วมกระทะ คนเกาหลีส่วนใหญ่เลยไม่อ้อน หุ่นดีๆกันทั้งนั้น" ชุตินันท์ ผู้จัดการร้านยูริมจอง เล่าไปหัวเราะไป
*นำน้ำแร่มาทำ'หมี่เย็น'
อีกฉากหนึ่งที่คนดูลุ้นระทึกและต้องทึ่งในความเป็นอัจฉริยะของ 'แดจังกึม' ก็คือ ตอนที่กษัตริย์จุงจง แห่งราชวงศ์โชซอน อยากเสวยบะหมี่เย็น (เน็ง เมียน)ในขณะที่เสด็จออกล่าสัตว์ แต่นางกำนัลห้องเครื่องที่ตามเสด็จเจอปัญหาว่าเครื่องปรุงหมี่เย็นไม่ครบ อีกทั้ง 'ฮันซังกุง' (ซังกุงพี่เลี้ยงของ'ซอจังกึม' นางเอกของเรื่อง) ยังถูกพิษนอนไม่ได้สติ 'ซอจังกึม' จึงดั้นด้นเข้าป่าไปหาน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อมาทำน้ำซุป ซึ่งรสชาติที่ปรุงขึ้นนั้นสร้างความพอใจให้กษัตริย์จุงจงเป็นอย่างมาก
ชุตินันท์ แห่งร้านยูริมจอง อธิบายวิธีว่า การทำหมี่เย็นนั้นน้ำซุปจะต้องใส (วิธีทำเช่นเดียวกับการทำน้ำซุปของหมั่นโถน้ำ) ที่สำคัญต้องเย็นจัด ซึ่งในประเทศเกาหลีนั้นอาการหนาวเย็นมาก ดังนั้นแม้จะตั้งน้ำซุปไว้ในอุณหภูมิปกติซุปก็จะเย็นจัด และหากเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งมีหิมะตก น้ำซุปก็จะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง
สำหรับการทำหมี่นั้น ให้นำเส้นหมี่ไปลวกจนสุก แล้วตักขึ้นพักไว้ในน้ำเย็น จากนั้นผสมพริกเกาหลี พริกป่น พริกไทยดำ น้ำส้มสายชู น้ำมันงา ซีอิ๊วเกาหลี (ถ้าใช้ซีอิ๊วของไทยจะเค็มเกินไป) น้ำตาลทราย กระเทียม ขิง คนให้เข้ากัน แล้วนำไปคลุกกับเส้นหมี่ ลวกเนื้อให้สุกแล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ ซอยแตงกวา หัวไช้เท้า แครอท เป็นเส้นเล็กๆ นำเส้นหมี่ เนื้อ และผักต่างๆจัดใส่จาน รับประทานคู่กับน้ำซุปที่แช่เย็นไว้
" น้ำซุปหมี่เย็นของทางร้านนั้นเมื่อต้มเนื้อและกรองน้ำซุปจนใส ปรุงรสชาติให้ได้เปรียว เค็ม หวานแล้ว ก็นำมาแช่เย็นให้แข็งเป็นวุ้น ซดคู่กับเส้นหมี่ที่ปรุงรสแล้ว เวลากินจะได้ทั้งความหอมของน้ำซุปและความหอมของน้ำมันงาที่ใช้คลุกเส้นหมี่ เมนูนี้จะนิยมกินกันในหน้าร้อน ถ้าดูในหนังเรื่องแดจังกึมจะรู้สึกว่านางเอกฉลาดมาก คือหาเครื่องปรุงไม่ได้ก็ไปเอาน้ำแร่บนเขามาทำน้ำซุป น้ำบนเขาจะมีความเย็น ทำให้หมี่มีรสชาติดี" ชุตินันท์ เล่าถึงเทคนิคในการทำหมี่เย็น
*'เจ้าหญิงนพเก้าง เมนูสุดฮิต
นอกจากเมนูเด็ดๆที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องแดจังกึมแล้วเราอยากจะแนะนำเมนูราชสำนักอีก 2-3 เมนู ที่เด็ดไม่แพ้กัน ที่จะขาดเสียมิได้คือ 'กู จอล พัน' หรือเจ้าหญิงนพเก้า เพราะอาหารว่างที่ขึ้นชื่อของราชสำนักฯแล้ว ร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทยก็นิยมนำอาหารจานนี้มาเป็นแนะนำ
วิธิการทำก็แสนจะง่าย เริ่มจากทำตัวแป้งโดยนำแป้งอเนกประสงค์มาผสมกับน้ำพอประมาณ เติมเกลือนิดหน่อย นวดให้เข้ากัน แล้วพักไว้ 30 นาที นำแป้งที่ได้หยอดในกระทะก้นแบนซึ่งทาน้ำมันนิดหน่อย และใช้ไฟอ่อน เกลี่ยแป้งให้เป็นแผ่นกลมๆ ที่สำคัญต้องใช้กระดาษซับมันคอยซับน้ำมันออกเพื่อให้แผ่นแป้งมันจนเลี่ยน
ส่วนเรื่องเคียงต่างๆ ประกอบด้วย เห็ดเข็มทอง แครอ และแตงกวา(กว้านไส้ทิ้ง)ซอยเป็นชิ้นยาวๆ ลวกเร็วๆพอสุก กุ้งต้ม ไก่ต้ม แฮม หรือปูอัด หั่นหรือฉีกเป็นฝอย ไข่ขาว และไข่แดง (แยกกัน) ทอดในน้ำมันน้อยๆ หั่นเป็นเส้นยาว จากนั้นนำทุกอย่างมาเรียงใส่ภาชนะ (เป็นถาดซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ช่อง ใช้สำหรับเสิร์ฟ 'กู จอล พัน'โดยเฉพาะ) เตรียมน้ำจิ้มซึ่งมีส่วนผสมของ ซีอิ้วเกาหลี น้ำมันงา งาขาว น้ำส้มสายชู รสออกเปรี้ยว เค็ม หวาน
วิธีรับประทานให้นำเครื่องเคียงทุกอย่าง(มี 8 อย่าง) ใส่ลงในแผ่นแป้ง ตามด้วยน้ำจิ้มมากน้อยตามชอบ ห่อแล้วนำเข้าปากแบบเดียวกับการรับประทานเมี่ยงของไทย เวลาเคี้ยวจะรู้สึกถึงความนุ่มเหนียวของแป้งและรสชาติอันกลอมกล่อมของเครื่องเคียง ตัดด้วยน้ำจิ้มที่เปรี้ยวนิดเค็มหน่อย เข้ากันอย่าบอกใคร หลายคนชิมแล้วบอกว่าหยุดไม่ได้จริงๆ
" อาหารในราชสำนักเกาหลีนั้นนอกจากจะเน้นความอร่อยแล้ว ยังต้องมีประโยชน์ด้วย เพราะสุขภาพของพระราชาก็เป็นสิ่งสำคัญ แม่ครัวที่ปรุงต้องคิดว่าใส่เนื้อ ใส่ผัก หรือสมุนไพรชนิดนี้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ในแต่ละสำหรับก็ต้องมีทั้งอาหารที่เป็นหยินและหยาง คือทั้งที่ให้ความเย็นและให้ความอบอุ่น อย่างเจ้าหญิงปทุมวัน(เจ้าหญิงนพเก้า) ก็ประกอบด้วย ผักและเนื้อสัตว์ รวม 8 อย่าง และแผ่นแป้ง รวมเป็น 9 อย่าง ทั้ง 9 อย่างนี้ มีทั้งที่เป็นโปรตีน คาร์โบไฮเดต และให้วิตามินแร่ธาตุ ขณะเดียวกันก็มีทั้งที่ให้ความอบอุ่น คือแป้งกับเนื้อสัตว์ และอาหารที่ให้ความเย็นคือผัก" ฮันนา ผู้จัดการภัตตาคารคองจู อธิบายถึงหลักในการปรุงอาหารถวายราชวงศ์เกาหลี
*'ซัน จอก' เมนูเนื้อ ที่มีเฉพาะในราชวัง
หากจะพูดถึงอาหารจำพวกปิ้งย่างแล้ว 'ซัน จอก' หรือบาบีคิวเกาหลี นับเป็นเมนูเด็ดอันดับต้นๆของราชสำนักเกาหลี และไม่มีทางที่ชาวบ้านทั่วไปจะมีโอกาสได้ลิ้มรส ทั้งนี้เพราะในสมัยก่อนเนื้อวัวถือเป็นอาหารชั้นสูง เป็นของหายาก และมีราคาแพง เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร เนื้อสัตว์ที่ชาวบ้านธรรมดากินกันมักเป็น ปลา หมูป่าและไก่ป่า
ถ้าใครอยากกินเนื้อก็ต้องสร้างผลงานจึงจะได้รับพระราชทานเนื้อจากพระราชา
จะเห็นได้ว่ามีอยู่ตอนหนึ่งที่ กษัตริย์มอบเนื้อให้ 'ซอจังกึม' นางเอกของเรื่อง เป็นรางวัลที่สามารถช่วยหาสาเหตุของอาการป่วยของคนในวัง จนทราบว่าเกิดจากพิษของเห็ด โดยนางทดลองกินเห็ดดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการตัวชา และลิ้นหมดในการรับรส ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่า 'ซอจังกึม' ช่วยชีวิตของคนอื่นโดยเอาชีวิตของตัวเองเข้าแลก แต่เหตุไฉนจึงได้รางวัลเป็นแค่เนื้อชิ้นเดียว ทั้งนี้ก็เพราะในสมัยก่อนเนื้อถือว่าเป็นของที่มีค่ามาก
'ซัน จอก' มีวิธีทำง่ายๆ คือ เนื้ออย่างดีมาแล่เป็นชิ้นบางๆยาวๆ หมักด้วยซีอิ้วเกาหลี น้ำมันงา พริกไทยดำ น้ำตาล หอมหัวใหญ่และกระเทียมสับละเอียด พักไว้ 30 นาที หั่นผักต่างๆ เช่น แครอท หอมหัวใหญ่ ฟักทอง ซูกินี และเห็ดเข็มทอง เป็นชิ้นยาวๆเท่าๆกัน นำทุกอย่างมาเสียบไม้ สลับไปมา นำไปนาบบนกระทะก้นแบนซึ่งใส่น้ำมันเล็กน้อยจนสุกได้ที่ ระหว่างย่างพรมซอสแบบเดียวกับที่ใช้หมักเนื้อเพื่อให้ได้รสชาติทีเข้มข้นขึ้น โรยด้วยไพน์นัทก่อนเสิร์ฟ รับปะทานคู่กับน้ำจิ้ม ซึ่งประกอบด้วย ซีอิ้วเกาหลี มัสตาร์ด และกระเทียมบด ได้รสชาติเข้มหอมของเนื้อ และความหวานของผักนานาชนิด ช่วยให้เมนูนี้ไม่เลี่ยนเกินไป
*'ไก่ตุ๋นโสม' อาหารบำรุงสุขภาพ
เนื้อสัตว์อีกประเภทที่น่าจะนำมาแนะจัดสรรเป็นเมนูแนะนำให้บรรดาแฟนแดจังกึมก็คือไก่ เพราะในเรื่อง 'แดจังกึม' นั้นไก่ดูจะมีบทเด่นอยู่ไม่น้อย ผู้ชมทางบ้านคงจำชื่อ 'ไก่ทอง' ได้อย่างแม่นยำ เพราะไก่ทองเป็นเหตุให้ 'ซอจังกึม' นางเอกของเรื่องต้องถูกเนรเทศไปอยู่นอกวังอยู่
เนื่องจากราชทูตของต้าหมิงได้นำไก่ทองถวายพระเจ้าจุงจง พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ห้องเครื่องนำไปทำเป็นอาหารถวาย โดย 'กึมยอง' (คู่แข่งของนางเอก) มีหน้าที่ดูแลไก่แต่กลับทำไก่หาย 'ซอจังกึม' จึงรับอาสาออกไปช่วยหานอกวัง แต่กลับมาไม่ทันจึงถูกจับได้ และนางไม่ยอมเปิดเผยถึงสาเหตุที่หลบออกนอกวังจึงถูกสั่งลงโทษให้ออกไปปลูกผักอยู่นอกวัง
สำหรับเมนูไก่ที่จะแนะนำก็คือ 'ซัมเทกัง' หรือ ไก่ดำตุ๋นโสม ซึ่งจัดเป็นเมนูบำรุงสุขภาพแห่งราชสำนัก วิธีทำก็คล้ายๆไก่ตุ๋นบ้านเรา แต่พิเศษตรงที่เมื่อล้างและควักเครื่องในไก่ออกหมดแล้ว ต้องนำข้าวเหนียว พุทรา และโสม ยัดเข้าไปในตัวไก่จนเต็ม จากนั้นจึงต้มน้ำให้เดือด ใส่ไก่ โสม และซีอิ้วเกาหลี ลงไป ตุ๋นจนเปื่อยและเข้าเนื้อ
" เวลากินจะผ่าไก่ออกเป็น 2 ส่วน ข้าวเหนียวจะลอยออกมาจากตัวไก่ หน้าตาคล้ายกับข้าวต้ม รับประทานทั้งข้าวเหนียวและไก่พร้อมๆกัน จะได้รสชาติหวานหอมของข้าวเหนียวและความนุ่มนวลของเนื้อไก่ ซดน้ำซุปร้อนๆชื่นใจ ที่สำคัญยังได้ประโยชน์จากโสมซึ่งถือว่าเป็นสมุนไพรชั้นดีที่ช่วยบำรุงร่างกาย" ชุตินันท์ จากร้านยูริมจอง อธิบายถึงวิธีกินกินตุ๋นโสม
สำหรับสรรพคุณของโสมนั้น โสมถูกขนานนามว่าเป็นยาเทวดามาแต่โบราณ และเกาหลีก็เป็นดินแดนที่อุดมด้วยโสม โดยมีการปลูกโสมกันมากว่า 2 พันปีที่แล้ว ในอดีตจะนิยมโสมสีขาว จนเมื่อ 800 ปีที่แล้ว จึงมีโสมแดงปรากฎขึ้น สมัยก่อนโสมแพงยิ่งกว่าทองคำ แต่ให้ยากจนแค่ไหน ชาวบ้านทุกครัวเรือนก็ต้องมีโสมไว้บำรุงกำลัง โดยเฉพาะอาหารในวังนั้น ยิ่งต้องใช้โสมเป็นส่วนประกอบ เพราะมีสรรพคุณในการแก้เหนื่อยล้า เพิ่มภูมิต้านทาน บำรุงโลหิต บวกกับตัวยาอื่นๆ ยิ่งทำให้สรรพคุณดีเลิศมากขึ้น อย่างไรก็ดี นอกจากนำโสมมาใช้ปรุงอาหารแล้ว การใช้ยาพิษของชาวเกาหลี ก็นิยมผสมด้วยโสม เพื่อให้พิษออกฤทธิ์เร็วขึ้น
*'โทลโซด บิบิมบับ' ข้าวอบศิลา
นอกจากผักและเนื้อสัตว์แล้ว 'ข้าว' ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเมนูอาหารเกาหลีการเสวยของพระราชาเกาหลี จะมีข้าวสองชาม ชามหนึ่งเป็นข้าวธรรมดา ส่วนอีกชามเป็นข้าวผสมข้าวเหนียว แล้วหุงด้วยน้ำถั่วแดงอีกที เพราะเชื่อว่าการกินข้าวแดง จะช่วยสะเดาะเคราะห์ให้พ้นภัย ทั้งนี้สมัยก่อนพระราชาเกาหลีจะเสวยวันละ 5 มื้อ มื้อเช้าที่สุดก็ประมาณ ตี 5 ตี 6 เรียกว่า " มื้อรุ่งอรุณ" ส่วนมื้อเช้าก็ไปโน่นเลยครับ สิบโมงเช้า ต่อด้วยมื้อเที่ยง มือเย็น และสุดท้ายคือมื้อดึก
ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลไม้ ขนมหวานหรือเกี๊ยว
สำหรับเมนูข้าวที่อยากแนะนำคือ 'โทลโซด บิบิมบับ' หรือข้าวอบศิลา ซึ่งจัดเป็นเมนูสุดคลาสสิกราชวงศ์เกาหลี วิธีการทำอาจแปลกสักหน่อย คือแทนที่จะผัดข้าวพร้อมเครื่องปรุงต่างๆในกระทะ คนเกาหลีกลับนำ เนื้อวัวหมักซอส และผักต่างๆ เช่น ถั่วงอก ผักโขม เฟิน เห็ดชิทาเกะ ฯลฯ มาจัดเรียงบนข้าวซึ่งใส่ในชามหิน ใส่น้ำพอท่วม ปิดฝา แล้วนำไปตั้งบนเตาจนข้าวสุก เสิร์ฟในชามหินร้อน ก่อนรับประทานจะคลุกเคล้าข้าวด้วยน้ำพริกปรุงรสที่เป็นสูตรเฉพาะ ใส่มากน้อยตามชอบ
ซึ่งเมนูราชสำนักนั้นจะไม่มีไข่ดาวโปะหน้า เหมือนอย่างที่เราเห็นตามร้านอาหารเกาหลีในปัจจุบัน
//////////////////////////////
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์