การใช้สุนัขนำทางหรือไกด์ด็อก (Guide Dog) แก่ผู้พิการทางสายตาในซีกโลกตะวันตกและบางประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายมานาน ขณะที่ผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังคงใช้ไม้เท้าในการนำทาง เรื่องราวของสุนัขนำทางยังไม่แพร่หลายมากนัก
*ไม้เท้านำทาง
การเดินทางของผู้พิการทางสายตาในเมืองไทยใช้วิธีการเดินทาง 2 แบบ ได้แก่ การเดินทางโดยมีคนนำทาง และใช้ไม้เท้า ซึ่งการใช้ไม้เท้าได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถหาอุปกรณ์ใกล้ตัวมาประยุกต์ดัดแปลงใช้เป็นไม้เท้าในการเดินทาง ที่สำคัญปัจจุบันมีผู้ผลิตไม้เท้าออกมาหลายแบบและหลายราคา ทั้งที่เป็นไม้เท้าตรงไม่สามารถยืดหยุ่นได้ หรือจะเป็นไม้เท้าสามารถพับเก็บได้ และไม้เท้าแบบเสาอากาศ
แฉล้ม แย้มเอี่ยม อาจารย์และที่ปรึกษาวิชาการทำความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและการเคลื่อนไหว กล่าวว่าไม้เท้านำทางมีความสำคัญต่อผู้พิการทางสายตาอย่างมาก ผู้พิการทางสายตาหลายคนท้อแท้และหมดหวังที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองเดินทางไปไหนมาไหน ภายหลังเมื่อสามารถใช้ไม้เท้าเดินทาง กลายเป็นพลังที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ชีวิต "สิ่งต่อไปคือมีอาชีพแทนพึ่งญาติ ใช้ไม้เท้าเป็นจึงเหมือนไปปลุกให้มีความหวังในการสู้ต่อไป"
ผู้พิการทางสายตาสามารถเริ่มต้นใช้ไม้เท้าเดินทางได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามหากเรียนรู้วิธีการใช้ไม้เท้าอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถช่วยเหลือตัวเองในการเดินทางได้อย่างปลอดภัยและอิสระมากขึ้น
"คนตาบอดไปไหนนอกบ้านโดยใช้ไม้เท้าช่วยตัวเอง ทำให้ได้สุขภาพทางกายดีกว่าอยู่บ้านอย่างเดียว ออกไปข้างนอกสู่โลกกว้างได้สังคมรู้จักคนใหม่ๆ สามารถเดินด้วยไม้เท้าออกไปเรียนรู้ในแหล่งที่ต้องการได้ ทำให้คนในบ้านไม่ต้องคอยดูแล สามารถออกไปทำงานหารายได้ ใช้ไม้เท้าเป็นจะไปไหนคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องรอคนพาไป สามารถเดินขึ้นรถเมล์ได้"
หลักสูตรวิชาการทำความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและการเคลื่อนไหวของสมาคมคนตาบอดใช้เวลาเรียน 120 ชั่วโมง เริ่มจากการสอนใช้ประสาทสัมผัส ไปพร้อมๆกับการเรียนรู้สิ่งใกล้ตัว
"โครงการฝึกอบรมการใช้ไม้เท้าสำหรับคนตาบอดของสมาคมคนตาบอด เพื่อให้คนผ่านการอบรมออกไปช่วยคนตาบอดที่ไม่มีโอกาสได้เรียนได้ฝึกใช้ไม้เท้าให้ถูกวิธี เพิ่งจบไปรุ่นเดียว แต่ยังขาดทุนส่งไปสอนต่อได้ ทำให้คนต่างจังหวัดขาดโอกาส หลักสูตรเริ่มจากสอนให้รู้จักการฟังเสียงดมกลิ่นสัมผัส หัดฟังเสียง เสียงหมาฟังให้ออกจะเล่นหรือกัด ต่อมาการสัมผัส อันนี้เรียบ ขรุขระ หยาบ สัมผัสโดยตรง และโดยความรู้สึกเช่น สายลม แสงแดด เดินไปร้อนๆอยู่ สักพักร่มขึ้นให้รู้ว่าเข้าที่ร่มมีหลังคา เดินไปมีกลิ่นคาวปลาให้รู้ว่าเป็นตลาด"
"สอนสิ่งใกล้ตัวจับต้องได้ไปจนถึงไกลตัว เดินในที่แคบหลบหลีกสิ่งกีดขวางอย่างไร สอนมารยาททางสังคมรู้จักขอความช่วยเหลือ รู้จักร่างกายตัวเอง รู้จักเดินทางกับผู้อื่น คนนำทางเป็นเครื่องมือสำหรับคนตาบอด คนตาบอดและผู้นำทางต้องเดินทางร่วมกันอย่างมีความสุข" อาจารย์แฉล้มอธิบาย
*ไกด์ด็อกในเมืองไทย
บ่ายวันหนึ่ง ณ ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงต๊อกแต๊กๆของไม้เท้าแตะไปยังพื้นข้างหน้า ก่อนที่สองเท้าจะก้าวตามรอยไม้เป็นระยะๆ พลันที่ไม้สัมผัสขอบบันไดเป็นสัญญาณบอกให้ผู้ถือไม้รับรู้ว่าสิ่งกีดขวางอยู่ตรงหน้าคือบันไดหลายขั้นที่ต้องก้าวเท้าเดินขึ้นไป
ผ่านไป 2 ปีแล้วที่ รศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลแรกของเมืองไทยที่นำสุนัขนำทางมาใช้ ต้องเดินทางไปไหนมาไหนด้วยไม้เท้า โดยปราศจากเงาของไกด์สี่ขาคอยนำทางเช่นเดิม
อาจารย์วิริยะเล่าว่าช่วงก่อนไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุนัขนำทาง จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า หากมีโอกาส น่าจะลองใช้สุนัขนำทางดู และแล้วฝันก็เป็นจริง เมื่ออาจารย์ได้เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแรกที่สอนหลักสูตรสุนัขนำทางอย่างเป็นทางการ ได้ใช้เวลาภายหลังจากสำเร็จการศึกษามาเข้าคอร์สฝึกวิธีการใช้สุนัขนำทาง
ตามโรงเรียนฝึกสอนสุนัขผสมพันธุ์สุนัขใช้เอง จากนั้นในแต่ละปีจะมีอาสาสมัครนำสุนัขไปฝึกใช้ชีวิตในบ้านชุดละ 30 ตัว ปีละ 10-12 ชุด อาจารย์กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณสุนัขฝึกมีมากกว่า 10 ชุด ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาก็จะนำมาให้ทางโรงเรียนเพื่อคัดสุนัขตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เมื่อประเมินแล้วว่าสุนัขมีความสามารถมาก-น้อยแค่ไหน จึงนำมาฝึกเป็นสุนัขนำทาง ส่วนสุนัขที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะมีอาสาสมัครนำกลับไปเลี้ยงเป็นสุนัขเฝ้าบ้านต่อไป
สุนัขผ่านเกณฑ์จะถูกนำไปฝึกเพื่อทำหน้าที่สุนัขนำทางเป็นเวลา 6 เดือน และเมื่อครบกำหนดเวลาได้รับการฝึกตามหลักสูตรเรียบร้อย จากนั้นจึงให้ผู้พิการทางสายตาได้ฝึกทำความคุ้นเคยกับสุนัขเป็นเวลา 1 เดือน
"ผู้พิการทางสายตาไม่มีสิทธิ์เลือกสุนัข ก่อนที่จะได้สุนัขไปฝึก ครูฝึกจะทำหน้าที่เหมือนสุนัขนำทาง พาเราเดินเป็นเวลา 2-3 วัน เพื่อดูจังหวะการเดินของเราเป็นอย่างไร ความแข็งแรง การต้านทานต่อแรงฉุดกระชากเป็นอย่างไร จากนั้นครูฝึกจะไปพิจารณาดูว่าสุนัขพันธุ์ไหน ตัวไหนเหมาะกับคนไหน"
ตลอดระยะเวลา 1 เดือน อาจารย์เล่าว่าในช่วง 2-3 วันแรกจะทำการทดสอบการใช้คำสั่งบังคับสุนัขภายในโรงเรียน วันต่อมาจึงเคลื่อนย้ายออกไปฝึกในเมืองเล็กๆ
"ครูฝึกบอกแผนที่เมืองให้จินตนาการ อย่างเมืองนี้เป็นบล็อกสี่เหลี่ยม เมื่อเดินไปถึงแยกแรกให้เลี้ยวขวาแล้วกลับมาที่เดิม พอปล่อยให้สุนัขเดินตามบล็อกกลับมาที่เดิมแล้ว ครูฝึกจะเพิ่มปริมาณซอยมากขึ้นมีทั้งฝึกโดยให้รถวิ่งตัดหน้าและเบรกอย่างรวดเร็วตรงหน้าเราพอดี ทดสอบว่าสุนัขจะหยุดและเราจะหยุดตามสุนัขหรือไม่"
ใช้ระยะเวลาเพียง 11 วันก็เป็นที่รู้ผลว่าสุนัขนำทางและเจ้าของสามารถทำความคุ้นเคยกันได้หรือไม่ "ใช้เวลา 11 วันก็รู้แล้วว่าสุนัขจะเชื่อฟังเราหรือเปล่า วันแรกๆแน่นอนว่าสุนัขจะไม่ฟัง แต่ครูฝึกจะสอนวิธีบังคับบัญชาในการเป็นเจ้านาย ให้รางวัลเมื่อสุนัขทำตามคำสั่ง รูมเมทผมก็เปลี่ยนตัวใหม่ เพราะมันไม่ยอมทำงาน สั่งแล้วมันไม่สนใจก็ต้องเปลี่ยนสุนัขตัวใหม่" อาจารย์วิริยะกล่าว
ปี 2526 อาจารย์วิริยะกลับมาเมืองไทยพร้อมกับ "สกี๊ด" สุนัขสีดำพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีพเวอร์ (Labrador Retriever) ซึ่งอาจารย์เปรียบเทียบความต่างระหว่างการใช้สุนัขนำทางในเมืองไทยและต่างแดนว่า
"ต่างประเทศไม่ค่อยมีปัญหา จะมีบ้างเมื่อนำมาใช้ในบ้านเรา เนื่องจากสุนัขข้างถนนบ้านเรามีเยอะ ทำให้สุนัขเดินทางแบบไม่มีสมาธิ คอยระแวดระวัง บางทีไปกัดกับสุนัขข้างทาง แต่ก็ไม่เกิดอันตรายกับคน มีแต่อันตรายกับหมา ผมก็จะคอยช่วยดักทาง พอรู้ว่าสุนัขนำทางหันมาทางขวา แสดงว่ามีสุนัขตัวอื่นอยู่ข้างขวา อาจจะแกว่งเท้าไปในจังหวะที่ไม่ไกลเกินไป บางทีก็โดนท้องสุนัขที่วิ่งมาด้านขวาพอดี บางทีแกล้งก้มลงหยิบของเตรียมขว้างปา ถ้ามีสุนัขข้างทาง สุนัขนำทางจะหยุดเตรียมตัวสู้ ดังนั้นเราจะหยุดให้เขาดูสุนัขตัวอื่นจนมั่นใจ จึงออกคำสั่ง เมื่อสุนัขมั่นใจก็จะเดินต่อ"
ระยะทางจากบ้านถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที อาจารย์เล่าว่าวันหนึ่งเดินปล่อยใจเพลิน ทำให้หลงทาง "เราต้องรู้ทาง สุนัขจะเดินไปตามทางที่เราบอก ถ้าวันไหนใจลอย สุนัขไปเจอแมวก็จะเดินตามแมวเข้าซอย จนแปลกใจว่าทำไมเสียงรถยนต์อยู่ไกล เส้นทางประจำมีสภาพดี ถนนกว้าง มีปัญหาบ้างในส่วนของร่มกางขายของ แก้ปัญหาด้วยการใส่หมวก เวลาชนปลายร่มจะดึงหมวกขึ้นไม่ทิ่มเรา"
สำหรับหลักสำคัญในการบังคับบัญชา อาจารย์วิริยะอธิบายว่าเน้นน้ำเสียงเป็นอันดับแรก หากยังไม่ฟังจึงใช้วิธีกระชากสายหนังของการแสดงความเป็นเจ้านาย เรียกว่า มาสเตอร์ลิสต์ (master leather) "น้ำเสียงเป็นสิ่งสำคัญ คำสั่งที่ใช้มีไม่กี่คำ เมื่อสุนัขเดินเร็วขึ้นจึงต้องใช้น้ำเสียงเน้นคำพูดเพื่อให้รู้ว่าต้องเดินช้าลง แต่ถ้าต้องการให้เดินเร็วขึ้นก็บอกว่า hurry up ถ้าให้เดินช้าแต่ยังเดินเร็วก็ต้องเน้นน้ำเสียงให้หนัก ใช้น้ำเสียงก่อน ถ้ายังไม่ฟังก็ต้องกระตุกลงโทษ เวลากระตุกสายหนังจะรัดคอสุนัข แรกๆกระตุกเบาๆ ถ้ายังไม่ฟังก็ต้องกระตุกโดยแรง"
อาจารย์อธิบายวิธีการทำงานของสุนัขนำทางต่อไปว่า "บนตัวสุนัขยังมีอานเกาะ เป็นตัวที่ทำให้รู้จังหวะการเดินระหว่างคนและสุนัข เวลาขึ้นที่สูงหรือลงที่ต่ำจะรู้ได้จากอานเกาะ เวลาสุนัขเงยหัวปีนฟุตปาธขึ้น อานเกาะจะยกขึ้นตามทำให้รู้ว่าฟุตปาธสูงเท่าไร เวลาลงบันไดก็จะดึงอานเกาะลงไปลึกทำให้รู้ว่าพื้นลึกเท่าไร ดังนั้นจะรู้ระดับความลึกจากตัวอานเกาะ"
" แต่ตัวสายหนังมีไว้บังคับบัญชาเท่านั้น เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในเวลาทำงาน ถ้าปลดสายหนังเมื่อไร ถือเป็นเวลาอิสรเสรี นอกเวลาทำงาน ห้ามลงโทษ สุนัขจะวิ่งเล่น พวกนี้มีระเบียบวินัยดี แต่แน่นอนว่าเวลาปล่อยก็อยากวิ่งไปนู้นมานี่ เวลาเรียกก็ไม่อยากมา แต่ถ้าเราเดินหนีบางครั้งวิ่งตาม บางครั้งไม่วิ่งตามก็มี จึงต้องมีของกิน เวลาเรียกไม่วิ่งตามก็จะโยนของที่ชอบให้ ก็รู้แล้ว และรีบวิ่งมา"
สกิ๊ดทำหน้าที่สุนัขนำทาง 11 ปีจึงจากไป ในปี2537 อาจารย์วิริยะจึงได้นำสุนัขตัวใหม่ชื่อว่าโทบี้มาเป็นไกด์นำทางตัวใหม่ "สกิ๊ดใจกล้ากว่าโทบี้ อย่างเจอสุนัขข้างทางกัดก็ยังไม่กลัวเดินหลบ แต่โทบี้โดนกัด 2 ครั้งก็ไม่ยอมเดินต่อ จะนั่งลง จนกว่าจะมีคนไล่สุนัขให้หนีจึงยอมเดินต่อ นอกเวลาทำงาน สกี๊ดจะไม่สนใจใครเลย ส่วนโทบี้ใครมาใกล้บ้านเห่าหมด เสียงเห่าคนจะต่างกันรู้ได้ว่าเป็นคนนอกบ้านหรือในบ้าน คนที่ชอบหรือไม่ชอบ"อาจารย์วิริยะเปรียบเทียบความต่างของไกด์สี่ขาด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม
ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดกำเนิดและจุดจบ โทบี้ใช้เวลานำทาง 10 ปีก็จากไป ซึ่งอาจารย์เล่าถึงความผูกพันระยะเวลา 20 ปีที่เดินทางไปไหนด้วยกันตลอดว่า "ถือหลักตามศาสนาพุทธคืออย่าถือมั่น ยึดมั่น วันหนึ่งเมื่อครบอายุมันก็ไป แล้วมีตัวใหม่"
อาจารย์วิริยะกล่าวต่อไปว่าหลักของการใช้สุนัขนำทางก็คือ "อิสรเสรีภาพในการเดินทาง" พร้อมกับอธิบายต่อว่า "สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ" และสิ่งที่ได้รับจากไกด์สี่ขานำทางก็คือการได้ออกกำลังกาย เหนือสิ่งใดคือมิตรภาพระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงเสมือนเพื่อนเล่น
"ใช้สุนัขต้องขยันเดินก็จะมีประโยชน์ในการออกกำลัง มีเพื่อนเล่น เขาเป็นเพื่อนที่ดี พาเดินออกกำลังกาย ข้อเสียคือภาระที่รับผิดชอบ เรื่องอาหาร แปรงขน"
ในวันที่ไม่มีสุนัขนำทางต้องกลับมาใช้ไม้เท้านำทาง อาจารย์แสดงความในใจว่า "สุนัขนำทางพาเราเข้าประตูถูก แต่ถ้าใช้ไม้เท้าต้องกะด้วยความรู้สึก ใช้ไม้เท้าเขี่ย อย่างวันนี้แท็กซี่ส่งไม่ตรงบันไดทำให้ไม่รู้บันไดอยู่ซ้ายหรือขวาต้องใช้ไม้เท้าเขี่ยไปยาวๆ แต่ถ้ามีสุนัขนำทางจะไม่มีปัญหา พอลงแท็กซี่ สุนัขสามารถพาเดินขึ้นบันไดได้ถูกต้องแน่นอน พอไม่มีตอนนี้กล้ามเนื้ออักเสบต้องมาปั่นจักรยานอยู่กับที่แทน เริ่มมีอายุนั่งอยู่กับที่นานๆ เริ่มมีปัญหาที่กล้ามเนื้อปวดเมื่อย จึงต้องออกกำลังกายอยู่กับที่" อาจารย์วิริยะกล่าว
*ไม่แพร่หลายในสังคมไทย
ที่ผ่านมาแม้ศูนย์ฝึกสุนัขบางแห่งจะขึ้นป้ายรับฝึกสุนัขนำทาง ประกอบหลักสูตรการสอนอย่างอื่น ท้ายที่สุดก็ต้องยกเลิก เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่นิยม คณะสัตวแพทย์จุฬาฯเคยมีแนวทางที่จะตั้งศูนย์ฝึกสุนัขนำทาง แต่ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายจำกัดสถานที่สำหรับสุนัข ทำให้โครงการจึงชะงักไป
อาจารย์วิริยะแสดงความเห็นถึงสาเหตุที่สุนัขนำทางไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากในเมืองไทยไม่มีศูนย์ฝึกสุนัขนำทาง นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขทางกฎหมาย "กฎหมายห้ามนำสุนัขขึ้นรถ เข้าภัตตาคาร โรงแรม ขณะที่เมืองนอกมีกฎหมายคุ้มครอง คณะสัตวแพทย์จุฬาฯก็เคยมีแผนที่จะฝึกสุนัขนำทาง แต่อาจารย์บอกว่าถ้าฝึกมาแล้วแต่เอาขึ้นรถไม่ได้ ไปนู้นมานี่ไม่ได้ก็ไม่มีคนหันมาใช้"
ความต่างระหว่างไม้เท้าและสุนัขนำทาง "ในสหรัฐอเมริกา คนจำนวนหนึ่งจะชอบไม้เท้า คนจำนวนหนึ่งก็ชอบสุนัขนำทาง อย่างที่ว่าเลี้ยงสุนัขก็มีภาระต้องชอบเอาใจใส่พอสมควร ต้องพาไปหาหมอ ดูแลไม่ให้มีเห็บ สำหรับผมสุนัขนำทางสะดวกกว่า เพราะใช้มาจนชิน พอกลับมาใช้ไม้เท้ามันงุ่มง่าม ไม่เหมือนคนใช้ไม้เท้ามาตลอด พอมาใช้ภายหลังจึงไม่มีเทคนิคการใช้ไม้เท้าที่ดีถ้าแก้กฎหมายก็น่าสนใจที่จะฝึกสุนัขนำทางใช้"
สำหรับ อาจารย์แฉล้ม แสดงความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กอปรกับบริบททางสังคมของบ้านเราไม่เหมาะสมที่จะให้ผู้พิการทางสายตาใช้สุนัขนำทาง
"บ้านเรายังไม่เหมาะที่จะใช้สุนัขนำทาง เพราะค่าใช้จ่ายในการเตรียมสุนัขนำทางแพง กฎหมายบ้านเราไม่อนุญาตให้นำสุนัขไปได้ทุกแห่ง อย่างสหรัฐฯก็ต่อสู้มานานกว่าจะอนุญาตให้สุนัขไปได้ทุกแห่ง นอกจากนี้ยังต้องดูแลสุนัขอย่างดี อีกอย่างไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อม เมืองนอกไม่มีหมาตามถนน แต่ถ้านำสุนัขนำทางมาใช้ในบ้านเราถูกหมาข้างถนนโจมตี"
อย่างไรก็ตาม อาจารย์แฉล้มมองว่าไม้เท้ามีความเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยมากกว่า "ไม้เท้าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและบ้านเรามากที่สุด ฝึกใช้ง่าย ราคาไม่แพง สามารถใช้ไม้อะไรมาทำก็ได้ หักก็ทิ้งไปหาใหม่ง่าย ไม่ต้องดูแลเหมือนสุนัข สุนัขเมื่อตายไปก็ต้องไปฝึกใหม่ว่าเข้ากันได้หรือไม่ สุนัขแก่เกินขี้เกียจไม่ทำหน้าที่กลายเป็นเพียงหมาเลี้ยงดูทั่วไป"
เรื่อง – ศิริญญา มงคลวัจน์