"จำปาสัก" นครแห่งมรดกโลกแหล่งที่สองของประเทศลาว รองจากหลวงพระบาง ในวันนี้ยังคงเป็นดินแดนที่สงบงาม น่าค้นหา ด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แม้การพัฒนาจะเริ่มเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าตัวเมืองบางส่วน แต่ดินแดนลาวใต้แห่งนี้ยังคงสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและร่องรอยประวัติศาสตร์อารยธรรมอันเก่าแก่
"ผู้จัดการปริทรรศน์" พาไปสัมผัสบรรยากาศของประเทศลาวตอนใต้ ในโอกาสที่ตามขบวนอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปยังวัดเกาะแก้วหัวโขงพระใหญ่ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
บนแผ่นดินฝั่งซ้าย
พลันที่ขบวนรถผู้เข้าร่วมงานกฐินฯ ข้ามผ่านด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี สู่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ระยะทางนับร้อยกิโลเมตรบนถนนที่ระอุด้วยไอแดดนั้น ไม่ทำให้รู้สึกว่ากำลังอยู่บนผืนดินอื่นที่ไม่ใช่แผ่นดินไทยเลย ด้วยทิวทัศน์สองข้างทางที่มีทุ่งนาติดกันเป็นพรืด สลับกับบ้านเรือนผู้คนเป็นระยะ ชวนให้นึกว่าเรากำลังเดินทางอยู่ในจังหวัดทางภาคอีสานจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง มากกว่าจะเป็นพรมแดนของต่างบ้านต่างเมือง
ยิ่งเมื่อได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวลาว ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าความเป็นรัฐชาตินั้นคือสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้น แต่ความผูกพันสนิทแนบแน่นระหว่างดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงต่างหาก...คือความจริงที่ไม่อาจกีดกั้นด้วยเส้นพรมแดนได้
เวียงสะหวัน พรสะหวัน แม่หญิงชาวจำปาสักที่ไปทำงานไกลถึงนครเวียงจันทร์ เดินทางกลับมายังบ้านเกิดเมื่อได้ยินข่าวว่าจะมีงานทอดกฐินพระราชทานที่วัดเกาะแก้วหัวโขงพระใหญ่ บนเกาะดอนโขงแห่งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะมาเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้าหญิงของราชวงศ์ไทยที่ชาวลาวเคารพรักมากที่สุด
"คนลาวรู้จักพระเทพหลาย เด็กน้อยๆ ก็รู้จัก เพราะท่านมาเยี่ยมยามตลอด ท่านชอบฟ้อนรำ สนุกสนาน งานไหนๆ ท่านก็ต้องฟ้อนรำ ร้องเพลงลาวตลอด คนลาวนิยมชมชอบท่านหลาย" คือคำกล่าวอย่างซื่อๆ ของแม่หญิงชาวลาว
แม้จะไม่ได้เฝ้ารับเสด็จฯ อย่างที่หวัง แต่อย่างน้อยการได้เดินทางกลับมาทำบุญที่วัดบ้านเกิด ก็ทำให้เธอรู้สึกสุขใจด้วยอิ่มบุญ ดวงสะหวันกล่าวว่า คนลาวชอบการทำบุญมาก ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลขนาดไหน หากมีการทอดกฐิน ผ้าป่า ก็จะเดินทางมาร่วมงานให้จงได้ ซึ่งการทอดกฐินในแต่ละท้องถิ่นของลาวก็จะแตกต่างกันไปตาม "ฮีต" ตาม "คอง" ของแต่ละหมู่บ้าน อย่างเช่นในภาคใต้ของลาวเช่นจำปาสักนี้ ในงานทอดกฐินก็จะมีขบวนแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบก่อนประเคนผ้าพระกฐิน ตลอดจนประเพณีการละเล่น "หมอลำสีพันดอน" ซึ่งจะมีเฉพาะในดินแดนแถบลาวใต้เท่านั้น
คนไทยในลาวใต้
ในเย็นวันหนึ่ง คณะของเราเข้าพักที่อุทยานบาเจียง ในรีสอร์ทที่แวดล้อมไปด้วยเสียงน้ำตกและป่าเขียวขจี คนในดินแดนฝั่งขวาบางคนทำหน้าพิกลเมื่อได้ยินชื่อ"น้ำตกผาส้วม" แต่ในภาษาลาวนั้นคำว่า "ส้วม" หมายถึง เรือนหอของคู่บ่าวสาว ซึ่งก็ฟังเข้ากันดีกับบรรยากาศในที่พักสุดโรแมนติกแห่งนี้
เรือนพักหลายหลังกระจายตัวอยู่ห่างๆ ท่ามกลางร่มเงาของไม้ใหญ่น้อย และทุกหลังสามารถมองเห็นวิวน้ำตกและลำธารจากหน้าต่างที่พักอันแสนสบาย ด้านในตกแต่งเรียบง่ายแต่ทว่าเก๋ไก๋ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อได้ทราบว่าเจ้าของรีสอร์ทแห่งนี้เป็นชาวไทย เนื่องจากว่า ทุกวันนี้มีนักธุรกิจคนไทยจำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศลาว
แต่เมื่อได้พบหน้าวิมล กิจบำรุง เจ้าของรีสอร์ทในอุทยานบาเจียงจำปาสัก ก็ต้องประหลาดใจ และยิ่งทึ่งเมื่อได้ทราบเรื่องราวการบุกเบิกก่อสร้างที่พักที่นี่ของเขา เพราะธุรกิจของชายไทยผู้นี้ต้องแลกกับการสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไป
วิมลเล่าว่า เมื่อกลางปี 2539 เขาได้รับคำชักชวนจากหลายฝ่ายให้เข้ามาพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวใน สปป.ลาว หลังจากสำรวจแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในแขวงจำปาสักหลายแห่ง สุดท้าย น้ำตกผาส้วมแห่งนี้ก็เป็นที่ที่เขาถูกใจที่สุด จึงได้ขออนุญาตทำการสำรวจอย่างละเอียด
สภาพของพื้นที่ในสมัยนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรม ทางเข้าเป็นเกวียนเล็กๆ คดเคี้ยว ถ้าฝนตกจะไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ วิมลบอกว่า ในป่าขณะนั้นแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ให้เห็นเลย ทั้งบนต้นไม้ พื้นดิน หรือแม้แต่ในน้ำ เพราะถูกจับไปเป็นอาหารของชาวบ้านจนหมด แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตอันแร้นแค้นและยากลำบากของชาวบ้านที่นี่ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นแรงงานชุดแรกของโครงการของเขานั่นเอง
วิมลได้ตั้งโรงครัวปรุงอาหารให้คนงานเพื่อแลกกับการจับปลาและหยุดยิงนก อีกทั้งยังขุดล้อมไม้ใหญ่จากภายนอกหลายชนิดเข้ามาปลูกในบริเวณโครงการ รวมถึงต้นกฤษณา ซึ่งเป็นไม้มีค่าหายาก ก็ถูกนำเข้ามาปลูกแทนต้นสุดท้ายที่ถูกลักลอบตัดจนสูญพันธุ์ โดยมีช้างเป็นกำลังสำคัญในการชักลากไม้ที่ล้มตายไหลมาตามลำห้วย เพื่อนำมาปลูกสร้างร้านอาหารและที่พักซึ่งถูกดัดแปลงจากบ้านต้นแบบของชนเผ่าลาวทางใต้
พนักงานในโครงการก็ประกอบไปด้วยชนเผ่าต่างๆ กว่า 8 เผ่า อีกทั้งยังได้มี "เฮือนชนเผ่า" หมู่บ้านที่สร้างจำลองแบบมาจากบ้านของชนเผ่าที่มีอยู่ในพื้นที่ของลาวใต้จำนวนทั้งหมด 18 เผ่า อาทิเช่น เผ่าแงะ,เผ่าละแว และตาคู เป็นต้น เพื่อรวบรวมประเพณีและความเป็นอยู่ของชาวชนเผ่าเหล่านี้ไว้ จากดินแดนรกร้างที่ถูกทอดทิ้ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม ทุกวันนี้ความยากจนชาวบ้านที่นี่ได้ผ่านพ้นไป พร้อมๆ กับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว
แต่น่าเสียดายที่วิมลไม่มีโอกาสมองเห็นความสำเร็จเหล่านี้ เพราะภายหลังจากเปิดโครงการได้เพียง 1 สัปดาห์ เขาก็ล้มป่วยถึงขั้นโคม่าด้วยโรคมาลาเรียขึ้นสมอง เมื่อฟื้นขึ้นมา ดวงตาของเขาก็ไม่สามารถมองเห็นได้ แม้จะสูญเสียดวงตาไป แต่กำลังใจของชายผู้นี้มิได้มืดบอดตามไปด้วย
"ผมเองถึงแม้จะไม่สามารถเห็นภาพเหล่านั้นได้ แต่ก็มีความสุขที่ได้ยินเสียงลูกค้าหัวเราะ มีความสุขกับเสียงช้อนส้อมกระทบจาน…" คือถ้อยความจากชายผู้ถือกำเนิดและใช้ชีวิตอยู่บนดินแดนทั้งสองฝั่งลำน้ำโขง
ขุนเขาและไร่กาแฟ
เมืองปากซองหรือปากช่อง เมืองที่แวดล้อมด้วยขุนเขาของจำปาสัก ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ทำให้ปากช่องเป็นเมืองที่มีภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกกาแฟมากที่สุดในแขวงจำปาสัก และเมืองแห่งนี้ยังเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในลาวอีกด้วย
และหากจะเอ่ยถึงกาแฟลาวแล้ว กาแฟยี่ห้อ "Dao" นับเป็นแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งส่งออกไกลถึงยุโรป ทั้งเยอรมัน โปแลนด์ เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมที่เป็นผู้ริเริ่มนำเมล็ดพันธุ์กาแฟมาเพาะปลูกในลาว
ทั้งอาราบิก้า, โรบัสต้า รวมทั้งกาแฟพันธุ์พื้นเมืองถูกเพาะปลูกในพื้นที่กว่า 270 เฮ็กตา ในบริเวณเขตพูเพียง พื้นที่ที่เป็นดินภูเขาไฟเก่า มีความชุ่มชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม ส่งผลให้กาแฟ "Dao" ของลาวนั้นมีรสชาติไม่ธรรมดา และสามารถผลิตได้มาตรฐานสากล
นายแพทย์ฮาว ลิดดัง ข้าราชการเกษียณ และดาวเรือง ภรรยานักธุรกิจลาวเชื้อสายเวียดนาม ผู้มีธุรกิจบริษัท ดาวเรือง ขาออก-ขาเข้า (อิมพอร์ต-เอ็กซ์พอร์ต), ร้านค้าดิวตี้ฟรี, ร้านทอง และยังเป็นเจ้าของตลาดดาวเรืองที่เมืองปากเซ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแขวงจำปาสัก ทั้งคู่ได้ตัดสินใจริเริ่มธุรกิจทำไร่กาแฟตามคำชักชวนของรัฐบาลลาวที่ต้องการส่งเสริมให้เพาะปลูกกาแฟเป็นสินค้าออกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในเนื้อที่เริ่มแรก 150 เฮ็กตา ก่อนจะค่อยๆ ขยายมาเป็นเกือบ 300 เฮ็กตาในปัจจุบัน
แรงงานในไร่กาแฟทั้งหมดนั้น จะมีทั้งชาวลาวและชาวเวียดนาม ซึ่งเข้ามาหางานทำในลาวเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าประหลาดใจที่การมาเยือนลาวคราวนี้ นอกจากส้มตำแล้วเราจะได้ชิมอาหารเวียดนามหลายอย่าง อาทิ กุ้งพันอ้อย, ปอเปี๊ยะสด-ทอด, เฝอ ตบท้ายด้วยเบียร์ยี่ห้อ "เขยลาว" แทบทุกมื้อ
นายแพทย์ฮาวกล่าวถึงกิจการไร่กาแฟดาวเรืองว่า ในช่วงแรกนั้นรัฐบาลลาวยกเว้นภาษีให้ 3 ปี แม้จะเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นทุกปี สร้างรายได้ให้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการส่งออกกาแฟ ส่วนยอดจำหน่ายกาแฟในประเทศนั้นมีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 10 เพราะมีชาวลาวประมาณ 5 ล้านคนเท่านั้นที่นิยมบริโภคกาแฟ
ปัจจุบันนี้กาแฟ "Dao" ได้เริ่มเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ส่วนในอนาคต ทายาทรุ่นลูกของไร่กาแฟดาวเรืองกำลังจะทำโครงการให้ไร่กาแฟแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
แดนมรดกโลก และน้ำโขงในกระแสการพัฒนา
ลาวไม่มีมายาและดัดจริต
คือความรู้สึกหลังจากได้สัมผัสดินแดนลาวใต้เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ทั้งตัวเมือง ผู้คน และภาษาที่นี่บ่งบอกอย่างนั้น
คนไทยมักนิยมล้อเลียนประเทศที่เราเรียกว่าบ้านพี่เมืองน้องอยู่บ่อยครั้ง เป็นบ่อยครั้งที่เกิดจากความรู้ไม่เท่าและคะนองปาก หากแต่คนลาวก็ยังยิ้มแย้มต้อนรับผู้คนจากอีกฝั่งโขงอยู่เสมอ
หลังจากหลวงพระบางได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ตามมาติดๆ ด้วยปราสาทวัดพูจำปาสัก ผู้คนมากมายที่หลงใหลใฝ่หาดินแดนที่ประดุจ "ยูโทเปีย" ก็หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศลาว เฉพาะการท่องเที่ยวนั้นสร้างรายได้เข้าประเทศลาวเฉลี่ยถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ลาวได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (land-lock) ซึ่งถือเป็นชัยภูมิที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน ดินแดนแห่งนี้ก็รุ่มรวยด้วยอารยธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และอัธยาศัยอันดีงามของผู้คน แม้จะไม่มีน่านน้ำทางทะเล แต่ลาวก็มีลำน้ำหลายสายทดแทน
เหตุนี้เอง ทำให้ลาวกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจของนักลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลลาวเองก็เร่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเป็นสินค้าออก โครงการเขื่อนจึงผุดขึ้นในลาวปานดอกเห็ด พอๆ กับการรุกคืบพื้นที่ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ
มีคำพูดตลก (ร้าย) ว่า ลาวส่งไฟฟ้าเป็นสินค้าออกแก่ไทย ส่วนพี่ไทยส่ง "อะยิโนะโมะโตะ" เข้าลาวเป็นสินค้าหลัก ฟังแล้วเศร้าใจพิกล…ไม่ใช่เป็นเพราะรู้สึกขาดดุลการค้า แต่ทว่าสินค้าของทั้งสองฝั่งนั้นแทบจะไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างแท้จริงเลย
บนเส้นทางหมายเลข 13 ลงไปทางใต้ของเมืองปากเซไปประมาณ 130 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของน้ำตกไนแองการ่าแห่งเอเชีย "น้ำตกคอนพะเพ็ง" น้ำตกที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น้ำตกคอนพะเพ็งนี้ เปรียบเสมือนกำแพงยักษ์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้ข้าศึกต่างชาติเข้ามารุกรานยื้อแย่งเอาดินแดนเขตแคว้นแห้งนี้ได้สะดวก และนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีใครสามารถนำเรือผ่านน้ำตกแห่งนี้ได้
แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่ "ข้าศึก" ไม่ได้มาในรูปแบบยึดเป็นอาณานิคม หากแต่มาในแง่การครอบงำทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจ "นครกาละจำบากนาคะบูริสี" แห่งนี้จะต้านทานได้อย่างไร?
///////////////////////
เรื่อง; รัชตวดี จิตดี