xs
xsm
sm
md
lg

ดอกไม้เพลิง หวั่นกลัวจนหลงลืมภูมิปัญญาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลายฝนต้นหนาว เป็นสัญญาณถึงฤดูแห่งความรื่นเริงของสังคมไทย เทศกาลงานลอยกระทงเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงลมหนาวที่จะย่างกรายมา และเป็นการเปิดประตูสู่ความสุขในงานเทศกาลต่างๆ ที่จะตามมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี

หลายปีที่ผ่านมา เสียงดอกไม้เพลิงชนิดต่างๆ เงียบเสียงลงอย่างชะงัดในงานลอยกระทง เพราะความเข้มงวดในการจับกุม และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ปัจจุบันดอกไม้เพลิงชนิดต่างๆ กลายเป็นตัวร้ายที่สร้างความรบกวนทางโสตประสาท รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในการเล่นดอกไม้เพลิง ดูเหมือนอันตรายของดอกไม้เพลิงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนอย่างมากมาย

แต่ในความเป็นจริงเสียง แสง และสีสัน ของดอกไม้เพลิงนั้น ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แนบชิดกับความเชื่อ และความศรัทธาในศาสนามาตั้งแต่โบร่ำโบราณ

การควบคุมอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกมุมหนึ่งต้องเปิดทาง และพื้นที่ให้แก่ดอกไม้เพลิงในฐานะศาสตร์ และศิลป์ ที่สืบทอดมาเป็นพันๆ ปี

มหัศจรรย์ของภูมิปัญญาไทยของดอกไม้เพลิงโบราณเป็นอย่างไร และน่าสืบสานอนุรักษ์แค่ไหน...

*กฎหมายควบคุมดอกไม้เพลิง

ข่าวคราวที่สร้างความตกใจ อกสั่นขวัญหายให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวกับดอกไม้เพลิงนั้น นอกจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คนแล้ว การระเบิดของโรงงานผลิต หรือโรงเก็บสินค้าประเภทนี้ล้วนหนักหนาสาหัสสร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน และชีวิตอย่างมหาศาล

'ดอกไม้เพลิง' ซึ่งมีการบัญญัติศัพท์ทางกฎหมายนั้น หมายถึง เครื่องสำหรับจุดในงานเทศกาลหรืองานศพ เป็นต้น ทำด้วยกระบอกไม้อ้อหรือไม้ไผ่ เป็นต้น บรรจุดินดำ มีชื่อต่างๆ กันตามชนิด ได้แก่ ดอกไม้น้ำ, ดอกไม้รุ่ง, ดอกไม้เทียน พลุ, ประทัด, ตะไล, พะเนียง, บ้องไฟหรือบั้งไฟ, กรวดหรือจรวด, นกกระจอก, ฝนแสนห่า, กังหัน, ช่อม่วง รวมตลอดถึงวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน

แน่นอน ดอกไม้เพลิง ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่วัตถุระเบิด โดยผู้ผลิต-ผู้นำเข้า-ผู้ค้า ต้องขออนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ตามพ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

สิทธา สลักคำ ผู้เขียนหนังสือ 'ดอกไม้เพลิงโบราณ มหัศจรรย์แห่งภูมิปัญญาไทย' ชี้ให้เห็นว่า การควบคุมอย่างนี้ถูกต้องแล้ว เพราะดอกไม้เพลิงนั้นเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองมาแต่โบราณ

"อัคนีศาสตร์ เป็นหนึ่งในตำราพิชัยสงคราม เป็นพื้นฐานหนึ่งในการผลิตดอกไม้เพลิงโบราณ ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง เพราะฉะนั้น สูตรต่างๆ ของดอกไม้เพลิงจึงต้องเก็บเป็นความลับ และต้องมีกฎหมายควบคุม"

นอกจากนี้ การควบคุมทางกฎหมายก็ยังมีพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศของกรมอนามัย เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมป้องกันอันตรายจากการผลิต การสะสม การขนส่ง และการจำหน่ายดอกไม้เพลิง หรือสารเคมีอันเป็นส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิง

จากการสำรวจชนิดของดอกไม้ไฟที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอันตรายในปัจจุบัน จะมี 3 ชนิด คือ ชนิดที่จุดแล้วจะเกิดแรงอัดทำให้พุ่งไปในทิศต่างๆ ก่อนที่จะระเบิด อาทิ วี้ดบึ้ม,กระจับ,จรวด กระเทียม, ชนิดที่จุดแล้วเป็นประกายไฟซึ่งร้อนเกิน มีอุณหภูมิสูงสามารถทำให้ทองหลอมละลายได้ อาทิ ไฟเย็น,บัว และชนิดที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดังและควัน เช่น บอลสี

สำหรับเสียงที่ดังออกมาของดอกไม้เพลิงชนิดต่างๆ ที่ดังเกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ 85 เดซิเบล แต่มีดอกไม้เพลิงหลายชนิดที่ดังกว่า 130 เดซิเบล อย่าง ลูกระเบิด, ไดนาไมต์, กระจับ, วี้ดบูม, ไม้ขีดเหลือง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว

และถ้าได้รับในช่วงเวลาที่นานจะทำให้เกิดอาการหูตึงถาวรได้

การควบคุม และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะจากข้อมูลแสดงให้เห็นอันตรายของดอกไม้เพลิงที่มีอยู่รอบด้าน หากไม่มีการระมัดระวัง รวมถึงสารเคมีที่นำมาทำดอกไม้เพลิงชนิดต่างๆ นั้น สามารถนำไปประยุกต์ทำเป็นวัตถุระเบิดได้ ในสงครามก่อการร้ายจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า

กระบวนการผลิตดอกไม้เพลิงสมัยใหม่ อาจจะเสี่ยงต่อเรื่องต่างๆ สูง ทางออกของคนที่อยากชมความสวยงามของดอกไม้เพลิงนั้นยังมีอยู่ นั่นคือ ดอกไม้เพลิงโบราณที่สืบสานมาจากอดีต และกำลังสูญหายไปจากสังคมไทย

*ดอกไม้เพลิงโบราณ

ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่เกี่ยวกับดอกไม้เพลิงโบราณนั้น สิทธา สลักคำ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 5 (แขวงปทุมวัน) ซึ่งศึกษาและค้นคว้าเรื่องนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง มองถึง ดอกไม้เพลิงสมัยใหม่ว่า เป็นแค่ไฟวิทยาศาสตร์ โดยจุดเป็นร้อยเป็นพันนัดแล้วเกิดเป็นรูปต่างๆ มีแสงสีสดสวยงดงามตามที่ฝรั่งคิดค้นขึ้นมาพร้อมตั้งชื่อให้โก้หร่าน

"ส่วนดอกไม้เพลิงแบบโบราณของไทย มีมากมายหลายชนิด โดยมีไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก มีดินเชื้อเพลิงที่ทำจากถ่านไม้-ดินประสิว-กำมะถัน ซึ่งรวมกันเรียกว่า ดินดำ ความสำคัญจะอยู่ที่ส่วนผสมของดินดำแต่ละสูตร ซึ่งเป็นตัวประกอบดอกไม้เพลิง และเป็นหัวใจสำคัญว่าใครรู้ดีกว่าใคร และปกปิดกัน สูตรใครสูตรมัน"

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ถึงดอกไม้เพลิงโบราณของไทย สิทธา ได้ค้นคว้าย้อนหลังจากข้อมูลหลักฐานต่างๆ จนไปถึงยุคสุโขทัย และได้ตั้งข้อสังเกตถึงความก้าวหน้าของดอกไม้เพลิงโบราณของไทยในยุคนั้นว่า

"สิ่งนี้เป็นการแปลกมาก เนื่องจากโลกต่างยอมรับว่า จีนเป็นประเทศแรกที่คิดค้นเชื้อเพลิงดินดำได้เป็นชาติแรกของโลก แต่เหตุไฉนเมืองจีนจึงไม่มีดอกไม้เพลิงที่ใช้ในการเล่นหรือนำไปใช้เป็นอาวุธ ในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นเลย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศใหญ่ และมีการจดบันทึกข้อความไว้เสมอ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่มักจะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยโบราณ ซึ่งส่วนมากผมเห็นแต่ในศิลาจารึก ในใบลาน และใบข่อย

และก็เป็นการแปลกอย่างยิ่งที่ในปี พ.ศ.1838จากบันทึกของโจวต้ากว้าน ที่ได้ติดตามราชทูตจากจีนเดินทางมาที่นครธม เมื่อมีการจุดประทัดถึงกับตกใจ เนื่องจากมีเสียงอันดังมากออกไปไกลหนึ่งร้อยลี้ก็ยังได้ยินเสียง ซึ่งเป็นหลักฐานว่า ชาวเสียน ซึ่งเข้าใจว่า เป็นชาวสุโขทัยที่อยู่ในยุคเดียวกัน ก็น่าจะมีดอกไม้เพลิงแล้วเช่นกัน"

การทำดอกไม้เพลิงโบราณนั้นแนบแน่นกับปรัชญาความเชื่อ และศรัทธาทางศาสนา สัจธรรม ความหมายของดอกไม้เพลิง โดยเฉพาะการเล่นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อน้อมนำนมัสการถวายเป็นพุทธบูชา วิธีการเล่นจะแสดงถึงสัจธรรมสำคัญประการหนึ่งของการมีตัวตนหรือมีชีวิตนั่นคือ 'การเกิดและการแตกดับ'
โดยจัดการเล่นเป็นขั้นตอนสำคัญไว้ 5 ชั้น คือ
1.การประกาศป่าวร้องริเริ่มก่อตัว ตัวไฟที่ใช้จุดแสดงคือ พลุ ซึ่งจะส่งเสียงดังไปไกลหลายกิโลเมตร เปรียบเสมือนการส่งเสียงบอกกล่าวป่าวร้อง หรือให้อาณัติสัญญาณว่างาน พิธีได้เริ่มแล้ว

2. การเกิดสรรพสิ่ง (ชาติ) การเกิดสรรพสิ่งของสิ่งมีชีวิต มีด้วยกัน 2 ทางคือ ทางหนึ่งเกิด จากไข่ และอีกทางหนึ่ง เกิดเป็นตัวตน การจุดแสดงจะเริ่มจากกลุ่มที่ เกิดจากไข่ก่อน แล้วจึงจุดกลุ่มที่เกิดเป็นตัวตน เกิดจากไข่ดอกไม้เพลิงที่จุดในชั้นนี้ล้วนมีชื่อเป็นสิ่งมีชีวิตกำเนิด มาจากไข่ทั้งสิ้น เริ่มด้วยการจุดไฟพะเนียงไข่หรือไฟพะเนียงเปลือกไข่ให้ หมดสิ้นไปก่อน แล้วจึงค่อยจุดดอกไม้เพลิงชนิดอื่น เกิดเป็นตัวตนจุดดอกไม้เพลิงซี่งมีชือเรียกตามสิ่งมีชีวิตที่เกิดเป็น ตัว ได้แก่ไฟลูกหนู ไฟช้างร้อง นอกจากนี้ อาจสร้างตัวเสือ ม้า วัว ควาย และมังกรด้วยก็ได้

3. การแตกดับ (มหาภูตดับขันธ์) เมื่อสรรพสิ่งทั้งหลายได้อุบัติขึ้นแล้ว สังขารย่อมไม่เที่ยงเป็นไปตาม วัฏสงสารและในที่สุดก็ต้องแตกดับไปหรือที่เรียกว่าไฟธาตุแตกดับ ตัวไฟที่ใช้แสดงได้แก่ ไฟประทัด จุดให้ดังรัวนับครั้งไม่ถ้วน เปรียบเสมือน เสียงแห่งการแตกดับของสรรพชีวิตซึ่งมีจำนวนมากมาย

4. ลอยตัวสู่อากาศ (ภพวิญญาณ) เมื่อชีวิตสูญสิ้นหรือดับขันธ์ จะมีขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ คือ 'วิญญาณ ขันธ์' ออกจากร่างลอยอยู่ตามอากาศ ตัวไฟที่ใช้จุดแสดงแทนดวง วิญญาณนี้ได้แก่ ตะไล กรวดหรือตรวด และอ้ายตื้อหรืออีตื้อ

5. บูชาผู้มีพระคุณ กงกำกงเกวียนและภูมิปัญญา ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญที่สุดซึ่งจะต้องมีการจัดสร้างต้นองค์ไฟใหญ่ 3 ชนิดคือ ไฟเพยียมาศหรือไฟดอกไม้พุ่มหรือพวงดอกไม้ กังหันไฟ และระทา สิทธา ได้สรุปถึงจุดนี้สั้นๆ ว่า

"การทำดอกไม้เพลิงโบราณมีคติความเชื่อทางศาสนาประกอบ เพราะเมื่อมีการพูดถึงการบูชา สิ่งที่มักจะใช้บูชานั้นก็คือ ไฟ ซึ่งอาจหมายถึง แสงสว่าง หรือตัวปัญญา ดั่งเห็นได้จากการจุดธูป จุดเทียน หรือการลุยไฟ เพราะไฟเป็นส่วนประกอบสำคัญ"

องค์ความรู้ในเรื่องของดอกไม้เพลิงโบราณ แค่แง่มุมของสัจธรรม และความหมายที่แฝงซ่อนก็มีอยู่มากมาย ขนาดยังไม่ได้ขยายภาพให้เห็นถึงกระบวนการผลิต และประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงชนิดต่างๆ ด้วย แม้ปัจจุบันจะไม่มีการทำดอกไม้เพลิงโบราณออกมา เพราะจะรับดอกไม้เพลิงสมัยใหม่จากจีนเข้ามาเป็นส่วนมาก แต่อาชีพคนทำดอกไม้เพลิงก็ยังมีอยู่ในเมืองไทย

*ช่างดอกไม้เพลิงเมืองเพชร

ในปี 2529 หนุ่มใหญ่คนหนึ่งจากอำเภอท่ายาง เมืองเพชรบุรี สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดพลุ-ดอกไม้ไฟ ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีช่างดอกไม้เพลิงจากทั่วภาคกลางเข้าประชันในการประกวดครั้งนี้หลายสิบราย เกียรติยศในครั้งนั้นทำให้ ทอง หรือ ฉอ้อน ศรีจันทร์ ยึดอาชีพช่างดอกไม้เพลิงมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้อาวุโสรอบรู้ในศาสตร์และศิลป์ในระดับภูมิปัญญาชาวบ้านที่เข้มข้นคนหนึ่ง เขาเล่าว่า

"ตระกูลศรีจันทร์ เป็นช่างทำตะไลและดอกไม้ไฟมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผมสืบสายมาทางตา แต่มาเรียนเอาจริงๆ ตอนบวชพระ ซึ่งพระจะมีความรู้ด้านนี้สืบทอดกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ช่างพื้นบ้านที่ทำดอกไม้ไฟหรือพลุก็ได้วิชามาทางพระทั้งนั้น"

เคล็ดในการทำพลุ และดอกไม้ไฟของฉอ้อน ที่ทำให้เขาโด่งดังก็คือ การพัฒนาและปรับปรุงพลุให้มีสีสันสวยสด ขึ้นไปบนฟ้าแล้วบานเป็นทรงเรียบร้อยดูสวยงาม ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษส่วนตัว ส่วนมากงานศพใน จ.เพชรบุรี ซึ่งจะมีการจุดพลุเป็นธรรมเนียมประเพณีมาแต่ครั้งโบราณ จะใช้บริการของเขา

"ในงานศพจะมีการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยพลุและดอกไม้ไฟ ก็มีหลายแบบ แต่จะนิยมแบบชุด 96 ดอก ความสว่างไสวจากพลุก็หมายถึงความดีของผู้ตายด้วยเช่นกัน ในเพชรบุรีงานศพไหนไม่จุดพลุจะเป็นเรื่องประหลาด เพราะเป็นอนุสัญญาณว่า มีงานศพ ถ้าจุดวันนี้ตอนบ่าย 3 โมง แสดงว่า พรุ่งนี้ 4 โมงเย็นจะมีพิธีฌาปนกิจ"

จากปากคำของ ฉะอ้อน แสดงให้เห็นว่าดอกไม้เพลิงของเมืองเพชรยังมีความผูกพันกับวิถีของชาวบ้าน แนบแน่นกับประเพณีของชุมชน ซึ่งในจังหวัดอื่นๆ แทบจะไม่เห็น รวมถึงการสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ก็ค่อยสูญหายไปด้วย

*วิกฤตดอกไม้เพลิง

การเล่นดอกไม้เพลิงในปัจจุบันที่เน้นไปที่ความสนุกสนานคึกคะนองส่วนตัว โดยเฉพาะประเภทที่มีเสียงดัง และระเบิดรุนแรงที่นำเข้ามาจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ได้ทำให้ดอกไม้เพลิงโบราณถูกตีขลุมในแง่ของภาพลักษณ์ไปในด้านร้ายด้วยเช่นกัน

ฉอ้อน บอกว่า ดอกไม้เพลิงขนาดเล็กคนเล่นสนุก แต่ทุกข์ของคนรอบข้าง

"รบกวนประสาทมาก สำหรับประทัด ดอกไม้ไฟที่คนนำมาเล่นกัน และมากระทบกระเทือนกับช่างทำพลุพื้นบ้านอย่างพวกผม เพราะโดนเหมารวมไปหมด ไม่มีการแยกแยะในการสั่งห้าม ทำให้งานลดลงเกือบครึ่งต่อครึ่งในหลายปีที่ผ่านมา ช่างอย่างพวกผมจะไม่ผลิตพวกประทัดหรือดอกไม้ไฟเล็กๆ ออกมาขายอยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่า ก็มีบางรายเห็นแก่ตัวที่ทำออกมาลอบขาย"

การควบคุมและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้ดอกไม้เพลิงที่สืบสานภูมิปัญญาจากโบราณค่อยๆ สูญหายไป เพราะดอกไม้เพลิงทั้งหมด กลายเป็นผู้ร้าย สิทธา ที่พยายามต่อสู้ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาของดอกไม้เพลิงโบราณมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนบอกว่า

"ใจของผมอยากให้รื้อฟื้นดอกไม้เพลิงโบราณขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้าเล่นกันแล้วจะทำให้คนทั่วโลกหลั่งไหลกันมาชม ดอกไม้เพลิงโบราณถ้าเล่นกลางแจ้งต้องทำให้ใหญ่โต โดยสามารถผลิตออกมาโดยใช้ฝักแค และสายชนวนเป็นสื่อนำไปหาตัวดอกไม้เพลิง ซึ่งมีหลายชนิด ดังนั้นจึงทำให้คนดูสามารถมองเห็นได้ทั่วถึง เนื่องจากดอกไม้เพลิงโบราณเล่นอยู่กับพื้นดิน และผืนน้ำเท่านั้น ไม่วิ่งขึ้นสู่อากาศ"

ความฝันของ สิทธา อยากให้มีการจัดงานดอกไม้เพลิงโบราณในเมืองไทย แบบเทศกาลคาร์นิวัลในบราซิล มีขบวนแห่ยาวเหยียด

"การเล่นกลางแจ้งสามารถสร้างเวทีระหว่างทางแยก จังหวัดสระบุรี ที่จะไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นที่ซึ่งสวยมาก สามารถเก็บเงินคนดูได้ตั้งแต่แห่อุปกรณ์ดอกไม้เพลิงโบราณ ขบวนแห่จะมีความยาวตั้งแต่สนามหลวงยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะอลังการจนคนดูตื่นตะลึง

ดอกไม้เพลิงโบราณสามารถนำไปเล่นในโรงละครได้ โดยมีการออกแบบแปลนสร้างขึ้นเพื่อรองรับดอกไม้เพลิงโดยใช้เวทีประกอบ โดยสามารถเลื่อนมาซ้อนทับเวทีฟ้อนรำ แล้วหลังคาเวทีเปิดออก แล้วมีกระจกมาปิดกั้นกับคนดู และมีเครื่องดูดควันออกไป ถึงแม้จะมีการลงทุนเยอะ แต่ก็จะคุ้มค่าอย่างแน่นอนในการสนับสนุนการท่องเที่ยว รัฐบาลไม่ควรมองข้ามเลยไป"

และสิทธากล่าวส่งท้ายว่า ดอกไม้เพลิงโบราณของไทยนั้นเป็นมรดกโลกไม่ใช่มรดกไทยเพียงอย่างเดียว

******************

เรื่อง - พรเทพ เฮง














กำลังโหลดความคิดเห็น