xs
xsm
sm
md
lg

วัดปทุมฯ เรื่องเล่าธรรมดาๆ ในโลกทุนนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แรงบดขยี้ของเครื่องจักร ส่ำเสียงจากการจราจรเกรี้ยวกราด ผู้คนมากหน้าหลายตาย่ำเหยียบไปบนความวุ่นวายแต่เดียวดายอยู่ภายใน ชีวิตที่ขับเคลื่อนไปบนกระแสแฟชั่นแสนบรรเจิด ที่ว่ามานี้ก็แค่สิ่งปกติสามัญของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

แต่หากวัดสักวัดหนึ่งอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมา ....ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกอะไรในยุคเช่นนี้ เพียงแค่อาจดูขัดๆ เล็กน้อยในความรู้สึก เมื่อเสียงสวดมนต์ของบรรดาสาวกแห่งสมณโคดม เพลงธรรมสงบเย็นต้องร่ายทำนองไปพร้อมๆ กับเพลงทุนรุ่มร้อนรอบตัว บทสวดที่ออกมาจึงค่อนข้างปร่าแปร่ง

"ประเทศไทยต้านกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้" หรือ "สังคมมันเปลี่ยนไปแล้วเราต้องรู้จักปรับตัว" ใครบางคนถึงหลายๆ คนพูดเอาไว้อย่างนั้นว่า ใคร อะไร สิ่งใดที่พยายามยืนฝืนกระแสในยุคการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ถ้าไม่ถูกทำลาย หรือล่าถอย ก็มักถูกกลายสภาพ ไม่ยกเว้นกระทั่ง 'วัด'

บนถนนเส้นนั้นมีเรื่องราวซ่อนอยู่

บนถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขาราชดำริ จนถึงเซ็นเตอร์พอยต์และมาบุญครอง นับเป็นย่านรื่นรมย์ของการจับจ่ายใช้สอย และอีกไม่นานละแวกนี้จะระเริงหนักขึ้น หากโครงการขนาดมหึมาของเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่าและสยามพารากอนเสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่นานนี้ รถยนต์ คน เงินคงวิ่งเข้าวิ่งออกย่านนี้พลุกพล่านกว่าก่อนมา

เด็กสยามบางคนเวลาเดินจากราชดำริมาสยามสแควร์ หรือจากสยามสแควร์มาราชดำริ อาจเคยสังเกตว่าตึกเรียงกันเป็นตับแถวนั้น เหมือนคนฟันหักไปซี่หนึ่ง เพราะอยู่ๆ ตึกใหญ่ที่ทอดตัวต่อกันก็เว้าหายไป ตรงระหว่างสยามพารากอนกับเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่าที่กำลังก่อสร้าง เด็กสยามหลายคนไม่รู้ว่ารอยแหว่งเว้านั้นคือ วัดปทุมวนาราม อารามหลวงชั้นตรีที่เก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังชั้นเลิศในสมัยรัชกาลที่ 4

อารามหลวงชั้นตรีแห่งนี้ คือร่องรอยฟันหักของปัจจุบัน

ในยุคโลกอันบิดเบี้ยว คลุมเครือ ย้อนแย้ง ผู้นิยมความฉลาดมักเรียกภาวะนี้ว่า หลังสมัยใหม่ (Post Modern) ผู้นิยมความฉลาดอีกหลายโหลจึงนิยมพกพาค้อนและเครื่องมีก่อสร้างทางสติปัญญา คนเหล่านี้ชมชอบการรื้อชุดความคิด ชุดความหมายเดิมๆ พร้อมกับสร้างมันขึ้นใหม่ ตามแต่จิตใจจะบอกกล่าว

หรือวัดปทุมวนารามแห่งนี้ จะเป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ทางความคิดของบรรดามนุษย์โพสต์โมเดิร์น หรือมันเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่ดันมาอยู่ผิดที่ ผิดเวลา .....กันแน่?

ที่จอดรถอันศักดิ์สิทธิ์

จากปัจจุบันสู่อดีต ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปีพ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างสถานที่ตากอากาศในบริเวณวัดปทุมวนารามแห่งนี้ ซึ่งในยุคนั้นยังเป็นท้องทุ่งเขียวขจี จึงโปรดเกล้าให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นแม่กอง ให้ พระยาสามภพพ่าย เป็นนายงาน จนกระทั่งปีพ.ศ.2400 วังสระปทุม และวัดปทุมวนารามแห่งนี้จึงสร้างเสร็จเรียบร้อย

จากอดีตสู่ปัจจุบัน ทั้งวัดและวังยังคงอยู่ แต่ความหมายเริ่มเปลี่ยน บริเวณด้านหน้าของวัดที่มีสภาพเป็นลานกว้าง มีสระบัวขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ถูกแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก่อนความคิดนายกรัฐมนตรี โดยทางวัดจัดให้เป็นที่จอดรถแก่บรรดาญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา และวัยรุ่น ชนชั้นกลางที่ขับรถมาเที่ยวสยามแต่ไม่มีที่พักพิงให้รถของตนสามารถนำรถเข้ามาจอดได้ โดยเสียอัตราค่าบริการในอัตรา 2 ชั่วโมงแรก 20 บาท และชั่วโมงต่อไป 5 บาท นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายคูปองจอดรถเล่มละ 500 บาทเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ทางวัดจึงมีรายได้จากการบริการพื้นที่จอดรถต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

การเป็นที่จอดรถที่ให้บริการในราคาถูก อาจเป็นความทรงจำเดียวที่เหลืออยู่สำหรับเด็กสยามที่มีต่ออารามหลวงชั้นตรีแห่งนี้ คุณค่าและความหมายเดิม ๆ ของวัดกำลังถูกโอบล้อมและเบียดขับจากสิ่งรอบข้าง จากมือที่มองไม่เห็นของโลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก หากนี่คือวิถีแห่งการพัฒนาประเทศที่จำเป็นต้องมี แล้วภิกษุในวัด โรงเรียน และชุมชนอีกกว่าร้อยหลังคาเรือนนั้นใช้ชีวิตอย่างไร?

บ้าน วัด โรงเรียน กับแรงตบตีของทุน

"เรื่องการบิณฑบาตก็ไม่กระทบมาก ส่วนใหญ่พระวัดนี้มีกิจนิมนต์เยอะ บางรูปก็มีโยมอุปัฏฐากอยู่ แต่ถ้าออกบิณฑบาตก็จะเดินไปแถว ๆ สวนลุมฯ โรงพยาบาลตำรวจ ซอยจุลดิษฐ์ ตลาดประตูน้ำ องค์การโทรศัพท์ ไม่ก็ชุมชนหลังวัด" เป็นเสียงบอกเล่าจากหลวงพี่ผู้ไม่ยอมเปิดเผยนามรูปหนึ่งในวัด คงแปลกตาทีเดียวถ้าพระภิกษุจะเดินบิณฑบาตยามเช้าตรู่ละแวกสยามสแควร์หรือสยามดิสคัฟเวอรี่

เมื่อถามถึงเสียงรบกวนจากงานก่อสร้าง หลวงพี่ตอบว่าหนวกหูมากในช่วงแรก ๆ พอระยะหลัง ๆ ก็ชินไปเอง แต่กับเณรบางรูปที่เข้ามาจำพรรษา และร่ำเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดแห่งนี้ วิถีบรรพชิตค่อนข้างยากเอาการ

"กุฏิอาตมาอยู่ใกล้ตึกเซ็นทรัลที่กำลังก่อสร้าง มีฝุ่นเยอะ อาตมาแพ้ฝุ่นก็เลยเกิดอาการคันบ้าง เรื่องเสียงก็เป็นปัญหาบ้าง ส่วนเรื่องบิณฑบาตก็ไม่สะดวกเท่าไหร่ เพราะด้านหน้าวัดคนค่อนข้างพลุกพล่านเกินไป"

ไม่ใช่แค่วัดเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางเสียงและมลพิษทางอากาศ เด็กนักเรียนในโรงเรียนวัดปทุมวนารามก็ได้รับผลกระทบไม่ผิดกัน

อาจารย์อาวุโสซึ่งปฏิเสธจะบอกชื่อท่านหนึ่งในโรงเรียนกล่าวว่า "ในช่วงแรกของการก่อสร้างส่งผลกระทบมากต่อการเรียนการสอน นักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียนเลย วันหนึ่งท่านเจ้าอาวาสได้เข้ามาเยี่ยมที่โรงเรียนได้รับรู้ปัญหาของเด็กนักเรียนเข้า ท่านเจ้าอาวาสจึงได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ วันต่อมาก็มีคนมาติดกระจก ติดแอร์ให้ ปัญหาเรื่องเสียง เรื่องฝุ่นก็ลดลงไปเยอะ"

ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเช่นไร วัดก็ยังเป็นที่พึ่งของชุมชนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยอำนาจแห่งพุทธคุณ หรืออำนาจของความเป็นวัดหลวงก็สุดหยั่งเดา แต่นั่นยังไม่เพียงพอจะแผ่คลุมผู้คนในชุมชนนั้นได้หมด

ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำแออัดอยู่ในชุมชนกว่าร้อยหลังคาเรือน แหล่งข้าวแหล่งน้ำของพระภิกษุภายในวัด ดูจะไม่โชคดีเหมือนพวกเด็กๆ เมื่อครั้งอดีตที่ดินส่วนหนึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นห้างสรรพสินค้าเวิลด์เทรด สภาพถูกปิดล้อมจึงเกิดขึ้น ด้วยสภาพพื้นที่ที่แบกรับความยัดเยียดไม่ได้อีกแล้ว หลายครอบครัวจึงระหกระเหินไปอยู่ที่อื่น คนเก่าคนแก่ของชุมชนจริง ๆ แทบไม่เหลือร่องรอย แล้ววันหนึ่งสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาก็โผล่ขึ้นมาขนาบชุมชนทั้งสองข้าง ฝุ่นละออง และเสียงดังจากการก่อสร้างกลายเป็นส่วนหนึ่งของความชาชินในชีวิต โดยร่มเงาศาสนาแผ่ไม่ถึง

เป็นปัญหาที่บ้าน วัด โรงเรียนต้องเผชิญร่วมกัน ...แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของเจ้าของธุรกิจ

มองในแง่ดี ความเป็นอารามหลวงชั้นตรีบวกกับที่ดินบริเวณนั้นส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ความเป็นชุมชนจึงยังดำรงอยู่ได้ เด็กยังมีที่เรียน พระยังมีวัดจำพรรษา และชาวบ้านยังมีที่อยู่ที่นอน ไม่ถูกแปรสภาพให้เป็นวิมานคนเมือง

ใครผิดที่? ใครผิดทาง?

"ผมว่าวัดไม่ผิดนะ วัดอยู่มาก่อน ตั้งมาร้อยกว่าปีแล้วตึกพวกนี้มาทีหลัง" วิทยา สุทธิประภา เจ้าหน้าที่ของวัดมีความเห็นสอดคล้องกับอาจารย์โรงเรียนวัดปทุมวนาราม วัดไม่ใช่สิ่งที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ธุรกิจใหญ่โตรอบข้างต่างหากที่มาทีหลัง

"บางคนเขาก็ถือ เพราะมาสร้างตึกสูงกว่าวัด สูงกว่าหลวงพ่อเสริม" อาจารย์อาวุโสท่านเดิมติติงความสูงอาคารที่ก้าวล่วงเข้ามาแตะต้องความศรัทธาต่อหลวงพ่อเสริมพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดปทุมวนาราม แต่ความเก่าแก่และความศรัทธาไม่อาจต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงได้ ในเมื่อเกือบทุกภาคส่วนของสังคมเห็นว่าประเทศยังต้องพัฒนาไปตามแนวทางนี้ ในเมื่อรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของคนในประเทศ

ในความเห็นของสาวสถาปัตย์จุฬาฯ อย่าง วาทินี บรรจง นิสิตภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม แม้เศรษฐกิจจะต้องโต แต่วัดก็ยังคงต้องมี

"ก็คิดว่าเหมือนมีวัดอยู่กลางดงเทคโนโลยี เหมือนความสำคัญของวัดมันหายไป เพราะเมื่อก่อนสำหรับคนไทยวัดเหมือนเป็นศูนย์กลางของชุมชน แล้วตอนนี้มันโดนทุกอย่างกลืนไป น่าจะควรส่งเสริมวัดให้มันสูงส่งขึ้น ถ้ามองในแง่วิชาสถาปัตย์เราควรจะรักษาสภาพต่างๆ ให้ดี ให้กลมกลืน"

เจษ และ จิน หนุ่มห้าวสาวน้อย เด็กสยามคู่หนึ่งตอบปฏิเสธ เมื่อถูกถามว่ารู้จักวัดปทุมวนารามหรือไม่

"ถ้ามีวัดมาอยู่แถวนี้ ผมว่าไม่เหมาะครับ เพราะสิ่งแวดล้อม ผู้คนมันไม่ใช่ น่าจะแยกเป็นสัดส่วน" เจษพูด

"เด็กอาจมาเดินเที่ยวน้อยลงนะ และคงทำให้วัดดูเสื่อม แต่หนูก็ไม่ได้สนใจอะไร" จินพูด

คำตอบของวัยรุ่นคู่นี้อาจไม่ใช่สิ่งที่จะวัดผิด-ถูกได้ชัดเจน แต่ก็สะท้อนความจริงบางอย่างออกมาว่า เมื่อวัดไม่สามารถคงคุณค่าความหมายเดิมได้ ในสภาพแวดล้อมที่แปลกแยกรุนแรงเช่นนี้ วัดปทุมวนารามในความทรงจำของเด็กสยามจึงเป็นเพียงที่จอดรถหรือทางผ่านเท่านั้น บางทีสถานที่ตั้งอาจไม่สำคัญเท่าคุณค่าความหมายของตัวสถานที่

บิ๊กซีราชดำริจนถึงมาบุญครองสามารถดำรงคุณค่าความหมายที่ใหม่กว่า ชัดเจนกว่า และมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า จึงไม่แปลกที่จะยึดครองพื้นที่ทางความคิด ความทรงจำไปจนหมด ในขณะที่วัดเองก็ไม่อาจสร้างคุณค่าความหมายใหม่ที่จะสัมพันธ์กับบริบทรอบข้างได้ นอกจากสร้างประโยชน์จากพื้นที่ภายในวัด

แต่เมื่อคำถามนี้ไปถึง พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ พิชญ์กลับมองว่าศูนย์การค้ากับวัดที่ตั้งอยู่คู่กันเป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดาสามัญ แต่ใครเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้ต่างหากที่น่าสนใจ

"เรื่องวัดมันอยู่ติดศูนย์การค้าเป็นเรื่องปกติ เพราะอดีตวัดก็อยู่ติดกับตลาดอยู่แล้ว ศูนย์การค้าไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ถ้ามองเฉพาะผิวหน้า คือการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แต่เจ้าของที่ดินไม่ได้เปลี่ยนมือ อย่าโทษว่าเพราะสังคมเปลี่ยนแปลง ต้นตอของคนที่เป็นเจ้าของที่ดินตรงนั้นต่างหากที่น่าสนใจ คุณเป็นสถาบันการศึกษาอยากทำมาหากิน มหาวิทยาลัยมีพันธกิจเยอะแยะ ตั้งศูนย์วัฒนธรรมพูดถึงการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แต่คุณก็พัฒนาที่ดินเองใช่มั้ย วังเองก็เป็นตัวแทนความเป็นไทย คุณพัฒนาที่ดินเองใช่มั้ย จึงต้องดูว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน อีกอย่างวัดนี้ปรับตัวไม่ได้ มันจึงไม่มีหน้าที่ของมัน เนื่องจากวัดปทุมเป็นวัดที่ติดกับวังจึงไม่มีเมรุเผาศพ วัดจึงไม่มีหน้าที่ที่ต้องไปข้องเกี่ยวกับคน วัดในสมัยใหม่ก็มีหน้าที่ ทำไมวัดนี้จึงปรับตัวไม่ได้ เพราะมันอยู่ติดกับวังหรือเปล่า" เป็นความคิดเห็นที่อาจโดนใจ หรือถึงอาจกระแทกคางใครหลาย ๆ คน

สุดท้ายแล้วคำถามนี้จึงไม่มีคำตอบ ถูกหรือผิด เมื่อทุกสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราจะมาทบทวนความเป็นจริง และหาทางออก

งดงามในความต่าง ...คือสิ่งที่ต้องทำ

ทุกวันนี้แม้วัดปทุมวนาราม โรงเรียน และชุมชนจะกลายเป็นหย่อมเล็ก ๆ เป็นพื้นที่สีเขียวกระจิริดท่ามกลางเงาปูน ไม่มีความหมายกับคนภายนอกมากนัก แต่กับพระ อาจารย์ นักเรียน และชาวบ้านที่นั่นยังคงมีความหมายชัดเจน แม้การทำกิจของสงฆ์และการดำเนินชีวิตจะกระท่อนกระแท่นไปบ้าง

ในจำนวนคนภายนอกมากมายนั้น ยังมีสาวน้อยวัย 17 วรธิดา ฟุ้งลัดดา ที่มองวัดปทุมวนารามไม่ใช่แค่ที่จอดรถ หรือทางผ่าน

"มาเรียนพิเศษที่สยามทุกวันเสาร์ค่ะ พอเรียนเสร็จถ้าวันไหนว่างก็จะเข้ามาสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำให้รู้สึกสงบดี เป็นสังคมที่ต่างกับข้างนอกวัดมาก" มองด้วยสายตาภายนอกแล้ว เธอค่อนข้างแปลกจากเด็กวัยเดียวกันที่อยู่ท่ามกลางอารยธรรมเซ็นเตอร์พอยต์

เมื่อถามถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับสถานที่ที่วัดปทุมวนารามตั้งอยู่ เธอกลับมีคำตอบที่น่าใคร่ครวญ "ของบางอย่างน่าจะอยู่คู่กันบ้าง อะไร ๆ อาจจะสมดุลขึ้นก็ได้" คำตอบของเธอค่อนข้างคมคายเกินวัย

ใช่, บางอย่างควรต้องอยู่คู่กันบ้าง เพื่อสร้างความสมดุลของกันและกัน แต่กระแสโลกาภิวัตน์เชี่ยวกรากนัก วัดเล็ก ๆ ที่ขวางลำ อาจถูกกระแสพัดให้อับปางลง แล้วเราจะหาความสมดุลได้อย่างไร

"ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอนุรักษ์ทุกอย่างไว้ ก็ไม่ได้บอกว่าเราควรจะรื้อวัดสระปทุมไปสร้างศูนย์การค้า เพราะในการที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จำต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนเพื่อให้มันขยายตัวไปอย่างถูกทิศถูกทาง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความจำเป็นต่อการอนุรักษ์ หรือมหาวิทยาลัย แต่ถ้าในการวิเคราะห์แล้วไม่มีทางเลือกอื่น การขยายตัวทางพาณิชยกรรมจะต้องขยายตัวไปทางทิศทางนั้นก็คงต้องมีการหาทางพยายามอนุรักษ์ไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นวัดอาจต้องพัฒนาปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ เช่นอาจทำเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนสาธารณะ เพื่อทำประโยชน์ให้เข้ากับพื้นที่ สรุปคือควรปรับตัวเข้าหากัน" คือคำบอกกล่าวของ ผศ.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตย์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ซึ่งสะท้อนภาพการปรับตัวเข้าหากันของสถานที่สองยุค

วัดปทุมวนารามคงเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ชัดเจนของการปะทะกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ไม่มีใครอยากทิ้งขว้างอดีตว่าล้าสมัย แล้วปล่อยให้เป็นสิ่งปรักหักพังทางสังคม และปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตำหนิติเตียนไปเสียหมด ดังคำพูดของปรมาจารย์ดนตรีไทย ครูศร ศิลปะบรรเลง จากภาพยนตร์เรื่อง 'โหมโรง' ที่ว่า

"ต้นไม้ใหญ่ที่จะต้านทานลมพายุได้นานเพียงไหนนั้น ขึ้นอยู่กับรากที่หยั่งลึกและแน่นเหนียว" ในภาพยนตร์ครูศรได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ระนาดเอกกับเปียโนบรรเลงคู่กันได้สอดคล้อง กลมกล่อม ขนาดไหน

เพลงธรรมกับเพลงทุนคงบรรเลงได้ไม่สนิทเนียนเท่า ก็ใช่ว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ที่เหลือคงอยู่ที่การเข้าใจอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน เพื่อร่วมกันซ่อมแซมอนาคต

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล





กำลังโหลดความคิดเห็น