ไม่น่าเชื่อว่า 'นักโบราณคดี' ที่ใครๆก็มองว่าคร่ำครึ กลับใช้เทคโนโลยีไฮเทคสารพัดวิธีในการขุดค้นซากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่ายทางอากาศที่หาพิกัดจากดาวเทียม ตรวจจับวัตถุด้วยเรดาร์และคลื่นแม่เหล็ก-ไฟฟ้า ใช้กล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอนหาองค์ประกอบทางเคมี ทั้งนี้ด้วยจุดประสงค์เพื่อขุดค้นพลิกปมประวัติศาสตร์ และคงไม่ผิดนักหากจะขนานนามพวกเขาว่า 'เชอร์ล็อกโฮล์มส์แห่งประวัติศาสตร์'
*นักโบราณคดียุคบุกเบิก
ว่ากันว่าการทำงานขุดค้นโบราณสถานและโบราณวัตถุของนักโบราณคดีในสมัยก่อนนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเครื่องมือแค่เข็มทิศ เกรียง และตลับเมตร โดยการหาพิกัดตำแหน่งของโบราณสถานและโบราณวัตถุนั้นนอกจากข้อมูลจากตำราและคำบอกเล่าของชาวบ้านแล้ว นักโบราณคดีก็มีเพียงเข็มทิศเพื่อใช้บอกทิศทางเท่านั้น
เมื่อหาตำแหน่งได้แล้วก็จะใช้ตลับเมตรวัดพื้นที่เพื่อขึงเชือกกั้นบริเวณที่จะขุดค้น และตีตารางแบ่งพื้นที่ในการขุดสำรวจออกเป็นส่วนๆ แล้วให้ผู้สำรวจแต่ละคนขุดค้นในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ เมื่อขุดลงไปพบว่าน่าจะมีวัตถุโบราณอยู่ข้างใต้ ก็จะใช้เกรียงค่อยๆปาดดินออกเป็นชั้นๆจนกว่าวัตถุหรือโครงกระดูกนั้นจะโผล่พ้นดินขึ้นมา จากนั้นจึงใช้ตลับเมตรวัดขนาดกว้าง-ยาวของวัตถุเพื่อทำการจดบันทึกและวาดรูปเก็บไว้ ต่อมาในยุคที่กล้องถ่ายรูปเริ่มแพร่หลายจึงหันมาใช้วิธีถ่ายรูปเก็บไว้แทน
รองศาสตราจารย์สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทำงานด้านโบราณคดีมาถึง 32 ปี เล่าถึงความแตกต่างของการทำงานในสมัยก่อนกับปัจจุบัน ว่า
" เมื่อก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่า บางจุดรถยนต์เข้าไปไม่ถึง เราก็ต้องเดินเท้าเข้าไป เครื่องไม้เครื่องมือก็ยังไม่ค่อยมี ออกสำรวจแต่ละทีก็พกแค่เข็มทิศ เกรียง ตลับเมตร แล้วก็สมุด- ดินสอ เอาไว้บันทึกข้อมูล นักโบราณคดีทุกคนต้องวาดภาพเป็น ต้องเรียนดรออิ้ง เพราะสมัยนั้นกล้องถ่ายรูปราคาแพงมาก ก็ใช้วิธีวาดรูปเอา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ใช้กล้องดิจิตอล กล้องวิดีโอแทน ได้ภาพมาก็โหลดลงคอมพิวเตอร์เก็บไว้ ส่วนข้อมูลก็พิมพ์ใส่โน้ตบุ๊ก แยกเป็นไฟล์ไว้ ต้องการใช้ก็คลิกขึ้นมาดูได้เลย"
*กินข้าวกับเกลือ-ผจญอิทธิพลท้องถิ่น
ด้าน อาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักประวัติศาสตร์ ซึ่งคร่ำหวอดในวงการมาหลายสิบปี เล่าว่า
" สมัยก่อนนอกจากการเดินทางที่ยากลำบากแล้ว ที่พักและอาหารการกินต่างๆก็หายาก เนื่องจากบางครั้งพื้นที่ที่เข้าไปทำการขุดค้นอยู่กลางป่า การเข้าออกลำบากจึงต้องทำเพิงพักใกล้ๆกับหลุมที่ขุด ถ้าฝนตกยิ่งลำบากใหญ่ ยุงก็เยอะ ข้าวปลาอาหารไม่ต้องพูดถึง ถ้าเสบียงหมดก็ต้องหาผักหญ้ากินไปตามเรื่อง ส่วนใหญ่จะมีแต่ข้าว ไม่มีกับข้าว ถึงขนาดต้องกินข้าวกับเกลือ ขุดตะไคร้มาต้มเอาน้ำเพื่อกินกับข้าว
อิทธิพลท้องถิ่นก็เยอะ เมื่อก่อนที่รกร้างว่างเปล่าเยอะ นายทุนก็พาชาวบ้านไปบุกรุกป่า พอเราเข้าไปขุดสำรวจในพื้นที่เหล่านี้เขาก็กลัวว่าเรื่องจะรู้ถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็ไปเกณฑ์ชาวบ้านมาเลย ล้อมพวกเราไว้หมด ทำท่าจะเล่นงาน โอย....น่ากลัวมาก เราก็อธิบายว่าเรามาสำรวจวัตถุโบราณอย่างเดียว ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ หรือบางทีก็มีข้อพิพาทกับชาวบ้าน เพราะบางคนเขามองว่าของที่พวกนี้ขุดได้ในพื้นที่ของเขา เขาก็อยากได้ไว้ในครอบครอง ก็ต้องมาคุยเรื่องข้อกฎหมายกันอีก"
*ใช้ดาวเทียมหาพิกัดพื้นที่
ในปัจจุบันแม้วิธีการขุดค้นจะยังคงใช้เกรียงค่อยๆปาดแซะดินออกเพื่อไม่ให้ของมีคมไปกระทบเนื้อโบราณวัตถุจนเสียหาย ใช้ตลับเมตรวัดขนาดเพื่อแบ่งพื้นที่ขุดสำรวจและใช้วัดขนาดของโบราณวัตถุหรือโครงกระดูก แต่นักโบราณคดีในปัจจุบันก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และแตกต่างจากนักโบราณคดีในยุคก่อนอย่างเห็นได้ชัด เช่น คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีประโยชน์ในการจำเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ เพียงแต่กรอกข้อมูลต่างๆลงไป โปรแกรมสำเร็จรูปก็สามารถประมวลผลออกมาได้ทันที
มีภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียม ซึ่งใช้ในการหาพิกัดพื้นที่ที่จะทำการสำรวจ โดยปัจจุบันนักโบราณคดีสามารถดูภาพถ่ายทางอากาศเพื่อศึกษาภูมิประเทศแบบกว้างๆ โดยเข้าเว็บไซต์ www.google.co.th และดาวน์โปรมแกรม google earth ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายทางอากาศทุกพื้นที่ทั่วโลกไว้ทั้งหมด นอกจากนั้น ยังมีภาพถ่ายทางอากาศซึ่งจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งละเอียดกว่า โดยมีอัตราส่วน 1 ต่อ 50,000 แต่ราคาค่อนข้างสูง
มีเครื่องจีพีเอส หรือเครื่องหาค่าพิกัดบนผิวโลก ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล็กๆที่รับสัญญาณจากดาวเทียม ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ดวงขึ้นไป จากนั้นก็จะคำนวณตำแหน่งว่าจุดที่เราถือเครื่องจีพีเอสอยู่นั้นอยู่ในตำแหน่งพิกัดใดบนพื้นโลก จะใช้ในกรณีที่เราพบแหล่งโบราณสถานแล้วต้องการหาตำแหน่งที่แน่นอนของพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลต่อไป เพราะเมื่อมีการบันทึกข้อมูลต่างๆลงบนแผนที่จะทำให้เราทราบถึงลักษณะการกระจายตัวของโบราณสถาน และโบราณวัตถุในบริเวณนั้นๆ ทำให้เห็นภาพรวม
รองศาสตราจารย์สุรพล ขยายความเรื่องการการหาพิกัดพื้นที่ในการสำรวจแหล่งโบราณคดี ว่า
"ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก ส่วนใหญ่เราจะนำโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูล เราก็ใช้โปรแกรมไมโครซอฟออฟฟิศ หรือหากต้องการหาพิกัดพื้นที่ที่จะไปทำการสำรวจเราก็หาพิกัดกว้างๆโดยดูจาก google earth ซึ่งก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะ google จะทำภาพถ่ายอย่างละเอียดในบางพื้นที่เท่านั้น
ภาพถ่ายทางอากาศจะมีประโยชน์ในแง่การศึกษาสภาพภูมิประเทศก่อนที่จะไปเข้าสำรวจจริง เช่น ดูจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าจุดนี้คือบ้านหนองใหญ่ ใน จ.ลพบุรี เราก็รู้ว่าเวลาเดินทางจะต้องใช้เส้นทางสายไหน ทำให้เราเลือกพื้นที่สำรวจได้เร็วขึ้น และประหยัดเวลาในการเดินทาง
แหล่งโบราณคดีจะมีความสัมพันธ์กับภูมิประเทศอย่างมาก เช่น บ้านเรือนมักจะตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งปกติจะห่างกันไม่เกิน 2 กิโลเมตร และพบว่า 90% ของแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุจะอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำล้อมรอบ ขณะที่แหล่งเหมืองแร่ในประวัติศาสตร์ก็มักจะกระจายอยู่รอบพื้นที่ที่เป็นภูเขา อาทิ ที่เขาภูพาน เขาทับควาย จ.ลพบุรี ที่พบร่องรอยของเหมืองแร่ทองแดงในยุคประวัติศาสตร์"
*ปล่อยคลื่นแม่เหล็ก-ไฟฟ้าหาวัตถุใต้พื้นดิน
สำหรับเครื่องมือที่ใช้สำรวจหาโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่อยู่ใต้พื้นดินเรียกว่า Magnetometer ซึ่งใช้วิธีปล่อยคลื่นแม่เหล็กหรือคลื่นไฟฟ้าลงไปในพื้นดิน หากบริเวณใต้ดินมีโลหะหรือวัตถุอยู่ก็จะส่งสัญญาณมายังตัวเครื่อง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีใช้ในประเทศไทยมานานแล้วแต่ไม่เป็นที่นิยมนักเพราะมีราคาสูงมาก(ราคาหลายล้านบาท) อีกทั้งผู้ที่ใช้เครื่องมือต้องมีความรู้ด้านฟิสิกส์และการคำนวณ ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักโบราณคดี ขณะที่การสำรวจหาโบราณวัตถุที่จมอยู่ใต้น้ำ หรือที่เรียกว่า 'งานโบราณคดีใต้น้ำ'นั้นจะสำรวจด้วยการใช้โซนาร์หาพิกัดตำแหน่งของวัตถุ
รองศาสตราจารย์สุรพล ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า " หลักการทำงานของเครื่อง Magnetometer ก็คือการส่งคลื่นไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไปยังวัตถุที่อยู่ใต้พื้นดิน เช่น หากบริเวณใต้ดินมีเครื่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นดินเผาจะมีความเป็นแม่เหล็กสูงกว่าดินทั่วไปเนื่องจากตอนที่เผาดินจะถูกความร้อนเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไป ก็จะส่งสัญญาณมายังเครื่องว่าในชั้นใต้ดินมีอะไรบางอย่างที่มีคลื่นแม่เหล็กแตกต่างจากบริเวณอื่นๆ
เครื่องรับสัญญาณดังกล่าวจะสะท้อนกลับมาในลักษณะเส้นกราฟ ซึ่งบางครั้งกราฟที่สะท้อนกลับมานั้นเห็นได้ชัดเลยว่าใต้พื้นดินมีอะไรบางอย่างที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง ยาวเท่าไร ซึ่งคนที่ชำนาญจะรู้เลยว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่
ส่วนใหญ่ผู้ที่จะทำงานด้านนี้ต้องเป็นนักฟิสิกส์ แต่นักโบราณคดีของไทยไม่ได้เรียนด้านฟิสิกส์มา ก็อาจใช้วิธีจ้างนักฟิสิกส์มาช่วยสำรวจ แต่ที่นิยมที่สุดคือการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างที่ผมเคยทำก็คือขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศที่เข้ามาร่วมสำรวจแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย เขาก็ไปขอยืมเครื่องมือจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIP)"
*ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีด้วยอิเล็กตรอน
นอกจากนั้นการศึกษาองค์ประกอบของวัตถุก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นักโบราณคดีนิยมใช้ในการศึกษาวัตถุโบราณ เช่น ใช้เครื่องโปรตรอนเอ็กติเวชัน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของวัตถุ ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น นำวัตถุไปทำละลายแล้วนำไปหาองค์ประกอบทางเคมีด้วยการเผา (เรียกว่า อะตอมมิกแอบซอฟชัน)
ใช้กล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอนยิงลำแสงไปที่วัตถุเพื่อให้อิเล็กตรอนของวัตถุที่เราต้องการศึกษาแตกตัวออกมา จากนั้นจึงนำอุปกรณ์มาวัดค่าความเปลี่ยนแปลงแล้วแปลความหมายออกมาว่าอิเล็กตรอนที่แตกตัวออกมาเป็นธาตุอะไรบ้าง ก็จะทำให้เรารู้ว่าวัตถุชิ้นนั้นมีธาตุอะไรประกอบอยู่บ้าง
ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในการศึกษาร่องรอยของพืชที่ผสมอยู่ในเนื้อเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งจากหลักฐานพบว่าในสมัยโบราณมีการนำเปลือกข้าวมาผสมในการทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้ภาชนะชิ้นนั้นทนไฟ ซึ่งหากรอยหักของเมล็ดข้าวมีลักษณะเรียบแสดงว่าเป็นข้าวป่า แต่ถ้ามีลักษณะขรุขระแสดงว่าเป็นข้าวที่คนเพาะปลูก
" จริงๆแล้วเทคโนโลยีทุกอย่างนำมาปรับใช้กับงานโบราณคดีได้หมดนะ แม้แต่เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลก็สามารถนำมาใช้เอกซเรย์ด้านในของเครื่องปั้นดินเผา โดยใช้หลักการเดียวกับการเอกซเรย์ระบบภายในร่างกายของมนุษย์ เช่น ภาพจากแผ่นฟิล์มเอกซเรย์พบว่าด้านในของหม้อโบราณใบนี้มีลักษณะเป็นเส้นขดวงเป็นชั้น เราก็สันนิษฐานได้ว่าหม้อใบนี้ปั้นด้วยการปั้นดินเป็นเส้นแล้วนำมาขดขึ้นรูป การใช้เครื่องพวกนี้เราก็ไปขอความอนุเคราะห์จากแพทย์ตามโรงพยาบาล อย่างล่าสุดก็มีนายแพทย์ของโรงพยาบาลจังหวัดน่านท่านสนใจเรื่องโบราณคดี ท่านก็ช่วยนำภาชนะโบราณไปเอกซเรย์ให้ ก็พบว่าภายในภาชนะดังกล่าวบรรจุชิ้นส่วนกระดูกของผู้ตายไว้ " รองศาสตราจารย์สุรพล กล่าว
*จรรยาบรรณของนักโบราณคดี
คนทั่วไปคงรู้สึกว่าเรามีการขุดค้นแหล่งโบราณสถาน-โบราณวัตถุกันมาช้านานแล้ว ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีที่เหลือให้ขุดค้นอีกหรือ แต่บรรดานักโบราณคดีต่างยืนยันตรงกันว่า "ในประเทศไทยขุดเท่าไรก็ไม่หมด" ที่เป็นเช่นนี้เพราะตามหลักของการขุดค้นโบราณวัตถุนั้น การขุดแต่ละครั้งนักโบราณคดีไม่ได้ขุดข้าวของต่างๆขึ้นมาทั้งหมด เพียงแต่นำบางส่วนขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากการขุดค้นแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูง อาทิ การขุดค้นในพื้นที่ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 2 เมตร ต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน
นอกจากนั้น นักโบราณคดียังมีจรรยาบรรณข้อหนึ่งว่า 'จะต้องเหลือบางส่วนไว้ให้คนรุ่นหลังขุดค้นต่อไป' ดังนั้น นักโบราณคดีจะขุดค้นพียงบางส่วน และเหลือร่องรอยต่างๆไว้ให้นักโบราณคดีรุ่นหลังได้ขุดค้นและศึกษาต่อไป
" เรามีกฎว่าจะไม่ขุดค้นทุกอย่างจนหมด ต้องเหลือไว้ให้รุ่นหลังศึกษาบ้าง และในการขุดค้นแต่ละครั้ง แม้จะขุดในบริเวณเดียวกันแต่ผู้ขุดก็อาจพบหลักฐานใหม่ได้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งทำให้เราสามารถพิสูจน์ร่องรอยความเป็นมาของสิ่งต่างๆได้ละเอียดขึ้น ตอบคำถามได้ชัดจนขึ้น จริงๆแล้วพื้นที่ที่รอการขุดค้นก็ยังมีอีกมากมาย แม้แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรก็มีแหล่งให้นักโบราณฯ ขุดค้นอยู่หลายจุด เช่น บริเวณคูเมืองรอบเกาะรัตนโกสินทร์" รองศาสตราจารย์สุรพล บอกด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม
*ปัญหาขาดงบ-จบออกมาไม่มีงาน
ปัญหาใหญ่ของการทำงานด้านโบราณคดีมีอยู่ 2-3 ประการคือ ประการแรก นักโบราณคดีไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ขณะที่การใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการสำรวจนั้นผู้ใช้ต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่นิยมมาทำงานด้านโบราณคดี เพราะมีรายได้น้อย อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีนักวิชาการสาขาอื่นๆที่ประสบความสำเร็จในอาชีพและเป็นผู้อาวุโสเข้ามาช่วยงานด้านการสำรวจแหล่งโบราณคดีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ ด้วยความชอบส่วนตัวและถือว่าการทำงานด้านนี้เป็นงานอดิเรกที่มีความสุข
ประการที่ 2 คือ ขาดแคลนงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักมองว่างานสำรวจขุดค้นทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่งานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่เหมือนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคของประเทศ ดังนั้น งบประมาณที่จัดสรรให้แก่หน่วยงานด้านโบราณคดีจึงค่อนข้างน้อย และล่าสุดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการขุดค้นโบราณสถานและโบราณวัตถุถูกปรับลดงบประมาณลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของงบประมาณปีก่อน ส่งผลให้การทำงานสืบค้นและอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น
และประการที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหามาช้านานคือ ไม่มีตำแหน่งงานรองรับ แม้ว่าในแต่ละปีมหาวิทยาลัยศิลปากรจะผลิตบุคลากรด้านโบราณคดีออกมาปีละไม่กี่สิบคน แต่ผู้ที่ร่ำเรียนมาด้านนี้ก็ยังคงวิตกต่ออนาคตการทำงาน เพราะตำแหน่งงานด้านโบราณคดีที่กรมศิลปากรเปิดรับในแต่ละปีนั้นมีน้อยมาก นักศึกษาที่จบออกมาส่วนหนึ่งจึงต้องนำความรู้ที่ได้ไปทำงานด้านอื่น เช่น มัคคุเทศก์
'เตย' บุรยา ศราภัยวานิช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า
"มาเรียนโบราณคดีเพราะตอนเด็กๆคุณแม่พาไปเที่ยวตามวัดและแหล่งโบราณสถานบ่อยๆ เลยชอบ อยากเป็นนักโบราณคดี ก็เลยมาสมัครเรียนคณะนี้ แต่ตอนนี้ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจบมาต้องเป็นนักโบราณคดี กำลังดูว่ามีงานไหนบ้างที่สามารถนำความรู้ด้านนี้ไปปรับใช้บ้าง เพราะจากที่คุยกับรุ่นพี่ๆเขาบอกว่างานด้านโบราณคดีมีน้อย"
อย่างไรก็ดี บรรดานักโบราณคดีต่างยืนยันว่า แม้วิธีการทำงานของนักโบราณฯ ในแต่ละรุ่น แต่ละยุคจะแตกต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายก็ยังคงเหมือนเดิม คือศึกษาโบราณคดีเพื่อให้เข้าใจภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในอดีต และเข้าใจปรากฏการณ์ทั้งทางธรรมชาติ ทางสังคม และวัฒนธรรมในอดีต ซึ่งเป็นฐานความรู้ที่เราสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตในปัจจุบันและอนาคต
****************************
โบราณคดีใต้น้ำกับเทคโนโลยีไฮเทค
หากพูดถึงงานโบราณคดีใต้น้ำ ชื่อแรกที่เรานึกคงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก อาจารย์เอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ซึ่งอาจารย์เล่าถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการขุดค้นโบราณวัตถุที่จมยู่ใต้น้ำ ว่า
" ปัจจุบันเราใช้เครื่อง side scan sonar ในการสำรวจแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งเครื่องนี้เรายืมมาจากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องนี้จะส่งคลื่นโซนาร์ซึ่งเป็นคลื่นเสียงลงไปใต้น้ำ ในระดับคลื่นความถี่ต่างๆกัน และยิงลงไปหลายๆครั้ง ซึ่งสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะสามารถแปลความหมายได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่คลื่นตกกระทบนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ขนาดกว้าง-ยาวเท่าไร
เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้วทีมสำรวจก็จะส่งนักประดาน้ำลงไปสำรวจพื้นที่ หากพบว่ามีซากโบราณวัตถุอยู่ก็จะวัดขนาดของพื้นที่ที่พบโบราณวัตถุดังกล่าว และเก็บตัวอย่างขึ้นมา เพื่อศึกษาต่อไปว่าโบราณวัตถุดังกล่าวน่าจะอยู่ในสมัยใด และหากจะทำการสำรวจและเก็บกู้วัตถุโบราณดังกล่าวทั้งหมดจะต้องใช้เวลานานเท่าไร ใช้คนกี่คน และใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใด
นอกจากเครื่องมือดังกล่าวแล้วยังมีเครื่องดูดทรายซึ่งทีมโบราณคดีใต้น้ำเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเอง เนื่องจากเครื่องดูดทรายที่มีคุณสมบัติตรงกับการใช้งานโบราณคดีใต้น้ำนั้นยังไม่มีจำหน่ายในปัจจุบัน เครื่องที่ผลิตขึ้นนี้สามารถที่จะดูดทรายในบริเวณใกล้เคียงกับวัตถุโบราณที่พบ โดยไม่ทำให้วัตถุได้รับความเสียหาย
สำหรับเครื่องมือไฮเทคที่สุดที่เราใช้อยู่ในขณะนี้คือเครื่องผสมอากาศเพื่อบรรจุในถังออกซิเจนของนักประดาน้ำ เนื่องจากถังออกซิเจนที่ใช้อยู่ทั่วไปนั้นบรรจุก๊าซสำหรับใช้ดำน้ำในระดับความลึกไม่เกิน 50 เมตรเท่านั้น แต่การเก็บกู้ซากโบราณวัตถุเราต้องลงไปถึงก้นทะเล ซึ่งมีระดับความลึกถึง 100 เมตร เครื่องผสมอากาศนี้สามารถปรับสภาพอากาศให้เหมาะกับระดับความลึกต่างๆได้ อากาศที่ผสมสำหรับความลึกในระดับต่างนั้นจะถูกเก็บอยู่ในถังแต่ละใบ และปล่อยออกมาใช้ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ ทำให้นักประดาน้ำสามารถอยู่ในน้ำทะเลที่มีความลึกมากๆ ได้"
* * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์