"แฟนพ่อมดน้อยแห่จองแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มใหม่ล่วงหน้า ถึงขั้นนอนเฝ้าหน้าร้าน"
"การท่องเที่ยวนิวซีแลนด์บูมสุดขีด หลังสาวก ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ทั่วโลกตามทัวร์สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์"
ท่ามกลางกระแสการคลั่งไคล้วรรณกรรมแฟนตาซีทั่วโลก ในจำนวนไม่น้อยนี้มีนักอ่านชาวไทยรวมอยู่ด้วย แต่ในวันนี้แฟนตาซีไทยกำลังก้าวผงาดขึ้นอย่างช้าๆ ทว่าสมศักดิ์ศรี…แม้จะไม่ใช่บนเวทีหนังสือระดับโลก แต่ก็ครองอันดับความนิยมในใจนักอ่านไทยอย่างรวดเร็ว
สายธารวรรณกรรมแฟนตาซีไทย
ก่อนที่จะกล่าวถึงวรรณกรรมแฟนตาซีนั้น เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า "แฟนตาซี" หมายถึงอะไร
หลายคนเข้าใจว่า "แฟนตาซี" มีความหมายตรงกันกับคำว่า "จินตนิยาย" ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะอันที่จริงแล้ว วรรณกรรมแฟนตาซีก็เป็นส่วนหนึ่งของจินตนิยายนั่นเอง
จินตนิยาย (Speculative Fiction - SF) ประกอบด้วยนิยายสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ นิยายวิทยาศาสตร์ และ นิยายแฟนตาซี
นิยายแฟนตาซี (Fantasy Fiction) เป็นจินตนิยายประเภทหนึ่ง โดยรูปแบบเนื้อเรื่องมักจะเป็นในเชิงของดาบและเวทย์มนตร์ ความเจริญต่าง ๆ อยู่ในขั้นของยุคกลางหรือยุคโบราณ มีเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือเทพเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง มีผู้วิเศษ (Sorcerror) ที่มีอำนาจด้วยตัวของตัวเอง และบันดาลเวท หรือสิ่งเหนือธรรมชาติได้ด้วยพลังที่มีอยู่แล้วในตัว หรือโดยการตั้งสมาธิจิต (will), พ่อมด (Wizard) ซึ่งอำนาจเวทเกิดจากคาถาที่จะต้องท่องคำวิเศษหรือใช้อักขระศักดิ์สิทธิ์ (runes), มีปีศาจและสัตว์ประหลาดต่างๆ, มีฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม, มีมังกร เขาวงกต และส่วนประกอบอื่น ๆ รวมถึงตอนนี้มักจะต้องมีแผนที่ประกอบ (เป็นธรรมเนียมไปแล้ว) อีกด้วย
แฟนตาซีหลายๆเรื่องแม้จะมีเครื่องจักรกล หรือวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบอยู่ด้วย แต่ด้วยโครงสร้างของฉากและเนื้อเรื่องย่อมดูออกทันทีว่าเป็นแฟนตาซี
เสน่ห์ของนิยายแฟนตาซี คือความหลากหลายของโครงเรื่อง และตัวละคร อย่างไรก็ตาม Orson Scott Card เคยให้ข้อสังเกตเอาไว้ใน "How to write Science Fiction and Fantasy" ของเขาว่า นิยายแฟนตาซีที่สนุกและน่าติดตามนั้น เมื่อคุณสร้างโลกขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ว่าตัวละครทุกตัว (หรือบางตัว) จะมีอำนาจเวทมนตร์ มีความสามารถไม่จำกัด นั่นคือควรจะต้องมีข้อจำกัดตามกฎที่คุณสร้างขึ้นในโลกของคุณ เช่น หากต้องการอำนาจใด อาจจะต้องเสียบางอย่างไปเพื่อแลกกับมันมา กล่าวคือไม่มีการกระทำใดๆที่ปราศจากผลกระทบ เป็นต้น
ส่วน "นิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี" (Fantasy Science Fiction) เป็น "ตัวเชื่อม" ระหว่างพื้นที่ที่นิยายวิทยาศาสตร์มาบรรจบกับนิยายแฟนตาซี นิยายกลุ่มนี้ไม่เน้นเรื่องความถูกต้อง ข้อเท็จจริง หรือความเป็นไปได้ของหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาประกอบตัวเนื้อเรื่อง แต่จะเน้นเรื่องความกลมกลืนของตัวเรื่อง บุคลิก และความสัมพันธ์ของตัวละคร ความสนุกสนานและน่าติดตาม "สตาร์วอร์ส" จัดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของนวนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี ซึ่งมักจะอาศัยฉากอวกาศและเทคโนโลยีเข้ามาจับตัวเรื่อง แต่โครงของเรื่องนั้นมีพ่อมด เจ้าชาย เจ้าหญิง ฮีโร่ และตัวร้าย (ดาร์ค ลอร์ด) เช่นเดียวกับนิยายแฟนตาซีอื่น ๆ (ที่มา ; thai encyclopedia.st)
มาดูทางด้านแฟนตาซีไทยกันบ้าง เชื่อหรือไม่ว่าหนังสือที่มีเนื้อหาจัดได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์แฟนตาซีของไทยเล่มแรกเท่าที่มีการสืบค้นได้ คือ พระราชนิพนธ์เก่าแก่สมัยกรุงสุโขทัยอย่าง "ไตรภูมิพระร่วง" ที่กล่าวถึงภพภูมิต่างๆ และการถือกำเนิดโลก ส่วนผลงานที่ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของสุนทรภู่อย่าง "พระอภัยมณี" ซึ่งถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลกนั้น ในวงการศึกษาวรรณคดีได้ตัดสินว่าเรื่องนี้เป็น "จินตนิยาย" ที่ทำให้สุนทรภู่ได้ชื่อว่า "จินตกวี" ด้วยข้อสำคัญคือ สุนทรภู่ท่านได้ผูกเรื่องขึ้นเอง มิได้นำมาจากชาดก หรือนิทานพื้นบ้านอย่างที่วรรณคดีไทยส่วนใหญ่นิยมเขียนกัน แต่กลับมีเค้าโครงเรื่องที่แปลกและล้ำยุคยิ่ง ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องล้วนชวนตื่นเต้น เร้าใจให้ติดตามอ่านอยู่ตลอดเวลา จึงเป็น "จินตนิยาย" ที่แสดงให้เห็นถึงจินตนาการที่กว้างไกลอันล้ำยุค เกินสมัยยิ่งของ "สุนทรภู่"
จึงอาจกล่าวได้ว่า วรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์แฟนตาซีนั้น ไม่ใช่ของใหม่ในบรรณพิภพไทยเลย นักเขียนดังในยุคต่อๆ มาหลายท่าน อาทิ พนมเทียน, แก้วเก้า ฯลฯ ได้สร้างสรรค์ผลงานแนวจินตนิยายชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง
"ศิวาราตรี" เรื่องราวการต่อสู้ของพวกอารยันกับพวกดราวิเดียน ณ ดินแดนรูปดอกบัวแห่งชมพูทวีปในยุคก่อนพุทธกาล เป็นจินตนิยายที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตการประพันธ์ของพนมเทียน ขณะที่ "แดนดาว" ของแก้วเก้าที่กล่าวถึงเรื่อง "เอกภพคู่ขนาน" หรือ "นางทิพย์" ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้าน "ปรจิตวิทยา" นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเมื่อยุคหลายสิบปีก่อน นอกจากนี้ ในผลงานเรื่องอื่นๆ "แก้วเก้า" ยังสามารถนำเสนอประวัติศาสตร์เป็น "จินตนิยาย" ได้อย่างแยบยลอีกด้วย
โรแมนติกแฟนตาซีของ "จุฑารัตน์"
เอ่ยถึงนามปากกา "จุฑารัตน์" แฟนนิยายโรแมนติกแฟนตาซีชาวไทย ต้องไม่พลาดอ่านงานของนักเขียนหญิงคนนี้ ผู้ซึ่งรังสรรค์ผลงานแฟนตาซีจากปลายปากกาของเธอมาแล้วมากมาย ทั้ง มิติมหัศจรรย์, สุดขอบจักรวาล, ลำนำต่างภพ, พิภพมนตรา, กาลเวลา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สุดขอบจักรวาล" นั้น คือนวนิยายไทยที่ได้รับการยอมรับจากนักอ่านอย่างต่อเนื่องยาวนาน เรื่องราวความรักหวานโรแมนติก เคล้าจินตนาการสไตล์นวนิยายแฟนตาซีไซไฟเรื่องเยี่ยม กระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 88 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ของ สกว.
จุฑารัตน์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากต้องเขียนเรื่องโรแมนติกเรื่องหนึ่ง เรื่องราวของเธอจะเกิดขึ้นในโลกแห่งความฝัน สาเหตุที่จุฑารัตน์ชอบเขียนแนวแฟนตาซี เพราะโลกปัจจุบันมีวิกฤตเกิดขึ้นเยอะ จึงอยากจะพาคนอ่านไปยังโลกที่ไม่มีปัญหา คือทิ้งปัญหาไว้แล้วไปในโลกแห่งความฝัน จากนั้นค่อยกลับมาสู้กับปัญหาในโลกแห่งความจริงอีกครั้ง
"โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบอ่านพวกเทพนิยาย ปกรณัม และวรรณคดีไทย" จุฑารัตน์บอกเล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผลงานเรื่องแรกของเธออย่าง "มิติมหัศจรรย์" จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวดาซึ่งออกไปทางวรรณคดีไทย แต่ความสนใจของนักเขียนหญิงผู้นี้ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เธอยังสนใจกว้างไกลไปถึงเรื่อง "โลกอื่น" อย่างมนุษย์ต่างดาวอีกด้วย
นวนิยายทุกเรื่องของจุฑารัตน์จะมาจากการตั้งคำถามหนึ่งข้อ อาทิ "ถ้าคนเรามีเชื้อสายมาจากมนุษย์ต่างดาวจะเป็นเช่นไร" จากการตั้งคำถาม นำพาเธอมาสู่คำตอบในรูปแบบของนวนิยายแฟนตาซี "สุดขอบจักรวาล" จากแนวคิดเรื่องโลกคู่ขนานและกำแพงแห่งพลัง นำพามาสู่เรื่อง "พิภพมนตรา" ดินแดนที่ผู้คนเจริญด้วยเวทมนตร์สูงสุด อะไรจะเกิดขึ้นในโลกที่ทุกคนสามารถเป็น "จอมเวท" ได้ แค่จินตนาการก็น่าสนใจแล้ว ยิ่งเมื่อจินตนาการนั้นถูกนำมาถ่ายทอดเป็นตัวอักษร สิ่งที่ตามมาก็คือความสนุกตื่นเต้นที่ผู้อ่านพากันเรียกร้องขอให้มีภาคต่อ !!
แต่กว่าจะมีวันนี้ ย่างก้าวบนถนนนักเขียนแฟนตาซีของจุฑารัตน์ไม่ใช่เรื่องง่าย "มิติมหัศจรรย์" นวนิยายเรื่องแรกของเธอต้องค้างอยู่ที่บรรณาธิการถึง 4 ปี กว่าจะได้ลงตีพิมพ์ เพราะไม่แน่ใจว่าคนอ่านจะรับเรื่องแนวแฟนตาซีที่ถือเป็นแนวใหม่ในเวลานั้น (พ.ศ.2526) ได้หรือเปล่า
"บก.เขาเห็นว่ามันเป็นแฟนตาซีมากเกินไป ก็เลยทำเป็นการ์ตูน แต่คนวาดการ์ตูนเขาก็ไม่สามารถวาดอย่างที่เราจินตนาการได้ ขณะที่แฟนตาซีเป็นแนวที่ชอบ เพราะเราสามารถสนุกกับงานที่เราเขียนได้เต็มที่ โดยไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้"
เมื่อเป็นแนวที่ชอบ จุฑารัตน์จึงเดินหน้าผลิตงานแนวนี้ต่อไป จนกระทั่งมีแฟนนิยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น กระทั่งทุกวันนี้ บก.ต้องขอให้เธอเริ่มนวนิยายเรื่องใหม่ทันทีหลังจากเรื่องก่อนจบลง
จุฑารัตน์บอกเล่าวิธีการทำงานของเธอว่า ขณะที่เขียนนิยายนั้นเธอจะไม่อ่านหนังสือหรือการ์ตูนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเกรงว่าอาจจะซึมซับสไตล์งานนั้นๆ มาโดยไม่ได้ตั้งใจ จุฑารัตน์ยกกรณีตัวอย่างเรื่อง "ลำนำต่างภพ" ที่มีคนวิจารณ์ว่าไปคล้ายกับการ์ตูนเรื่อง "จอมคนแดนฝัน" ให้ฟัง แต่หลังจากได้อ่านการ์ตูนเรื่องนั้นจบลง เธอจึงโล่งใจว่ารายละเอียดของเรื่องนั้นแตกต่างกัน
และแม้จะเริ่มต้นจากการจินตนาการก่อนจึงค่อยหาข้อมูลมาประกอบการเขียน แต่จุฑารัตน์ก็ให้ความสำคัญต่อความถูกต้องของข้อมูลอย่างมาก (ครั้งหนึ่งเธอเกือบพลาดด้วยการบรรยายฉากตัวเอกขี่ลามาที่ภูเขาหิมาลัย แต่เมื่อตรวจสอบในอินเทอร์เน็ตดูจึงทราบว่าตัวลามานั้นอยู่ในเทือกเขาแอนดิส ขณะที่ตัวจามรีต่างหากที่อยู่เทือกเขาหิมาลัย) นอกจากนี้ จุฑารัตน์ยังได้นำความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่เธอศึกษามาประยุกต์ใช้ในการเขียนนิยายอีกด้วย
"นิยายเรื่องสุดขอบจักรวาล ถ้าไปอ่านดูจริงๆ แล้วก็จะเห็นว่ามีการเมืองเข้ามายุ่งมาก มีการชิงอำนาจ ชิงเล่ห์ชิงเหลี่ยมกันเหมือนสำนวนที่ว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"
ส่วนการที่มีคนจำกัดความแนวการเขียนของเธอว่าเป็น "โรแมนติกแฟนตาซี" นั้น จุฑารัตน์บอกว่า "จริงๆ แล้วโรแมนติกมันเป็นพื้นฐานของนิยายทั่วๆ ไปต่างหาก พอมาบวกกับแฟนตาซีเข้ามันก็เลยกลายเป็นโรแมนติกแฟนตาซี งานเขียนของดิฉันจะมีทั้งวิทยาศาสตร์ หรือว่าแฟนตาซีบริสุทธิ์ เป็นเรื่องเวทมนตร์ และเอาเรื่องปรจิตวิทยา (พลังจิต) เข้าไปจับ แต่ว่าจะไม่ใช่ไซไฟแบบเข้มข้น" นักเขียนสาวกล่าวต่อไปว่า บางเรื่องที่ออกแนวไซไฟ อาทิ "กาลเวลา" เมื่อมีความโรแมนติกเป็นเปลือกน้ำตาลห่อหุ้มอยู่ ก็อาจทำให้ผู้อ่านอยากลองเสพงานแนวนี้ดูบ้าง
"ดิฉันเป็นคนชอบวิทยาศาสตร์ แต่จะเข้าใจคนที่หากใช้คำวิทยาศาสตร์ล้วนๆมาอธิบายเขาจะปวดหัว จึงจะแทรกวิทยาศาสตร์ที่ย่อยแล้วในแต่ละพารากราฟ ให้ง่ายต่อความเข้าใจ เหมือนกับคนอ่านเขาได้สัมผัสกับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง"
จุฑารัตน์คิดว่าปัจจุบันนี้คนอ่านยอมรับงานแนวแฟนตาซีได้มากขึ้นกว่าสมัยก่อน เห็นได้จากสำนักพิมพ์เปิดโอกาสให้นักเขียนใหม่มากขึ้น "งานแนวนี้เป็นสาระบันเทิง เพราะวิทยาศาสตร์ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่มันยังพิสูจน์ไม่ได้เท่านั้นเอง ทุกอย่างมันมีประโยชน์แฝงอยู่ ขึ้นอยู่กับมุมมอง คุณจะอ่านเอาสาระหรือบันเทิงก็ได้ แม้แต่การ์ตูนตลกก็ยังเสียดสีสังคม ถ้าจะอ่านแบบไม่คิดมาก เพื่อคลายเครียด งานแนวแฟนตาซีก็เหมาะกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะทุกคนก็ค่อนข้างจะเครียดอยู่แล้ว"
นวนิยายทุกเรื่องของจุฑารัตน์จะจบแบบเปิด เพื่อให้ผู้อ่านใช้จินตนาการต่อไป "เรื่องที่เราตั้งใจจะเขียนมันจะแฝงอยู่ จะไม่พยายามยัดเยียดให้คนอ่าน เพราะว่าคนอ่านสิบคนอ่านเรื่องเดียวกันก็จะได้อะไรไปสิบอย่าง แล้วเขาก็จะต่อยอดจินตนาการของเขาไป ซึ่งมันจะสวยงามกว่าเรื่องที่เราเขียนอีก" นักเขียนเจ้าของผลงานแฟนตาซีโรแมนติกกล่าวทิ้งท้าย
นักเขียนรุ่นใหม่ครองตลาดแฟนตาซีไทย
จากการจุดกระแสแฟนตาซีไทยของ "ดร.ป๊อป" ทำให้เกิดนักเขียนแนวแฟนตาซีรุ่นเยาว์ตามมาอีกมากมาย บางสำนักพิมพ์ถึงขั้นมีโครงการจัดพิมพ์งานแฟนตาซีของนักเขียนเด็กเหล่านี้โดยเฉพาะ จึงเป็นที่จับตามองว่างานกลุ่มนี้จะเข้าข่ายวรรณกรรมอินเทอร์เน็ตที่มากด้วยปริมาณ แต่เนื้อหาเบาหวิวในขณะนี้หรือไม่
ในปริมาณที่มากล้นนั้น ชื่อของ "ปัน ปัน" พัณณิดา ภูมิวัฒน์ ได้แหวกผู้คนก้าวออกมายืนในแถวต้นๆ ของนักเขียนแฟนตาซีรุ่นใหม่ด้วยผลงานที่โดดเด่น งานเขียนของเธอนั้น…ว่ากันว่าหากใครได้อ่านแล้วจะต้องพลิกกลับมาดูชื่อผู้เขียนอีกครั้ง และต้องยิ่งทึ่งหากรู้ว่างานบางชิ้นนั้นเธอเขียนด้วยวัยไม่ถึง 20 ปี
เหตุที่ชื่อและงานของเธอเป็นที่กล่าวขวัญถึงนั้น เพราะ "องค์ความรู้" ระดับไม่ธรรมดาสำหรับนักเขียนวัยรุ่น ตลอดจนปรัชญาที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องที่ไม่อาจหาได้จากเด็กรุ่นใหม่ที่รู้จักเฉพาะแต่เกมออนไลน์ โดยไม่เคยอ่านงานอย่างตำนานอัศวินโต๊ะกลม นิทานเซลติกและเวลส์ หรืออ่านต้นฉบับ "เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์" ภาษาอังกฤษ ที่แม้แต่เจ้าของภาษายังส่ายหัว แต่เธอผู้นี้อ่านมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม!!
พัณณิดาเล่าว่า เธอชอบอ่านงานประเภทตำนาน นิทาน นิยายแฟนตาซีและวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก บุคคลสำคัญที่ทำให้มีนักเขียนรุ่นใหม่ผู้นี้ในวันนี้ก็คือคุณแม่ของพัณณิดาที่ปลูกฝังการรักการอ่านและจินตนาการแก่เธอมาตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากชื่อจริงของเธอแล้ว "เคียว,ลวิตร์, ภัทรกาลกัป" คืออีกนามปากกาที่พัณณิดาใช้สรรค์สร้างผลงานจากจินตนาการหลากหลายออกมา นับตั้งแต่ "ฯพณฯ ท่านแห่งกาลเวลา" ผลงานเล่มแรกที่เขียนแต่ไม่ใช่เล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์ของเธอ นอกจากนั้นยังมี เดอะสตอรี่ เทลเลอร์, มาโอ, ไมรอน, อันเซลมา, เซรีญา
"อยากเป็นนักเขียนก็เลยเลือกเรียนอักษรศาสตร์" อักษรศาสตร์บัณฑิตจากรั้วจามจุรี ที่กำลังศึกษาปริญญาโท สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ บอกกับเราก่อนกล่าวต่อไปว่า "กระแสวรรณกรรมแฟนตาซีในตอนนี้มันก็มีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา อย่างคุณจุฑารัตน์เขาก็อยู่ได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยการตลาดอะไรเลย ฉะนั้น คนที่พยายามจะอยู่ให้รอดก็ต้องทำให้ได้อย่างเขา คนที่อยู่ไม่รอดก็ตายไปพร้อมกับกระแส"
ด้านผลงานแฟนตาซีไทยของนักเขียนรุ่นใหม่ (ยิ่งอายุน้อยยิ่งอินเทรนด์) ที่พาเหรดออกมามากมายจนแทบล้นแผงหนังสือตอนนี้นั้น ปริมาณจะสวนทางกับคุณภาพหรือไม่ พัณณิดามองว่าเรื่องที่มีคุณภาพก็มี เพียงแต่เรายังไม่รู้
ส่วนปัญหาการลอกเลียนแบบ ทั้งโครงเรื่อง กระทั่งสำนวนจากเกมออนไลน์, การ์ตูน, แฟนตาซีต่างประเทศของนักเขียนเด็กรุ่นใหม่ พัณณิดามองว่าเป็นธรรมดาของนักอยากเขียนระยะเริ่มต้น คงต้องใช้เวลาสักพักในการคลี่คลายไปเป็นแนวทางของตัวเอง แต่นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญว่า ต้องมีพัฒนาการ ไม่ใช่สักแต่ว่าลอกลูกเดียว
"ปันมีความคิดเห็นว่าก๊อบน่ะผิด ถ้าได้รับอิทธิพลไม่ผิด มันก็เป็นเพียงแค่หัวเชื้อเท่านั้น แต่ถ้าได้รับอิทธิพลแล้วจะต้องสร้างอย่าให้มันน้อยกว่าเล่มแรก ถ้าก๊อบแล้วก็ต้องรู้ว่าตัวเองก๊อบ ไม่ใช่เอามาลงอินเทอร์เน็ตแล้วบอกว่าฉันเขียนเอง ฉันเก่ง ที่ยิ่งแล้วใหญ่ก็คือว่า สำนักพิมพ์ก็มองว่าก๊อบแล้วขายได้นี่ ก็เลยจ้องแต่จะขาย แล้วมันจะไปถึงไหนกัน"
ตอนที่ปันอยู่ ม.3 ปันกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว ปันไม่ได้อยู่ในช่วงที่จะขายงานเขียนได้เลย แต่เด็กสมัยนี้ในขณะที่เขาอยู่ ม.3 เขาอยู่ในระหว่างสร้างเนื้อสร้างตัวเหมือนปัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ขายแล้ว มันจะสร้างได้ขนาดไหน" พัณณิดาตั้งคำถาม
น่ากลัวหากจะเป็นอย่างที่พัณณิดามองว่า สุดท้ายกระแสนักเขียนเด็กแนวแฟนตาซีนี้จะเป็นเพียงแค่ของเล่นชิ้นใหม่ของวัยรุ่นไทย ก่อนจะเบื่อและหันไปหาสิ่งใหม่ที่น่าสนใจแทน
แฟนตาซีผจญภัยแบบไทยๆ
แม้ในระยะหลังแวดวงนักเขียนแฟนตาซีไทยจะคึกคักขึ้นแล้ว แต่ทว่าน้อยคนนักที่จะเลือกใช้ตัวละครจากวรรณคดีไทยมาเป็นตัวละครเอก ส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้ตัวละครที่มีความเป็นสากล หรือประเทศในดินแดนสมมติขึ้นมาทั้งสิ้น
แต่นักเขียนใหม่ผู้หนึ่งกลับสวนกระแส หยิบยกตัวละครจากวรรณคดีไทยมาเป็นตัวเอกในผลงานแฟนตาซีเรื่องแรกของเธอ ณัชชา พระคุณ เจ้าของนามปากกา "ฯคีตกาล" ผู้เขียน "มัจฉานุผจญภัย" วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพิเศษนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2547
"ชอบอ่านรามเกียรติ์มาตั้งแต่เรียนประถม พออ่านมาเรื่อยๆ ก็รู้จักมัจฉานุซึ่งเป็นลูกของหนุมาน ด้วยความที่ว่าตัวละครตัวนี้มีความเก่งกล้าสูสีกับหนุมานมากก็เลยชอบ แต่เขามีบทบาทในรามเกียรติ์น้อยมาก ออกมาประมาณ 2-3 ตอน ก็เลยเอาตรงที่มันโหว่ๆ มาดัดแปลงเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กเล็ก" ณัชชาเล่าถึงความประทับใจที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในงานเขียนของเธอ
"เวลาเขียนจะนึกถึงคนอ่านว่าเขียนให้เด็กอ่านนะ เด็กก็ต้องการเห็นอะไรที่มันน่ารักๆ ต้องการฮีโร่รุ่นไล่ๆ กันกับเขา ก็เลยดัดแปลงให้มัจฉานุเป็นเด็ก เพราะตามท้องเรื่องรามเกียรติ์ มัจฉานุจะโผล่มาตอนโตเลย ก็เลยเขียนให้มัจฉานุเป็นเด็กเก่งมาก แต่ว่าดื้อก็เลยต้องมีการกำราบกัน"
เมื่อถามความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ทำไมงานแฟนตาซีไทยจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าที่ควร ณัชชากล่าวว่า งานแฟนตาซีไทยมักจะมองเด็กด้วยสายตาของผู้ใหญ่ ซึ่งต้องการให้วรรณกรรมเยาวชนเป็นเบ้าหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนดี งานแฟนตาซีไทยยุคก่อนจึงเน้นสั่งสอนมากจนดูเป็นการยัดเยียด ในขณะที่แฟนตาซีต่างประเทศนั้นจะไม่เน้นการสอนหรือตีกรอบ เช่นกันกับผลงานแฟนตาซีของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ ส่งผลให้เป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านรุ่นเยาว์
"ดังนั้น งานของเด็กสมัยใหม่จึงเปิดกว้าง เป็นเพราะตลาดที่พยายามหาสิ่งที่เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบัน เด็กเขาก็จะรู้ใจเด็กด้วยกัน ในหัวเขามีอะไร เขาถ่ายทอดออกมา คนรุ่นเดียวกันก็จะชอบ"
ส่วนการจุดกระแสของ "ดร.ป๊อป" นั้น ณัชชามองเป็นเรื่องที่ดี เพราะก่อนหน้านี้วรรณกรรมแฟนตาซีของไทยได้หยุดนิ่งมานาน การปรากฏของแฟนตาซี "เดอะ ไวท์โรด" จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรงถึงขั้นสะเทือนวงวรรณกรรม
"แต่ว่าพอระยะต่อมา พอมีกระแสก็มีการรีบป้อนตลาด ยอมรับว่ามีการพิถีพิถันกลั่นกรองงานน้อยลง" ณัชชาสะท้อนอีกมุมหนึ่งของกระแสที่เป็นดาบสองคม
ตัวเธอเองยอมรับว่า นักเขียนเด็กแนวแฟนตาซีรุ่นใหม่มีจินตนาการดีมาก แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปคือ เรื่องของภาษา แม้จะอ่านสนุก แต่ภาษายังต้องปรับปรุง ซึ่งนักเขียนสาวก็ยอมรับตามตรงว่า งานเขียนชิ้นแรกของเธอเองนั้นยังไม่สมบูรณ์ในเรื่องของการใช้ภาษาเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อมาถึงการทำงานเขียนชิ้นต่อมา อย่าง พันหนึ่งเม็ดทราย, จูเลียตสีเงิน จึงเห็นพัฒนาการด้านการใช้ภาษาของเธอดีขึ้นอย่างชัดเจน แม้เจ้าตัวจะบอกว่ายังไม่ถึงขั้นดีที่สุดก็ตาม
"พอไปอ่านงานเขียนของนักเขียนรุ่นครูบาอาจารย์ก็จะเห็นความแตกต่างมากๆ เราก็บอกกับตัวเองว่า เราต้องพยายามขึ้นอีกนะ เราก็อยากให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาคิดอย่างเราบ้าง"
นักเขียนสาวทิ้งท้ายว่า ความหวังของคนทำงานเขียนอย่างเธอ คือ ต้องการพัฒนาผลงานของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสักวันหนึ่งข้างหน้า…งานชิ้นนั้นจะมีคุณค่าพอ ไม่ล้าสมัยในอนาคต มิใช่เป็นเพียงกระแสวูบวาบแล้วเลยผ่านเท่านั้น
ซึ่งสิ่งที่จะต้าน "กระแส" ได้ก็คือ "คุณภาพ" ของผลงานนั่นเอง
* * * * * * * * * * *
เรื่อง - รัชตวดี จิตดี