xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 100 ปี ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"100 ปี กรุงศรีอยุธยาจะมีปราชญ์สักคนก็แสนเข็ญ"

แต่เป็นที่น่ายินดีว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ก่อกำเนิดเหล่านักปราชญ์หลายแขนงขึ้นหลายท่าน แม้อาจจะมีจำนวนไม่มากมายนัก แต่ทว่าก็โดดเด่นน่าชื่นใจแทนปวงชนชาวไทยที่มีเหล่าอัจฉริยะบุคคลจำนวนหนึ่งให้ศึกษาและดำเนินรอยตามในหลายยุคสมัย

ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยขึ้นชื่อในแง่ความไพเราะ งดงาม สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทยยากจะหาใครเหมือน "ครู" ดนตรีไทยจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่ควรแก่การยกย่อง ในวาระครบรอบ 100 ปี ครูเตือน พาทยกุล จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่คนรุ่นหลังจะได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของครูดนตรีไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกผู้หนึ่ง


กำเนิดครูดนตรีผู้ยิ่งใหญ่

ครูเตือน พาทยกุล เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2448 ที่จังหวัดเพชรบุรี ในตระกูลที่ปู่เป็นนักดนตรีมีชื่อของเมืองเพชร และบิดาคือ นายพร้อม พาทยกุล เป็นช่างทำทอง และหัวหน้าวงปี่พาทย์ ทำให้ครูเตือนเริ่มเรียนดนตรีกับปู่และบิดา หลังจากเรียนจบชั้นป.4 บิดาได้นำมาฝากให้เรียนดนตรีกับท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล โดยเริ่มต้นตั้งแต่เพลงทะแยเป็นลำดับ จนถึงเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง

นอกจากนี้ ครูเตือนยังเล่าเรียนและต่อเพลงเพิ่มจากครูอื่นๆ อีกหลายท่าน ได้แก่ ครูต้ม พาทยกุล (ปู่), พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน), พระยาภูมีเสวิน, หลวงไพเราะเสียงซอ, นายฉัตร-นายช่อ สุนทรวาทิน และนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

ในด้านชีวิตสมรส ครูเตือน สมรสกับนางกิมไล้ เมื่อพ.ศ. 2471 มีบุตรชายหญิงรวมกัน 4 คน ต่อมานางกิมไล้ถึงแก่กรรมลง จึงสมรสใหม่กับนางบุญเรือง เมื่อ พ.ศ. 2485 มีบุตรชายหญิงรวม 4 คน

ครูเตือน พาทยกุล เป็นบุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นศิลปินชั้นครูที่มีความสามารถด้านดนตรีไทยเป็นเลิศ โดยเฉพาะในทางปี่พาทย์นับว่าเป็นผู้มีความสามารถสูงสุดคนหนึ่ง ครูเตือน พาทยกุล มีความเชี่ยวชาญในการบรรเลงดนตรีไทยได้รอบวง สามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทั้งระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และซอสามสาย จนปรากฏลือเลื่องไปหลายวงการ โดยท่านถนัดทางระนาดเอกมากที่สุด

นอกจากการบรรเลงเพลงเดี่ยวแล้วครูเตือนยังมีความสามารถในด้านการประพันธ์เพลง และได้ประพันธ์เพลงไว้เป็นจำนวนมาก เช่น เพลงโหมโรงเทพอัศวินสามชั้น แขกมอญบางขุนพรหมสองชั้น โหมโรงเพชรศรีอยุธยา นาคบริพัตรทางเปลี่ยน เป็นต้น

นอกจากการสอนและแต่งเพลงต่างๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้ครูเตือน พาทยกุล เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป คือ การประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด อาทิ ตะโพน ระนาด ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ เป็นต้น

สิ่งที่ถือเป็นความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งของครูเตือนก็คือ การประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กได้เป็นคนแรก โดยย่อส่วนจากขนาดมาตรฐานให้มีขนาดเล็กแต่ยังคงเหมือนจริงทุกประการ อีกทั้งสามารถบรรเลงได้เหมือนเครื่องดนตรีขนาดมาตรฐาน ซึ่งครูเตือนเคยนำออกบรรเลงถวายหน้าพระที่นั่งประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์จนทำให้ครูเตือนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ต่อมา ครูเตือนได้ปรับขนาดเครื่องดนตรีไทยย่อส่วนลงไปอีกจนมีขนาดเล็กจิ๋ว นับเป็นคนไทยคนแรกที่ประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กและขนาดจิ๋วได้อย่างครบวงอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งเครื่องดนตรีย่อส่วนที่ครูเตือนประดิษฐ์สามารถใช้เป็นสื่อการสอนวิชาทางการดนตรีไทยแก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ครูเตือน พาทยกุล เริ่มชีวิตทางการดนตรีตั้งแต่อายุได้ 7 ปี จนกระทั่งถึงอายุ 98 ปี นับเป็นเวลากว่า 9 ทศวรรษในวงการดนตรีไทย ตลอดระยะเวลา 90 ปีนั้น ครูเตือนได้เผยแพร่ดนตรีไทย โดยเป็นทั้งนักดนตรี หัวหน้าวงดนตรี ช่างซ่อมและประดิษฐ์เครื่องดนตรี

นอกจากนี้ ยังเป็นครูและอาจารย์พิเศษสอนวิชาดนตรีไทยทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยสอนการบรรเลงทั่วไป จนถึงทางเดี่ยวของเครื่องดนตรีต่างๆ ในโรงเรียนมัธยมและอุดมศึกษา รวมทั้งสอนวิชาการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย การซ่อมบำรุง การเทียบเสียง ฯลฯ

ในปี 2535 ครูเตือน พาทยกุล ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ซึ่งอีก 3 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2538 ครูเตือนได้ก่อตั้ง "โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์" ขึ้นเพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้และมีความสามารถทางศิลปะในการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติให้คงอยู่สืบไป

ครูเตือน พาทยกุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เนื่องด้วยปอด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมสิริอายุได้ 98 ปี

จากปากคำ "ทายาท"

หากครูเตือน พาทยกุล จัดเป็นปูชนียบุคคลที่มีค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ผู้ที่สามารถบอกเล่าและสะท้อนภาพชีวิตของครูเตือนได้ดีที่สุด ก็คงเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและมีโอกาสสัมผัสบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นจริงๆ

อาจารย์บำรุง พาทยกุล หนึ่งในทายาทของครูเตือน พาทยกุล ย้อนรอยเส้นทางครูดนตรีไทยของผู้เป็นบิดาว่า หลังจากได้เป็นศิษย์จางวางทั่ว พาทยโกศล ตั้งแต่อายุได้แค่ 10 ปีแล้ว ครูเตือนได้มีโอกาสเข้าไปเป็นนักดนตรีในวังที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องจากตัวจางวางทั่วนั้นเป็นครูดนตรีอยู่ในวังบางขุนพรหม เมื่อออกจากบ้านครูจางวางทั่ว ครูเตือนได้ตั้งวงร่วมกับเพื่อนอยู่เกือบ 2 ปี ก่อนจะกลับมาตั้งวงดนตรีไทยที่บ้าน จ.เพชรบุรี แล้วออกตระเวนแสดงไปทั่วปักษ์ใต้จนถึงที่ปีนัง

ต่อมาครูเตือนเล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาของบุตรธิดา จึงอพยพจากเพชรบุรีย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยซื้อที่ปลูกบ้านที่ย่านปากคลองสาน และรับงานบรรเลงดนตรีทั่วไปอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะยุบวงเนื่องจากมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบของนักดนตรีในวง จึงเหลือแต่การประดิษฐ์เครื่องดนตรีขายและเป็นครูสอนดนตรีเพียงเท่านั้น

"เหตุการณ์ที่ทำให้คุณพ่อเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีผู้ชายคนหนึ่งมาที่บ้านบอกว่า เสด็จพระองค์ชายใหญ่ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ให้มาตามคุณพ่อไปพบท่าน เพื่อไปดูเครื่องดนตรีเก่าๆ ของท่านหน่อย พระองค์ท่านอยากจะซ่อม เพราะทรงสะสมเครื่องดนตรีเก่าๆ ไว้เยอะ หลังจากนั้นคุณพ่อก็จะเข้าไปทำงานให้พระองค์ท่านเป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงดำริว่าเครื่องดนตรีใหญ่ๆ เอาไปเมืองนอกลำบาก เราจะหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไรดี คุณพ่อก็นึกได้ว่า เมื่อครั้งที่อยู่เพชรบุรี คุณพ่อเคยจำลองตะโพนขนาดใหญ่ให้เหลือเล็กๆ แล้วเอาขึ้นไปบนหิ้งบูชา เพราะตามความเชื่อของนักดนตรีไทย "ตะโพน" เป็นสิ่งสมมุติแทนองค์ "พระปรคนธรรพ" เป็นเทพแห่งดนตรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งองค์หนึ่ง พ่อจึงเรียนท่านว่าทำได้ พระองค์ชายใหญ่ก็ทรงออกทุนทรัพย์ให้" อ.บำรุง กล่าว

หลังจากนั้นมาครูเตือนก็มาคิดและค่อยๆ ประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนขึ้นมาทีละชิ้นจนครบทั้งวง โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 2 ปี ถัดมาพระองค์ชายใหญ่ก็ทรงหารายการทีวีให้ออกแสดง ในวันรุ่งขึ้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวชมเชยฝีมือการประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนของครูเตือนผ่านทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐในยุคนั้น ส่งผลให้ชื่อเสียงของครูเตือน พาทยกุล เป็นที่รู้จักในวงกว้างนับแต่นั้นมา

น้อยคนนักจะรู้ว่านอกจากจะเชี่ยวชาญทางดนตรีไทยแล้ว ครูเตือนยังมีความรู้ทางดนตรีสากลอีกด้วย อ.บำรุงเล่าว่า ในอดีตครูเตือนเคยใช้ชีวิตในฐานะนักดนตรีแตรวงที่หัวหินอยู่หลายปี นอกจากรับเป่าในงานแต่ง งานบวชนาคต่างๆ แล้ว ยังเป่าประกอบภาพยนตร์เงียบในโรงภาพยนตร์ และเป่าเพื่อเรียกคนเข้าไปชมที่หน้าโรงหนังอีกด้วย

ในส่วนของเครื่องดนตรีรีไซเคิลต่างๆ ที่ครูเตือนประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งจะนำมาบรรเลงประกอบการแสดงระบำสมิระในงานครั้งนี้นั้น อ.บำรุงได้เล่าถึงที่มาของบทเพลงที่ใช้ในระบำดังกล่าวว่า ครูเตือนได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงในชีวิตของครูเตือน ที่เคยมีคนรักชื่อ "สมิระ" ซึ่งเป็นนางระบำชื่อดังในยุคนั้น ต่อมาสมิระเสียชีวิตลง ครูเตือนได้ฝันถึงจึงอยากจะทำสิ่งที่เป็นที่ระลึกถึงอดีตคนรัก จึงแต่งเพลงโดยใช้ซอปี๊บ ซอกระป๋องมาบรรเลง และปรารถนาอยากให้มีนางระบำมาเต้น อ.บำรุงจึงสานต่อความฝันของบิดา ด้วยการจัดการแสดงชุดนี้ขึ้น ซึ่งครูเตือนก็มีโอกาสได้ชมในงานฉลองครบรอบอายุ 96 ปีของท่านด้วย

เหล่าศิษย์น้อมรำลึก

พงษ์ธร ตันตยานุรักษ์ ประธานที่ปรึกษาโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ เปิดเผยว่า ตามที่ร.ร. พาทยกุลฯ ได้จัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมด้านการดนตรีไทยและนาฏศิลป์เป็นประจำทุกปีนั้น ในปีนี้ได้กำหนดจัดงานให้ยิ่งใหญ่และพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากเป็นวาระที่ครบรอบ 100 ปีเกิด ของ ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติผู้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการดนตรีไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและรำลึกถึงคุณงามความดีที่ครูเตือนได้สั่งสมมา และถ่ายทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการดนตรีแก่เยาวชนรุ่นหลัง ทางร.ร. พาทยกุลฯ จึงร่วมกับกรมศิลปากร และคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดงานแสดงดนตรีและนาฎศิลป์ไทย พร้อมการแสดงนิทรรศการ"รำลึก 100 ปี ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ" ขึ้นในวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2548 เวลา 10.00 น. ณ โรงละครแห่งชาติ

พงษ์ธร กล่าวเพิ่มเติมว่างาน "รำลึก 100 ปี ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานและทอดพระเนตรการแสดงและนิทรรศการดังกล่าว รายได้ส่วนหนึ่งจึงจะนำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อสมทบทุนสภากาชาดไทย จึงขอเชิญศิษย์ครูเตือนทุกคนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเข้าเฝ้าถวายการต้อนรับและชมการแสดงครั้งนี้

ด้าน อ.บำรุง กล่าวถึงที่มาในการจัดงานในครั้งนี้ว่า "เนื่องจากว่าในปี 2548 เป็นปีที่เวียนมาครบรอบ 100 ปีเกิดของคุณพ่อ ในช่วงที่คุณพ่อมีชีวิตอยู่ ท่านได้สอนดนตรีให้กับลูกศิษย์ลูกหาหลายที่ ทั้งที่บ้านและตามสถาบันที่เป็นโรงเรียนต่างๆ ท่านไม่ได้สอนเพียงอย่างเดียว แต่ยังร่วมบรรเลงดนตรีขับร้องด้วยกัน จึงมีความผูกพันระหว่างศิษย์กับครูมาโดยตลอด จนกระทั่งท่านได้มาก่อตั้งโรงเรียนพาทยกุลฯ จากนั้นมาเราก็พยายามให้ลูกศิษย์คุณพ่อได้มีกิจกรรมประจำปีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม งานประจำปีแต่ละครั้งก็รวมลูกศิษย์หลายร้อยคน ถึงแม้ท่านจะเสียชีวิตแล้ว แต่ในวาระครบรอบ 100 ปี ผมเห็นว่าเราน่าจะรวมลูกศิษย์ทำกิจกรรมย้อนรำลึกถึงอดีตท่าน"

ในส่วนของการแสดงนิทรรศการนั้น อ.บำรุงเปิดเผยว่า ในปีนี้จะจัดแสดงนิทรรศการที่พิเศษสุดและภาพถ่ายในอดีตที่หาชมได้ยาก โดยรวบรวมผลงานการประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนขนาดเล็กและขนาดจิ๋วของครูเตือน มาจัดแสดงพร้อมบรรเลงให้ผู้ชมรับฟัง นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องดนตรีรีไซเคิลทั้งซอปี๊บ ซอกระป๋อง ระนาดขวด ฯลฯ ที่เกิดจากภูมิปัญญาของครูเตือน มาบรรเลงบนเวทีโดยคณะครูและศิษย์ พาทยกุล อีกด้วย

"กิจกรรมการแสดงบนเวทีจะมีทั้งดนตรีและนาฏศิลป์ โดยนำเพลงที่ท่านประพันธ์ไว้มาบรรเลง ซึ่งศิษย์ของเรามีจำนวนเรือนร้อย เพราะฉะนั้นจะมีความหลากหลายทางด้านการบรรเลง ทั้งวงมหาดุริยางค์ไทย การบรรเลงซอหมู่ ทั้งซอสามสาย ซอสี่สาย ซอห้าสาย คือปกติแล้วจะมีแค่ซอด้วง ซออู้ กับซอสามสายเท่านั้น แต่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นซอสี่สายและซอห้าสาย นอกจากนั้นก็ยังมีการบรรเลงปี่วง มารวมกันเป็นปี่หมู่ เพราะในอดีตท่านเคยสนใจเกี่ยวกับเรื่องปี่" นอกจากนี้ยังมีการแสดงชุดใหญ่ ในชุด "รำลึก 100 ปี ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ" เป็นการแสดงปิดท้ายอีกด้วย

ในงานนี้จึงเป็นการรวบรวมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของครูเตือนและโรงเรียนพาทยกุลฯ มาแสดงมากที่สุด โดยมีลูกศิษย์อายุตั้งแต่ 4 ขวบ จนถึง 60 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 300 คน เพื่อร่วมรำลึกถึงครูดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ในรอบหนึ่งศตวรรษผู้นี้

*ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ โรงเรียนพาทยกุลฯ โทร. 0-1809-8472, 0-9116-1195,0-2280-8830 และที่โรงละครแห่งชาติ 0-2224-1342 บัตรราคา 1,500 , 1,000 , 800 และ 500 บาท

////////////

เรื่อง ; รัชตวดี จิตดี








กำลังโหลดความคิดเห็น