xs
xsm
sm
md
lg

บางเบาดุจเส้นไหม เส้นใยจากแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แว่วเสียงทำนองเพลงสากลค่อยๆดังและกระหึ่มขึ้น พร้อมกับการปรากฏตัวของหญิงสาววัยแรกแย้ม หุ่นสูงชะลูดรูปร่างปราดเปรียว ผลัดกันออกมาวาดลวดลายการเดินแบบในชุดอาภรณ์ตามยุคสมัยปัจจุบัน ความพลิ้วเบาของเนื้อผ้าพลิ้วไหวไปตามจังหวะการเดิน สร้างความตะลึงพรึงเพริดแก่สายตาหลายสิบคู่ ผ่านไปหลายชุด เครื่องนุ่งห่มบนตัวนางแบบจึงเปลี่ยนเป็นแบบย้อนยุคซึ่งเคยใช้ในจีนมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล สะท้อนให้เห็นว่าระยะเวลาที่ผ่านมาได้เปลี่ยนรูปแบบของการแต่งกายไปมาก-น้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม "เส้นไหม" ที่เรียงตัวถักทอเป็นอาภรณ์ประดับกายเท่านั้นที่ยังคงความอมตะแห่งเสน่ห์ของเส้นไหมในแง่ของการใช้งานอันยาวนาน

ย้อนรอยเส้นทางสายไหม

ตามบันทึกในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและอรรถศาสตร์ของศาสนาพราหมณ์ อธิบายว่าช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ผ้าไหมถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน แล้วผ่านพม่าแพร่ไปยังอินเดีย โดยเรียก "ผ้าไหม" ว่า "จีนปัฏฏ"(cinappatta) หมายถึง "ผ้าของจีน" นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักเลี้ยงไหมนำมาถักทอเป็นผืนผ้า ยกตัวอย่างการค้นพบเครื่องประดับหินหลายชิ้น แกะสลักเป็นตัวหนอนไหม จากแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน นอกจากนี้ยังค้นพบเศษชิ้นส่วนผ้าไหมเก่าแก่ที่สุดปรากฏในเมืองวูซิงเซียน มณฑลซีเจียงจีน ยังมีอายุเก่าแก่ถึง 4,700 ปี เศษผ้าไหมติดอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้รวมถึงเครื่องมือใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ขวานสำริด หรือนิยมสลักรูปตัวหนอนไหมบนกระดูกเสี่ยงทาย ถือเป็นแท่งกระดูกศักดิ์สิทธิ์ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าจีนเป็นผู้ค้นพบเส้นไหมครั้งแรก

คนโบราณมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นพบไหมเส้นแรกว่า หลายพันปีก่อนคริสตกาล ระหว่างจักรพรรดินีซีลิงฉีเดินเล่นภายในอุทยาน ทรงหยิบรังไหมสีขาวจากใบของต้นหม่อน และบังเอิญรังไหมตกลงไปในถ้วยชาร้อน เมื่อหยิบขึ้นมาได้พบว่ามันกำลังสาวเส้นใย จากนั้นจึงมีการเลี้ยงไหม และนำมาถักทอเป็นผืนผ้า แต่ยังเป็นที่รู้กันเฉพาะในราชสำนัก ต่อมาได้มีกษัตริย์เมืองโคทานเข้าอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงจีน และได้ลักลอบนำตัวไหมและเมล็ดของต้นหม่อนออกไปด้วย ด้วยเหตุนี้ไหมจึงแพร่ไปยังเมืองอื่น กระทั่งแพร่ไปถึงตะวันตก และแม้ประเทศในยุโรปจะได้เรียนรู้วิธีการผลิตไหม ทว่ายังไม่สามารถเทียบจีนต้นตำรับได้

และเนื่องจาก "ผ้าไหม" เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากตามเมืองต่างๆที่ขบวนการค้าของจีนผ่านไปถึง จึงกลายเป็นที่มาของ"เส้นทางสายไหม" หนึ่งในเส้นทางการค้าโบราณเชื่อมประเทศจีนกับประเทศต่างๆในซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก โดยมีสินค้าที่สำคัญรองๆจากผ้าไหมได้แก่ เครื่องถ้วย ผ้าแพร เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากการค้าขายบนเส้นทางสายไหมจะเชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าหากัน หลายๆแห่งที่เส้นทางสายไหมตัดผ่านพลอยรับวัฒนธรรมการผลิตผ้าไหมและวัฒนธรรมซึ่งกันและกันแล้ว ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวไว้ว่าเส้นทางสายไหมยังเป็นที่มาของการทูตแบบบรรณาการเรียกว่าการจิ้มก้องอีกด้วย

เส้นทางสายไหมมีมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น โดยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ เริ่มต้นจากเมืองฉางอัน อดีตเคยเป็นเมืองหลวงของจีนมาหลายยุคสมัย ปัจจุบันคือเมืองซีอัน ผ่านไปทางตะวันตกของแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง ถึงเมืองหังโจว ผ่านหุบเขาเข้าสู่แคว้นซินเกียง ถึงอูหลู่มู่ฉี ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดแยกระหว่างเส้นทางสายไหมทางเหนือและเส้นทางสายไหมทางใต้ โดยเส้นทางสายไหมทางเหนือจะผ่านเมืองฮามิ เมืองตูรฟาน เมืองกุชา เมืองอักสุ และเมืองกัสการ์ ส่วนเส้นทางสายไหมทางใต้จะข้ามไปถึงตะวันออกกลาง อาหรับ ไปจบที่ศูนย์กลางของโรมตะวันตก โดยผ่านเมืองมิลาน เมืองโกตาน และเมืองยาร์กันด์

ในสมัยจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังถือเป็นยุคทองทางการค้าบนเส้นทางสายไหม และในสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย ถือเป็นยุคที่สามารถผลิตเส้นไหมดิบคุณภาพเยี่ยมที่สุดในโลก โดยมีแหล่งผลิตอยู่ในเขตปากแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งชาวนาในเขตดังกล่าวถูกบังคับให้ผลิตเส้นไหมเพื่อจ่ายเป็นส่วยแก่รัฐ โดยเฉพาะในเขตเมืองซูโจว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเส้นไหมและผ้าไหมที่สำคัญมาจนถึงปัจจุบัน
กระทั่งศตวรรษที่ 19 จีนเผชิญภาวะสงครามในการรวบรวมแว่นแคว้นให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นสาเหตุให้การผลิตผ้าไหมลดลงจนเกือบสูญไปจากจีน ภายหลังสงครามสิ้นสุด รัฐบาลจึงได้กลับมาสนับสนุนอุตสาหกรรมไหม ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับก้าวสู่การเป็นเจ้าแห่งการผลิตและส่งออกเส้นไหมสู่ตลาดโลก อุตสาหกรรมเส้นไหมได้รับการส่งเสริมจากรัฐถึงขั้นมีการตั้งสถาบัน "กลุ่มประสานงานระหว่างกระทรวง" (Interministries Coordination Group) ภายใต้การดูแลของรัฐสภา ทำหน้าที่ดำเนินการบริหารจัดการเรื่องของการผลิตรังไหม เส้นไหม และสิ่งทอจากเส้นไหม บูรณาการระหว่างการค้า อุตสาหกรรม และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้มีความสอดคล้องกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมสิ่อทอจากไหม
ปัจจุบันแม้ว่าเส้นทางสายไหมจะสูญไปแล้ว ทว่าอุตสาหกรรมไหมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน พร้อมกันนั้นยังคงส่งตีตลาดเป็นที่ต้องการในหลายๆประเทศ

ไหมจีนยุคใหม่

ห่างจากใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองที่กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศจีนและได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าฝ้ายมานับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 รถบัสได้แล่นเข้าสู่เขตชานเมือง มุ่งสู่เขตหงเฉียว ซึ่งเป็นที่ตั้งอีกแห่งหนึ่งของโรงงานผ้าไหม โดยระหว่างทางนั้น สมหวัง ไกด์หนุ่มชาวจีนได้เริ่มต้นกล่าวถึงอุตสาหกรรมเส้นไหมในเมืองจีนเป็นการกรุยทางก่อนที่จะได้สัมผัสของจริง

"ไหมจีนนิ่มและมีเส้นไหมบางกว่าของไหมของเมืองไทย ในภาคใต้ของเมืองจีนนิยมปลูกไหม เช่น เมืองคุนหมิง ซูโจว หังโจว เวลาผ่านไปจะเห็นปลูกต้นไหมเต็ม ประเทศจีนมีโรงงานผ้าไหมทั้งหมด 3 แห่ง ตั้งอยู่ในเมืองหังโจว เมืองซูโจว และเมืองเซี่ยงไฮ้ จุดศูนย์กลางของสิ่งทอ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย" สมหวังกล่าว

สมัยก่อนผ้าไหมนิยมใช้ในราชสำนัก ภายหลังจึงกระจายสู่สามัญชน "สมัยก่อน ผ้าไหมเป็นที่นิยมสวมใส่ของฮ่องเต้ ฮองเฮา คนในวังและคนที่มีฐานะ ปัจจุบันมีคนใช้เยอะมากขึ้น นิยมใช้ในคนทั่วไป มีขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป แต่ราคาผ้าไหมตามร้านค้าเหล่านี้มีราคาแพง ต่างจากผ้าไหมจากโรงงานมีราคาถูกกว่า ดังนั้นชาวจีนจึงนิยมมาซื้อที่โรงงานมากกว่า" สมหวังกล่าว

ซึ่งจากการอธิบายเรื่องการใช้ผ้าไหมในยุคแรกๆของ ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่ากลุ่มคนที่ใช้ผ้าไหมในสมัยแรกยังคงจำกัดเฉพาะในราชสำนัก สำหรับกษัตริย์และราชวงศ์ ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศข้างเคียง ตลอดจนแลกเปลี่ยนนำไปแลกเปลี่ยนสินค้าชนิดอื่น

"การเดินทางในสมัยก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผ้าไหมมีราคาแพง คนที่ใช้ผ้าไหมจึงยังอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง สำหรับกษัตริย์และราชวงศ์ ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการระหว่างกันและกัน สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก ผ้าไหมยกดอกได้รับความนิยมมาก ภายหลังราชวงศ์โจวล่มสลายได้เกิดรัฐอิสระขึ้นมากมาย จำนวนกษัตริย์และราชวงศ์เพิ่มขึ้น ความต้องการผ้าไหมเพื่อประดับเกียรติยศก็เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออกยังมีการนำผ้าไหมปักคลุมพระศพของกษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูงเริ่มมีมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น แต่ผลิตออกมาจำนวนมากในสมัยราชวงศ์ถัง"

จากผ้าไหมในราชสำนัก กลายเป็นที่แพร่หลายยังสามัญชนมากขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากผ้าไหมกลายเป็นของหาง่าย "สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชสำนัก รวมไปถึงพ่อค้าและคนทั่วไป กำเนิดโรงงานผลิตผ้าไหมตั้งอยู่ทั่วไป"

โรงงานผ้าไหมในสมัยราชวงศ์ฮั่น เช่น บริเวณภาคกลางตอนเหนือของจีน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมณฑลซันตง หญิงสาวที่อาศัยอยู่ในมณฑลซันตง ทุกคนต้องเรียนรู้วิธีการผลิตผ้าไหม ถึงกับมีคำกล่าวบันทึกไว้ในวรรณกรรมจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นว่า "ในบริเวณมณฑลซานตง ไม่มีสตรีใดที่ไม่มีความสามารถด้านการผลิตผ้าไหม"ผ้าไหมที่นี่มีชื่อเสียงมาก เนื่องจากสามารถผลิตผ้าไหมที่มีเนื้อผ้าเหมาะสำหรับสวมใส่ในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีโรงงานกระจายอยู่ในเมืองอื่นๆอีกหลายแห่ง ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีคือโรงงานผ้าไหมในมณฑลเสฉวน ภาคกลาง ส่วนโรงงานที่มีหน้าที่ผลิตผ้าไหมให้ราชสำนักนั้น ตั้งอยู่เมืองฉางอัน ผ้าไหมกลายเป็นที่นิยมไปถึงตะวันตก "ผู้หญิงโรมันคลั่งไคล้มาก สั่งซื้ออย่างเดียว ยังผลิตไม่ได้ กว่าจะได้ผ้าไหมต้องผ่านเทคนิคการสาวไหมยุ่งยาก แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยรู้" ศ.ดร.ผาสุขกล่าว

นอกเหนือจากการนำผ้าไหมไปตัดเสื้อใช้ในกลุ่มคนทั่วไปแล้ว ในยุคนี้ยังนิยมนำผ้าไหมไปประดับฝาผนัง ประดับบังเหียนม้า สมัยราชวงศ์ฮั่นยังมีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต สามารถผลิตผ้าไหมได้หลากหลายเนื้อผ้ามากกว่า 20 ชนิด ส่วนใหญ่ลายถักทอมักเป็นลายที่ปรากฏในภาพจิตรกรรม เช่นมังกรคู่ นกกางปีก รวมถึงตัวอักษรที่มีความหมายมงคล โดยผ้าไหมที่ใช้เวลาในการทอนานและมีราคาแพงคือผ้าไหมยกดอก

ภายหลังราชวงศ์ฮั่นล่มสลายลง แต่อุตสาหกรรมผ้าไหมยังคงดำรงต่อมา และมีพัฒนาการเรื่อยๆโดยได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์จิ้น จีนสามารถผลิตผ้าไหมยกดอกสีทองได้เป็นครั้งแรก นับเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดของกระบวนการผลิตผ้าไหมยกดอกของจีน โรงงานผ้าไหมของมณฑลเสฉวนได้ผลิตผ้าไหมคุณภาพดีและมีลวดลายสวยงามสร้างชื่อเสียงให้จีนกลายเป็นที่รู้จักในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก

เมื่อเข้าสู่ภายในโรงงานไหม ตัวหม่อนไหมหลายชนิดถูกต้มในน้ำร้อน จากนั้นจึงถูกสาวดึงเอาเส้นใยขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งจึงสอดเข้าเครื่องจักร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเครื่องจักรกลดึงเอาเส้นใยของไหมแต่ละตัวมาร้อยเรียงกันเป็นเส้นไหมสีขาวขนาดยาวเพื่อนำไปใช้ในการถักทอเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้เส้นใยดังกล่าวยังนำไปทำเป็นไส้ในของเครื่องนอน อย่างผ้าห่ม ที่นอน และหมอน เป็นต้น

สมหวังอธิบายผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมให้ฟังว่า "คุณสมบัติของผ้าไหม หากสวมใส่ผ้าไหมในหน้าร้อนทำให้รู้สึกเย็น ขณะที่การสวมใส่ผ้าไหมในฤดูหนาวจะทำให้รู้สึกอุ่น คนจีนเวลาลูกสาวแต่งงานออกไปอยู่บ้านฝ่ายชาย จะมอบผ้าไหมแก่ลูกสาวติดตัวไปบ้านฝ่ายชาย 8 ผืน สำหรับใช้ร่วมกันสามี-ภรรยา 1 ผืน ที่เหลือแจกจ่ายแก่พ่อแม่สามี และบรรดาพี่น้องของสามี โดยเฉพาะน้องสาวของสามี ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่า หากไม่ให้ผ้าห่มแก่น้องสามีจะทำให้ถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นผ้าไหมจึงได้รับความนิยมใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ"

ไกด์หนุ่มยังคงเปรียบเทียบคุณสมบัติของผ้าห่มไหมและผ้าอื่นๆต่อไปว่า "เส้นไหมที่นำไปทำผ้าห่มมีราคาถูกกว่าเสื้อผ้าสำเร็จ ผ้าห่มเป็นเอกลักษณ์มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ผลิตออกมา ขายเป็นกิโล กิโลกรัมละประมาณ 380 หยวนมาเมืองจีนช่วงหน้าหนาวย่างเข้าหน้าร้อนจะเห็นคนจีนนำผ้าห่มไส้ในทำจากผ้าฝ้ายออกมาตากเยอะมาก พอใช้ห่มมานานประมาณครึ่งปี ผ้าห่มจะหนักจนต้องนำมาตาก ไม่เหมือนผ้าห่มไหมไม่อุ้มน้ำและฝุ่นไม่เกาะ ยังมีความเบามาก ดังนั้นตามโรงแรมระดับ 5 ดาวจึงนิยมใช้ผ้าห่มไหม ปัจจุบันจีนยังนำเส้นไหมมาผลิตเป็นเสื้อกันกระสุน เนื่องจากผ้าไหมมีความเหนียวมาก"

จากคำอธิบายของไกด์หนุ่ม จะได้เห็นถึงความเหนียวของเส้นใยไหม เมื่อไปถึงโรงงานผ้าไหม ซึ่งสาธิตให้ประจักษ์แก่สายตาถึงความเหนียวของเส้นใย ด้วยการเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวร่วมกับพนักงานในโรงงานช่วยกันดึงเส้นใยไหมที่นำมาประกอบกันเป็นผืนผ้าขนาดสี่เหลี่ยม

เสน่ห์ไหมครองใจชน

เส้นทางสายไหมได้แพร่วิธีการเลี้ยงไหมและถักทอไหมยังเมืองต่างๆตามเส้นทาง อย่างไรก็ตามลักษณะของเส้นใยที่ละเอียดบางเบา ทำให้เส้นไหมจากจีนยังคงเป็นที่นิยมของตลาดโลก กระทั่งในเมืองไทย ตามโรงงานผ้าไหมขนาดใหญ่ กระทั่งแหล่งผลิตสินค้าโอทอปยังนิยมสั่งซื้อเส้นไหมดิบจากจีนเพื่อนำมาถักทอเป็นผืนผ้า
ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ แสดงความเห็นถึงเสน่ห์ของไหมจีนว่า "ผ้าไหมจีนเป็นผ้าที่งดงามมาก เนื่องจากมีความมันเป็นประกายออกจากเนื้อผ้า ไม่มันระยับแบบผ้าต่วน ทำให้ผู้สวมใส่สง่างามและสดใส จึงเป็นผ้าที่ได้รับความนิยมสูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน"

อาจารย์ผาสุขกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเส้นไหมที่ถือว่าสวยงามแล้วต้องยกให้ผ้าไหมของไทย แม้ว่าไทยจะรับเอาการผลิตไหมมาจากจีนผ่านเส้นทางสายไหม แต่นำมาพัฒนาและได้รับการโปรโมตจนรู้จักทั่วโลก "จีนเป็นชาติเก่าแก่คิดค้นเรื่องไหม แต่ไม่มีพัฒนาการในเรื่องของลวดลาย ปัจจุบันนี้ถือว่าผ้าไหมของไทยสวยที่สุด คนไทยมีฝีมือ ผ้าไหมของอินเดียที่นำมาทำส่าหรีก็สวย แต่คงไม่ได้โปรโมตจึงไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เหมือนกับคนรู้จักผ้าไหมจากเมืองไทยมากขึ้น แต่ก่อนออกแบบเชย ความหลากหลายของการออกแบบน้อย มีแค่ลายขวางและลายทาง คนใช้ผ้าไหมอยู่ในกลุ่มภรรยาข้าราชการ กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถโปรดให้นักออกแบบตะวันตกมาออกแบบ ดูเก๋ขึ้น นอกจากนี้เมื่อจิม ทอมป์สันนำผ้าไปออกแบบเป็นลายฝรั่ง ทำให้ผ้าไหมได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ยังไม่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น มองว่าเนื่องจากไม่มีผู้ออกแบบให้เหมาะกับคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยม เพราะรักษายาก เนื้อผ้ายังรีดยาก และมีราคาแพง บ่งบอกความเป็นเศรษฐี"

เรื่อง-ศิริญญา มงคลวัจน์





กำลังโหลดความคิดเห็น