xs
xsm
sm
md
lg

600 ปี เจิ้งเหอ แม่ทัพแห่งกองเรือแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากกล่าวถึงนักสำรวจทางทะเล ชื่ออันดับต้นๆที่หลายคนสามารถนึกได้อย่างทันทีทันใด ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะเอ่ยถึงนักสำรวจซีกโลกตะวันตกอย่างคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ได้ชื่อว่าค้นพบทวีปอเมริกา วาสโก ดากามา นักเดินเรือชาวโปรตุเกสล่องเรืออ้อมแหลมกูดโฮป เฟอร์ดินัน แมคแจลลัน นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังซีกโลกตะวันออกเพื่อพิสูจน์ว่าโลกกลม

น้อยคนนักที่จะได้สัมผัสเรื่องราวของ "เจิ้งเหอ" ขันทีผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือในสมัยราชวงศ์หมิงไปยังอาณาจักรต่างๆ ทั้งในซีกโลกตะวันออกไปจนถึงชายฝั่งอัฟริกา แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางทะเลอันเกรียงไกรของจีน

และเนื่องในปีนี้ ครบรอบวาระ 600 ปีแห่งการเดินทางทะเลครั้งแรกของเจิ้งเหอ เรื่องราวของเจิ้งเหอ จึงได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศจีนได้หยิบยกเรื่องราวของเจิ้งเหอขึ้นมาเป็นแบบอย่างความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีต ท่ามกลางการพัฒนาก้าวสู่ความเป็นสากลของจีนยุคใหม่


                                          1.

แม้จะตรงกับวันทำงาน ทว่า ณ ใจกลางกรุงปักกิ่งอันเป็นที่ตั้งของจัตุรัสเทียนอันเหมินยังคงเนืองแน่นไปด้วยฝูงชนจากทั่วสารทิศ ทั้งที่เป็นอาคันตุกะจากต่างแดน ไปจนถึงชาวจีนจากต่างเมืองที่เดินทางมาเยี่ยมชมรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของตนเอง และแม้ว่างานเฉลิมฉลองวันชาติของจีน(1 ต.ค) ได้ผ่านมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทว่าดอกไม้นานาชนิดซึ่งได้รับการตกแต่งเป็นลวดลายสัญลักษณ์ต่างๆยังคงความสด อวดสีสันเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาชื่นชม พร้อมกับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

นอกจากจัตุรัสฯแห่งนี้จะใช้เป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีนและพิพิธภัณฑ์ปฏิวัติซึ่งตั้งอยู่มุมหนึ่งของจัตุรัสเทียนอันเหมินก็กำลังจัดนิทรรศการ "ครบรอบ 600 ปี สมุหยาตราของเจิ้งเหอ" แสดงผลงานและชีวประวัติของแม่ทัพเรือผู้เกรียงไกร

พลันที่ผ่านเข้าสู่ห้องจัดแสดงนิทรรศการ พบว่าภายในจัดแสดงเรือจำลองย่อส่วนจาก "เรือมหาสมบัติ" ที่เจิ้งเหอใช้ในการเดินเรือ ตลอดจนแผนที่แสดงเส้นทางการเดินเรือทั้ง 7 ครั้ง จอวีดีทัศน์ขนาดใหญ่แสดงภาพจำลองเหตุการณ์ระหว่างการเดินเรือทางทะเล และภาพต่างๆที่นำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของเจิ้งเหอนับตั้งแต่บ้านเกิด ภาพท่าเรือหลายๆแห่งที่เจิ้งเหอแล่นเรือเข้ามาจอด เช่น ท่าเรือมาเลย์ ,Gulle ที่จอดเรือในศรีลังกา ,kozhikode ที่จอดเรือในอินเดีย ,kish ที่จอดเรือในอิหร่าน ,Masquat ที่จอดเรือในโอมาน ,Dar es-Salaam ที่จอดเรือในแทนซาเนีย สถานที่หลุมฝังศพ ตลอดจนภาพของทายาทที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ

ระหว่างนั้น กิจ ไกด์ท้องถิ่นได้เริ่มต้นเล่าประวัติความเป็นมาของเจิ้งเหอให้ฟังว่า เดิมทีนั้นเจิ้งเหอมีชื่อว่า "ซานเป่า" , "แซ่หม่า" เกิดที่มณฑลยูนนาน พื้นเพเดิมของครอบครัวเป็นชาวมุสลิม "แต่ก่อนแซ่หม่าเรียกว่าหม่าเหอ เป็นคนมุสลิมมีพี่น้อง 5 คนเป็นชาย 1 คน หญิง 4 คน" กิจกล่าว

เมื่อหม่าเหออายุได้ 12 ปี ตรงกับช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิหงอู่ หรือจูหยวนจาง ปฐมราชวงศ์หมิงนำกำลังทัพเข้ามาขับไล่พวกมองโกลที่มาตั้งราชวงศ์หยวนออกจากประเทศจีน ทำการยึดครองยูนานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จ ในเวลานั้นหม่าเหอได้ถูกจับตอนเป็นขันทีมีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้

"ต่อมาเมื่อจักรพรรดิ์หงอู่สวรรคตจึงได้ให้จูยุ่นเหวิน หรือจักรพรรดิ์เฉียนเหวิน ซึ่งเป็นหลานขึ้นครองราชย์ต่อ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าชายจูตี้ ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิหงอู่ จึงได้ช่วงชิงอำนาจจากหลานชาย แล้วขึ้นครองราชย์มีพระนามรัชศกว่า หย่งเล่อ ส่วนจูยุ่นเหวินเชื่อกันว่าได้หลบหนีออกนอกประเทศ"

ไกด์หนุ่มยังคงเล่าต่อไปว่า ภายหลังจักรพรรดิหย่งเล่อขึ้นครองราชย์ได้โปรดให้สร้างกองเรือขนาดใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกติดตามจักรพรรดิ์เฉียนเหวิน ซึ่งเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่

"บ้างว่าจักรพรรดิเฉียนเหวินตายแล้ว บ้างว่าบวชเป็นพระ บ้างว่าหนีไปต่างประเทศ พอขึ้นครองราชย์จักรพรรดิหย่งเล่อจึงได้ส่งเจิ้งเหอไปหลายๆประเทศเพื่อตามจับจักรพรรดิเฉียนเหวิน" ไกด์หนุ่มกล่าว

ทั้งนี้ในการจัดกองเรือเพื่อสำรวจทางทะเล จักรพรรดิหย่งเลอได้มอบหมายให้หม่าเหอ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากจักรพรรดิ์หย่งเล่อว่า"เจิ้งเหอ" ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือ เนื่องจากเห็นว่า "เจิ้งเหอมีบุคลิกดี เฉลียวฉลาด ไม่มีขันทีคนไหนเทียบเขาได้" ซึ่งตามบันทึกในประวัติศาสตร์จีนอธิบายลักษณะของเจิ้งเหอไว้ว่าเป็นชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่ง น้ำเสียงทุ้มห้าว แม้จะถูกตอนเป็นขันทีก็ยังคงมีลักษณะเข้มแข็งแบบชายชาตรี ประกอบกับความเฉลียวฉลาดจึงเป็นที่ถูกพระทัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของการเดินเรือของเจิ้งเหอถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพของจักรพรรดิหย่งเล่อ และอีกด้านถือเป็นการเปิดความสัมพันธ์ทางการค้า

                                         2.

การเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปี กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ท่องต่างแดนมากกว่า 37 ประเทศ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฏาคม ค.ศ.1405 (พ.ศ.1948) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช แห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา เจิ้งเหอทำหน้าที่ผู้บังคับกองเรือสำเภาขนาดใหญ่ เรียกว่า "เป่าฉวน" แปลว่า "เรือมหาสมบัติ" ต่อขึ้นที่เมืองนานกิง อดีตเมืองหลวงอันเก่าแก่ของจีนเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของ "อู่ต่อเรือ" ใช้ในการเดินเรือของเจิ้งเหอ

บริเวณอู่ต่อเรือเดิม ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในการต่อเรือที่ขุดค้นพบ รูปปั้นเจิ้งเหอขนาดไม่สูงมากตั้งเคียงข้างกับก้อนหินซึ่งปรากฏภาพเรือเล็กๆหลายๆลำ ไกด์ท้องถิ่นเล่าว่าเรือเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่มีการวาดขึ้น ค้นพบในแม่น้ำแยงซีเกียงด้านนอกมีแอ่งขนาดยาว ซึ่งเป็นจุดที่ขุดค้นพบซากชิ้นส่วนของเรือ

สมหวัง ไกด์ท้องถิ่นอีกคนเริ่มต้นแปลความจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยเปิดฉากบรรยายลักษณะของเรือมหาสมบัติว่า "เรือมีทั้งหมด 4 ชั้น ลักษณะเรือข้างหลังกว้าง ข้างหน้าแหลม ข้างล่างแบน ช่วยให้เรือไม่โคลงเคลงภายในเรือบรรจุเรือเล็กสำรองในยามที่เรือมหาสมบัติไม่สามารถแล่นต่อไปได้ รวมเรือรบเล็กทั้งสิ้น 286 ลำ มีปืนทั้งหมด 24 กระบอก เสากระโดงเรือมีทั้งหมด 9 อันโครงการสำรวจทางทะเลถือเป็นโครงการระดับชาติ ดังนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆจึงมาช่วยกัน เป็นต้นว่าหมู่บ้านนั้นจัดหาเชือก หมู่บ้านนี้หาไม้มาใช้ประกอบตัวเรือ"

การเดินทะเลในครั้งแรกมีเรือขนาดใหญ่ตามไปด้วย 60 ลำ ขนาดเล็ก 255 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 27,870 คน แล่นเลียบชายฝั่งฟุเกี้ยน ผ่านไปยังอาณาจักรจามปา ชวา มะละกา เซมูเดรา และแลมบรีทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะลังกา กาลกัติ ขากลับได้นำคณะทูตจากเมืองเหล่านี้มาเข้าเฝ้าฯจักรพรรดิหย่งเล่อ

ไกด์หนุ่มเล่าต่อไปว่า ต้นปีถัดมาเจิ้งเหอก็เริ่มออกเดินทางในครั้งที่ 2 เวลานั้นอายุ 36 ปี "ครั้งที่ 3 อายุ 38 ปี ครั้งที่ 4 อายุ 42 ปี ครั้งที่ 5 อายุ 46 ปี ครั้งที่ 6 อายุ 50 ปี ครั้งที่ 7 อายุ 60 ปี โดยครั้งสุดท้ายมีจำนวนลูกเรือ 27,550 คน ไปไกลถึงอัฟริกา"

ในการเดินเรือแต่ละครั้ง ขากลับจะนำเครื่องบรรณาการจากเมืองต่างๆมาถวายจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยเฉพาะสัตว์จากหลายๆเมืองที่ผ่าน อย่างเช่นขากลับจากการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 5 เจิ้งเหอได้นำสิงห์โต เสือดาว นกกระจอกเทศ ม้าลาย และยีราฟ กลับไปถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก และกลายเป็นของแปลกและน่าตื่นเต้นสำหรับชาวจีนที่พบเห็นเป็นครั้งแรก"

ภายหลังการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 7 สิ้นสุดลง จากนั้นจีนก็หยุดดำเนินการสำรวจทางทะเล ส่วนเจิ้งเหอได้สิ้นชีวิตลงในปีค.ศ 1432 โดยหลุมฝังศพของเขาตั้งอยู่บนภูเขาในเมืองนานกิง สุสานของเจิ้งเหอในเมืองนานกิงไม่ใหญ่มากนัก ก่อสร้างตามแบบประเพณีมุสลิม ซึ่งไกด์สมหวังอธิบายว่า "เจิ้งเหอมู่ หรือ สุสานเจิ้งเหอ ได้รับการบูรณะใหม่ในปี 1985 เจิ้งเหอตายที่อินเดีย ดังนั้นกระดูกจึงไม่ได้ถูกฝังไว้ในสุสาน มีเพียงเส้นผมและเสื้อผ้าที่เคยใช้เท่านั้น"

                                         3.

ประวัติศาสตร์การเดินเรือทางทะเลของเจิ้งเหอเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปน้อยมาก กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการรื้อฟื้นเรื่องราวการเดินเรือของเจิ้งเหอขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในปีนี้ ครบรอบ 600 ปีแห่งการเดินเรือทางทะเลครั้งแรกของเจิ้งเหอได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ท่ามกลางการพัฒนาของจีน

ดังที่ กิจ ไกด์หนุ่มเล่าว่า "การเฉลิมฉลองครบรอบการเดินทางทางทะเลของมหาขันทีเจิ้งเหอหรือซำปอกง ในปีนี้จีนทำการยกย่องอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการขึ้นในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์"

สำหรับ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย แสดงความเห็นเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของจีนและนานาประเทศต่อการออกเรือสำรวจทางทะเลของเจิ้งเหอ

"เรื่องเจิ้งเหอถูกโปรโมตจริงๆคงไม่นานมานี้ ผมเข้าใจว่ามีผู้นำจีน 2 ท่านที่กล่าวถึงเจิ้งเหอ คือจูเอินไหลและเติ้งเสี่ยวผิงกล่าวถึงเจิ้งเหอไว้ว่าเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้เปิดจีนสู่โลกภายนอก เป็นการดึงประวัติศาสตร์มาอธิบายว่าในขณะนี้จีนกำลังก้าวไปสู่สากล ผมเข้าใจว่าเจิ้งเหอสำคัญในแง่ที่เหมือนกับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของจีนในอดีตที่ออกไปสู่โลกภายนอก อันนี่คือสิ่งที่จีนกำลังโปรโมตอยู่ เพราะฉะนั้นในช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้วก็มีการรื้อฟื้นเรื่องของเจิ้งเหอขึ้นมา ดังนั้นจึงมีการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งการบูรณะสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเจิ้งเหอ เช่นที่ตำบลเจิ้งเหอ เป็นที่ตั้งของสุสาน ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเรื่องของประวัติเจิ้งเหอ อย่างในกรณีของหนังสือที่ออกมามีเนื้อหาเกี่ยวกับเจิ้งเหอ ทั้งที่เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ การจัดนิทรรศการที่ปักกิ่ง หรือนิทรรศการที่จัดในนานกิง การจัดสัมมนานานาชาติเป็นการใหญ่โตซึ่งมีขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ"

ดร.ชาญวิทย์สรุปต่อไปว่า "ถือเป็นการนำเอาอดีตขึ้นมารับใช้ปัจจุบันในช่วงที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ เคียงคู่หรือตามไล่หลังมาติดๆกับอเมริกา อันนี้ผมคิดว่าเป็นเหตุผลว่าทำไมเจิ้งเหอจึงถูกโปรโมต อย่างมาก นายกรัฐมนตรีโจวเอิน ไหล หรือเติ้งเสี่ยวผิงได้พูดยกย่องเจิ้งเหอเอาไว้เป็นการกรุยทาง คือในช่วงหนึ่งเรื่องราวของเจิ้งเหอถูกฝังดินไป เมื่อการเดินเรือซึ่งมีอยู่ 7 ครั้ง ช่วงต้นราชวงศ์หมิงสิ้นสุดลง หลังจากนั้นแล้วราชสำนักจีนก็ดี จักรพรรดิจีนก็ดีไม่สนับสนุนการเดินเรือในแง่ของการพาณิชยนาวี ในแง่ของกองทัพเรือ จีนทำการปิดประเทศ คนจีนที่ออกเดินทางไปยังต่างประเทศช่วงนั้นคือเอกชน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม"

ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์มองว่า การหยุดสำรวจทางทะเลภายหลังการเดินทางครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอ ทำให้จีนนั้นพลาดโอกาสในการพัฒนาพาณิชย์นาวี พัฒนากองทัพเรือ และการที่จีนปิดประเทศทำให้จีนล้าหลัง ต่างชาติพัฒนาในที่สุดกลายเป็นเจ้าโลกและเข้ามาเหยียบย่ำจีนในช่วงประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสมัยสงครามฝิ่น 2 ครั้งนำมาซึ่งความล่มจมของอาณาจักรจีน สมัยราชวงศ์ชิง พระนางสูสีไทเฮา แต่ปัจจุบันจีนได้ลุกขึ้นมาแล้ว และได้กลับไปดูประวัติศาสตร์ของตนเอง พร้อมกลับได้ดึงเจิ้งเหอขึ้นมาเชิดชูเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวทิ้งท้ายว่า "การเดินทางของโคลัมบัสเป็นการเดินทางไปในดินแดนที่ยังไม่มีใครค้นพบ แต่การเดินทางของเจิ้งเหอเป็นการเดินทางไปยังดินแดนซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองใด ผมมองว่า กองเรือเจิ้งเหอได้ใช้องค์ความรู้ของเส้นทางการเดินเรือเป็นช่วงๆ มาต่อให้เป็นช่วงเดียวกัน อีกอย่างกองเรือของเจิ้งเหอได้จัดระเบียบทางการค้าและคานอำนาจทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียให้เกิดหน่วยทางการเมืองระบบเดียว ว่าด้วยระบบบรรณาการจิ้มกล้อง ที่จะทำให้ราชสำนักมีความมั่งคั่ง ผลที่ตามมาก็คือว่าหากรัฐหรือแคว้นใดยอมรับความสัมพันธ์ของจีนผ่านกองเรือของเจิ้งเหอก็จะได้รับการสถาปนา และให้อภิสิทธิ์ทางการค้ากับเมืองจีน แต่ถ้าเมืองใดแข็งข้อก็จะยกทหารบุกเข้าไปในเมือง ดังนั้นจะพบว่าเมื่อกองเรือของเจิ้งเหอกับมาเมืองจีนในแต่ละครั้งจะมีทูตของประเทศต่างๆติดสอยห้อยตามมาด้วย แทนที่จะสร้างกองเรือของตนเองแล้วเดินทางมาสร้างความสัมพันธ์กับจีน"

***
ซำปอกง-ร่องรอยเจิ้งเหอในไทย

หลายๆแห่งที่บันทึกไว้ว่าเจิ้งเหอเคยเดินทางไปเยือน ปรากฏเป็นตำนานเล่าขานไว้ตามดินแดนเหล่านั้น ดังเช่นเรื่องราวของเทพเจ้าซำปอกง หรือที่รู้จักกันในชื่อของ 'หลวงพ่อโต' คืออีกชื่อที่ใช้เรียกเจิ้งเหอ ที่ปรากฏในวัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา และวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง

ตามเรื่องราวที่เล่าขานกันมาว่ากันว่าเพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่ทัพเรือเจิ้งเหอจึงได้สร้างศาลสักการะขึ้นกราบไหว้เพื่อแสดงความเคารพ ศาลสักการะดังกล่าวเรียกศาลเจ้า ‘ซานปอกง’ หรือเมืองไทยเรียก ‘ซำปอกง’

นอกจากเรื่องเล่าดังกล่าว ยังมีความเชื่อหนึ่งว่าสาเหตุที่ชาวจีนมาเซ่นไหว้วิญญาณซำปอกงที่วัดกัลยาณมิตรเป็นเพราะความเข้าใจผิด กล่าวคือ ชาวจีนผู้นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้นมัสการหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณมิตร แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เขียนหนังสือจีนไว้ที่หน้าวิหารว่า 'ซำปอฮุดกง' ซึ่งแปลว่าพระเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ชาวจีนกลุ่มที่นับถือซำปอกง อ่านเห็นเป็น 'ซำปอกง' จึงคิดว่าเป็นสถานที่เซ่นไหว้วิญญาณของซำปอกง และได้มาเซ่นไหว้ซำปอกงเรื่อยมา










กำลังโหลดความคิดเห็น