xs
xsm
sm
md
lg

เพชรรัตน์-สุวัทนา สองราชนารีในรัชกาลที่ 6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในปีนี้ถือเป็นอภิลักขิตสมัย 2 วาระมาบรรจบกัน คือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ พระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และเป็นวาระคล้ายวันประสูติของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ครบ 100 ปี ทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นราชนารีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัชกาลที่ 6 แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยจะทราบถึงพระราชประวัติอันทรงลำบากของทั้ง 2 พระองค์ และในโอกาสนี้จึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เพื่อนำเงินรายได้ไปซ่อมพระราชวังพญาไทของรัชกาลที่ 6

เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงพบกับ"คุณสุวัทนา"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศโดยทรงประทับอยู่ประเทศอังกฤษนานถึง 9 ปี เพื่อทรงศึกษาวิชาทหาร วิชากฎหมาย ประวัติศาสตร์ วรรณคดี และภาษา

ในรัชสมัยที่พระองค์ทรงครองราชย์นั้น ได้ทรงพระราชกรณีกิจสำคัญๆ นานัปการให้แก่ประเทศไทยทั้งทางด้านการทหาร การปกครองที่ทรงสร้างเมืองดุสิตธานีขึ้นเพื่อทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย

นอกจากจะทรงเป็นนักปกครองแล้ว ยังทรงพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์บทละครต่าง ๆ ทั้งละครรำแบบไทยและละครพูด และเป็นที่รู้กันโดยทั่วว่าทรงโปรดที่จะเล่นละครด้วย

เมื่อปี 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ทรงแสดงละครที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง"พระร่วง" โดยทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว และในคราวนั้น คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ พระธิดาของพระยาอภัยภูเบศร ได้ร่วมแสดงด้วยโดยรับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ ซึ่งต้องมีบทเจรจากับนายมั่นปืนยาวด้วย

ภายหลังการแสดงละครที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปฏิพัทธ์ต้องพระราชอัธยาศัยในตัวคุณเครือแก้วเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงมีพระเมตตาเป็นพิเศษ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า"สุวัทนา" เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณสุวัทนา ไปพำนัก ณ วังปารุสกวัน ในบางโอกาสได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับคุณสุวัทนาไปรอแยลโฮเต็ลด้วย บางครั้งทรงรับไปร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารว่างในช่วงบ่ายที่พระราชวังพญาไท หรือทรงพาไปร่วมโต๊ะเสวย ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

จนในวันที่ 10 สิงหาคม 2467 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาคุณสุวัทนาขึ้นเป็น"เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก " หลังจากนั้นเจ้าจอมสุวัทนาก็มีโอกาสตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ

ในเดือนเมษายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงที่ว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จะทรงโปรดให้เจ้าจอมสุวัทนา ซึ่งกำลังตั้งพระครรภ์พระหน่อ มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาลงสรงฝ่ายหน้า เพื่อที่จะมีพระราชกระแสกับพระราชกุมารในครรภ์ แล้วทรงคล้องพระกรเจ้าจอมสุวัทนามาร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำแบบฝรั่ง ณ หอเสวยของหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นประจำเกือบทุกคืน

ล่วงมาถึงเดือนตุลาคม 2468 เจ้าจอมสุวัทนาใกล้จะมีสูติกาลพระหน่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยิ่งนัก เพราะยังไม่มีมเหสีหรือพระสนมเอกองค์ใด ประสูติพระราชกุมารมาก่อน พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมพระหน่อกษัตริย์ เพื่อพระราชกุมารที่กำลังจะมีพระประสูติกาล ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น"พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี"

เมื่อใกล้จะมีพระประสูติกาล ก็เกิดเรื่องเศร้าสลดขึ้นแก่พสกนิกรทั้งปวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงประชวรด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2468 ครั้นถึงวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ก็ประสูติพระธิดา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่ก็มีพระอาการเพียบหนักขึ้น ถึงแม้จะได้ทอดพระเนตรพระราชธิดาอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็ไม่สามารถมีพระราชดำรัสได้เสียแล้ว หากแต่ได้ทรงวางพระหัตถ์บนพระเศียรของพระราชกุมารี จากนั้นก็ทรงรู้สึกพระองค์น้อยลง ๆ จนกระทั่งสวรรคตลงในวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีโอกาสได้พบพระราชบิดาเพียงวันเดียวเท่านั้น

ชีวิตที่ยากลำบาก

หลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จสิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระนามแก่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี"

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระชนมายุขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงสังเกตว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯมีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นัก จึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าว่าจะขอเชิญเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ ไปประทับรักษาพระองค์ ณ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาไปพร้อมๆ กันด้วย

ทั้ง 2 พระองค์ทรงประทับอยู่ที่อังกฤษนานถึง 22 ปี สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯทรงตรัสภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว และทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรีโดยทรงเปียโนได้เก่งขนาดที่ทรงได้ยินทำนองเพียงครั้งเดียวก็สามารถทรงตามได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเป็นผู้หญิงที่เก่ง ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงหาพระราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง เนื่องจากต้องทรงใช้ชีวิตตามลำพังทั้ง 2 พระองค์ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจตกต่ำช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พระองค์ก็ทรงรักษาพระเกียรติยศแห่งราชนารีในพระบรมราชวงศ์จักรีไว้อย่างมั่นคงไม่ว่าจะเป็นข้าในพระองค์ที่ตามเสด็จไปจากเมืองไทย หรือคนในตำหนัก แฟร์ฮิล ตำหนักไบรตันหรือ ตำหนักไดก์โรด ล้วนเป็นสตรีทั้งนั้น

ครั้งปี 2500 ทั้ง 2 พระองค์จึงได้เสด็จกลับเมืองไทยเป็นการชั่วคราว ในระหว่างประทับอยู่ในประเทศไทยนั้น ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต ต่อมาได้เสด็จกลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งเพื่อทรงขายตำหนัก ณ เมืองไบรตัน แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร

พระราชกรณียกิจ

หลังจากทรงกลับมาประทับอยู่เมืองไทยเป็นการถาวรแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงประทับอยู่ ณ วังรื่นฤดี ในซอยสันติสุข สุขุมวิท 38

ด้วยทรงดำรัสกับบุคคลใกล้ชิดอยู่เสมอว่า " เป็นเจ้านายจะต้องให้แก่ประชาชน " ดังนั้นจึงเป็นภาพชินตาของพสกนิกรชาวไทยที่จะเห็นทั้ง 2 พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เคียงคู่กันมิได้ห่าง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชนไทย โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการทรงพระราชกรณียกิจ อาทิ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับมรดกคือที่ดินและบ้านของพระชนก ณ จังหวัดปราจีนบุรี ก็ทรงพระกรุณาประทานกรรมสิทธิ์ให้แก่ทางราชการ เพื่อสร้างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ด้านการศาสนา ทรงศรัทธาร่วมการก่อสร้างซ่อมแซมพระอุโบสถ เสนาสนะพระพุทธรูป และเสด็จไปทอดผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจัหงวัดทั้งใกล้และไกล พร้อมทั้งทรงเยี่ยมราษฎรและทรงนำเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรคไปประทานแก่ผู้ยากไร้และผู้ที่มาเฝ้าชมพระบารมี

ความที่เป็นผู้หญิงเก่งและทันสมัย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จึงทรงริเริ่มจัดงานการกุศลแบบทชาริตี้เหมือนเมืองนอกขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่วังรื่นฤดี โดยมีบรรดาลูกสาวเศรษฐีทั้งหลายมาเดินแฟชั่นโชว์การกุศลเพื่อหาเงินไปช่วยเหลือสังคม ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นงานที่โก้มากที่สุด และลูกสาวบ้านไหนได้มีโอกาสได้เดินแฟชั่นในวังรื่นฤดีนั้นถือว่าเป็นสาวที่โก้มาก ๆ

ในต้นเดือนตุลาคม 2528 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประชวรเกี่ยวกับพระปัปผาสะอักเสบ และมีพระโรคแทรกซ้อน กระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2528 ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุ 80 พรรษา

หลังจากสิ้นพระมารดาแล้วสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ ก็ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจแทนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันซึ่งทรงพระชนมายุได้ 80 พรรษาด้วยพระพลานามัยที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก

กิจกรรมเทิดพระเกียรติ

เนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีอภิลักขิตสมัย 2 วาระมาบรรจบกันคือ วันประสูติของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ครบ 100 ปี และวาระที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ฯ พระราชธิดาองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ทางกองทัพบก โดยกรมแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลพระมงกุฎ และหน่วยงานในสังกัดร่วมกับชมรมคนรักวัง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ ได้ร่วมกันจัดงาน " เพชรรัตน์-สุวัทนา สองราชนารีในรัชกาลที่ 6 " ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน นี้ที่วังพญาไท(ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎ)

โดยวันที่ 28 ตุลาคมนี้จะเป็นงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่โดยมีการแสดงดนตรีวงโยธวาทิตและวงปี่สก๊อต การแปรขบวนด้วยธงเสือป่า ของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้น และการแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง"พระร่วง"

นอกจากนี้จะมีการแสดงเพลงโหมโรง เพชรรัตน์-สุวัทนา ซึ่งแต่งโดย อ.ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า มือเดี่ยวระนาดเอกแห่งยุค ซึ่งแต่งให้มีความหมายว่าอันเป็นที่รักและสวัสดิ์มงคลควรค่า"ราชนารี" จึงใช้ชื่อโหมโรงเพชรัตน-สุวัทนา โดยการแสดงจะใช้ระนาดมากที่สุดถึง 81 รางซึ่งไม่เคยมีการละเล่นเช่นนี้มาก่อน โดยใช้คนตีระนาด 1 คนต่อ 2 ราง ส่วนอ.ณรงค์ฤทธิ์เล่นนำวง 1 ราง การเล่นระนาดแบบนี้จะให้ความสนุกสนานไพเราะ รวมทั้งท่วงทำนองที่เร้าใจเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของนิทรรศการซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน ศกนี้ระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น. โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ ให้เชิญเครื่องประดับส่วนพระองค์ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานแก่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี อาทิ เข็มเสมา ซึ่งพระราชทานเป็นของขวัญชิ้นแรกเมื่อต้องพระราชหฤทัย, กำไลงาช้างเผือก เป็นเครื่องประดับที่ทันสมัยที่สุดสำหรับสตรีในยุคนั้น และหากเป็นระดับเจ้าจอมแล้ว กำไลงาช้างนั้นจะต้องทำมาจากช้างเผือกเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีสิ่งของซึ่งพระราชทานแกข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท อาทิ หีบพระโอสถมวนทองคำลงยาประดับเพชร และหีบพระโอสถมวนลงยาประดับนาฬิกาล้อมเพชร ซึ่งพระราชทานแก่เจ้าพระยารามราฆพ

เฉพาะในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ผู้สนใจเข้าชมงานจะต้องซื้อบัตรราคาใบละ 6,000 บาท 4,000 บาทและ3,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายเข็มที่ระลึก"พญามังกรถือวชิราวุธ" ซึ่งพญามังกรเป็นสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 โดยเข็มนี้จะเป็นเนื้อเงินชุบสามกษัตริย์ จำหน่ายในราคา 2,500 บาท โดยจะนำเงินรายได้ไปสมทบทุนเพื่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 6 และเพื่อบูรณะพระราชวังพญาไท

โดยทีมข่าวสังคม






กำลังโหลดความคิดเห็น