หากย้อนไปเมื่อ 201 ปี วันที่ 18 ตุลาคม 2347 คือวันอันเป็นมหามิ่งมงคลของปวงชนชาวไทย เนื่องด้วยเป็นวันพระราชสมภพของของ 'พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4' พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาและเปี่ยมด้วยคุณูปการแก่ปวงราษฎร์ ทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญพระองค์ทรงมีกุศโลบายทางการทูตจนสามารถรักษาอธิปไตยของสยามให้พ้นจากการล่าอาณานิคมของต่างชาติ และองค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ดังนั้น เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 201 ปี คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสื่อมวลชน "จากสยามประเทศในรัชกาลที่ 4 สู่ประเทศไทยยั่งยืนสถาพรในวันนี้" ซึ่งเป็นการตามรอยพระราชกรณียกิจด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ในระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ชมวัดสุวรรณดาราราม
เป็นที่ทราบกันดีว่าพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คือการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรมทั้งในกรุงเทพฯและเขตหัวเมืองกว่า 50 วัด ดังนั้น จุดแรกที่คณะสื่อมวลชนของเราไปตามรอยพระราชกรณียกิจของพระองค์ก็คือ 'วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร' จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดนี้เดิมชื่อ 'วัดทอง' ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา และนับเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี พระอุโบสถและพระวิหารทรุดโทรมลงตามกาลเวลา หลังจาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์จึงรับสั่งให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกตอนใต้ ริมป้อมเพชร พระอุโบสถแสดงถึงสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายอย่างชัดเจน โดยฐานพระอุโบสถเป็นฐานโค้งแอ่นเหมือนสำเภา หน้าบันเของพระอุโบสถเป็นนารายณ์ทรงสุบรรณ ผนังภายในพระอุโบสถตอนบนมีภาพเขียนเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดกและสุวรรณสามชาดก ตอนหน้าสุดเขียนภาพมารวิชัย และมีรูปเขียนแสดงพระราชวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีซึ่งเป็นต้นแบบลอกแพร่ออกไปหลายแห่ง ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวเคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์จึงรับสั่งให้สร้างพระวิหารเพิ่มอีก 1 หลัง สร้างเจดีย์ทรง 'จอมแห' รวมทั้งสร้างกำแพงแก้วรอบวัด และพระราชทานตรา'พระราชลัญฉกร' หรือตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ให้ประดับไว้ตรงเหนือซุ้มประตูกำแพงแก้วด้วย
เยือนพิพิธภัณฑฯจันทรเกษม
จากนั้นเราได้เดินทางไปเยี่ยมชม 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม' จ.พระนครอยุธยา คือ 'วังหน้า' ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับสั่งให้ทำการบูรณะและปรับปรุงใหม่เพื่อใช้เป็นที่ประทับในช่วงที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า 'พระราชวังจันทรเกษม' และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า
ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศเป็น 'พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจันทรเกษม' เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 โดยปัจจุบันเป็นที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ รวมทั้งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงประทับที่พระราชวังแห่งนี้
พิพิธภัณฑฯจันทรเกษม มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและเกี่ยวพันกับรัชกาลที่ 4 อยู่หลายจุด ได้แก่ 1) พลับพลาจัตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าของพลับพลา แต่เดิมเป็นซากแนวอาคารก่ออิฐถือปูน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯให้สร้างอาคารพลับพลาในลักษณะอาคารจัตุรมุขแฝด เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการและเป็นที่ประทับในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันได้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจำลองห้องหับต่างๆที่พระองค์ทรงงานเมื่อครั้งทรงประทับที่พระราชวังแห่งนี้ เช่น แท่นพระที่นั่งซึ่งพระองค์ทรงใช้ว่าราชการ โต๊ะ-เก้าอี้ส่วนพระองค์ ห้องสรงน้ำ
2) พระที่นั่งพิมานรัตยา มีลักษณะเป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง กลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัตยานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่าเมื่อปี พ.ศ.2442
และ 3) พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ 'หอส่องกล้อง' ซึ่งเป็นหอดูดาวอีกแห่งหนึ่งที่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้สร้างขึ้น นอกจากหอดูดาวที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์นี้ เดิมได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์มหาราชและพังทลายลงตามกาลเวลา ต่อมารัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ตามแนวรากฐานอาคารเดิม เป็นหอสูง 4 ชั้น ซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรดวงดาว
ตามรอยเส้นทางธุดงค์ของ ร.4
จากนั้นในวันที่ 14 ต.ค. คณะสื่อมวลชนของเราได้เดินทางต่อไปยัง 'วัดไลย์' ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เพื่อตามรอยเส้นทางออกธุดงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามกุฏ โดยวัดไลย์เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.1800 มีรูปหล่อ 'พระศรีอาริย์' ซึ่งเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไปประดิษฐานอยู่ในมณฑป มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของวิหาร โดยทิศตะวันตกเป็นภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติ และทิศตะวันตกเป็นภาพปูนปั้นเรื่องปฐมสมโพธิ
ภายในวิหารซึ่งมี 9 ห้องนั้น 2 ห้องแรกทางทิศตะวันออกจะถูกแบ่งด้วยผนังที่มีลวดลายปูนปั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง มีดอกไม้และใบไม้คล้ายลวดลายในสมัยสุโขทัย ด้านหลังพระวิหารจะมีเจดีย์ทรงลังกา 2 องค์ ถัดจากเจดีย์เป็นวิหารพระศรีอาริย์ ติดกำแพงแก้วด้านทิศเหนือมีมณฑป ยอดปรางค์เป็นมณฑปสี่เหลี่ยม ผนังหนา ภายในมีเนื้อที่ว่าง สันนิษฐานว่าอาจเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อมาวิหารถูกไฟไหม้ทำให้ลายปูนปั้นต่างๆได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก
วัดไลย์เป็นวัดหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาธุดงค์ในช่วงที่พระองค์ทรงผนวช และเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงได้โปรดฯให้ทำการบูรณะวัดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี ตามประวัติวัดไลย์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามาตั้งแต่ปี พ.ศ.1900
ยล'วังนารายณ์ฯ'
หลังออกจากวัดไลย์เราได้เดินทางไปยัง 'พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์' จ.ลพบุรี ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯให้บูรณะและสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ทั้งนี้ พระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2208 เพื่อเป็นพระราชวังแห่งที่ 2 ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยในช่วงที่ไทยเกิดกรณีพิพาทกับฮอลันดา และเป็นพระราชวังที่พระองค์ทรงประทับถึงปีละ 9 เดือน โดยอีก 3 เดือนที่เหลือซึ่งเป็นช่วงน้ำหลากและมีน้ำล้อมรอบพระราชวังที่พระนครศรีอยุธยาพระองค์จึงเสด็จฯกลับไปประทับที่พระนครศรีอยุธยา
ต่อมาในปี พ.ศ.2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้จึงร้างลง จนกระทั่งปี 2399 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์ฯและโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า 'พระนารายณ์ราชนิเวศน์'
พระราชวังแห่งนี้มีพระที่นั่งสำคัญ ประกอบด้วย 1) พระที่นั่งจันทรพิศาล สถาปัตยกรรมไทยแท้ซึ่งเคยใช้ป็นหอประชุมองคมนตรี พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท 2) พระที่นั่งท้องพระโรงทรงสูง ประดับกระจกเงาที่นำเข้าจากฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯใช้เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า 3) พระที่นั่งสุทธาวรรย์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งมุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ ที่พระองค์ทรงใช้ทรงสนาน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงฐานราก
4) ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง เป็นตึกกลางอุทยานซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯใช้เป็นที่พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากฝรั่งเศส 5) ตึกพระเจ้าเหา เป็นตึกที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์อย่างชัดเจน เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่ชื่อ 'พระเจ้าเหา ' 6) สิบสองท้องพระคลัง เป็นอาคารชั้นเดียวที่สร้างเป็นเรือนยาวเรียงชิดติดผนัง เป็นห้องที่ใช้เก็บสินค้า
และ 7) พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งแห่งนี้ขึ้นภายในพระราชวังเดิมของพระนารายณ์ฯ เมื่อ พ.ศ.2405 ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ ดังนี้ คือ มุขด้านซ้ายมือ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร มุขด้านขวามือคือ พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ ส่วนพระที่นั่งองค์ขวางตรงกลาง คือพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ใช้เป็นท้องพระโรงเพื่อเสด็จออกว่าราชการ และด้านหลังสุดเป็นอาคารสูง 3 ชั้น คือพระพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 โดยภายในเป็นที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระองค์ด้วย
ด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทำให้คนไทยยังคงมีเอกราชภายใต้แผ่นดินสยามแล้ว เรายังมีศิลปวัฒนธรรมที่พระองค์ทรงเก็บรักษาไว้ให้พสกนิกรได้ชื่นชม คงไม่มีทางใดที่เราจะสามารถทดแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ นอกจากร่วมกันสืบทอดสิ่งที่พระองค์รักษาไว้ไปตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน
************
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน