กลางเดือนตุลาคมของทุกปี สถานที่พักตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการมีโอกาสต้อนรับ "นกนางนวลอพยพ" อาคันตุกะจากต่างแดนหลายพันตัวที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลหนีสภาพอากาศอันหนาวเย็นและความอดอยากจากตอนเหนือของทวีปเอเชีย เข้ามาพำนักหากินสัตว์น้ำตามผืนเลนในบางปูที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนกางปีกอวดท่วงท่าการร่อนและความแม่นยำในการโฉบกินกากหมู อาหารโปรดที่ผู้คนหยิบยื่นให้
ท่วงทำนองและลีลาอันงดงามของนกนางนวล ทำให้บางปูมีมนต์เสน่ห์ที่ตรึงใจ ยามที่ลมหนาวพัดมาเยือน
วัน (ห)วานที่บางปู
สถานที่พักตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมพลาธิการทหารบก อ.บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีตเคยเป็นสถานที่พักตากอากาศติดชายทะเลยอดนิยมสมัยคุณยายคุณย่ายังสาว ตั้งไม่ห่างจากกรุงเทพฯมากนัก เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2480 ใช้เวลา 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ในยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดให้บริการได้ไม่นานในปี 2484 บางปูก็ปิดตัวลง เนื่องจากถูกรวมเป็นหนึ่งในสถานที่ยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่น ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา กระทั่งปี 2490 จึงเปิดบริการตามปกติถึงปัจจุบัน
บางปูยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติให้ชื่นชมเช่น "แสมทะเล" พันธุ์ไม้ประจำป่าชายเลน หรือจะเป็นสัตว์น้ำซึ่งมีอยู่จำนวนมากเช่นปลาตีน ปูซึ่งเคยชุกชุมจนเป็นที่มาของชื่อ "บางปู" รวมถึงนกน้ำประจำถิ่นอาศัยทำรังวางไข่ในบางปูหลายชนิดด้วยกันได้แก่ นกยางเปีย นกยางโทนใหญ่ นกตีนเทียน นกยางเขียว นกแขวก นกกาน้ำเล็ก นกกวัก นกยางกรอกพันธุ์ชวา เป็นต้น
บรรยากาศของบางปูยามที่ตะวันกำลังจะลับขอบฟ้า แสงสุดท้ายที่สาดส่องในแต่ละวัน ลมทะเลที่พัดพลิ้วแผ่วเบาชวนให้การเดินเล่นไปตามสะพาน ซึ่งทอดยาวออกไปในทะเลโรแมนติกสำหรับหนุ่มสาวทุกยุคสมัย
"เคยใฝ่ฝันอยากเดินบนสะพานทอดยาวออกไปในทะเล รู้สึกสบายโปร่ง ปลดปล่อยจินตนาการได้ไกลแสนไกล ที่นี้ต่างจากทะเลที่เล่นน้ำไม่ได้ แต่สร้างบรรยากาศแสนโรแมนติคได้มากทีเดียว ถ้ามาช่วงเช้าจะสัมผัสแสงแดดอ่อน ลมโชยพัดจนเพลินเดินไปสุดปลายสะพาน ตอนเย็นดื่มด่ำกับพระอาทิตย์กำลังลับฟ้า เป็นภาพที่น่าประทับใจ" กบ พนักงานออฟฟิตสาววัย 26 ปีกล่าว
นอกจากดื่มด่ำไปกับบรรยากาศแล้ว แมนชายหนุ่มวัย 30 ปีที่มาพร้อมกับกบกล่าวว่ากิจกรรมการดูนกถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของบางปู "เวลานึกถึงสถานที่พักผ่อนยามเย็น ได้บรรยากาศโรแมนติคจะคิดถึงบางปู โดยเฉพาะช่วงที่มีนกนางนวล ถ้าไปบางปูแล้วไม่มีนกนางนวลมันดูกร่อยๆ"
เสน่ห์นางนวล เสน่ห์บางปู
"เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของบางปูคือปริมาณของนกนางนวลจำนวนมากที่อพยพหนีความหนาวเย็นและความอดอยากขาดแคลนอาหารมาจากตอนเหนือของทวีป" พอพล นนทภา ชายกลางคนผู้หลงใหลการดูนกกล่าว แม้วันวานจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ภาพความประทับใจเก่าๆเกี่ยวกับนกนางนวลที่บางปูยังคงฝังตรึงในใจของพอพล กลายเป็นแรงจูงใจหันมาศึกษาดูนกอย่างจริงจัง และเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้วที่เขาแวะเวียนมาเยือนบางปูอย่างสม่ำเสมอ
"พ่อเคยพามาบางปูตั้งแต่เด็ก รู้สึกตื่นเต้นกับนกนางนวลจำนวนมาก ความรู้สึกแรกที่มีต่อนกเหล่านี้มองว่ามันช่างอิสระ มีท่วงท่าการบิน พอโตขึ้นหลังจากเที่ยวแบบธรรมดาไป ตามป่าเห็นคนส่องนกก็เริ่มสนใจ ลองดูแล้วเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ทำให้การท่องเที่ยวมีความหมายขึ้น จากแค่ไปดูธรรมชาติธรรมดา เพิ่มเป็นการไปดูส่วนประกอบของธรรมชาติทีเป็นสิ่งมีชีวิตประกอบ ซึ่งมันก็จะโยงไปส่วนอื่นเช่น ถิ่นอาศัย ดอกไม้ ผลไม้ที่นกกิน เป็นความรู้ต่อยอดออกไป การดูนกเป็นงานอดิเรกที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เรา เพียงแต่ว่าถ้าเข้าป่าก็จะได้บรรยากาศของป่า ถ้าไปตามหนองบึงก็จะเป็นธรรมชาติของหนองบึง มีความเพลิดเพลินแตกต่างกันไป"
ส่วนสาเหตุที่เขาชอบนกนางนวลนั้นเป็นเพราะว่า "นกนางนวลเป็นนกที่มีความสง่างามชนิดหนึ่ง บินเก่งและท่าทางการร่อนสวยงาม"
ถึงตรงนี้ ธีรยุทธ ลออพันธ์พล เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมศึกษาอาวุโสของศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปูแสดงความเห็นเสริมว่า "นกนางนวลเป็นนกที่ดูแข็งแกร่ง แต่มีความสวยงาม ความแม่นยำในการโฉบอาหาร ลักษณะภายนอกมีความเด่นอยู่ที่สีขางนวลของขน ยิ่งรวมฝูงกันมากๆยิ่งเป็นจุดดึงดูดความสนใจมากขึ้น อีกอย่างไม่ได้เป็นนกที่เห็นทุกวัน มาให้เห็นเป็นช่วงฤดูกาลแค่นั้น ตอนแรกผมก็ดูไม่รู้เรื่อง แต่พอได้ค้นข้อมูลยิ่งสนใจ โดยเฉพาะเวลามันเปลี่ยนชุดขน ดูให้มันรู้สึกมีความสุขใจก่อน ผลพลอยได้จากนั้นทำให้อยากศึกษาเกี่ยวกับนก"
บินไกลหลายพันไมล์
14.50 น.ยามบ่าย ของวันที่ 7 ตุลาคม 2548 นกนางนวลสองตัวแรกบินโฉบไปมา และปรากฏโฉมสีขาวสะอาดตารวมกับฝูงนกน้ำชายเลนที่อพยพมาถึงก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ทุกๆปีนับตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป บางปูจะมีนกน้ำอพยพหนีหนาวมาจากตอนเหนือของทวีป แบ่งเป็น นกเป็ดน้ำ นกนางนวลและนกชายเลน ซึ่งการอพยพของนกมี 2 แบบด้วยกันแบบที่ 1 นกอพยพแวะพักเก็บสะสมอาหารเป็นพลังงานนานแล้วบินไกลติดต่อกันโดยไม่หยุดพักเลย แบบที่ 2 นกอพยพจะแวะพักเป็นระยะๆ
"ธรรมชาติสร้างให้นกอพยพพวกนี้บินเก่งมาก นกอพยพหนีหนาวมาช่วงแรกจะทำการสะสมอาหารหลายสัปดาห์ กระทั่งรู้ว่ามีพลังพอ จากนั้นก็จะบินไปเป็นฝูงข้ามมหาสมุทรแอคแลนติคโดยไม่หยุดพักไปออสเตรเลียใช้เวลาเพียง 3-4 วัน" พอพลกล่าว
ทั้งนี้ระยะเวลาในการอพยพมาถึงของนกแต่ละชนิดแตกต่างกันไป "ช่วงเวลาอพยพของนกมีความยืดหยุ่น นกอพยพส่วนใหญ่อยู่ตอนเหนือของทวีปก็จริง แต่อพยพเข้ามาไม่พร้อมกัน บางส่วนอพยพมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายนแล้ว นกพวกนี้เวลาทำรังอยู่ตอนเหนือของทวีปจะอยู่คนละตำแหน่งกัน บางตัวอยู่ใกล้ บางตัวอยู่ไกล ตัวไหนผสมพันธุ์เสร็จเร็ว เลี้ยงลูกโตจนบินได้ก็อาจจะบินมาก่อน บางตัวอาจแวะพักจุดอื่นนานกว่าจะถึงเมืองไทย หรือบางชนิดไม่แวะที่อื่นนานก็จะมาถึงก่อน หรือถ้าบริเวณไหนหนาวก่อน ขาดแคลนอาหารก่อน นกก็จะบินอพยพมาก่อน แต่โดยเฉลี่ยนกนางนวลอพยพเข้ามาบางปูราวกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ส่วนนกน้ำชายเลนอพยพจากไซบีเรีย ตามเส้นทางเลียบแนวทวีปด้านตะวันออก เข้ามากลางเดือนกันยายน นกเป็ดน้ำจะอพยพมาถึงช้ากว่าประมาณเดือนธันวาคม"
พอพลเล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ดูนกที่ผ่านมา เขาพบว่าเดือนธันวาคมมีสถิติจำนวนนกนางนวลอพยพมากที่สุด
"กลางเดือนตุลาคมมีหลายร้อยตัว ปริมาณจะเพิ่มมากขึ้นพอถึงพฤศจิกายนมีเป็นพันๆตัวแล้ว จนถึงมากที่สุดประมาณเดือนธันวาคม นกบางส่วนอพยพผ่านไทย เช่นนกชายเลน บางส่วนหากินอยู่ที่เมืองไทยพักหนึ่ง จากนั้นจึงบินไปออสเตรเลีย หรือลงไปทางใต้ ปริมาณของนกจะหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ที่ผ่านมาปริมาณนกนางนวลอพยพเข้ามานับได้ประมาณ 5-7 พันตัวต่อปี"
สะพานสุขตา ดูนกสุขใจ
หากใครที่เคยมีโอกาสไปชื่นชมนกอพยพที่บางปูคงยังจำกันได้ว่า ตลอดทางเดินบนสะพานสุขตาที่ทอดยาวออกไปในทะเลนั้นเต็มไปด้วยนกนางนวลบินผ่านกลุ่มคนจำนวนมากที่เดินทางมาพักผ่อนและชื่นชมนกน้ำอพยพเหล่านี้ ขณะเดียวกันเมื่อมองลงไปทั้ง 2 ฝั่งของสะพานจะพบเห็นนกนางนวลสีขาวลอยเกลื่อนบนผิวน้ำปะปนกับนกน้ำอพยพชนิดอื่นๆ บ้างบินโฉบไปมาอยู่กลางอากาศ
นอกเหนือจากบริเวณ 2 ฝั่งของสะพานสุขตาจะเป็นจุดชมนกที่สำคัญแล้ว ห่างออกไปยังสามารถชมนกได้ที่บริเวณบ่อน้ำกร่อย ซึ่งเป็นจุดหากินและพักผ่อนของนกนางนวลยามน้ำขึ้น ตลอดจนนกชายเลนอพยพอื่นๆ
"หาดเลน(บางครั้งเรียกหาดโคลน)ในช่วงน้ำลงสามารถเห็นนกชายเลนอพยพและนกน้ำอื่นบินลงไปหากินสัตว์หน้าดินตามผืนเลน ถ้าอยู่ไกลออกไปใช้กล้องส่อง พอน้ำขึ้นหากินไม่ได้ก็จะบินมาหากินที่บ่อน้ำกร่อย ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึงหรือมีระดับน้ำตื้นๆโดยธรรมชาติของนกชายเลนจะหากินบนฝั่ง พออพยพมาบางปูจะหากินบริเวณบ่อน้ำกร่อย นกนางนวลก็เช่นกัน ถ้าขี้เกียจลอยตัวในน้ำก็จะบินมาหลบหากินในบ่อ ถ้าไม่มีบ่อนี้จะทำให้นกอาศัยบนสะพานน้อย เนื่องจากนกจำเป็นต้องมีจุดพัก 2 จุดที่จะผลัดเปลี่ยนพักอาศัยในช่วงน้ำขึ้น-น้ำลง"
จุดดูนกบ่อน้ำกร่อยมีเรือนนกเอาไว้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปดูนกได้โดยที่นกไม่หนีไป เนื่องจากเรือนนกเป็นสิ่งปลูกสร้างอยู่กับที่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปยืนด้วยความสงบ และมองดูนกผ่านช่องสี่เหลี่ยม เมื่อนกไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว จึงไม่สนใจและทำการหากินตามปกติ ต่างกับการเดินผ่านเส้นทาง เป็นที่สังเกตได้ง่ายของนก เช่นนกตีนเทียนเวลาเห็นคนเดินจะร้องโวยวายขึ้นมาราวกับตะโกนบอกนกตัวอื่นว่ามีคนบุกรุกเข้ามา
แวะเวียนมา ตราบเท่าที่คงความอุดม
บริเวณเนื้อที่ประมาณ 700 กว่าไร่ของสถานที่พักตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ช่วงปลายสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือช่วงต้นๆของอ่าวไทย ทะเลบริเวณจึงเป็นทะเลโคลนที่สะสมตะกอนจากแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นแหล่งอาศัยของปลาตีนจำนวนมาก รวมถึงเคยชุกชุมไปด้วยปูทะเลจึงกลายเป็นที่มาของชื่อ "บางปู" นอกจากนี้ยังเป็นป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของแสมทะเล
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาหารของนก ประกอบกับความปลอดภัยจากการบุกรุกของคนภายนอก เป็นปัจจัยให้นกอพยพยังคงบินมาพักหนีหนาว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
"ถ้ามีที่ชุ่มน้ำมาก นกจะแวะเมืองไทยมาก ปีไหนพื้นที่ชุ่มน้ำน้อยหรือมีการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์ ถึงจะมีแหล่งอาหาร ปริมาณนกก็จะน้อยลง เมื่อบินมาก็จะผ่านไปยังที่ปลอดภัยดีกว่า นกอพยพพวกนี้สามารถปรับตัวได้ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน แต่สำคัญคือแหล่งอาหาร พอทางตอนเหนือของทวีปเข้าช่วงหน้าหนาวจะมีหิมะปกคลุม นอกจากอากาศหนาวแล้วยังทำให้นกไม่สามารถหาอาหารได้ จึงต้องอพยพย้ายถิ่นปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตรอด พอที่นั่นถึงหน้าร้อนก็จะบินกลับไปเพื่อทำรังวางไข่ในถิ่นของมัน ซึ่งตอนนั้นหิมะละลาย กลับมามีปลาตามปกติ อย่างไซบีเรียจากทุ่งน้ำแข็งก็กลายเป็นทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม"
"ความเปลี่ยนแปลงของบางปู ป่าแสมอาจจะน้อยลง ไม่ใช่เพราะมนุษย์บุกรุก แต่เป็นเพราะต่อสู้กับธรรมชาติ ต้านกระแสคลื่นลมในธรรมชาติไม่ได้ แต่โดยรวมถือว่ายังดี นกที่จะอพยพเข้ามาทุกปีเพราะมีแหล่งอาหารและปลอดภัย บางปูเป็นเขตทหาร มีการดูแลป้องกันไม่ให้มีอะไรเข้าไปรบกวน นกอพยพที่บางปูน่าจะแนวโน้มเยอะขึ้น เนื่องจากองค์กรสัตว์ป่าโลกร่วมกับกองทัพบกวางแผนเตรียมทำให้บางปูกลายเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ ที่สำคัญใกล้กรุงเทพฯทำให้มีการจัดการบริหารให้ประชาชนและนักศึกษาเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้"
เคล็ดลับดูนกให้เพลินใจ
ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคมในปีถัดไป นับเป็นระยะเวลานานหลายเดือนที่นกนางนวลอพยพพักอยู่ที่บางปู โดยระหว่างนี้นกหลายตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่อพยพมาถึง
"นกนางนวลโตเต็มที่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ตอนอพยพมาปีแรกเห็นขนอีกอย่าง พออพยพมาครั้งที่ 2 จะเห็นว่าขนโตเต็มวัย มีจุดขาวๆ 2 จุดที่ปลายปีก ต่างกับตอนที่เป็นนกเด็ก พอเข้ามีนา-เมษา โตเป็นหนุ่มจะผลัดขนบริเวณหัวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำ พร้อมที่จะกลับไปผสมพันธ์ในถิ่นเกิดของมัน" พอพลอธิบาย
ด้วยเหตุนี้ หากต้องการดูนกนางนวลอพยพให้เกิดความเพลิดเพลิน พอพลจึงแนะนำว่าควรศึกษาเรื่องของชุดขนของนกนางนวล "ดูนกให้สนุกต้องรู้ชุดขนของนก เวลาไปดูนกถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้พอเจอนกโตเต็มวัย ผลัดขนสีต่างจากนกเด็ก ก็จะงงว่าเป็นนกชนิดเดียวกันหรือไม่ ก็จะเห็นแค่ว่ามันบินไปบินมา แต่ไม่รู้ว่านกตัวนี้เป็นนกเด็ก ตัวนี้โตเต็มวัย ตัวนี้ตัวเต็มวัยเหมือนกันแต่กำลังผลัดขนเข้าสู่ฤดูผสมพันธ์ การดูนกไม่ยาก พกกล้องสองตา ยิ่งมีคู่มือดูนกช่วยได้เยอะ นอกจากนกบางอย่างที่มีลักษณะคล้ายกันจริงๆ ค่อยๆจำแนกหรือถามจากผู้รู้"
"นอกจากชอบดู แล้วยังชอบจำแนกประเภทนก แต่ช่วงหลังๆ รู้หมดแล้วว่านกแบบนี้อยู่ในวัยไหน พอรู้มากๆก็หันไปสังเกตพฤติกรรมอื่นๆ บางทีไปยืนอยู่ในที่อากาศดีๆ บางทีฟลุคเจอนกหายาก บางตัวบินมาครั้งเดียว มันเป็นความเพลิดเพลินแทนที่จะไปยืนชมวิวธรรมดา เหมือนเราชอบอะไรสักอย่าง เมื่อได้ทำสิ่งนั้นก็จะเกิดความเพลิดเพลิน นอกจากนี้การที่เราชอบไปอยู่กับธรรมชาติเป็นการต่อยอด เข้าใจวงจรชีวิตในธรรมชาติเป็นภาพรวมมากขึ้น แทนที่จะไปดูชื่นชมธรรมชาติเฉยๆ"
อย่างไรก็ตาม พอพลบอกว่าสำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนดูนก เพียงแค่ได้ยื่นกากหมูให้นกที่โฉบไปมาก็สามารถก่อให้เกิดความเพลิดเพลินได้ "ช่วงหนาวคนยืนบนสะพานเต็ม บางคนซื้อกากหมูให้กิน คือถ้าเราไม่ใช่คนดูนกเพียงโยนกากหมูให้ มันจะโฉบกินตรงนั้นเลย ถือเป็นความสนุกสนานแก่คนที่มาดู ไปให้มันกินก็มีความสุขกับการให้ นกนางนวลหากิน 2 แบบ อย่างแรกคือหากินเองตามธรรมชาติ ด้วยการหาปลาในน้ำ อีกอย่างถ้ามันขี้เกียจก็จะรอให้ถึงช่วงเวลาเย็น แล้วมารอโฉบอาหารกินจากคนมาดู
นกนางนวลกินได้ทั้งซากและสิ่งมีชีวิตจำพวกปลา อีกอย่างที่นกชอบคือกากหมู นอกจากความปลอดภัย อาจจะเป็นเพราะมีกากหมูเป็นอาหาร จึงทำให้บริเวณนี้เป็นจุดที่มีนกนางนวลเยอะที่สุดในประเทศไทยก็เป็นได้"
สำหรับช่วงเวลาการดูนกในที่โล่งที่เหมาะสมนั้น พอพลแนะนำว่าควรเป็นช่วงเวลาเช้าและช่วงเย็น "การดูนกควรจะเป็นกิจกรรมธรรมชาติที่สบายๆ ถ้าช่วงเช้าไม่ควรเกิน 9 โมง แดดอ่อนๆไม่แรงมากนัก ถ้าไปยืนดู ตอนแดดร้อนๆบริเวณสะพาน แม้จะมีนกมากแต่ก็ทำให้เบื่อได้ เย็นๆช่วงแดดร่มลมตก นกยิ่งเย็นยิ่งเยอะ"
บางปูจึงไม่เพียงเป็นสถานที่พักตากอากาศคนทั่วไป แต่ยังเป็นสถานที่พักตากอากาศของนกนางนวลอพยพและเพื่อนนกน้ำหลากหลายชนิดที่บินไกลหลายร้อยไมล์
*****
นกน้ำ VS นกเหล็ก
ลงจอดอย่างสวยงามเป็นที่เรียบร้อย สำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ทดลองใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งใหม่ ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างของหลายๆฝ่ายถึงความไม่พร้อม โดยเฉพาะความหวั่นเกรงถึงการจัดการแก้ไขปัญหานกและสัตว์นานาชนิดที่อาศัยรายรอบสนามบิน หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาโดยการนำเครื่องบินไล่นก ซึ่งก็มีหลายเสียงออกมาไม่เห็นด้วยโดยมองว่ามีผลต่อนกอพยพจากไซบีเรียใช้เส้นทางผ่านบึงบอระเพ็ด สนามบินสุวรรณ ไปยังทะเลน้อย จ.พัทลุงมาหลาย 100 ปี ในช่วงกันยายนและอพยพกลับช่วงเมษายนในปีถัดไป
สำหรับพื้นที่พักตากอากาศบางปู สมุทรปราการซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับบางนา จะเกิดปัญหาหรือไม่หากนกอพยพเข้ามา พอพลอธิบายว่าเส้นทางบินไม่มีผลกระทบต่อการอพยพของนกที่บางปู เนื่องจากเส้นทางอพยพของนกอพยพบางปูนั้นเป็นคนละเส้นทางกับการบินของสนามบินฯ
ในส่วนของความเป็นไปได้ที่นกน้ำอาศัยรอบๆสนามบินสุวรรณภูมิจะย้ายถิ่นมาอยู่บางปูแทนได้หรือไม่นั้น พอพลให้เหตุผลว่า "แถวบางนา สมุทรปราการมีความเด่นในเรื่องของนกน้ำประจำถิ่น แต่ดั้งเดิมเป็นบ่อปลาและทุ่งนาซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่นกชอบ ทำให้มีปริมาณนกอาศัยอยู่เยอะ ทุกวันนี้ตามบ่อปลาหรือบ่อกุ้งร้างยังมีปริมาณมากอยู่ หนองงูเห่าแต่เดิมเป็นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ทำให้มีนกเข้ามาอาศัยจำนวนหมื่นๆ แต่พอพื้นที่ชุ่มน้ำโดนถม ไม่มีที่อยู่ นกก็มีการปรับปริมาณลดลง พื้นที่ทำรังวางไข่ หาอาหารน้อยลง นกก็มีจำนวนน้อยลงตามสภาพพื้นที่ แต่ปัจจุบันรอบๆสนามบินยังคงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีท้องนา ทำให้นกยังคงหากิน บินอยู่ละแวกเดิม ซึ่งเป็นถิ่นหากินของนก ยากที่จะแก้ปัญหามิให้นกอาศัยใกล้ๆสนามบิน เว้นเสียแต่ว่าพื้นที่รอบๆสนามบินจะเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมด ปราศจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งก็คงอีกนาน"
"คิดว่านกคงไม่อพยพมาอยู่บางปู เพราะนกคงชินกับสภาพไปโดยปริยาย พื้นที่ตรงนั้นมีการถมและก่อสร้างมานาน นกที่อยู่เดิมก็จะอยู่รอบๆบริเวณ นกที่เป็นปัญหาและกังวลกันมากคือนกปากห่าง ตัวใหญ่ บินสูง แต่จริงๆแล้วนกประเภทนี้ ชาวนาชอบ เพราะมันกินหอยโข่ง หอยเชอรี่ในนา แต่ก่อนนกปากห่างไม่เยอะขนาดนี้ เพิ่มปริมาณตามหอยเชอรี่ที่มีมาก"
สำหรับ ธีรยุทธ เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบางปูแสดงความเห็นคล้ายกันว่า "นกปากห่างที่เป็นปัญหาในสนามบินสุวรรณภูมิชอบกินหอยเชอรี่คงไม่อพยพมาบางปู ถ้าจะย้ายถิ่นคงไปอยู่ตามท้องทุ่งมากกว่า แต่ถ้าเป็นนกยางอาจจะเป็นไปได้ที่จะอพยพมาบางปู"
//////////
เรื่อง - ศิริญญา มงคลวัจน์
ภาพ - อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์/ พอพล นนทภา