10 ปีที่แล้ววงการเพลงในบ้านเราได้รู้จักการทำงานเพลงในรูปแบบที่เรียกกันว่า "อินดี้"
10 ปีที่แล้วคือช่วงเวลาที่เบ่งบานของวงการเพลงแบบ "อินดี้" ในบ้านเรา
แม้จะผลิบานอยู่ไม่นาน แม้จะไม่ฮือฮาเหมือน 10 ปีที่แล้วแต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา "อินดี้" ก็ยังคงอยู่
วันนี้ "อินดี้" กลับมาอีกครั้งหนึ่ง กลับมาพร้อมกับความหลากหลายทั้งในรูปแบบของการดำเนินธุรกิจและรูปแบบของดนตรี จนก่อให้เกิดคำถามที่น่าสนใจมากมาย...
*"สมอลรูม" กับโลกเล็กๆ ในการทำงาน
จากความล้มเหลวเมื่อครั้งที่ผ่านมาเปรียบเหมือนกับประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผู้ชายคนนี้ "รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์" อดีตหนุ่มบริทป็อป มือเบสวง CRUB ที่ออกผลงานชุด VIEW เมื่อปี 2537 และเป็นเจ้าของค่ายเบอร์แรก ที่ส่งวงดังอย่าง "สี่เต่าเธอ" มาเปิดโลกใหม่ๆ ให้คนฟังในตอนนั้น
11 ปีต่อมา "รุ่งโรจน์" ได้กลับมาอีกครั้ง กับห้องดนตรีเล็กๆ ที่สั่งสมนักดนตรีมากคุณภาพอย่าง SMALLROOM
"ก่อนที่เราจะทำสมอลรูม เราเคยเจอปัญหามาบ้าง เลยนำมาปรับใช้ พอมาตอนนี้เลยไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่คีย์ในการทำสมอลรูม ประเด็นหลักอยู่ที่เงิน เงินในช่วงแรกมาจากการที่เราทำเพลงประกอบโฆษณา แล้วเอามาลงทุนทำอัลบั้มกัน ค่ายเพลงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ ผมคิดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องนี้"
"และการทำค่ายเพลง คือมันหมายความว่าเราจะต้องมีคนมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น มิเช่นนั้นมันจะเกิดการไม่ถูกต้อง ถ้าทำให้มันเป็นจริงเป็นจัง มันต้องมีค่าใช้จ่ายนะครับ"
ถึงแม้ว่าจำนวนตัวเลข และ เรื่องยอดขาย ยังเป็นปัญหาหลัก สำหรับค่ายเพลงอินดี้ ด้วยการจำกัดพื้นที่ในการโปรโมตศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นเวทีคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งพื้นที่บนหน้าปัดวิทยุที่กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลต่อยอดขายซีดีโดยตรงรวมไปถึงการแทรกซึมของค่ายใหญ่ ที่เข้าไปจับจองสถานีวิทยุ โดยยึดถือผลประโยชน์มาเป็นอันดับหนึ่ง จนหลายคนมองว่าสิ่งนี้เอง ทำให้คนฟังขาดทางเลือกสำหรับการฟังดนตรี
"สำหรับเรื่องยอดขาย ขนาดวงอินดี้ที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียง มียอดขายจริงๆ ไม่เยอะเท่าไหร่หรอกครับ และรายได้ที่มาจากการเล่นคอนเสิร์ต ไม่ได้มีเข้ามาบ่อยๆ และตอนนี้ ทุกอย่างมันต้องอาศัยเวลาครับ และการที่วงดนตรีวงหนึ่ง จะมีชื่อเสียงขึ้นมา มันต้องใช้เวลามากถึง 3- 5 ปี แต่บางคนอาจจะดังตั้งแต่อัลบั้มแรกเลยก็ได้ เท่าที่ผมสังเกต"
"อย่างวงของผมเอง ยังต้องออกมาถึง 2 ซีดี กว่าจะมามีชื่อเสียง คือผมคิดว่าถ้าวงไหน ที่สามารถรักษาระดับ และอยู่กันนานได้ มันเป็นเรื่องที่ดี สำหรับวงที่จะขึ้นมาใหม่ในตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากเลยน่ะ ทั้งสถานที่ที่จะเล่น ให้แสดงออกมันมีน้อยเกินไป" ตุล นักร้องนำวงฟังค์-ร็อกหนึ่งเดียวในเมืองไทยอย่าง "อพาร์ตเม้นต์คุณป้า" กล่าว
*เทคโนโลยีกว้าง - ศิลปะแคบ
นักร้องหนุ่มยังได้ออกมาพูดถึงการการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ที่ทำให้เสน่ห์ของการฟังเพลงลดน้อยลง เพราะคนฟังเพลงยุคใหม่ ไม่ได้เอาไลฟ์สไตล์ของตัวเองมาผูกติดกับดนตรีเหมือนดังเช่นเมื่อก่อน ที่มองเพลงเป็นเรื่องของการสะสมและมีคุณค่าทางจิตใจ ในขณะที่ เครื่องเล่นเอ็มพี 3 หรือ ไอ พอด กลายเป็นเครื่องมือสกัดยอดขายซีดีที่น่าจับตามอง
"ทุกวันนี้ เพลงมันก็เป็นแค่เพลง มันถูกมองว่าเป็นแค่นั้นไปแล้ว มันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและยุคสมัยที่พัฒนาขึ้น มันทำให้เราทำดนตรีได้ง่าย"
"อะไรที่มันง่าย บางคนอาจไม่รู้สึกเสียดายเลยหรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่ทราบ แต่สำหรับผมยังเป็นคนที่เลือกจะเก็บเพลงเป็นซีดีและแผ่นเสียงอยู่ มันได้อารมณ์มากกว่า มันไม่ใช่สิ่งสูญหาย ผมว่าบางทีเทคโนโลยีมันทำลายเสน่ห์ของการฟังเพลงไปหมด อย่างสมัยก่อน อัลบั้มที่เราชอบ วางแผงวันแรก แล้วเราไปยืนรอ มันให้ความรู้สึกตื่นเต้นมาก ซึ่งการบริโภคที่ดีหมายถึงการซื้อนะครับ มันน้อยลงไปเยอะ คือเขามีทางเลือกด้วยการดาวน์โหลดเพลงเพื่อเอาไปฟัง"
*อดีตอันแสนสั้นสู่ปัจจุบันที่หลากหลาย
เมื่อเรามองย้อนกลับไปถึงสมัยที่ดอกอินดี้กำลังเบ่งบานครั้งแรกในช่วงปี 2537 เราทุกคนต่างตื่นเต้นกับวงดนตรีนอกกระแสอย่าง "โมเดิร์นด็อก" หลงรักเพลงโรแมนติกของ "พราว" ก่อให้เกิดกระแสเพลงในรูปแบบของอัลเทอร์เนทีฟ
ความสดของดนตรี และลูกบ้าของศิลปินที่ดึงดูดคนฟังให้ก้าวเข้าโลกใบใหม่ ที่แปลกและแตกต่างไปจากเดิม แต่น่าเสียดายที่ความสนุกของยุคอัลเทอร์เนทีฟมีระยะเวลาสั้นเหลือเกิน เพราะจากจำนวนของศิลปินที่ออกมามากมาย สวนทางกับตลาดคนฟังที่มีแค่เฉพาะกลุ่ม รวมไปถึงการทำเพลงตามใจฉัน โดยไม่ได้คำนึงถึงรสนิยมการฟังเพลงของคนหมู่มาก
"ผมมองว่ากระแสเพลงอินดี้เมื่อสิบปีที่แล้ว ยังไม่มีคำว่าประสบการณ์มาเกี่ยวข้อง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนั้น มันเหมือนเป็นการลองผิดลองถูก"...เจ้าของค่ายสมอลรูมเล่า
"สำหรับคนที่ทำเพลงแนวนี้อยู่ คงได้กรณีศึกษาไปเยอะ และคิดว่านี่เป็นผลดีสำหรับผู้ประกอบการเพลงอินดี้ ทั้งเจ้าของค่าย และตัวศิลปินเอง ผมคิดว่าจังหวะที่สมอลรูมโตขึ้นมาได้มันมีคนมาจุดประกายแน่ๆ ซึ่งในตอนนั้นผมไม่อยากทำค่ายแล้ว และการบิวท์กับระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งกับการนำเสนอของสื่อ และคนที่มีไฟในการทำเพลง ที่แปลก ไม่เหมือนใคร และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง"
"ผมมองว่าเรื่องนี้มันมีความสัมพันธ์กันครับ และสมอลรูมในทุกวันนี้ ผมเปรียบได้กับสิ่งมีชีวิตประจำวัน มันคงเหมือนต้นไม้ บางทีมันก็ดูเหมือน มันไม่สูงขึ้นเลย แต่มันก็ยังไม่ตาย (หัวเราะ) คือมันก็โตแหละ แต่มันโตมาในรูปแบบของต้นไม้นั้นๆ ผมเชื่ออย่างนั้นน่ะ เพราะว่า วงการเพลงบ้านเรามันก็โตขึ้นเยอะด้วย"
สำหรับการกลับมาอีกครั้งของเพลงอินดี้ ที่คราวนี้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น และได้รับเสียงสนับสนุนจากนักฟังเพลงรุ่นใหม่ ที่แสวงหาความต่างเฉพาะตัว ดังนั้นทั้งศิลปิน และเจ้าของค่ายเพลงต่างพากันงัดกลยุทธ์ที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนฟัง แต่สำหรับ "อพาร์ตเม้นต์คุณป้า" พวกเขาเลือกวิธีการตรงไปตรงมา แบบ Direct Sale เพื่อให้คนฟังได้สัมผัสความมันและความสดของดนตรีแบบเต็มอิ่ม
"ผมคิดว่าอินดี้ควรมีการวางแผนการตลาด เพียงแต่การตลาดมันต้องยืดหยุ่นได้ เพราะค่ายอินดี้ไม่สามารถทำเท่าค่ายใหญ่ได้ สำหรับอินดี้ผมคิดว่า การเดินทางตระเวนเล่นคอนเสิร์ตให้มากที่สุด นั่นคือแผนการตลาดสำหรับอินดี้เหมือนกัน อย่างวงผมแผนการตลาดของเรา มันเหมือนเป็นการ DIRECT SALES นะครับ คือขายตรง โชว์ทุกครั้งของเราผมพยายามจะให้มัน ให้พวกเราสนุก เข้าใกล้คนดูให้มากที่สุด"
"มันเหมือนกับการที่พวกเราเป็นสาวยาคูลท์นะครับ ใครที่กินยาคูลท์เป็นประจำจะรู้ว่า ในเซเว่นไม่มีขาย แต่ว่ายาคูลท์รสชาติคลาสสิก ต้องมาส่งที่บ้านเท่านั้น"
ปัจจุบันเพลงอินดี้ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมทางดนตรีอย่างมากมายรวมไปถึงการใช้ชีวิต และ ไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว ในรูปแบบของเด็กแนว ที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยมตอนนี้ และปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าพวกเขาเป็นแรงขับเคลื่อน ที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมวัยรุ่นที่ชัดเจนและน่าจับตามอง
สำหรับเรื่องนี้ รุ่งโรจน์สังเกตได้ว่า....
"มองจากภายนอก เคยสังเกตแล้วรู้สึกว่า เป็นผู้เป็นคนมากกว่าเด็กอัลเทอร์เนทีฟในยุคนั้น เพราะในยุคนั้น มันจะมีทั้งผมทอง หลากสี อะไรก็แล้วแต่ มันเห็นได้ด้วยตาเปล่าใช่ไหม รวมถึงการแต่งตัวที่แปลกประหลาด และส่วนใหญ่เด็กแนวในตอนนี้ มันจะออกไปทางเด็กเรียนศิลปะด้วยน่ะ"
"ถามว่ารู้สึกดีไหม ถ้าดูจากภายนอก ก็ดีนะครับ แต่เห็นแล้วรู้สึกว่าเด็กพวกนี้ วาดรูปเก่งมากเลยอ่ะ และมันอาจจะดีกับประเทศเลยน่ะว่าเด็กรุ่นใหม่ที่ดูอาร์ตแล้ววาดรูปเก่งขึ้นเยอะ ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเฟก แต่แค่รู้สึกว่า เด็กวัยรุ่นเรารักศิลปะมากขึ้นเว้ย(หัวเราะ) แต่เวลาที่พวกเขาไปดูคอนเสิร์ต ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันแตกต่างกับเมื่อก่อนเท่าไหร่ เพราะเพลงมันแบบสุดโต่ง"
"ถ้าดูจากวงในยุคปัจจุบันนี้ อย่าง วงอวสานเซลส์แมน เพลงแบบหนักไปทางสุดโต่งนิดนึง คนดูก็จะยืนนิ่ง เหมือนดูเอ็กซิบิชั่นอะไรสักอย่าง ซึ่งไม่แปลกอะไร เราเข้าใจได้ ดนตรีแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับการออกสเต็ป (หัวเราะ)ครับ"
ถึงแม้ว่า ความแปลก แตกต่าง และไม่เหมือนใคร ได้กลายเป็นตราสัญลักษณ์ติดตัวศิลปินและค่ายเพลงอินดี้กันไปแล้ว บางคนมองว่าพวกเขาเป็นสินค้าที่ฉาบฉวย เป็นแค่เทรนด์หนึ่งของคนฟังเพลงที่มีวันหมดอายุ แต่มีหลายวงที่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นมากกว่าแค่วงร็อกตามกระแส นั่นก็คือ โมเดิร์นด็อก
เป็นเวลานับสิบปี ที่พวกเขาอยู่ในวงการเพลงได้อย่างมั่นคง โดยที่ไม่ง้อค่ายใหญ่แม่แต่น้อย ซึ่งความสำเร็จในตรงจุดนี้ การันตีความสามารถ บวกอุดมการณ์ ของหนุ่มๆ กลุ่มนี้ที่รักและซื่อสัตย์ต่อดนตรีของตัวเองอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับวงอย่าง บิ๊ก แอส และ บอดี้สแลม ที่สั่งสมประสบการณ์จากค่ายเล็ก จนเติบโตอย่างมั่นคงในค่ายใหญ่ และไม่โดนธุรกิจบิดเบือนงานเพลงของพวกเขาไปมากนัก
และสำหรับวัยรุ่นที่มีความฝันที่จะมายืนตรงจุดนี้ ความอดทน คือคุณสมบัติแรก ที่ควรพกติดตัวอยู่เสมอ โดย "ตุลย์" นักร้องนำคนเดิมให้ทัศนะในเรื่องนี้ว่า
"ผมคิดว่าสิ่งที่จำเป็น คือเราต้องมีความอดทนนะฮะ ถ้าคุณไม่ประสบความสำเร็จ คุณต้องยอมรับในจุดนี้ให้ได้ เราเล่นดนตรีเพราะเรารักดนตรี ไม่ใช่เพราะว่าอย่างอื่น ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราตะบี้ตะบันทำต่อ มันเป็นได้อยู่สองอย่าง อย่างแรกคือทำๆ ไป สักวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จ"
"อย่างที่สองคือเราตะบี้ ตะบันทำไป มันอาจไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ เพลงคุณอาจจะไม่ดีจริงๆเลยก็ได้ ผมว่าดนตรี มันก็คือดนตรี ถึงแม้ว่ามันไม่ดี ก็อย่าหยุดเล่น ผมคิดว่าคนที่เล่นดนตรี ต้องยอมรับอย่างหนึ่งตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่าถึงแม้ว่างานเราจะไม่ดี ขายไม่ได้ เราก็ต้องเล่นดนตรีกันต่อไป เพราะมันคือสิ่งที่เรารักและชอบครับ"
*อินดี้ในมุมของ "นินจา"
"ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์" ที่รู้จักกันดีในนาม "ชนินทร์ นินจา (รีเทิร์น)" เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในแวดวงอินดี้มาก่อน ซึ่งในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเพลงอินดี้ที่เกิดขึ้นในบ้านเราความคิดเห็นของชายคนนี้ก็ดูจะเป็นอีกแง่คิดหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ที่ว่าต่อไปทิศทางของเพลง "อินดี้" จะเป็นไปในทางไหน?
จะบูมขึ้นมาอีกครั้งและดับลงไปเหมือนเมื่อยุค 10 ปีก่อนหรือไม่?
"เท่าที่ผมรู้ตอนนี้ "อินดี้" มันเป็นกระแสทั้งโลกที่คนรุ่นใหม่พยายามมีอะไรเป็นของเขาเอง ไม่ต้องพูดถึงแค่เรื่องดนตรีนะครับ เขาพยายามมีวัฒนธรรมบันเทิงของเขาเองไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ,ศิลปะ แล้วเขามีเครื่องมือสื่อสารโดยที่เขาสื่อสารกันได้โดยผ่านอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นสังคมของเขามันก็เลยแข็งแรงกว่าคนรุ่นก่อนเพราะเขาเกาะกลุ่มกันได้ ดังนั้นตรงนี้จะคงอยู่ไปได้เรื่อยๆ เป็นไปได้ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นอาณาจักรได้"
ย้อนถาม ชนินทร์ ถึงความหมายของคำว่าค่ายเพลง "อินดี้" ในความคิดของเขาคืออะไร เขาบอกเล่าให้เราฟังว่าถ้าเป็นสมัยก่อนประมาณ 10 ปีที่แล้วการทำอินดี้มาจาก independent ซึ่งหมายถึงความ "อิสระ" ที่คนดนตรีไม่สามารถทานทนกับการทำงานที่บีบคั้นจากเจ้าของค่ายเพลงได้ พวกเขาขาดอิสระในการทำเพลงของตัวเองจึงต้องแยกตัวออกตั้งค่ายเอง ทั้งๆที่ไม่มีสื่อเป็นของตัวเอง
"มันก็เหมือนหนังสือพิมพ์มติชนเหมือนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายวันนี่แหละ อิสระอะไร อิสระทางความคิด อิสระทางการทำงาน อินดี้เกิดมาจากวิธีการทำธุรกิจที่กลุ่มคนดนตรีกลุ่มหนึ่งไม่อยากจะเป็นทาสหรือสยบกับพวกนายทุนที่เป็นเจ้าของสื่อเยอะๆ แล้วมาบังคับการทำงานพวกเขา มากำหนดวิธีการทำงานให้กับพวกเขา เขาก็เลยแยกตัวออกมาทำค่ายเพลงเล็กๆแล้วก็ดิ้นรนกันเองโดยเรียกกลุ่มพวกเขาเองว่า "อินดี้ มิวสิค", "อินดี้ เรคคอร์ด" ก็คือทำแผ่นเสียงแบบ independent ไม่ขึ้นตรงกับนายทุน"
"คนที่ทำเพลงในลักษณะที่ไม่มีสื่อเนี่ยเขาก็เรียกคนพวกนี้ว่าอินดี้ คือคนพวกนี้เขาจะไม่มีสื่อเป็นของตัวเอง วิธีการทำงานของพวกเขา เขาทำเพลงเสร็จเขาก็จะใช้วิธีกองโจรในการแพร่เพลง เช่น อาศัยการเล่นตามโรงเรียนเป็นแคมปัส ทัวร์ การทำโปสเตอร์อะไรก็ตามแล้วแต่"
แต่พอมาวันนี้เนี่ยอินดี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว อินดี้ในยุคใหม่เป็นเรื่องของรสนิยม อินดี้เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต และในการทำงาน
"เพราะว่าคุณรู้มั้ยวันนี้คนทำเพลงอินดี้บางคนมีแบ็กกราวนด์ มีตระกูลรวยกว่าคนที่ทำค่ายเพลงใหญ่อีก มาจากคนที่มีสตังค์เยอะๆ ด้วยซ้ำ ผมถามว่าทุกวันนี้ผู้บริหารค่ายอินดี้บางค่ายรวยมั้ยล่ะ แต่เมื่อก่อนเนี่ยคนทำอินดี้มากจากนักดนตรีที่ไม่มีตังค์ ไม่มีทุน มีแต่ฝีมือแต่วันนี้มันไม่ใช่แล้วไง มันคละกันไปหมดแล้ว เพียงแต่คนมีตังค์ คนมีการศึกษาเหล่านี้เป็นคนมีรสนิยม แล้วมีความรู้สึกว่าค่ายเพลงใหญ่ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถตอบสนองรสนิยมที่เขามีได้ เขาก็อยากจะทำเพลงในแบบที่เขาอยากฟัง อยากนำเสนอเองไปตั้งค่ายเพลงเอง คนทุกคนก็คงเรียกพวกเขาว่าอินดี้อยู่"
"คำว่าเพลงอินดี้ในความหมายของผมเนี่ยไม่รู้ว่าเป็นค่ายรึเปล่า ผมว่าอินดี้มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องของขนาดหรือว่าไม่ใช่เรื่องของคนฟัง ไม่ใช่เรื่องของสไตล์เพลงแต่มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มันเกิดขึ้นในการเสพความบันเทิง คือคนที่เป็นอินดี้เกิดมาจากว่าเขามีความรู้สึกว่าเขาขาดอิสระในการเลือกฟังหรือเลือกเสพ เขาก็เลยพยายามหาช่องว่างในการเสพหรือสร้างงาน มันก็เลยเกิดการทำงานของกลุ่มคนทำงานและกลุ่มคนเสพ แล้วก็กลายเป็นเรื่องของอินดี้"
เพลงอินดี้เป็นเพลงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำเพลงของสูตรตายตัว ไม่ต้องมีท่อนฮุกก็ได้หรืออาจจะมีก็ได้ อาจจะมีความยาวมากกว่าความยาวโดยปกติทั่วไปก็ได้ เนื้อหาอาจจะไม่จำเป็นที่เป็นเรื่องของความรักก็ได้ แม้กระทั่งการตั้งชื่อวงเช่น "อพาร์ตเมนต์คุณป้า" ก็เป็นการตั้งชื่อในแบบที่เรียกว่าอินดี้ได้
"ถ้าเป็นการทำงานเพลงป็อปทั่วไปคงไม่มีใครตั้งชื่อวงแบบนี้นะครับเพราะว่า 1. มันไม่ติดปากง่าย 2. มันเป็นอะไรที่ดูแล้วไม่มีความหมาย นี่ก็เลยเป็นที่มาที่ไปของอินดี้ในความเข้าใจของผม ถามว่าถูกหรือเปล่าผมไม่รู้ผิดหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ฉะนั้นถ้าจะเอาอินดี้ไปเปรียบเทียบอะไรกับอะไรผมจะเปรียบเทียบโดยกรอบแบบนี้ครับ"
มีคำถามตามมาว่าแล้วอย่างค่ายสนามหลวง ในเครือ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ นั้นเป็นค่ายเพลงอินดี้ในรูปแบบใด "ชนินทร์" อธิบายว่าเป็นอินดี้ในลักษณะของการทำงาน
"คือสนามหลวงเนี่ยในแกรมมี่คืออินดี้ในการทำธุรกิจคือทำธุรกิจกันแบบอินดี้ ฉะนั้นการไปอยู่ในแกรมมี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันก็เป็นอินดี้อยู่ดี แกรมมี่ตั้งสนามหลวงขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้นักดนตรีสามารถนำเพลงนำความสามารถมานำเสนอได้ในแบบอินดี้"
"ถ้าเมื่อก่อนคุณต้องมาเซ็นสัญญาเข้าค่ายถูกมั้ยครับ แล้วคุณก็ต้องเอาเพลงมาให้ค่ายเพลงมีการอัปพรูฟต่างๆนานาเยอะไปหมดเลยก็เลยทำให้คนทำดนตรีขาดอิสระทางความคิด วิธีการทำงานแบบอินดี้ของสนามหลวงก็คือคุณเอาเพลงมาแล้วมาเจอกันถ้าเจอกันได้ปั๊บเขาก็ไม่แก้ไขงานคุณเลย เขาก็นำเสนองานคุณไปแล้วก็ตกลงเรื่องผลประโยชน์กันชัดเจน"
ให้ลองเปรียบเทียบเพลงอินดี้ในยุคนี้กับยุคเมื่อ 10 ปีก่อน ชนินทร์ออกตัวว่าเขาไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าอันไหนดีกว่ากัน แต่ในความคิดของเขาชนินทร์บอกว่าคนทำงานเพลงอินดี้ยุคนี้ส่วนใหญ่มีความคิดสร้างสรรค์ดีกว่าเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน แต่ในด้านฝีไม้ลายมือหรือความชำนาญในเรื่องของดนตรีอาจจะสู้คนยุคที่แล้วไม่ได้
"ที่สู้ไม่ได้เพราะว่าคนรุ่นนี้โตขึ้นมากับสิ่งอำนวยความสะดวกจากเครื่องมือและเทคโนโลยี เหมือนเด็กมหาวิทยาลัยสมัยนี้จะทนความลำบากและความกดดันสู้คนสมัยก่อนไม่ได้ แต่ถามว่าฉลาดกว่ามั้ย ฉลาดกว่า เพราะว่าได้เห็นอะไรมากกว่าโดยผ่านสื่อต่างๆแต่พวกเขาอาจจะไม่เคยอยู่ในภาวะกดดันต่างๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของคุณภาพเพลงจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะมันเด่นกันคนละแบบ แต่อย่างหนึ่งที่ชัดๆเลยเพลงอินดี้ยุคนี้ความคิดสร้างสรรค์ดีกว่าแน่นอน"
"การที่เมื่อยุค 10 ปีที่แล้ว วง"พราว" , "เดอะ มัสต์" หรือ "โมเดิร์น ด็อก" มันบูมมากและได้ตายลงไปในช่วงหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติของยุคสมัยของธุรกิจบันเทิง พอถึงเวลาๆหนึ่งมันก็ต้องตายลงไป แล้วในยุคนั้นเนี่ยเนื่องจากเขาไม่มีสื่อของเขาเองในที่สุดเขาจะสู้ไม่ได้"
"จริงๆ แล้วผมอยากจะบอกว่าไม่เห็นต้องแคร์ที่จะเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นด้วยซ้ำ ผมก็แปลกใจว่าเราจะมาพูดกันทำไมว่าอินดี้ไม่อินดี้ มันไม่ได้มีประโยชน์ต่อคนฟังน่ะ อินดี้มันก็เรื่องของความบันเทิงๆ หนึ่งน่ะ คือเรื่องของความพยายามของคนรุ่นใหม่เท่านั้นเองน่ะ..." ชนินทร์ บอกทิ้งท้าย
************
เรื่องโดย- สุวิมล สุนากร