xs
xsm
sm
md
lg

'นิติจิตเวช' ตรวจพิสูจน์ฆาตกรโรคจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'นิติจิตเวช' แพทย์ที่ถือทั้งเข็มฉีดยาและตาชั่ง มีหน้าที่ทั้งบำบัดรักษาและผดุงความยุติธรรม คดีดังๆที่เชื่อว่า ผู้ต้องหาน่าจะมีความผิดปกติทางจิต ไม่ว่าจะเป็น มือมีด'จิตรลดา' ,ฆาตกรต่อเนื่อง 'สมคิด พุ่มพวง', แม่-ป้า ฆ่าลูกบูชาพระอินทร์ หรือ คดี'ซีอุย 2' พี่ฆ่าน้องกินเครื่องใน ล้วนถูกส่งตัวมาให้หน่วยงานนี้ตรวจพิสูจน์ทั้งสิ้น แพทย์เหล่านี้คือผู้ชี้และฟันธง บ้า หรือ แกล้งบ้า?


*ย้อนรอยคดีดัง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีคดีสะเทือนขวัญที่ผู้ต้องหามีอาการคล้ายคนโรคจิตเกิดขึ้นหลายต่อหลายคดี เริ่มจาก 26 ส.ค 2547 เกิดเหตุสยองขวัญที่กล่าวขานกันว่าเป็นคดี 'ซีอุย 2' โดยนายสุริยา โพธิแสง อายุ 19 ปี อยู่ที่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ฆ่า ด.ช.ลิขิต โพธิแสง ซึ่งเป็นน้องชาย แล้วควักหัวใจ ตับ และไส้ ออกมากิน จากการตรวจสอบพบว่านายสุริยามีอาการทางประสาท เนื่องจากเคยติดยาเสพติด ชอบฆ่าและกินสัตว์สดๆ ทั้ง หมา แมว ไก่ งู จิ้งจก ตุ๊กแก หลังก่อเหตุนายสุริยาถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ถัดมา 4 ต.ค. 2547 เกิดคดีสะเทือนขวัญ 'แม่ฆ่าลูกบูชาพระอินทร์' ซึ่ง ด.ญ.ประภัสสร เจียมเจริญ อายุ 12 ปี อยู่ที่ ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ถูกคนในครอบครัว คือนางกาญจนา เจียมเจริญ ผู้เป็นแม่ ซึ่งอ้างว่าเป็นร่างทรงพระอินทร์ นางอนงค์ เจียมเจริญ มีศักดิ์เป็นป้า อ้างเป็นร่างทรงพระอาทิตย์ นางจรินทร์ เจียมเจริญ น้าสาว และนางบัว เจียมเจริญ ผู้เป็นยาย ร่วมกันฆ่า โดยใช้มีดปาดคอตายอย่างสยดสยองภายในบ้าน

หลังเกิดเหตุตำรวจเข้าจับกุมคนทั้งหมด พบว่าภายในบ้านคล้ายมีการประกอบพิธีกรรม โดยนางกาญจนาอ้างว่าสาเหตุที่ฆ่าลูกสาวเพื่อต้องการปลดปล่อยวิญญาณไปให้พระอินทร์ ซึ่งตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหานางกาญจนา และนางอนงค์ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนนางบัวและนางจรินทร์ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา เพราะไม่ได้ลงมือฆ่า จากนั้นได้ส่งตัวทั้งหมดไปที่ 'สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์' เพื่อรักษาและดูอาการ เนื่องจากพบว่าทั้งหมดมีอาการทางประสาท

ต้นปี 2548 เกิดคดี 'ฆาตกรต่อเนื่อง' คดีที่ 2 ของประเทศไทย หลังจากคดี'ซีอุย' เมื่อ 41 ปีก่อน โดย นายสมคิด พุ่มพวง อายุ 41 ปี ชาว จ.ตรัง ก่อเหตุฆ่าหมอนวดถึง 5 ศพ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือ 30 ม.ค. ฆ่า น.ส.วารุณี พิมพะบุตร ภายในห้องพักโรงแรมพลอย พาเลซ จ.มุกดาหาร ต่อมาวันที่ 4 มิ.ย. ก่อเหตุฆ่า น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย ที่โรงแรมเวียงละคอน จ.ลำปาง

วันที่ 11 มิ.ย. ฆ่านางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จ.ตรัง วันที่ 18 มิ.ย. ฆ่า น.ส.พร ตะวัน ปังคะบุตร ในโรงแรมเจริญศรีแกรนด์ จ.อุดรธานี และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20-21 มิ.ย. ก่อคดีฆ่า น.ส. สมปอง พิมพรภิรมย์ ในห้องพัก 221 ปิยะแมนชั่น จ.บุรีรัมย์ ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย. 2548 สมคิดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบจับตัวได้ และตั้งข้อหาชิงทรัพย์และฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

โดยคดีต่างๆผู้ต้องหาจะทำการติดต่อเหยื่อมาร่วมหลับนอนด้วย เมื่อมีการร่วมประเวณีแล้วฆ่าเหยื่อถึงแก่ความตาย และนำทรัพย์สินของผู้ตายหลบหนีไป ซึ่งพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ อีกทั้งเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ จึงขอคัดค้านการประกันตัว ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังและให้รับตัวผู้ต้องหากลับไปสอบสวนต่อ แต่เนื่องจากคดีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าคนร้ายมีอาการทางจิตหรือไม่ 'สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์'จึงส่งแพทย์เข้าไปทำการตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีอาการของผู้ป่วยโรคจิต แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่านายสมคิดเป็นโรคจิตหรือไม่

ล่าสุดวันที่ 9 ก.ย. 2548 คดี 'มือมีดจิตรลดา' โดย น.ส.จิตรลดา ตันติวาณิชยสุข ได้ใช้มีดไล่แทงนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนแวนต์ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ในวันต่อมา ซึ่งจากคำให้การของพยานแวดล้อม และคำให้การของ น.ส.จิตรลดา ที่อ้างว่าได้ยินเสียงสั่งจากสวรรค์ ที่สั่งให้ทำร้ายคนแขกและคนจีนที่มีฐานะร่ำรวย เจ้าหน้าที่จึงมีความเห็นว่า น.ส.จิตรลดา มีอาการทางจิต จึงให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าอาการป่วยแบบ 'จิตเภท' แต่ต้องดูอาการและพิสูจน์ต่อไปว่าขณะก่อเหตุรู้ตัวหรือไม่

*ภารกิจของ'นิติจิตเวช'

จะเห็นได้ว่า 'สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์' หรือชื่อเดิมว่า 'โรงพยาบาลนิติจิตเวช' เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบและบำบัดรักษาผู้ต้องหาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโรคจิต อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่มีผลต่อกระบวนการทางกฎหมายและรูปคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลการตรวจสอบของแพทย์ด้านนิติจิตเวชแห่งสถาบันกัลยาฯ นั้นถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นความเห็นของ 'พยานผู้เชี่ยวชาญ' ซึ่งศาลจะนำไปประกอบการพิจารณาคดี

ซึ่งบทบาทของ 'นิติจิตเวช' หรือ 'นิติจิตแพทย์' นั้นเริ่มตั้งแต่ การตรวจสอบ ประเมินสุขภาพจิต และให้การวินิจฉัยผู้ต้องหารายนั้นๆว่ามีอาการทางจิตหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และเป็นอาการประเภทใด โดยต้องทำงานร่วมกับพยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักอาชีวบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อให้เกิดพิจารณาข้อมูลต่างๆอย่างรอบด้าน ลดอคติที่อาจเกิดจากความสัมพันธ์กับผู้ป่วย เพราะโดยธรรมชาติแพทย์มักจะรู้สึกสงสารเห็นใจผู้ป่วย ซึ่งระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์นั้นจะอยู่ที่ 2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น แล้วแต่กรณี

ซึ่งผลการวินิจฉัยอาจส่งผลให้ผู้ต้องหาได้รับการยกเว้นโทษ หรือลดหย่อนโทษ หากเห็นว่าผู้ต้องหามีอาการทางจิตขณะก่อเหตุ หรือผัดผ่อนการรับโทษในกรณีที่เห็นว่าควรนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อนขึ้นสู่คดีในชั้นศาล จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้องบางรายพยายามใช้ประเด็นนี้มาหักล้างเพื่อให้พ้นผิด และพบว่ามีผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยที่ 'แกล้งบ้า' เพื่อจะได้ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งพบมากในผู้ต้องหาคดียาเสพติด

ทั้งนี้ หลังจากที่นิติจิตแพทย์ให้การวินิจฉัยและขึ้นเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาลแล้ว หากเป็นกรณีที่คนไข้มีอาการทางจิตหรือประสาท แต่รู้ตัวขณะก่อเหตุและศาลพิพากษาให้ต้องรับโทษ นิติจิตแพทย์จะเข้าไปดูแลและรักษาบำบัดที่เรือนจำ แต่หากศาลวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษเพราะมีอาการทางจิต หรือให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อนสู้คดี นิติจิตแพทย์ก็มีหน้าที่บำบัดรักษาผู้ป่วยต่อไป

*ผิดไม่ผิดอยู่ที่ ขณะก่อเหตุรู้ตัวหรือไม่

จากการพูดคุยกับ อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งกำกับดูแลการทำงานของ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พบว่างานของนิติจิตเวชนั้นเป็นงานหนัก เพราะนอกจากจะมุ่งบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิต ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและผู้ที่ก่อคดีแล้ว ยังต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างจรรยาบรรณแพทย์และกระบวนการยุติธรรม

" เมื่อสถาบันกัลยาฯรับผู้กระทำผิดที่เชื่อว่าน่าจะมีอาการทางจิตมาแล้วจะต้องพิจารณา 3 ประการ คือ 1. ผู้ต้องหาเป็นโรคจิตหรือไม่ 2.ขณะเกิดเหตุรู้สึกผิดชอบหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะศาลจะพิจารณาว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษก็ต่อเมื่อแพทย์มีความเห็นว่าผู้ต้องหาไม่รู้ตัวขณะก่อเหตุ และ 3. พิจารณาว่าผู้ต้องหาสามารถสู้คดีได้หรือไม่ ถ้าขณะนั้นมีอาการป่วยทางจิตจนไม่สามารถสู้คดีได้ก็จะต้องเข้ารับการบำบัดก่อน

ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าผู้ต้องหาจะตบตาหมอได้ เพราะในการตรวจสอบนั้นมีกระบวนหลายอย่าง มีการเฝ้าสังเกตตลอดเวลา และที่สำคัญแพทย์ด้านนิติจิตเวชแต่ละคนมีประสบการณ์ในการทำงานสูง อาการแต่ละอย่างจะมีชุดอาการอย่างชัดเจน เช่น ประสาทหลอน ได้ยินเสียงแว่ว หรือพูดคนเดียว ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นโรคจิตจริงๆก็จะทำไม่เหมือน หรือไม่สามารถแกล้งทำได้ตลอดเวลา ปฏิกิริยาตอบสนองขณะที่แพทย์สร้างสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาก็จะไม่เหมือนกับผู้ที่ป่วยจริง" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

*อัยการสั่งไม่ฟ้อง นับเป็นปัญหาใหญ่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต วิตกที่สุดก็คือกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะจะทำให้ผู้ป่วยโรคจิตไม่ถูกเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

" ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องเราก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยผู้ป่วยไป เพราะบ้านเราไม่มีกฎหมายบังคับบำบัด แต่ถ้าอัยการสั่งฟ้องก็ขึ้นกับศาลจะพิจารณาว่าเขาบ้าหรือไม่ ต้องรับโทษมากน้อยเพียงใด ถ้ามีอาการทางจิตศาลก็จะสั่งให้เข้ารับการรักษาจนกว่าจะหายหรืออาการดีขึ้นจนสามารถเข้าสู่สังคมได้ ถ้าผิดแต่มีอาการป่วย นิติจิตเวชก็ยังตามเข้าไปรักษาในคุกได้ ดีกว่าปล่อยให้คนป่วยกลับไปอยู่บ้านแล้วมีอาการหนักขึ้น " รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้

*โรคจิต มี 3 กลุ่ม

จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า โรคจิต แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ 1.กลุ่มโรคจิตเภท 2.กลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน และ 3.กลุ่มโรควิตกกังวล

กลุ่มโรคจิตเภท(Schizophrenia) เป็นโรคทางจิตเรื้อรังซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรม ถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่พบมากที่สุด โดยอาการคือ หูแว่ว หวาดระแวง และคิดผิดๆ เชื่อผิดๆ เช่น เชื่อว่าตัวเองกลับชาติมาเกิด หรือ ได้ยินเสียงคนต่อว่า ข่มขู่ หรือมาสั่งให้ทำนั่นทำนี่ ซึ่งถือว่า อาการค่อนข้างรุนแรงและมีผลกระทบต่อเจ้าตัวค่อนข้างมาก

ผู้ป่วยจิตเภทที่พบได้บ่อยที่สุดคือชนิดพารานอยด์ หรือหวาดระแวง อาการโดยหลักๆ ของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีความรับผิดชอบในเรื่องทั่วๆไปได้บ้าง แต่ในเรื่องของความคิด การกระทำ จะไม่ทราบว่าตัวเองจะทำอะไรและทำไปเพื่ออะไร มีอาการหวาดระแวง ได้ยินเสียงพูดหลอน หรือเสียงสั่งให้ทำบางสิ่งบางอย่าง มักเดินพูดคนเดียวเรื่อยเปื่อย คิดว่าตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ไม่มีพิษภัยกับใคร อีกประเภทที่น่าสนใจคือ จิตเภทชนิด CATAPONIA ที่จะเกิดความผิดปกติกับกล้ามเนื้อ จะนั่งนิ่งทั้งวัน อยู่ในท่าเดิมๆ คิดสับสนวนไปวนมา

สำหรับ กลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน แบ่งออกได้เป็น 2 โรค คือ โรคซึมเศร้า และโรค
อารมณ์ 2 ขั้ว โดยโรคซึมเศร้าก็จะรู้สึกเบื่อๆ ไม่แจ่มใส หดหู่ ร้องไห้บ่อยๆ นอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร ก็ไม่อยากทำอะไร รู้สึกผิด ไม่อยากมีชีวิต มักมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่จะมีเหตุจากความผิดหวังและรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โรคนี้อันตรายตรงที่มีความเสี่ยงสูงที่คนไข้จะฆ่าตัวตาย ส่วนกลุ่มโรควิตกกังวล มักมีอาการเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ครุ่นคิดแต่เรื่องเดิมๆ

อย่างไรก็ดี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า อยากให้สังคมช่วยกันดูแลผู้ป่วยโรคจิต และไม่ผลักภาระให้แก่ภาครัฐอย่างเดียว
"ผมไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนก กลัวผู้ป่วยโรคจิต เพราะจริงๆแล้วผู้ป่วยที่จะก่อเหตุนั้นมีน้อยมาก อยากให้ช่วยกันดูแลเขา ถ้าใครพบเห็นคนสติไม่ดีเดินตามท้องถนนก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำตัวไปรักษา ส่วนญาติเมื่อนำตัวมารักษาแล้วก็ให้ติดตามดูแลคนไข้ด้วย ไม่ใช่ทิ้งให้เป็นภาระของโรงพยาบาลอย่างเดียว"

************

'สมคิด พุ่มพวง'ไม่ใช่โรคจิต

พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน รองผู้กำกับการ 4 กองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายตำรวจคนเดียวที่รู้จัก 'สมคิด พุ่มพวง' ดีที่สุด ด้วยโชคชะตาทำให้เขาต้องเข้ามารับผิดชอบคดีของชายผู้นี้แทบทุกคดี ตั้งแต่ก่อนที่สมคิดจะก่อเหตุฆาตกรรมหมอนวดรายแล้วรายเล่า จนถูกเรียกว่า 'ฆาตกรต่อเนื่อง'

พ.ต.ท.ชัดชัย รู้จักสมคิดตั้งแต่ ปี 2544 ครั้งที่สมคิดเป็นพยานเท็จใน 'คดีสังหาร นายปรีณะ ลีพัฒนพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร' เพราะเขามีหน้าที่คุมกันนายสมคิดในฐานะพยานถึงพบพิรุธหลายอย่าง และสุดท้ายพบว่านายสมคิดได้รับเงินค่าจ้าง 10,000 บาท จากผู้ใกล้ชิดของ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ 'ผู้พันตึ๋ง' ผู้ต้องหาของคดีนี้ให้มาเป็นพยานเท็จเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น ทำให้สมคิดต้องถูกจับ ติดคุกเป็นเวลา 6 เดือน และหลังพ้นโทษก็ยังมีพฤติกรรมหลอกลวง โดยอ้างตัวเป็นพลเมืองดีช่วย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แฉเรื่องส่วยตำรวจ

และในช่วงที่เกิดคดีสังหารแกนนำต่อต้านบ่อขยะเทวะ ภรรยาของผู้ตายก็ได้เข้าพบ พ.ต.ท.ชัดชัย พร้อมกับจดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกส่งมาจากนักโทษที่ชื่อ สมคิด พุ่มพวง ซึ่งขณะนั้นถูกจำคุกในคดียาเสพติด โดยเตือนให้ระวังตัวและอ้างว่ารู้จักกลุ่มคนร้ายดี ซึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ชัดชัย เห็นชื่อนายสมคิดก็บอกได้ทันทีว่านี่คือการต้มตุ๋น

จนนายสมคิดมาก่อคดีอีกครั้งเมื่อปี 2548 และเป็นคดีสะเทือนขวัญ 'ฆ่าหมอนวด 5 ศพ' ซึ่งถูกเรียกว่า 'ฆาตกรต่อเนื่อง' และคดีถูกส่งมาให้กองปราบฯเป็นผู้ดำเนินการ พ.ต.ท.ชัดชัย จึงได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำคดีของสมคิดอีกครั้ง

" ผมมั่นใจว่าสมคิดไม่ได้เป็นโรคจิต ไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่อง แต่ที่สมคิดลงมือฆ่าหมอนวดในรูปแบบที่คล้ายๆกันถึง 5 ครั้ง ก็เพราะเขาเป็นคนที่เรียนรู้ที่จะหาผลประโยชน์จากวิธีการเดิมๆ ถ้าย้อนไปดูเรื่องที่เขาเป็นพยานเท็จหรือหลอกลวงในหลายๆครั้งจะพบว่าเขาทำไปเพราะหวังค่าตอบแทน และจากการคลุกคลีกับสมคิดในช่วงที่ผมมีหน้าที่คุ้มกันพยานทำให้ทราบว่าสมคิดเป็นคนที่มีความต้องการทางเพศสูง เขาจะให้ผมพาไปเที่ยวบ่อยๆ

ถ้าเขาฆ่าหมอนวดเพราะเกลียดหมอนวดอย่างฝังใจ ก็น่าจะฉุดไปฆ่าในพงหญ้ามากกว่า เพราะไม่มีพยานรู้เห็น แต่นี่พาหมอนวดทุกคนเข้าโรงแรม ร่วมหลับนอน แล้วจึงฆ่าชิงทรัพย์ ทำไมเขาจึงก่อเหตุในที่ซึ่งจะผูกมัดตัวเอง ไปในที่ที่จะมีคนจำได้ และในโรงแรมก็มีกล้องวงจรปิด สมคิดไม่ใช่คนที่คิดอะไรซับซ้อน เมื่อก่อคดีขึ้นครั้งหนึ่งแล้วไม่ถูกจับได้ จึงใช้วิธีการเดิมๆอีก

เชื่อว่าครั้งแรกเขาคงไม่ได้ตั้งใจฆ่าแต่อยากจะนอนกับผู้หญิงฟรีๆ แต่เขาไม่ยอมเลยฆ่า และนำทรัพย์สินติดตัวมาด้วย และจากพยานหลายๆปากก็ระบุว่าสมคิดไม่ได้ฆ่าหมอนวดทุกคนที่เขาหลับนอนด้วย เพราะมีหมอนวดบางคนพอเห็นข่าวก็โทร.มาเล่าให้ผมฟังว่าเคยไปกับสมคิดแต่ยอมจ่ายเงิน ผู้หญิงเขาเห็นหน้าตาน่ากลัวก็เลยไม่เอาเรื่อง เลยรอดมาได้ และตอนที่ผมไปเจอสมคิดเขาก็ยอมรับว่าทำไปเพราะอยากมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่มีเงินจ่าย แล้วเขาก็พูดรู้เรื่อง ปกติทุกอย่าง ตอนนี้ได้ข่าวว่าไปอ้างกับนักโทษในคุกว่าตัวเองเป็นฆาตกร 20 ศพ ก็เข้าลักษณะเดิมคือเขาสร้างภาพหลอกลวงเพราะเห็นว่าจะได้ประโยชน์ คือไม่มีนักโทษคนไหนกล้ามารังแก"

อย่างไรก็ดี แม้ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบเบื้องต้นของนิติจิตแพทย์ยังไม่พบว่าสมคิดมีอาการทางจิต แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันจากนิติจิตเวชว่า 'สมคิด พุ่มพวง' เป็นโรคจิตหรือไม่ จึงต้องรอการวินิจฉัยจากแพทย์อีกครั้ง

************

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความผิดของผู้ป่วยโรคจิต

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65
ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรับผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้น เสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ หรือให้การตรวจได้ผลประการใด
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถต่อสู้คดีได้ และให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิต หรือผู้อื่นที่เต็มใจไปดูแลรักษาก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48
ถ้าศาลเห็นว่า การปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนซึ่งไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับการลดโทษตามมาตรา 65 จะไม่เป็นการปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246
ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาะจะหมดไป หากพบว่าจำเลยวิกลจริต
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้น ให้ศาลสั่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจัดให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในสถานที่อันควร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 248
ถ้าบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต เกิดวิกลจริตก่อนถูกประหารชีวิตให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อน จนกว่าผู้นั้นจะหาย ขณะทุเลาการประหารชีวิตอยู่นั้น ศาลมีอำนาจยกมาตรา 46(2) แห่งกฎหมายลักษณะอาญามาบังคับ
ถ้าผู้วิกลจริตนั้นหายภายหลังปีหนึ่ง นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต

************

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ / กองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง









กำลังโหลดความคิดเห็น