ณ บัดนี้ เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์แล้วที่เกมเรียลิตี้โชว์ชื่อดัง 'อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย' หรือ AF ปีที่ 2 ใกล้จะจบลง นับเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ใกล้จะรู้ผลว่า ใครคือสุดยอดนักล่าฝันที่จะคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ทว่าแม้จะยังไม่ประกาศผล แต่กระแสความนิยมในตัวผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน ก็ส่งผลให้นักล่าเหล่านี้ถึงฝั่งฝันไปแล้วเกินครึ่ง ด้วยการเป็นดาวดวงใหม่ในใจของใครต่อใครหลายคน
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ (แต่ไม่ลับ) นั้นมีอยู่หลายฝ่าย ทั้งบรรดาเทรนเนอร์, ครูพิเศษ รวมไปถึงคอมเมนเตเตอร์ หนึ่งในนั้นมีชื่อของ 'แดนซิ่ง เทรนเนอร์' อย่าง 'ครูเป็ด วาเนสซ่า กัณโสภณ' รวมอยู่ด้วย
หลายคนรู้จักเธอเป็นครั้งแรกจากการเป็นเทรนเนอร์ให้บ้าน AF ซึ่งต้องออกทีวีไม่แพ้ผู้เข้าแข่งขัน แต่ในความเป็นจริง เรามีโอกาสเห็นเธอในฐานะคนเบื้องหน้าหลายต่อหลายครั้ง…บนเวทีคอนเสิร์ตที่เธอออกมาวาดลวดลายอยู่ข้างหลังศิลปินดังในฐานะ 'แดนเซอร์'
จากสถานะที่ก้ำกึ่งระหว่างนักแสดงเบื้องหน้า กับคนทำงานเบื้องหลัง ทำให้หลายครั้งเวลาที่เธอไปไหนมาไหนจึงมักจะมีคนสะกิดถามกันทำนองว่า 'ใครน่ะ ดาราหรือเปล่า?' อยู่บ่อยครั้ง
แต่วันนี้ กระแสความแรงของรายการ AF ส่งผลให้ชื่อของ 'ครูเป็ด วาเนสซ่า' ติดหู ติดปากผู้ชม ถึงขั้นมีสำนักพิมพ์มาติดต่อเพื่อออกพ็อกเกตบุ๊ก พร้อมๆ กับชื่อเสียงของ 'ลา ดองซ์' สถาบันที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและสร้างนักเต้นประดับวงการไว้มากมาย
*บนเส้นทางสายฝัน
"ไม่รู้ว่ามีคนบอกว่าครูเป็ดเป็น วี 13 แต่จะบอกกับคนอื่นเสมอว่าตัวเองเป็น วี 38 มากกว่า" ครูเป็ด วาเนสซ่า หรือชื่อจริงว่าวาสนา กัณโสภณ เอ่ยอำตัวเองพลางยิ้มแย้มแจ่มใสในช่วงต้นของการสนทนา ณ สตูดิโอ 'ลา ดองซ์' ย่านทาวน์อินทาวน์
"ก็รู้สึกดีที่มีคนรัก เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กชีวิตจะก้ำกึ่งตลอด คนจะเคยเห็นว่าอยู่หลังพี่เบิร์ด แต่จะเป็นดาราก็ไม่ใช่ พอขึ้นคอนเสิร์ตอะคาเดมี่ให้น้องพัดกับพาสแล้วได้เสียงกรี๊ดก็ดีใจ ยังมาคุยกับพี่เล็ก (พี่สาว) ทีหลังเลยว่า พี่เล็กตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีคนกรี๊ดเลย พอมีคนรู้สึกดีกับเรามากๆ ก็รู้สึกว่าเกิดมาโชคดีแล้ว ที่มีโอกาสได้ทำงานดีๆ และมีคนรัก" ครูเป็ดกล่าวถึงเสียงตอบรับจากคนดู AF บางส่วนที่มีให้แก่เทรนเนอร์คนนี้
ความที่เป็นคนที่มีพลังงานเหลือเฟือจนเรียกได้ว่า "ไฮเปอร์" มาตั้งแต่เด็ก ทำให้ทางบ้านตัดสินใจส่งเธอไปเรียนยิมนาสติก ซึ่งต่อมาส่งผลดีต่อการเป็นพื้นฐานนักเต้น…อาชีพที่ครูเป็ดมุ่งมั่นในอนาคต
"เราได้ไปเล่นกีฬายิมนาสติกก่อน มีระเบียบวินัยตรงนั้นก็เลยรู้สึกว่าชอบการเต้นตั้งแต่นั้นมา"
นับตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งหลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ในคณะศึกษาศาสตร์ เอกนาฏศิลป์สากล (บัลเลต์) ครูเป็ดทำงานด้านแดนเซอร์ให้ศิลปินดังอย่างเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มาโดยตลอดจนอายุสัก 28 ปี จึงเดินทางไปเรียนต่อด้านออกแบบท่าเต้นที่ฮอลลีวูด แอลเอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสไตล์แบบวอล์กอินคลาสซึ่งเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับหลักสูตร ครูเป็ดจึงได้ประสบการณ์เพลงใหม่ๆ ติดตัวกลับมามากมาย
"ชื่อวาเนสซ่าก็ได้มาจากตอนนั้น" ครูเป็ดเล่าถึงที่มาของชื่อที่ต่อมาเป็นที่รู้จักและคุ้นหูมากกว่าชื่อจริงของเธอ ถึงแม้ว่าจะเป็นคนเอเชียเพียงคนเดียวในคลาสนั้น แต่หาได้เป็นอุปสรรคหรือส่งผลต่อความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ของครูเป็ดไม่ ทุกคนจึงคุ้นตากับภาพนักเรียนหญิงผิวเหลือง ผมดำที่มาวอร์มอัป จองพื้นที่แถวหน้าสุดก่อนเริ่มชั้นเรียนทุกครั้ง
เมื่อกลับมาเมืองไทย จากการแนะนำของ ม.ล.วัฒนวิศิษดิ์ สวัสดิวัฒน์ ทำให้ บุษบา ดาวเรือง บิ๊กบอสแห่งค่ายแกรมมี่ได้เห็นแววความสามารถในตัวเธอ ครูเป็ดจึงมีโอกาสได้เป็นผู้ออกแบบท่าเต้นให้ศิลปินชื่อดังหลายคน อาทิ คริสติน่า อาร์กีล่า,ใหม่ เจริญปุระ, เจ เจตริน,ทาทา ยัง ฯลฯ
เส้นทางอาชีพแดนเซอร์…อาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันของครูเป็ดจึงทอดยาวมานานนับสิบปีแล้ว ก่อนจะแปรไปสู่อาชีพผู้ออกแบบท่าเต้น แต่ครูเป็ดกลายมาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็เมื่อได้เข้าไปเป็นครูสอนเต้นในบ้านอะคาเดมี่นั่นเอง
"คนที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการ AF ซีซันแรกเขาโทร.หาเพื่อนที่ อาร์.เอส.ฯ ว่าตอนนี้มีครูสอนเต้นใครบ้าง เขาก็เอารายชื่อไป แล้วก็เอาประวัติมาดู เราก็คงจะเข้าตาเขา ในเรื่องของลุค หรือว่าเรื่องของโปรไฟล์ที่ทำงานมา แต่พอสุดท้ายที่คุยๆ กัน ที่สุดที่เข้าตาเขาคงจะเป็นในเรื่องความง่ายของเรา ราคาถูกและง่าย และดี (หัวเราะ) แล้วเราเป็นคนที่ชอบสอน แต่ในตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าอะคาเดมี่คืออะไร เป็นคนที่ชอบสอนแบบสนุกๆ มากกว่า คือถ้าจริงจังคือต้องเอาให้ได้ อัดกันให้เห็นกันตรงนั้นให้ได้ แล้วจบงานก็จบกัน ก็คือทำตรงและทำจริง มันก็เลยเหมาะกับรายการเรียลิตี้ ถ้าเราจะหวานเราก็หวานด้วยใจของเรา เราจะแซ่บเราก็แซ่บของเรา มันทำไปตามความรู้สึกในการทำงานซึ่งมันชินในแบบของเราอยู่แล้ว"
เปรียบเทียบกันแล้ว ระหว่าง AF ปีแรกกับปีนี้ ครูเป็ดมองว่าในการทำงานก็มีปัญหาต่างกันไป
"AF แรกเนี่ยมันเป็นอะไรที่… ตอนแรกเราก็นึกว่าไปสอนเต้นธรรมดา แต่พอรู้ โห…ทำคอนเสิร์ตตั้ง 9 วีกเชียวเหรอเนี่ย แล้วฉันจะหาเสื้อผ้าทันไหม แล้วเด็กจะต้องขึ้นไปถือไมค์ร้องเพลงให้คนดู การที่เราจะสร้างความมั่นใจให้กับเขา บางทีเราต้องหาแรงกดดันให้เขารู้สึกอดทน และกระตุ้นกับอารมณ์บางอย่างซึ่งเขาจะต้อง อดทนให้ได้ เขาจะต้องนิ่งไม่ไหวหวั่น ซึ่งมันยากมากที่เราจะสอน เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาความรู้สึกจริงสอนเลยดีกว่า"
แต่จากความจริงจังในการสอนบางครั้ง ภาพที่สื่อออกมาจึงอาจทำให้ครูเป็ดถูกมองว่าเข้มงวดกับเด็กๆ ในบ้านบ้าง ลำเอียงบ้าง ซึ่งครูเป็ดก็น้อมรับทุกคำวิจารณ์และนำมาปรับปรุงแนววิธีการสอนต่อไป
"การทำงานที่เคยทำงานกับพี่ติ๊นา พี่เจมา เราต้องเอาความรู้สึกตรงนั้นมา มันต้องมีการโต้ตอบกัน เช่น ท่านี้ไม่ได้ เอาท่านี้ไหม (เสียงดุ) หรือทำไมทำไม่ได้ ลองทำดูก่อนดีไหม คืออันนั้นเราทำงานเบื้องหลังจริงๆ แต่พอมาทำงานเบื้องหน้าบางทีเด็กเขาตั้งรับไม่ทัน ลืมไปว่ามีคนดูเขาดู คิดว่ามาสอนคนแค่ 12 คน บางทีเราก็ต้องถอยหลังกลับมามองว่า เราจะเอาแต่งานอย่างเดียวไม่ได้นะ พอถอยหลังกลับมาดู เราก็ค่อยๆ เข้าใจ เหมือนกับคนดูเขาก็สอนเรา คำวิพากษ์วิจารณ์มันก็สอนเราด้วยว่า เราจะเอาฟีลลิ่งที่บอกว่าให้เขาทำให้ได้อย่างเดียวมันไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่า AF 1 นี่เป็นอะไรที่สอนยากในระดับยากมาก เพราะว่าวิทย์เก่ง จีนไม่เก่ง จะทำยังไงให้คลาสมันสนุกให้วิทย์เขาไม่เบื่อ แล้วจีนก็สนุกด้วยได้ จึงต้องทำการบ้านไปก่อนทุกวัน ต้องลับสมองตลอดเวลา บางทีมันก็เลยจะเห็นความสนุกในตัวของเรา แต่บางทีก็จะเห็นความกดดัน"
ส่วน AF 2 ปีนี้ที่ต้นแผ่วแต่ปลายแรงนั้น ครูเป็ดคิดว่าโชคดีที่ทุกคนมีพื้นฐานการเต้นไม่เป็นเหมือนกันทั้งหมดจึงสอนง่ายกว่า (แน่นอนว่าย่อมเหนื่อยกว่าด้วย) แต่ความที่ปีนี้เด็กแต่ละคนต่างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ทำให้ครูเป็ดต้องเน้นไปที่ "ทัศนคติ" ในการทำงานเป็นสำคัญ
"จริงๆ การสอนคนให้เต้นรำสำหรับเราเป็นเรื่องง่ายมากเลยนะ แต่ว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังในการเรียนการสอนนั้นคือทัศนคติ เวลาที่เขาออกจากบ้านไปแล้วให้เขาทำงานกับทีมงาน เขาไปอยู่บริษัทไหนแล้วให้คนรักเขา อันนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะว่ารายการ AF จะต้องชัดเจนเลยว่าคุณจะต้องคลีน ใสๆ มาเลย ไม่ต้องคิดอะไร เพราะคุณจะต้องเปลี่ยนทุกวีกอยู่แล้ว ซึ่งถ้าคนเปลี่ยนง่ายๆ จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าคนเปลี่ยนยากบางอย่างเราก็ต้องป้อนคำหวาน บางอย่างเราก็ต้องกดดัน หรือบางอย่างเราก็ต้องไม่สนใจแล้ว นี่คือหน้าที่ของคุณ คือต้องให้เขาได้รับหลากหลายสิ่งในโรงเรียนแห่งนี้ ถ้าเขาออกไปข้างนอก ถ้าเขาเข้าใจตรงนี้เต็มๆ เขาจะเป็นตัวของตัวเอง ใครจะมาทำอะไรเขา เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เพราะว่าเขามีเป้าหมายว่าเขาจะต้องไปยืนอยู่บนเวที เขาจะต้องทำอัลบั้มนี้ของเขาให้ประสบความสำเร็จ ครีเอทีฟเขาคิดงานมาแล้ว คุณก็ต้องไขน็อตให้เกลียวเท่ากัน"
"คือไม่ว่าจะสอนในบ้านหรือนอกบ้าน เราสอนเหมือนกัน ถ้าพูดแล้วยังตาแข็งอยู่ มันไม่ร้องเราร้องก่อนเลย (หัวเราะ) คืออึดอัดมากแล้ว ฉันเหนื่อยแล้ว คือเด็กในอะคาเดมี่เนี่ยเขาไม่รู้หรอกว่าเราวิ่งข้างนอกด้วย ทำแดนเซอร์ให้เขาด้วย และในสิ่งที่หยิบยื่นให้เขานี่ ทุกคนข้างนอกไม่ว่าจะเป็นทีมงาน เป็นแดนเซอร์หยิบยื่นให้เขาหมด แต่คือเขาอยู่ตรงนี้เขาไม่รู้หรอก เขาได้รับการปกป้อง ถ้ามีความรู้สึกว่าเขาไม่พยายามเลยหรือ ทั้งที่คนอื่นเขาพยายามเพื่อเธอ แต่เธอไม่พยายามเลย บางทีถ้าเราไม่ไหวก็ร้องไห้ไปเลย ถ้าเป็นคนที่คนดูเขาเชียร์อยู่ เขาก็จะเกลียดครูเป็ด แต่ถ้าเขาเชียร์ครูเป็ด เขาก็จะเกลียดเด็ก แต่บางคนที่เขาเห็นภาพรวมก็จะเข้าใจทั้งสองฝ่าย หรือบางทีเขามีเหตุผลว่าครูเป็ดใช้อารมณ์ไปนะ เราก็ต้องรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้เอามาวิเคราะห์ย้อนมองตัวเอง ถ้าเรามีโอกาสแก้ไขได้ เราก็จะเอากระแสนั้นมาเป็นครูมาแก้ไขตัวเอง แต่ถ้าเกิดไม่มีกระแสขึ้นมาเราก็คงจะมองตัวเองไม่ออกเลย นึกว่าดิฉันเก่งอยู่เรื่อยเลย (หัวเราะ) แต่พอมีกระแสขึ้นมาก็ทำให้เรารู้ตัวว่าเราต้องการครูอยู่ตลอดเวลา และประชาชนเป็นครูที่ดีของเรามากๆ"
อย่างไรก็ตาม ครูเป็ดมองว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 12 คนแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองภายในบ้านให้ผู้ชมได้เห็น ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกันบ้างก็ถือเป็นธรรมดาในการอยู่ร่วมกันของคนที่ต่างอุปนิสัย ต่างที่มา
"เขายังเด็กอยู่แต่ทำได้เท่านี้ก็ถือว่าเก่งแล้ว เด็กเหล่านี้เขาเพิ่งอายุ 20 เองแต่เขาควบคุมความรู้สึกได้ เราชื่นชมเขานะ ถ้ามองย้อนกลับไป ถ้าเราอายุ 20 เราจะทำได้ดีเท่าเขาไหม"
ด้วยความเป็นคนไม่ชอบเที่ยว เมื่อมี AF ซีซั่นใหม่จึงทำให้ครูเป็ดรู้สึกผูกพันมากกว่าเป็นงานในหน้าที่ แม้งานจะหนักจนบางครั้งลืมกินข้าวกินน้ำ โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ครูเป็ดต้องยืนบนเวทีตั้งแต่เที่ยงวันจนถึง 5 โมงเย็น กว่าจะเสร็จคอนเสิร์ตก็เกือบ 5 ทุ่ม กว่าจะกลับถึงบ้านพักผ่อนก็หลังตี 3 ไปแล้ว
"มันเหนื่อยนะแต่มีความสุข" ครูเป็ดเล่าด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย "ยังคุยกับน้องอาร์ตเลยว่าบ้านสารินทุกคนบอกว่าไกล แต่สำหรับเราธรรมดา เราชอบที่จะมีเพื่อน พอมี AF แล้วเรารู้สึกว่าเรามีเพื่อน เราดีใจ เรารู้สึกว่ามันไม่เหงา เราเป็นคนชอบทำงาน แล้วนี่เป็นงานที่เราเกิดมาจากตรงนี้ คือทำมาตั้งแต่อายุ 14-15 จนเดี๋ยวนี้ 38 แล้วในงานของอะคาเดมี่มันคือชีวิตของเรานะ เรารู้สูตรสมการทุกอย่างว่าจะทำยังไงให้เด็กออกมาดูดี เรารู้หมดแล้ว เราไม่มีปัญหากับเวลาในการทำงาน เพราะเหมือนกับว่าเราได้สิทธิพิเศษ ถ้าเป็นคนมีครอบครัวเขาคงทำแบบนี้ไม่ได้"
สำหรับกระแสตอบรับที่ดีวันดีคืนนั้น "แดนซิ่ง เทรนเนอร์" จากบ้าน AF กล่าวว่า
"อยู่ในบ้านจะไม่รู้กระแสเลย ยังคุยกับพี่สาวอยู่เลยว่ากระแสแรงจริงเหรอ เป้าหมายเราคือทำทุกวันเสาร์ให้สนุกที่สุด เด็กจะต้องเก่งเท่ากัน แล้วก็สนุกเท่ากัน พอมีคนมาคอนเฟิร์มว่ากระแสแรงเราก็รู้สึกดีใจ เพราะฉะนั้น การที่กระแสแรงแล้วเรายังทำงานต่อไปได้ โดยที่มีคนมาซัปพอร์ตในส่วนของทีมงาน ในส่วนของเด็กที่ยังเรียกหาเราอยู่ตลอดเวลา เราก็รู้สึกดีใจ การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นมา เราก็รู้สึกดีที่คนไทยมีโอกาสได้เห็นมุมมองของการทำงานเบื้องหลังที่เอามาตีแผ่"
โลดแล่นไปกับความฝันที่ 'ลา ดองซ์'
"จริงๆ เป้าหมายของคุณพ่ออยากให้เป็นครู แต่พอจบมาแล้วเราไปเป็นนักแสดงก่อน ตอนแรกก็คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้กลับมาเป็นครู แต่ผลที่สุดตอนนี้กลับมาเป็นครู (หัวเราะ) ก็เลยเหมือนกับว่าคุณพ่อปูทางไว้ให้โดยไม่ได้ตั้งใจ" ครูเป็ดพูดถึงโรงเรียนสอนเต้นรำ 'ลา ดองซ์' ที่เธอมีตำแหน่ง 'ครูใหญ่' ประจำสถาบัน
"อันที่จริงเปิดสตูดิโอมาตั้งแต่สมัยเรียน เป็นห้องซ้อมของเราเอง พอเราเปิดทีไรก็จะมีคนสนใจอยากจะมาเรียนกับเราตั้งแต่สมัยเรายังเป็นนักเรียนแล้ว" แต่ด้วยอุปนิสัยที่ไม่ชอบหยุดนิ่งกับสิ่งใดนานๆ สตูดิโอสอนเต้นรำในยุคแรกของครูเป็ดจึงเปิดๆ ปิดๆ อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งมาลงตัวที่สตูดิโอย่านทาวน์อินทาวน์แห่งนี้
"เปิดทีแรกตั้งใจจะทำเป็นห้องซ้อมสำหรับทำงานให้กับศิลปิน แต่พอทำไปก็มีนักเรียนมาสมัคร ก็เลยเปิดเป็นสตูดิโอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ" แต่ครั้นเมื่อที่เดิมหมดสัญญาเช่า ครูเป็ดจึงไปเรียนเมืองนอก พอกลับมาก็มาช่วยกิจการร้านอาหารของครอบครัว ทางพี่สาวของครูเป็ดเสียดายฝีมือและพรสวรรค์ในการเต้นของน้องสาว และเล็งเห็นว่าการเรียนเต้นรำกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่คนให้ความสนใจ จึงลงทุนเปิดสตูดิโอสอนเต้นรำ 'ลา ดองซ์' ให้ครูเป็ดเป็นผู้ดำเนินการมาได้กว่า 2 ปีแล้ว
"ช่วง 6 เดือนแรกก็จะรู้จักกันเฉพาะในหมู่เพื่อนศิลปิน นักร้อง หรือเด็กๆ ที่เขาชอบไปดูคอนเสิร์ตศิลปินอย่างเช่น ติ๊นา พออยากเรียนเต้นเขาก็จะรู้แล้วว่าจะต้องมาเรียนกับใคร ก็จะรู้กันอยู่เฉพาะในกลุ่ม เพราะตัวเองจะเป็นคนรู้จักสำหรับคนเบื้องหลังจริงๆ ที่ทำงานด้านคอนเสิร์ต หรือบริษัทออแกไนซ์ บริษัทโฆษณา หรือบริษัททำงานที่อยากให้เราไปเป็นแอ็กติ้ง โค้ช กำกับ คนจะรู้จักในฐานะเบื้องหลังจริงๆ ที่ทำงานกับศิลปิน แต่ว่าในเบื้องหน้าก็จะไม่มีใครรู้จัก"
ผลพลอยได้จากการที่ครูใหญ่ของโรงเรียนมีโอกาสได้เข้าไปเป็น 'แดนซิ่ง เทรนเนอร์' ในบ้าน AF ในซีซันแรก จึงทำให้โรงเรียนสอนเต้นรำ 'ลา ดองซ์' มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที
"หลักสูตรที่สอนที่ลา ดองซ์จะเป็นหลักสูตรเดียวกับที่เรียนมาจากอเมริกา จะเป็นแบบ independence ที่เด็กๆ จะได้รับจากการเต้นรำ เพราะเรามองว่าการเต้นรำเป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องเครียด ถ้าเกิดเด็กรักจริงนี่เขามาเริ่มจากสนุกก่อน แล้วเขาจะไปต่อยอดเรียนอังกฤษ เรียนอเมริกา เขาไปได้เพราะใจเขารักแล้ว แต่มันต้องมาเริ่มจากความสนุกก่อน ลา ดองซ์ของเราค่อนข้างจะอิสระ จะหลอกล่อเอาบัลเลต์เข้าไป เพื่อช่วยเทคนิคการทรงตัว เพื่อความงามของเด็กๆ มันจะมีพวกเด็กซ่าที่มาปุ๊บอยากเต้นเลย เราก็หลอกล่อให้ปล่อยพลังก่อน แล้วค่อยเอาเทคนิคบัลเลต์เสริมเข้าไป บางทีเด็กยุคใหม่จะไม่ยอมเรียนบัลเลต์ แต่ของลา ดองซ์จะมี แม้แต่ฮิปฮอปก็ต้องมีสอนเทคนิคเข้าไปด้วย เพราะเราเรียนจบบัลเลต์มา จึงรู้ว่าเทคนิคสำคัญมาก"
นอกจากนี้ ที่สตูดิโอ 'ลา ดองซ์' แห่งนี้ยังมีสอน แจ๊ซ,ฮิปฮอป,บัลเล่ต์เด็ก,ป็อป,ฟังก์ ฯลฯ โดยครูเป็ดบอกว่า คุณสมบัติของนักเต้นที่ดีข้อสำคัญคือ วินัยและความตั้งใจ ส่วน "พรสวรรค์" นั้นเป็นเหมือนกับโบนัสมากกว่า "คนที่มีความมุ่งมั่น พยายาม นั่นคือคนที่มีพรสวรรค์สำหรับดิฉัน เพราะเราสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้"
"ถ้าเป็นนักเต้นที่ดีจะต้องมีระเบียบวินัย จะต้องเรียนเป็นเรื่องเป็นราว มีวิชาบัลเลต์ แจ๊ซติดตัว ถ้าคนอยากจะเป็นนักเต้นจริงๆ ต้องเรียนจริงจังเลย จะเป็นนักเต้นที่ดีได้ ไปเรียนนี่ไม่ใช่แค่เอาเทคนิคอย่างเดียว แต่ไปเรียนเพื่อเอาทัศนคติของนักเต้นรำที่ดีด้วยว่ามันเป็นยังไง เขาจะได้เอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน"
"นักเต้นรำก็เหมือนนักกีฬาแหละค่ะ ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ตรงนี้ก็สำคัญมากๆ" ครูเป็ดสรุป
ส่วนทัศนคติที่ว่าแดนเซอร์เป็นอาชีพ "เต้นกินรำกิน" ทำให้ผู้ปกครองทั้งหลายไม่อยากให้บุตรหลานมาเรียนเต้นรำนั้น ปัจจุบันนักเต้นมืออาชีพหลายคนอย่างครูเป็ดเองคงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วว่า การเต้นรำสามารถยึดเป็นอาชีพที่มีเกียรติได้และสร้างรายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น
"พ่อแม่อย่าเพิ่งไปค้านเด็กๆ ควรตามดูผลงานและประคับประคองลูกก่อนดีกว่า ว่าเขามีทัศนคติที่ดีต่อการเต้นรำไหม ต้องมองตรงนี้ด้วย ถ้าลูกเก่งพ่อแม่ก็จะยิ่งภูมิใจ ส่วนค่าตอบแทนคิดว่าเป็นเรื่องของความสามารถของเด็กมากกว่า ถ้าเขามีความตั้งใจ เขาทำไปแล้วถ้าเกิดคนชอบการเต้นรำของเขา เขาก็จะได้ทำงานไปเรื่อยๆ และค่าตอบแทนของเขาก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราว่าจะทำหรือไม่ทำ"
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ปัจจุบันเด็กๆ ที่มาเรียนเต้นรำที่ 'ลา ดองซ์' ก็ไม่ใคร่ยึดจริงจังเป็นอาชีพ เพียงเพื่อความสนุกสนานและพัฒนาทักษะเท่านั้น
"การเรียนเต้นสำหรับดิฉันเป็นเรื่องของกิจกรรม ถ้าเขาทำได้ดี เขาสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ แต่ถ้าเป็นคนทำงานในสายเครียดๆ ถ้าเกิดมีเวลาว่างอยากให้มาออกกำลังด้วยการเรียนเต้นรำ เหมือนกับได้ชาร์จแบตแล้วกลับไปทำงานต่อ ดิฉันคิดว่ามันจะเป็นเสน่ห์ติดตัว และสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองที่จะไม่อายที่จะเต้นรำอีกต่อไป สร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจให้กับตัวเองด้วยการเต้นรำ"
ก่อนจากกัน เราถามครูเป็ดว่า หากชีวิตคนเรามีจังหวะเหมือนดนตรี ในตอนนี้ชีวิตของเธอเป็นจังหวะอะไร
"ตอนนี้คงค่อนข้างจะสโลว์ดาวน์ลงแล้ว ตอนเป็นวัยรุ่นเป็นจังหวะร็อค ฮาร์ดคอร์เลยค่ะ ต้องเรียนรู้และปรับตัวเองเยอะมากในการทำงาน เจอผู้ใหญ่ เจอรุ่นพี่อย่างพี่เบิร์ด พี่ตู่ นันทิดา พี่เปรียบเทียบช่วงนี้เป็นจังหวะร็อก เพราะเจอคนจริง ของจริงเลยไงคะ แต่ตอนนี้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นก็คงปรับให้เบาลง เป็นจังหวะชีวิตช่วงกลางๆ ที่ฟังเพลงเบาๆ สบายๆ"
เราทราบมาว่าครูเป็ดเป็นคนที่วางแผนชีวิตของตนเองทุกๆ 10 ปี เช่น 10 ปีแรกเป็นแดนเซอร์, 10 ปีถัดมาเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น อีก 10 ปีต่อมาก็มาเป็นครู ใครจะรู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าครูเป็ดจะทำอะไร เธออาจจะทำเรียลิตี้โชว์ของตัวเองเพื่อหา 'ดาว' มาเป็นนักเต้นมืออาชีพก็ได้
* * * * *
เรื่อง-รัชตวดี จิตดี