"ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด"
ปรีดี พนมยงค์ (รัฐบุรุษอาวุโส)
จากคำนำหนังสือ
"THE KING OF THE WHITE ELEPHANT"
- 1 -
25 กันยายน 2548…บ่ายวันนั้น "พระเจ้าช้างเผือก" ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำเมื่อ 64 ปีก่อนโลดแล่นอยู่บนโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ให้ผู้ชม(จำนวนน้อย)ในห้องประชุมสถาบันปรีดีฯ ชม สำหรับคนรุ่นหลานอย่างผม นี่คือความตื่นเต้น ด้วยนี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รังสรรค์ในช่วงที่ยังปฏิบัติภารกิจการเมืองอยู่บนแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. 2483 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองลามมาถึงเมืองไทยในปี 2484)
สำหรับผม นี่เป็นการดูครั้งแรกหลังได้ยินคำร่ำลือของภาพยนตร์เรื่องนี้มานานจากผู้ศึกษางาน อ.ปรีดี อย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งในชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนท่านจะเกษียณอายุราชการ
แน่นอน กว่าที่ "พระเจ้าช้างเผือก" ซึ่งถ่ายทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจะปรากฏตัวในรูปแบบ DVD กว่าจะเดินทางมาอยู่ตรงหน้าผู้ชมจำนวน (น้อย) ที่สถาบันปรีดีฯ แห่งนี้ ก็ถูกพิสูจน์คุณค่าด้วยกาลเวลา 64 ปี ขณะที่หนังรุ่นเดียวกันและรุ่นใกล้ๆ กัน ต่างล้มหายตายจากไปนับร้อยเรื่องตามกาลเวลา
สอดคล้องกับคติทางพุทธศาสนาที่ว่า
"อโถ สุจิณณสส ผล น นสสติ - ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย"
* * * *
4 เมษายน 2484…
64 ปีก่อน ขณะที่สงครามทวีความรุนแรงในยุโรป สยามเวลานั้นก็กรุ่นด้วยไอสงครามและความคิดชาตินิยม ยิ่งเพิ่งได้เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ (ปัจจุบันอยู่ในเขตกัมพูชา) คืนมาจากรัฐบาลวิชี (รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของนาซี) จากสงครามอินโดจีน ก็ดูเหมือนประชาชนจะฮึกเหิมยิ่งนัก ด้วยทุกคนต่างคิดว่า "สงคราม" คือคำตอบที่ดีที่สุดในขณะนั้นสำหรับสยาม ในการถือโอกาสเรียกร้องดินแดน
4 เมษายน 2484…
หนังของ รมว.คลัง ปรีดี พนมยงค์ เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ได้ "เสด็จ" เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ ณ ศาลาเฉลิมกรุง และอีกสองเมืองคือสิงคโปร์และนิวยอร์ก ที่ต่างก็เป็นเมืองสำคัญของฝ่ายพันธมิตรทั้งสิ้น
"พระเจ้าช้างเผือกเป็น 1 ในภาพยนตร์ไทย 3 เรื่อง ที่ 'ผู้นำใหม่' ของสยามไทยสร้างขึ้นมาในบริบทของกาลเวลาหลังการปฏิวัติ 2475 ถึงสมัยสงคราม 'มหาเอเชียบูรพา' 2485-2488 นั่นคือ 'เลือดทหารไทย' (2478) 'พระเจ้าช้างเผือก' (2485) ‘บ้านไร่นาเรา’ (2485) ตามลำดับ" (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , คำกล่าวในโอกาส 60 ปีพระเจ้าช้างเผือก)
ชาญวิทย์ วิเคราะห์ว่าเรื่อง 'เลือดทหารไทย' มีเนื้อหาสนับสนุนลัทธิทหารแจ่มชัด โดยมีเค้าโครงคือ "ชายหญิงกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวพันกับราชการทหาร ท้ายที่สุดสยามก็ประกาศสงครามกับชาติศัตรู กองทัพสยามเข้าสงครามและได้รับชัยชนะอย่างงดงาม"
ส่วนอีกเรื่องฉายเมื่อสยามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นแล้วคือ 'บ้านไร่นาเรา' ก็ปรากฏชัดเช่นกันว่าจอมพล ป. วางโครงเรื่องเองโดยในทัศนะอาจารย์ชาญวิทย์เรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากเรื่องแรก ซึ่งสองเรื่องนี้สะท้อนภาวะที่คนไทยสนับสนุนรัฐบาลในการทหารเนื่องจากเพิ่งได้ดินแดนคืนใหม่ๆ
ปรีดี พนมยงค์ แม้อยู่ในรัฐบาล เลือกจะเตือนสังคมโลกและรัฐบาลไทยขณะนั้นด้วยนิยายเรื่องแรกคือ "พระเจ้าช้างเผือก" ที่เพิ่งแต่งและตีพิมพ์ในเดือน ก.พ.2483 และนำเรื่องมาสร้างภาพยนตร์ขาวดำ 35 มม. ด้วยเชื่อว่าภัยจากญี่ปุ่นซึ่งกระหายสงครามใกล้สยามเข้ามาทุกที ทั้งการดำเนินนโยบายใกล้ชิดญี่ปุ่นกรณีสงครามอินโดจีน (ญี่ปุ่นไกล่เกลี่ยไทยกับฝรั่งเศสจนเราได้ดินแดนคืน) ระยะยาวอาจมีปัญหาเพราะญี่ปุ่นมีจุดหมายยึดเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด
มีผู้วิเคราะห์ว่าเหตุที่ปรีดีเลือกใช้ภาพยนตร์เพราะยุคนั้นเป็นยุคทองภาพยนตร์
"การที่จะสื่อสารป่าวร้องไปยังคนทั่วไป ไปยังมหาชน ไม่ว่าคนในชาติ รวมตลอดจนถึงคนต่างชาติ..ทั่วทั้งโลก ท่านย่อมที่จะเห็นว่าการสื่อสารในเวลานั้นที่จะทรงอิทธิพลและเผยแผ่เข้าถึงมหาชนทั่วทั้งโลกได้ ไม่มีอะไรเกินภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดง หรือภาพยนตร์ที่ทำจากนิยาย มีพระเอกมีผู้ร้าย อันนับเป็นสื่อมหรสพมหาชนและเป็นยอดนิยมหรือครองใจคนทั่วโลกอยู่เวลานั้น" (ผู้ใช้นามปากกา 'ข้าพเจ้าเอง' วิเคราะห์ใน "หนัง:ไทย" ปีที่ 3 พ.ศ. 2544)
ครั้งนั้นปรีดีรวมสุดยอดบุคลากรเมืองไทยมาทำงานนี้ทั้งด้านการถ่ายทำและดนตรีประกอบคล้ายท่านมุ้ยทำ "สุริโยทัย" สมัยหลัง โดยใช้เวลาถ่ายทำปี 2483-2484 ใช้ทุนนับแสนบาท โดยฉากภายในใช้โรงถ่าย "ไทยฟิล์ม" ที่ทุ่งมหาเมฆ ฉากรบใช้ป่าแดง จังหวัดแพร่ ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจำนวนมากซึ่งสละเวลาช่วยท่านผู้ประศาสน์การโดยไม่คิดสตางค์ (นางเอกคือคุณไพลิน นิลเสน ดาวมธก.สมัยนั้น พระเอกและตัวละครอื่นๆ ได้จากครูและนักเรียน ร.ร.อัสสัมชัญ ซึ่งมีความสามารถภาษาอังกฤษ)
คนสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ พระเจนดุริยางค์ ดุริยกวีคนสำคัญของยุคนั้นที่ฝากฝีมือในเพลงประกอบหนัง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับผลงานของท่านที่จับต้องได้นอกจากเพลงชาติและแผ่นเสียงเพลงแขกเชิญเจ้า (สิ่งอื่นสูญหายหมดแล้ว) โดยท่านได้แต่งเพลงเอกของเรื่อง (Theme Song) คือ เพลงศรีอโยธยา หรือ สายสมร (Air : King of the White Elephant) อันเป็นเพลงโบราณซึ่งลาลูแบร์บันทึกตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งอาจารย์ดุษฏี อาจารย์สุดาและคุณศุขปรีดา พนมยงค์ ที่ผมพบวันนั้นให้ความรู้ว่า
"พระเจนดุริยางค์ใช้ดนตรีจากเพลงไทยโบราณ และเรียบเรียงเสียงประสานให้วงดุริยางค์บรรเลง (เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ ฯลฯ) เพลงตะวันตกก็นำมาจากบทเพลงของ Offenbach และ Rosini"
ทั้งยังรวมการกำกับภาพของประสาท สุขุม ตากล้องระดับสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกันเพียงคนเดียวของประเทศเวลานั้น
หนังออกฉายในแบบที่ โดม สุขวงศ์ แห่งหอภาพยนตร์แห่งชาติเล่าว่า
"ยุคนั้นพากย์ไทยโดยทิดเขียวหรือนายสิน ศรีบุญเรือง (เรื่องนี้ทั้งนิยายและเวอร์ชันภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษแต่แรก) ปรมาจารย์นักพากย์ ดังนั้นโฆษณาที่ปรากฏใน นสพ.ศรีกรุง นอกจากคนในเรื่องพูดไทยแล้ว ช้างก็พูดไทยด้วย ผมเข้าใจว่าคนดูชื่นชมเพราะเป็นหนังฟอร์มใหญ่ มีฉากสงคราม ทั้งที่กระแสชาตินิยมแรง ตอนนั้นไทยทำสงครามอินโดจีนได้ดินแดนมา หนังส่วนมากขณะนั้นจึงให้รักชาติจนคลั่งชาติ หนังเรื่องนี้ทวนกระแส แม้จะลำบากก็ตาม"
- 2 -
เรื่องพระเจ้าช้างเผือกเป็นการรบทัพจับศึกระหว่างฝ่ายอโยธยาและหงสา โดย อ. ปรีดีให้พระเจ้าจักราเป็นธรรมราชาที่สนพระทัยบ้านเมืองและพระเจ้าหงสาเป็นทรราช มีนโยบายรุกราน ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์สรุปวิชันอาจารย์ปรีดีในหนังเรื่องนี้ไว้กระชับคือ
"เค้าโครงเรื่องมาจาก 'สงครามช้างเผือก' และ 'สงครามยุทธหัตถี' ระหว่างอยุธยา (สมัยพระเจ้าจักรพรรดิ พระสุริโยทัย พระนเรศวร) กับหงสาวดี (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ บุเรงนอง และพระมหาอุปราชา) แต่เรื่องราวดังกล่าวถูก 'ตีความ' เสียใหม่หมดในแง่ของ 'สงครามกับสันติภาพ' ระหว่าง 'ธรรมราชากับทรราช'..
ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามขึ้นระหว่างอยุธยากับหงสา (ไม่ใช่ระหว่าง 'ไทย' กับ 'พม่า' ตามสูตรแบบฉบับรัฐชาติและ 'ลัทธิชาตินิยมล้าหลัง') พระเจ้าจักราก็ท้าพระเจ้าหงสาชนช้างตัวต่อตัว.. (ไม่ให้เดือดร้อนไพร่พล-ผู้เขียน)"
และสิ่งที่พระเจ้าจักราตรัสในหนังเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ ต้องการสื่อไปยังคนบนโลกนี้(โดยเฉพาะชนชั้นนำที่รู้ภาษาอังกฤษ) ซึ่งถึงเวลานี้คำกล่าวเหล่านี้ก็ยังจับใจผมเสมอแม้ได้ดูพระเจ้าช้างเผือกเพียงครั้งเดียวก็ตาม ไม่ว่าตอนที่พระเจ้าจักราทรงเตรียมทัพแล้วตรัสกับทหารอโยธยาว่า "จำไว้เราทำสงครามกับผู้นำหงสา มิใช่ประชาชนของหงสา" หรือแม้กระทำยุทธหัตถีชนะแล้วในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มิได้เน้นฉากพระเจ้าหงสาตกคอช้าง กลับเป็นฉากธรรมดาที่สุดและไปเน้นที่พระเจ้าจักราตอนพระองค์ตรัสกับไพร่พลหงสาให้กลับบ้านอย่างสงบ และทรงหวังว่าจะอยู่ร่วมกันได้ด้วย "สันติธรรม" ต่อไประหว่างสองเมือง
สำหรับผมถือว่าอาจารย์ปรีดีต้มยำทำแกงความเป็นไทยปัจจุบันและอดีตในความหมาย "รัฐประชาชาติ" ที่ใช้สันติภาพเป็นธงนำในความสัมพันธ์ และใช้เรื่องนี้เป็นพิราบนำสาร "สันติภาพ" ถึงผู้คนได้อย่างกลมกล่อม แม้ประดักประเดิดไปบ้างที่ตัวละครใส่ชุดไทยแต่พูดภาษาอังกฤษ และหลายฉากไม่สนใจทำตามธรรมเนียมโบราณ ซึ่งก็น่าจะมีนัยแฝงทั้งสิ้น
เมื่อคนดูหนังสมัครเล่นอย่างผมนึกถึงชายคนหนึ่งที่ลุกมาทำภาพยนตร์ในสมัยที่วงการมีทรัพยากรจำกัด ก็น่าทึ่งที่ อ.ปรีดี นำกลวิธีแบบเทพนิยายและฮอลลีวูดบวกกับอุดมคติเรื่องสันติภาพมารวมกันได้ในเรื่องนี้ลงตัว
- 3 -
"พระเจ้าช้างเผือก" ทำหน้าที่บอกความคิดของปรีดีล่วงหน้าซึ่งต่อมาไม่กี่เดือน (ฉายเมษายน 2484 ญี่ปุ่นบุกไทยธันวาคมปีเดียวกัน) เขาได้กลายเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยทำงานใต้ดิน "กู้ชาติ" หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนสำเร็จ และประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ก่อนที่ท่านจะจากบ้านเมืองไปเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2490 โดยกลุ่มผิน ชุณหะวัณ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ปรากฏต่อสายตาคนไทยอีกครั้งในปี 2512 เมื่ออาจารย์ปรีดีซึ่งขณะนั้นลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศสนำสำเนาหนังจากสถานทูตไทยในสวีเดนเปิดให้นักเรียนไทยดู
ซึ่งเวลานั้นสำเนาหนังมีเก็บสองที่คือ สถานทูตไทยในสวีเดนและแผนกภาพยนตร์และเสียงของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ ที่อาจารย์ปรีดีได้ส่งไปจดลิขสิทธิ์และมีกฎต้องส่งสำเนาหนึ่งชุด (ซึ่งหอสมุดฯ ทำเป็นฟิล์มนิรภัย 16 มม. เพราะต้นฉบับเป็นฟิล์มไนเตรทเสื่อมสภาพ) ก่อนพระเจ้าช้างเผือกจะกลับสู่แผ่นดินแม่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2523 ที่มีการนำฟิล์ม 16 มม. ของ อ.ปรีดีมาฉายที่สยามสมาคม
ปี 2534 นั้นเอง หอภาพยนตร์แห่งชาติของญี่ปุ่นมีโครงการสะสมภาพยนตร์คลาสสิกของชาติต่างๆ และได้ติดต่อหอภาพยนตร์ไทย
ซึ่งคุณโดม สุขวงศ์ แจ้งว่ามีสำเนาหนังเรื่องนี้ที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่นจึงจัดทำสำเนาจากที่นั่นสองชุดส่งเป็นของขวัญให้ไทยหนึ่งชุด
ซึ่งปี 2536 ก็มีการฉายเรื่องนี้ในญี่ปุ่นครั้งแรก แต่ฟิล์มที่ได้นั้นก็เป็นแบบเพื่อใช้งานมิใช่อนุรักษ์ จนต่อมาปี 2537 ทางยูเนสโกได้สอบถามประเทศสมาชิกในหัวข้อ "ศตวรรษแห่งภาพยนตร์" เก็บข้อมูลจัดงานฉลอง 100 ปีภาพยนตร์ในปี 2538 ซึ่งในที่สุด คำถามถูกส่งมาที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ
"เราตอบคำถามของยูเนสโกเมื่อปี 2538 ว่าไทยมีสถาบันเก็บหนังหรือไม่ เราว่ามี เขาถามว่าภาพยนตร์ที่เราเก็บเป็นมรดกของชาติหนึ่งเรื่องตอบว่าอะไร ก็ตอบว่าพระเจ้าช้างเผือก"
โดม สุขวงศ์ เล่าก่อนให้ข้อมูลว่าปี 2539 ยูเนสโกยังได้ฉลองเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ได้รับการอนุรักษ์แล้วโดยอยู่ในหัวข้อขันติธรรม ณ สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ซึ่งแน่นอน "พระเจ้าช้างเผือก" ก็ได้ไปปักธงชาติไทยอีกครั้ง
ปี 2543 ครบ 100 ปีชาตกาลของ อ.ปรีดี ทางเทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งเมืองโดวิลล์ ขอภาพยนตร์ประวัติศาสตร์จากไทยไปร่วมงานและได้แสวงหาผู้สนับสนุนเงินทุนจนในที่สุด "พระเจ้าช้างเผือก" ในฟิล์ม 16 มม.ก็ได้รับการทำสำเนาอีกครั้งจากหอสมุดสภาคองเกรสสหรัฐนำมาทำเป็นฟิล์ม 35 มม. ดังครั้งแรกเพื่ออนุรักษ์ในประเทศไทย
และมีการปรับปรุงโดยจีระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ให้คำบรรยาย Subtitle ภาคภาษาไทยซึ่งมีผลทำให้คนรุ่นหลังดูได้ง่ายและเข้าใจพระเจ้าช้างเผือกมากขึ้นแต่การปฏิสังขรณ์ด้านเสียงยังไม่น่าพอใจนัก ก่อนได้รับการสนับสนุนจาก พอล แสตมบอร์ กรรมการผู้จัดการ เท็คนิคคัลเลอร์ ประเทศไทย จนที่สุดหอภาพยนตร์ทำเป็น DVD ในวันนี้
โดม สุขวงศ์ สรุปถึงพระเจ้าช้างเผือกที่วันนี้มี DVD ออกมาว่า
"เรื่องนี้เป็นมรดกสำคัญของชาติ 64 ปีหลังหนังฉายสงครามเกิดตลอดเวลา.. 64 ปีผ่านมา มีหนังเป็นร้อยเรื่องเกือบทั้งหมดสูญหาย หนังเรื่องนี้มีสำเนาเก็บที่อเมริกาด้วยความหลักแหลมของท่าน เราต้องสืบสานสิ่งที่ท่านสื่อในพระเจ้าช้างเผือกถึงลูกหลาน..ผมเชื่อว่าสิ่งที่ อ.ปรีดี สื่อคือ "สันติภาพ" เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก"
บ่ายวันนั้น แม้ผู้กำกับรุ่นใหม่สองท่านวิจารณ์หนังคุณปู่เรื่องนี้ว่าดูครั้งแรกๆ ตะขิดตะขวงรูปแบบ ทั้งสารของผู้ทำหนังมีจุดมุ่งหมายการเมืองเด่นชัด ถึงที่สุดเห็นความประดักประเดิดส่วนการแสดงที่ใช้ภาษาอังกฤษซึ่งหนึ่งในนั้นบอกว่า
"ถึงอย่างไรก็เห็นความ "ทรงคุณค่า" ทางประวัติศาสตร์ในฐานะหนังเรื่องแรกๆ ของประเทศ และเชื่อว่าคนศึกษาชีวิตของปรีดี จะสนใจมากกว่าคนทั่วไป"
แต่ผมกลับรู้สึกว่ามีบางอย่างที่คนรุ่นใหม่หากใฝ่รู้ ก็สามารถตักตวงจากหนังรุ่นคุณปู่เรื่องนี้มากกว่าที่คิด แม้หนึ่งในสองท่านกล่าวว่านี่เป็นหนัง Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง) ในภาษาสมัยนี้ทำให้ดูยากก็ตาม
แต่ในยามนั้นปฏิเสธไม่ได้เลย ว่ารัฐบุรุษอาวุโสคนนี้ "กล้า" เหลือเกินในการกล่าวถึง "สันติภาพ"
...ท่ามกลางเมฆหมอกแห่งความรุนแรงที่แผ่ไปในชนชั้นนำทั่วโลก
* * * *
* DVD พระเจ้าช้างเผือกมีจำหน่ายที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โทร. 0-2381-3860-1 รายได้ทั้งหมดหอภาพยนตร์แห่งชาติจะนำไปเป็นทุนรอนอนุรักษ์หนังเก่าและ "พระเจ้าช้างเผือก" ต่อไป
* * * *
เรื่อง...สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ...สถาบันปรีดี พนมยงค์ , สุเจน