xs
xsm
sm
md
lg

"สีสันแห่งธุรกิจแสงไฟ" ในงานวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ค่ำวันนั้น แถวเกียกกาย...แม้จะเป็นกลางฤดูฝนแต่บรรยากาศบริเวณกรมทหารที่มีกิจกรรมคล้ายงานวัดยังคงคึกคักตลอดเวลา ด้วยร้านขายอาหารและผู้คนที่มาจับจ่าย ชิงช้าสวรรค์หมุนช้าๆ อย่างแผ่วเบา พร้อมสีสันจากหลอดไฟแยงตาแต่ถูกใจเด็กๆ แม้จะผ่านมาค่อนคืนแล้ว

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ที่ชานเมือง วัดแห่งหนึ่งในนนทบุรีหาญกล้าจัดงานลักษณะเดียวกันในฤดูฝนโดยไม่กลัวงานล่ม...

นี่คือ "งานวัด" ที่ภาพแห่งความสนุกสนานนั้นยังคงติดตรึงในความทรงจำวัยเด็กของหลายคนที่เคยสัมผัส ถึงแม้วันนี้พวกเขาอาจไม่ได้ไป "งานวัด" นานแล้ว ด้วยระยะห่างระหว่างบ้านกับวัดในเมืองปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น...


หลายคนบอกว่า "งานวัด" กำลังหายไปจากสังคมเมือง

แน่นอนถ้านี่เป็นเรื่องจริง นอกจากบรรยากาศเดิมๆ ที่เลือนหายแล้ว ย่อมหมายรวมถึงคนกลุ่มหนึ่งและธุรกิจแขนงหนึ่ง ที่อยู่คู่กับงานประเภทนี้ตั้งแต่สยามมีไฟฟ้าใช้

ธุรกิจที่มาพร้อมกับ "ไฟฟ้า"

หากเราไปเดินงานวัด หลายคนอาจไม่ทันสังเกตหรือมองผ่านด้วยความคุ้นชินว่าเป็นธรรมเนียมปกติที่จะมีการประดับไฟนีออนสีสันสวยงาม แต่เมื่อแหงนมองความยาวสายไฟ ตำแหน่งไฟติดประดับ การตกแต่ง การวางไฟหลอดเล็กเป็นรูปต่างๆ ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้ขึ้นไปอยู่บนยอดเจดีย์ ยอดโบสถ์ที่สูงลิบลิ่วได้อย่างไร

เชื่อหรือไม่ ว่าทั้งหมดนี้คนปีนขึ้นไปติดโดยไม่มีระบบความปลอดภัยอะไรทั้งสิ้น...และนี่ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งหากเพ่งพินิจให้ดีแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว

ธรรมรัตน์ จูปรางค์ เป็นคนหนึ่งที่มีกิจการด้านนี้ของตัวเอง นอกเหนืองานประจำที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำหรับเขาธุรกิจนี้เป็นดั่งคนคุ้นเคยเพราะเรียนรู้กับคุณตามาตั้งแต่ยังเยาว์วัย

"ผมฝึกตั้งแต่สมัยคุณตาเมื่อ 30 ปีมาแล้ว สมัยก่อนวัดหรือเจ้าภาพจัดงานมักจ้างคนที่ทำธุรกิจแบบผมไปประดับไฟ แม้สมัยก่อนจะไม่อลังการเท่าปัจจุบัน ไฟ 50-100 หลอดหรูแล้ว เพราะไฟฟ้ายังน้อย ใช้เครื่องปั่นไฟตัวเล็กๆ ก็ทำงานได้ ความจริงกิจการแบบนี้รายได้ไม่ดีหรอก แต่เทียบกับทำนามันดีกว่ามาก สมัยนั้นย่านที่ผมอยู่คือบางบัวทอง บางใหญ่ ที่นาทั้งนั้น ทำมีแต่หนี้ เลยเริ่มทำตรงนี้"

ซึ่งเขาบอกว่าไม่ต้องอาศัยอะไรมากมาย เพียงเรียนรู้และใช้ชื่อเสียงที่แต่ละเจ้าสั่งสมก็สามารถอยู่ได้ และธรรมรัตน์เองก็ไม่ต่างกับเจ้าของธุรกิจคนอื่นที่มีข้อได้เปรียบคือมีมรดกตกทอดจากตาที่ดำเนินกิจการมาต่อเนื่อง "คุณตาผมเป็นลูกน้องเจ้าอื่นมาก่อน เก็บเงินจนพอมีถึงแยกมาแล้วเจ้าเก่าที่เคยทำงานอยู่ด้วยสนับสนุนให้ยืมอุปกรณ์บ้างก็ต่อยอดกันเรื่อยมา ผมเองไปกับตาตอน 10 ขวบ ไปช่วยหยิบสายไฟ จับสายไฟ ส่งของ ราวๆ ปี 2529 ไฟฟ้าเข้าไปถึงบางท้องที่ ส่วนที่ซึ่งไฟไปไม่ถึงก็ปั่นไฟ ผมทำงานเหมือนลูกน้องเลยแม้จะเป็นหลานตา แบกลำโพง ทำอะไรเองทุกอย่าง.."

ก่อนจะรับกิจการเต็มตัวเมื่อ 7 ปีก่อน "ช่วงนั้นชื่อเสียงธุรกิจด้านนี้แย่ลง ประกอบกับตาผมป่วย ตอนนั้นมีหลานสองคน ผมปรึกษากับพ่อแล้วทิ้งไม่ได้ เสียดาย กลัวแกเสียใจ อีกอย่างงานนี้เหนื่อย ผมลงทุนใหม่กู้เงินหลายแสนซื้ออุปกรณ์ สายไฟ ฯลฯ ช่วงแรกลูกค้าเป็นเครือข่ายเก่าของตา แรกๆ ที่จัดไฟให้เขาเกินราคาเสียด้วยซ้ำ ต่อมาจึงได้ลูกค้าเพิ่มจากคนที่มาเที่ยวงาน ที่เขามาดูแล้วติดใจเรา ลูกค้าผมตอนนี้มีทั้งบ้าน วัด สถานที่ราชการ บริษัท บ้านคนมักเป็นงานบวช งานแต่ง วัดก็เป็นงานศพ งานประจำปี บางทีญาติโยมจัดงานแล้วปรึกษาพระว่าจะเอาเจ้าไหน พระก็โทร.มาหาเรา"

ดังนั้น ธุรกิจแบบนี้จึงมีสนามประลองฝีมืออยู่ในงานที่แต่ละเจ้าได้สัมปทานจัดไฟ ซึ่งกรณีธรรมรัตน์นั้นเขาเล่าว่า "การจัดไฟไม่มีรูปแบบมาก ขึ้นกับเรา เช่น หน้าวัด ถ้าไปดูที่แล้วไม่มีที่แขวนไฟ ไม่มีต้นไม้ ไม่รู้จะเอานีออนไว้ตรงไหน สมัยนี้ก็อาจจะตั้งเสาฉัตร เอาไฟขึง ขณะที่สมัยก่อนก็ใช้ไม้ค้ำแขวน"

"การวางไฟเราคิด บางทีลูกน้องก็มาเสนอ ปกติผมไม่วาดแบบเลยเพราะอยู่ในหัว หรือถ้าเราไม่เคยไปต้องไปดูที่ก่อนงานเริ่ม ตกลงกับเจ้าภาพว่าที่กว้างหรือแคบ ใช้ไฟขนาดไหน ส่วนมากเจ้าภาพไว้วางใจให้เราจัดรูปแบบทั้งหมด ใช้เวลาราว 10 วันก่อนงานถ้างานใหญ่ พอทำเสร็จจะมีทดลองก่อนงานเริ่ม เพื่อให้เขาดูว่าจะเสริมตรงไหนไหม หรือถ้าหากไฟเราไม่พอก็อาจเอาเพื่อนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันมาช่วยแล้วแบ่งรายได้ หลอดไฟปกติมี 5 สี คือ ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง ชมพู เราจะเน้นการตัดกันของสีเพื่อความเด่นชัด เช่นเขียวกับชมพู ให้คนเห็นแต่ไกลว่าที่นี่มีงาน"

"หลอดไฟมาจากบริษัท สีนอกจากนี้อาจมีปลอกแก้วสวมเข้าไปเลย..เราทำงานติดตั้งค่ำๆ ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ใช้สปอตไลต์หรือไฟส่องสว่างช่วยให้เห็นเวลาปีน ยอดโบสถ์ก็ใช้วิธีก็เอาบันไดไม้ไต่ขึ้นไป จุดสูงสุดอาจเอาไม้ขึ้นไปติดรอกไม่ต้องปีนถึงยอด กรณีต้องประดับปล่องเมรุนี่บางวัดบูรณะใหม่พอดี อาจให้ช่างทาสีหยอดลวดสลิงเตรียมไว้เลย"

แต่เมื่อประดับเสร็จก็ใช่ว่างานจะเสร็จ ในขณะที่งานวัดดำเนินไป แต่ละเจ้าก็จะรับผิดชอบพื้นที่ตนเองโดยจัดคนเดินตรวจรอบๆ "แผงคุมเป็นคัตเอาต์ธรรมดา ผมเดินทั้งคืน เมื่อยก็นั่ง ส่วนมากคุมเครื่องเสียงมากกว่า ลูกน้องผมดูเรื่องไฟ เผื่อจะมีลมหรือพายุมา โดยแต่ละคนมีเครื่องมือติดตัว..งานวัดงานหนึ่งใช้กระแสไฟราว 50,000 วัตต์ ปกติจะจบเมื่อมหรสพจบและคนกลับหมด ตอนนั้นเราจะดับและเก็บหลอดไฟทันที 1 ปิดงาน ตั้งนาฬิกาในใจไว้ 7 โมงเช้าทุกอย่างต้องลงจากต้นไม้และหลังคา"

ธรรมรัตน์ ยังเพิ่มเติมอีกว่าต้องรักษาอัตราหลอดไฟแตกให้น้อยที่สุด "งานประจำปีงานหนึ่งมี 7 วัน 7 คืน ไฟแตก 10 หลอดถือว่าน้อย เยอะบางทีถึง 40 หลอด อาจมีสาเหตุจากพายุหรือบางทีเชือกหลุดโค่นหล่นมาทั้งราว จริงๆ คนทำธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นช่างไฟนะครับ ผมเรียน ปวช.บัญชี มา ไม่ต้องรู้เรืองไฟฟ้าลึกมากเอาแค่เดินสายได้ รู้ว่าต้องผ่านบัลลาร์ด สตาร์ทเตอร์ มันจะมีภาษาเราอย่างต่อซีรีส์ที่ช่างไฟพูดว่าต่ออนุกรม ผมใช้ระบบง่ายที่สุดและสอนลูกน้องที่ไม่ได้เรียนให้เขาเข้าใจหลักการต่อสายไฟ"

ซึ่งภารกิจทั้งหมดนี้ หากวัดที่จ้างพวกเขามีขนาดใหญ่มาก ก็อาจต้องใช้ทีเดียว 5 เจ้า "โดยส่วนตัวเจ้าเดียวรับวัดใหญ่มากไม่ไหว บางวัดจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต 12 วัน 12 คืน ต้อง 5 เจ้าร่วมกันเลย ค่าใช้จ่ายทั้งหมดล้านกว่าบาท อย่างผมมาแล้วประมูลได้..ถ้าได้ก็ไปหาพวกมาแบ่งกัน เช่นปากทางคุณทำ 2 แสน ตรงจุดนี้แสนหนึ่ง เพราะบริเวณกว้างมาก กรณีแบบนี้เคยทำที่วัดราชประคองธรรม อ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี แล้วก็วัดต่างจังหวัด"

หลากคนหลายอาชีพในงาน "ประดับไฟ"

สภาพสังคมที่เปลี่ยนและการอพยพมาขายแรงงานในเมืองซึ่งได้ค่าตอบแทนสูงกว่าการเสี่ยงปีนหลังคาหรือต้นไม้ แถมต้องทำงานในเวลาเย็นจนถึงดึกดื่นท่ามกลางแสงไฟที่สาดส่องไปยังหลังคาโบสถ์หรือเมรุ (เนื่องจากสภาพอากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป) ทำให้คนงานที่ทำตรงนี้ลดน้อยลงตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว

"ตอนนั้นลูกน้องรุ่นเก่าค่อยๆ หายไป ผมนี่อายุ 14-15 ชวนเพื่อนนักเรียนมาทำแล้ว บางทีไปติดไฟคนจ้างเขาเห็นก็ถามว่าน้องไม่มีผู้ใหญ่มาเหรอ ปีนขึ้นไปไฟไม่ดูดตายนะ ยกของไหวเหรอ เราว่าไหว..ทำสวนมาก่อน เทียบกับเพื่อนบางคนที่เขาเรียนอย่างเดียวสบายกว่า ผมนี่ต้องอยู่กับวัด บ้าน ไม่มีเวลาเที่ยวเล่น เลิกกับแฟนหลายคนเพราะธุรกิจนี้ สมัยก่อนทำงานกับตาจะอยู่แถบนนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา เราแบ่งเวลากับการเรียนงานเล็กๆ ก็ไม่ไป งานใหญ่เบี้ยวโรงเรียนเลย"

ถึงปัจจุบัน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นการรวมตัวหลวมๆ ของคนงานและเจ้าของกิจการที่รู้จักกันดีระดับหนึ่ง อย่างลูกน้องของธรรมรัตน์เองก็มาจากหลากอาชีพตั้งแต่ช่างไม้ยันสัปเหร่อ "ธุรกิจจัดไฟงานวัดนี่ หน้าฝนไม่ค่อยมีงาน เพราะคนไม่เที่ยว จัดวัดก็เจ๊ง ลูกน้องผมฤดูนี้เขาทำงานอื่น เช่น ช่างปูน ช่างไม้ จริงๆ เด็กวัดก็มี สัปเหร่อยังมีเลย น่าแปลกที่บางทีเมรุนี่สัปเหร่อไม่ขึ้นไปติดหลอดไฟเพราะกลัวความสูง แต่บางครั้งเขาก็ช่วยเราดูแลข้าวของได้ เช่นบางงานผมลงเครื่องเสียงในงานศพ เขาจะเฝ้า เราก็ต้องจ่ายพิเศษ หรือบางครั้งเขาสลับกับเพื่อนที่เป็นสัปเหร่อด้วยกันมาทำงานให้เรา"

"เครื่องเสียง" "หนังกลางแปลง" ของคู่กัน

ธุรกิจประดับไฟนอกจากหลอดไฟแล้ว พวกเขายังต้องมีเครื่องเคียงพ่วงคือ หนังกลางแปลง และบริการผ้าม่าน มิฉะนั้นอาจถึงขั้นทำอาชีพนี้ไม่ได้ "ถ้าไม่มีอีกสองอย่างเจ้าภาพอาจปฏิเสธเลย เขาต้องการจ้างทีเดียวครบวงจรคือมีไฟ หนังกลางแปลง และผ้าม่าน ผ้าม่านคนเมืองกรุงอาจบอกว่าไม่สำคัญ ตกแต่งทำไมดูเป็นลิเก แต่คนต่างจังหวัดรู้สึกว่าแต่งเสร็จแล้วเหมือนอยู่ในวิมาน พระที่มาสวดก็เหมือนสวดในวิมานเช่นกัน" ยิ่งในทัศนะคนรับงานอย่างเขา หากงานไหนประดับไฟแล้วไม่ติดผ้าม่านก็แทบไม่อยากทำเลย

"ส่วนหนังกลางแปลงไปเช่ามา สมัยก่อนมีเข่าจากพระนายเอนเตอร์เทนเมนต์ตอนนี้เขาอยู่พงษ์เพชร เรื่องหนึ่งเก่าๆ ก็ 500-800 บาท หนังชนโรงก็ 11,000-15,000 ซึ่งต่อยอดไปที่เครื่องเสียงที่ต้องใหม่ตลอดเพราะพัฒนาปีละครั้ง เครื่องเสียงผม 5 ปีใช้ไม่ซ้ำชุด นอกจากนี้ก็ยืมจากโรงงานที่ทำลำโพงส่งขายแถบบ้านหม้อ"

ถึงตรงนี้ทำให้เราทราบว่างานต่างๆ หากมีหนังกลางแปลงจะมีการแข่งเครื่องเสียงด้วย "สมมติเราเอาของไปลง เจ้าที่มาข้างๆ เอาลำโพงดอกใหญ่กว่าออกมา เราต้องไม่น้อยหน้า เจ้าภาพสมัยนี้ฉลาดจ้างหนังจอละ 2 หมื่นบาทโดยไม่จำกัดลำโพง ต่างคนต่างแข่งเอาของดีมา นอกจาก 2 เจ้าที่ตั้งติดกันจะตกลงกันก่อน เคยเหมือนกันครับลำโพงมาที 100 คันรถสิบล้อ เราต้องหยุดสู้..คนที่ดูหนังกลางแปลงส่วนมากจะมาฟังเครื่องเสียง หนังฉายก็กลับ จริงครับ! คนมาฟังเครื่องเสียงมากกว่าคนที่มาฟังดนตรี ซึ่งตามต่างจังหวัดมักประชันดนตรีหรือเครื่องเสียงกันช่วงหัวค่ำ"

อนาคตที่โรยรา?

จากการสอบถามผู้รู้พบว่าในเมืองไทยธุรกิจเช่นนี้ยังคงสามารถเลี้ยงตัวเองได้ดีในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งมีรายใหญ่หลายราย ซึ่งธรรมรัตน์ก็ยืนยันตรงกัน

"ธุรกิจนี้ค่อนข้างแข่งกันมาก อย่างบ้านผมตอนนี้ต่างจังหวัดเริ่มมีข้ามถิ่นมาเหมือนกัน ปัจจุบันนนทบุรีเหลือ 6 เจ้าที่สูสีกัน...ระยะยาวไม่ยั่งยืนแล้ว ในจังหวัดรอบนอกจะดีกว่า โดยเฉพาะจากเครื่องเสียงที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง มันมีแต่จะใหญ่ขึ้นๆ ที่เคยเอาไปออกงานหนังกลางแปลงที่สนามหลวงนี่ถือว่านั่นชุดยังเล็กนะครับ อย่างผมนี่ถือว่ารายใหญ่ระดับจังหวัด ภาคนี่ยังไม่ถึง เจ้าใหญ่เขาลงทุนทีหนึ่ง 3 ล้านบาท ขายที่เอาเงินมาลงเลย"

แต่ถึงในอนาคตเขาก็บอกเราว่าไม่แน่เสียแล้ว "รู้สึกว่ากำลังหมดยุค บางบ้านหรือบางวัดที่เคยไปก็ไม่ได้ไปแล้ว ต้องหาอะไรทำรองรับ แต่ย้อนดูมันก็ยังพอมีงานเข้ามาบ้าง เพราะผมทำเครื่องเสียงกับผ้าม่านด้วย..แต่เมื่อไรงานไม่มีจริงๆ เช่นหายไม่มีงานเข้าเดือนสองเดือนก็จะเลิก อุปกรณ์ต่างๆ คงเก็บเป็นที่ระลึก.."

ธุรกิจจัดไฟซึ่งอยู่คู่กับงานวัดมานานจะรอดหรือไม่รอด ดูเหมือนโอกาสจะอยู่ที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวดิ้นรนกันเอาเอง

และสุดท้ายก็อาจอยู่ได้ ตราบใดที่ผู้คนจะยังเห็นความสำคัญของ "งานวัด" และ "หนังกลางแปลง"

* * * *

เรื่อง สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์ , คุณธรรมรัตน์










กำลังโหลดความคิดเห็น