หากจะเอ่ยถึงวรรณกรรมเยาวชนในดวงใจของนักอ่านไทย โดยเฉพาะตั้งแต่วัย 30 ปีขึ้นไป ชื่อของหนังสือ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" หรือหนังสือชุด "บ้านเล็ก" นับเป็นวรรณกรรมอมตะที่ครองใจนักอ่านไทยทุกเพศ ทุกวัยมาเนิ่นนาน
จากยุคสมัยที่คำว่า "วรรณกรรมเยาวชน" ยังเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย การปรากฏและดำรงอยู่ของหนังสือชุดนี้มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของหนังสือชุดดังกล่าวที่ได้รับการพิสูจน์ผ่านกาลเวลา โดยไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หนังสือชุดบ้านเล็ก คือ วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกของโลก และของนักอ่านชาวไทย
จากป่าใหญ่ถึงทุ่งหญ้า
หากวรรณกรรมคือ บันทึกที่สะท้อนภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย หนังสือชุด "บ้านเล็ก" ของผู้เขียน "ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์" ก็คงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สะท้อนสภาพสังคมของคนอเมริกันในยุคบุกเบิก ซึ่งอาจเป็นบันทึกที่ดีไม่แพ้ประวัติศาสตร์เล่มอื่น ค่าที่หนังสือชุดนี้มีจิตวิญญาณของ "นักบุกเบิก" อยู่เข้มข้นเต็มเปี่ยม
จากป่าใหญ่ในมลรัฐวิสคอนซิน ถึงทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลของดาโคตา การเดินทางรอนแรมไปกับเกวียนนักบุกเบิกของลอร่า จึงให้อะไรมากกว่าอรรถรสด้านวรรณศิลป์จากเนื้อเรื่องเท่านั้น
ลอร่า (อลิซาเบธ) อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ (Laura Ingalls Wilder) เป็นบุตรคนที่สองของชาร์ลส์ ฟิลิปป์ และแคโรไลน์ เล้ก ควีเนอร์ อิงกัลล์ส ลอร่าเกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1867 ในกระท่อมไม้ซุงชายป่าใกล้เมืองเปปปิน มลรัฐวิสคอนซิน ลอร่าได้เล่าชีวิตในวัยเด็กของเธอไว้ในหนังสือชุดบ้านเล็ก ถึงการเดินทางอพยพบนเกวียนประทุนไปกับบิดามารดาและพี่น้อง ผ่านมลรัฐแคนซัส มินนิโซตา กระทั่งตั้งรกรากถาวรบนที่ดินที่บิดาของเธอได้จับจองไว้ ใกล้เมืองเดอสเม็ต ในดินแดนมลรัฐดาโคตา
เมื่ออายุ 15 ปี ลอร่าสอบเป็นครูได้ จึงเริ่มต้นสอนหนังสือในโรงเรียน สามปีหลังจากนั้น คือเมื่อ ค.ศ.1885 ลอร่าสมรสกับ แอลแมนโซ เจมส์ ไวล์เดอร์ และให้กำเนิดบุตรหญิงชื่อ โรส เมื่อเดือนธันวาคม 1886 ต่อมาบุตรสาวของเธอได้เติบโตเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง
ลอร่าได้เริ่มต้นชีวิตครอบครัวนักบุกเบิกของเธอเองอีกครั้ง เมื่อตัดสินใจอพยพหนีความแห้งแล้งกันดารของมลรัฐเซาท์ดาโคตา ไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่โอซาร์คส์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมลรัฐมิสซูรี ต่อจากนั้นราว 40 ปี ลอร่าได้เริ่มเขียนบันทึกเรื่องราวที่สนุกสนานเกี่ยวกับชีวิตในป่าและทุ่งกว้าง ซึ่งกลายเป็นวรรณกรรม "คลาสสิก" สำหรับเด็กในเวลาต่อมา โดยได้ตีพิมพ์ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ขึ้นก่อนเป็นเล่มแรกในปี ค.ศ. 1932 และมีหนังสือชุดเดียวกันอีก 8 ตอน ตามออกมาเป็นลำดับ
"บ้านเล็กในป่าใหญ่" ได้รับรางวัลนิวเบอรี่อะวอร์ด เป็นที่สองในปี ค.ศ. 1932 ถัดมาในปี ค.ศ.1942 ลอร่าได้รับรางวัลวรรณกรรม แฮรี่ ฮาร์ตแมน จากห้องสมุดแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ค.ศ. 1943 เรื่อง "ปีทองอันแสนสุข" ได้รับรางวัลนิวยอร์กเฮรัลด์ตรีบูน ในงานแสดงหนังสือประจำฤดูใบไม้ผลิ และเมื่อ ค.ศ. 1954 สมาคมห้องสมุดสำหรับเด็กได้ตั้งรางวัลเรียกว่า "รางวัลลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์" ขึ้น สำหรับมอบให้แก่นักเขียนที่มีสาระและมีคุณประโยชน์ทางด้านหนังสือสำหรับเด็กทุกๆ 5 ปี และทุกวันนี้ รถห้องสมุดเคลื่อนที่ของเมืองเซนต์หลุยส์ และห้องสมุดหลายแห่งของเมืองดีทรอยต์ มิชิแกน และเมืองแมนส์ฟีลด์ มลรัฐมิสซูรี เมืองโปโมนา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ตั้งชื่อห้องสมุดตามชื่อของเธอว่า "ห้องสมุดลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์"
นับได้ว่าลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ คือ ตัวแทนนักเขียนที่เป็นความภาคภูมิใจของคนอเมริกัน ที่มีต่อการบุกเบิกดินแดนอย่างยากลำบากของบรรพบุรุษยุคก่อน
ครอบครัวไวล์เดอร์ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขที่เมืองแมนส์ฟีลด์ แอลแมนโซถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1949 เมื่อเขาอายุได้ 92 ปี ลอร่าสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 1957 ขณะอายุได้ 90 ปี หนังสือชุด "บ้านเล็ก" ของลอร่าเป็นที่ชื่นชอบในหมู่เด็กๆ หลายล้านคนทั่วโลก และได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงาน "อมตะ" ที่อยู่ในดวงใจนักอ่านทุกชาติทุกภาษา
หนังสือชุด 'บ้านเล็ก' โฉมใหม่
"การทำหนังสือชุดนี้เป็นการทำงานที่มีความสุขมาก ระหว่างที่ทำงานผมต้องโทรไปบอกเพื่อนว่าเป็นการทำงานที่มีความสุขจริงๆ " คือเสียงบอกเล่าอย่างน่าอิจฉา ของนาคินทร์ รัชฏสุวรรณ บรรณาธิการหนังสือชุด "บ้านเล็ก" ที่ทางสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนเพิ่งจัดพิมพ์ใหม่เมื่อเร็วๆ นี้
บ้านเล็กในป่าใหญ่, บ้านเล็กในทุ่งกว้าง, เด็กชายชาวนา, บ้านเล็กริมห้วย, ริมทะเลสาบสีเงิน, เมืองเล็กในทุ่งกว้าง, ฤดูหนาวอันแสนนาน, ปีทองอันแสนสุข, สี่ปีแรก และตามทางสู่เหย้า คือลำดับทั้ง 10 เล่มของหนังสือชุดนี้ที่ออกมาให้ผู้ที่ชื่นชอบสะสมให้ครบชุด หลังจากที่ขาดตลาดมาระยะหนึ่ง ส่งผลให้ราคาหนังสือชุดนี้ในตลาดหนังสือเก่าพุ่งขึ้นสูงลิ่ว
"เหตุที่เราเลือกเรื่องนี้มาจัดพิมพ์เพราะว่า หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือสำหรับเด็กชุดที่ดีที่สุดชุดหนึ่งของโลก และก่อนหน้านี้มันจะขาดตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว เท่าที่มีอยู่ในตลาดจะมีเป็นบางเล่ม ไม่ครบทุกเล่ม ทางบริษัทอมรินทร์ก็เลยคิดว่าน่าจะนำมาจัดพิมพ์ใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านที่เคยอ่านมาในอดีตแล้วก็ยังอยากจะอ่านอีก จะได้ซื้อมาเก็บสะสมให้ครบชุด แล้วก็เพื่อจะให้ผู้อ่านรุ่นใหม่ได้รู้จักหนังสือชุดนี้ด้วย จุดสำคัญที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้อ่านก็คือ ทำยังไงสหรัฐอเมริกาถึงได้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างในปัจจุบัน มันก็มีต้นกำเนิดหรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบุกเบิกของชาวอเมริกันในยุคนั้นด้วย ที่ต่อสู้ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ" บก.นาคินทร์เล่าถึงที่มาของการจัดพิมพ์หนังสือชุดชื่อดัง
"นอกจากนี้ ในการจัดพิมพ์ครั้งก่อนๆ จะพบว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม ทั้งคุณภาพกระดาษ การพิมพ์ การตรวจปรู๊ฟซึ่งยังมีจุดผิดอยู่ ก็เลยอยากจะทำขึ้นมาให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสมกับคุณค่าของหนังสือชุดนี้"
การจัดพิมพ์ครั้งใหม่ของสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน จึงเป็นการเติมเต็มความสุขให้นักอ่านรุ่นใหญ่ได้หวนหาอดีตในวัยเยาว์ และเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจยังไม่เคยอ่านหนังสือชุดนี้ ได้เริ่มต้นทำความรู้จักกับหนังสือแปลที่จัดว่า เป็นวรรณกรรมเยาวชนแปลคลาสสิกชุดหนึ่งในวงการแปลของไทย
"สุคนธรส" นักแปลหญิง เป็นผู้แปลหนังสือ 8 เล่มแรกของหนังสือชุด "บ้านเล็ก" นี้ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2507 และได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้อ่าน จนต้องพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง หลังจากนั้น "สุคนธรส" ได้แปลหนังสือในชุดนี้อีก 2 เล่ม คือ สี่ปีแรก และตามทางสู่เหย้า ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร "ลลนา" ยุคที่สุวรรณี สุคนธา เป็นบรรณาธิการ จากนั้นได้มีการจัดพิมพ์รวมเล่มอีกหลายครั้ง
"จริงๆ ชุดบ้านเล็กจะมีอีกสำนวนหนึ่ง แต่สำนวนของสุคนธรสจะเป็นสำนวนที่คนอ่านจะพอใจและชอบกันทุกคน คือใช้ภาษาที่เรียบง่าย บรรยายแล้วทำให้คนอ่านรู้สึกตามไปด้วย จะมีความอบอุ่น แฝงความเหงาไว้เล็กๆ ในนั้น ยุคโน้นเราได้อ่านก็ประทับใจทั้งเนื้อเรื่องและสำนวนด้วยของคนแปล ก็เลยประทับใจมาจนบัดนี้"
"ความจริงหนังสือชุดนี้อมรินทร์คิดจะทำมาตั้งหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ถึงคิว พอปีนี้ทางสำนักพิมพ์ถึงคิวจะทำก็เลยขอมาเป็นบก. ดำเนินการอย่างจริงจัง มีการติดต่อหาตัวผู้ถือลิขสิทธิ์คนปัจจุบัน เพราะผู้แปลเสียชีวิตไปแล้ว เราก็ติดต่อไปทางสำนักพิมพ์ที่เคยพิมพ์ชุดนี้มาแล้วคือ รวมสาส์น ตอนแรกเราเข้าใจว่า ยุคโน้นผู้แปลจะขายลิขสิทธิ์ขาดให้สำนักพิมพ์ไปเลย แต่พอมาดูจริงๆ มันไม่ใช่ ก็คือขายให้เป็นครั้งๆ ก็ทำให้เราสามารถซื้อมาได้ ไปติดต่อทางทายาทของผู้แปลซึ่งทางรวมสาส์นก็ให้ความร่วมมือบอกว่าเป็นใคร ส่วนลิขสิทธิ์ทางต่างประเทศเราก็มีการขอเรียบร้อยทุกเล่ม เพียงแต่เจ้าของลิขสิทธิ์เขาจะขอดูปกเราด้วย พอออกแบบปกเสร็จก็ส่งไปให้ทางโน้นดู เขาก็โอเค"
นอกจากสีสันและรูปเล่มที่ถูกออกแบบมาอย่างประณีต สวยงามน่าซื้อแล้ว ความพิเศษในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ คือ สุภาวดี โกมารทัต หนึ่งในสองบรรณาธิการเล่ม ได้แปลบทเพลงภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนยกมาลงในหนังสือ แต่ผู้แปลไม่ได้แปลไว้ เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า คุณภาพที่ได้ย่อมต้องแลกมาด้วยการทุ่มเททำงานหนักทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ตัวบรรณาธิการ, กอง บก., ซับเอดิเตอร์, ฝ่ายศิลปกรรม ไปจนกระทั่งฝ่ายการตลาด แต่ด้วยความที่ตัวบรรณาธิการเองนั้น จัดเป็นบุคคล "ร่วมสมัย" กับหนังสือชุดนี้ บก.นาคินทร์จึงทำงานด้วยความสุขอย่างที่เขาบอกไว้ในตอนแรก
จุดประกายนักเขียน
หากจะถามถึงหนังสือที่เป็นสุดยอดหนังสือในดวงใจของนักเขียนหลายๆ คน เชื่อว่าหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่นี้ จะต้องติดอันดับรายชื่อหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเขียนชาวไทยจำนวนไม่น้อยแน่นอน
หนึ่งในนักเขียนที่มีชื่อเสียงนั้นก็คือ "กิ่งฉัตร" หรือนามจริงว่าปาริฉัตร ศาลิคุปต เจ้าของบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายต่อหลายเรื่อง โดย "กิ่งฉัตร" นั้นยอมรับว่า หนังสือชุดบ้านเล็กนั้นเป็นหนังสือที่สร้างความประทับใจให้เธอตั้งแต่แรกอ่าน เมื่อสมัยที่เธอยังเป็นนักเรียน ร.ร.สตรีวิทยา
"จำได้ว่าเล่มแรกที่อ่านเป็นหนังสือชุดของห้องสมุด พอโตขึ้นก็พยายามเสาะหามาเป็นสมบัติของตัวเอง คือสมัยนั้นวรรณกรรมเยาวชนของไทยน้อยมาก ที่อ่านกันก็มีจะมีพวกบ้านเล็กในป่าใหญ่ แมงมุมเพื่อนรัก ตามล่า เอมิลยอดนักสืบ อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยนั้นหนังสือสำหรับเด็กมีน้อย หนังสือเรื่องนี้ก็เลยโดดเด่นออกมา และกลายเป็นหนังสือที่ประทับใจ อยู่ในใจของคนอ่านในยุคนั้นจำนวนมาก" กิ่งฉัตรย้อนความทรงจำถึงหนังสือเล่มโปรดให้เราฟัง แม้ตอนที่เธอเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาที่อเมริกา อาจารย์ที่นั่นก็ยังใช้หนังสือชุดบ้านเล็กนี้ เป็นคู่มือสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนต่างชาติ
"เขาก็เลือกขึ้นมาเล่มหนึ่งให้เราไปอ่านแล้วมาวิเคราะห์กัน เพราะภาษาอังกฤษก็ไม่ยากจนเกินไปสำหรับนักเรียนต่างชาติ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมในยุคบุกเบิกของอเมริกาด้วย" จึงถือได้ว่า หนังสือชุดนี้ผูกพันกับกิ่งฉัตรมาทุกช่วงวัย นักเขียนสาวจึงรู้สึกคุ้นเคย ทั้งตัวละคร และสำนวนแปลของสุคนธรสที่ละเมียดละไม ยากจะหาใครเหมือน
"นักอ่านรุ่นดิฉันจะโตมากับสำนวนของคุณสุคนธรสอยู่แล้ว" กิ่งฉัตรกล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อหนังสือชุดนี้ต่อว่า "ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตอนนั้นเรายังเด็ก โลกเรายังแคบ การที่ได้อ่านหนังสือชุดนี้เหมือนกับการเปิดโลกใหม่อีกโลกหนึ่ง เนื้อหาเรื่องราวแม้มันจะเป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็มีความน่าสนใจว่ากว่าที่แต่ละครอบครัวจะสร้างเนื้อสร้างตัว ฝ่าฟันอุปสรรคมาได้นี่มันยากลำบากแค่ไหน เราประทับใจตรงที่ชีวิตมันลำบากเหลือเกิน กว่าที่เขาจะต่อสู้ดิ้นรนมา แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสอนเราเสมอก็คือ การไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและโชคชะตา คือไม่ว่าจะประสบปัญหาอะไร ความเป็นครอบครัว ความร่วมมือร่วมใจ และการที่พ่อกับแม่เป็นผู้นำ เป็นหลักที่ดีของบ้าน ทำให้ทุกอย่างมันผ่านพ้นไปได้อย่างน่าประทับใจ"
เมื่อถามว่าประทับใจตัวละครใดเป็นพิเศษ นักเขียนสาวตอบว่า "ประทับใจตัวแม่ เพราะมีความรู้สึกว่าเขาเป็นหลักที่มั่นคง เป็นคนที่สามารถพลิกสถานการณ์เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้ จำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งเขาปลูกข้าวสาลีแล้วมีนกมาลงกินหมด ขณะที่ตัวละครอื่นมีความรู้สึกว่าไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต แม่เขาก็เอาปืนไปยิงนก แล้วก็เอานกมาทำพาย ซึ่งนี่คือความพยายามดิ้นรนที่จะเอาตัวรอด เขาต้องเอาชีวิตให้รอดตรงจุดนั้น มีความประทับใจว่านี่คือผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวรวมอยู่ได้ ผ่านพ้นไปได้ มีชีวิตที่ดี"
จากความประทับใจในการสู้ชีวิตของตัวละครในเรื่องนี่เอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าในบรรดาหนังสือชุดนี้ทั้งหมด กิ่งฉัตรจะประทับใจในตอน "ฤดูหนาวอันแสนนาน" เป็นพิเศษ
"เป็นตอนที่รู้สึกว่าจะหนักหนาสาหัสเป็นพิเศษ คือผู้เขียนสามารถถ่ายทอดให้เห็นด้วยความรู้สึกว่า มันหนาวนะ ชีวิตมันยากลำบาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเราไม่เคยเจอ บ้านเมืองเราไม่เคยเจอสภาพแบบนั้น เราไม่เคยรู้เลยว่าปัญหาที่เขาเผชิญมันหนักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าประทับใจมากว่า คุณสามารถฝ่าฟันมาจนผ่านรอดไปได้"
"หนังสือวรรณกรรมเยาวชนบางทีมันก็ไม่ได้เขียนมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ มันขึ้นอยู่กับคนอ่านว่า เมื่ออ่านแล้วคุณจะได้อะไรจากหนังสือชุดนั้นหรือเล่มนั้น อย่างที่ดิฉันบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ วิถีชีวิต ความเชื่อ ความคิดในการอยู่เป็นครอบครัวที่เด่นชัดมาก เพราะฉะนั้น ถามว่าจำเป็นไหมว่าเฉพาะแค่เด็ก ไม่ใช่หรอกค่ะ ใครก็อ่านได้ ใครก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวความสนุกและแง่มุมมองชีวิตที่ดีๆ จากหนังสือชุดนี้ได้"
เมื่อทางสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนจัดพิมพ์หนังสือชุด "บ้านเล็ก" ออกมาใหม่ รูปเล่มที่สวยงามน่าจะชวนใจให้หยิบอ่าน และอาจจะสร้างนิสัยรักการอ่านหนังสือให้เยาวชนรุ่นใหม่มากขึ้น กิ่งฉัตรจึงสนใจร่วมโครงการ "เติมหนังสือสู่สมอง" http://www.books4brains.org/ โครงการที่ก่อเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่รักการอ่านเขียน และเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการช่วยปลูกสร้างฐาน "วัฒนธรรมการอ่าน" ให้เติบโตขึ้นในสังคมไทย โดยตั้งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชนน้อยใหญ่ ในโรงเรียนต่างจังหวัดที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในการจัดสร้างห้องสมุด รวมถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทยอื่นๆ ซึ่งกิ่งฉัตรได้ระดมทุนจากแฟนๆ นักอ่านในเว็บบอร์ดของเธอ ร่วมลงขันซื้อหนังสือชุด "บ้านเล็ก" เพื่อโรงเรียนเล็กๆ ในโครงการ
"ถ้าเราซื้อแล้วเราอ่านคนเดียว แต่ถ้าเราซื้อแล้วบริจาคซะ เด็กจำนวนเยอะมากหรือผู้ใหญ่จำนวนเยอะมากจะได้อ่านงาน มันจะคุ้มกว่าที่เราจ่ายเงินเท่ากันแต่ว่าคนอ่านต่างกันเยอะ"
เหตุที่เลือกบ้านเล็กในป่าใหญ่ทั้ง ๆ ที่เป็นหนังสือชุดราคาสูงเพราะ กิ่งฉัตรเห็นว่าเป็นหนังสือคลาสสิก อมตะ ที่ทรงคุณค่า ตัวเธอเองก็มีอยู่ชุดหนึ่งแล้ว และเคยเห็นนักเขียนท่านอื่นเลือกซื้อในงานสัปดาห์หนังสือเพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ดังนั้น หนังสือบ้านเล็กหนึ่งชุดหนึ่งโรงเรียนวันนี้อาจจะสร้างนักเขียนสิบคนในวันข้างหน้า
"ดิฉันเห็นว่านักเขียนทุกคนที่อยู่รอบข้างมีประสบการณ์ที่ดีในการอ่านหนังสือชุดนี้มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นป้าอี๊ด ทมยันตี คุณปิยะพร (ศักดิ์เกษม) คือถามใครทุกคนก็บอกว่ามีแล้วชุดนี้ อ่านแล้ว และทุกคนมีมากกว่า 1 ชุด เพราะฉะนั้น เราก็เลยมีความรู้สึกว่า เป็นไปได้ไหมที่เรามีจินตนาการเป็นความสุขในการอ่านหนังสือ มันมีผลทำให้เราอยากเขียนหนังสือขึ้นมาบ้าง ก็เลยคิดว่ามันเป็นไปได้ว่าการที่ทำให้หลายคนๆ ได้อ่านหนังสือชุดนี้อาจจะสร้างนักเขียนขึ้นมาได้ในอนาคต เหมือนที่หนังสือชุดนี้เป็นเสี้ยวหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดนักเขียนมีชื่อหลายคนในประเทศนี้ขึ้นมา"
*ข้อมูลประกอบการเขียน
"ตามทางสู่เหย้า" พิมพ์โดย สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน พ.ศ. 2548
http://www.buildboard.com/viewtopic.php?id=1279&topic=28195&fx=0&forum=4636&66
*****************
'สุคนธรส' เจ้าของสำนวนแปลอมตะ
ม.ล. รสคนธ์ อิศรเสนา หรือผู้ใช้นามปากกาว่า "สุคนธรส" เกิดวันที่ 12 พฤศจิกายน 2460 เป็นธิดาในเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) และท่านผู้หญิง ม.ร.ว. อรุณ (นพวงศ์) อิศรเสนา "สุคนธรส" เติบโตมาในบ้านที่ตั้งอยู่ ณ ถนนพระอาทิตย์ (ปัจจุบันคือ สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
ในวัยเยาว์ "สุคนธรส" เป็นพระสหายผู้หนึ่งของ "ว.ณ ประมวลมารค" (พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ซึ่งเคยศึกษาร่วมกันมาตั้งแต่ครั้งเรียนมัธยมศึกษาที่ ร.ร.มาแตร์เดอี และเป็นนิสิตแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งสำเร็จเป็นบัณฑิต
ในด้านการงาน "สุคนธรส" รับราชการโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2486 ที่หอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ และมีงานพิเศษทำหน้าที่เลขานุการของเลขาธิการมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2487 "สุคนธรส" ได้ลาออกจากจุฬาลงกรณ์ฯ เนื่องจากในตอนนั้น ประเทศไทยอยู่ในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุที่บ้านอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมาก (ในตอนนั้นแถบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเป็นไร่สวนเปล่าเปลี่ยว) ทำให้ผู้ใหญ่ทางบ้านเป็นห่วง
พ.ศ.2488 "สุคนธรส" ย้ายไปทำงานที่หอสมุดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ สังกัดกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่ถนนพระอาทิตย์มากกว่า หลังจากสงครามสิ้นสุด จึงได้ลาออกเพื่อมาสอนที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ระหว่าง พ.ศ.2496-2498 ได้ลางานไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.2499 เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยการศึกษาปทุมวัน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา จึงยังสอนให้แก่ ร.ร.เตรียมฯ อีกด้วย ในสายตาเพื่อนร่วมงาน "สุคนธรส" เป็นที่รักของเหล่าเพื่อนร่วมงานด้วยอุปนิสัยเรียบง่าย ไม่ถือยศศักดิ์ และเป็นที่นับถือในความเป็นคนซื่อตรง และละเอียดรอบคอบในการทำงาน
ต่อมา พ.ศ. 2516 ได้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ เนื่องจากทางครอบครัวได้ย้ายที่อยู่จากบ้านเดิมที่ถนนพระอาทิตย์ ไปอยู่ที่ตำบลสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีทำเลร่มรื่น สวยงาม และอากาศบริสุทธิ์มากกว่าในกรุงเทพฯ ณ ที่นี่ "สุคนธรส" ได้ใช้เวลาทำสวน ปลูกต้นไม้ สลับกับทำงานเขียน แปลหนังสือภาษาอังกฤษ ประเภทนวนิยายที่มีเค้าเรื่องจริงแบบอิงประวัติศาสตร์ โดยใช้นามปากกาว่า "สุคนธรส" ต่อมาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
"สุคนธรส" จากไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ นับเป็นการปิดตำนานนักแปลเจ้าของสำนวนแปลสุดคลาสสิกที่ไม่อาจหาผู้ใดเหมือน
ที่มา ; "แนะนำ ประวัติ 'สุคนธรส' ผู้แปลหนังสือชุด 'บ้านเล็ก' " นิตยสาร "โลกหนังสือ"
เรื่อง/ภาพ ; รัชตวดี จิตดี