นักดนตรีมีหน้าที่ทำความสุขสบายรื่นเริงให้แก่โลก เราก็ต้องอุทิศตนให้แก่โลก ปฏิบัติหน้าที่ของเราไปโดยไม่ท้อถอย ใครจะดูถูกดูหมิ่นอย่างไรเราไม่ต้องคำนึง ผู้ทำคุณก็ต้องทำความดีของตนไป จะไปกังวลอะไรกับคำเนรคุณ ซึ่งเป็นความไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่ง…
มนตรี ตราโมท…
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)
1
เป็นความรู้สึกที่ผมยังไม่ลืม…เมื่อย่างเท้าเข้าในบริเวณร่มรื่นซึ่ง "ครู" ดนตรีไทยท่านหนึ่งเคยใช้เป็นที่พำนักในช่วงบั้นปลายชีวิต
เป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างอะไรกับการย่างเท้าเข้าร่องสวนครูสมพร เกตุแก้ว ช่างทำซอผู้เชี่ยวชาญซึ่งเร้นกายหนีความวุ่นวายแล้วมีความสุขกับการสอนลูกศิษย์ลูกหากลุ่มเล็กๆ ที่สนใจดนตรีไทยที่สมุทรสงคราม
บ่ายวันนั้น…บ้านโสมส่องแสง "พิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์" ของครูมนตรี ตราโมท นิ่งสงบกลางแมกไม้ร่มครึ้ม จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือบริเวณที่ห่างจากถนนใหญ่ไม่เกิน 300 เมตร กลางเมืองนนทบุรี
ทั้งเป็น "บ้าน" ศิลปินแห่งชาติคนสำคัญที่ใช้เงินก้อนสุดท้ายในชีวิตแลกมา แล้วใช้ที่แห่งนี้ผลิตงานอันหาค่ามิได้ให้คนรุ่นหลังยลยินช่วงสุดท้ายของชีวิต
* * * *
"…ตอนนั้นจอมพล ป. เห็นว่าดนตรีไทยจะร้องหรือจะเล่นก็จะต้องนั่งพับเพียบกับพื้น ท่านว่ามันบาบาเรี่ยน จะห้ามเล่นเสียแล้ว และตอนนี้เองที่ผมแสดงให้ท่านยอมรับว่า ดนตรีไทยนั้นไม่จำเป็นต้องพับเพียบกับพื้นเสมอไป ในหลวงรัชกาลที่ 6 ท่านเคยทรงโปรดฯ ให้สร้างเก้าอี้สำหรับวงดนตรีไทยที่ใช้ประกอบละครมาแล้ว ผมก็เลยใช้วิธีเดียวกันนั้น โดยนำเอาที่ตั้งวงดนตรีมาให้จอมพล ป. เห็น ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร…"
พ.ศ. 2486 กรุงเทพฯ …ครูมนตรี ตราโมท ก็เช่นเดียวกับครูอย่างหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่อึดอัดนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. ที่ส่งผลให้ดนตรีไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย ด้วยมุมมองคับแคบว่าสิ่งนี้ล้าสมัย
แม้ว่าขณะนั้นครูมนตรีจะรับราชการอยู่ในกรมศิลปากร ซึ่งน่าจะเป็นจุดลำบากใจน้อยที่สุดก็ตาม แต่ความเป็นจริงดนตรีไทยของกรมศิลปากรก็ตกอยู่ในภาวะลำบากไม่ต่างอะไรกับวงการดนตรีไทยโดยรวมเลย
จะว่าไปครูมนตรีหรือนามเดิมคือบุญธรรม ลำบากใจพักหนึ่งแล้วเมื่อประเทศเข้าสู่ยุครัฐนิยมที่มองว่าดนตรีไทยล้าสมัย แต่ครูก็ยังจำได้เสมอถึงวัยเด็กที่ดนตรีไทยซึมลึกในทุกอณูชีวิตของคนสยามไม่ว่าอยู่แห่งหนใดก็ตาม
ใช่…แม้แต่คนเมืองสุพรรณธรรมดาๆ อย่างครูซึ่งกำพร้าพ่อแต่เด็กก็ยินเสียงยามวิ่งผ่านหอปี่พาทย์วัดสุวรรณภูมิ ซึ่งหลวงตาลี่ผู้มีพระคุณของท่านได้ตั้งวงดนตรีไทยไว้เล่นในโอกาสต่างๆ ได้ยินบ่อยมากจนกระทั่งบุญธรรม "จำเพลงอะไรของเขาได้…บางเวลาระหว่างที่ยังอยู่ในโรงเรียนเป็นเด็กอยู่..เขามีงานอะไรกันผมยังไปช่วยเขาตีฆ้องเล็ก ตีทุ่มเหล็กอะไรนี่ ก็เข้าวงกับเขาได้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้หัดเลยตอนนั้น"
ซึ่งทำให้สายเลือดรักดนตรีไทยแฝงลึกในตัวนับแต่นั้น ขณะเว้นการเรียนเมื่อจบมัธยมต้น ด้วยความใกล้วัดซึ่งมีวงดนตรีไทย บุญธรรมจึงได้ครูสมบุญ นักฆ้อง เป็นผู้ประสาทวิชาคนแรก ก่อนจะออกเดินทางไปยังตักศิลาดนตรีไทยที่ "สมุทรสงคราม" เรียนกับครูสมบุญ สมสุวรรณ แห่งตำบลบางกะพ้อม (อัมพวา) อีกถึง 3 ปี
ที่อัมพวานั้นเอง เขาตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเลี้ยงชีวิตด้วยดนตรีไทย…
พ.ศ.2457 เด็กหนุ่มอายุ 14 เรียนระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ รวมถึงแตรวง (คลาริเนต) การประพันธ์เพลง รับการสอนแบบโบราณ ตื่นแต่เช้าซ้อมดนตรี กลางวันต่อเพลงกับครู มีโอกาสเล่นประชันกับวงต่างๆ รวมถึงงานที่ครูสมบุญถูกจ้างไปบรรเลง เหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่บ่มเพาะเขาจนอายุ 17 ก่อนนำวิชาไปใช้เมื่อรับราชการในกรมมหรสพ
ซึ่งกรมนี้เอง บุญธรรมได้ครูคนสำคัญคือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และอีกหลายท่านผ่านเครื่องดนตรีไทยหลายชิ้นเช่น ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ระนาดเอก กลองแขก ปี่ชวา กชภรณ์ ตราโมท ลูกสะใภ้เขียนเล่าในหนังสือ "บ้านครูมนตรี ตราโมท" ว่าขณะพ่อรับราชการที่กรมยังไม่ถูกส่งไปประจำที่ใด
"ครูมนตรีกับเพื่อน..ฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่และท่องเพลงเดี่ยวฆ้องตั้งแต่เวลา 5.00 น. จนถึง 7.00 น. จึงอาบน้ำแต่งกายไปรับประทานอาหารเช้า..."
จะเห็นว่าสมัยนั้นราชการโอบอุ้มศิลปินอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
บุญธรรมวัย 18 ได้รับการยอมรับความสามารถอย่างรวดเร็ว ถูกส่งไปประจำใน "วงตามเสด็จ" ซึ่งบรรเลงเฉพาะพระพักตร์รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าปี่พาทย์วงนี้นักดนตรีล้วนฝีมือสูงทั้งสิ้น ความสามารถของเขายังชัดเจนขึ้นอีกเมื่อเริ่มแต่งเพลงแรก (โหมโรงต้อยตริ่ง) และสามารถตีขิมได้ดีจนครั้งหนึ่งถึงกับได้บรรเลงถวายรัชกาลที่ 6 บริเวณข้างห้องบรรทมในวังพญาไทเมื่อพระองค์ประชวร จนพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งชมเชย
ยุครุ่งเรืองของดนตรีไทยจบลงเมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต กรมมหรสพถูกยุบ นักดนตรีแยกย้ายกันไป บุญธรรมวัย 25 ปี ถูกเลือกรับราชการต่อไป ช่วงรัชกาลที่ 7 นี้เองเขาใกล้ชิดกับครูอีกท่านหนึ่งคือ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ บรมครูซึ่งถูกรัฐบาลขอให้ช่วยฟื้นกองมหรสพขึ้นโดยเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย ครูท่านนี้บุญธรรมเคยร่วมบรรเลงกับท่านหลายครั้งก่อนหน้า โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะตีระนาดเอกและหลายครั้งท่านเลือกบุญธรรมตีระนาดทุ้ม
"ครูหลวงประดิษฐ์ฯ ชอบเปลี่ยนทำนองบรรเลงรับเป็นทางต่างๆ ไม่ให้ซ้ำ ครูมนตรีก็สามารถบรรเลงได้สอดคล้องตามความประสงค์ของท่านเสมอ ครูมนตรีจึงเป็นนักดนตรีที่ท่านพอใจเป็นอย่างมาก.." (มนตรี ตราโมท, อนุสรณ์คำนึงในวาระฉลองรอบร้อยปีเกิดหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), 2524)
ครูมนตรีจึงเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีไทย เพราะช่วงนั้นท่านยังมีบทบาทในการรักษาเพลงไทยที่ถูกรุกจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างหนัก โดยร่วมกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะพร้อมกรมปี่พาทย์ กระทรวงวัง ถวายการต่อเพลงแด่รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งพระองค์สนพระทัยพระราชนิพนธ์เพลง เพลงสำคัญที่ครูต่อโดยตรงคือ เพลงมอญดูดาว เถา (2472) เพลงคลื่นประทบฝั่ง 3 ชั้น (2474) และช่วง 2469-2475 นี้เอง ท่านมีผลงานไม่ต่ำกว่า 20 เพลง หลายเพลงกระจายเสียงที่สถานีวิทยุศาลาแดง
นอกจากนี้ครูยังร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลเพื่ออนุรักษ์ ประกอบกับแต่งเพลงสำคัญขึ้นเพลงหนึ่งคือ "โสมส่องแสง" ผู้ร้องคือครูเลื่อน สุนทรวาทิน ได้รับความนิยมมากจนภายหลังมีผู้นำทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ทำเป็นเพลงไทยสากลที่มีเนื้อว่า "คำก็รักสองคำก็รัก น้องใคร่ทราบนักรักมากเท่าไร"
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานครูมนตรียังมีมากมายทั้งแต่งหนังสือ รวมถึงวางรากฐานการเรียนนาฏศิลป์ไทยโดยแต่ง "ดุริยางคศาสตร์ไทย" ซึ่งถือเป็นตำราเรียนดนตรีเล่มแรกของไทย ขณะสอนที่โรงเรียนศิลปากรในปี 2481
จนลุปี 2484 หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ทำพิธีครอบประสิทธิ์ประสาทให้ครูมนตรีเป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครู ซึ่งนับเป็นศิษย์คนแรกที่ท่านครอบฯ ให้
หลายคนอาจไม่รู้ว่าช่วงนี้ชีวิตท่านลุ่มๆ ดอนๆ จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งท่านก็ไม่เคยย่อท้อในการสร้างศิลปะ กลับกัน คุณค่าของครูมนตรีมีแค่ไหนก็ดูได้จากการที่กรมศิลปากรต้องเชิญท่านทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยต่อมาอีกหลายปี แม้จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม
เพลงของท่านหลายเพลงไม่ได้ไกลตัวเราเลยครับ นึกไม่ออกให้ลองนึกถึง "ตื่นเถิดชาวไทย" หรือ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" นั่นละคือผลงานของครูมนตรีที่รัฐบาลยังใช้เปิดมาจนถึงปัจจุบัน
2
มนตรี ตราโมท เป็นชื่อที่เปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. มีนโยบายชาตินิยม ด้วยเหตุผลที่ คุณญาณี ตราโมท ลูกชายครูเล่าให้ฟังว่า
"เขากดดันพ่อว่าชื่อบุญธรรมเป็นชื่อผู้หญิง ท่านไม่ยอมเปลี่ยน ต่อมาเขากดดันอย่างไรไม่รู้พ่อก็ยอม แต่เรื่องดนตรีไทยนี่ท่านมีวิธีการของท่าน"
ญาณี ตราโมท หลายคนอาจเคยเห็นผลงานผ่านจอแก้ว ซึ่งผมก็เพิ่งประจักษ์ใจในคราเยือนบ้านโสมส่องแสงนี่เองว่า เขาเป็นนักแสดงไม่กี่คนในเมืองไทยที่รักดนตรีไทยดุจเดียวกับพ่อ แม้ไม่สันทัดเท่ากับพี่ๆ
เงินส่วนมากที่ได้จากอาชีพนักแสดงของเขา ถูกนำมาลงทุนในบ้านโสมส่องแสงเพื่อปรับปรุงเป็น"พิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์" ที่มี "ชีวิต" แด่อนุชนรุ่นหลัง
เป็นที่ทราบกันในแวดวงนักดนตรีไทยว่าครูมนตรีเป็นนกขมิ้นไร้รังตลอดชีวิตราชการ จากหนังสือ "บ้านครูมนตรี ตราโมท" บอกว่าครูย้ายที่พำนักถึง 8 ครั้ง ได้รับความเมตตาจากเจ้านายพระองค์ต่างๆ ที่เห็นคุณค่างานดนตรีไทยเสมอมาจนครั้งสุดท้ายที่นนทบุรี
ท่านใช้เงินบำเหน็จแลกมาซึ่งสมัยก่อนแถบนี้เป็น "ท้องนาและร่องสวน สามารถพบเห็นควายเดินไปมาอยู่หลายตัว" (แต่ปัจจุบันถือว่าอยู่เกือบใจกลางเมืองนนทบุรี) ท่านจึงมีบ้านของตนเอง
"มีแนวคิดว่า สถานที่เป็นสิ่งสมมติ ไม่มีใครเอาไปได้ เป็นเจ้าของแบบสมมติชั่วคราว เรื่องให้ความสำคัญเป็นเจ้าของไม่มีมาแต่ต้น เจ้าของที่ดีที่สุดน่าจะเป็นสาธารณะจะมีคุณค่ามากกว่า...
"ตรงที่อยู่นี้เป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทายาทกับคนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของตรงนี้ ความคิดนี้ของผมสมัยคุณพ่อมีชีวิตยังไม่เกิดมาก โบราณเขาถือ แต่ส่วนตัวมันเหมือนอุดมการณ์มากกว่า
"พ่อตายแต่พ่อไม่หายไปจากโลก พ่อทำสิ่งดีมากมายให้ลูกหลานและชาติด้านศิลปวัฒนธรรม รู้สึกว่าบ้านนี้น่าจะมีคุณค่าพอในการเป็นพิพิธภัณฑ์ความทรงจำ ศึกษาว่าชีวิตคนคนหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วทำอะไรบ้าง"
ญาณี ได้แนวคิดนี้เมื่อครั้งหนึ่งถ่ายละครที่อังกฤษที่เมือง Stafford บ้านเกิดเชกสเปียร์ มหากวีเอกของโลก ด้วยเขาเห็นเมืองและบ้านของกวีผู้นี้แล้วเกิดประทับใจ
"ชวนไปดูไม่มีใครไป เขาอยากซื้อของ เราไปคนเดียว เมืองนี้มีรูปปั้นเชกสเปียร์ รู้สึกว่านั่นคือศิลปินของโลก ไม่ใช่ของประเทศไหน เพียงแต่เขาอาศัยประเทศนั้นมาเกิด แล้วแต่ประเทศนั้นเห็นค่าเขาไหม ตอนนั้นดูแล้วอ้าวมีนิดเดียว มีหม้อ มีไห ทะลุบ้านไปเจอสวน ทั้งที่ตอนแรกคิดว่าบ้านเขารวยเพราะเป็นมหากวี เลยรู้สึกว่าคนเราอยู่แค่นี้พอ นึกรักว่าเขาสมถะ ยิ่งใหญ่แต่อยู่แค่นี้ แถวนั้นยังมีโรงละครของเชกสเปียร์ที่ยังมีงานแสดงไม่ได้ขาด…
ตอนนั้นผมไปเจอนกเขาในเมือง นึกถึงเพลงนกเขามะราปีของพ่อ ถ้าเพลงพ่อสื่อไปยังนานาชาติ คนต่างประเทศก็น่าจะชื่นชม"
เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เมื่อครบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ.2543 ญาณีและทายาทคนอื่น รวมถึงลูกศิษย์จึงจัดงานเปิดบ้านครูมนตรีครั้งแรกวันที่ 8-9 เมษายน เพื่อบอกกล่าวถึงโครงการนี้ไปในตัว
"พ่ออาจไม่ดังเหมือนเขา แต่คุณสมบัติคนคนหนึ่งที่เกิดมามันพร้อมมากที่จะทำตรงนี้ได้ บ้านหลังนี้ไม่ใช่แค่ดูว่าศิลปินอยู่อย่างไร แต่ดูว่าคนๆ หนึ่งที่ก้าวมาตรงนี้อยู่อย่างไร
ผมเอาข้อมูลคุยกับภรรยา แล้วอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญทางนี้ให้ข้อคิดว่าอยากเห็นมานานแล้ว ของที่แสดงเป็นของราคาถูก แต่คุณค่ามหาศาล อาจารย์ศรีศักร บอกว่าบางทีรูปยังสามารถวางได้เลย..
มีความง่ายในความยาก ถามพี่ขรรค์ชัย บุนปาน พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ทุกคนเห็นด้วยหมดเลยยิ่งมั่นใจมากขึ้น แม้เราหวั่นว่าคนอื่นอาจคิดว่าแค่ลูกทำให้พ่อ แต่มันไม่ใช่ เราทำหน้าที่ของคนไทยมากกว่า ความเป็นพ่อลูกหนักแน่นส่วนหนึ่ง แต่ความเป็นคนไทยที่จะทำอะไรให้ลูกหลานเป็นสิ่งสำคัญกว่า"
3
เป็นความรู้สึกที่ผมยังไม่ลืม…เมื่อก้าวออกมาจากบ้านหลังนั้น
บ้านที่อาจารย์ศรีศักรบอกว่า "..คือตัวอย่างบ้านของมนุษย์ มนุษย์ในเมืองไทยที่อยู่กันมาช้านานหลายร้อยปี..บ้านของอาจารย์มนตรี ตราโมท คือบ้านของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีความเย่อหยิ่ง จองหอง บ้าอำนาจราชศักดิ์ แต่เป็นปราชญ์ เป็นครูของแผ่นดินที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและยืนนานมาร่วมศตวรรษ
"การอนุรักษ์บ้านอาจารย์มนตรี..จึงมีความหมายในการที่จะให้ความรู้แก่คนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่มีโอกาส..ได้รู้ความเป็นมาและสิ่งที่ดีงามของสังคมมาก่อน.."
ถึงบรรทัดนี้คงไม่มีอะไรอธิบาย "ครูมนตรี" ได้ดีเท่ากลอนของ สุระ พิริยะพงศ์
คีตดนตรีมิเลือนหู
นาฏโขนครูมิเลือนเห็น
ตรึงจิตติดซาบล้างหยาบเย็น
สมเป็นการศิลป์กล่อมวิญญาณ์
คือรากฝากแฝงต้นแยงหยัด
ฉายชัดแดนดินศิลป์สง่า
ทุกความตามเขียนขอเวียนมา
บูชา "มนตรี ตราโมท" เทอญ
วันนี้ หลายคนจ่ายเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตราคาเป็นพันบาทแล้ว ลองมาหยอดตู้ช่วยพิพิธภัณฑ์นี้บ้างนะครับ
* * * *
* บ้านครูมนตรี ตราโมท สามารถนัดล่วงหน้าก่อนเข้าชมที่โทร. 0-2527-5257
* * * *
เรื่อง...สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ...อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์ , สุเจน