การติดตามจับตัวคนร้ายในแต่ละคดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องหลังการทำงานในแต่ละคดีของตำรวจต้องใช้ทั้งไหวพริบ จิตวิทยา และความสามารถรอบตัว เราเรียกตำรวจที่ทำงานด้านนี้ว่า 'ตำรวจสืบสวน' งานสืบสวน เป็นงานเสี่ยงตาย ท้าทายความกล้า ปฏิบัติการทุกอย่างล้วนเป็นความลับ แฝงตัวหาข้อมูล ติดตามสืบจับคนร้าย คลี่คลายคดีอุกฉกรรจ์ ปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรม พวกเขายึดคติ "เสียสละ เสี่ยงตาย ไร้งบอุดหนุน" เราไปดูกันว่า 'ตำรวจสืบสวน' เขาทำงานกันอย่างไร
แฝงตัว สะกดรอย สกัดจับ
เมื่อตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ งานของพวกเขาจึงเป็นไปเพื่อดูแลคุ้มครองความสงบสุขของประชาชน โดยเฉพาะ 'ตำรวจสืบสวน' ดูจะเป็นหน่วยงานที่รับบทหนักอย่างยิ่ง เพราะคดีที่ตำรวจสืบสวนจะเข้าไปรับผิดชอบนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ปล้นฆ่า ฆาตกรรมอำพรางคดี มือปืนรับจ้าง หรือแก๊งอาชญากรรมที่ทำงานเป็นเครือข่าย
จากการพูดคุยกับนายตำรวจสืบสวนทั้งที่สังกัดภูธรและนครบาลทำให้เราทราบว่าการทำคดีของตำรวจสืบสวนนั้นต้องมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน การทำงานเป็นไปอย่างรัดกุม ที่สำคัญทุกอย่างต้องเป็นความลับ
"หลังจากประชุมทีมงานเพื่อวางแผนในการควานหาผู้กระทำผิดและติดตามตัวมาดำเนินคดีแล้ว ทีมงานจะส่งนายตำรวจแฝงตัวเข้าไปเพื่อหาข่าวจากผู้ที่ใกล้ชิดกับ 'เป้าหมาย'ซึ่งเป็นผู้กระทำผิด โดยต้องสลัดคราบตำรวจทิ้งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะเรียกปฏิบัติการนี้ว่า 'การเข้าเกลียว' โดยผู้เข้าเกลียวต้องเข้าไปทำความรู้จักสนิทสนมกับคนสนิทของเป้าหมายและใช้จิตวิทยาในการหาข่าว
แต่เนื่องจาก 'การเข้าเกลียว' เป็นงานที่ต้องเสี่ยงอันตรายอย่างมาก จึงมีนายตำรวจอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า 'ชุดสะกดรอย' คอยติดตามคุ้มกันอยู่ห่างๆ นอกจากนั้นยังมี 'ชุดฝังตัว' ซึ่งจะแฝงตัวเพื่อเฝ้าติดตามผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ'เป้าหมาย'อย่างใกล้ชิด เช่น ไปเช่าห้องพักอยู่ใกล้กัน หรือเข้าไปทำงานในหน่วยงานเดียวกันกับผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเป้าหมาย เพื่อหาข่าวและจับตาดูความเคลื่อนไหวต่างๆ
เมื่อผู้กระทำผิดปรากฏตัวหรือทราบแหล่งกบดานก็จะนำกำลังเข้าจับกุมทันที และหากเป็นคดีที่พยานรู้เห็นและให้ข้อมูลกับเรา ตำรวจสืบสวนก็มีหน้าที่ติดตามคุ้มกันพยานด้วย " พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ สารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจนครบาล 2 นายตำรวจที่ผ่านคดีสืบสวนมาอย่างโชกโชน อธิบายขั้นตอนการทำคดี
ต้องอึด และเนียน
พ.ต.ท.ธีรเดช ยังเล่าถึงความยากลำบากในการทำงานของตำรวจสืบสวนให้ฟังว่า "ทั้งผู้ที่จะเข้าเกลียว ชุดสะกดรอย และชุดฝังตัว จะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี มีการปลอมตัว และเล่นตามบทอย่างแนบเนียน ที่สำคัญต้องมีไหวพริบ ปกติการเข้าเกลียวจะทำเพื่อหาตัวคนร้าย อย่างคดี 'ทศ ฮอนด้า' แก๊งโจรกรรมรถยนต์เบอร์ 1 ที่ตำรวจต้องการตัว เมื่อหลายปีก่อน (เลือกโจรกรรมรถฮอนด้าเป็นหลัก) ซึ่งสายข่าวรายงานมาว่านายทศติดพันผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นสาวไซด์ไลน์ คือเป็นนักศึกษาที่ขายบริการด้วย เราก็ส่งตำรวจสืบสวนไปเข้าเกลียวเพื่อหาข้อมูลจากผู้หญิงที่ทศมาติดพัน จนสามารถเจอตัวทศ และปิดคดีได้ในที่สุด
แต่กว่าจะปิดคดีได้นี่เหนื่อยมาก ทีมงานเราต้องเฝ้าอยู่ถึง 2 เดือน ยากตั้งแต่การเข้าเกลียว'เลย สมัยนั้นยังนิยมใช้เพจเจอร์อยู่ เราก็เพจเข้าไปหาสาวไซด์ไลน์คนนี้ สมมติว่าชื่อ 'น้องกุหลาบ' ให้เขาโทร.กลับเพราะเราอยากได้เบอร์ติดต่อของเขา เพจไปหลายครั้งมากกว่าจะโทร.มา หลังจากได้เบอร์แล้วก็โทร.นัดน้องกุหลาบออกมาเจอ แต่เขาไม่ค่อยพอใจเพราะเป็นคนแปลกหน้า ไม่ใช่แขกเก่าของเขา
เจ้าหน้าที่ซึ่งไปเข้าเกลียวก็บอกว่าเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแบงก์ เขาก็แกล้งพาเดินชอปปิ้ง ซื้อของจนเงินหมดกระเป๋า(หัวเราะ) แล้วเป็นเงินส่วนตัวด้วยนะ ใช้เวลาอยู่ 2 เดือนกว่าผู้หญิงคนนี้จะเชื่อใจ จนหลังๆเขาคิดว่าเป็นพี่ชายเพราะเป็นแขกคนแรกที่ไม่ได้มีอะไรด้วย ทั้งที่เจอกันเกือบทุกวัน ต้องใช้ความอดทนมากนะ แล้วจริงๆเขาไม่เคยพูดถึงทศเลย แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาบอกว่าช่วงนี้มาเจอกับคนของเราไม่ได้เพราะคนสำคัญของเขาจะมา เราก็เดาว่าต้องเป็นทศ เลยจับตัวได้
คดีนี้การสะกดรอยก็ยากเหมือนกัน เพราะที่พักของ 'น้องกุหลาบ'ไม่มีจุดที่จะจอดรถซุ่มดูได้เลย 'ชุดสะกดรอย'จึงต้องปลอมเป็นคนบ้า แล้วต้องทำให้เหมือน เอาขี้เถ้ามาทาตัว เที่ยวคุ้ยขยะใกล้กับที่พักของผู้หญิงคนนี้ ปรากฏว่าเหมือนจัด ชาวบ้านโทร.แจ้งให้ตำรวจท้องที่มาจับ(หัวเราะขำ) แล้วไม่ใช่แค่ครั้งเดียวนะ จับไป 3 ครั้ง เพราะระหว่างพาตัวไปโรงพักคนของเราก็แสดงตัวว่าเป็นตำรวจ แล้วก็บอกเขาให้ปิดเป็นความลับ เขาก็ไม่ได้บอกเพื่อนตำรวจที่โรงพัก พอคนโทร.แจ้ง ตำรวจอีกคนก็มาจับไปอีก ส่วน 'ชุดสะกดรอย' อีกชุดที่คอยดูอยู่รอบนอกก็ต้องกินนอนในรถตลอด 2 เดือนเหมือนกัน
หรือบางคดี 'ชุดฝังตัว'ซึ่งไปเช่าห้องอยู่ใกล้กับคนสนิทของเป้าหมาย ต้องเฝ้าแอบดูตามตาแมวว่ามีการเคลื่อนไหวอะไรบ้าง เปิดประตูทิ้งไว้ไม่ได้เดี๋ยวผิดสังเกต ผลัดกันเฝ้าดูอยู่ 2 คน ออกเวรมาปวดหัวปวดตาไปหมด มีบางทีเหมือนกันที่ไม่สำเร็จ อย่าง'เข้าเกลียว'โดยปลอมเป็นแท็กซี่ คิดว่าจะง่าย แต่เขาไม่โบกคันเรา ก็ขับวนไปอีกรอบ เขาโบกคันอื่นไปแล้ว"
พ.ต.ท.วราวุธ เจริญชนม์ สารวัตรกลุ่มงานสืบสวน ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 หรือ ฉายาในหมู่เพื่อนๆว่า 'สารวัตรยอง' บอกว่า " บางคดีตำรวจสืบสวนต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะจับกุมคนร้ายและปิดคดีได้ มีคดีหนึ่งเกิดเหตุฆาตกรรมที่ชลบุรีและระยองต่อเนื่องหลายคดี ซึ่งเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน มีพฤติการณ์เป็นกลุ่มไอ้โม่งปล้นฆ่าและมือปืนรับจ้าง มีคนร้ายได้ 6 คน ผมตามไปถึงเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และสกลนคร ใช้เงินไปเป็นแสนกว่าจะจับคนร้ายได้หมด"
คดียาเสพติด จะใช้ 'สาย'เป็นหลัก
การจะส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปหาข้อมูลนั้นจะต้องเลือกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีบุคลิกเหมาะกับสภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี หากเป็นคดียาเสพติดตำรวจสืบสวนจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไป 'เข้าเกลียว' เนื่องจากเป็นงานที่อันตรายเกินไป แต่จะใช้ 'สายลับ' ซึ่งเป็นคนที่ติดยาหรือคลุกคลีอยู่ในวงการยาเสพติดอยู่แล้วเข้าไปหาข้อมูลแทน ส่วนใหญ่ตำรวจจะเข้าไปในลักษณะของการล่อซื้อมากกว่า
"ถ้าเอาตำรวจไปเข้าเกลียวเนี่ย พวกค้ายาเขาเสพยาเราต้องเสพด้วย ถ้าเสพแล้วติดแน่ อันตรายมาก จะใช้สายลับแทน ซึ่งสายก็จะได้ค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งก็ไม่เยอะนะ เพราะเราไม่มีงบ เราก็ต้องใช้จิตวิทยาในการดึงเขาเข้ามาร่วมงานกับเรา คือพวกนี้เขาเลิกยาไม่ได้ แต่ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าเขายังมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม ถ้าเขาช่วยเราก็เท่ากับช่วยไม่ให้เด็กและเยาวชนต้องมาติดยา" ตำรวจสืบสวนนายหนึ่ง เล่าถึงการทำงานด้านการปราบปรามยาเสพติด
เสี่ยงตาย ท้าทายอิทธิพล
งานของตำรวจสืบสวนนับว่าเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก บางครั้งต้องเผชิญกับอิทธิพลและคนมีสีที่หนุนหลังการขบวนการอาชญากรรมที่ทำกันเป็นเครือข่าย อีกทั้งโยงใยถึงนักการเมืองระดับชาติ
" มีคดีหนึ่งเขาตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยบังหน้า แต่เบื้องหลังเป็นแก๊งมือปืนรับจ้างฆ่า คือเจ้าของบริษัทรับงานมา แล้วมือปืนก็คือ รปภ.ในบริษัท แต่พอจับได้ รปภ.จะอ้างว่าเป็นความแค้นส่วนตัว ทำให้สาวไม่ถึงตัวการใหญ่ ต่อมาแก๊งนี้ฮึกเหิมถึงขั้นตระเวนออกชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ด้วย ที่สำคัญบริษัทนี้มีนักการเมืองถือหุ้นอยู่ด้วย มีเส้นสายของคนใหญ่คนโต การทำคดีจึงยากมาก" นายตำรวจนายหนึ่งเปิดเผยถึงความอึดอัดใจในการทำงาน
ด้าน พ.ต.ท.ธีรเดช พูดถึงความเสี่ยงในการทำงานว่า " นอกจากเสี่ยงกับลูกปืนแล้วเนี่ย ยังเสี่ยงกับอันตรายที่เราไม่คาดคิดด้วย มีอยู่เคสหนึ่งผมได้รับมอบหมายให้ไปเข้าเกลียวโดยประกบหญิงสาวคนหนึ่ง ไม่รู้เพราะอะไรนะ ทีมงานชอบให้ผมไปประกบผู้หญิง(หัวเราะ) ปรากฏว่าตอนหลังน้องคนนี้เขามาบอกว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี เราก็ตกใจ คือเราไม่ได้ไปมีความสัมพันธ์กับเขานะ แต่กลัวว่าถ้าเขาจับได้ว่าเราเป็นตำรวจแล้วแกล้งเอาเข็มมาจิ้ม ก็ทำใจดีสู้เสือ แต่เราก็ไม่บอกใครว่าเขาเป็นเอชไอวี ถึงคดีจบไปแล้วก็ยังเป็นเหมือนพี่น้องกัน"
งานสืบสวน-นิติวิทยาศาสตร์ต้องไปพร้อมกัน
บางคนอาจมองว่าขณะนี้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างตำรวจและเจ้าหน้าที่นิติเวช เพราะการสืบหาหลักฐานมักได้ผลสรุปไม่ตรงกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วตำรวจสืบสวนมองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆกับงานสืบสวน เพราะหากขาดการเก็บหลักฐานตามหลักนิติเวช การสืบสวนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ถ้ายึดหลักนิติวิทยาศาสตร์อย่างเดียวโดยไม่มีการสืบสวนพยานแวดล้อมอื่นการสรุปคดีก็อาจผิดพลาดได้
พ.ต.ท.ธีรเดช กล่าวว่า "บางทีนิติวิทยาศาสตร์สามารถตบตาคนได้ อย่างมีคดีหนึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้บนอาคารชั้น 8 ของคอนโดมิเนียม จากการชันสูตรศพพบว่าเสียชีวิตด้วยการสูดควันพิษเข้าไป และที่เกิดเหตุไม่พบหลักฐานอะไรเนื่องจากถูกไฟไหม้ไปหมด ซึ่งจากการสอบถามผู้ใกล้ชิดทราบว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตชอบเสพยาเคและชอบจุดเทียนหอมเวลานอนจึงเป็นไปได้ว่าผู้ตายอาจเสพยาจดหมดสติเมื่อเกิดเพลิงไหมจึงไม่รู้สึกตัว ท้องที่เลยสรุปคดีในเบื้องต้นว่าเป็นอุบัติเหตุ
แต่เมื่อฝ่ายสืบสวนลงไปสืบคดีเราก็เช็กว่าผู้หญิงคนนี้เข้ามาที่ห้องเมื่อไร กับใคร จนทราบว่ามีแม่บ้านเห็นว่าผู้ตายมากับหนุ่มญี่ปุ่น เราก็สืบต่อไปว่าผู้ชายคนนี้เป็นใคร เราได้ภาพจากทีวีวงจรปิดของคอนโด แล้วทำการ 'แห่ภาพ' คือนำภาพไปตระเวนสอบถามในที่ซึ่งผู้ตายเคยไป จนสุดท้ายพบว่าเป็นฆาตกรรมอำพราง และจับคนร้ายได้ในที่สุด ดังนั้นฝ่ายสืบสวนและนิติเวชต้องทำงานร่วมกัน"
ด้าน พ.ต.ท.วราวุธ ให้ความเห็นว่า " เทคโนโลยีในการเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นี่ถือว่าสำคัญมาก จริงๆแล้วถ้ามีงบประมาณและเก็บหลักฐานดีๆงานจะง่ายขึ้นมาก เพราะไม่ว่าจะคราบน้ำลายที่ติดก้นบุหรี่ เส้นผม หรือแม้กระทั่งการสัมผัสกับผู้ตาย สามารถนำมาตรวจหาดีเอ็นเอได้หมด แต่ค่าใช้จ่ายตรงนี้ค่อนข้างสูง"
ไม่มีค่าเสี่ยงภัย เบิกไม่ได้ถ้าไร้ใบเสร็จ
ปัญหาสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสืบสวนคือปัญหาขาดแคลนงบประมาณ เพราะนอกจากเงินเดือนแล้ว พวกเขาไม่มีเบี้ยเลี้ยง รวมทั้งไม่มีค่าเสี่ยงภัยใดๆ หากจะทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ระเรียบราชการก็กำหนดว่าต้องมีใบเสร็จ ซึ่งดูจะขัดกับหลักความเป็นจริง เพราะงานของพวกเขาต้องเป็นความลับ มีการแฝงตัว ปกปิดชื่อที่แท้จริง อีกทั้งยังไม่มีงบประมาณในการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงาน
" การสืบคดีแต่ละครั้งเราไม่มีงบประมาณสนับสนุน ผมเป็นหัวหน้าชุดสืบสวน พูดไม่อายเลยนะว่าต้องใช้เงินเดือนตัวเองลงมาทำคดี อย่างเวลาไปสืบถ้าใช้รถตำรวจคนร้ายก็รู้ตัว ก็ต้องใช้รถส่วนตัว แต่มีปัญหาตามมาว่าเบิกค่าน้ำมันไม่ได้เพราะไม่ใช่รถของราชการ หรือเวลาเข้าพักตามโรงแรมขณะติดตามคดี เราก็ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเราเป็นใคร ก็ต้องใช้ชื่อปลอม ต้องควักเนื้อ ไม่อย่างนั้นก็ทำงานไม่ได้ ตำรวจเงินเดือนแค่หลักหมื่น ขณะที่อัยการเงินเดือนหลักแสน" พ.ต.ท.ธีรเดช
ด้าน พ.ต.ท.วราวุธ กล่าวว่า งบประมาณสำหรับการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพราะนอกจากจะช่วยในการหาข้อมูลแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
" อุปกรณ์ที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นการนำอุปกรณ์สื่อสารต่างๆที่มีอยู่ในท้องตลาดมาดัดแปลง มีทั้งเครื่องดูดเสียงซึ่งสามารถฟังเสียงการพูดคุยได้ไกลถึง 300 เมตร , กล้องส่องกลางคืน , กล้องส่องทางไกลที่เชื่อมต่อกับวิดีโอ ซึ่งสามารถเก็บภาพคนร้ายในระยะ 500 เมตรได้ อุปกรณ์เหล่านี้จริงๆไม่แพงนะ อยู่ที่หลักพันถึงหลักหมื่น ถ้าต้นสังกัดเห็นความสำคัญและมีงบให้การทำคดีจะมีประสิทธิภาพกว่านี้มาก"
กฎหมายใหม่ อุปสรรคการทำคดี
อีกปัญหาหนึ่งที่ตำรวจสอบสวนกำลังเผชิญอยู่ก็คือการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุให้มีการขอหมายศาลก่อนเข้าค้นหรือเข้าจับกุม ซึ่งทำให้ผู้ร้ายไหวตัวและบางครั้งไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ นอกจากนั้นตามกฎหมายใหม่ ศาลไม่รับฟังคำซัดทอดของจำเลย แต่จะพิจารณาจากหลักฐานเป็นหลัก ทำให้สาวไม่ถึงตัวผู้บงการ เพราะแม้ว่าผู้กระทำความผิดจะซัดทอดว่าได้รับการจ้างวานจากใคร แต่หากไม่มีหลักฐานมาแสดง ศาลก็ไม่รับฟัง
พ.ต.ท.วราวุธ บอกว่า " จากที่ทำงานสืบสวนมา 9 ปี ตอนนี้นับว่าเจอปัญหาหนักมาก เพราะกฎหมายใหม่ทำให้เราทำงานยากขึ้น ไม่สามารถจับตัวผู้จ้างวานได้ อย่างมีเคสหนึ่งเป็นแก๊งมือปืนรับจ้าง เราจับมือปืนคนแรกได้ตอนเย็นก็เชิญพนักงานสอบสวนมาสอบ เขาให้การซัดทอดถึงมือปืนคนอื่น ก็ไปขอหมายค้นหมายจับจากศาลตอนตีห้าวันรุ่งขึ้น ศาลก็รีบเซ็นให้แต่กว่าจะเข้าจับกุม พวกนี้ก็ไหวตัวแล้ว จับคนที่ 2 ได้ส่วนคนที่ 3 หนีไปแล้ว
เรามาสอบขยายผล คนที่ 2 ก็รับว่าได้รับการจ้างวานจากใคร ค่ำวันนั้นก็ไปขอหมายจับ หมายออกมาตอน 3 ทุ่ม แต่ต้องเข้าค้นตอนเช้าเพราะเป็นผู้จ้างวาน ไม่ใช่ผู้ลงมือ ซึ่งไม่ใช่เหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือผู้ร้ายสำคัญ ศาลไม่ให้เข้าค้นตอนกลางคืน ไปถึงเช้าก็ไม่เจอตัวแล้ว หลังจากนั้นเขาไปมอบตัวกับกองปราบ เพื่อปฏิเสธและสู้คดี ทำให้การสืบขยายผลเราสะดุด เราไม่สามารถสอบสวนหาหลักฐานได้
ตามกฎหมายนี่การจับกุมผู้จ้างวานต้องมีหลักฐานว่าเชื่อมโยงหรือมีการติดต่อกับคนร้าย มีการโอนเงิน ซึ่งในความเป็นจริงหาไม่ได้หรอกเพราะผู้จ้างวานคนไหนจะโง่เดินไปโอนเงินเอง ผู้ส่วนใหญ่ผู้จ้างวานจะเอาเงินสดให้ตัวกลาง สมมติเป็น นาย ก. แล้ว นาย ก. โอนเงินให้ผู้รับงาน แล้วผู้รับงานติดต่อกับมือปืน เวลาให้ค่าจ้างก็ให้เป็นเงินสด
ถึงแม้ผู้จ้างวานจะมีการโทรศัพท์ติดต่อกับผู้รับงาน บางครั้งศาลก็ไม่รับฟังหลักฐานตรงนี้ เช่น ผู้รับงานเป็นลูกน้องของผู้จ้างวาน และมีการติดต่อกันเป็นประจำอยู่แล้ว ศาลจะมองว่าโทรศัพท์ที่ติดต่อกันในช่วงเกิดเหตุยืนยันไม่ได้ว่าเป็นการติดต่อจ้างวาน"
ตำรวจสืบสวนเริ่มขาดแคลน
ปัจจุบันงานสืบสวนเป็นจุดที่ขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก เพราะเป็นงานที่เสี่ยงตาย ต้องเสียสละทั้งเรื่องเงิน เวลา และชีวิตส่วนตัว เนื่องจากแต่ละคดีต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าตอบแทนน้อย และประเด็นสำคัญที่ทำให้ฝ่ายปฏิบัติเกิดความท้อแท้ก็คือผู้บังคับบัญชาระดับสูงมักไม่เห็นความสำคัญของหน่วยงานนี้ ดังนั้น นายตำรวจรุ่นใหม่ๆจึงไม่อยากเข้ามาทำงานด้านนี้
"นายตำรวจที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นใหญ่เป็นโต ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้ใหญ่ ทั้งนั้น มันอาจจะเป็นเรื่องที่เจอในทุกหน่วยงาน แต่องค์กรนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต่อให้ทำงานหนักขนาดไหน เสียสละขนาดไหน แต่เวลาพิจารณาความดีความชอบไม่ได้เอาตรงนี้ไปพิจารณาเลย สู้คนที่ไปเดินตามรัฐมนตรีไม่ได้ เดี๋ยวนี้นายตำรวจหนุ่มๆเลยไปตามรัฐมนตรีกันหมด คนที่ทำงานสืบสวนก็จะเหลือแต่คนที่มีอายุ แต่ก็ยังมีไฟนะ" นายตำรวจสืบสวนคนหนึ่งตัดพ้อให้เราฟังด้วยความน้อยใจ
ขณะที่ พ.ต.ท.ธีรเดช บอกว่า " เสน่ห์ของการทำคดีสืบสวนคือความท้าทาย คนที่จะมาทำงานสืบสวนต้องเป็นคนช่างสงสัย เก็บข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะการทำงานสืบสวนเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ เป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง ถ้าชอบแล้วมันเหมือนเป็นจิตวิญญาณ เวลาที่จับคนร้ายได้ ปิดคดีได้นี่มันภูมิใจนะ " จากน้ำเสียงของเขา ไม่บอกก็รู้ว่าเขาภาคภูมิใจในงานที่ทำขนาดไหน
ตำรวจสืบสวนดูจะเป็นงานที่เสี่ยงภัยและได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่าความเสี่ยง แต่เหตุใดเขาเหล่านี้ยังรักที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป อาจเป็นเพราะเขามองว่า นี่คือ 'เกียรติยศ' ของตำรวจไทย
* * * *
เรื่อง จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ กองกำกับการสืบสวน ตำรวจนครบาล 2 /ทีมข่าวอาชญากรรม