xs
xsm
sm
md
lg

อรรถรส 'ภาษาไทย' ในใจชาวต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันเวลาแห่งการรู้จักเมืองไทย คนไทยของชาวต่างชาติผ่านการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักดังที่นิยมกันในปัจจุบันนั้นผ่านการพิสูจน์มาเนิ่นนานแล้วว่ามักจะสะดุดหยุดอยู่เพียงแค่เปลือก กระพี้ประเพณีวัฒนธรรมไทยเท่านั้น เนื่องจากการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษบางคราขาดความลุ่มลึก ทำความหมายในบรรทัดและระหว่างบรรทัดหล่นหาย วันนี้ชาวต่างชาติไม่น้อยจึงหันมาลงทะเบียนเรียนภาษาไทย สื่อสารด้วยภาษาไทยแทน เพื่อจะได้สัมผัสอรรถรสครบถ้วนยามเดินทางท่องเที่ยว ประสิทธิภาพสูงสุดยามติดต่อประสานงาน หรือกระทั่งมิตรภาพอบอุ่นยามต่อรองราคาสินค้า

มนต์เสน่ห์เมืองไทยในสายตาชาวต่างชาติวันนี้จึงมิได้จำกัดอยู่เพียงความรื่นรมย์งดงามของสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อลังการแห่งโบราณสถาน ประณีตศิลป์แห่งจิตรกรรม หรือท่วงท่าอ่อนช้อยละเมียดละไมของนาฏศิลป์เท่านั้น ทว่าคุณค่าภาษาไทยในโลกแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสารยังช่วยเผยคุณค่า มุมมองใหม่ในนวัตกรรมภูมิปัญญาไทย ผ่านเมืองหลวงสปาแห่งเอเชีย ครัวไทยสู่โลก เมดิคอลฮับ และกรุงเทพเมืองแฟชั่น ให้ประจักษ์สู่สายตาและซาบซึ้งตรึงใจชาวต่างชาติที่รู้ภาษาไทยด้วย

รักไทย พูดไทย

นอกจากข่าวคราวการไม่รู้ ไม่พูดภาษาไทยของคนไทยส่วนหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะน่าวิตกเท่านั้น ทว่าการพูดไทยคำ อังกฤษคำของวัยรุ่น พูดไทยไม่ชัด ร-ล ไม่ต่างกันของพิธีกรโทรทัศน์ ดารานักแสดงกลับน่าหวาดวิตกกว่ามาก ด้วยพฤติการณ์เหล่านี้มิเพียงเกิดจากการเลียนแบบค่านิยมผิดๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความแตกต่างทางวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมดั่งที่เกิดในภาคใต้เท่านั้น แต่ยังน่าละอายเมื่อเทียบกับความพยายามฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยให้ไพเราะชัดเจนของชาวต่างชาติในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ และม.ศรีนครินทรวิโรฒ ที่ในแต่ละปีมีโอกาสต้อนรับชาวต่างชาติจำนวนมากจากทั้งซีกโลกตะวันตกและออก

"อยู่เมืองไทยมา 2 ปีครึ่งแล้ว ไม่รู้ภาษาไทยก็กระไรอยู่ วันนี้แม้จะพูดภาษาไทยได้ แต่อยากเขียน อ่านภาษาไทยได้ด้วย" นักแสดงและพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสาวญี่ปุ่นหน้าใสวัย 25 'มากิ โคโนะ' หรือชื่อไทยไพเราะว่า มาติกา เผยความรู้สึกว่าตั้งใจจะเรียนภาษาไทยในรั้วศรีนครินทรวิโรฒฯ มานานแล้วด้วยมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นแนะนำและเคยมาเรียนที่นี่ ทว่ายังไม่มีเวลา ช่วงนี้ว่างจึงรีบมาเรียน

"ใช้ภาษาไทยค่อนข้างเยอะในแต่ละวัน เพราะนอกจากจะต้องเล่นละครเวทีในประเทศไทยแล้ว ยังต้องถ่ายโฆษณาด้วย ภาษาไทยมีเสน่ห์มาก เสียงเพราะดี ตัวอักษรก็สวย น่ารักดี อาจารย์ก็เอาใจใส่ สอนสนุก เมืองไทยก็สวยงาม คนไทยก็น่ารัก คิดว่าจะอยู่เมืองไทยให้นานที่สุด อย่างไรก็ตามภาษาไทยก็ต่างจากญี่ปุ่นมาก ออกเสียงยากโดยเฉพาะ ร ล และ ต ท" มากิเผย พร้อมยังเล่าติดตลกด้วยว่าทั้งๆ ที่ตัวเธอเองเป็นชาวญี่ปุ่น แต่ก็ยังออกเสียงคำว่า 'ญี่ปุ่น' ไม่ชัด จึงต้องรีบมาเรียนภาษาไทยเพื่อจะได้พูดชัดสักที

ขณะที่เพื่อนนักศึกษา 'ไมค์ กิลลิโก' หรือไมตรีในชื่อไทย ครูสอนภาษาอังกฤษชาวออสเตรเลียวัย 34 ที่อยู่เมืองไทยมานานกว่า 1 ปีแล้ว เล่าว่าแม้การเรียนภาษาไทยจะไม่ยากนักในระดับพื้นฐาน ทว่าเมื่อเรียนสูงขึ้นไปจะพบว่าไม่ง่ายเลย กระนั้นเมื่อใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย การรู้ภาษาไทยก็สำคัญมากเพราะจะช่วยให้เข้าใจคนไทย ประเทศไทยได้ดีขึ้น การใช้ภาษาไทยติดต่อสื่อสารจึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีค่าได้มากกว่าภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน

ไม่ต่างอันใดกับ 'เฉียง จีเซี่ยน' หรือจินดาในชื่อไทย มัคคุเทศก์สาวจีนที่อยู่เมืองไทยมานาน 8 เดือนที่มองว่า ภาษาไทยแม้จะง่ายกว่าภาษาจีน ทว่าก็ยังถือว่ายาก แต่เธอก็ต้องพยายามเรียนรู้ให้มากที่สุดและไวที่สุด เพราะภาษาไทยสำคัญกับอาชีพเธอมาก ด้วยจะต้องติดต่อพูดคุยกับลูกทัวร์คนไทยยามพาเดินทางไปเที่ยวเมืองจีนตลอด การเรียนภาษาไทยจึงช่วยเติมความมั่นใจและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเธอได้

เช่นเดียวกับชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนเรียนภาษาไทยในรั้วธรรมศาสตร์ที่มองว่านอกจากภาษาไทยจะมีเสน่ห์ไพเราะ และเป็นกุญแจดอกสำคัญในการไขไปหาความมหัศจรรย์แห่งวัฒนธรรมประเพณีวิถีภูมิปัญญาไทยแล้ว ยังมีคุณประโยชน์ต่อการทำงานในสังคมไทยที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังสดใสอยู่ เช่นที่ 'ลินดา ลัม' สาวสิงคโปร์วัย 36 ผู้จัดการฝ่ายการตลาดในบริษัทส่งออก เล่าว่านอกจากจะใช้ภาษาไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพการติดต่อประสานงานกับลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานที่ส่วนมากเป็นคนไทยแล้ว บรรยากาศการทำงานที่เคยตึงเครียดยังผ่อนคลายลงเมื่อเริ่มใช้ภาษาไทยมากขึ้นในการทำงานด้วย

ทว่า 'เฟร์นันโด มูโย กริโฟ' ชาวเสปนวัย 35 ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรโตคอล กลับมีเหตุผลในการลงทะเบียนเรียนภาษาไทยที่ต่างออกไป ด้วยเขาจะใช้ความรู้ภาษาไทยที่ได้รับจากในห้องเรียนไปใช้พูดคุยกับภรรยา ญาติพี่น้องของภรรยาที่เป็นคนไทยให้เข้าใจกันยิ่งขึ้น กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้หลายครั้งเขาจะรู้สึกท้อ เพราะอยู่เมืองไทยมา 2 เดือนแล้ว แต่ก็ยังพูดไม่ค่อยได้เลย

นอกจากนั้น คุณค่าของภาษาไทยในแง่มุมเชิงวิชาการก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน เมื่อ 'อูทา บาเกเนล' สาวใหญ่ชาวเยอรมันวัย 55 ผู้เป็นทั้งทนายและนักมานุษยวิทยาที่ผ่านการใช้ชีวิตในเมืองไทยมาแล้ว 3 ครั้ง 3 ครา เล่าว่าสนใจเรียนภาษาไทยมาก เพราะตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องภาษาไทยอยู่ เท่าที่ศึกษาพบว่าภาษาไทยเป็นหนึ่งในภาษาที่ยากมากทั้งในแง่การออกเสียง คำศัพท์ และสำนวน

...ความตั้งใจจริงของพวกเขายามเรียนรู้ภาษาไทย นอกจากจะวิวัฒน์มาเป็นความไพเราะในแบบชาวต่างชาติพูดภาษาไทย 'ฝรั่งพูดไทย-ญี่ปุ่นพูดไทย' ที่แม้จะไม่ชัดเจนเท่า 'คนไทยพูดไทย' ทว่าก็น่ารักและมีเสน่ห์มากกว่าคนไทยที่ดัดจริตพูดไทยไม่ชัดมากทีเดียว รวมทั้งยังเปิดประตูแห่งโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การศึกษา การท่องเที่ยว สังคม ให้พวกเขาได้ไม่น้อยทีเดียว

บทพิสูจน์ปากต่อปาก

ปัจจุบันแม้จะมีสถาบันและโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั้งในใจกลางกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ทว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ก็ยังไว้วางใจเรียนภาษาไทยในรั้วมหาวิทยาลัยดังเดิมทั้งในจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และศรีนครินทรวิโรฒ เนื่องจากชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ผ่านการพิสูจน์แบบปากต่อปากถึงประสิทธิภาพในการเรียนการสอน

ด้วยสถานที่ตั้งใจกลางกรุงเทพฯ การเดินทางสะดวกสบาย และค่าเล่าเรียนไม่แพง ตลอดทั้งปี ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยจึงไม่เคยว่างเว้นการลงทะเบียนเรียนภาษาไทยจากชาวต่างชาติผู้รักการเรียนรู้ ยิ่งกว่านั้นในปัจจุบันยังต้องจองคิว ลงทะเบียนเรียนข้ามปีกันทีเดียว ดังที่ผศ.ม.ร.ว.กองกาญจน์ ตะเวทีกุล ผู้รับผิดชอบโครงการอบรมภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (Intensive Thai Program) ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่เผยว่าปัจจุบันชาวต่างชาติที่สนใจเรียนภาษาไทยทวีจำนวนสูงขึ้นมาก จนต้องแจ้งตารางเรียนล่วงหน้า 2 ปี เพื่อพวกเขาจะได้วางแผนการลงทะเบียนเรียนข้ามปีได้ เนื่องจากชาวต่างชาติที่มาเรียนส่วนใหญ่จะได้ทุนเรียนหรือทุนวิจัยในประเทศไทย หรือไม่ก็ทางบริษัทต่างชาติส่งมาฝึกอบรมภาษาไทยเพื่อนำไปใช้ในองค์กร

ชาวต่างชาติที่เข้ามาอบรมเรียนภาษาไทยจะมีความรู้ความสามารถต่างกัน บางคนมีพื้นฐานความรู้ภาษาไทยมาระดับหนึ่ง ฟัง พูดได้ แต่เขียน อ่านไม่ได้ ขณะที่อีกหลายคนไม่มีพื้นความรู้ภาษาไทยมาเลย ทางจุฬาฯ จึงจัดชั้นเรียนไว้ 3 ระดับ พื้นฐาน กลาง สูง โดยในแต่ละระดับจะแยกย่อยลงไปอีก 3 ระดับ เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียนมากสุด

ผศ.ม.ร.ว.กองกาญจน์ อธิบายว่าชาวต่างชาติจะต้องเรียนภาษาไทย 100 ชั่วโมงในแต่ละระดับ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนครบทุกระดับ เพราะถ้ามีเวลาน้อย อาจเรียนเฉพาะระดับพื้นฐาน 3 ระดับก็ได้ แต่ถ้าเรียนทั้ง 9 ระดับจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทั้งนี้เพื่อรักษามาตรฐานการเรียนการสอน นักศึกษาไม่เพียงจะต้องเรียนอย่างเข้มข้นทั้ง 4 ทักษะพร้อมๆ กันเท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจกับการบ้าน ท่องศัพท์ และทบทวนไวยากรณ์ด้วย รวมทั้งยังต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของชั่วโมงเรียน ถ้าขาดเรียนเกินกว่ากำหนดจะไม่มีสิทธิสอบ เมื่อสิ้นสุดการอบรมแต่ละระดับจะต้องสอบประเมินผลด้วย

"หลังจากเรียนแล้ว ชาวต่างชาติจะสื่อสารภาษาไทยกับคนไทยได้ เช่น ถ้าสอบได้ในระดับพื้นฐาน 1 จะสื่อสาร พูดเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยได้ สอบผ่านในระดับพื้นฐาน 2 -3 จะพูดเขียนอ่านได้ถูกต้องตามระบบไวยากรณ์ภาษาไทย และถ้าเรียนต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้น จะพูด ฟัง อ่าน เขียนดีขึ้นมาก จนสามารถเข้าใจบทความจากสื่อทุกประเภท แสดงความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆได้ รวมทั้งยังจดคำบรรยาย เขียนรายงานและกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาไทยได้ด้วย"

ด้านโครงการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศ (Basic Thai for Foreigners) ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 36 ชั่วโมงของทางธรรมศาสตร์นั้น จะแยกเป็น 2 ส่วนชัดเจนคือ คอร์สเขียน-อ่าน และคอร์สฟัง-พูด โดยในแต่ละส่วนจะมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ เบื้องต้น กลาง สูง คล้ายกับทางจุฬาฯ ทั้งนี้อาจารย์เยาวลักษณ์ กระแสสินธุ์ ผู้อำนวยการโครงการฯ เล่าว่าภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ ได้เปิดโครงการฯ นี้มาตั้งแต่ปี 2537 เพื่อรองรับความต้องการเรียนภาษาไทยของชาวต่างชาติที่นับวันจะทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เนื้อหาในการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแต่ละยุคสมัยมาโดยตลอด

ขณะที่โครงการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ (Intensive Thai Language Course) ของภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒนั้นจะต่างออกไป ด้วยจะมุ่งเน้นการเรียนรู้ทั้ง 4 ทักษะควบคู่กันไป โดยอาจารย์รุ่งฤดี แผลงศร ผู้ประสานงานโครงการฯ อธิบายว่าในระดับแรกที่เรียนนาน 200 ชั่วโมงนั้นจะเหมาะกับผู้เริ่มต้นเรียนภาษาไทย ส่วนระดับที่สองที่ต้องเรียนอีก 100 ชั่วโมงจะเหมาะกับผู้ต้องการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้ดีขึ้น โดยในชั้นเรียนจะไม่มีการพูดภาษาอังกฤษเลย เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ภาษาไทยได้เร็วที่สุด

...ทั้งนี้จำนวนผู้เรียนจะส่งผลโดยตรงต่อการเปิดคอร์ส ถ้าไม่มากพอก็เปิดคอร์สนั้นๆ ไม่ได้ ไม่คุ้มทุน โดยในแต่ละคอร์สจะมีผู้เรียนเฉลี่ยไม่เกิน 10 คน เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึงของอาจารย์ผู้สอน และแม้ว่าประมาณร้อยละ 80 ของพัฒนาการด้านภาษาไทยของชาวต่างชาติจะมาจากความขยันหมั่นทบทวนของพวกเขาเอง ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจารย์เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการดึงดูดให้พวกเขาสนใจบทเรียน ฝึกฝนจนกระทั่งประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

จิตวิญญาณอาจารย์

ในชั้นเรียนสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติของธรรมศาสตร์นั้น เสียงนักศึกษาท่องศัพท์ ฝึกบทสนทนาโปรยปรายมากับสายลมยามเย็น การโต้ตอบระหว่างนักศึกษาต่างชาติผ่านภาษาไทย แม้จะกระท่อนกระแท่นบ้าง ทว่าก็แฝงความมุ่งหวังตั้งใจไว้เต็มเปี่ยม ไม่นานนาทีก็แว่วเสียงอาจารย์คนไทยที่คอยแนะนำ แก้ไขเวลาลูกศิษย์พูดผิด พูดเพี้ยน พูดไม่ได้ บรรยากาศอบอุ่น สบาย เป็นกันเองของมหาวิทยาลัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่างละม้ายคล้ายคลึงกับชั่วโมงฝึกทักษะการฟังในรั้วศรีนครินทรวิโรฒมาก

ขณะที่อาจารย์รุ่งฤดี ผู้รับหน้าที่สอนทักษะการฟังภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ แสดงฉลากยา และอธิบายการใช้ฉลากยาให้กับนักศึกษาฟังนั้น จะได้รับความสนใจจากนักศึกษามาก เพราะบางคนเคยผ่านประสบการณ์การหาหมอมาแล้ว แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือล่ามแทน ในชั่วโมงนั้นจะจำลองสถานการณ์ให้นักศึกษาเป็นผู้ป่วยไปพบแพทย์ และอธิบายอาการของโรค เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน เป็นภาษาไทยให้ได้ พร้อมทั้งยังต้องเข้าใจความหมายบนฉลากยา และคำอธิบายการใช้ยาที่แพทย์สั่งด้วย โดยอาจารย์จะสวมบทบาทเป็นหมอแล้วอ่านฉลากยาให้ฟัง เพื่อดูว่านักศึกษาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้จิตวิญญาณความเป็นครู เป็นอาจารย์แบบไทยยังฉายเด่นชัดเมื่อเสียงกริ่งเลิกเรียนจางหายไป ด้วยหลังจากหมดเวลาการเรียนการสอนแล้ว นักศึกษาคนใดที่ยังมีปัญหาค้างคาใจ ไม่เข้าใจบทเรียนก็สามารถสอบถามกับอาจารย์ได้ ยิ่งกว่านั้นการเอาใจใส่ ให้ความสำคัญ ให้ความรู้กับนักศึกษาต่างชาติของอาจารย์ไทยเหล่านี้ก็ไม่ได้ลดน้อยต่างจากที่เคยให้นักศึกษาคนไทยแต่อย่างใด ดังที่อาจารย์เยาวลักษณ์เน้นว่า "ไม่คิดว่าการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติเป็นการค้า แต่คือการให้ความรู้ สนุกที่ได้สอน ในชั้นเรียนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติมากๆ นั้นจะมีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ไขตลอด จึงสนุกมาก"

...ทั้งนี้ ไม่เพียงอาจารย์ที่สอนส่วนใหญ่จะจบปริญญาโท-เอกทางด้านภาษาไทยเท่านั้น แต่พวกเขายังมีเทคนิคในการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติที่แตกต่างหลากหลาย ทว่าสิ่งที่เหมือนกันในทุกคนคือการแทรกเรื่องประเพณีวัฒนธรรมไทยเข้าไว้ในการเรียนการสอนด้วย โดยเฉพาะมิติด้าน 'ความควร-ไม่ควร'
                              ****


เรื่องโดย- ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


                             *****

คู่แท้:ภาษา-วัฒนธรรม

ในคอร์สที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้เรียนที่มาจากทั้งซีกโลกตะวันตกและออกเช่นในธรรมศาสตร์ที่ผู้เรียน 8 คนมาจาก 7 ชาติ อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงค์โปรนั้น ไม่เพียงพื้นฐานด้านภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาจะต่างกันอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น แต่ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาแต่ละคนก็ยังถ่างกว้างมากด้วย

ภารกิจสำคัญของโครงการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติจึงไม่ได้ยุติอยู่เพียงแค่การสร้างชาวต่างชาติที่สามารถพูดได้ สื่อสารเป็นภาษาไทยได้โดยไม่ตกหล่นความหมายเท่านั้น ทว่ายังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีไทยให้เกิดขึ้นในจิตใจพวกเขาด้วย เพราะเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าการสื่อสารโดยขาดบริบทด้านวัฒนธรรมรองรับนั้นมักจะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ

กระนั้น การแทรกมิติด้านวัฒนธรรมประเพณีไทยในการเรียนการสอนภาษาไทยนั้น ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยจะใช้วิธีแทรกเข้าไปทีละน้อยๆ จนกระทั่งพวกเขาเริ่มตระหนักรับรู้ว่าสิ่งใดควรทำ-ไม่ควรทำเวลาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยโดยอัตโนมัติ และมิใช่หรือที่ความหวังในการเรียนภาษาใดภาษาหนึ่ง ไม่เฉพาะภาษาไทย ท้ายสุดแล้วปรารถนาเพียงความเข้าใจร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่บนโลกแห่งความหลากลายทางวัฒนธรรมความเชื่อ






กำลังโหลดความคิดเห็น