กริ๊งๆ กริ๊งๆ… แกรกๆ
บ่ายวันนั้น เสียงกระดิ่งจากรถถีบสองคันแหวกความสงบของซอยอินทามาระเข้ามาอย่างเอื่อยเฉื่อย
ชาวบ้านที่เห็นพวกเขาก็คงเข้าใจว่า ฝรั่งผมทองตาสีฟ้าสองคนนี้คงปั่นจักรยานไปทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ไหนสักแห่งซึ่งตั้งสาขาอยู่ในเมืองไทยตามปกติวิสัยที่ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยบางคนแก้ไขปัญหาในยุคน้ำมันแพง
แต่การปั่นในแง่ที่ว่านั้น…เป็นการปั่นเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ
กลับกัน...ฝรั่งสองคนที่เราพบวันนั้นกลับปั่นด้วยแรง "ศรัทธา" ในบางสิ่ง
โดยไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพแต่อย่างใด…
- 1 -
ก่อนกล่าวถึงพวกเขา เราคงต้องล้างและลบภาพพฤติกรรมที่บางศาสนาหรือบางความเชื่อพยายามยัดเยียดสู่ผู้คนโดยการจู่โจมและสร้างความน่ารำคาญโดยอาศัยความเกรงใจของคนไทยเป็นจุดอ่อนออกเสียก่อน เพราะชายทั้งสองคนซึ่งมีความเชื่ออีกแขนงนี้ กลับสุภาพอ่อนโยนกว่าที่เราคาดคิด
พวกเขาเรียกตัวเองว่า Elder มีวัตรปฏิบัติเยี่ยงนักบวชทั้งในชีวิตส่วนตัวรวมถึงชีวิตประจำวัน
พวกเขาเดินทางไปในที่ซึ่งชะตากรรมลิขิตและเชื่อว่าการกระทำนั้นก็คือการรับใช้ผู้อื่น และสร้างความสุขให้กับจิตวิญญาณของตนเอง
พวกเขาไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำชา กาแฟ…รวมไปถึงชาเขียวของเสี่ยตัน โออิชิ
และทุกวันตั้งแต่สายๆ พวกเขาจะใช้เวลาออกขี่จักรยานตระเวนประกาศศาสนาตามตรอกซอกซอยคล้ายดั่งมิชชันนารีในคริสต์นิกายอื่นเมื่อหลายร้อยปีก่อนกระทำ
ทุกเช้า Elder Parker และ Elder Van จะตื่นขึ้นเพื่อทำกิจวัตรประจำวันตั้งแต่หกโมงครึ่ง นั่งท่องสวดศึกษาคัมภีร์ตามหลักศาสนาจนถึง 10 โมง ก่อนหนังสือจะเปลี่ยนเล่มเป็นภาษาไทย และพวกเขาจะใช้เวลากับบทเรียนอีกราว 30 นาทีแล้วปิดประตูที่พำนักจับจักรยานคู่ใจถีบออกไปทำหน้าที่ "รับใช้" ผู้คน ก่อนจะกลับที่พำนักในเวลา 3 ทุ่มตรง และเข้านอนในเวลา 4 ทุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้พวกเขาปฏิบัติโดยเคร่งครัดอย่างยิ่ง
กว่าจะถึงวันนี้ที่ Elder Parker และ Elder Van ปั่นรถถีบอยู่ในท้องถนนของ บางกอก ไทยแลนด์ ใครจะเชื่อบ้างว่าพวกเขาเตรียมตัวทำเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่อายุ 14-15 ปี
"ผมเป็นสมาชิกของศาสนจักร (มอรมอน:พระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย) ตั้งแต่เกิด ผมปรารถนาจะพิสูจน์ว่าศาสนจักรนี้ถูกต้องหรือไม่ เลยลองสมัครมาสอนศาสนา ผมมาจากรัฐยูท่าห์ ในสหรัฐอเมริกา ศาสนานี้มีกฎเข้มพอสมควร ผมจึงอยากรู้ว่าควรต้องรักษากฎนี้หรือไม่…" เอลเดอร์ พาร์เกอร์ เล่าอดีตก่อนมาสอนศาสนาในเมืองไทย
เช่นเดียวกัน ห่างไปทางเหนือหลายพันไมล์ในแคนาดา...ที่เมืองชาร์ลดีล จังหวัดแอลเบอร์ตา (เอลเดอร์) แวนซ์ (เจ้าตัวสะกดชื่อของเขาเป็นภาษาไทยแบบนี้)ซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่นก็มีความรู้สึกไม่ต่างกัน
"ผมเป็นสมาชิกของศาสนจักรนี้ตั้งแต่เกิด พ่อแม่ก็เป็น ที่มาเพราะผมต้องการพิสูจน์ พ่อแม่บอกศาสนจักรนี้ถูกต้อง แต่ผมเองยังไม่แน่ใจจึงทดลองมา"
สองคนเล่าว่าชีวิตวัยเด็กโดนปลูกฝังจากศาสนจักรและพ่อแม่ ให้มีความรักในครอบครัว และโดยส่วนตัว พวกเขามีความหวังทำงานเก็บเงินสักก้อนขณะนั้นเพื่อออกเดินทางทางจิตวิญญาณเมื่อพวกเขาอายุ 19-20 ปี
เป็นการไปใช้ชีวิตในต่างแดนในแบบที่ต่างจาก Backpacker ที่ฮิตทั่วโลกโดยสิ้นเชิง…
- 2 -
ทั้งสองคนเล่าว่าถูกส่งไปอบรมเป็นเวลา 10 อาทิตย์ เพื่อเรียนภาษาของประเทศที่พวกเขากำลังจะถูกส่งไป วิธีการสอนศาสนา รวมถึงรับฟังประสบการณ์จากครูสอนศาสนาที่เคยมาอยู่ในประเทศนั้นก่อน
"เราสมัครกับทางศาสนจักรแล้วเขาจะส่งรายละเอียดไปที่ศูนย์ใหญ่ ศาสนจักรเราจะมีคนๆ หนึ่งที่เป็นศาสดาผู้พยากรณ์ เป็นประธานของศาสนจักรนี้ ผู้นั้นจะได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้าและจะบอกว่าคุณจะได้ไปที่ไหน ประเทศไหน แล้วเราก็จะรับการอบรมก่อนไป ไม่จำเป็นว่าผมต้องเก่งในการสอนศาสนา ทั้งหมดเกี่ยวกับความปรารถนาที่จะรับใช้คนอื่น เก่งภาษาหรือไม่ก็ได้ ภาษาไทยยากนะครับ(ยิ้ม) ผมเคยเรียนภาษาเยอรมันมาก่อนก็ยังจำไม่ได้เลย นี่ก็เป็นภาษาที่ต่างออกไปอีก การเรียนภาษาอื่นมันยาก อาจเหมือนเวลาคนไทยเรียนภาษาอังกฤษ ผมไม่สามารถบอกว่าที่เรียนภาษาไทยได้เพราะทักษะของผม ผมขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าที่จะพูดภาษาไทยได้บ่อยๆ"
เอลเดอร์ พาร์เกอร์ เปิดเผยถึงสิ่งที่พวกเขาต้องฝึกฝนก่อนมาซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึง "ศรัทธา" ในทำงานที่พวกเขาจะต้องมาทำอีกด้วย
ถึงบรรทัดนี้ ต้องย้อนทำความเข้าใจกันสักนิดว่า "ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย" หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "มอร์มอน" ที่เอลเดอร์แวนซ์ กับพาร์เกอร์ สังกัดอยู่นั้นเข้ามาเมืองไทยนานร่วม 30 ปีได้แล้ว
มอร์มอนก่อตั้งโดยโจเซฟ สมิธ ที่สหรัฐเมื่อปี 1830 (พ.ศ.2373) ในหลักการเบื้องต้นซึ่งพาร์เกอร์เล่าให้คนต่างศาสนาอย่างเราฟังคือพวกเขาเชื่อว่านอกจากคัมภีร์ไบเบิลแล้วยังมีคำสอนอีกเล่มคือพระคัมภีร์มอร์มอน ซึ่งพระเจ้าได้แสดงต่อโจเซฟ สมิธ ผ่านจารึกต่างๆ และพวกเขาเชื่อว่านี่คือศาสนาของพระเจ้าที่ได้รับการฟื้นฟูในยุคปัจจุบัน
มอร์มอนไม่มีบาทหลวง แต่มีผู้เผยแผ่ที่เรียกว่า เอลเดอร์ (ผู้ชาย) และ ซิสเตอร์ (ผู้หญิง) ซึ่งไม่ใช่แม่ชีในมโนภาพที่เรารู้จักผ่านศาสนาคริสต์นิกายใหญ่ๆ อย่างโรมันคาทอลิกแต่อย่างใด
"ศาสนจักรเราไม่มีบาทหลวง และคนที่มาไม่มีใครมีรายได้อะไรจากการทำตรงนี้ ทุกคนสมัครใจมา คนสอนศาสนาอย่างผมมีหัวหน้าคือ "ประธานคณะเผยแพร่" (สำหรับใน 1 ประเทศ) ส่วนสาขาแต่ละเขตจะมี "ประธานสาขา"คอยช่วยเหลือ แต่ละโบสถ์มีคนสอนศาสนา 2-6 คน ที่นี่ (สุทธิสาร) มี 6 คน ยังมีคนสอนสูงอายุที่เขารับใช้เต็มเวลาด้วย"
พาร์เกอร์ ขยายความต่อว่า "ที่ใช้คำว่า 'รับใช้' เพราะเราไม่มีรายได้ ทำด้วยความเต็มใจ เราไม่สอนศาสนาอย่างเดียว สอนภาษาด้วยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ซึ่งทำทั่วประเทศ ผมเชื่อว่าคริสต์นิกายอื่นและทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้นครับ เราต่างออกไปเพราะมีความเชื่อว่ามีศาสดาผู้พยากรณ์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้าอยู่บนโลกนี้แล้วเท่านั้น" พาร์เกอร์อธิบาย
มอรมอนถือเป็นอีกความเชื่อหนึ่งซึ่งก็มีวิถีของตนเองและก็มีการเผยแผ่ในแบบเฉพาะ เอลเดอร์ทั้งคู่บอกผมว่าเขาไม่ได้ถูกใครบังคับให้เดินทางมาเพื่อใช้ชีวิตคล้ายนักบวชและเผยแผ่ศาสนาในสังคมและประเทศที่เขาไม่เคยรู้จักไกลจากบ้านเกิดเป็นพันไมล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่มีอายุเพียง 19-20 ปี ซึ่งควรจะเป็นวัยสนุกสนานมากกว่า
"ผมทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี เก็บเงินเพื่อจะมาเป็นผู้สอนศาสนา ที่เดินทางมานี่ค่ากินค่าอยู่ ศาสนจักรไม่ได้สนับสนุนครับ พ่อแม่หรือญาติสามารถช่วยเรื่องเงินทองได้ แต่นี่เป็นการตั้งเป้าหมายของตัวผมเองมานานแล้วที่อยากออกมาทำอย่างนี้สักครั้ง
ผมเห็นคนที่มาสอนกลับไปเล่าประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในการรับใช้คนต่างประเทศ อาจมีสัก 10 คนที่รับความสุขไป เราอยากได้ความสุขแบบนี้บ้าง
แน่นอนในอนาคตเราต้องมีการเก็บเงินเพื่อตัวเอง เพื่อที่จะมีอาหาร ที่พัก แต่ช่วงหนึ่งของชีวิตเราเชื่อว่าความสุขจะหาได้ในการรับใช้คนอื่น ผมเชื่อว่าระยะเวลา 2 ปีจะช่วยให้ผมมีความสุขมากกว่าที่เคยมีมาในวัยหนุ่มที่หายไป"
แวนซ์ เองก็รู้สึกไม่ต่างกัน "ผมเริ่มเก็บเงินตอนอายุ 17 ปี เพื่อมาสอนศาสนา ผมจ่ายทั้งหมดเองครับ คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ แม้ศาสนจักร(มอร์มอน)จะไม่ว่าอะไร และมีกฎเปิดทางว่าพ่อแม่หรือญาติสามารถช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ การเดินทางมาแบบนี้มีคุณค่าบางอย่างสำหรับผมมาก"
- 3 -
ชีวิตเอลเดอร์ต่างแดนของผู้ถือนิกายมอรมอนแต่ละคน จะมีช่วงเวลาสั้นๆ คือไม่เกิน 2 ปี สำหรับผู้ชาย และ 18 เดือนสำหรับผู้หญิง เพราะมอรมอนเป็นศาสนจักรที่ให้ความสำคัญกับสถาบันหลักคือครอบครัว ซึ่งนั่นทำให้พาร์เกอร์และแวนซ์ไม่ค่อยคิดถึงบ้านมากนักและสามารถเก็บเกี่ยวความสงบสุขและทำหน้าที่ตรงหน้าได้อย่างเต็มที่
"ผมไม่เสียดายที่ช่วงนี้ไม่อยู่บ้าน ผมรู้ว่า 2 ปี เราก็จะกลับไป อยู่มากกว่า 2 ปี ไม่ค่อยได้ครับ มอร์มอนแนะนำให้เราคิดถึงครอบครัว ครอบครัวคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากทั้งปัจจุบันและนิรันดร"
"ตอนแตะพื้นครั้งแรกหลังออกจากเครื่องบิน ความรู้สึกแรกคืออากาศร้อน (หัวเราะ) ผมตื่นเต้นมากก่อนจะมา ที่ผ่านมาผมเคยได้ยินแต่คำว่าบางกอก จังหวัดอื่น ภาคอื่นของไทยไม่เคยได้ยินเลยครับ เคยคุยกับคนที่มาที่นี่เขาว่าดีมาก คนไทยใจดี ให้น้ำให้ดื่มทุกครั้ง ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจในสิ่งที่เผยแผ่หรือไม่ก็ตาม ด้านไม่ดีของที่นี่ผมยังไม่เจอครับ นอกจากเรื่องรถติด คนไทยใจเย็นมากที่อเมริกาถ้าติดขนาดนี้เขาบีบแตรกันระงมแล้ว"
และสำหรับเมืองไทยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ การขี่จักรยานอาจจะเหมาะกับการจราจรที่ติดขัดและเข้าถึงบ้านผู้คนมากกว่า ซึ่งในแต่ละประเทศไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแบบนี้เสมอไป แวนซ์ยังเสริมถึงการใช้พาหนะของเหล่าเอลเดอร์ในพื้นที่ทั่วโลกว่า "เราขี่จักรยานทั่วโลก ที่ยุโรปอาจมีขับรถด้วย อเมริกามีจำนวนมากขับรถเผยแผ่ครับ"
พาร์เกอร์ยังเปรียบเทียบชีวิตคนธรรมดาและคนสอนศาสนาที่ถือนิกายมอร์มอนให้ฟัง"วันอาทิตย์ผมต้องมาโบสถ์เรียก Sabbath เป็นวันที่เข้าร่วมพิธี เหมือนวันพักผ่อนทางวิญญาณหลังทำงานทั้งอาทิตย์ วันนั้นโบสถ์จะเริ่ม 9.00-12.00 น. หลังจากนั้นสมาชิกจะทานอาหารร่วมกัน แล้วกลับบ้านตอนบ่ายโมงเพื่อไปเยี่ยมเพื่อนหรือครอบครัว สำหรับนักบวชมีวันหยุดอีกคือวันพุธ เร่าจะหยุดงาน 12 ชม. ไปเที่ยวได้แต่ 6 โมงเย็นต้องกลับมาสอนศาสนาต่อถึง 2 ทุ่ม นอกนั้นกิจวัตรจะคล้ายๆ กันทุกวันครับ"
สำหรับคนที่ถือมอร์มอนทั่วไปวันจันทร์คือวันครอบครัว ซึ่งจะมีกิจกรรมซึ่งทำให้ครอบครัวสนิทกัน ซึ่งพาร์เกอร์และแวนซ์บอกว่าสถาบันนี้สำคัญมากเช่นเดียวกับความเชื่อเดิมของคนไทย และมอรมอนยังมีบางสิ่งที่ทุกศาสนามีเหมือนกันคือมีข้องดเรื่องอบายมุข "คนธรรมดาที่ถือมอร์มอนสามารถดูหนัง ฟังวิทยุได้ แต่มีข้อแนะนำว่าอย่าฟังดนตรีที่แรงเกินไป หรือหนังที่ไม่เหมาะเช่นหนังลามก ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่กฎ"
"มอรมอนมีหลายกฎ มาจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านทางศาสดา ผมหมายถึงเราไม่ได้เลือกตั้งหรือตัดสินใจอะไรตามใจว่าจะทำแบบไหน มีหลายกฎเช่นสุขภาพ เรียกพระวาจาแห่งปัญญา ห้ามเรื่องเหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ บางครั้งเราไม่รู้หรอกครับว่าทำไมพระเจ้าห้าม แต่เราก็ทำและรักษากฎที่ทรงตั้งไว้อย่างดี"
วันนี้พาร์เกอร์ (20 ปี) และแวนซ์ (19 ปี) ยังคงปั่นจักรยานและออกพบผู้คน และบางวันก็สอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ หลายคนอาจเคยเห็นคือหนุ่มฝรั่งแต่งตัวเรียบร้อยขี่จักรยานไปตามบ้าน และถนนหนทาง โดยพาร์เกอร์เหลือเวลาอีก 10 เดือนก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
"เราหาคนตามถนน คุยเรื่องศาสนา ใครสนใจจะนัดเพื่อสอนต่อไป ไม่บังคับใคร เราถือว่าจะช่วยเขามีความสุข ถ้าไม่สนใจก็ไม่สอน เราบังคับเขาไม่ได้ครับ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนมากคนไทยต้อนรับดีมากครับ อย่างน้อยก็คุยกับเรา เอาน้ำมาให้ทานซึ่งผมรู้สึกดีมากในยามที่อากาศร้อน แต่มีกลัวบ้างก็กลัวรถชน (หัวเราะ) ก่อนออกจากบ้านผมอธิษฐานให้พระเจ้าคุ้มครอง ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ผมไม่ต้องคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวเองเลยและไม่มีอาชีพอื่น รับใช้คนอื่นอย่างเดียว มีความสุขครับ"
ไม่ต่างกับแวนซ์ซึ่งเพิ่งมาได้ไม่กี่เดือนและเหลือเวลาปีกว่าในการทำงานทางจิตวิญญาณ ซึ่งดูเหมือนว่าเขาค้นพบอะไรจากคนไทยข้างทางที่รถถีบวิ่งผ่าน
"ผมไม่เคยเจอไล่นะครับ คนไทยใจเย็นมากและใจบุญ ช่วยเหลือเสมอเมื่อหลงทางหรือจักรยานล้ม.."
และด้วยความที่ทั้งคู่เป็นเอลเดอร์ แวนซ์ยังเล่าเกร็ดเล็กๆ ว่า"ตอนสอนศาสนานี่มีแฟนไม่ได้นะครับ (ยิ้มแบบสุภาพ) จีบผู้หญิงก็ไม่ได้ ต้องเน้นงานสอนอย่างเดียว ผมเคยมีแฟนมาก่อนตอนนี้ไม่มีเพราะทำงานศาสนา แต่กลับบ้านผมจะมีครอบครัว เราให้ความสำคัญเรื่องนี้มากครับ"
บางที สิ่งที่เราเรียนรู้จาก "รถถีบแห่งศรัทธา" ของพวกเขา อาจไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา
แต่เป็นเรื่องของ "ศรัทธา" ในการทำงานนั่นเอง...
* * * *
เรื่อง/ภาพ สุเจน กรรพฤทธิ์