ตอนแรกไม่สบายใจที่ได้ รู้สึกไม่ได้ทำอะไรที่ควรได้ เป็นคนชอบทำอะไรเงียบๆ ไม่เป็นจุดเด่น เขาถามว่าจะรับไหม ผมว่ารับ เหตุที่รับเพราะนี่ไม่ใช่แค่ผลงานผมแต่เป็นผลงานร่วมกัน ผมไม่ได้รับเพื่อตัวเองแต่รับแทนภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาส รับแทนสมาชิกวุฒิสภาส่วนน้อยที่ต่อสู้เรื่องนี้ ผมสบายใจที่จะรับในฐานะนี้...ความจริงคนที่ผมคิดว่าสมควรได้รับรางวัลแม็กไซไซที่สุดในรอบปีนี้คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร"
เสียงแหบพร่า แต่มีพลังของ 'จอน อึ๊งภากรณ์' สื่อความคิดและจิตวิญญาณบางอย่างของเขาออกมา
ตั้งแต่มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่าจอน อึ๊งภากรณ์ วุฒิสมาชิกจากไทยได้รับรางวัล "แมกไซไซ" ซึ่งเทียบได้กับรางวัล "โนเบล" แห่งเอเชีย ก็ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะภูมิใจในเพื่อนร่วมชาติคนนี้เช่นเมื่อ 40 ปีก่อน ที่บิดาของเขาเคยได้รับเกียรติอันสำคัญยิ่งนี้มาแล้ว
- 1 -
"นายธนาคารระหว่างประเทศยกย่องนายป๋วยว่าเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก...การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง นายป๋วยผู้ซึ่งถือว่า ความเรียบง่ายคือความงาม และความซื่อสัตย์สุจริตคือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ เป็นหลักประจำใจซึ่งยึดถือมาช้านาน และได้เผยแพร่กับเพื่อนร่วมงานด้วยว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้แสวงหาความจริงและผู้ใช้วิชาชีพ จะต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่คอยเรียนรู้อยู่เสมอและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากยังต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และต้องแสดงให้ ปรากฏออกมาถึงความซื่อสัตย์สุจริตนั้น อย่างเพียงพอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วย"
(คำประกาศเกียรติประวัติ เมื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการภาครัฐ พ.ศ.2508)
"วุฒิสภาไทยไม่ได้มีบทบาทในการออกกฎหมาย แต่มีบทบาทสำคัญในการติดตามการทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงการสร้างแนวทางทางด้านกฎหมาย ในฐานะที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จอนใช้บทบาทนี้ในการสร้างความตระหนักให้แก่สังคมในเรื่องประชาชนชายขอบ และใช้ช่องทางของสื่อในการวิพากษ์และนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่คณะกรรมาธิการค้นพบต่อสาธารณะ ซึ่งถ้าหากไม่ใช้วิธีการเช่นนี้ ประเด็นทางสังคมก็มักจะถูก "ฝัง" อยู่ท่ามกลางความล่าช้าของระบบราชการ
และด้วยบทบาทเช่นนี้ จอนสามารถผลักดันให้ 'นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค' ครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์, การต่อสู้ในเรื่องการยกเลิกสิทธิบัตรยาของบริษัทบริสทอล ไมเยอร์ส สควิบ จนทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อด้วยราคาที่ถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่ง...
จอนยังใช้บทบาทของการเป็นวุฒิสมาชิกในการเผยให้เห็นบทบาทที่โหดร้ายของรัฐบาลไทยที่มีต่อประชาชนมุสลิม...ช่วยยืนยันสิทธิของประชาชนในชนบทที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหิน นอกจากนี้จอนยังต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต ต่อต้านเรื่องข้อตกลงว่าด้วยเรื่องสิทธิทางปัญญาที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนผู้ยากจน และต่อต้านสื่อที่ไม่ยอมรายงานปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำการโดยรัฐ
จอนไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างโดดเดี่ยวลำพัง เขายังมีเพื่อนร่วมความคิดที่เป็นวุฒิสมาชิกด้วยกัน แต่ก็เป็นกลุ่มของคนเพียงไม่กี่คน เพราะวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ต่างยอมก้มหัวให้กับรัฐบาล...ในการเลือกจอน อึ๊งภากรณ์ เพื่อรับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาการบริการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2548 คณะกรรมการได้เล็งเห็นถึงการยืนหยัดอย่างมุ่งมั่นในฐานะวุฒิสมาชิก ที่ให้ความเคารพต่อเรื่องสิทธิและรับฟังความต้องการของประชาชนที่ด้อยโอกาสอย่างเคารพต่อความเป็นมนุษย์"
(คำประกาศเกียรติประวัติ จอน อึ๊งภากรณ์ รางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการภาครัฐ พ.ศ.2548)
หากคนไทยไม่ลืมง่ายเกินไป คงจำได้ว่าวุฒิสมาชิกคนนี้คือลูกชายคนโตของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตเสรีไทย อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมี อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ และอดีตข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ที่สุด เมื่อ 40 ปีก่อนเขาก้าวขึ้นรับ รางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ (Government Service) ที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์มาแล้วโดยเป็นคนไทยที่ได้รับรางวัลสาขานี้เป็นคนแรก
คำประกาศเกียรติคุณข้างต้นของคณะกรรมการที่มีระยะเวลาห่างกัน 40 ปี ในรางวัลสาขาเดียวกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดผลงานที่ทั้งคู่ทำ แต่สำหรับเราคำประกาศนี้ไม่ต่างในรายละเอียดของสิ่งที่เรียกว่า "ความซื่อสัตย์" ในจิตใจและคติพจน์การทำหน้าที่ของพ่อลูกคู่นี้
แม้จอนบอกสื่อว่าเขาได้อิทธิพลทางความคิดจากแม่มากกว่าพ่อแต่ก็น่าสนใจว่าแม่ของเขาได้ส่งผ่านสารบางอย่างมาจากตัว ดร.ป๋วย โดยตรงด้วย ลองมองให้ดีแล้วจะพบว่าขณะที่อาจารย์ป๋วยมีความเชื่อเรื่อง "สันติประชาธรรม" มาร์กาเร็ต ผู้ภรรยาก็มีความคิดเรื่องสันติวิธีไม่ต่างกันนัก
"ท่านเล่าเรื่องการทำงานของคุณพ่อ คุณแม่มีความเชื่อเรื่องสังคมนิยม ความเป็นธรรม ประชาธิปไตย สันติวิธี เช่น สงครามโลกครั้งที่สองท่านก็ปฏิเสธการเป็นทหาร (ที่ประเทศอังกฤษตอนนั้นมีการเรียกทหารกองหนุนทั้งหญิงชาย) เลยต้องขึ้นศาลกัน แล้วศาลจะตัดสินว่าเป็นความคิดความเชื่อที่บริสุทธิ์ไหม ถ้าใช่ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าเป็นข้ออ้างในการแก้ตัวอาจทำให้บางคนติดคุกได้"
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบหนึ่งปี จอน อึ๊งภากรณ์ ก็ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2490 ที่ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายคนแรกของอาจารย์ป๋วยขณะกำลังกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
ในความเป็นจริง จอนก็ไม่ได้ทำกิจกรรมหรือตื่นตัวทางการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนเหมือนที่ใครหลายคนซึ่งเพิ่งรู้จักเขาจากการรับรางวัลแม็กไซไซวาดภาพเอาไว้ เขาเริ่มเข้ามาคลุกคลีกับกิจกรรมทางสังคมของไทยจะว่าไปก็คงต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งนั่นคือช่วงแรกๆ ที่ทำให้จอนมีมุมมองทางสังคมขึ้นอย่างจริงจัง สิ่งที่ส่งผลมากก็คืออิทธิพลจากคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมที่ในขณะนั้นมีการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยสูง
ขณะที่คุณพ่อของเขาเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ยุคที่นักศึกษามีพลังที่สุด(2518) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอีกฟากหนึ่ง จอน อึ๊งภากรณ์ คืออาจารย์หนุ่มไฟแรงเพิ่งจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์จากอังกฤษ มาสอนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลให้กับบรรดานักศึกษาแพทย์ ที่ช่วงนั้นก็ตื่นตัวทางการเมืองสูงไม่แพ้กัน และประสบการณ์ในช่วงนั้นของอาจารย์จอนก็ยังคงแจ่มชัดจนถึงวันนี้
"สมัยเด็กแม้รับความคิดจากคุณแม่แต่ไม่ได้ทำกิจกรรมสังคมเลย ผมจบเตรียมเมืองไทย เรียนต่อที่อังกฤษกลับมาสอนหนังสือที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ตอนเกิด 14 ตุลา ไม่มีส่วนร่วม ผมทำกิจกรรมจริงหลังจากนั้นเพราะที่มหิดลตื่นตัวมาก ผู้นำนักศึกษามาคุยกับผมบ่อย ชวนไปทำกิจกรรม ออกไปดูชนบท แล้วก็เรื่องที่อาจารย์กับนักศึกษาปฏิรูปหลักสูตรการเลือกสายเรียนในมหิดล ผมไปเกี่ยวกับการตั้งสภาคณาจารย์ สมัครและได้รับเลือกเป็นสภาคณาจารย์รุ่นแรก
จากตรงนั้นเริ่มรู้จักอาจารย์นักกิจกรรมมหาวิทยาลัยอื่น มีการตั้งกลุ่มอาจารย์ 6 สถาบันขึ้น เราสนใจติดตามการเคลื่อนไหวของนักศึกษา...ผมกับเพื่อนอาจารย์ยังสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า ที่รวมตัวสไตร์คและยึดโรงงานผลิตกางเกงยีนส์เอง" ซึ่งชีวิตช่วงนี้เองได้ปูพื้นงานประชาสังคมของเขาในเวลาต่อมา
ชีวิตอาจารย์จอนหักเหอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (กรณีกลุ่มขวาจัดอย่างกระทิงแดง นวพล รวมถึงฝ่ายขวาหัวรุนแรงนำโดยสมัคร สุนทรเวช ใช้สถานีวิทยุปลุกระดมและใช้กำลังล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติในธรรมศาสตร์ ซึ่งทุกวันนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีคำตอบให้ญาติผู้เสียชีวิต) เวลานั้นจอนลากลับไปเยี่ยมแม่ที่อังกฤษ แล้วทราบข่าวจาก BBC ถึงเหตุการณ์ในไทยที่ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องลี้ภัย เขาจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยมหิดลและไม่เดินทางกลับ...
"ตอนนั้นผมอยู่อังกฤษแล้ว เป็นช่วงปิดเทอม ผมลางานไปเยี่ยมคุณแม่ ห่วงคุณพ่อมากไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร สถานการณ์ค่อนข้างสับสน จนคุณพ่อโทรศัพท์จากเยอรมันที่เครื่องบินที่ท่านแวะจอดจึงโล่งใจ อยู่อังกฤษก็เลยทำกิจกรรม NGO กับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งมาชักชวน ตอนนั้นคุณพ่อตั้งจดหมายข่าว "มิตรไทย" ขึ้น ผมเลยทำงานกับมูลนิธิมิตรไทย งานจะเป็นการจัดประชุมสัมมนาของคนไทยในระดับยุโรป เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยในไทย"
"จน พ.ศ.2523 มาทำงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งตอนนั้นเป็นโครงการ กลับเมืองไทยตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่สนใจงานวิชาการ สนใจเรื่องสังคมมากกว่า เลยทำงาน NGO ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมที่อาจารย์จอนรับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกนั้นก่อตั้งขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิเช่น คุณหญิงอัมพร มีสุข อ.โคทม อารียา โดยเขาสมัครเป็นผู้อำนวยการคนแรก และทำงานที่นี่อยู่ถึง 10 ปี
"เขาสัมภาษณ์ผมแล้วก็เลือกมาทำงานที่มูลนิธิ เป็นการสมัครแล้วมาฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ไปทำงานกับเอ็นจีโอคนละ 2 ปี ให้เขาสัมผัสกับชีวิตคนด้อยโอกาส"
โครงการนี้มีจุดหมายในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมทำงานกับชุมชนและชนบท "10 ปี ผ่านไปผมเริ่มรู้สึกต้องเปลี่ยน ไม่มีอะไรใหม่ เลยเริ่มมาทำเรื่องเอดส์ตั้งแต่ปี 2532"
ซึ่งงานนี้อาจารย์จอนก็ยังคงทำต่อมาจนมาเป็นวุฒิสมาชิกในปัจจุบัน ถือเป็นผลงานสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลแม็กไซไซแบบที่เจ้าตัวไม่คาดฝันในที่สุด
- 2 -
"ไม่นึกและไม่เคยคิดว่าจะได้รางวัลนี้ เขาบอกล่วงหน้าก่อนประกาศเป็นทางการประมาณเดือนหนึ่ง ..."
กรกฏาคม 2548 คณะกรรมการรางวัลรามอน แม็กไซไซ ส่งเอกสารถึงเขาหลังโทรศัพท์ข้ามประเทศมาแจ้งเมื่อหัวค่ำต้นเดือนกรกฏา ให้เหตุผลว่าเขาทำงานกับคนด้อยโอกาสในสังคม รูปธรรมคืองานกับกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ก่อนเป็นวุฒิสภา (โครงการเข้าถึงเอดส์ (ACESS) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ และให้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดในสังคมไทย) งานต่อสู้เพื่อสิทธิคนด้อยโอกาส รวมถึงการนำเสนอสันติวิธีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"ตอนหลังทราบว่าทาง 'ฟอรั่มเอเชีย' (NGO ทำงานเรื่องสิทธิในเอเชีย) เป็นคนเสนอชื่อ เลขาฯ คือ ท่านอ.โคทม(อารียา) นึกถึงผมแล้วประสานกับศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งมี คุณสุพัตรา นาคะผิว เป็น ผอ. ทั้งหมดนี้รู้ทีหลัง เขาโทรไปถาม อ.ใจ น้องชายผมโดยขอรายละเอียดประวัติซึ่ง อ.ใจ บอกว่าไม่ต้องให้จอนได้ไหม เขาบอกอยากให้คุณสมชาย นีละไพจิตร ได้รับ ผมไม่ได้โกรธน้องผมนะครับ(ยิ้ม) ผมเห็นด้วย แต่ติดกฎของแม็กไซไซ ที่เขาไม่ให้ผู้เสียชีวิต กรณีทนายสมชายแม้เราไม่ทราบแน่นอนแต่ก็อาจไม่อยู่ในเกณฑ์ จึงมีการเสนอชื่อผม แต่คนที่ผมคิดว่าสมควรที่จะได้รับที่สุดในรอบปีนี้ก็คือทนายสมชาย ผมคิดว่าใจเขาพูดถูกครับ"
- 3 -
สิ่งที่อาจารย์จอนทำก่อนเป็นวุฒิสภาในปัจจุบันได้รับความสำเร็จหลายเรื่อง โดยเฉพาะสิทธิผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งเขายังเห็นว่าต้องต่อสู้ต่อไป
"เรื่องเอดส์ดีขึ้น..สมัยก่อนคนติดเชื่อจะไม่มีกำลังใจ ไม่รู้อนาคต คนช่วยเขาจะเป็น NGO กับรัฐ บัดนี้คนติดเชื้อมีองค์กรตนเองกว่า 700 องค์กร มีเครือข่ายระดับภูมิภาคและประเทศ เขาสามารถช่วยเหลือกันได้ มีการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่สำเร็จคือได้รับการรักษาที่ดีทางด้านสุขภาพ เข้าถึงยาต้านไวรัส ขณะที่สมัยก่อนแพงมาก ยาทำให้เขามีชีวิตยืนยาวขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดโอกาสป่วยและเลี้ยงครอบครัวได้จนเกือบเรียกว่าใช้ชีวิตปกติ...
นี่บรรลุความสำเร็จพอควร แต่เขายังกังวลเรื่องเอฟทีเอ(เขตการค้าเสรี)กับสหรัฐ เพราะสหรัฐเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยามากกว่าข้อตกลงระดับโลกของ WTO เป็นปัญหาว่าถ้ารัฐบาลยอมเกินกว่าปัจจุบัน ทำให้ผลิตยาราคาถูกได้ยาก จะทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่จำเป็นต้องเอดส์ แม้แต่มะเร็งที่ผมเป็นอยู่หรืออื่นๆ ก็จะเข้าถึงยาลำบากบริการสุขภาพจะด้อยลง"
อ.จอนกล่าวถึงปัญหาเรื่องเอดส์ต่อไปว่า "สิ่งที่ยังไม่บรรลุคือการไม่ตรวจเลือดก่อนทำงาน สถานประกอบการจำนวนมากบอกใครสมัครงานต้องตรวจหรือแสดงผลตรวจว่าไม่ติดเอดส์ นี่ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะเลือกปฏิบัติ ถ้าคนสมัครสุขภาพแข็งแรง ประเด็นมีหรือไม่มีเชื้อไม่ควรเป็นจุดตัดสิน ต้องดูความสามารถ..ยิ่งสมัยนี้ยาสามารถทำให้เขามีชีวิตปกติก็ไม่ควรทำ
ผมมีศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้รับร้องเรียนประจำจากผู้ติดเชื้อที่สมัครงานแล้วไม่ได้ บางคนทำงานหลายปีอยู่ดีๆ สถานประกอบการเจาะเลือด ผู้บริหารดูผล คนติดเชื้อต้องออก นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังอยู่ ความรังเกียจไม่เข้าใจในสังคมยังมี แม้ลดลงบ้างแต่ก็ไม่หมด อีกประเด็นคือเด็กหลายคนเจอปัญหาเวลาไปสถานรับเลี้ยงเด็ก...หลังๆ ยังมีปัญหาในโรงเรียนประถมหลายที่ นโยบายกระทรวงศึกษาต้องรับ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่ง่าย แม้บังคับแต่ถ้าสังคมมีความรังเกียจ เด็กคนนั้นก็จะไม่มีความสุข"
"ตั้งแต่เป็นวุฒิสภา เรียนรู้ปัญหาประชาชนมากมาย สิ่งที่พบมากพร้อมเพื่อนวุฒิสภาที่ทำงานด้วยกันคือการละเมิดสิทธิชุมชน ส่วนมากเกี่ยวกับทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ..."
จอนยังแสดงทัศนะเรื่องความรุนแรงว่า "ความรุนแรงภาคใต้เริ่มด้วยกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรง แต่เกิดการตอบโต้โดยรัฐที่รุนแรงเช่นกัน เราผิดพลาดหลายกรณีโดยเฉพาะเรื่องตากใบที่มีการขนคน จับตัวแล้วยังเสียชีวิตกว่า 80 คน นี่อยู่ในการดูแลรัฐ เรายังได้รับการร้องเรียนเรื่องอุ้มฆ่า โดยเฉพาะกรณีนายสมชาย ทั้งหมดนี้เห็นแล้วห่วงมาก ดูเหมือนความรุนแรงจะทวีขึ้นไม่สิ้นสุด..."
คนรุ่นใหม่ปัจจุบันก็มีแนวโน้มความรุนแรง เห็นได้จากความคิดเห็นที่ส่งเข้าไปตามรายการคุยข่าว พวกเขาพากันรุมก่นนักวิชาการสายพิราบ ซึ่ง อ.จอน บอกกับผู้นิยมความแข็งกร้าวว่า
"ถามว่าที่ใช้ความรุนแรงมาตลอดสถานการณ์ดีขึ้นไหม เห็นแย่ลงทุกวัน ล่าสุดคนทำมาหากินไม่สามารถทำงานวันศุกร์ ผู้ก่อการร้ายมีอิทธิพลต่อพื้นที่ เพราะรัฐสร้างความแปลกแยกกับประชาชน ไม่สามารถให้ความมั่นใจกับคนพื้นที่ได้ไม่ว่าศาสนาใด พูดง่ายๆ ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐขณะนี้
ตัวอย่างความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองที่เกิดในประเทศอื่นอย่างไอร์แลนด์เหนือ ทุกกรณีที่สุดแก้ปัญหาได้เมื่อให้ความเป็นธรรมกับคนพื้นที่..ให้เขามีโอกาสศึกษา ทำงาน ไม่ต่างกับที่อื่น ที่สำคัญเรื่องปกครองตนเองที่ไม่ได้แยกดินแดน หมายถึงคนพื้นที่ต้องมีตำแหน่งปกครองในพื้นที่ ต้องไม่เหมือนอาณานิคมหรือมีคนนอกอยู่ตำแหน่งบริหาร นี่ต้องเร่งแก้และเคารพวัฒนธรรมพื้นที่ คนของรัฐทุกส่วนต้องเข้าหาประชาชนได้ ถ้าโจมตีพวกผมว่าอยู่บนหอคอยไม่เข้าใจสถานการณ์ ให้ลองมองประวัติศาสตร์ทุกประเทศดูว่าในที่สุดเขาแก้อย่างไร ไม่มีรัฐไหนใช้ความรุนแรงแล้วจะสงบ ประวัติศาสตร์จริงคือยิ่งใช้รุนแรงมากเท่าไรความไม่สงบจะทวีขึ้นเท่านั้น"
"ผมอยากให้คนสนใจเรื่องสังคม ให้เรียนรู้สังคมของเรา ฟังและคิดให้ละเอียด ทำอย่างไรจะสร้างสังคมที่เป็นธรรม ช่วยทำให้สังคมเป็นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เรามี รัฐธรรมนูญค่อนข้างดี แต่ขอให้ดูความประพฤติผู้มีอำนาจว่าทำตามหรือไม่ ช่วยกันกดดันให้รัฐสร้างสันติสุขในภาคใต้ นี่เป็นแนวคิดผม เชื่อไม่เชื่อเป็นสิทธิ ผมคิดว่าแต่ละคนใช้วิจารณญาณด้วยตนเองได้ครับ"
ถึงตอนนี้ จอน อึ๊งภากรณ์ ยังคงทำหน้าที่วุฒิสมาชิก "เสียงข้างน้อย" ต่อไป ถึงแม้งานในหน้าที่ของเขาจะต่างกับ ดร.ป๋วย ผู้เป็นบิดา แต่ก็มีคุณค่ามากต่อสังคมจนได้รับเกียรติก้าวขึ้นรับรางวัลที่เทียบได้กับ "โนเบล" ของเอเชียสาขาเดียวกับบิดาของเขาในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ที่จะถึงนี้
เหมือนเมื่อ 40 ปีก่อนที่คนไทยได้ภาคภูมิใจในตัวอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั่นเอง...
* * * *
*ภาพบางส่วนจากนิตยสารสารคดีฉบับพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์"
เรื่อง/ภาพ สุเจน กรรพฤทธิ์