xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็น "ธนบัตร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เงินคือพระเจ้า"…ประโยคเปรียบเปรยนี้เราอาจเคยได้ยินกันบ่อยๆ เมื่อกล่าวถึงอำนาจบันดาลสิ่งต่างๆ แก่ผู้ครอบครอง ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า "พระเจ้า" ที่คนทั่วไปชอบกันนักหนานี้ถูกสร้างขึ้นที่ไหน?

สิ่งที่เรียกว่า "เงิน" นี้รู้จักกันดีทั้งในแบบเหรียญและที่เรามีในกระเป๋าตังค์กันส่วนมากคือ "ธนบัตร" เรียกกันทั่วไปว่า "แบงก์สิบ" "แบงก์พัน" ฯลฯ ตามมูลค่า (อาจเพราะออกมาธนาคาร 'Bank' )

ใครจะรู้บ้างว่าธนบัตรที่เราใช้จับจ่ายทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ หากต้องผ่านโรงพิมพ์เช่นเดียวกันกับสิ่งพิมพ์อื่นเบื้องหลังภาพและลายเส้นมากมาย กว่าจะนำออกมาใช้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบได้

ต้นทางของธนบัตร

"ตามกฎหมายเรามีทุนสำรองเงินตราหนุน 100% ประกอบด้วยทองคำซึ่งสมัยก่อนอาจทั้งหมด แต่หลังๆ เรามีเงินสกุลต่างชาติ พันธบัตร และเงินตราสกุลอื่น ในปีหนึ่งจะมีการสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านจำนวนผลิต เรียกฝ่ายที่ดูแลว่า 'ฝ่ายจัดการธนบัตร' ซึ่งทำงานประสานกับ 'โรงพิมพ์ธนบัตร'ทั้งสองฝ่ายรวมกันเรียกว่า 'ฝ่ายออกบัตรธนาคาร'สรุปว่าโรงพิมพ์ธนบัตรมีหน้าที่ผลิตธนบัตรให้ฝ่ายจัดการธนบัตรออกใช้"

ดร.นพพร ประโมจนีย์ กรรมการผู้จัดการโรงพิมพ์ฯ เริ่มต้นอธิบายระบบการผลิตของโรงพิมพ์ธนบัตรฯ ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการอื่นๆ อีกมาก ในบ้านเรากิจการนี้อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตรธนาคาร สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด โดยรับนโยบายจากผู้บริหารแบงก์ชาติมี "เงินในไห" หรือ "เงินสำรอง" ของประเทศเป็นตัวสร้างมูลค่าให้ธนบัตรจนสามารถได้รับความเชื่อถือแล้วแลกเปลี่ยนในตลาดโลกได้

หากใครเคยผ่านบางขุนพรหมแล้วเข้าไปใต้สะพานพระราม 8 ที่เกือบสุดทาง มองเข้าไปทางซ้ายมือ นั่นล่ะคือต้นกำเนิดธนบัตรทั้งหมดในประเทศนี้ที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนอยู่ในมือนายธนาคาร เศรษฐี นักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า คนชั้นกลาง นักเรียน ไปจนถึงขอทานหรือกระทั่งมิจฉาชีพ (ซึ่งต้องใช้ธนบัตรซื้อข้าวกินเหมือนกัน)

ที่นี่คือ "โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย" มีหน้าที่พิมพ์ธนบัตรในสกุลเงิน "บาท" ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว แน่ล่ะ ธนบัตรเป็นสิ่งพิมพ์เหมือนเช่นสิ่งพิมพ์ชนิดอื่น แต่ ดร.นพพร ก็บอกว่านี่คือสิ่งพิมพ์ Security Printing คือมีคุณภาพสูงและปลอมแปลงยาก ตรงกับตรรกะที่ว่า หากเราใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสแกนธนบัตรที่รัฐบาลผลิตแล้วพิมพ์ออกมาโดยผ่านเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต แล้วมีคุณสมบัติเหมือนธนบัตรที่แบงก์ชาติผลิตเป๊ะจะวุ่นวายขนาดไหน (นอกจากผิดกฎหมายแล้วทำอย่างไรก็ไม่มีทางเหมือนธนบัตรที่แบงก์ชาติผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง)

นั่นคือเหตุผลและที่มาทั้งหมดของระบบการผลิตซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงใช้ระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกับผู้เกี่ยวข้องทุกคนนับตั้งแต่ก้าวเข้าอาณาเขตโรงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเราเห็นตั้งแต่ระบบประตูอัตโนมัติ เครื่องตรวจจับโลหะ รวมถึงโทรทัศน์วงจรปิดที่ถูกติดตั้ง

"ระบบรักษาความปลอดภัยของเราจะว่าแยกกับส่วนของแบงก์ชาติไหมก็แยก ตรงโรงพิมพ์ธนบัตรฯ จะเรียกเขตหวงห้ามเป็นโซน 1 2 3 ที่เราคุยกันอยู่นี้คือ 3 และไล่ไปลึกที่สุดคือ 1 เป็นส่วนที่มีธนบัตร ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยดูแลใกล้ชิด โดยปกติจะไม่ให้เข้าไป เรามีรายชื่อว่าใครสามารถเดินเข้าออกได้ทุกเขต เช่นตัวผม หรือท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นต้น ถ้าเป็นคนนอกต้องมีเหตุผลและได้รับอนุญาตก่อน เช่น คนที่มาขอชมการผลิต"

ปัจจุบันโรงพิมพ์ธนบัตรฯ มีภารกิจผลิตธนบัตรจำนวนกว่า 2,000 ล้านฉบับต่อปี หากนับเป็นมูลค่าก็ราวๆ 6-7 แสนล้านบาท "เราผลิตเองมา 36 ปีแล้วครับ เทคโนโลยีเปลี่ยนพอควร ธนบัตรต้องทำให้ปลอมยากแต่ดูง่าย ธนบัตรหลายรุ่นที่ออกไปมีวิวัฒนาการทางเทคนิคทั้งกระดาษและหมึกพิมพ์ ตอนนี้ก็มีพวกโฮโลแกรมติด มีสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ใช้เครื่องตรวจได้" ดร.นพพร พูดถึงสถานะปัจจุบันของโรงพิมพ์ธนบัตรฯ ว่า

"อยู่ในระดับชั้นนำของโลก เราตามเทคโนโลยีใหม่ตลอด ถือเป็นโรงพิมพ์แรกๆ ที่ใช้ของใหม่ เช่นธนบัตรที่ระลึก 60 บาทเมื่อปี 2530 ใช้หมึกพิเศษที่เปลี่ยนสีได้เรียกว่า OVI บนธนบัตรเป็นประเทศแรก ยังมีธนบัตรพลาสติกที่ระลึก 500 บาท ซึ่งใช้เป็นชาติแรกๆ เหมือนกัน แม้ช่วงต้นไม่ได้พิมพ์เอง ก็ถือว่ามีการใช้เทคโนโลยีติดท็อปเท็นครับ"

กว่าจะเป็นธนบัตร

ขั้นตอนการผลิตธนบัตรเริ่มต้นขึ้นอย่างไร? แน่นอนว่าในปัจจุบันธนบัตรจำนวนมากที่เราใช้อยู่ ถูกผลิตด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย แต่ในส่วนที่เป็นงานฝีมือนั้นก็ต้องใช้คนอยู่ดี

ทีมออกแบบธนบัตรปัจจุบันมีทั้งหมด 8 คนซึ่งมีชื่อตำแหน่งเช่น เจ้าหน้าที่ออกแบบ เจ้าหน้าที่แกะโลหะ ผู้วิเคราะห์ ฯลฯ และเชื่อหรือไม่ว่าธนบัตรเป็นงานศิลปะที่คนทั้ง 8 ออกแบบสร้างสรรค์และมีพื้นที่จัดแสดงอยู่ในกระเป๋าเงินของเราทุกคนโดยไม่ได้ลงนามเจ้าของผลงาน

"จะใช้รูปแบบใดเราต้องดูก่อนว่าธนบัตรนี้เป็นรุ่นอะไร จะมีแบบ ปัจจุบันคือ Series 15 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ธนบัตรใบละ 20 บาทเป็นเรื่องราวรัชกาลที่ 8 ธนบัตรใบละ 50 บาท เป็นเรื่องราวรัชกาลที่ 4 ซึ่งเราจะเลือกมาลง โดยเมื่อได้หลักการแล้วจะมีการระดมความคิดว่าจะเอาภาพไหน เรื่องเด่นของรัชกาลนั้นๆ คืออะไร ซึ่งผู้วิเคราะห์จะไปหาข้อมูล อย่างใบละ 50 นี่รัชกาลที่ 4 ท่านเด่นเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็จะไปหาพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์มาออกแบบ" กุนที กรีประเสริฐกุล ผู้จัดการแผนกออกแบบฯ ให้หลักการ

"อย่างธนบัตรใบละ 20 บาท เราจะหาข้อมูลโดยทำเป็นทีม ต้องหาภาพประธานด้านหน้า ภาพประกอบด้านหลัง รัชกาลที่ 8 พระราชกรณียกิจที่เด่นคือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ครั้งที่สำคัญคือตอนเสด็จเยี่ยมราษฎรที่สำเพ็งเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชาวจีนและชาวไทยให้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก และมีการเชิญพระราชดำรัสเกี่ยวกับการให้คนในชาติทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ซึ่งเราจะ Quote สิ่งดีๆ ให้คนปัจจุบันที่ใช้ธนบัตรได้ศึกษา กล่าวได้ว่าธนบัตรเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่บรรจุเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไว้อีกด้วย" พรทิพย์ ไทยถิ่นงาม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์อาวุโสให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ซึ่งภาพต่างๆ ที่พวกเขานำมาตีพิมพ์เป็นธนบัตรนั้นก็ต้องสามารถจัดองค์ประกอบได้ลงตัวอีกด้วย ถึงขั้นตอนนี้แล้วก็จะมีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบแบบสี (ต้นแบบ) เสนอคณะกรรมการชุดต่างๆ เมื่อได้รับอนุมัติ เจ้าหน้าที่จึงลงมือทำงาน และที่เราทึ่งกับทีมงานชุดนี้ก็คือความ "ยาก" ในการสร้างงานรวมถึงการ "ปิดทองหลังพระ" ในศิลปะของชาติมาตลอดเวลาหลายสิบปีตลอดอายุงานแต่ละคน

ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์ ผู้ชำนาญการแกะโลหะ "จิตรกร" เบื้องหลังภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ซึ่งเป็นภาพประธานของธนบัตรด้านหลัง กล่าวถึงงานว่า "ส่วนต้นแบบที่ต้องใช้การแกะคือภาพประธาน เป็นการต่อต้านการปลอมแปลง ตรงนี้เวลานำไปใช้เป็นแม่พิมพ์จะออกมาเป็นระบบการพิมพ์เส้นนูนซึ่งการปลอมจะทำไม่ได้ ลวดลายการแกะไม่สามารถทำด้วยคอมพิวเตอร์และถ่ายด้วยฟิล์มทั่วไป ต้องเกิดจากการแกะโลหะซึ่งมีความลึกความตื้นโดยใช้เหล็กเท่านั้น" ซึ่งเครื่องมือการแกะก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

อาชีพ "ช่างแกะ" ภาพบนธนบัตรอาจไม่มีใครเคยได้ยิน ประสิทธิ์บอกว่ามีที่เดียวในประเทศคือธนาคารแห่งประเทศไทย "ผมจบจิตรกรรมที่ไทยวิจิตรศิลป์ แล้วมาต่อเพาะช่าง สอบเข้าแบงก์ชาติ เรียนไม่ถึงเทอมเขาเรียกตัวแล้วมาฝึกแกะที่นี่ ข้างนอกไม่มีสอน การแกะภาพต้นแบบยังต้องแกะภาพที่กลับจากของจริง (คือแกะภาพกลับด้าน เพื่อตอนพิมพ์ออกมาเป็นภาพปกติ) สมัยก่อนเอารูปจริงวางแล้วมองในกระจกถึงลงมือได้ ตอนนี้กลับภาพดูด้วยคอมพิวเตอร์แล้วลงมือแกะได้เลย"

"ธนบัตรแต่ละ Series ต่างกันครับ ลายไทยอาจใช้เพื่อให้เห็นเอกลักษณ์ แล้วแต่การมอง ต่างประเทศเขาก็มีของเขา และใช้วิธีการแกะเหมือนเรา ซึ่งทุก Series ผมคิดว่าไม่มีอันไหนทำง่ายเลย การแกะทีหนึ่งเราต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่งหมายถึงต้องวางแผนล่วงหน้า 2 ปี ถึงออกธนบัตรแบบหนึ่งได้ โดยการแกะภาพประธานในธนบัตรจะต้องเริ่มหรือทำก่อนส่วนอื่น"

เมื่อมีความยากในตัวงาน "ช่างแกะ" จึงเป็นบุคลากรสำคัญที่ทางโรงพิมพ์ต้องมีการสร้างทดแทนรุ่นต่อรุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 2 และอยู่ในระหว่างการสร้างรุ่นที่ 3 "บางคนรับเร็วก็เป็นเร็วครับ อย่างผม 15 ปี ไม่ได้ทำงานจริงเลย นั่งวาด นั่งแกะไปเรื่อยๆ โดยทาง ธปท. มีเงินเดือนให้ เป็นกระบวนการที่เขี้ยวมากครับ ใครทำอาชีพนี้ต้องใจรัก และเป็นคนใจเย็นมาก ไม่จบศิลปะไม่ได้เลย ต้องรู้หลักของภาพ แสงเงา ไม่งั้นแกะไม่ได้ นี่เหมือนการ Drawing ด้วยเหล็กดีๆ นี่เอง" ประสิทธิ์กล่าวถึงหัวใจของอาชีพที่เขาคลุกคลีมาตั้งแต่ปี 2522

ธนบัตรที่ได้รับการออกแบบใหม่หรือเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี จะได้รับการลงชื่อจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุกคน โดยมีการล็อกหมวดเลขหมายของธนบัตรว่าถึงตรงไหนจะหยุด เพื่อจะเปลี่ยนรุ่นลายเซ็นรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนแปลงซีรีส์ "รมว.คลังจะได้เซ็นทุกคน (มีผลทางกฎหมายทำให้ธนบัตรใช้ชำระหนี้ได้) เพิ่งปรับครม. นี่เราเตรียมปากกาเคมีแล้ว เราจะให้ท่านเซ็นเป็นสิบๆ ชื่อ แล้วมาเลือกลายเซ็นที่สวยก่อนส่งพิมพ์" กุนที สรุปกระบวนการ

เมื่อจบขั้นตอนออกแบบแล้วก็เข้าสู่การผลิตโดยนำแม่พิมพ์ไปผ่านการปรู๊ฟ ตรวจความถูกต้องอีกครั้ง และเทียบสีรวมถึงความเข้มของหมึกพิมพ์ก่อนพิมพ์จริง ซึ่งภาพและลายที่ปรากฏเกิดจากการพิมพ์ 2 แบบ คือ พิมพ์สีพื้นแบบออฟเซ็ตและเส้นนูนแบบอินทาลโย พิมพ์สีพื้นเป็นขั้นตอนแรกโดยใช้เครื่องที่พิมพ์ได้สองด้านพร้อมกัน ทำให้ส่วนที่ออกแบบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อเราส่องดูกับแสงสว่างสามารถทับกันได้สนิท

ก่อนจะตามด้วยพิมพ์เส้นนูนที่ทำให้ยากต่อการปลอม เพราะต้องใช้การพิมพ์พิเศษที่มีแรงกดจนทำให้หมึกนูนจากผิวธนบัตรแล้วนำไปผ่านกระบวนการตรวจคุณภาพ ซึ่งธนบัตรที่ได้จะมีแผ่นที่ดีและอาจชำรุดบางส่วนจากการตัดกระดาษที่เกิดขึ้นซึ่งจะถูกแยกประเภทออกไป

แผ่นที่มีสภาพดีจะเข้าสู่การพิมพ์เลขหมายลายเซ็นโดยวิธีเลตเตอร์เพรส เพื่อคุมการออกใช้โดยเลขหมายไม่ซ้ำกัน ก่อนนำไปตัดเป็นแผ่นๆ แล้วบรรจุห่อด้วยเครื่อง ส่วนธนบัตรแผ่นที่ชำรุดจะมีการนำไปตัดเป็นรายฉบับและแทนที่ฉบับชำรุดด้วยธนบัตรชุดพิเศษคือหมวด พ ซึ่งตรงกับตัว S ในอักษรโรมัน ก่อนจะบรรจุห่อแล้วเก็บเข้า "ห้องมั่นคง" เพื่อเตรียมส่งมอบฝ่ายจัดการธนบัตรและศูนย์จัดการธนบัตรภูมิภาค

ปัจจุบันโรงพิมพ์ธนบัตรมีส่วนที่ทำการเดินเครื่องจักรอยู่ 2 อาคาร อาคารเก่าจะทำหน้าที่ผลิตธนบัตรชนิดราคาสูงอย่างราคา 1,000 บาท และ 500 บาท ซึ่งต้องใช้การพิมพ์แบบเส้นนูนทั้งสองด้าน และส่วนอาคารใหม่ซึ่งผลิตธนบัตรที่มีปริมาณการใช้มากอย่างแบงก์ 20 50 และแบงก์ 100 โดยมีอัตราการผลิตสูงกว่าและจะมีการพิมพ์เส้นนูนลงไปเพียงบางด้าน

ก้าวต่อไปของการพิมพ์ธนบัตรไทย

"แบงก์ปลอมเป็นเรื่องปกติแต่หน้าที่เราคือทำให้เกิดขึ้นได้น้อยที่สุดและไม่แพร่หลายจนเกิดความไม่เชื่อมั่น ปกติคนเราแทบไม่มองธนบัตรเลยเวลาใช้เพราะคิดว่าของจริง วันดีคืนดีก็เจอ เรามีหลายวิธีป้องกัน เช่นทำให้สามารถดูง่ายแต่ปลอมยาก ในท้องตลาดตอนนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ดีขึ้นมาก อย่างอิงก์เจ็ท สแกนเนอร์ ตอนนี้เด็กๆ ก็ทำได้ แต่สมัยก่อนจะยากกว่าเพราะต้องมีเครื่องพิมพ์มีอะไรมากมาย ตอนนี้ทำได้ แต่ทำได้ก็ไม่เหมือน แต่ก็ใกล้เคียงมากถ้าคนใช้ไม่พิจารณาดูให้ดี จริงๆ บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหานี้เท่าไร" ดร.นพพรกล่าวถึงเรื่องธนบัตรปลอม

"เราไม่ได้อยู่นิ่ง พยายามจัดการ ถ้าแนวโน้มปลอมมากเราก็ประสานงานเพื่อจับกุมผ่านทางตำรวจและพยายามบอกประชาชนว่าวิธีดูทำยังไง จริงยังไง ปลอมยังไง ...ล่าสุดเข้าใจว่าชนิดราคา 100 บาท หรือ 1,000 บาทจะมีการปลอมมากกว่า เพราะปกติเขาจะปลอมธนบัตรที่ปลอมง่ายในแง่เทคนิคและความคุ้มค่า ใบละ 1,000 นี่คุ้ม 20 บาทนี่แป๊บเดียวอาจถูกจับ…ใบละ 500 นี่ตั้งแต่ออกแบบใหม่ของปลอมหายไปเลย เพราะฝังโฮโลแกรม คงไปคิดวิธีอยู่ (หัวเราะ)…"

"ตอนนี้ผมหนักใจความต้องการธนบัตรที่เพิ่มขึ้น ปี 2004 ที่ผ่านมาพิมพ์ไปถึง 2,004 ล้านฉบับ เป็นสถิติเลยครับ เพราะเพิ่งถึง 2,000 ล้านฉบับเป็นปีแรก อาจแสดงว่าคนมีเงินแล้วเบิกใช้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังสร้างโรงพิมพ์ใหม่อยู่ที่พุทธมณฑลสาย 7 จะเสร็จปลายปี 2549 ทุกวันนี้เราก้าวหน้ามาก บรรลุวัตถุประสงค์หลายจุด 5 ปีมานี้เราเข้าสู่ระบบ ISO ล่าสุดจะได้ มอก. 18000 ซึ่งมีไม่กี่โรงพิมพ์ธนบัตรในโลกที่ทำได้"

"ตอนนี้มีคนเข้าชมโรงพิมพ์ธนบัตรปีหนึ่งประมาณ 8-9 พัน…ถ้าสนใจสามารถติดต่อมาได้ เราขอให้มาเป็นคณะ เป็นองค์กร ซึ่งเรายินดีรับ แต่มากๆ ก็ไม่ไหวครับสำหรับที่นี่ นานมาแล้วเคยมีนักเรียนต่อแถวมายาวเลย ซึ่งบางทีพวกเขาเด็กเกินไป ตอนหลังเราจะเน้นผู้ใหญ่และนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวข้อง เพราะมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยด้วย หรือถ้าหมู่คณะสนใจโปรดติดต่อก่อน" ดร.นพพรทิ้งท้ายซึ่งสำหรับผู้สนใจเข้าชมกิจการพิมพ์ธนบัตรสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2283-6018

แม้ว่าใครหลายคนอาจพูดว่า "เงินคือพระเจ้า" แต่สำหรับในบ้านเราก็เป็น "พระเจ้าสมมติ" ที่มนุษย์สร้างขึ้นแถวๆ บางขุนพรหมนี่เอง

********

ธนบัตรมีขึ้นเมื่อใด

ดินแดนแถบบ้านเราใช้เงินตราเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนตั้งแต่อดีตในลักษณะ "เบี้ย" ทำจากเปลือกหอยก่อนจะวิวัฒนาการต่อเนื่องในอาณาจักรต่างๆ จนยุครัตนโกสินทร์ปรากฏเงินพดด้วงในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 หลังมีการติดต่อกับตะวันตกหลังทำสนธิสัญญาบาวริ่ง การค้าขยายตัวมากจนวัสดุผลิตเหรียญและเงินพดด้วงขาดแคลน จึงมีการใช้ "หมาย" ซึ่งถือเป็นธนบัตรรุ่นแรกสมัยรัชกาลที่ 4 ล่วงถึงรัชกาลที่ 5 จึงมีการจ้างโทมัส เดอลารู โรงพิมพ์สัญชาติอังกฤษพิมพ์ "อัฐกระดาษ" ขึ้นใช้

สยามจ้างต่างประเทศพิมพ์ธนบัตรมาจนสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อการสู้รบรุนแรงการขนส่งธนบัตรก็ยาก รัฐบาลหันมาใช้โรงพิมพ์ในประเทศระหว่างสงคราม สมัยนี้มีเรื่องเล่าสนุกๆ ว่าธนบัตรไม่มีค่าเนื่องจากรัฐบาลไทยซึ่งถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองประเทศอยู่นั้นโดนบังคับปล่อยกู้เงินไปจนเกิดเงินเฟ้อ รัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรออกใช้โดยไม่มีทุนสำรองหนุนหลัง เกิดศัพท์เรียกว่า "แบงก์กงเต๊ก" ขึ้นกับธนบัตรไทย

สถานการณ์ดีขึ้นหลังสงคราม จนรัฐบาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ริเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2512 ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถผลิตธนบัตรใช้เองได้จวบจนปัจจุบัน

                   * * * * *
 
เรื่อง...สุเจน  กรรพฤทธิ์
ภาพ...อาทิตย์  นันทพรพิพัฒน์











กำลังโหลดความคิดเห็น