โรงละครแห่งชาติ....สถาปัตยกรรมไทยที่เป็นมากกว่า "โรง" สำหรับเล่น "ละคร" แต่คือศูนย์รวมจิตวิญญาณ ความมุ่งมั่น ตลอดจนจิตวิญญาณของ "คนละคอน" ทุกผู้นาม ตลอด 40 ปีที่ประเทศไทยมีโรงละครแห่งชาติแห่งนี้ หลากหลายคนทำงานที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับงานละคร ไม่ว่าจะเป็นหน้าม่านหรือหลังม่าน ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ได้คิดว่าโรงละครเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น หากแต่ ณ ที่แห่งนี้เปรียบเสมือนบ้าน... ที่ให้ความสงบร่มเย็น อยู่อาศัยแล้วสบายใจและเป็นสุข เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิต ที่พวกเขาสามารถเข้ามาเพื่อเรียนรู้ บ่มกรำ สร้างสมประสบการณ์ หรือกระทั่งได้พบปะกัลยาณมิตรที่มีหัวใจรักษ์และรักในความเป็นเอกลักษณ์แบบศิลปะการแสดงแบบไทย
อย่างไรก็ตาม วันและเวลาที่ล่วงเลยไป แม้โรงละครแห่งชาติจะยังคงสามารถยืนตระหง่านท้ากระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนไป แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมร่วงโรยไปตามอายุขัย และถึงเวลาที่สถานที่แห่งนี้ได้ฤกษ์เตรียมปิดม่าน 1 ปีเต็มเพื่อปรับโฉมครั้งใหญ่ครั้งแรก
การเปิดม่านใหม่ในครั้งหน้าเราจะมีโรงละครแห่งชาติที่อลังการกว่าเดิม แต่ก็มีคำถามที่น่าคิดตามมาว่าระหว่าง 1 ปีที่ปิด ทุกชีวิตที่เคยโลดแล่นภายในโรงละคร เขาเหล่านี้จะไปทำอะไรกัน??? และละครที่เคยเล่นที่โรงละครแห่งชาติ เมื่อปิดแล้วจะไปเล่นกันที่ไหน???
แรกเริ่มมีโรงละคร -ก่อนถึงวันปิดซ่อมใหญ่
...ย้อนหลังกลับไปประมาณ 40 ปีที่แล้ว ช่วงปลายปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้จัดสร้างอาคารโรงละครแห่งชาติขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2508 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในล้อมกรอบ) และหลังจากวันนั้น โรงละครแห่งชาติก็ถูกใช้งานเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็จัดการซ่อมแซมกันไปตามงบประมาณที่ได้รับ มากบ้าง น้อยบ้าง
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความพ้นสมัยก็เริ่มเกาะกิน เทคโนโลยีต่างๆ ภายในโรงละคร แสงสีเสียงที่เคยทันสมัยก็พลันตกสมัยไปตามระยะเวลา ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้อนุมัติงบประมาณ 255 ล้านบาทเพื่อใช้ในการปรับปรุง
อารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร เล่าย้อนถึงพื้นเดิมอุปนิสัยและรสนิยมการดูละครของคนไทยว่าจะเป็นการดูกันกลางแจ้ง กลางลาน หรือถ้าเป็นลิเกอาจจะเป็นการดูตามวิก ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีมติให้สร้างโรงละครแห่งชาติขึ้นนั้น ก็ถือเป็นมิติใหม่ของวัฒนธรรมการดูละคร และรวมทั้งเป็นมิติใหม่ในการสร้างอาคารเรือนไทยแบบประยุกต์ เพราะโดยปกติอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยนั้นจะมีลักษณะการใช้งานแบบเฉพาะตัวแบบเดียว เช่น สร้างเป็นโบสถ์ก็คือใช้งานเป็นโบสถ์ สร้างเป็นศาลาการเปรียญก็ใช้งานเป็นศาลาการเปรียญเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม การที่จะสร้างอาคารทรงไทยประยุกต์อย่างอาคารของโรงละครแห่งชาตินั้น ต้องคำนึงถึงระบบต่างๆ ต้องคำนึงถึงการวางเก้าอี้ ระดับและองศาในการมองเห็น ระบบฉาก รางเลื่อนฉาก แสง สี เสียง ระบบการปรับอากาศ เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สุดยอดและทันสมัยมากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
"นับจากการสร้างโรงละครแห่งชาติซึ่งแล้วเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2508 นั้น ไม่เคยมีการปิดเพื่อบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่เลยแม้แต่ครั้งเดียว จะมีบ้างที่ปรับปรุงซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการซ่อมแซมส่วนที่เสียตามสภาพ เช่น เรื่องของเบาะนั่ง เก้าอี้คนดู และจากการที่ไม่เคยบูรณะก็ทำให้โรงละครได้ทรุดโทรมลงไปตามสภาพ ระบบเครื่องเสียง ระบบแสงก็พ้นสมัยไปแล้ว จึงจำเป็นต้องปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ และหลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมให้อนุมัติงบประมาณการซ่อมปรับปรุงโรงละครแห่งชาติเป็นจำนวน 255 ล้านบาทในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะปิดโรงละครแห่งชาติเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปี โดยยังไม่ได้กำหนดวันปิดที่แน่นอน แต่คาดว่าจะไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และในขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้งดรับการขอใช้สถานที่เวทีโรงละครแห่งชาติ และได้พยายามร่นโปรแกรมการแสดงที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ให้เร็วขึ้น และการปิดครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกตั้งแต่เรามีโรงละครแห่งชาติมา"
ส่วนเสียงเล็กๆ จากคนหลังม่านอย่าง มนตรี สุวรรณ เจ้าหน้าที่บริหารงานช่าง กรมศิลปากร ผู้คลุกคลีอยู่กับโรงละครแห่งชาติมามากกว่า 30 ปี บอกว่าโรงละครแห่งชาติมีส่วนต้องปรับปรุงมากมาย ทั้งในห้องเก็บฉาก ที่มีความกว้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่พอที่จะเลื่อนฉากเข้าไปเก็บไว้ด้านใน บางครั้งต้องเอาฉากไปแขวนไว้บนเวที และใช้ม่านปิด เพดานบางส่วนเริ่มรั่วซึม เมื่อฝนตกหนักจะมีน้ำหยด เก้าอี้ชำรุด ไม้บริเวณคอกนักดนตรีข้างเวทีเริ่มหลุดลอกเสื่อมสภาพ
ห้องน้ำที่อยู่ด้านนอกโรงละครไม่มีลำโพงเชื่อมต่อไปถึง ทำให้ไม่สามารถติดตามเนื้อเรื่องได้ตลอดหากลุกไปห้องน้ำ ทำให้เวลาพักครึ่งหรือการแสดงจบคนจะกรูกันไปเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำแออัดไม่พอบริการ ห้องแต่งตัวนักแสดงไม่มีจอมอนิเตอร์ ทำให้นักแสดงไม่รู้คิวของตัวเอง จำเป็นจะต้องมาแอบดูด้านข้าง ซึ่งก็อาจทำให้ชุดที่แสดงอยู่เสียสมาธิได้
"ผมเชื่อว่าการได้งบในครั้งนี้จะเป็นการปรับปรุงและอุดรูรั่วความเสียหายได้อย่างแน่นอน และหลังจากเปิดม่านครั้งใหม่ เวทีของโรงละครแห่งชาติจะสามารถตอบรับความต้องการของผู้ชมได้มากกว่าเดิม" มนตรีกล่าวอย่างมั่นใจ
ทางออกเมื่อปิดโรงชั่วคราว
อธิบดีกรมศิลปากรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปิดปรับปรุงที่จำเป็นจะต้องปิดโรงละครแห่งชาติเป็นการชั่วคราวนั้น แต่เดิมจากการวางแผนในการปิดปรับปรุงนั้นต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี แต่ 2 ปีนี่ถือว่าเป็นช่วงที่นานเกินไป จึงพยายามหาทางลดระยะเวลาการปิดลงมา ด้วยการค่อยๆ ปรับด้านนอก ในส่วนของการทาสี ซ่อมแซม และการปรับภูมิทัศน์โดยรอบไปก่อน ซึ่งเป็นการปรับและซ่อมแซมที่โรงละครแห่งชาติสามารถเปิดบริการในส่วนของการแสดงไปด้วยได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกวดราคาหาบริษัทเข้ามารับผิดชอบ คาดว่าไม่นานน่าจะได้ แล้วจะเริ่มลงมือที่ด้านนอกตัวอาคารเสียก่อน เมื่อปรับด้านนอกเสร็จก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ถึงเวลานั้นแล้วค่อยปิดทำการ ซึ่งก็จะพอดีกับโปรแกรมการแสดงที่จะหมดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลายคนสงสัยว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โรงละครจะปิดตัวเองลงเป็นการชั่วคราวนั้น บุคลากรที่ทำงานอยู่ในโรงละครแห่งชาติจะไปทำอะไรที่ไหน และการแสดงที่เคยเล่นที่เวทีโรงละครแห่งชาติ ระหว่างนี้จะไปแสดงที่ใด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า เรื่องบุคลากรไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจากส่วนใหญ่ในส่วนของการเดินตั๋ว เก็บตั๋ว ทางโรงละครแห่งชาติจะใช้เด็กจากวิทยาลัยนาฏศิลปเป็นผู้ทำ ดังนั้นเมื่อโรงละครปิดไปก็จะไม่ส่งผลอะไร เด็กนักเรียนก็เรียนไปตามปกติ จะมีบางส่วนจำนวนไม่มากนักที่เป็นข้าราชการและทำงานในโรงละครแห่งชาติ
"การทำงานในโรงละครแห่งชาติก็ถือว่าเป็นงานบริการประชาชน ดังนั้นข้าราชการเหล่านี้จะมีการส่งไปอบรมทักษะเฉพาะด้าน รวมถึงการบริการประชาชนเพื่อเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมระหว่างรอโรงละครซ่อมเสร็จ"
ส่วนเรื่องของการแสดงนั้นได้หาทางออกไว้แล้ว โดยจะมีโรงละครโรงเล็กที่อยู่ติดกับโรงละครแห่งชาติในกรณีเป็นการแสดงที่ไม่ใหญ่มาก แต่หากเป็นการแสดงชุดใหญ่ อาจจะย้ายไปเล่นโรงละครเครือข่ายที่จังหวัดนครราชสีมาและสุพรรณบุรี โดยอธิบดีกรมศิลปากรยืนยันหนักแน่นว่า การปรับโฉมครั้งใหญ่ของโรงละครแห่งชาติครั้งนี้ จะยังคงรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ด้านนอกเอาไว้ แต่ภายใน เมื่อเปิดม่านครั้งใหม่จะอลังการแน่นอน
เปิดใจขุนพลคู่เวทีโรงละครแห่งชาติ
...ในเมื่อเปิดประเด็นเรื่องโรงละครแห่งชาติแล้ว จะละเลยการพูดคุยซักถามความคิดเห็นของบรรดา "ขุนพลคู่เวที" คงจะดูกระไร ซึ่งแน่นอนว่านักแสดงที่จะสะท้อนภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดีที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ และ อ.ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลอมตะแห่งเวทีละครกรมศิลป์ ผู้ครองที่นั่งในดวงใจของแฟนละครมามากกว่า 30 ปี
ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ คณบดีคณะนาฏดุริยางคศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร และเป็นนักแสดงแถวหน้าผู้มีลีลาการรำที่อ่อนช้อยงดงามอย่างหาตัวจับได้ยากยิ่ง ผู้ขึ้นแสดงบนเวทีโรงละครแห่งชาติตั้งแต่ยังไม่ 10 ขวบดี จนวันนี้แสดงมากว่า 30 ปี ขึ้นเวทีมากว่า 100 ครั้ง ได้กล่าวถึงโรงละครแห่งชาติว่า เป็นสถานที่ที่รู้สึกผูกพันมาก สมัยเรียนก็เรียนวิทยาลัยนาฏศิลป (ชื่อเดิมของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) เรียนแต่ต้นจนจบ ทำงานก็รับราชการสังกัดกรมศิลปากรเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
เรียกได้ว่าชีวิตคลุกคลีกับกลิ่นอายศิลปะการแสดงแบบไทยๆ จนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผูกพันกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร และโรงละครแห่งชาติเป็นอย่างมาก
ครั้งหนึ่งที่เคยมีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการทุบโรงละครแห่งชาติทิ้ง แล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น เพื่อปรับภูมิทัศน์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ดร.ศุภชัยได้สารภาพความรู้สึกในขณะที่ทราบข่าวนี้ว่าใจหายมากๆ เพราะนอกจากจะผูกพันแล้ว ยังคิดไปถึงเรื่องการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน เช่นหากมีการแสดง ถ้าโรงละครอยู่ที่อื่น แล้วจำเป็นต้องใช้ผู้แสดงสนับสนุนซึ่งเป็นเด็กนักเรียนของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์แล้ว จะประสบปัญหาเรื่องการขนส่งนักแสดงมาซ้อม มาแสดงจริง เป็นเรื่องที่ยุ่งยากขึ้น
ส่วนกรณีการปิดปรับปรุงโรงละครแห่งชาติครั้งใหญ่นั้น คณบดีคณะนาฏดุริยางคศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กล่าวว่า เห็นด้วยเพราะโรงละครแห่งชาติถูกใช้มานานแล้ว ยังไม่เคยปรับปรุงครั้งใหญ่สักที ถือเป็นโอกาสดีที่จะปรับซ่อมแซมและเปลี่ยนบางอย่างให้ทันสมัยขึ้น แต่อยากขอฝากไว้ว่าตัวแบบสถาปัตยกรรมด้านนอกงดงามและดูมีความเป็นไทยอยู่แล้ว ไม่อยากให้ปรับจนเสียเอกลักษณ์ความเป็นไทยไป
ด้าน "ปกรณ์ พรพิสุทธิ์" พระเอกตลอดกาลแห่งกรมศิลป์กล่าวว่า "ปกรณ์" เกิดได้เพราะโรงละครแห่งชาติและถือว่าที่นี่คือบ้านหลังที่ 2 สำหรับการเตรียมปิดโรงละครนั้น รู้สึกเป็นห่วงแฟนละคร เพราะแฟนประจำส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งหลายคนเป็นแฟนเหนียวแน่น เช้าขึ้นก็หลับตาเดินมาโรงละครฯ ได้เลย หากโรงละครแห่งชาติปิดไป แม้จะแค่ชั่วคราว แต่ก็เกรงว่าแฟนคลับจะเหงา
สำหรับตัวนักแสดงคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก เนื่องจากยังสามารถเปลี่ยนไปใช้โรงละครเครือข่ายของกรมศิลปากรอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงละครสุพรรณบุรีหรือโรงละครนครราชสีมา
"หากย้ายการแสดงไปแล้ว ในระยะเวลาที่ปิดซ่อมแฟนละครจะตามไปดูได้หรือไม่ เพราะต้องเดินทางไกล ซึ่งการแสดงที่โรงละครแห่งชาติเปรียบเหมือนเป็นยาทางใจ ทำให้ท่านเหล่านี้อายุยืน ได้มาชมศิลปะการแสดงของไทย หากไม่ได้ดูก็อาจจะทำให้เฉาลงไป และอะไรที่มันหายไปนานๆ ก็จะทำให้คนลืม ส่วนนักแสดงก็อาจจะทำการแสดงสัญจรไปจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเคยทำกันมาก่อนหน้านี้"
สิ่งสำคัญที่พระเอกกรมศิลป์ฝากไว้คือ การปรับปรุงโรงละครแห่งชาติควรเป็นการทำให้ทันสมัยขึ้น ปรับปรุงระบบเทคนิค แสง สี เสียงให้สมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ลบล้างเอกลักษณ์ไทยของโรงละครฯ ให้หมดไป เพราะเวทีแห่งนี้เป็นความใฝ่ฝันของนักแสดงทุกคน
"จากคำบอกเล่าของศิลปินอาวุโสระดับชาติทุกท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลาขึ้นเวทีโรงละครแห่งชาติแล้วรู้สึกประหม่า แม้แต่ผมเองแม้จะขึ้นมาหลายรอบก็ยังรู้สึกตื่นเต้น บางครั้งต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เพราะที่นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ คือโรงละครแห่งชาติ ที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย ไม่เหมือนเวทีการแสดงอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์นี้จะอยู่กับโรงละครแห่งชาติตลอดไป" อาจารย์ปกรณ์อธิบายถึงความรู้สึกและความผูกพันที่มีต่อโรงละครแห่งนี้
********
บันทึกการเดินทางของโรงละครแห่งชาติ
โรงละครแห่งชาติของไทย นอกจากเป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ไม่ด้อยไปกว่านานาอารยประเทศแล้ว ยังเป็นสถานที่สำคัญซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่าศิลปินโขน ละคร ฟ้อนรำ และนักดนตรี จะต้องมีการแสดงออกซึ่งศิลปะให้เข้าถึงผู้ดูหรือผู้ฟัง ศิลปินจึงจำเป็นต้องมีสถานที่แสดงหรือโรงมหรสพ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่จากโรงละครแห่งชาติคือ ใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับบรรดามิตรประเทศ อันเป็นรากฐานที่จะทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
โรงละครแห่งชาติถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2503 โดยรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีมติเห็นชอบให้จัดสร้างอาคารขึ้นใหม่ เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ออกแบบโดย มจ.สมัยเฉลิม กฤดากร ตัวอาคารมีลักษณะเป็นคอนกรีตทรงไทยประยุกต์รูปตัวที หน้าบันประดับปูนปั้นนูนสูงรูปพระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งศิลปะ
ภายในอาคารตกแต่งรูปเทพเจ้าและรูปจำลองตัวละครไทย และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2508 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ไทยในวโรกาสพิธีเปิดโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2508 นับเป็นปฐมฤกษ์ของการดำเนินกิจการโรงละครแห่งชาติเป็นต้นมา
สำหรับที่ตั้งของโรงละครแห่งชาตินั้น อยู่บน ถ.ราชินี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตพระราชฐานชั้นนอกของวังหน้าตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดย "วังหน้า" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ และโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชพระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้ที่ดินแปลงเหนือถัดจากพระราชวังหลวงขึ้นมา สร้างเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล ครอบคลุมพื้นที่ในปัจจุบัน ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป
และเมื่อปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงแต่งตั้งพระอนุชา คือเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช และให้มีพระเกียรติยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานบวรราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และก็ได้ประทับอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลเช่นกัน และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบวรราชเจ้าที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงเชี่ยวชาญทั้งเรื่องปืน การสร้างเรือกลไฟ เรือรบ โปรดการทหาร การกีฬาดนตรี ตลอดจนการศึกษาภาษาอังกฤษ กรมศิลปากรจึงได้ให้ปั้นพระรูปพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเครื่องแบบทหารเรือ ประดิษฐานไว้หน้าโรงละคร เมื่อปี พ.ศ.2508 ด้วย