xs
xsm
sm
md
lg

'หนังสั้น' แตกต่างและท้าทาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'หนังสั้น'นับเป็นกระแสที่มาแรงในกลุ่มวัยรุ่นตอนนี้ ด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่และความท้าทายในการนำเสนอ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาสนใจมาทำหนังสั้นกันมากขึ้น

คุณอาจแปลกใจถ้ารู้ว่า ผู้กำกับชื่อดังของหนัง 'แฟนฉัน' และ 'ชัตเตอร์ กด ติดวิญญาณ' ล้วนเกิดมาจากการทำหนังสั้นทั้งสิ้น จึงไม่แน่ว่าหนังไทยรายได้เหยียบร้อยล้านในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจกำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกับหนังสั้นที่คุณได้ดูอยู่ตอนนี้


'หนังสั้น' เป็นคำจำกัดความของภาพยนตร์ที่มีความยาวไม่เกิน 30 นาที ซึ่งแรงจูงใจที่ทำให้มีผู้สนใจทำหนังสั้นกันมากขึ้นเพราะเป็นหนังที่ใช้ทุนสร้างค่อนข้างต่ำ เนื่องจาก ใช้ตัวแสดงน้อย ขั้นตอนการทำงานไม่ยุ่งยาก ผู้สร้างสามารถกำหนดโครงเรื่อง และวิธีนำเสนอได้โดยอิสระ เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องรายได้จากการขายงานมาเป็นตัวกำหนด

"มีเงินแค่ 500 บาท ก็สามารถทำหนังสั้นได้แล้ว ถ้าเราสามารถประหยัดงบต่างๆได้ เช่น ยืมกล้องถ่ายทำจากมหาวิทยาลัย ให้เพื่อนๆมาช่วยแสดง เวลาตัดต่อภาพก็ไปตัดต่อที่คณะ(คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ ของมหาวิยาลัยที่ศึกษาอยู่) ขอใช้ห้องตัดต่อของชมรมหนังสั้นได้ แต่หากต้องการงานที่มีคุณภาพก็อาจใช้งบประมาณหลักหมื่นขึ้นไป เพราะนอกจากบทและวิธีนำเสนอที่ดีแล้ว นักแสดง โลเกชั่น เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ล้วนมีผลอย่างมากต่อคุณภาพงาน" นักศึกษาซึ่งเป็นผู้กำกับหนังสั้นคนหนึ่ง บอก

อย่างไรก็ดี การสร้างงานที่มีคุณภาพอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้วงการหนังสั้นเติบโตได้ เพราะมีแต่ผู้สร้างแต่ไม่มีผู้เสพ ย่อมไม่มีแรงขับที่จะทำให้ผู้สร้างพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น 'ร้านหนังสั้น' ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนจตุจักร โครงการ 27 จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

ศิโรตน์ ตุลสุข ประธานชมรมหนังสั้น ผู้ก่อตั้งร้านหนังสั้น บอกว่า เนื่องจากสมาชิกในชมรมหนังสั้นซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนทำหนังสั้นและหนังอิสระมองว่าหนังสั้นซึ่งเป็นผลงานของคนทำหนังขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นไม่มีโอกาสได้ฉายตามโรงหนังทั่วไป ทำให้ผลงานเหล่านี้เป็นการสร้างและเก็บไว้ดูกันเองภายในกลุ่มคนไม่กี่คน ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นงานที่มีคุณภาพ ทางชมรมจึงเห็นว่าน่าจะเปิดร้านหนังสั้นเพื่อเป็นที่จำหน่ายและเผยแพร่ผลงานของผู้ที่มีความตั้งใจในการสร้างสรรค์งานเหล่านี้

"ทางชมรมเลือกคัดหนังสั้นที่มีคุณภาพในขั้นที่สามารถจำหน่ายได้มาทำเป็นวีซีดีขายที่ร้าน เราทำตรงนี้ไม่ได้หวังกำไร อยากให้เขามีที่เผยแพร่หนังมากกว่า และเพื่อให้คนทำหนังเหล่านี้มีรายได้กลับมาเป็นทุนสำหรับทำเรื่องต่อ ๆ ไปได้ โดยรายได้จากการขายจะถูกแบ่งเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งให้ผู้กำกับ อีกส่วนให้นักแสดง ให้คนตัดต่อ และแบ่งเข้าชมรมเพื่อพัฒนาเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือต่อไป

นอกจากนั้นทางชมรมได้มีจัด workshop เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำหนังมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ส.ค-ต.ค. นี้ ชมรมหนังสั้นก็กำลังจะเปิดอบรมหลักสูตร ทั้งการเขียนบท กำกับ ถ่ายทำ ตัดต่อ บันทึกเสียง จนถึงการจัดการกองถ่าย ก็มีเพื่อนๆในวงการมาช่วยกันเป็นวิทยากร"

ร้านหนังสั้นที่จตุจักร ดูจะได้รับเสียงตอบรับจากบรรดาคอหนังมากพอสมควร คนที่แวะเวียนมาดูและเลือกซื้อส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาและคนทำงานที่ต้องการหาความบันเทิงในรูปแบบใหม่ๆ วันที่เราแวะไป เราได้พบและพูดคุยกับ'ชมพู่' ลักษณาวดี คนสุงดี เจ้าหน้าที่ชมรมหนังสั้นซึ่งเป็นผู้ดูแลร้านหนังสั้น
'ชมพู่' บอกว่า " ร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อต้นปี 48 มีหนังหลายรูปแบบให้เลือกดู ส่วนใหญ่เป็นงานของนักศึกษามีทั้งแนวดราม่า สารคดี แอนิเมชัน เรื่องตลก รักกุ๊กกิ๊ก อีโรติก บู๊แอ็กชัน จนถึงหนังเศร้ารันทด แต่จำนวนหนังที่เอามาขายยังไม่มาก ตอนนี้มีแค่ 23 เรื่อง เพราะเราต้องคัดเรื่องที่มีคุณภาพจริงๆ อีกอย่างขั้นตอนการผลิตก็ค่อนข้างช้า เพราะทางชมรมฯมีบุคลากรน้อย การจะเอาหนังสั้นแต่ละเรื่องที่เป็นฟิล์มวิดีโอมาแปลงเป็นวีซีดีจึงค่อนข้างใช้เวลา

ในช่วงแรกหนังที่เอามาขายจะมีรางวัลการันตี ตอนนี้เรื่องที่ขายดีที่สุดคือเรื่อง 'Motrorcycle' ซึ่งกำกับโดย นายอาทิตย์ อัสสรัตน์ เรื่องนี้กวาดรางวัลมาเยอะนะ ทั้ง รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังนานาชาติชิคาโก และเทศกาลหนังนิวยอร์ค รางวัลชนะเลิศ (รัตน์ เปสตันยี ปี 2543) ของมูลนิธิหนังไทย ตอนนี้แต่ละเรื่องที่ทำออกมายังมีไม่กี่ก็อปปี้ เพราะต้องดูความนิยมของคนซื้อด้วย ก็ค่อยๆทำออกมาเรื่อยๆ ต่อไปหนังคงเยอะขึ้น"

ทั้งนี้ ปัจจุบันแวดวงหนังอิสระมีการขยายตัวมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในปีนี้ตัวเลขของผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดหนังสั้นไทยทั้งในส่วนของสถานีวิทยุชื่อดังอย่าง FAT Radio และ 'มูลนิธิหนังไทย' มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการจัดประกวดครั้งแรกเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ถึงหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแนวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือแนวดรามา และเรื่องตลกขบขัน ขณะที่หนังแอนิเมชันนั้นยังมีให้เห็นไม่มากนัก
จากกระแสหนังสั้นที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จึงเชื่อได้ว่า 'หนังสั้นของไทย' จะเติบโตและพัฒนาทั้งในด้านเนื้อหาและคุณภาพ และนับเป็นพัฒนาการหนังไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง

*********

คนทำหนังสั้น

บรรดาคนทำหนังสั้นต่างพูดตรงกันว่า เหตุที่ชอบงานด้านนี้เพราะสามารถสื่อสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ อีกทั้งอิสระในการนำเสนอนับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทำงานรู้สึกว่าเขาสามารถตอบสนองจินตนาการอย่างไร้ขีดกำกัด กลุ่มที่สนใจทำหนังสั้นมากที่สุดในตอนนี้ได้แก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านภาพยนตร์ เพราะนอกจากเขาจะได้ทำสิ่งที่เขารักแล้วยังนับเป็นความท้าทายที่ได้ลงมือผลิตภาพยนตร์ด้วยตนเองด้วย

'หมี่' อาทร สนธิศิริกฤตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า ด้วยความที่ชอบดูภาพยนตร์ เขาจึงเลือกเรียนในสาขานี้ เพราะใฝ่ฝันว่าจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของทีมสร้างภาพยนตร์ หมี่วางแผนว่าหลังจากจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรังสิตเขาจะเดินทางไปศึกษาด้านการถ่ายภาพที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาสร้างงานที่มีคุณภาพ

"การทำหนังสั้นทำให้ผมได้ประสบการณ์ตรงจากทำงาน เหมือนการเรียนถูกเรียนผิด เราสามารถนำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงในงานชิ้นต่อๆไป รู้ว่ามุมกล้องอย่างนี้ ภาพจะออกมาเป็นยังไง แล้วก็ทำให้ผมใจเย็นลงนะ เพราะการทำงานกับคนหลายๆคนทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น รู้จักพูด รู้ว่าควรจะสื่อสารกับเขาอย่างไร ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่าตัวเองก็สามารถทำหนังได้ รู้ว่าไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม"

ด้าน 'ณัฏ' ณัฏฐธร กังวานไกล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่า เขาทำหนังสั้นเพราะใจรักเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดจะยึดเป็นอาชีพ ซึ่งการทำหนังทำให้เขาเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นมากขึ้น

"หนังสั้นบางเรื่องเราสามารถทำงานคนเดียวได้ อย่างเรื่องความเป็นไปของชีวิตผู้คน เขียนบทเอง ถ่ายภาพ ตัดต่อ บันทึกเสียง ทำเองหมด ก็ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร แต่หนังส่วนใหญ่ทำคนเดียวไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีนักแสดง และถ้าเราทำคนเดียวหมด ถ่ายภาพเอง กำกับเอง เราก็จะไม่เห็นจุดบกพร่องบางอย่างขณะถ่ายทำ แต่ถ้ามีเพื่อนมาช่วยงานก็จะออกมาสมบูรณ์ขึ้น ผมทำหนังสั้นมาประมาณ 20 เรื่องแล้ว เรื่องที่ผมชอบที่สุดชื่อเรื่อง ‘ซาสี่’ คือมันเป็นหมาของผม มันตลกมาก เป็นหมาเพศเมียซึ่งไม่มีลูก มันคงรู้สึกโดดเดียว เลยไปขโมยลูกของหมาอีกตัวมาเลี้ยง (หัวเราะ) ก็คล้ายๆโฮมวิดีโอฮะ"

คนทำงานที่ชื่นชอบภาพยนตร์ ก็เป็นอีกกลุ่มที่สนใจเข้ามาศึกษาและผลิตหนังสั้นกันอย่างจริงจัง

'เก่ง' ทีฆะเดช วัชรธานินท์ ช่างเขียนแบบของ บริษัท แปลน อาคิเต็ด จำกัด บริษัทออกแบบชื่อดัง ด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์เขายอมทิ้งงานด้านสถาปัตย์เพื่อมาศึกษาการทำหนังสั้นและหันมาจับงานด้านนี้อย่างเต็มตัว

เขาเคยร่วมงานกับผู้กำกับมือรางวัลอย่าง 'เจ้ย'อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตั้งแต่เรื่อง 'ดอกฟ้าในมือมาร' , 'สุดเสน่หา' ในฐานะผู้บันทึกเสียง และ เรื่อง 'สัตว์ประหลาด' ในฐานะผู้บันทึกเบื้องหลังภาพยนตร์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารางวัลที่ 'ดอกฟ้าในมือมาร' ได้รับจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา รวมถึงรางวัลที่ 'สุดเสน่หา' และ 'สัตว์ประหลาด' ได้จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ล้วนเป็นผลงานที่ทีฆะเดชมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ด้วย

เขาทำหนังสั้นมาแล้ว 3-4 เรื่อง และล่าสุดกำลังทำภาพยนตร์ทดลองขนาดยาว เรื่อง Ordinary Romance ซึ่งจะนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 9 ในเดือน ส.ค.นี้

ทีฆะเดชพูดถึงการทำหนังสั้นในมุมมองของเขาว่า "เหมือนเราอยากจะพูดอะไรสักอย่างแล้วเราได้ออกไปตะโกน ได้บอกสิ่งที่อยากจะสื่อออกไป คือเราอึดอัดอะไรบางอย่างแล้วเราออกไปตะโกน สำหรับบางคนมันไม่มีความหมาย แต่สำหรับเรามันคือความสุขใจ"









กำลังโหลดความคิดเห็น