ใจกลางกรุงเทพฯ...ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
ชายคนนั้นยืนรออยู่นานแล้ว เขาขยับแว่นเล็กน้อยขณะที่ชายอีกคนเข้ามาหา กระเป๋าของชายคนนั้นถูกยกขึ้นมาแล้วเปิดออก เขาเองทำเช่นเดียวกัน
รอยยิ้มน้อยๆ ปรากฏอยู่ที่มุมปากของทั้งสองคน...แต่การกระทำนั้นตกอยู่ในสายตาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่าต้องมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว อาจเป็นการแลกยาเสพติด แลกของเถื่อน ฯลฯ ซึ่งเขาจะยอมให้เกิดขึ้นในห้างนี้ไม่ได้
ฝีเท้าไวเท่าความคิด ยามหนุ่มสาวเท้าเข้าหาชายสองคนขอตรวจค้น เสียงหัวร่องอหายดังขึ้น...
"โธ่ ! พี่ดูให้ดีนะ"
ชายคนหนึ่งกล่าว พร้อมเปิดกระเป๋า
"หา! เดี๋ยวนี้มีแบบนี้ด้วยเหรอ"
ยามเกาหัวแกรก ก่อนจะเดินกลับไปประจำที่ด้วยรอยยิ้มอายๆ เพราะเสียรู้ปล่อยไก่ให้ "นักสะสมกระป๋อง" สองคนที่เอาของมาแลกกันขำไปอีกนาน
- 1 -
"เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า" คำกล่าวของอาจารย์ เอนก นาวิกมูล แห่งบ้านพิพิธภัณฑ์ ดูจะเป็นประโยคอมตะ เมื่อพูดถึงการสะสมของสักอย่าง ซึ่งเราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า งานสะสมมีหลายประเภท ตั้งแต่ยอดฮิตอย่าง แสตมป์ เหรียญ โปสเตอร์ นาฬิกา กล้อง หรือของมูลค่าสูงเช่นรถยนต์ ก็มีการสะสมกัน ซึ่งใครจะเลือกอะไรก็สุดแล้วแต่ความชอบและความพร้อม
งานสะสมทุกชนิดมีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ มีแนวคิด ทั้งในตัวของวัตถุและประสบการณ์ที่ผู้สะสมได้รับ แน่ละ แต่การที่จะมีใครสักคนลุกขึ้นมาสะสม "กระป๋อง" อาจเป็นเรื่องแปลก เพราะกระป๋องน้ำอัดลมที่เปิดกินกันทุกวันนี้ ในสายตาคนทั่วไปดูจะมีสถานะเป็น "ขยะ" เสียมากกว่า ทั้งที่การสะสม "กระป๋อง" มีในบ้านเรานับสิบปีแล้ว
"ผมเป็นนักสะสมกลางเก่ากลางใหม่" ยุทธวงษ์ วงษ์ทอง นักสะสมกระป๋องที่รุ่นน้องจัดระดับเขาเอาไว้เป็น "ซีเนียร์" ของเมืองไทย กล่าวถึงงานสะสมตนเองที่ปัจจุบันคาดว่ามีถึง 3,500 ใบ นับตั้งแต่เริ่มต้นราว พ.ศ. 2542 หลายปีก่อนเขาก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่ซื้อน้ำอัดลมดื่ม หมดก็ล้างเก็บกระป๋องไว้ดู ไม่ได้สะสมจริงจัง แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นเมื่อเขาเดินจตุจักร
"เพราะมีร้านพี่โค้กที่จตุจักร เมื่อก่อนคนเก็บแต่ละคนเก็บที่บ้าน ไม่รู้ว่ามีคนเหมือน ไปเจอร้านพี่โค้กรู้สึกมีพวกเลยไปนั่งคุย ตอนนั้นราวปี 1992 โค้กออกกระป๋องชุดโอลิมปิก มีปัญหาว่าชุดนี้ออกมา 19 ใบ ต่างลายกัน กทม. หาไม่ได้แบบเดียว พี่เขาถามผมว่าแบบนี้มีไหม ผมบอกทั้งจังหวัดผมมีที่พี่เขาหาแบบเดียวเลย แกบอกรับซื้อใบละ 100 บาท นั่งกินให้หมด ล้างกระป๋องมาส่งแก อย่างตอนนั้นใส่ถาดมาส่งมา 24 ใบ ได้ 2,400 บาท"
กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ามาสะสมกระป๋องอย่างจริงจังของยุทธวงษ์ โดยเฉพาะโค้ก มีร้านของ "พี่โค้ก" ที่จตุจักรเป็นศูนย์กลาง
"ร้านพี่โค้กเหมือนเป็นสื่อ พอคนมากขึ้นพี่เขาออกเป็นวารสาร มีรูปของนักสะสม...เขาเหมือนกับคนที่มีโกดังรวบรวม รู้จักคนนั้นก็ขอให้หยิบมาให้ มาแลกเปลี่ยนกัน พื้นๆ มีค่ารถให้ หลังจากนั้นพี่เขายังออกหนังสือเล่มที่สอง ชมรมคนสะสมสิ่งนี้โตขึ้น สมาชิกมากขึ้น"
ตัวแปรสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ยุทธวงษ์เปิดโลกสะสมได้กว้างขึ้นคือ "อินเทอร์เน็ต" ที่เริ่มแพร่หลายในไทยเมื่อปี 1998 ซึ่งกลายเป็นตัวเร่งทำให้วงการสะสมกระป๋องต่างๆ ในเมืองไทยขยายวงกว้างออกเชื่อมกับชาวต่างประเทศ
"ตอนนั้นรุ่นเก่าเก็บของใครของมัน เก็บแต่ของไทย คนแรกที่ไปเคาะประตูคุยกับฝรั่งมีผมกับเพื่อนอีกสองคน คนหนึ่งเลิกไปแล้ว ภาษาอังกฤษไม่เท่าไร แต่การส่งอีเมลมีเวลาแปล ฝรั่งส่วนมากหา Partner ไทย จะได้กระป๋องไทย บางทีเรามีคนแลกสามชาติ เวลาหากระป๋องต้องเผื่อ สมมติโค้กออกลายมา 1 ชุด 19 ใบ เราเก็บ 5 ชุดก็หลายตังค์อยู่"
และอินเทอร์เน็ตนี่เองทำให้ยุทธวงษ์ได้ฐานข้อมูลจนมีความรู้แล้วสามารถทำงานอดิเรกได้อย่างมีจุดหมาย นับแต่นั้นบ้านที่สระบุรีของเขาก็กลายเป็นที่สถิตของกระป๋องนานาชนิดทั้งโค้กและเบียร์ จากสิบเป็นร้อย ร้อยเป็นพัน ถึงวันนี้เขาจึงมีชีวิตนักสะสมและประสบการณ์มากมายมาถ่ายทอดสู่นักสะสมรุ่นหลัง
"ผมหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วเก็บไว้ขนาดนี้ ทำให้กลายเป็นตัวเชื่อมระหว่างเก่ากับใหม่ รู้ว่าอะไรครบไม่ครบชุด กลายเป็นซินแส ต้องไปดูของคนอื่นที่บ้าน เพื่อบอกว่าของพี่ขาดกี่ใบ หรืออาจจะพี่โดนพ่อค้าแหกตา ฯลฯ ไปรู้จักคนอื่นๆ ในวงการ ไปบ้านคนนั้นคนนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ต่างจากสมัยก่อน"
และการเชื่อมประสานในโลกไซเบอร์นี่เอง ทำให้เกิดนักสะสมรุ่นใหม่ ธนิสร ชินวีระพันธุ์ หรือ แซม ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งจากอินเทอร์เน็ต รวมกับความสนใจส่วนตัวทำให้เขาเริ่มสะสม
"คนเก็บโค้กในประเทศไทยมีมาก น่าเกินกว่า 50% ต้องมีโลโก้นี้ในบ้าน ไม่ว่าจะแก้ว ถาด มันกลายเป็นของในบ้าน ผมเริ่มปลายปี 2000 ผมเป็นคนดื่มโค้กมาก พูดง่ายๆ ว่าติด ปลายปีไม่สบาย ไวรัสลงตับ หมอห้ามดื่ม 3 เดือนกว่า ตอนนั้นจ่ายค่าโค้กอาทิตย์ละพัน เดือนหนึ่ง 4 พันได้ เลยคิดว่าไม่กินก็เก็บ ก็หาความรู้ว่าเขาเก็บอะไรกัน ไปเดินตามห้างที่มีร้านขาย ตอนแรกเก็บของจุกจิกก่อน"
ก่อนจะสะดุดตากับกระป๋องโค้กที่วางขายอยู่บนมาบุญครอง "จำได้ว่าซื้อตอนเด็ก ถามราคาแล้วช็อก จำได้ว่าตอนออกใหม่ ราคา 9-10 บาท เขาขาย 500-600 บาท ช็อกยิ่งกว่าคือกระป๋องที่เราจับก่อนป่วยประมาณ 3-4 เดือน ตอนนั้นมีฟุตบอลยูโร 2000 โค้กออกเป็นเซต วางขายที่นั่นใบละ 30 กว่าบาท...เออมันมีอนาคต ถ้ามองการตลาด ต่อจากนั้นเก็บมาเรื่อย เข้าอินเทอร์เน็ตจนมีคนไทยส่งอีเมลมาทัก ก็ดึงมาเจอกันที่จตุจักร ก่อนมาเจออีกหลายคนทีหลัง"
สารภาพตามตรง เราเองก็นึกไม่ถึงว่าการสะสมกระป๋องได้ให้บางสิ่งกับผู้สะสมมากมาย อย่างที่ทั้งคู่พูดตรงกันก็คือเรื่อง "มิตรภาพ" ที่ได้กระป๋องเป็นสื่อกลาง อย่างประสบการณ์ของแซม
"ผมแลกเปลี่ยนกับฝรั่ง เริ่มเก็บต้นปี 2001 ปี 2002 ไปนิวซีแลนด์ ครั้งแรกที่หิ้วไปแลก (ก่อนหน้าส่งไปรษณีย์) ไปกับทัวร์ ไปบ้านซึ่งแค่รู้จักทางอีเมล วัดดวงว่าอยู่เมืองที่ไปพอดี...เขามารับที่โรงแรม กลัวโดนหลอกเหมือนกัน เขาพาไปเปิดห้องเก็บของเขา โอ้โห! ไม่น่าจะต่ำกว่า 6,000 ใบ เขาเก็บกระป๋องเบียร์เป็นหลัก โค้กนิดหน่อย นิดหน่อยนี่ 3,000 กว่าใบ แต่ละใบหายากมาก มิตรภาพที่เพื่อนต่างชาติให้ดีมาก ทั้งที่เจอกันแค่ในอินเทอร์เน็ต..." ซึ่งก็ไม่ต่างกับผู้สะสมก่อนอย่างยุทธวงษ์
"ผมรู้จักคนเก็บเยอะ...บางทีไม่รู้จักชื่อจริงเลยแล้วสนิทกัน บางทีนักสะสมฮ่องกงมาเที่ยวไทย ถามเบอร์โทร. คุยกระท่อนกระแท่น เราก็ดูแลเขา อยากไปซื้อของร้านโค้ก เอ้าไป แพงมั่ง โดนฟันมั่ง แล้วแต่ ให้ข้อมูลเขา เพราะโค้กไทยเวอร์กว่าฝรั่ง มันมีน้อย แถมคนที่เก็บเก่าๆ น้อย รีไซเคิลหมด พอไปส่งกลับ เขาถามเราว่าบ้านอยู่ไหน บอกไปทางเหนืออีก 200 กิโล นั่งรถ 2 ชม.เขาช็อก บอกว่าไปฮ่องกงบ้างจะพาเที่ยว ผมส่งแซมไป เขารับรองอย่างดี หลังๆ เขาก็บอกอยากเจอไปให้ได้ มิตรภาพสร้างขึ้นได้ ผมเจอคนดีๆ เยอะมาก"
ซึ่งแง่ไม่ดีก็มีอยู่เช่นกัน ทั้งสองบอกเราว่าหลายครั้งที่ส่งกระป๋องทางไปรษณีย์แล้วก็หายไป ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็อยู่ที่ความ "เชื่อใจ" ล้วนๆ
"เรื่องดีสำหรับการสะสมคือเพื่อน ถ้าคุณคิดเก็บประป๋องของทั่วโลก จะตามไม่ได้โดยปราศจากเพื่อน เพื่อนดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ถ้ามีเพื่อน เพื่อนคุณจะเก็บให้ ถึงเวลาส่งไปแลกกัน" แซมกล่าว
ส่วนผลพลอยได้สำหรับคนสะสมคือความรู้ กระป๋องเหล่านี้ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในโลกหลายเหตุการณ์ รวมถึงเหตุการณ์ในประเทศที่กระป๋องนั้นวางจำหน่าย เช่น โค้กบันทึกการจัดโอลิมปิกครั้งซึ่งตนเองเป็นสปอนเซอร์ลงข้างกระป๋อง หรือการที่เบียร์กระป๋องยี่ห้อ "ซาน มิเกล" ในฮ่องกงได้สื่อเรื่องราวของอนาคตฮ่องกงกับสินค้าตนเองในช่วงเปลี่ยนกลับสู่อ้อมอกจีนเมื่อหลายปีก่อน โดยบอกว่าจะก้าวไปพร้อมชาวฮ่องกง ซึ่งถึงวันนี้กระป๋องนั้นกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์แบบไม่ตั้งใจไปแล้ว
ของสะสมแน่นอนว่าวิธีเก็บรักษาสำคัญ พวกเขาเล่าว่ามีปัญหาทั้งพื้นที่และกับคนในบ้าน
"ต้องเป็นศัตรูกับทุกคนในบ้าน(หัวเราะ) เพราะไปรุกล้ำเรื่องพื้นที่ ถ้าบ้านกว้างก็โอเค ถ้าแคบจะติดที่หลักพัน อีกอย่างแต่ละคนโต บางคนเก็บแต่สมัยเรียน พอแต่งงานแฟนไม่ชอบ หรือแฟนชอบ มีลูก ก็ต้องหาที่ให้ลูก ตอนนั้นจะเลิก"
ยุทธวงษ์ยังกล่าวถึงข้อคิดต่อไปว่า "จุดน่าเศร้าคือการเก็บอาจมีกระป๋องระเบิด ของผมจะไม่โชว์ เพราะโดนแสงสีข้างกระป๋องจะซีด ปัญหาเรื่องที่เก็บเคยไปศูนย์การค้าที่เขามีกล่องก็เอากลับมาเก็บเหมือนถาด แล้วเขียนหมวด มาดูอีกทีกระป๋องโดนหนูเจาะ นี่คือก่อนเป็นมวย มีแมลงสาบมากิน ทั้งกลิ่นอะไรเต็มไปหมดครับ"
"คนเก็บใหม่ๆ จะซีเรียสว่าต้องเจาะน้ำออก เน้นรูเล็ก สวย แต่สักพักเอาไงก็ได้ ขออย่าบุบ แรกๆ ผมเจาะตูด แต่ผ่านไปไม่สำคัญ ถ้ามันหายากจะเปิดยังไงถ้าหายากก็เอาไว้ก่อน มันเป็นธรรมชาติ" แซมเสริมถึงการเก็บ
- 2 -
การสะสมกระป๋องมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก...
"ยุโรปสัมผัสไม่ถึง การไปแลกด้วยตัวเองมันไกลมาก จ่ายไปขาดทุนสุดๆ ถ้าเป็นจีน สิงคโปร์ ใกล้ มีโอกาสไป อย่างน้อยมีเพื่อนที่แลกในเน็ต ไปเยี่ยมกัน พร้อมจะจ่ายตรงนี้กัน ทางญี่ปุ่นมีรายใหญ่รายเดียว เพราะที่ดินเขาแพง เขาถามว่าเรามีเท่าไร เราบอก 2,000 เขาจับมือบอกเรารวย บ้านเราที่ถูกกว่า แค่เราจะให้เขาเก็บแล้วส่งมาแลกเขาก็เคือง เพราะคิดว่าทำไมต้องใช้พื้นที่ ดังนั้นจะไม่มีคนเทรด ฮ่องกงรู้จัก 3 คน ถือเป็นระดับท็อปไฟว์ ส่วนจีนจะเป็นคนรุ่นใหม่อายุเฉลี่ย 20 กว่า ที่สะสม" ยุทธวงษ์ให้ภาพ
"กัมพูชาไม่มีสะสม เวียดนามไม่มี ลาวไม่มี พม่าไม่มี มาเลเซียมีนิดหน่อย วงจรคนสะสมนี้เป็นยุง มีเก็บมานานแล้วเลิก พอเลิกก็มีคนใหม่ เปลี่ยนหน้าเรื่อยๆ บางประเทศเป็นแฟชั่น สิงคโปร์ตอนนี้ประสบวิกฤต น่าจะมีเหลือแค่ 1-2 คน เพราะสะสมเป็นแฟชั่น อย่างไทยตอนนี้กำลังนิยมฟิกเกอร์โมเดล
ผมไม่รู้ว่าน่าเกลียดไหมจะว่าแบบนี้ แต่ผมเองรู้สึกว่าบางที่เพิ่งมาเก็บเพราะกระแสแรง สิงคโปร์เก็บเมื่อ 8 ปีก่อน พอฟิกเกอร์มาคนเปลี่ยน คนขายของที่นั่นบอกว่าต้องเปลี่ยนจากขายกระป๋องโค้กเป็นตัวนี้เพื่ออยู่รอด อย่างนิวซีแลนด์มันมีคลับ มีการพบปะกัน มีมากที่เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ อิตาลี พวกฝรั่งน่าจะเป็นการสะสมขั้นเทพแล้ว" แซมเล่าเสริม
คนสะสมกระป๋องมีจุดอิ่มตัวเช่นกัน ซึ่งยุทธวงษ์เชื่อว่าวันหนึ่งจะมาถึง
"มันมีจุดเลิก พอรุ่นผมเลิกหมด หรือคู่เทรดต่างชาติหยุด หมดไฟ ผมเคยไม่จับทิ้งช่วงไปปีหนึ่ง ผมอาจเลิก...การคบแซมนี่เป็นการเติมไฟ แต่ถึงจุดหนึ่งคงตัดทีละส่วน พื้นที่มีบริหาร 2,000 ใบ เกินกว่านั้นคงขาย ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดเปลี่ยนที่แต่งงาน มีลูก จุดนั้นอาจทำให้เลิกไว"
ส่วนแซมเชื่อว่าตนยังคงเล่นของสะสมนี้ต่อไปอีกนาน
"ผมเทียบแล้วกิเลสเยอะกว่าชาวบ้าน เข้าเน็ตทุกวัน รู้ว่ามีอะไรจะมาใหม่ ประเทศมีเป็นร้อย เฉลี่ยแล้ว 2 อาทิตย์จะมีอะไรใหม่ ออกมาในประเทศหนึ่งแน่นอน"
ซึ่งเขาเลิกไม่ได้อีกสาเหตุหนึ่งคงจะมาจากความติดใจในมิตรภาพด้วย
"มีค่าทางใจหลายกระป๋อง บางทีได้แบบฟลุค ไม่ก็ได้จากเพื่อนให้มาเลย เป็นความรู้สึกดีๆ ผมจะจำรายละเอียดได้ทุกใบนะครับ...ผมว่าของแบบนี้เก็บคนเดียวไม่สนุก เก็บอะไรที่เราแชร์กับคนอื่นได้ยั่งยืนนานกว่า นั่งดูคนเดียวไม่มีเพื่อนมาแชร์ไม่สนุกหรอกครับ"
ก่อนยุทธวงษ์กล่าวปิดท้ายว่า
"ผมอยากฝากคนที่สะสมกระป๋องเรามี www.cokethai.com คนที่คิดว่าฉันเก็บคนเดียวในโลก ลองเข้ามาคุยกัน ถามกัน จะได้ช่วยกันแนะนำ"
แล้วสองคนก็นั่งสนทนากันท่ามกลางกำแพงกระป๋องโค้กยุคต่างๆ อย่างออกรสต่อไป...