คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "ปืน" เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกวิพากวิจารณ์มากที่สุดนับตั้งแต่กำเนิดขึ้นบนโลก อาจเพราะผู้ครอบครองมีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย ขณะเดียวกัน ผู้ไม่ได้ครอบครองกลับไร้อำนาจต่อรอง
การณ์เป็นเช่นนี้ "ปืน" จึงถูกควบคุมโดยรัฐมาตั้งแต่อดีต
พ.ศ.2548 "ปืน" ถูกพูดถึงอีกครั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ อันเนื่องจากความไม่สงบบางประการ โดยเฉพาะแง่ที่รัฐจะอนุญาตให้ใครสักคนครอบครอง ก่อให้เกิดคำถามในแง่วิจารณญาณ และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ตามไปดูกันว่า สมัยนี้หากใครสักคนอยากจะมีปืนเขาทำอย่างไร ตลาดอาวุธปืนบ้านเรามีการเคลื่อนไหวลักษณะไหน สุดท้าย... "ปืน" เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาความขัดแย้งจริงหรือ?
"ตลาดปืน" อดีตและปัจจุบัน
"คุณมีเงินแล้วซื้อที่ร้านเลยไม่ได้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากนายทะเบียนท้องที่ เขาจะถามประวัติ คุณต้องมีทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ทำงานอะไร แล้วเขาจะพิจารณาว่าเหมาะไม่เหมาะ สิทธิขาดอยู่ที่นายทะเบียน คุณอาจขอ .38 แต่เขาอาจมองว่า อย่างคุณแค่ .22 ก็พอ หรือเมืองนี้ไม่อนุญาตให้มีปืนก็จบ"
เป็นคำบอกเล่าจากเจ้าของร้านปืนแห่งหนึ่งซึ่งชี้ว่าใครสักคนอยากมีปืนไม่ง่ายเหมือนซื้อขนม
ปัจจุบัน หากใครเดินแถววังบูรพา ย่านที่มีร้านปืนมาชุมนุมมากที่สุดในกรุงเทพฯ ถ้าขี้สงสัยสักหน่อยก็อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ช่างเงียบเชียบอะไรเช่นนี้? เงียบขนาดที่คนดูแลร้านมีเวลาพอจะหยิบหนังสือพิมพ์สักเล่มขึ้นมาอ่านรวดเดียวจบโดยไม่มีลูกค้ามาขัดจังหวะ เป็นบรรยากาศร้านปืนปัจจุบัน ซึ่งว่ากันว่าต่างจากสมัยก่อนลิบลับ
"ยุคก่อนกฎผ่อนคลายกว่านี้ คึกคัก ตอนนี้เงียบเป็นปกติ ที่ร้านปืนมาชุมนุมแถวนี้เพราะเวลาก่อตัวเป็นการค้าแบบเอเชียทั่วไป สมัยก่อนปืนจะขายให้คนต่างจังหวัดโดยเฉพาะ คนกรุงเทพฯไม่ซื้อ ลูกค้าจะอยู่ในภาคเกษตร บ้านเราตอนนั้นเกษตรขยายตัว กำนันมาซื้อกัน เปิดร้านแต่ตี 5 รับรถไฟ เขามาแหล่งเดียวก็ได้หมด ทีหนึ่ง 50-60 กระบอก"
"ปืนพกเมืองนอกเข้ามาบ้านเราน่าจะสมัยก่อนเชื้อพระวงศ์ไปศึกษาต่อในยุโรปแล้วนำกลับมา คนศึกษาในตะวันตกจะรู้จักปืนสมัยใหม่แม้ก่อนหน้าปืนจะก็อกแก๊ก ในยุโรปตั้งแต่เกิดสงครามโลกก็มีการพัฒนา Hand Gun ขึ้น"
ถึงตรงนี้ใครนึกไม่ออก ลองจินตนาการเรื่องนายช้าง "เพื่อนต้น" ของรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับพระราชทาน "ปืนบราวนิ่ง" หรือ หนังไทยสมัยเก่าที่พระเอกจีบลูกสาวกำนันแล้วโดนพ่อตาไล่ยิง นั่นละคือภาพสะท้อนสังคมเกษตรยุคก่อนของบ้านเราได้ดีที่สุด
"การป้องกันตัวด้วยดาบเปลี่ยนเป็นปืน กองทัพพัฒนา ปืนแพร่หลาย จำไม่ผิดสมัยก่อนมีการขออนุญาตเช่นกัน ส่วนมากนายอำเภอให้ เพราะมีไอ้เสือต่างๆ คอยปิดตลาดปล้น นายอำเภอและกำนันจะหาทางป้องกันชุมชน สมัยนั้นถึงขนาดมียามตามตลาดตีระฆังแก๊งๆ ปืนขายดี นี่คือ 50 กว่าปีก่อน...มีอีกกลุ่มคือคนไม่มีเงินซื้อ โดยเฉพาะชาวจีนอพยพที่ไปอยู่ตามหมู่บ้าน (คนไทยชนบททำเกษตร คนจีนค้าขายในตลาด) ตามริมฝั่งแม่น้ำต่างๆ กลุ่มนี้อาศัยปืนไทยประดิษฐ์กระบอกละ 50 บาทไว้ป้องกันตัว"
มองในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า การพกปืนในบ้านเรามีมานานแล้วโดยเฉพาะชนบทที่กฎหมายไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ซึ่งผู้รู้บอกเราว่านั่นแหละเป็นยุคที่ปืนเถื่อนมีมากที่สุด และการหาปืนไว้ป้องกันตัวเป็นเรื่องปกติ "สมัยก่อนเจ้าของโรงสีก็มีปืนไม่งั้นโดนปล้นตาย ต้องดูแลตัวเอง"
แต่ไม่นานสถานการณ์ก็เปลี่ยน การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งเกิดในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการปราบของที่ขึ้นชื่อว่า "เถื่อน" อย่างหนัก ง่ายๆ OTOP อย่างสาโท ซึ่งขายได้ในยุคนี้ไม่มีสิทธิเกิด รวมถึงของเล็กๆ อย่าง "ปากกาจีนแดง" ก็ไม่ได้รับการยกเว้น
แน่นอน ประเด็นหลักของการปราบย่อมต้องการให้เมืองสงบ แต่หลักการที่แฝงอยู่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า "รัฐ" ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีมาตรา 17 สั่งประหารชีวิตคนได้ตามใจชอบ รัฐซึ่งปกครองด้วยความรุนแรงจะเสียสติให้ประชาชนธรรมดาหรือใครก็ตามมีอาวุธเพื่อต่อต้านหรือ?
"เริ่มแผน 1 เถื่อนทั้งหมดโดนปราบ เด็กชนบทเห็นตำรวจจับปากกาจีนแดงของเถื่อนทั้งหลาย...พวกหัตถกรรมเบื้องต้นที่มาของปืนเถื่อนโดนทำลายหมด...ตอนนี้คิดว่าแทบไม่มี เหลือบ้างก็ทางเหนือ เท่าที่ได้ข่าว อุทัยเมื่อก่อนมี แต่เดี๋ยวนี้ทำมีดโอท็อปไปแล้ว ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรมถูกทำลายไปหมด"
ผู้รู้ท่านนี้ยังอธิบายสภาวะธุรกิจปืนปัจจุบัน "10 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมโต ลูกค้าเปลี่ยนแล้ว กลุ่มที่ซื้อเป็นนักธุรกิจ...คนมีเงินเอาไปเล่นกีฬา บางส่วนโชว์ เหมือนเพชรพลอย บางคนมีเยอะ...กลุ่มที่ใช้ในแง่ป้องกันตัวจะน้อยลง..."
"ถามว่าปืนขายยากไหม ตอบว่ายาก...สมัยก่อนเปิดร้านต้องขอรัฐมนตรีมหาดไทย ตอนนี้ไม่ได้เพราะเขาไม่อนุญาต มีร้านขายเท่าไรก็เท่านั้น" เขายังบอกอีกว่า ในอดีตแต่ละร้านจะได้โควตาที่สามารถขายได้อย่างยืดหยุ่น ก่อนจะเข้มงวดมากขึ้น "สมัยก่อนสั่งแล้วสั่งอีกได้ กำไรกระบอกละพัน ถ้ารัฐว่าเยอะก็กำหนดโควตา ใหม่ๆ ร้านหนึ่งได้ 30 กระบอก หมดแล้วสั่งเพิ่ม ต่อมาก็เหลือปีละ 30 กระบอก แบบนี้ปืนจะแพงขึ้น...เจ้าของร้านก็ต้องกำไรสองสามแสนถึงอยู่ได้ มีโอกาสก็ทำธุรกิจอื่น...ทำร้านปืนนี่บัญชีหมูมาก เพราะรู้ยอดขายในแต่ละปีทันที"
การที่รัฐไม่มีนโยบายเปิดร้านปืนเพิ่ม ปัจจุบันสถานการณ์จึงมีแต่ร้านเก่าปิด ร้านที่เหลือขายต่อ บ้างก็โอนโควตาจากร้านที่ปิดมาใช้ ธุรกิจขายปืนปัจจุบันจึงเป็น "ธุรกิจที่ลงทุนต่อไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ให้"
"ที่เห็นนี่ทุกร้านได้ 30 กระบอกต่อปีสำหรับปืนสั้น ปืนยาว 50 กระบอก แบบนี้ 20 ปีแล้ว อยู่ได้เพราะปืนแพงขึ้น...บางคนไม่มีโควตาเดียว ก่อนปิดขอไว้ 5 บ้าง 10 บ้างขายกันไปมา มันอยู่ได้เพราะตลาดบล็อก บางร้านมี 50 โควตา เขาขายส่ง เราหมดของเราก็มีการซื้อขายภายใน การมีโควตารัฐให้เหตุผลว่าให้คนพกปืนน้อยที่สุด...ประเทศเราไม่อยากให้คนพกปืน แต่คนไม่พกรัฐก็ป้องกันเต็มที่ไม่ได้ ก็อยู่กันแบบนี้ บล็อกมากๆ ปืนเถื่อนก็มาก เพราะคนต้องการก็ดิ้นรน อยู่ที่รัฐในแต่ละยุคมอง"
เหตุที่ร้านปืนแถบวังบูรพาเงียบ ก็อาจมาจากการจำกัดโควตาขาย ซึ่งมีผลต่อจำนวนคนซื้อนั่นเอง
"ปืนพกถูกที่สุด 2 หมื่นกว่าบาท แพงก็ 5-6 แสน..เช่นปืน INFINITY 2 แสนกว่า นี่กว่าจะได้เป็นปี ต้องสั่ง ปัจจุบันปืนเป็นประดิษฐกรรมเหมือนชอปเปอร์ ปืนชั้นดีของโลกกระบอกเป็นล้านก็มี ตามแต่ใจคิดเลยเอาแบบไหน"
ถ้าใครสักคนจะมีปืน
อย่างที่เกริ่นข้างต้นว่า ปัจจุบันใครอยากมีปืนไม่ใช่ซื้อได้เลย ทางราชการมีขั้นตอนกรองอยู่หลายชั้น "เป็นอำนาจนายทะเบียน ไม่ให้คุณซื้อยังได้ คุณอยากได้ .38 แต่ให้ .22 ก็ได้เท่านั้น ร้านปืนขายตามใบ ป.3 ที่อนุมัติ ในใบนี้ระบุว่าปืนขนาดไหน อย่างไร จำนวนเท่าไร ไม่อย่างนั้นตัดบัญชีไม่ได้ ในแง่เอกสารเราตัดบัญชีตาม ใบ ป.3 ถ้าคุณไม่มีใบนี้ มีเงินพันล้านก็ซื้อไม่ได้..." เจ้าของร้านปืนยืนยัน
ส่วนเมื่อยื่นขออนุญาตซื้อแล้วนายทะเบียนจะอนุมัติเมื่อใดก็ยังไม่แน่ ปัจจุบันเขตกรุงเทพฯ หน้าที่เป็นของ "สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย" ที่ออกใบ ป.3 (อนุญาตให้ซื้อปืน) และ ป.4 (อนุญาตให้มี) เมื่อผู้ซื้อนำอาวุธกลับไปแสดง โดยเป็นอำนาจอธิบดีกรมการปกครอง ส่วนต่างจังหวัดเป็นของผู้ว่าฯ
"ต้องมาขอใบ ป.3 ถึงซื้อได้ ดูก่อนได้ในทางปฏิบัติ แต่เอามาครองเลยไม่ได้เพราะมาตรา 59 ของ พรบ.อาวุธปืน(2490) บอกต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน" เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งของสำนักการสอบสวนและนิติกรฯ ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามกล่าว "โดยสรุป กฎหมายปัจจุบันตัวเดิม แต่แก้จากในเขตกทม. เดิมบอกว่าอำนาจนายทะเบียนในการอนุญาตคืออธิบดีกรมตำรวจไม่ว่าพกหรือใช้ หลังปฏิรูประบบราชการปี 2547 มีการเปลี่ยนจากอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมาเป็นอธิบดีกรมการปกครอง โอนงานอาวุธปืนในกรุงเทพฯ ทั้งหมดให้เรารับผิดชอบ เริ่มทำจริงเมื่อ 1 ก.พ. 2548 แต่ตอนนี้เราไม่ได้งานส่วนนี้มาทั้งหมด ได้มาเฉพาะการอนุญาตมีใช้และเก็บ ยังไม่ได้รับมาคือใบอนุญาตพกพา..."
คำถามที่เกิดในสังคมคือ แม้จะมีขั้นตอน แล้วทางการมีมาตรฐานอย่างไร ตรวจวุฒิภาวะแค่ไหน เพราะจากการเก็บข้อมูล ภาวการณ์บ่งว่าการขอเป็นลักษณะ "ตามใจนายทะเบียน" บางเว็บถึงกับบอกว่าขึ้นกับ "น้ำมันม่วงเทา"
"เราดูหลายอย่างคร่าวๆ ประวัติ เคยมีคดีที่เป็นอาญาหรือไม่...เพราะปืนเกี่ยวกับความมั่นคง สองมีอาชีพมั่นคงไหม รายได้ประจำ มีเงินเดือนแน่นอน สาม มีคนรับรองตามกฎหมาย ข้าราชการต้องระดับ 6 ขึ้นไป ทหาร ตำรวจ คนรับรองต้องยศ พันเอก หรือ พ.ต.อ.ขึ้นไป" เจ้าหน้าที่ท่านเดิมไขยังข้อข้องใจ ต่อว่า "ที่ต้องดูรายได้เพราะใบอนุญาตต้องอ้างว่ามีเพื่ออะไร เช่น ป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน มีรายได้ประจำ หรืออาจไม่มี แต่มีทรัพย์ต้องป้องกัน บ้าน รถที่ตีราคาได้ คนมีอาวุธต้องยอมรับว่าเขามีกำลังซื้อ ปืนไม่ใช่สองบาท ขณะนี้ขนาดปืนที่ขอได้สูงสุดไม่น่าเกิน 11 ม.ม. จริงๆขึ้นกับนายทะเบียนว่าขอเพื่ออะไร เช่นถ้ารถคุ้มครองเงิน Securicor ก็อนุญาต ในที่นี้รวมกระสุนด้วย ซื้อใหม่ทุกครั้งต้องขอ กฎหมายตรงนี้คุมหมด"
ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าปัจจุบันนี้กระบวนการมีความรัดกุมระดับหนึ่ง "ถ้าหลักฐานไม่ครบก็พิจารณาอย่างน้อย 3 อย่าง ใบรับรองความประพฤติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ดูว่าใจร้อนไหม ขออนุญาตแล้วไปซื้อ ก็ต้องนำปืนกลับมาเพื่อออก ป.4 ซึ่งจริงๆ ใบอนุญาตที่ออกให้ก็ยังไม่สามารถพกปืนได้ มีเก็บได้เฉยๆ ที่ใส่รถตามกฎเขาต้องมีใบพก ป.12 (ซึ่งออกโดยตำรวจ) ถ้าไม่มีแล้วพกโดนจับต้องว่าในศาล...เพราะกฎหมายห้ามพกที่สาธารณะ ศาลจะถามข้อมูลมาทางนี้"
"ช่วงนี้เพิ่งรับงานมา เอกสารหลักฐานที่ตกค้างมีบางส่วน บางทีมีคนมาตรวจแล้วหาหลักฐานไม่ครบก็ไม่เข้าใจ อยากฝากว่าการขอปืนเป็นงานบริการ แต่ไม่ใช่บริการเร่งด่วน ยื่นวันนี้ได้วันนี้ ระยะเวลาครั้งแรก 45 วัน นี่เป็นความมั่นคง เป็นกฎหมายเฉพาะ ต้องใช้เวลา ตรวจสอบสิ่งต่างๆ ถ้าให้ง่ายๆ อาชญากรรมคงเต็มเมือง"
ซึ่งเขาก็ยอมรับว่า แม้จะกลั่นกรองหลายชั้นก็ยังมีหลุด "บางทียังพลาดต้องรอบคอบ จึงอยากให้เข้าใจว่ากระบวนการอาจช้าไปบ้าง เพราะถ้าตรวจแล้วหลักฐานไม่ครบ หรือคุณติดคดี เราทำอะไรไม่ได้จนกว่าคุณไปจำหน่ายคดีให้เรียบร้อย...ภาพเก่าๆ เรื่องใต้โต๊ะไม่อยากเอ่ย อยากทำตรงนี้ให้ดีขึ้น ดังนั้นอาจช้า ให้ร้านปืนมาทำก็ต้องเข้าคิว ไม่มีใครก่อนหลัง ต้องมายื่นปกติ บางคนบอกให้ช่วยคือให้ทุจริต ผมบอกไม่ได้ อย่างปืนสวัสดิการที่ห้ามโอนเพราะหลวงซื้อมาแบบไม่มีภาษี คนมักพยายามขายต่อ ปืนแบบนี้ใบอนุญาต ป.4 จะปั๊มห้ามโอนจำหน่าย ยกเว้นรับมรดก สมมติถ้าลูกอายุไม่ถึงมี 3 อย่าง ขายเอาเงินให้ทายาท เอาเงินเข้าหลวง หรือรอจนทายาทบรรลุนิติภาวะ ระหว่างนั้นเขาต้องส่งพนักงานเก็บ การขอตรงนี้ยืนยันว่าไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ ทหารตำรวจก็ต้องขอ เขาจะพกได้ต่อเมื่ออยู่ในหน้าที่ นี่คือตามกฎ แต่บางทีความจริงใครจะไปจับเขา ถ้าผู้รักษากฎหมายพกซะเอง"
ประชาชนควร "พกปืน" หรือไม่
"ยันครูแดนใต้พกปืนเป็นสิทธิส่วนบุคคล" (คม ชัด ลึก 12 ก.ค. 2548)
"ผัวซี 7 จ่อยิงเมียซี 7 ดับ แล้วยิงตัวตาม" (นสพ. กรอบบ่ายฉบับหนึ่ง)
จากพาดหัวข่าว คงพอเห็นภาพว่าการพกปืนเป็นประเด็นมาตลอด คนธรรมดาที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ควรพกหรือไม่? หลายกรณีที่คนพกซึ่งอ้างว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินมักใช้ปืนด้วยอารมณ์ทำร้ายผู้อื่น ไม่รวมกรณียิงกันเพราะรถปาดหน้าบนท้องถนนตามที่เป็นข่าว "ตอนนี้การควบคุมดีกว่าเมื่อก่อน...ถามว่าปืนราคาเท่าไร คนที่ก่อเรื่องไปดูเบื้องหลังส่วนมากมีอิทธิพล ต้องดูกรณี เอาอย่างนี้ ถ้าปืนไม่มีเลยบรรยากาศขับรถแบบนี้ผมคิดว่ามีเรื่องอยู่ดี...รถชนกับปืนคนละประเด็นน่าจะแยก เวลาเกิดข่าวเข้าใจได้ แต่เรื่องนี้มันเป็นมาก่อนสังคมจะเปลี่ยน 50 ปีก่อนยิงกันมากกว่านี้เยอะ ผมไม่เชื่อว่าคนธรรมดาปาดกันจะยิงกัน...ขับรถมันเป็นบ่อเกิดทุกสาเหตุ..."
"แง่ปรากฏการณ์นี่แก้ไม่ได้...ผมว่าเลิกไม่ได้ เชื่อเถอะชุมชนต่อชุมชนในสังคมไทย ไม่มีสิ่งป้องกันตัวไม่ได้ ยิ่งไม่มีคนเสียเปรียบยิ่งเสียเปรียบ เป็นความเห็น คนกรุงเทพฯ มีบ้าน ถามว่าป้องกันสิทธิส่วนตัวในบ้านได้จริงหรือ ขโมยขึ้นมีสิทธิอย่างเดียวคือแจ้งความยอมรับไหม...สมมติยอม...แล้วการเยียวยา? สังคมไม่มองต่อ คนไม่โดนไม่รู้หรอก...ยิ่งมีครอบครัวใครจะดูแลเยียวยาผม เชื่อว่าคนที่เคยแอนตี้มาซื้อปืนเพื่อแบบนี้มีมาก"
"คุณหรือผมก็ตอบได้ว่าโลกนี้ไม่มีปืนดีที่สุด สมัยก่อนโลกนี้ไม่มีดาบดีที่สุด สมัยโน้นไม่มีหอกดีที่สุด คนที่บอกมีอาวุธแล้วดีคือยุคบรรพกาลไว้ล่าสัตว์ แต่ตั้งแต่มนุษย์รุกรานกันมันไม่ดีทั้งนั้น..มีคำตอบคำถามมากมาย ในที่สุดไม่ต่างกับรถ มือถือ มีทั้งดีและไม่ดี รถทำให้คนตายมากกว่าสงครามอีก แต่มันเอาไว้เคลื่อนที่คนรู้สึกว่ายังไงต้องใช้ แต่ปืนยังไงก็ไม่ต้องใช้ ทั้งที่จริงๆ ตายเหมือนกัน อยู่ที่การมอง ปืนนี่โป้งขึ้นมาค่าของมันชั่วร้าย เป็นเสียงของปีศาจ"
"เรื่องให้ครูพกปืนพูดได้ทำไม่ได้ ง่ายๆ บอกให้เอาปืนเกษียณใช่ไหม ตอนนี้หน้าร้านขาย 50,000 สมมติเคยซื้อมา 5 พัน ...รัฐมนตรีบอกเอาปืนราคาถูก มือสองถูกๆ มาซื้อขาย ปฏิบัติไม่ได้ คุณซื้อมาหมื่นบาทจนคุณเกษียณ คุณขายหมื่นบาทไหม ถ้าปืนเก่าคุณมาให้ผม ผมให้ 2 หมื่น เพราะของใหม่ที่มามัน 5 หมื่นไม่มีมนุษย์คนไหนที่ซื้อ 5,000 ขาย 5,000 ไม่มีทางซื้อได้ถูก นี่คนละประเด็นกับเรื่องว่าพกดีหรือไม่ดี นี่สมมติอยากให้มีป้องกันตัว แต่ปืนมือสองถูกๆ หาที่ไหน... ต้องทำราคาตลาดปืนให้ลงมาก่อน ยกเว้นสั่งจากนอก...แค่ตรงนี้ก็ติดปัญหาแล้วครับ"
อาจารย์โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า "ไม่เห็นด้วย ผมเชื่อว่าถ้ามีปืนในสังคมมาก โอกาสที่คนหุนหันใช้ทำร้ายผู้อื่นจะมีมากขึ้น เวลาโมโหถ้าไม่มีอาวุธก็ตีกันซึ่งไม่เกิดผลเสียมาก แต่ถ้ามีปืนก็ยิงดื้อๆ ตายอย่างที่เป็นข่าว...ประเด็นว่าคนดีป้องกันตัวเองไม่ได้ ทุกคนบอกตัวเองดีทั้งนั้น ไม่มีใครบอกร้าย ถ้างั้นต้องพกกันหมด นี่ไม่ใช่ทางแก้ คิดว่ายิ่งพกจะเพิ่มความรุนแรง สมัยสงครามเย็นสหรัฐมีนิวเคลียร์ โซเวียตต้องมีเหมือนกัน แข่งกันไปเท่าไรจะพอ ปืนใครจะมีมันต้องมีจุดพอดี มันต้องเสี่ยงจริงๆ หรือมีเหตุผลสักอย่างก็ว่ากันไป แต่ถ้าพกกันแบบเสรีมันจะกลายเป็นเท็กซัส หรือสมัยแข่งขันสะสมอาวุธ ซึ่งก็ไม่มีผลดีเลย"
ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วคงต้องย้อนกลับมายังจุดที่ว่ามนุษย์เรา ปรารถนา "สงคราม" หรือ "สันติภาพ"
เรายอมรับว่า โลกนี้ แม้มีผู้ปรารถนาสันติภาพ แต่ก็มี "สงคราม" ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ผิดไม่ใช่หรือ ที่เราจะยังเชื่อใน "สันติภาพ" ระหว่างมนุษย์...
เหมือนที่จอห์น เลนนอน ร้องไว้ในเพลง Imagine เกี่ยวกับสันติภาพ
"You may Say I'm a dreamer . But I'm not the only one."