พูดถึงการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ หนึ่งในวิธีเก่าแก่ที่สุดย่อมไม่พ้นการเขียนข้อความลงวัสดุต่างๆ ให้ "ม้าเร็ว" ไปส่ง ซึ่งเป็นรากฐานของการเขียนจดหมายที่จะพัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
กางประวัติศาสตร์ดูเราจะพบว่า วิธีนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในโลกยุคโบราณ โดยมีม้า นกพิราบ และพาหนะต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย แต่ในด้านความเร็วนั้น กว่าจะถึงผู้รับก็หลายวันจนถึงหลายเดือน เป็นเช่นนี้กระทั่งการไปรษณีย์เจริญแพร่หลายในตะวันตกแล้วส่งผลไปทั่วโลกรวมทั้งสยาม...
ไปรษณีย์สยาม...อดีตสู่ปัจจุบัน
รุ่งอรุณการเขียนจดหมายของสยามเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเปิดประเทศค้าขายโดยเฉพาะกับอังกฤษที่ทำสนธิสัญญา(แกมบังคับ) ถึง 2 ฉบับ ความจำเป็นในการติดต่อเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีโทรศัพท์เหมือนสมัยนี้พวกเขาก็อาศัยเรือสินค้าเป็น "บุรุษไปรษณีย์จำเป็น"
หลักฐานการส่งจดหมายของไทยเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบขณะนี้ คือ จดหมายหมอบรัดเลย์ ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2378 ส่งไปบอสตันถึงสาธุคุณ Rev.R.Anderson ทางเรือสินค้า บนซองมีตราประทับ SHIP ดังนั้นจดหมายฉบับนี้จึงเขียนขึ้นหลังหมอศาสนาชาวอเมริกันถึงสยามได้เพียงเดือนเศษ (ถึง 18 กรกฎาคม 2378) การส่งครั้งนั้นกว่าจะถึงก็ใช้เวลาทั้งหมด 8 เดือน เทียบกับส่ง E-Mail สมัยนี้ ท่านผู้อ่านคงนึกออกว่าข้อความจะช้าขนาดไหนเมื่อถึงผู้รับ...
การส่งจดหมายสมัยแรก นอกจากมิชชันนารีและนักการทูต ก็มีในหมู่เจ้านาย คือ หนังสือพิมพ์แจ้งข่าวราชการ "Court" หรือ "ค้อต" พ.ศ.2418 ต่อมา พ.ศ.2419 ใช้ชื่อ "ข่าวราชการ" ผู้ริเริ่มคือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีฯ การทำจดหมายข่าวนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจ้างคนเดินส่งตามบ้านผู้บอกรับ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีฯ ทรงเรียกว่า "โปศตแมน" ทำจริงจังถึงกับมีการพิมพ์แสตมป์ 1 อัฐ เป็นพระสาทิสลักษณ์ (รูป) เจ้าฟ้าภาณุรังสีฯ คนรู้จักแสตมป์นี้ในชื่อ "ตั๋วแสตมป์ภาณุรังสี" ซึ่งถือว่านี่คือไปรษณีย์ระดับท้องถิ่น(Local Post) รุ่นแรกของบ้านเรา
ยุคสยามไม่มีกิจการไปรษณีย์ตัวเอง การดำเนินการตอบสนองจึงทำโดยสถานกงสุลอังกฤษ โดยรับจดหมายมารวมที่ป้อมหน้ากงสุล ให้ยามดูแล แล้วก็ส่งลงเรือไปที่ทำการไปรษณีย์ของอังกฤษในสิงคโปร์ (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายา) จากที่นี่ จดหมายจะถูกส่งไปยังยุโรป (ถ้าส่งอเมริกาเรือสินค้าจะนำไปรวมที่ฮ่องกงเพื่อส่งต่อ) การดำเนินการนี้ทำให้เกิดการนำแสตมป์ และวิธีการดำเนินงานไปรษณีย์แบบสิงคโปร์มาใช้ที่สถานกงสุลเป็นต้นแบบให้สยามต่อมา
จวบจน พ.ศ.2423...คำกราบบังคมทูลเสนอตั้งกิจการไปรษณีย์ก็มาจาก "เจ้าหมื่นเสมอใจราช" ซึ่งมีโอกาสตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ประพาสอาณานิคมดัตช์ (อินโดนีเซีย) และอังกฤษ (อินเดีย) แล้วเห็นกิจการไปรษณีย์ของอาณานิคมต่างๆ ซึ่งมีก่อนสยามไม่ต่ำกว่า 10 ปี ผลคือรัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยและทรงตกลงให้เตรียมการ 3 ปี (พ.ศ.2423-2426) โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีฯ ดำเนินการ
4 สิงหาคม 2426...กิจการไปรษณีย์สยามที่ "ไปรสะนียาคาร" ริมปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนครจึงเริ่มเปิดบริการและแสตมป์ชุด "โสฬศ" ออกจำหน่ายครั้งแรก มี 5 ราคา คือ 1 โสฬศ , 1 อัฐ , 1 เสี้ยว , 1 ซีก , 1 สลึง ก่อนต่อมาจะเพิ่ม 1 เฟื้อง (เป็นแสตมป์ทางการชุดแรกออกแบบโดยบริษัท Waterlow & Sons' Ltd. )
จากจุดเริ่มต้น กิจการไปรษณีย์สยามเจริญขึ้น มีการรวมกับกรมโทรเลขเป็น "กรมไปรษณีย์โทรเลข" ในปี 2441 ย้ายที่ทำการจาก "ไปรสะนียาคาร" ไปริมถนนเจริญกรุง ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม "ที่ทำการไปรษณีย์กลาง" ขยายสาขาสู่หัวเมืองทั่วประเทศ ผ่านการปรับองค์กรอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2519 เป็น "การสื่อสาร แห่งประเทศไทย" รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อนย้ายสำนักงานใหญ่ไปแจ้งวัฒนะ ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้มีความก้าวหน้าหลายอย่าง เช่น การประกาศรหัสไปรษณีย์ 5 ตัว (2525) ก่อนโดนแยกเป็น 2 บริษัทใน พ.ศ.2546 ส่วนไปรษณีย์ได้เป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริหารแบบเอกชนมีสถานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวง ICT
รู้จักไปรษณีย์ไทยผ่าน "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน"
พ.ศ. 2547...แดดเดือนกรกฎาฯทอแสงไม่จัดจ้าน ด้านหน้าที่ทำการพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ยากรสามเสนใน ถนนพหลโยธินคึกคักด้วยตลาดพระเครื่อง เราเดินเข้าไปก่อนถึงตัวตึกก็พบคนกลุ่มหนึ่งล้อมวงอยู่ กลางวงมีแค็ตตาล็อกจำนวนมาก สักพักจึงทราบว่าคนเหล่านี้คือ "นักสะสมแสตมป์" ที่มาแลกเปลี่ยนซื้อขายทุกวันเสาร์
สิ่งที่เกิดคู่กิจการไปรษณีย์ทั่วโลกคือแสตมป์ สำหรับนักสะสมแล้ว คุณค่ากระดาษแผ่นเล็กๆ นี้ไม่ธรรมดาเลย "การสะสมแสตมป์เป็นราชาของงานอดิเรกทั้งปวง" คุณลุงคนหนึ่งที่นั่งแลกเปลี่ยนแสตมป์เอ่ยปากด้วยความภูมิใจ ซึ่งปัจจุบันมีคนมากมายที่คิด เช่นนี้ จากการค้นคว้าในบ้านเราหลักฐานที่ชี้ว่ามีการสะสมแสตมป์เก่าที่สุดขณะนี้ปรากฏในหนังสือ "วชิรญาณวิเศษ" (วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ร.ศ.108 (2432) เล่ม 4 หน้า 108) ระบุ "ของเล่นต่างๆ" ที่คนนิยมในสยามคือ "1.ตั๋วตราไปรษณีย์ 2.ตราอักษรชื่อ ..."
เราอยากรู้ประวัติแสตมป์และกิจการไปรษณีย์มากขึ้น จึงเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ชั้นสอง ทำให้ทราบว่าแสตมป์ได้รับความนิยมมากสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะหลังมีกิจการไปรษณีย์ 6 ปี แต่ข้อสันนิษฐานของ นพ.พิพัฒน์ ชูวรเวช นักสะสมคนสำคัญของไทยตั้งข้อสังเกตว่า ยุคแรกเป็นชาวต่างชาติมากกว่า ดังปรากฏใน นสพ. Bangkok Times 17 พฤษภาคม ค.ศ.1883 (2436) เป็นโฆษณารับแลกแสตมป์สยามของชาวอังกฤษทั้งที่เจ้าตัวไม่อยู่ไทย นักสะสมไทยเพิ่งปรากฏตัวสมัยรัชกาลที่ 6 โดยหนังสือ "บางกอกปั๊ก" เล่มที่ 1 (2457) ลงโฆษณาร้านสยามแสตมป์กำปนี ประกาศรับซื้อขายแสตมป์โดยเจ้าของห้างเป็นคนสยาม
ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร มีการจัดแสดงหลายส่วนคือ นิทรรศการหมุนเวียน ส่วนห้องสมุดตราไปรษณียากร ส่วนให้บริการจำหน่ายและรับสมัครสมาชิก และส่วนที่น่าสนใจคือ นิทรรศการถาวร มีการแสดงประวัติ วิวัฒนาการของกิจการไปรษณีย์และแสตมป์ แสตมป์ไทยตั้งแต่ชุดแรก จนถึงปัจจุบันซึ่งนับได้เกินกว่า 700 ชุด
"แสตมป์แพงที่สุดน่าจะเป็น 'อัฐ' " เรานึกถึงคำคุณลุงนักสะสม ที่พูดถึงแสตมป์ชุดที่นักสะสมอยากได้ "อัฐ" คือแสตมป์ในชุด "โสฬศ" ซึ่งมีอยู่ 6 ราคา แต่ราคา 1 อัฐ พิเศษตรงมีปริมาณการใช้มากในสมัยนั้น เพราะต้องติดหนังสือราชกิจจานุเบกษาใช้ส่งสถานที่ราชการต่างๆ เมื่อใช้มากพิมพ์น้อยจึงหายาก ยังผลให้แสตมป์ดวงอื่นที่โดนแก้เป็นราคา 1 อัฐ เพื่อแก้ปัญหาพลอยหายากไปด้วย
"แสตมป์ชุดหนึ่งสร้างขึ้นต้องมีเหตุผล ไม่ใช่เห็นต้นไม้สวยก็เอามาทำ ต้องมีเหตุการณ์สำคัญเกิดจึงทำเป็นที่ระลึก" จักรชัย ยิ้มงาม อดีตหัวหน้างานพิพิธภัณฑ์ห้องสมุดตราไปรษณียากรสามเสนใน เคยบอกเราเช่นนั้น สอดคล้องกับ คุณหมอพิพัฒน์ ชูวรเวช นักสะสมแสตมป์คนสำคัญของเมืองไทยที่กล่าวกับเราว่า "การสะสมแสตมป์นอกจากได้มูลค่าเพิ่ม ยังได้ความสุข ความรู้จากแสตมป์ สมมติเกี่ยวกับวัฒนธรรมก็ต้องค้นแล้วว่าเกี่ยวยังไง ภาพทอผ้าก็ต้องค้นว่าผ้ามีกี่ชนิด ต้องเข้าห้องสมุด"
แสตมป์แต่ละดวงจึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ทำให้เราทราบว่าปัจจุบันไทยมีแสตมป์เกิน 700 ชุด ส่วนมากทำขึ้นในโอกาสพิเศษ นอกจากแสตมป์สำหรับใช้ทั่วไป นั่นหมายถึงมีเหตุการณ์สำคัญที่บันทึกไว้มากกว่า 700 เรื่องในรูปแบบแสตมป์ ตัวอย่างคือชุด "ที่ระลึก 14 ตุลาคม 16" (ชุดที่ 173) เพื่อระลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการล้มลง เกิดประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ , ชุด 100 ปีสี่นักเขียนไทย หรือชุด 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนที่กำลังออกวางจำหน่ายขณะนี้ โดยเป็นแสตมป์วงกลมดวงแรก
ถึงตรงนี้ทำให้พอเข้าใจว่า ทำไมนักสะสมจึงมีความสุข "ระยะแรกไทยสั่งพิมพ์ตราไปรษณียากรจากอังกฤษด้วยวิธี Engraved คือเอาทองเหลืองหรือโลหะมาแกะแล้วทำเป็นบล็อก ทำต้นแบบแสตมป์เช่นนี้ทีละดวงๆ เป็นแม่พิมพ์ วิธีการนี้ยุ่งยากซับซ้อน แต่ผลที่ได้คือลายเส้นสวยงาม ละเอียด แสตมป์ไทยที่ใช้เทคนิคนี้คือ "โสฬศ" และชุดแรกๆ เมื่อการพิมพ์วิวัฒนาการมากขึ้น ต่อมาจึงใช้วิธี Lithography คือเอารูปถ่ายลงบนแท่นหินอ่อนหรือทองเหลืองแล้วทำแม่พิมพ์ แต่ไม่ละเอียดเท่าเอนเกรฟ ปัจจุบันคือ Photo Gravure ถ่ายรูปที่ต้องการทำแสตมป์ลงบล็อคเลย คล้ายการผลิตหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน แต่งานหยาบ นอกนั้นก็มีวิธีการแบบอื่นๆ ย่อยอีก..." คุณหมอเฉลย
นอกจากสั่งอังกฤษ มีหลักฐานว่าไทยเคยสั่งพิมพ์จากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น อีกด้วย เพราะช่วงแรกเครื่องมือเราไม่ทันสมัย ผลิตออกมาไม่สวยเท่าปัจจุบัน "ช่วงแรกไม่มีโรงพิมพ์ ตอนนี้มีของบริษัทไทย-บริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง มีได้ 10 ปีแล้ว อีกที่ก็จันวานิชย์ ทำสวยกว่าฝรั่ง บริษัทนี้ยังพิมพ์ให้ลาวด้วย"
เป็นวิวัฒนาการทำแสตมป์ไทย ที่ทำเองใช้เองในประเทศแล้วยังส่งออกได้ด้วย!
เรื่องของบุรุษไปรษณีย์
พ.ศ.2428 เช้าตรู่...ท่ามกลางไอหมอกจากสายน้ำ บุรุษไปรษณีย์พายเรือส่งจดหมายตามบ้าน เป็นภาพชินตาสำหรับคนกรุงเทพฯ ขณะที่บนถนน บุรุษไปรษณีย์สะพายกระเป๋าใส่เอกสารตราครุฑใบโตพร้อมร่มญี่ปุ่นคันใหญ่เดินเท้าเปล่า (Bare Foot) หาผู้รับจดหมายตามหน้าซอง ซึ่งบางทีก็หงายหลังเพราะจดหมายที่ส่งเป็นการแกล้งให้คนรับเสียค่าปรับจนผู้รับไม่ยอมเถียงกันลั่นซอย นั่นเป็นภาพอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6
พ.ศ.2548...เรากลับมาที่พิพิธภัณฑ์นี้อีกครั้ง หลังปีหนึ่งผ่านไป ที่นี่ก็ได้รับการปรับปรุงสวยงามขึ้น และสาระสำคัญไม่น่าพลาดคือหุ่นจำลองบุรุษไปรษณีย์ยุคต่างๆ ที่ยืนตามจุดต่างๆ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์นำมาติดตั้งเพิ่มเติมจากปีก่อน เพราะนี่ก็ถือเป็นอีกสีสันหนึ่งของประวัติศาสตร์การส่งจดหมายไทย
"...ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนไทยแต่งตัวสง่าสู้บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้...ใช้เครื่องแบบสีน้ำเงินตั้งใจเลียนแบบตำรวจกรุงลอนดอน แต่ผ้าที่ใช้สีตกและหดตัว ทำให้ดูแล้วตลก..." Ernest Young ชาวอังกฤษที่อยู่สยามช่วง พ.ศ. 2441 เขียนถึงบุรุษไปรษณีย์สมัยนั้นใน "ราชอาณาจักรกาสาวพักสตร์" (The Kingdom of The Yellow Robe) ..."ที่ผมค้นคว้าสมัยก่อน บุรุษไปรษณีย์แต่งตัวโก้กว่าตำรวจ เพราะต้องเข้าห้างฝรั่ง ใส่โจงกระเบนถือร่มญี่ปุ่น เพียงแต่ไม่ใส่รองเท้า (ปี 2440 จึงใส่รองเท้า) เพราะถนนแฉะ แล้วก็เปลี่ยนแบบไปเรื่อย ระยะหลังนี่เองเครื่องแบบไม่ค่อยมีแล้ว" คุณหมอพิพัฒน์เล่าสอดคล้องกับบันทึก
บุรุษไปรษณีย์สยามเปลี่ยนการแต่งตัวครั้งแรกในปี 2478 เป็นเครื่องแบบสีน้ำตาลใส่หมวก ใส่รองเท้าสีดำยกเลิกการถือร่ม แต่ก็ยังคงสะพายกระเป๋าจดหมาย และเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2493 เป็นชุดข้าราชการสีน้ำตาลปล่อยชายเสื้อใส่หมวกและรองเท้าแบบเดิม ก่อน พ.ศ.2517 จะกลับไปใช้ชุดไม่ปล่อยชายเสื้อเหมือนสมัย พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการสื่อสารแห่งประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อปี 2546
"บุรุษไปรษณีย์เดินเก็บจดหมายจากตู้เหล็กสีเทาในชุมชน สมัยก่อนตู้เล็กๆ แขวนในชุมชนอย่างเยาวราช ร้านโชวห่วย ปริมาณจดหมายมีไม่มาก ร้านพวกนี้ขายแสตมป์และดูแลตู้ไปด้วย ส่วนสีแดงกับดำนี่เอามาจากอังกฤษ สีนี้เป็นสีที่นิยมใช้ทั่วโลก" นายแพทย์นักสะสมรำลึกอดีต
122 ปีแล้วที่บุรุษไปรษณีย์ไทยออกเดินทางพร้อมจดหมายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วยความตั้งใจ บางคนนอนบนถุงเมล์กองโตในโบกี้รถไฟ บางคนนอนเฝ้ากองจดหมายท้ายรถ บางคนถีบจักรยานส่งในชนบท เมื่อรับรู้เรื่องราวเหล่านี้แล้วทำให้ตระหนักว่า แม้จดหมายแบบเดิมไม่เร็วเท่าส่ง E-Mail แต่ความรู้สึกยามเขียน ความหมายจากแสตมป์ ความรู้สึกในซองจดหมายซึ่งผู้รับจะได้สัมผัสยามเปิดอ่าน ยังทำให้การเขียนไปรษณีย์มีเสน่ห์อยู่เสมอ...
เรียนรู้และสัมผัสอดีตของไปรษณีย์ได้ที่ “พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์” ใกล้บ้านท่าน...
********
* ทั่วประเทศยังมีพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้ 8 แห่งคือ โคราช ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ อุบลราชธานี และสามเสนใน (ซึ่งมีการปรับปรุงล่าสุด และทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่านมา) สำหรับสามเสนใน สามารถโดยสารรถไฟฟ้าลงสถานีสะพานควาย จะอยู่ทางซ้ายมือ เปิด วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 8.30-16.30 น.
* เอื้อเฟื้อข้อมูล น.พ.พิพัฒน์ ชูวรเวช , จักรชัย ยิ้มงาม อดีตหัวหน้างานพิพิธภัณฑ์ห้องสมุดตราไปรษณียากรสามเสนใน (ปี 2547)