เมื่อเอ่ยถึงย่าน "วังบูรพา" บรรดาคุณแม่ คุณป้าคงนึกไปถึงแหล่งโรงภาพยนตร์และห้างสรรพสินค้าสุดหรูในยุคอดีต อย่างเซ็นทรัลวังบูรพา ขณะที่คุณปู่คุณย่าคงไม่แคล้วต้องเห็นภาพงานเต้นรำแบบบอลรูม และจิ๊กโก๋รุ่นลายครามที่มักยกพวกตีกันจนเป็นที่มาของ "โก๋หลังวัง"
แต่ในยุคปัจจุบัน ชื่อของวังบูรพากลับมีภาพของตลาดค้าอาวุธปืนทดแทน เช่นเดียวกับละแวกใกล้เคียงอย่างบ้านหม้อ ที่แปรสภาพจากแหล่งปั้นหม้อ เป็นย่านค้าเพชรและเครื่องประดับ จนกระทั่งกลายเป็นแหล่งรวมเครื่องเสียง และอุปกรณ์อะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ในทุกวันนี้
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย และการปรากฏของร้านค้าอาวุธและกระสุนปืนในย่านนี้ วังบูรพากลับมีเรื่องราวความรักนับร้อยนับพันเรื่องซุกซ่อนอยู่ เรียกได้ว่าเป็นนาฏกรรมแห่งความรักท่ามกลางความรุนแรง เพียงแต่เป็นเรื่องราวที่ผ่านการจารึกโดยน้ำหมึกลงบนหน้ากระดาษ และนำเสนอในรูปแบบ "นวนิยาย"
ใน (ร้าน) นิยายมีเรื่องเล่า
กรุงเทพมหานคร , พ.ศ.2500
ย่านวังบูรพาในเวลานั้นก็คงไม่ต่างไปจากย่านสยามสแควร์ในเวลานี้ ที่เป็นศูนย์รวมของความทันสมัย, แฟชั่น และเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นเมืองกรุง
ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และร้านรวงทันสมัยผุดขึ้นมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นไทยที่ไม่ว่าในยุคสมัยไหน ก็ยังเป็น "กลุ่มเป้าหมาย" ที่มีกำลังซื้อไม่อั้น
เรียกได้ว่า ในเวลานั้นถนนทุกสายของวัยรุ่นไทยต่างมุ่งหน้ามาที่วังบูรพา
แม้ต่อมา ย่านวังบูรพาจะร่วงโรยไปตามกระแสวันเวลา ทว่ายังมีกิจการประเภทหนึ่งที่ไม่ล้มหายตายจากไปจากย่านนี้เช่นกิจการอื่นๆ นั่นคือ ร้านขายหนังสือเก่า โดยเฉพาะประเภท "นวนิยาย"
พ.ศ. 2548 ...
คุณลุงคนขับแท็กซี่สูงวัยพาเรามาจอดลงในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง หลังห้างเมอร์รี่คิง วังบูรพา บรรยากาศรอบๆ ค่อนข้างเงียบเหงา ผิดกับถนนใหญ่ที่รถราแล่นผ่านคึกคัก จุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่อาคารเก่าทั้งสองฟากถนนเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งเป็นร้านขายนิยายที่ยังคงเหลือในย่านวังบูรพา
นอกจากร้านแพร่พิทยาที่ปรับปรุงร้านให้ทันสมัย เช่นเดียวกับร้านหนังสือที่เป็นเชนใหญ่ๆ ทั่วไปแล้ว ร้านอื่นๆ ที่เหลือยังคงสภาพดังเดิม เหมือนเช่นที่เป็นมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ทั้งร้านดังอย่างบูรพาสาส์น,รวมสาส์น,คลังวิทยา,โอเดียนสโตร์ เป็นต้น
หน้าร้าน "คลังวิทยา" ยังมีชั้นโชว์กระจกแบบโบราณ วางหนังสือนิยายให้คนที่เดินผ่านไปมาเลือกชม ขณะที่ภายในร้านจัดเป็นชั้นหนังสือและโต๊ะขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละโต๊ะเรียงรายไปด้วยหนังสือนิยายทั้งใหม่-เก่า รอให้คอนิยายมาขุดค้นเจอทรัพย์สมบัติเล่มโปรดของพวกเขา
"นิยายส่วนมากก็จะลดราคาให้ลูกค้าทั้งนั้นล่ะครับ" เจ้าของร้านเอ่ยกับเรา เมื่อลองเดินดูรอบๆ ก็จะพบว่าหนังสือนวนิยายที่นี่ส่วนใหญ่แล้ว เป็นหนังสือเก่าเก็บ ค้างสต๊อก มิใช่หนังสือมือสองอย่างที่คิด ด้วยแต่ละร้านก็มักจะมีสำนักพิมพ์เป็นของตนเอง เราจึงเห็นนิยายของนักเขียนชื่อดัง ที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์เด่นๆ หลายเรื่อง อาทิ บทประพันธ์ของโสภาค สุวรรณ อย่าง ทานตะวันสีทอง,ทับตะวัน,คู่ขวัญ หรือของนักเขียนอมตะอย่างทมยันตี, กฤษณา อโศกสิน และนักเขียนแนวพาฝันขายดี ขวัญใจร้านเช่าหนังสืออย่าง วลัย นวาระ,จามรี พรรณชมพู หรือแม้แต่นักเขียนที่นามปากกาเริ่มห่างหายไปจากแผงหนังสือในช่วงหลังอย่าง นลิน บุษกร, เพชรน้ำค้าง, กรุง ญ ฉัตร, นันทนา วีระชน,จินตวีร์ วิวัธน์ ก็มีวางจำหน่ายในร้านแห่งนี้
โดยหนังสือค้างสต๊อกเหล่านี้มักเป็นประเภท 2 เล่มจบ ลดราคา 50% ส่วนเรื่องที่ขาดเล่มใดเล่มหนึ่งไปก็มักถูกโละไปอยู่ในกระบะลดราคา เหลือเล่มละ 25 บาท แต่ใช่ว่าจะมีแต่หนังสือเก่าเก็บ เพราะที่นี่ยังหนังสือนิยายใหม่ๆ ลด 20% ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอส่วนลดแค่ปีละ 2 ครั้งในงานสัปดาห์หนังสือฯ และงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ
ไม่เพียงนิยายสำหรับผู้หญิงอ่านเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีนิยายกำลังภายในหลากเรื่องหลายรสให้หนอนหนังสือที่เป็นคอนิยายกำลังภายในมาเลือกหาไปอ่าน เรียกได้ว่า ย่านวังบูรพาแห่งนี้ คือสวรรค์สำหรับคนรักนิยายอย่างแท้จริง
ยงยุทธ เธียรอนันต์สุข แห่งสำนักพิมพ์และร้านโอเดียนสโตร์ ผู้ที่ทำงานขายหนังสือตั้งแต่สมัยร้านตั้งอยู่ที่วงเวียนโอเดียน บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดนิยายย่านวังบูรพาในช่วงเวลา 40 กว่าปีในสายตาของเขาว่า
"คนมาซื้อหนังสือลดลง เพราะร้านค้ามันผุดขึ้นตามห้างเยอะ ลูกค้าร้านเราก็มีทั้งที่เป็นลูกค้าเก่าแก่และลูกค้าใหม่ๆ แต่มันก็ตกไปเยอะ คนรุ่นใหม่เขาไม่ค่อยรู้ว่าที่นี่เป็นย่านหนังสือนิยาย ก็ย้ายไปซื้อตามสยามสแควร์ ตามศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยมากกว่า" ทางสำนักพิมพ์จึงต้องปรับตัวตามตลาด โดยลดการจัดพิมพ์หนังสือนิยายลง
"สำนักพิมพ์ของเราพิมพ์หนังสือทั่วไป มีทั้งนิยาย สารคดี ส่วนใหญ่จะหนักไปทางตำราวิชาการระดับอุดมศึกษา หันมาเล่นทางนี้ เมื่อก่อนเรามีนิยายแต่เดี๋ยวนี้เลิกไปแล้ว คือเราไม่ได้มุ่งเข็มมาทางนี้ เปลี่ยนแนวไปทางวิชาการเสียมากกว่า นักเขียนนิยายที่เคยพิมพ์กับสำนักพิมพ์ของเราก็จะเป็นนักเขียนเก่าๆ อย่าง ว. ณ ประมวลมารค หรือ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ก็มี"
โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทางสำนักพิมพ์โอเดียนค่อยๆ ลดการตีพิมพ์และจำหน่ายนิยายนั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการแข่งขันกันสูงของแต่ละสำนักพิมพ์
"ช่วงหนึ่งมันไม่ค่อยมีเรื่องที่จะมาตีพิมพ์ แล้วนิยายถ้าไม่ดังก็ขายไม่ได้ ก็รอวันลดราคาเท่านั้นเอง แต่ละสำนักพิมพ์ก็แข่งกันตั้งราคาสูงๆ เพื่อที่จะได้มาลด เราไม่อยากไปแข่งขันตรงนั้น ก็เลยหาทางออกไปทางอื่น"
"นิยายปัจจุบันอย่างของ ก.สุรางคนางค์ฉบับที่พิมพ์กับเราที่ยังเหลือในสต๊อกอยู่ เรื่องที่ขายได้ก็เฉพาะเรื่องที่เอาไปทำเป็นละครทีวี ก็จะพอขายได้หน่อย แล้วก็พลอยดึงเล่มอื่นขึ้นไปด้วย ก็อย่างว่า…นิยายไทยมันก็แค่นี้แหละครับ ก็มีอยู่ไม่กี่เรื่อง อย่างทวิภพของทมยันตีก็ทำวนไปวนมา"
แม้ร้านหนังสือในย่านวังบูรพาจะลดราคาเกือบทุกเล่ม และยังจัดเทศกาลลดราคาเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน ที่เป็นช่วงปิดเทอมของเด็กนักเรียน แต่ทว่าผลจากการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ทำให้ยอดขายที่น้อยอยู่แล้ว ตกไปอย่างน่าใจหาย ยงยุทธเล่าว่าช่วงที่มีงานสัปดาห์หนังสือฯ นั้น ที่ร้านถึงกับเงียบเหงาไปถนัดใจ
"อนาคตตลาดนิยายที่นี่ก็คงมีแต่จะร่วงโรย ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้… มันหมดยุคสมัยไปแล้ว แถวนี้มันเงียบ มันไม่ใช่ที่ชุมชน เราก็อาจจะหันมาขายส่งเสียมากกว่า เพราะขึ้นห้างถึงจะขายดีแต่ต้นทุนมันสูง หนังสือนิยายเดี๋ยวนี้ขายลำบาก ถ้าคนไม่ติดละครทีวีก็ไม่อยากเสียเวลาอ่าน นอกจากคนอีกรุ่น รุ่นผู้ใหญ่หน่อย ถ้าเป็นเด็กก็อ่านเรื่องกำลังภายในบ้าง เรื่องแปลบ้าง ส่วนนิยายไทยถ้าไม่ดังจริงๆ จอด พิมพ์มาก็อย่างนั้นเพื่อรอวางขายถูกๆ ขายโละไปครั้งเดียวแล้วก็เงียบ ตอนหลังมันเป็นอย่างนี้"
เสียงจากคนรักนิยาย
หลายปีก่อน, เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในเมืองไทย มีการเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง แต่ดูเหมือนจะตรงกันข้าม เพราะปรากฏว่ามีชุมชนไซเบอร์สเปซหลายแห่งถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อพูดคุยเรื่องหนังสือหนังหาและการอ่าน การเขียนโดยเฉพาะ
หลายคนที่เกิดและโตทันยุคร้านหนังสือย่านวังบูรพาเฟื่องฟู จึงมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่นักอ่านรุ่นเยาว์
"ออฟฟิศบริษัทฯเก่าผมอยู่แถวนั้น ตอนพักเที่ยงเลยได้เดินซอกแซกแถวเวิ้งนครเขษมที่มีร้านหนังสือเก่าเยอะ เรื่อยไปจนถึงวังบูรพา สำเพ็ง พาหุรัด ร้านหนังสือแถวๆวังบูรพามีหนังสือดีๆ เก่าๆ มากมาย น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บูรพาสาส์น มีหนังสือเก่าของ สนพ.ดวงตา ที่หาจากไหนไม่ได้อีกแล้ว หลงเหลืออยู่บ้างประปราย.....ไปทุกที เจอทุกที บางเล่มไม่มีในงานสัปดาห์หนังสือด้วยซ้ำ" หนุ่มออฟฟิศที่ชื่นชอบการอ่านนิยายผู้หนึ่งเล่าถึงความประทับใจในร้านหนังสือย่านวังบูรพา
หญิงสาวที่ใช้นามว่า "นู๋เองค่ะ" แต่ประสบการณ์การอ่านไม่เด็กเหมือนชื่อนั้น ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้หนังสือเล่มโปรดเรื่อง "รุไบยาต" จากวังบูรพา
"หนังสือเล่มนี้ นู๋เองค่ะซื้อเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 จากร้านคลังวิทยา วังบูรพา ในราคา 35 บาท รู้สึกว่าจะเป็นการพบเห็นหนังสือโดยบังเอิญ ดีใจมากๆ ค่ะ กรมพระยานราธิปประพันธ์พงษ์ทรงแปลรุไบยาตฉบับนี้เป็นโคลงสี่สุภาพ มีฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งแปลจากต้นฉบับเดิม โดย Edward Fitzgerald หลายๆ ปีที่ครอบครองหนังสือเล่มนี้พยายามที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ค่อยจะทราบเรื่อง หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงหนังสือไม่กี่เล่มจากบ้านที่อยู่เป็นเพื่อนของนู๋เองค่ะที่โรงพยาบาล เมื่อคราวที่พักฟื้นหลังผ่าตัดที่โรงพยาบาล"
แม้แต่คนรุ่นที่โตมากับร้านหนังสือยุคตลาดนัดสนามหลวง มาจนถึงร้านหนังสือที่สยามแสควร์ในยุคแรก ก็ยังหลงเสน่ห์ร้านหนังสือในย่านเก่าแห่งนี้
"ตอนเป็นเด็กชอบไปสนามหลวง ขี่จักรยาน เดินดูแผงหนังสือมากมาย โตขึ้นก็ไปแถวสยาม ดวงกมล โอเดียนสโตร์ ร้านหนังสือที่เคยรักมากคือโอเดียนสโตร์ ธีรสาส์น ประมวลสาส์น บรรณกิจ นี่คือร้านที่พ่อเคยพาเดินครั้งแรกเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ตอนนี้เหลือร้านเดียวคือโอเดียนฯ แถววังบูรพา เห็นด้วยว่าร้านบูรพาสาส์นน่าสนใจมาก เวลาไปเดินแถวนั้น คือต้องตั้งใจไปดมกลิ่นย่านเก่าโดยเฉพาะ ช่วงหนึ่งเคยไปซื้อหนังสือนิยายฉบับกระปุกๆ ปกแข็งขนาดเล็กๆ น่ะ เล่มละ 15 บาท คลาสสิกดี เช่น คลังวิทยา โชคชัยเทเวศร์ รวมสาส์น โอเดียนฯ แต่ไม่ได้ไปแถวนั้นร่วมปีแล้ว"
จากความเก่ากลายเป็นความคลาสสิก และนี่เองที่ทำให้หลายคนยังแวะเวียนมาที่นี่ ถึงแม้ว่าความเจริญจะก้าวเข้ามาเปลี่ยนโฉมร้านหนังสือบางร้านที่พวกเขารู้จักไป
"แพร่พิทยาปรับปรุงใหม่ ติดแอร์ แต่บรรยากาศไม่เหมือนเคย สู้ร้านอย่างคลังวิทยาก็ไม่ได้ เวลาไปแถววังบูรพาต้องแวะไปดื่มกาแฟที่ ออน ล็อก หยุ่น ร้านนี้เป็นร้านกาแฟเก่าแก่แถวนั้น ดื่มแล้วได้บรรยากาศดีค่ะ"
"จำได้ว่ามีแพร่พิทยาที่โอ่โถงเอิกเกริกที่สุดในย่านวังบูรพา อารมณ์แปลงโฉม เหมือนไปเดินศึกษาภัณฑ์ที่แปลงโฉมแล้ว อารมณ์อาลัยอาวรณ์มีอยู่เยอะ แต่ไม่ได้แอนตี้ความทันสมัยอะไรเลย แค่สงสัยว่า เรามักต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราเก็บของเก่า เสริมของใหม่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้" แก้ว หรือนาม "แก้ว กังหัน" ตั้งคำถาม
แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนโฉมภายนอกไปอย่างไร ทว่าอีกหลายร้านก็ยังคงแก่นแท้ภายในคือ เจตจำนงที่จะขายหนังสือนิยายในราคาย่อมเยา เพื่อให้ความบันเทิงผ่านตัวอักษรแก่คนรักนิยาย… เป็นความบันเทิงฉบับกระเป๋าที่อยู่คู่นักอ่านไทยมาเนิ่นนาน