'ออเคสตรา' ถูกมองว่าเป็นดนตรีชั้นสูง การเสพศิลปะแขนงนี้ของคนไทยยังอยู่ในวงแคบ นักดนตรีระดับแนวหน้ายังมีอยู่ไม่มากนัก แต่ภาพเหล่านี้กำลังจะหมดไป ด้วย 'Thailand Philharmonic Orchestra' วงออเคสตราอาชีพวงแรกของไทยที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้น เป็นดั่งเชื้อที่จุดประกายไฟแห่งดนตรีคลาสสิกให้ปะทุขึ้นอีกครั้ง
การแสดงที่แน่นอนตลอดปี รายได้ประจำ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน คือแม่เหล็กที่ดึงดูดให้นักดนตรีฝีมือฉกาจหลากวัยหลายเชื้อชาติมารวมตัวกันเพื่อผลักดันให้วงออเคสตราของไทยก้าวสู่เวทีระดับโลก
เสียงไวโอลินและเชลโลสอดผสานอย่างอ่อนหวานก้องกังวานทั่วหอประชุมกองทัพเรือ เรียกเสียงปรบมือยาวนานจากผู้ชมการแสดงในงานเปิดตัว วงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา (Thailand Philharmonic Orchestra) เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน หลายเสียงต่างยังคงชื่นชมฝีมือของออเคสตราสายเลือดไทย
'ไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา' เป็นวงออเคสตราอาชีพที่เกิดจากแนวคิดของ รศ.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องการให้นักดนตรีออเคสตรามีงานประจำและรายได้ที่แน่นอน เพื่อที่จะได้มีเวลาฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือ ด้วยหวังที่จะสร้างวงออเคสตราแบรนด์ไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ
"วงออเคสตราของไทยในปัจจุบันนั้นยังไม่มีวงใดที่จัดว่าเป็นวงอาชีพนะ ส่วนใหญ่เป็นการรวมวงแบบเฉพาะกิจเพื่อแสดงโชว์มากกว่า อย่างวง Bangkok Symphony Orchestra ก็จัดเป็นวงกึ่งอาชีพ เพราะบรรดานักดนตรีประกอบอาชีพอื่นๆเป็นหลัก ที่ผ่านมานักดนตรีอออเคสตราของเราทำงานอยู่เบื้องหลัง คือเป็นวงแบกอัพให้ อย่างการแสดงเดี่ยวไวโอลินของ วานิสา เมย์ หรือการแสดงของ ริชาร์ด เครเดอมอง เด็กๆพวกนี้ก็ไปเล่นแบ็กอัพให้ เหมือนปิดทองหลังพระ แต่ตอนนี้เราจะออกมายืนอยู่ข้างหน้า เราจะทำให้นานาชาติเห็นว่าออเคสตราของเราก็ไม่แพ้ชาติอื่น" รศ.สุกรี ยืนยัน
นักดนตรีของไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิกฯจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 30,000-40,000 บาท โดยแต่ละเดือนจะมีการแสดง 4 โปรแกรม (1 โปรแกรม มีการแสดง 2 ครั้ง) ในการแสดงแต่ละโปรแกรมจะได้ค่าตอบแทน 10,000 บาท สำหรับตารางการแสดงจะเล่น 5 เดือน หยุดพัก 1 เดือน คือแสดงตั้งแต่เดือน พ.ย.-มี.ค. หยุดพักเดือน เม.ย. และทำการแสดงอีกครั้งในเดือน พ.ค.-ก.ย. หยุดเดือน ต.ค.
พุทธรักษา กำเหนิดรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในสมาชิกของวงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา บอกถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจเข้าร่วมวงนี้ ทั้งที่เธอมีรายได้จากการแสดงตามงานต่างๆครั้งละ 1-2 หมื่นบาท ว่า
" ฟิลฮาร์โมนิกฯเป็นวงคอเคสตราระดับประเทศ มันเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะตรงนี้มันเหมือนตัวแทนในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย หากมองในเรื่องรายได้หรือความมั่นคงในอาชีพแล้วการอยู่ในวงออเคสตราอาชีพที่มีงานประจำสม่ำเสมอน่าจะดีกว่าเป็นฟรีแลนซ์(freelance)รับเล่นเป็นงานๆไป เพราะมันมีความแน่นอนทั้งในเรื่องรายได้และเวลา เราสามารถวางแผนการทำงานได้ดีกว่า"
วงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิกฯ ประกอบด้วยสมาชิกหลากวัยหลายเชื้อชาติจำนวน 82 คน มีทั้งนักดนตรีที่ยังเรียนในระดับมัธยม ระดับอุดมศึกษา คณาจารย์ด้านดนตรี และนักดนตรีมืออาชีพ เป็นวงที่รวมเอานักดนตรีจากประเทศต่างๆเข้าไว้ด้วยกันมากที่สุดวงหนึ่ง โดยมีทั้งคนไทย และนักดนตรีฝีมือฉกาจจากชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี ออสเตรเลีย หรือลัตเวีย ซึ่งแต่ละคนต้องผ่านการคัดเลือกเข้ามาทั้งสิ้น โดยคณะกรรมการที่บริหารวงฯจะคัดเอาเฉพาะหัวกะทิเข้ามาร่วมงาน ดังนั้น เรื่องฝีไม้ลายมือคงไม่ต้องพูดถึง
" วงฟิลฮาร์โมนิกฯ ถือว่าเป็นวงที่มีความหลากหลายมาก มีตั้งแต่รุ่นเล็กอายุแค่ 14-15 ปี จนถึงรุ่นใหญ่อายุ 63 โดยสมาชิกในระดับมัธยมจะมาจากโครงการเตรียมอุดมดนตรี ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลายที่เตรียมความพร้อมด้านดนตรีให้เด็กซึ่งจะเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เด็กพวกนี้ก็มีอยู่ประมาณ 3-4 คน เพราะคัดเฉพาะเด็กที่มีฝีมือจริงๆ สำหรับระดับอุดมศึกษาจะเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางศิลป์ฯ
ส่วนมืออาชีพจะมีทั้ง อาจารย์ที่สอนดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และนักดนตรีจากภายนอก เช่น นักดนตรีของวงดุริยางค์ นักดนตรีจากวง Bangkok Symphony Orchestra ซึ่งกลุ่มนี้มีชาวต่างชาติอยู่เยอะ ตัววาทยากรก็เป็นคนญี่ปุ่น ที่เราจำเป็นต้องดึงนักดนตรีต่างชาติเข้ามาเพราะนักดนตรีที่เป็นคนไทยยังมีไม่พอ เรายังต้องพัฒนาฝีมืออีกเยอะ ระหว่างนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็จะเร่งสร้างบุคลากรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ " รศ.สุกรี กล่าวด้วยสีหน้าจริงจัง
สุวิชาญ กาญจนกฤต หรือ ชิม นักเรียนชั้น ม.6 โครงการเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำแหน่งทรัมโบน บอกว่า
"การที่นักดนตรีรุ่นเด็กอย่างผมต้องเล่นดนตรีร่วมกับนักดนตรีรุ่นใหญ่ๆ โดยเฉพาะนักดนตรีมืออาชีพนั้นเป็นสิ่งยากมาก เพราะฝีมือค่อนข้างห่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องดีสำหรับผมนะ เพราะเวลามีปัญหาหรือไม่เข้าใจตรงไหนเราก็เข้าไปคุยกับอาจารย์หรือพวกพี่ๆ เขาก็จะช่วยปรับให้ ทำให้ฝีมือเราพัฒนาขึ้น ถึงจะคนละวัย คนละภาษา แต่ก็จูนกันได้ครับ เพราะดนตรีมันเชื่อมได้หมด มีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นนักดนตรีจากประเทศลัตเวีย อายุ 60 กว่าแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่าแตกต่างนะ ถึงฝีมือจะคนละรุ่นกัน คอนดักเตอร์(conductor-ผู้ควบคุมวง) ก็จะคอยกำกับและปรับจูนดนตรีให้เป็นหนึ่งเดียวกัน "
ด้าน ดร.โจเซฟ โบว์แมน (Dr.Joseph Bowman) นักทรัมเปตมือหนึ่งของวงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิกฯ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาก่อนเข้ามาร่วมงานกับวงนี้ ว่า
"ผมอยู่เมืองไทยมา 2 ปีแล้ว และปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนวิชาทรัมเปตอยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกว่าที่จะเข้ามาอยู่ในวงฟีลฮาร์โมนิกได้ผมต้องก็ผ่านการคัดเลือกเช่นเดียวกับทุกคน ที่เลือกมาอยู่กับวงฟีลฮาร์โมนิกซึ่งเป็นวงออเคสตราของไทย แทนที่จะอยู่ในวงออเคสตราที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม เพราะเห็นว่าปัจจุบันที่สหรัฐฯมีวงออเคสตราเยอะแล้ว แต่ในไทยยังมีวงดนตรีแบบนี้ค่อนข้างน้อย และการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนก็แสดงว่าเขาเห็นความสำคัญของออเคสตรา"
ไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิกฯ ถือเป็นวงออเคสตราวงแรกและวงเดียวของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยในช่วง 5 ปีแรกรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ปีละ 20 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนในการบริหารจัดการวง อย่างไรก็ดีเงินจำนวนนี้เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่ไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิกฯ จำเป็นต้องใช้ในแต่ละปี ส่วนที่เหลือทางวงจะหารายได้จากการจัดแสดงมาสมทบ
สำหรับการแสดงของวงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา นั้น หลักๆจะเปิดการแสดงที่หอประชุมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งสามารถจุคนได้ 350 ที่นั่ง โปรแกรมละ 1 ครั้ง ส่วนอีกครั้งจะเป็นการจัดแสดงนอกสถานที่ อาทิ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือในสถานที่ที่เห็นสมควร
รศ.สุกรี บอกด้วยความมั่นใจว่า "เชื่อว่าภายในเวลา 5 ปี เราจะสามารถยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ เพราะจะมีรายได้จากการจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องไปหางานหรอก ถ้าฝีมือดีงานจะมาหาเราเอง ปกติที่วิทยาลัยจะมีการจัดการแสดงต่างๆอยู่แล้วทุกวัน วงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิกฯ ก็จะเป็นหนึ่งในนั้น ทางวิทยาลัยฯขายบัตรเข้าชมเป็นแพกเกจ เช่น บัตรราคา 5,000 บาท สามารถเข้าชมการแสดงต่างๆได้ 100 ครั้ง หรือค่าเข้าชมเฉลี่ยแค่ครั้งละ 50 บาท ซึ่งถือว่าถูกมาก อีกทั้งบัตรมีอายุถึง 2 ปี บัตรนี้จะเอาไปให้ใครใช้ก็ได้เพราะไม่ได้ระบุชื่อผู้ถือบัตร แต่หากจะซื้อบัตรเข้าชมเป็นครั้งๆไปก็สามารถทำได้ แต่จะมีราคาสูงกว่าซื้อเป็นแพกเกจ
นอกจากนั้น เรายังมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายซีดีเพลงที่เราจัดทำขึ้น เรากำลังจะนำเพลงไทยเดิมมาทำเป็นออเคสตรา ซึ่งมีตลาดอยู่แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตไทยในต่างประเทศ การบินไทยฯ องค์กรของรัฐ หรือเอกชน เวลาจัดงานเขาก็อยากเปิดเพลงแนวนี้เพราะมันดูคลาสสิก "
จุดเด่นอีกอย่างของวงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์โมนิกฯ คือจะนำความเป็นไทยมาเป็นจุดขายของวง โดยจะนำดนตรีไทยเดิมที่อยู่นับพันเพลงมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่และปรับให้เป็นออเคสตรา ซึ่งถือเป็นการสร้างความแตกต่าง และเป็นเสน่ห์ที่ออเคสตราชาติใดๆก็ไม่อาจลอกเลียนได้
เจมส์ เชอร์รี อาจารย์ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล สัญชาติสหรัฐฯ แสดงความชื่นชมแนวคิดนี้ว่าถือเป็นความชาญฉลาดของผู้บริหารจัดการวงที่นำความเป็นไทยออกสู่สากล โดยใช้ออเคสตราเป็นสื่อ
" ผมว่าดนตรีไทยเป็นดนตรีที่มีเสน่ห์นะ ในฐานะนักดนตรีถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผมที่ฟิลฮาร์โมนิกฯจะนำเพลงไทยเดิมเข้ามาผสมผสานกับดนตรีคลาสสิก และการนำเพลงไทยมาทำเป็นออเคสตราก็น่าจะเป็นจุดขายที่ดี ทำให้เราแตกต่างจากวงออเคสตราทั่วไป
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าวงออเคสตราในไทยอยู่ได้ยากเพราะความสนใจดนตรีแนวนี้ยังอยู่ในวงแคบๆนั้น ผมกลับมองว่ามันเป็นโอกาสนะ อย่างน้อยเราก็ได้พิสูจน์ฝีมือ และในเมื่อรัฐบาลสนับสนุน วงฟิลฮาร์โมนิกฯก็น่าจะมีโอกาสเติบโตและไปได้ไกล"
หากจะมองถึงเส้นทางข้างหน้าแล้ว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคนไทยที่ต้องการผลักดันให้ออเคสตราสายเลือดไทยก้าวไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาชาติ เชื่อว่าเป้าหมายที่หวังคงไม่ไกลเกินเอื้อม
********
'บางกอก ซิมโฟนี ออเคสตรา'
24 ปี บนเส้นทางดนตรีคลาสสิก
หากพูดถึงวงออเคสตราในประเทศไทยคงไม่มีใครไม่รู้จักวง 'บางกอก ซิมโฟนี ออเคสตรา' ( Bangkok Symphony Orchestra : BSO ) วงออเคสตราฝีมือเยี่ยมซึ่งมีอายุยาวนานถึง 24 ปี ท่ามกลางความบีบคั้นทางธุรกิจและกระแสดนตรีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ออเคสตราวงนี้ยืนหยัดมาได้อย่างไร
อัจฉรา เตชะไพบูลย์ กรรมการ และเลขานุการ มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เล่าถึงพัฒนาการของวงบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตรา ว่า บางกอก ซิมโฟนีฯ เกิดขึ้นเมื่อปี 2524 โดยมี วินัย ตุมรสุนทร (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ) เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมพลพรรคนักดนตรีที่มีใจรักออเคสตรามาร่วมกันก่อตั้งเป็นวง และขอให้ตัวเธอ(อัจฉรา เตชะไพบูลย์)ซึ่งเป็นคนที่ชอบดนตรีเหมือนกัน เข้ามาช่วยด้านการบริหารจัดการและผลักดันความฝันให้เป็นจริง โดยจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิในพระราชูปถัมภ์ฯ
จากช่วงแรกๆ บางกอก ซิมโฟนีฯ มีงานแสดงเพียงปีละ 4 ครั้ง มีคนดูแค่ร้อยกว่าคน เพราะสมัยนั้นความนิยมของผู้คนที่มีต่อวงออเคสตรายังน้อยมาก รายได้จากการจัดแสดงไม่คุ้มกับค่าเดินทางและค่าสถานที่ ค่าตอบแทนที่นักดนตรีได้รับก็เป็นเพียงค่าพาหนะเล็กน้อยๆเท่านั้น แต่จากฝีมืออันยอดเยี่ยมของบรรดานักดนตรีระดับมืออาชีพทำให้ชื่อเสียงของ บางกอก ซิมโฟนีฯ ขจรขจายไปทั่ว และมีงานเข้ามาไม่ขาดสาย จนปัจจุบัน บางกอก ซิมโฟนี มีงานแสดงปีละเกือบ 40 ครั้ง นักดนตรีมีรายได้ค่อนข้างสูง ชนิดที่เรียกว่ารายได้มากกว่างานประจำที่ทำอยู่ 3-4 เท่าตัวทีเดียว
"มาถึงวันนี้ได้ ต้องบอกว่าเป็นเพราะความอดทนของทุกคนจริงๆ เรามีความรัก อยากจะให้มันเกิด ก็เลยทนกระเสือกกระสนกันมาเรื่อย (หัวเราะ) บุคลากรของเราก็ยังคงเป็นนักดนตรีอาชีพและนักดนตรีที่อยู่ในสังกัดของหน่วยงานราชการ ทุกคนเขามีงานประจำอยู่แล้ว ตรงนี้ถือว่าเป็นงานพิเศษที่เขาทำด้วยใจรัก ตอนนี้ฐานะของมูลนิธิฯดีขึ้นก็มีค่าตอบแทนให้เขาพอสมควร
ปัจจุบันเงินทุนหลักๆของเรามาจากสปอนเซอร์ที่เห็นว่า บางกอก ซิมโฟนีฯ มีภาพที่ดี ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้สินค้าเขาได้ และอีกส่วนมาจากผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนของมูลนิธิฯ คือคนกลุ่มนี้เขาอยากสนับสนุนให้มีดนตรีดีๆในบ้านเรา เดี๋ยวนี้สถานทูตต่างๆก็สนับสนุนเราเยอะนะ เวลามีคอนเสิร์ตก็จะส่งศิลปินเก่งๆของประเทศเขามาร่วมแสดงกับเรา ทำมา 24 ปี ก็คิดว่าต้องมีสักวันที่มีคนเห็นสิ่งที่เราทำ" อัจฉรา เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
การแสดงของวงบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตรา มีทั้งที่มูลนิธิฯจัดแสดงและเก็บค่าเข้าชมเอง และงานที่ว่าจ้างเข้ามา ซึ่งก็มีหลายแบบ ทั้งงานอีเวนต์ของบริษัทเอกชน งานของสถานทูต จนถึงการแสดงดนตรีในสวน ขนาดของวงที่เล่นแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป มีตั้งแต่ 10 กว่าคน จนถึงเล่นเต็มวง 65-70 คน โดยวัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิฯคือต้องการเผยแพร่ให้คนทั่วไปรู้จักดนตรีคลาสสิกมากขึ้น
เลขานุการ มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ บอกว่า ปัญหาใหญ่ๆของวงออเคสตราในไทย มีอยู่ 3 ประการ คือ 1) ขาดแคลนนักดนตรีที่มีฝีมือ การพัฒนาจึงไม่ต่อเนื่อง 2) ขาดผู้สนับสนุน 3) คนไม่เข้าใจดนตรีคลาสสิก คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าออเคสตราเป็นดนตรีที่เข้าถึงได้ยาก
"ที่จริงบ้านเราผลิตบุคลากรด้านดนตรีออกมาเยอะนะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักเปียโน นักกีตาร์ หรือเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวงออเคสตรา ดนตรีหลักๆของออเคสคือเครื่องสาย เช่น ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส แต่ดนตรีประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยม ไม่ค่อยมีใครหัดเล่น เพราะมันเล่นยาก เมื่อบุคลากรมีน้อยการจะพัฒนาวงให้ทัดเทียมกับต่างประเทศมันก็ยากตามไปด้วย
ตัวแปรสำคัญคือเรื่องคุณภาพ และการที่จะสื่อกับสปอนเซอร์ให้เข้าใจ เพราะสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจดนตรีคลาสสิก ถามว่าออเคสตรามีคนดูไหม มีคนดูนะ แต่คนดูเลือกที่จะดูนักดนตรีที่มีฝีมือจริงๆ อย่าง ฮิลราลี ฮาน ที่เราเพิ่งจัดแสดงไปนี่คนดูเยอะมาก บัตร 1,500-2,000 บาท ขายหมดเกลี้ยงเลย ปัจจุบันคนฟังออเคสตรามีเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนนะ แล้วก็เชื่อว่าในอนาคตคนฟังเพลงแนวนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" อัจฉรา กล่าว
ขณะที่ วินัย ตุมรสุนทร กรรมการบริหาร มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ แสดงความเห็นว่า
"ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าดนตรีคลาสสิกคืออะไร คิดว่าออเคสตราเป็นดนตรีชั้นสูง บัตรเข้าชมน่าจะแพง จริงๆไม่เลยนะ บางกอก ซิมโฟนี แสดงครั้งหนึ่งราคาบัตรแค่ 300-1,000 บาท เทียบกับคอนเสิร์ตอื่นแล้วถูกมากนะ อีกอย่างบุคลากรบ้านเรามีน้อย เมืองนอกนี่เวลาวงออเคสตราเปิดรับสมัครนี่ รับแค่ 1 ตำแหน่ง มาสมัครกัน 50 คน ของไทยนี่เปิด 1 ตำแหน่งเหมือนกัน แต่ต้องลุ้นว่ามาสมัครกันบ้างเหอะ" (หัวเราะร่วน)
สำหรับแผนงานในอนาคตของ บางกอก ซิมโฟนี ออคสตรา นั้น เลขานุการ มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีฯ บอกว่า ต้องการให้วงบางกอก ซิมโฟนีฯ มีบุคลากรที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ทางมูลนิธิฯได้จัดตั้งโรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี (Bangkok Symphony Music School : BSS) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรี ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านดนตรีคลาสสิก นอกจากนั้นยังต้องการให้กองทุนที่สนับสนุนมูลนิธิฯมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีเงินทุนมากพอที่จะนำดอกผลที่เกิดขึ้นมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรและดำเนินกิจกรรมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
"แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นกับสปอนเซอร์และผู้มีจิตศรัทธาที่จะช่วยสนับสนุนเราด้วย" เลขานุการมูลนิธิฯ กล่าวตบท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม