xs
xsm
sm
md
lg

"สุนทรภู่"คนบางกอกน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
กรุงเทพฯ...รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

"น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายปทุมาอยู่ไหวไหว"

พลันที่เสียงติงแก้ไขกลอนหน้าพระที่นั่งท่อนนี้จบ พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้บทละคร "อิเหนา" ตอน "บุษบาเล่นน้ำ" ใช้ท่อนแก้ของนักกลอนหนุ่มนาม "สุนทรภู่" แทนที่จะใช้ของเสด็จทรงกรมอีกท่านหนึ่ง เชื่อว่ากวีผู้นั้นคงไม่คาดคิด ว่าต่อมาเหตุการณ์นั้นจะทำให้ชะตากรรมของเขาต้องตกระกำลำบากไปอีกหนึ่งแผ่นดินเลยทีเดียว !

                                        - 1 -

จะว่าไปแล้ว ชีวิตของ "สุนทรภู่" ไม่ต่างไปจากกวีรุ่นก่อนหน้านัก ทั้งความรักและความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ต่างก็แต่เรื่องของท่านยังคงมีเรื่องรอการสืบค้นอีกมาก ทั้งสถานที่กำเนิดรวมถึงเนื้อหาในงานชิ้นต่างๆ ซึ่งสื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยที่ท่านมีชีวิต (ร.1-ร.4)

หลายคนคงเคยเรียนสมัยเด็กว่าสุนทรภู่เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 รับราชการได้ดิบได้ดีทางงานประพันธ์จนเป็นที่โปรดปราน โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งคนชั้นหลังเล่าว่าสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรมสยามอีกยุคหนึ่ง

นั่นเป็นเรื่องราวที่บรรดาขาสั้นคอซองซึ่งเติบโตช่วงทศวรรษ 2500 น่าจะผ่านมาบ้าง อย่างน้อยหลายคนน่าจะเคยแต่งกลอนหรือแต่งคำขวัญส่งครู (ทั้งบังคับและไม่บังคับ) เนื่องในวัน "สุนทรภู่" (26 มิถุนายน)

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้จะมีการเรียนเรื่องสุนทรภู่ในสถานศึกษา แต่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาและการสอนของอาจารย์ภาษาไทยบางท่านดูเหมือนจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตมหากวีคนนี้น้อยเกินไป และส่วนเนื้อหาก็มักจะน่าเบื่อทำให้เด็กที่เรียนมักจะนั่งหลับสัปหงกไม่ก็เบือนหน้าหนีด้วยความเบื่อหน่ายเป็นประจำ

ทั้งที่ความจริงชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ยังมีเกร็ดน่าสนใจอีกมากมาย ตัวอย่างคือความรู้สึกรวมไปถึงสาระความรู้ซึ่งมักจะซุกซ่อนอยู่ตามบรรทัดในงานชิ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลอนแปด โคลง นิราศ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าสุนทรภู่เกิดมาเพื่อยุคทองของวรรณคดี (รัชกาลที่ 2 ) โดยแท้...

เหตุการณ์หน้าพระที่นั่งในย่อหน้าแรก แน่นอนว่าเป็นฝีมือ "สุนทรภู่" นักกลอนพระราชสำนัก บุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) และแม่ช้อย อันมีถิ่นฐานอยู่ที่บางกอกน้อย (เด็กรุ่นหลังอาจมีบางคนเข้าใจว่าสุนทรภู่เป็นคนระยอง ในความเป็นจริง สุนทรภู่เกิดที่บ้านใกล้กำแพงวังหลังแถวปากคลองบางกอกน้อยในกรุงเทพฯ นี่เอง)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความเป็นศิลปินแห่งโลกอักขระของสุนทรภู่นำภัยมาสู่ตัว เพราะเอาเข้าจริงสุนทรภู่ต้องผจญสิ่งที่เรียกว่า "ราชภัย" ตั้งแต่เกิดแล้ว...

                                        - 2 -

หลัง "ภู่" เกิดไม่นาน บิดามีอันต้องบวชที่ระยอง จากการสันนิษฐานของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ใน "บิดาสุนทรภู่อยู่ในสายตาของรัฐ..." (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือน พ.ย. 2545) สันนิษฐานถึงการจับตามองของชนชั้นปกครองโดยอ้างอิงงานของท่านส่วนหนึ่งที่ว่า

"...เป็นฐานานุประเทศธิบดี
จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม    เจ้าอารมอารัญธรรมรังษี
เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี             กำหนดยี่สิบวสาสถาวร


จึงสงสัยว่าอาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองบ้างกระมัง เพราะการที่ข้าราชการคนหนึ่งออกบวชและอยู่ในสายตาของรัฐโดยตลอดนั้นไม่ใช่เรื่องปรกติ..." ในทัศนะของอาจารย์ล้อม การที่บิดามารดาสุนทรภู่แยกกัน อาจมีสาเหตุไม่ธรรมดามากกว่านี้ซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดีชีวิต "ภู่" ที่วังหลังดำเนินไปตามอัตภาพ เติบโตท่ามกลางสังคมสยามที่ยังสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาอันงดงามได้หมดจด จากวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่ม ภู่จึงเชี่ยวชาญสันทัดทั้งสักวา เพลงยาว ในระดับที่แตกฉาน ข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 24 ฉบับที่ 8 ยืนยันความรอบรู้บวกความเจ้าชู้ของท่านโดยอ้างบางตอนของนิราศสุพรรณ ที่สุนทรภู่พูดถึงบ้านเกิดว่า

"วัดปะขาวคราวรุ่นรู้        เรียนเขียน
ท่าสูตรสอนเสมียน         สมุดน้อย
เดินระวางระวังเรียน        หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย     สวาทห้างกลางสวนฯ"


นั่นหมายถึงสุนทรภู่คุ้นกับชุมชนย่านคลองบางกอกน้อยละแวกตั้งแต่ปากคลองจนถึงวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน) ดี เพราะต้องเดินไปมา หลังสำเร็จจากการศึกษาแล้ว ก็ยังช่วยสอนเด็กแถวนั้นด้วย สุดท้ายยังแอบมีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับใครคนหนึ่งกลางสวนเลยทีเดียว

ความสันทัดกาพย์กลอนและความเจ้าสำราญนี้เองทำให้สุนทรภู่เจอภัยการเมืองเกือบทั้งชีวิต ครั้งแรกๆ เริ่มจากส่งเพลงยาวจีบข้าหลวงในกรมพระราชวังหลังชื่อ "แม่จัน" ซึ่งเมื่อทรงทราบก็กริ้ว (สมัยนั้นการทำเช่นนี้เป็นความผิดร้ายแรง) สั่งจองจำทั้งคู่ แต่ก็เป็นเวลาไม่นานนัก เนื่องจากกรมพระราชวังหลังทรงทิวงคตในปี 2349 สุนทรภู่ในวัย 20 ปีจึงได้รับการปล่อยตัวตามประเพณีโบราณพร้อมแม่จัน แต่ความรักก็ไม่สมหวังทันที เนื่องจากมีเหตุต้องเดินทางไปชลบุรี แล้วเลยไปเยี่ยมบิดาที่พลัดพรากกันมา 20 ปี (เป็นเหตุให้เกิด "นิราศเมืองแกลง" ขึ้น)

"จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา" ...ท่านว่าไว้อย่างนั้นใน "นิราศเมืองแกลง"

หลังกลับจากเมืองแกลงและแต่งงานกับ "แม่จัน" สุนทรภู่เกิดระหองระแหงกับคู่ชีวิตขึ้นมาอีก ยังไม่ทันคืนดีก็ต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ (พระโอรสองค์เล็กของกรมพระราชวังหลัง) ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีในปี พ.ศ. 2350 (นิราศเรื่องที่สอง "นิราศพระบาท" เกิดขึ้นในคราวนี้) เมื่อกลับจากไหว้พระพุทธบาทครั้งนั้นก็มีอันต้องแยกทางกับแม่จันทั้งที่มีบุตรด้วยกันแล้ว 1 คน นับว่าชีวิตช่วงนี้ค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ น่าเศร้าทีเดียว

ชีวิตและงานของท่านแยกไม่ออกจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่การที่จะสรุปว่างานของท่านส่วนมากเป็นงาน "ตลาด" มีแต่เรื่องความรักก็ดูไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไรนัก เพราะหากมองให้ลึก ช่วงชีวิตของสุนทรภู่ที่สำคัญก็คือสมัยรัชกาลที่ 2 และผลงานของท่านที่หากได้รับการค้นคว้าอย่างจริงจังแล้วจะสามารถกลายเป็นหลักฐานสำคัญบางอย่างที่หักล้างข้อกล่าวหาข้างต้นได้อย่างหนักแน่น

สุนทรภู่ได้รับราชการ สาเหตุสำคัญนอกจากความสามารถทางกาพย์กลอน ใครจะรู้บ้างว่าอีกส่วนก็มาจากความสัมพันธ์กับคนในชุมชนบางกอกน้อย เพราะสมัยนั้นละแวกพรานนกเขตติดต่อบางกอกน้อยยังเป็นแหล่งชาวละครนอกและคณะปี่พาทย์สำคัญ อย่างคณะนายบุญยัง (ละครนอกนายบุญ) ซึ่งช่วงวัยหนุ่มสุนทรภู่ได้รับการจ้างวานให้ไปเป็นคนบอกบทละครนอกเป็นครั้งคราว ดังปรากฏในนิราศสุพรรณช่วงหนึ่งที่ท่านว่าไว้

" บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง  คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน      พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน        แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า        พี่อ้าง รางวัล"

เข้าใจว่าความสามารถทางนี้ถูกใจทางราชสำนัก เพราะรัชกาลที่ 2 นอกจากทรงเป็นมหากวีแล้วยังสนพระทัยงานการละครอย่างยิ่ง เรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาว่าเป็นสาเหตุทำให้สุนทรภู่เป็นที่โปรดฯ ของรัชกาลที่ 2 ยิ่งนักคือคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ตอน "ศึกสิบขุนสิบรถ" โดยทรงพระราชนิพนธ์ว่า...

" รถที่นั่ง                              บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง          เทียมสิงห์วิ่งขวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน               พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

ทรงดำริตอนต่อที่จะสมกับที่แต่งไว้ใหญ่โตปานนั้นไม่ออก จึงรับสั่งเรียกสุนทรภู่...

"นทีตีฟองนองระลอก                กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท      สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน               คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"

นี่เป็นบทที่สุนทรภู่สนองรับสั่ง จนได้ตำแหน่งเป็น "ขุนสุนทรโวหาร" มีตำแหน่งเฝ้าแม้ในเวลาที่เสด็จประพาส ก็โปรดให้สุนทรภู่ทำหน้าที่พนักงานอ่านเขียนเวลาพระราชนิพนธ์บทกลอน

ช่วงรัชกาลที่สอง บรรดานักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นต้นเค้าเรื่องพระอภัยมณีในความคิดขุนสุนทรโวหาร อันเนื่องจากช่วงนั้นเกิดเหตุกบฏขึ้นและสมัยนั้นยังมีการส่งสมณทูตไปลังกาช่วงปี 2358-2359 ในตอนนั้นสุนทรภู่เสี่ยงราชภัยเพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกบฏด้วย ไมเคิล ไรท์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าจากโครงเรื่องพระอภัยมณีทำให้มีข้อน่าสงสัยว่าสุนทรภู่น่าจะเคยไปลังกา

จากการตรวจสอบหลักฐาน ไมเคิล ไรท์ เชื่อว่าแม้สุนทรภู่ไม่ได้ไปเอง "ก็น่าจะต้องเคยคบหาสมณทูตนี้, สนทนากับท่านอย่างสนิทสนม, และอ่านรายงานของท่านทุกชิ้น, ซึ่งบางชิ้นอาจจะสาบสูญไม่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน" เพราะเรื่องพระภัยมณีมีสภาพภูมิศาสตร์ในเรื่องพ้องกับฝั่งทะเลตะวันตกของอุษาคเนย์ (อันดามัน-มหาสมุทรอินเดีย โปรดดูข้อมูลละเอียดในศิลปวัฒนธรรมปีที่ 26 ฉบับที่ 3) อย่างกรณีอุศเรน เจ้าชายคนนี้ก็กลายเป็นฝรั่งไป ตรงกับความจริงที่ว่าตอนนั้นลังกาถูกยึดโดยอังกฤษ มีการปลดกษัตริย์และรัชกาลที่ 2 ทรงส่งสมณทูตไปเพื่อหยั่งเชิง

ไมเคิล ไรท์ เชื่อว่าสุนทรภู่เป็นคนโปรดของกษัตริย์ ความเป็นไปได้ที่จะทรงช่วยโดยให้หายตัวสักพักก็ไม่น่าเกินความจริง ทำให้สุนทรภู่นำฉากที่ไปเจอเหล่านี้มาเขียนพระอภัยมณีในภายหลัง ซึ่งทำให้กลายเป็นวรรณคดีสะท้อนเหตุการณ์การเริ่มต้นปะทะสังสรรค์ระหว่างตะวันตกและตะวันออกในอดีตได้ชัดเจน

                                          - 3 -

ชะตาของ "ขุนสุนทรโวหาร" ตกต่ำลงเมื่อสิ้นบารมีรัชกาลที่ 2 กรณีเคยไปทำเรื่องต่อหน้าพระที่นั่งโดยติติงแก้ไขกลอนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) เข้าก็ย้อนมาเป็นภัย มีเรื่องเล่าต่อว่า เมื่อรัชกาลที่ 3 ครองราชย์ยังกริ้วถึงกับตรัสสาเหตุว่า "เมื่อขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไว้ติหักหน้าเล่นกลางคัน"

สุนทรภู่ต้องบวชตลอดรัชกาลที่ 3 "ลี้ภัยการเมือง" เพื่อสามารถอาศัยร่มเงาพระศาสนาให้เจ้านายองค์อื่นที่ต้องการอุปถัมป์ตนทำได้โดยสะดวกใจ ระหว่างบวชนั้นเองท่านแต่งนิราศและสร้างผลงานสำคัญมากมายอันเป็นผลโดยตรงจากการจาริกไปตามหัวเมืองต่างๆ ก่อนจะมาจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามในปี 2383

"ราชภัย" ของสุนทรภู่จบลงเมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ เขาได้รับการอุปถัมป์จากพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ในเวลาต่อมา) ทรงโปรดให้สุนทรภู่ไปอาศัยอยู่พระราชวังเดิม ช่วงนี้ก็ยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ อีกว่าสุนทรภู่ยังไม่เข็ดราชภัย ด้วยอารมณ์ศิลปินยังแอบส่งเพลงยาวเกี้ยวกรมหมื่นอักษรสุดาเทพ (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 กับเจ้าจอมมารดาบาง) เลยทีเดียว พระธิดาองค์นี้รัชกาลที่ 3 โปรดจนถึงกับสร้างวัดเทพธิดารามให้ (รายละเอียดในศิลปวัฒนธรรมปีที่ 25 ฉบับที่ 8) งานสุนทรภู่หลายชิ้นมีจุดน่าสังเกตเกี่ยวกับกรณีนี้

สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ในปี พ.ศ. 2394 ขณะอายุ 65 ปี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ 69 ปี โดยไม่ได้โดน "ราชภัย" แบบกวีรุ่นพี่อย่าง "ศรีปราชญ์" หรือ "เจ้าฟ้ากุ้ง" แต่อย่างใด

                                             - 4 -

วันนี้มหากวีเอกของไทยจากไป 154 ปี แล้ว หากลองหันกลับมามองวงการกลอนบ้านเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าซบเซายิ่งนัก เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเท่าที่ควร ทั้งยังมีสื่อสมัยใหม่เข้ามาดึงความสนใจ เราจึงลองถามความเห็นของเด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งซึ่งตัวเขาเองนั้นสนใจงานด้านนี้มาตั้งแต่มัธยม จนถึงวันนี้ก็ยังคงใช้เวลาว่างจากการเรียนแต่งบทกวีสม่ำเสมอ "ที่เขียนกลอนเพราะสภาพแวดล้อมและความสนใจจากตัวเอง ประกอบกับมีคนส่งเสริม ให้กำลังใจ ไม่ยังงั้นแค่ตัวเองอาจไม่มีแรงฮึดพอที่จะอยู่กับมันได้นาน ตั้งแต่มัธยมผมโชคดี มีครูสนับสนุนให้ประกวดงานต่างๆ" สุระ พิริยะสงวนพงศ์ มือกลอนชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์บอกเรา

"รู้จักสุนทรภู่ตั้งแต่ประถม ตอนนั้นแค่เขียนกลอนแค่พอส่งครู ยังไม่คิดขนาดว่าโตขึ้นอยากแต่งกวี ซึ่งคงไม่มีเด็กคนไหนคิด เด็กจะคิดไม่กี่แบบ หมอ ครู ทหาร ผมเริ่มตอนมัธยมปลาย ครูเริ่มเห็นแวว สุนทรภู่อาจมีอิทธิพลโดยไม่รู้ตัว การอ่านแต่ละอย่างทำให้เราซึมซับทั้งรู้และไม่รู้ อิทธิพลจริงๆ ของผมคือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รู้ครับว่าท่านได้ต้นแบบบางอย่างจากสุนทรภู่ สุนทรภู่เป็นกลอนขนาดยาว ผมยังไม่มีความสามารถขนาดอ่านวรรณกรรมเล่มโตกลอนแปดเพียวๆ ได้ เพราะอ่านแล้วจะล้า แต่กลอนสั้นๆ ของอาจารย์เนาวรัตน์ย่อยมาแล้ว ตอนม.ปลายเชื่อว่าถ้าทำได้ดีถึงขั้น น่าจะสามารถทำอาชีพเลี้ยงตัวได้ แต่ตอนนี้มองๆ ชักคิดว่าถ้ามีฝีมือแต่ไม่มีปัจจัยอื่นก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน"

ซึ่งเขาคิดว่าสาเหตุมาจากหลายส่วน "อย่างคนอ่านสมัยนี้ หนังสือมีหลากหลาย คนเลือกได้มากขึ้น แต่ที่อ่านไม่ใช่กลอนแบบเดิม เป็นกลอนหวานสมัยใหม่ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นบทกวี บางคนอาจว่านี่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิวัฒนาการทางภาษา บางคนอาจมองว่ามันไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีความงามทางวรรณศิลป์ ไม่น่าจะเป็นบทกวี แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นครับแต่สิ่งนี้ไม่มีความงามทางวรรณศิลป์เพียงพอ"

"ผู้ผลิตหนังสือ ส่วนมากเดี๋ยวนี้คนทำหนังสือด้วยใจมีน้อย เพราะทำแบบนั้นมันอยู่ได้ยาก ก็ต้องอิงตลาด บทกวีที่จะตีพิมพ์ต้องคิดว่าขายได้ ขายไม่ได้เขาก็ไม่พิมพ์แม้ว่าจะดียังไง คนตัดสินคือเจ้าของโรงพิมพ์ ถ้าเขามองว่าทำแล้วไม่ได้กำไรก็อาจมองข้ามความงามทางวรรณศิลป์ทั้งหมดไป"

สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเขานั้น "สุนทรภู่สำคัญในแง่ที่ท่านเป็นครูกลอน โดยเฉพาะกลอนสุภาพ นักกลอนหลายคนยึดรูปแบบของท่านเป็นแนวการประพันธ์ ถือว่าเป็นกลอนที่สามารถยึดเป็นกลอนครูได้ ผมว่าแนวคิดที่ท่านส่งผ่านมายังไม่เท่ารูปแบบที่วางเอาไว้ให้คนรุ่นหลังครับ"

                                                ****
24 มิถุนายนนี้ มีงาน "ชุมชนบางกอกน้อย เปิดถิ่นฐานบ้านเกิด มหากวีกระฎุมพีสยาม สุนทรภู่อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ที่บริเวณรอบลานพระอุโบสถ วัดอมรินทราราม (หลวงพ่อโบสถ์น้อย) ปากคลองบางกอกน้อย สถานีรถไฟธนบุรี ตั้งแต่เวลา 9.00-19.00 น. มีนิทรรศการ การเสวนาทางวิชาการและการแสดงต่างๆ มากมายของชุมชน โดยสามารถเข้าชมได้ฟรี สอบถามได้ที่ โทร. 0-2411-0576






กำลังโหลดความคิดเห็น