ในโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ หากจะหาใครสักคนหนึ่งที่สามารถผูกใจผู้คนเอาไว้ได้มากมาย เราคงนึกชื่อต่างๆ ได้ไม่ถึง 100 ชื่อ แน่นอน บุคคลเช่นนี้หายากนัก...
แต่คนที่เรากำลังพูดถึงเป็นหนึ่งในบุคคลประเภทนั้น เธอยังคงมีลมหายใจ เป็นตำนานที่ยังมีชีวิต เป็นตำนานซึ่งผู้รักประชาธิปไตยและสันติภาพทั่วโลกต่างพากันค้อมหัวคารวะให้ด้วยศรัทธา เช่นเดียวกับประชาชนพม่าอีกนับสิบล้านคน....ออง ซาน ซูจี
ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ออง ซาน ซูจีจะมีอายุครบ 60 ปี
- 1 -
นับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 (พ.ศ.2531) หรือที่ชาวพม่ารู้จักกันดีในนาม 8-8-88 นั้น ชื่อของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้ปรากฏขึ้นมาอย่างโดดเด่น ในฐานะศูนย์รวมจิตใจและสัญลักษณ์อันสำคัญของการต่อสู้กับเผด็จการในพม่า ซึ่งตอนนั้นอยู่ในคราบของ "พรรคโครงการสังคมนิยม" (The Burma Programme Party - BSPP) ซึ่งปกครองประเทศมานานถึง 26 ปี
ปีนั้น ออง ซาน ซูจี วัย 43 ปีเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อดูแล ดอว์ ขิ่น จี มารดาที่กำลังป่วยหนัก นับจากนั้น ความลงตัวของประวัติศาสตร์ ความเป็นลูกของนายพลอองซาน (ผู้ปลดแอกพม่าจากการเป็นอาณานิคม) ภารกิจที่เธอตระหนักต่อแผ่นดิน ซูจีเลือกต่อสู้อำนาจเผด็จการโดยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2531 อันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดการปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง เพื่อขอให้ตั้งกรรมการอิสระแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
นับจากนั้น ชื่อ ออง ซาน ซูจี ก็เป็นที่รู้จักทั่วโลก การเรียกร้องของเธอในคราวนั้นไม่ได้ทำให้เผด็จการในพม่าสำนึกแต่อย่างใด กลับตั้งสิ่งที่เรียกว่า "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือที่สังคมโลกรู้จักกันดีในนามสลอค (The State Law & Order Restoration Council - SLOC) ขึ้นเพื่อคุมสถานการณ์ที่ทำท่าบานปลายออกไป
ซูจีจึงร่วมกับสหายเก่าแก่ของบิดาและหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ "เอ็นแอลดี" (National League of Democracy - NLD) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2531 โดยตัวเธอดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค เริ่มต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้แนวทางสันติวิธีและการดื้อแพ่ง
หลังจากนั้น การเลือกตั้งทั่วไปในพม่าที่รัฐบาลทหารจัดก็มีขึ้นโดยมีพรรคการเมืองนับร้อยทั่วประเทศส่งตัวแทนลงชิงชัย การเลือกตั้งครั้งนั้นนำชัยชนะมาสู่พรรคของเธออย่างงดงามเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2533 ชนิดว่าที่นั่งกว่าร้อยละ 70 ในสภาในขณะนั้น เป็น ส.ส. จากพรรค NLD
แต่จะมีใครรู้บ้างว่าขณะที่พรรค NLD ทำการต่อสู้และหาเสียงในการเลือกตั้งช่วงสุดท้ายหลังวันที่ 20 ก.ค.2532 จนได้รับชัยชนะนั้น ออง ซาน ซูจี กลับโดนกักบริเวณ พร้อมกับมีการจับกุมสมาชิกพรรค NLD จำนวนมากไปขังไว้ที่คุกอินเส่ง
ซึ่งถ้าเอามาตรฐานสากลวัด นี่คือการจัดการเลือกตั้งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลต้องถูกจับขังคุก แม้จะอยู่ในระหว่างการเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะปรากฏในภายหลังว่าการเลือกตั้งจะไม่มีผลต่อการได้อำนาจรัฐของพรรคเอ็นแอลดี แต่ถึงที่สุดแล้ว การเลือกตั้งครั้งนั้นก็ได้แสดงถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจและความต้องการของประชาชนพม่า ที่ไม่ต้องการให้เผด็จการทหารปกครองประเทศอีกต่อไป
รัฐบาลสลอคไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ประชาชนทั่วประเทศตัดสิน พร้อมทั้งถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าต้องรอให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น ทั้งที่ความจริงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำโดยตัวแทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชนมากกว่าจะเป็นกิจของทหาร
จนในที่สุดรัฐบาลสลอคก็ยื่นข้อเสนอให้ซูจีออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ขณะที่อีกด้านก็ทำการปราบปรามจับกุมสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีรวมถึงผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแทนอย่างถูกต้องจากการเลือกตั้งอย่างหนัก
เมื่อซูจีปฏิเสธ จึงโดนกักตัวอีกครั้งภายในบ้านพักโดยเพิ่มระยะเวลาเป็น 5 ปี (คำสั่งเดิม 3 ปี) ก่อนจะบวกเพิ่มอีกหนึ่งปีในภายหลัง สิริรวมทั้งหมดจึงกลายเป็น 6 ปี
6 ปี ที่ผู้คนประเทศต่างๆ ทั่วโลกรับรู้เรื่องราวของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งหาญกล้าต่อกรรัฐบาลทหารพม่าที่มีทั้งอาวุธและกำลังคนพร้อมสรรพ สำหรับจะบันดาลชีวิตใครสักคนหนึ่งในประเทศให้เป็นหรือตายก็ได้
จนในที่สุดปี 2534 คณะกรรมการโนเบล ก็ได้ประกาศให้เธอได้รับ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" รางวัลอันทรงเกียรติมากที่สุดรางวัลหนึ่งของโลกเป็นการการันตีในสิ่งที่เธอกำลังยืนหยัด ยืนยันและตั้งมั่นอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ในเรื่องของประชาธิปไตย
ซูจีไม่มีโอกาสรับรางวัลนี้ด้วยตัวเอง อันเนื่องจากถ้าออกนอกประเทศแล้วจะไม่สามารถกลับพม่าได้อีกเลย แต่ลูกชายของเธอคืออเล็กซานเดอร์และคิม ก็ได้เดินทางไปรับรางวัลแทนโดยถือภาพถ่ายของมารดาขึ้นสู่เวทีท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
ระหว่างโดนกักตัว ซูจีปฏิเสธข้อเสนอทุกอย่างจากรัฐบาลพม่า เธอเคยเล่าสภาพชีวิตช่วงถูกกักบริเวณครั้งแรกให้นักข่าวต่างประเทศฟังช่วงหลังจากได้รับการปล่อยตัว (ปี 2538) ดังนี้
"ดิฉันไม่ยอมรับสิ่งใดจากทหารเลย บางครั้งดิฉันแทบจะไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารรับประทาน ทำให้ร่างกายดิฉันอ่อนแอมาก ผมของดิฉันร่วง ดิฉันอ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว หัวใจดิฉันเต้นแรงแทบหายใจไม่ออก น้ำหนักของดิฉันลดจาก 106 ปอนด์เหลือเพียง 90 ปอนด์ดิฉันคิดว่าต้องตายจากเหตุที่หัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เพราะอดอาหาร"
ระหว่างนั้นเธอได้ขายของในบ้านเพื่อนำมาเป็นทุนรอนในการใช้จ่ายจนเหลือเพียงเปียโนและโต๊ะอาหาร โดยปฏิเสธแม้กระทั่งการเขียนจดหมายติดต่อครอบครัวซึ่งรัฐบาลทหารอนุญาต แต่กลับล่วงละเมิดโดยการเปิดอ่านทุกฉบับ และเรียกความประพฤติของรัฐบาลทหารเองว่าเป็นความ "กรุณา" อย่างยอดยิ่งต่อตัวเธอ
ออง ซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวครั้งแรกในวันที่ 10 ก.ค. 2538 ถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 หลังจากได้รับอิสรภาพอยู่ระยะหนึ่ง
เธอได้รับอิสรภาพอีกครั้งในปี 2545 และถูกกักบริเวณครั้งที่สามในเดือนมิถุนายน 2546 โดย "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (The State Peace and Development Council - SPDC) หรือที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์เคยเรียกอย่างขบขันนานมาแล้วว่า "สปึ้ด" เหล้าเก่าในขวดใหม่ของรัฐบาลทหารพม่า
ครั้งสุดท้ายมีสาเหตุจากการกระทบกระทั่งระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาล กับกลุ่มผู้สนับสนับสนุน ออง ซาน ซูจี ในระหว่างที่เธอพบประชาชนในเมืองเดพายิน (Depayin -ตอนเหนือของพม่า) ซึ่งไม่แน่ว่านี่คือความจงใจของรัฐบาลทหารที่จะจำกัดบทบาทของหญิงเหล็กคนนี้อีกครั้งหนึ่ง
วันนี้ ไม่มีใครทราบว่าเธอใช้ชีวิตอยู่อย่างไรภายใต้อิสรภาพที่ถูกจำกัด บางคนบอกว่าเธอไม่มีทางต่อสู้ได้สำเร็จและอาจจะต้องติดอยู่ในบ้านพักของตนเองตลอดชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่เธอบอกกับโลกในจดหมายจากพม่าก็สามารถเล่าถึงความเชื่อ ความหวังของผู้หญิงคนหนึ่งกับประชาธิปไตยในพม่าที่ไม่เคยหมดได้ดี
เธอบอกกับโลกว่า ...." กำแพงคุกส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ภายนอกเช่นกัน "
- 2 -
ลองคิดดูว่าหากคุณผู้อ่านเป็นแม่คน มีสามีที่ป่วยหนักและต้องเสียชีวิตโดยไม่มีโอกาสเห็นหน้าเป็นครั้งสุดท้าย มีทางเลือกของชีวิตที่ดีกว่าการอดทนเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่ยากจนติดอันดับโลก เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารที่คร่ำครึที่สุดในโลก คุณจะทำสิ่งนี้ต่อหรือไม่?
หากคุณชื่อ ออง ซาน ซูจี คุณจะทำการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่อยู่อีกหรือ คุณยังจะเลือกต่อสู้อีกหรือ หลังเวลาผ่านมาเนิ่นนานถึง 17 ปี และคุณเองก็อยู่ในวัยเกษียณอายุซึ่งควรจะถึงเวลาได้พักผ่อนอยู่กับลูกหลานเสียที แต่ผู้หญิงคนนี้ เลือกที่จะสู้ต่อไป ด้วยความหวังที่ไม่เคยร่วงโรยไปตามกาลเวลาแม้แต่น้อย
"พูดถึง ออง ซาน ซูจี คิดว่าหลายคนยอมรับว่าเธอประสบความสำเร็จสำคัญในชีวิต มันไม่จำเป็นต้องตัดสินด้วยการได้อำนาจการเมืองเสมอไป ความสำเร็จในการผูกใจประชาชน ความสำเร็จในการชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เหล่านั้นเราเรียกเป็นความสำเร็จได้ในอีกลักษณะหนึ่ง" ดร.สุนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงความสำเร็จของมนุษย์คนหนึ่ง ที่อาจไม่ได้หมายถึงการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเสมอไป
"น่าสังเกตว่าที่ผ่านมาเราพูดถึงความสำเร็จของเธอในมุมเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ผิด เป็นมุมที่ชัดเจน แต่ผมคิดว่าเราสามารถมองในมุมอื่นได้ด้วย...มุมที่เราให้ความสำคัญก็คือความสามารถเฉพาะตัวของซูจีเป็นสำคัญ ฉะนั้นในทุกครั้งที่เราจัดงานเกี่ยวกับเธอ จะเป็นการนำประวัติมาเล่าซ้ำๆ ในทัศนะผม ถามว่าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเธอมาจากปัจจัยอะไรบ้างอันสัมพันธ์กับปัจจัยเฉพาะตัวของเธอ โดยยังไม่มองปัจจัยอื่น"
ดร.สุเนตรบอกด้วยว่ามี 3 เงื่อนไข แรกสุด สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้มีความแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปก็คือ ออง ซาน ซูจี สามารถใช้ชีวิตภายใต้แรงกดดันยาวนานถึง 17 ปี ทั้งที่มีทางเลือกสู่ชีวิตที่สบายกว่าในเรื่องส่วนตัว
"เป็นที่รู้กันว่า รัฐบาลพม่ายอมให้เธอกลับไปบ้านที่ลอนดอนหรือที่ไหนก็ตาม แต่เธอเลือกใช้ชีวิตภายใต้แรงกดดัน หนึ่งในสักจำนวนกี่คนกันที่จะเป็นแบบนี้ นี่เป็นปัจจัยเฉพาะตัวทำให้เธอได้รับการยอมรับทั้งในและนอกประเทศ มีความยิ่งใหญ่กว่านั้นอีกระดับคือ โดยส่วนตัวแล้ว บางทีความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นปัจจัยที่เราจะอดทนได้ แต่ถ้าสมมติว่ามันต้องเกิดกับครอบครัว เราจะพบว่าเพศแม่หลายคนยอมเสียสละ เพื่อครอบครัว สามีและบุตร กรณีของซูจีเมื่อสามีกับบุตรไม่สามารถมาเยี่ยมได้ จนที่สุดสามีเสียชีวิตในต่างแดน อองซานเลือกอยู่กับประชาชน เลือกอยู่พม่า ไม่กลับไปหาครอบครัวตัวเอง ผมคิดว่านี่คือความยิ่งใหญ่ในอีกมิติหนึ่ง"
"ประการที่สาม ซูจีไม่กลัวต่ออำนาจเผด็จการ ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถยืนหยัดแข็งข้อต่อรัฐบาลที่ใครๆ ก็กลัว แต่เธอทำได้ นี่คืออิสรภาพจากความกลัวหรือ Freedom from Fear ตรงนี้ที่น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เธอได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนำไปสู่การชนะใจคนพม่าทั้งประเทศ"
ส่วนมุมที่ ดร.สุเนตร มองแตกออกไปนั้นก็คือความเป็นเพศหญิงของ ออง ซาน ซูจี โดยอาจารย์สุเนตรได้ยึดโยงเรื่องนี้ไปถึงบทบาทของผู้หญิงพม่าในประวัติศาสตร์
"เมื่อมองเงื่อนไขการขึ้นมาของเธอ ทำไมผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งจึงเป็นที่ยอมรับได้ขนาดนี้ ถ้าพิจารณาผิวเผิน การยอมรับผู้นำในบริบทการเมืองพม่าส่วนมากเน้นที่ผู้ชาย ผมอยากยกตัวอย่าง ในพม่าถ้ามองว่าใครก็ตามที่สร้างความเป็นเอกภาพของรัฐในสมัยจารีตเขาจะมองชาย 3 คน คือ พระเจ้าอโนรธา (สถาปนาอาณาจักรพุกาม) คนที่สองบุเรงนอง (ขยายดินแดน) คนที่สามคืออลองพญา (นำความเกรียงไกรกลับมาสู่ชนพม่าอีกครั้ง)"
"มายุคเป็นเมืองขึ้นเขาพูดถึงคนอย่าง ซะยาซาน ที่นำกบฏคล้ายกับกบฏชาวนา และพระอู วิสาละ ซึ่งอดอาหารประท้วงจนตาย พิจารณาผิวเผินเวทีการเมืองพม่าไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิง"
อาจารย์สุเนตรได้ยกกรณีของพระนางเชงสอบู และคนที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุดผ่านละครในอดีตคือพระนางอเลนันดอ (พระนางศุภยรัตน์) มเหสีของพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
"มุมมองฝรั่ง ผู้หญิงเหล่านี้เป็นเหตุให้บ้านเมืองล่มสลาย มองแบบไทยก็เช่นเดียวกัน แต่ในมุมพม่า นี่คือคนที่ลุกขึ้นมาท้าทายจักรวรรดินิยมไม่ใช่หรือ อยู่ที่จะมองจากมุมไหน ถ้ามองจากมุมพม่า เขาคือคนที่ไม่ยอมอังกฤษ เพียงแต่ตอนนั้นพม่ามีกำลังสู้ไม่ได้ก็แพ้ไป"
อาจารย์สุเนตรกล่าวต่อว่า "ทั้งหมดทั้งสิ้นทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมการเมืองพม่ามีที่ให้ผู้หญิงมีบทบาท จริงๆ แล้ววัฒนธรรมนี้ไม่ได้หายไป ปรากฏให้เห็นในแง่ต่างๆ ทราบไหมครับว่าผีบ้านผีเรือนของพม่าที่นับถือมานานมีสองตน เรียกมหาคีรีนัต หนึ่งในสองเป็นผู้หญิงเรียกนางหน้าทองดอลัต สถิตอยู่ที่เขาโปปา ถ้าไปดูนัตพม่าจะเห็นว่ามีมากมายและมีนัยความเป็นเพศหญิงอยู่ ผมบอกตรงนี้เพื่อให้เห็นว่าพอเราพูดถึงสื่อที่ผมอยากจะเรียกว่า women sphere หรือ นารีเขต...สังคมวัฒนธรรมพม่ามันมีพื้นที่ให้ผู้หญิงพอสมควร ยิ่งบ้านเมืองเปลี่ยนไป ผู้หญิงก็สามารถมีบทบาทมากขึ้นๆ เพียงแต่จะถูกพูดถึงมากแค่ไหน"
จากข้อมูลในหนังสือ "จดหมายจากพม่า" ออง ซาน ซูจี บอกว่า "ดิฉันไม่ได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีสตรีจำนวนมากที่ถูกจับขังเนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ..."
ข้อมูลตรงนี้อาจารย์สุเนตรชี้ว่าในกระแสความเคลื่อนไหว ออง ซาน ซูจี เป็นผู้หญิง เป็นผู้นำ แต่ในพื้นที่ "นารีเขต" ตรงนี้มีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยร่วมมีบทบาท แต่เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร ซูจีได้ยอมรับแล้วลุกขึ้นประกาศให้เป็นที่รู้กันว่ายังมีคนอื่นอีกนอกจากเธอ
- 3 -
ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีซึ่งสนใจแดนเจดีย์สี่พันองค์มานาน ก็มีความเห็นไม่แตกต่างจากอาจารย์สุเนตรเท่าใดนัก
"ถ้าความสำเร็จคือสามารถล้มเผด็จการทหารได้ผมคิดว่าตอนนี้ยังยาก มีองค์ประกอบเยอะมาก อย่างเช่นเงื่อนไขเรื่องชนกลุ่มน้อยและอื่นๆ...การที่จะปฏิวัติในพม่าผมมองว่าต้องมี 2 ปัจจัยใหญ่คือ 1. ความแตกแยกภายในของเผด็จการทหารเอง ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาณเกิดขึ้นเป็นระยะ ในเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว 2. ปัจจัยภายนอก คือองค์กรประชาธิปไตยต้องเข้มแข็ง แต่ตรงนี้ผมมองว่ายังมีไม่มาก"
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม วันนี้เขาเชื่อว่า ออง ซาน ซูจี ประสบความสำเร็จแล้วเช่นกัน
"สิ่งที่ทำสำเร็จคือการที่เธอได้ยืนหยัดและยืนยันแนวทางความคิดของตนเอง...ความจริงเธอจะไปก็ไปได้ แต่เธอก็เลือกที่ไม่ไป เพราะฉะนั้นเธอทำสำเร็จในการทำให้ประชาชนเชื่อมั่นใน สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย 'ออง ซาน ซูจี' ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ประชาธิปไตยในพม่าเท่านั้นหากเป็นของโลกด้วย"
อีก 10 วันหลังจากนี้ ออง ซาน ซูจี จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ขณะที่เธอถูกปิดกั้นอิสรภาพอยู่ภายในบ้านพักของเธอเอง ไม่มีใครรู้ว่าวีรสตรีคนนี้คิดอะไรในวันครบรอบ 60 ปีของตนเองที่กำลังจะมาถึง
สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้ก็คือ ช่วยกันเผยแพร่สิ่งที่เธอกำลังพยายามเพื่อประเทศชาติและประชาชนอันเป็นที่รักของเธอ เพราะเราเชื่อว่าคุกอาจสามารถกั้นอิสระทางกายได้
แต่สำหรับ "อิสรภาพทางความคิด" เราเชื่อว่าไม่มีคุกใดๆ สามารถมาปิดกั้นได้ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า
"กำแพงคุกส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ภายนอกเช่นกัน"
***************
วันที่ 19 มิถุนายน 2548 ที่จะถึงนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะมีการจัดงาน "60 ปี ออง ซาน ซูจี : การต่อสู้ของผู้หญิงแห่งลุ่มน้ำอิระวดี-สาละวิน" เนื่องในวาระครบรอบวันเกิด 60 ปี ของ ออง ซาน ซูจี ตั้งแต่เวลา 9.00 - 20.30 น. โดยในงานทางคณะกรรมการจัดงานเชื่อว่าจะสามารถเป็นช่องทางที่มีประสิทธิผลช่องทางหนึ่งในการเล่าเรื่องของผู้อพยพจากพม่าในมิติที่หลากหลาย ให้สังคมไทยได้รับรู้และทำความเข้าใจในวิถีของประเทศเพื่อนบ้านอันใกล้ชิดมีพรมแดนติดกันถึง 2,400 กิโลเมตร ตามเจตนารมณ์ของออง ซาน ซูจี ที่เคยส่งสาสน์ขอร้องคนไทยมานับครั้งไม่ถ้วนขอความเข้าใจและเมตตาต่อเพื่อนร่วมชาติของเธอที่อพยพหนีมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย