xs
xsm
sm
md
lg

รอยอดีตที่ "สวนโมกขพลาราม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า "พุทธทาส"          
                                    พุทธทาสอินทฺปญโญ

                        - 1 -

ปี พ.ศ. 2475 ...วัดตระพังจิก (สวนโมกข์เก่า) สุราษฎร์ธานี

พลันที่คำนี้เกิดในห้วงคิดของภิกษุหนุ่ม งานของท่านก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเข้มแข็งมีชีวิตชีวายิ่ง ทั้งยังถือเป็นก้าวอันหนักแน่นในการตามรอยพระศาสดา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่เส้นทางหลุดพ้นอย่างมีพลัง

จริงๆ ภารกิจของ "พระเงื่อม" ผู้สำเร็จเปรียญธรรม 4 ประโยค (ซึ่งจัดว่าเป็นผู้รอบรู้ทางด้านปริยัติมากพอตัว) ตั้งต้นและดำเนินขึ้นในใจของท่านนานแล้วนับแต่ครั้งเบื่อหน่ายความประพฤติของพระบางรูปในเมืองหลวงซึ่งท่านเคยเข้าไปศึกษาและเชื่อว่าเป็นที่สถิตของพระอรหันต์ที่ได้รับการศึกษาอย่างดียิ่ง

                                              * * * *

นับแต่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุครบ 20 ปี (พ.ศ. 2469) ที่โบสถ์วัดอุบล (วัดนอก) ชีวิตช่วงแรกของพระ เงื่อมในศาสนาพบอะไรมากมายซึ่งเป็นไปในทางเสื่อมและสร้างความเบื่อหน่ายจนกระทั่งครั้งหนึ่งถึงกับขอสึก (ปี 2471)...แต่คงเป็นโชคดี ที่ชะตาบ้านเมืองจะมี "พุทธทาส" เกิดมาชี้ทางให้ผู้คนที่กำลังเสื่อมศีลธรรมลงทุกวันๆ ไม่เว้นกระทั่งพระบางองค์ ตอนนั้นจึงมีคนทัดทานท่านที่เพิ่งกลับจากศึกษาธรรมะในกรุงเทพฯ ว่าอย่าเพิ่งสึกด้วยใกล้เข้าพรรษาแล้ว ขอให้อยู่ต่อจนครบ เป็นอันว่าพระเงื่อมจึงไม่ได้สึก อยู่เป็นครูสอนนักธรรมที่บ้านเกิดต่อมา (2472)จนปี 2473 ท่านจึงได้กลับขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง

และช่วงขึ้นไปกรุงเทพฯ ครั้งที่สองนี้เอง..."พระภิกษุเงื่อมเข้าไปเรียนภาษาบาลีที่กรุงเทพฯ พำนัก ณ วัดปทุมคงคา ท่านสามารถมองเห็นพุทธประเพณีไปในทางที่ดัดอัตตาของตัวท่านแทบทุกๆ ทาง เช่นการลงอุโบสถทุกปักษ์นั้น ที่วัดปทุมคงคากำหนดให้พระภิกษุสงฆ์ลงฟังพระปาฏิโมกข์ตอนบ่าย พระส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ไปฟังคำสวดที่ตนไม่เข้าใจ แม้สาระของการฟังพระปาฏิโมกข์นั้น ก็เพื่อภิกษุแต่ละรูปจะได้เกิดมนสิการ ว่าตนได้ล่วงละเมิดอาบัติข้อใดไปตามที่มีกล่าวไว้ในพระปาฏิโมกข์ จะได้ปลงอาบัติเสีย

...พระหนุ่มเมื่อฉันอิ่มแล้ว ต้องไปลงอุโบสถ ก็มักง่วงหรือหลับกันเป็นแถว ๆ ใครสวดปาฏิโมกข์ได้เร็วเท่าไร ย่อมถูกใจพระหนุ่มกันเท่านั้น แต่พระเงื่อมถือว่าการนั่งฟังพระปาฏิโมกข์ยามบ่ายเป็นอุบายในการฝึกตนเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ง่วง ให้เกิดสติสัมปชัญญะ เพื่อเข้าใจเนื้อหาสาระของพระวินัย อันจะนำมาประยุกต์ใช้ให้การทรงพรหมจรรย์เป็นไปอย่างสะอาดสมตามศีลสิกขา แล้วจะได้เข้าหาความสงบตามจิตสิกขา เพื่อให้ได้เกิดความสว่างทางปัญญาสิกขา"

ดังนั้น เมื่อสอบเปรียญธรรมได้ ความเห็นต่อวงการสงฆ์ในเมืองหลวงของท่านจึงเป็นว่า "ราชธานีของสยามเมื่อ 70 ปีกว่ามานี้มีมลพิษเสียแล้ว ทั้งทางรูปธรรมและทางนามธรรม คือบ้านเมืองสกปรกรกรุงรัง วัดวาอารามไม่เป็นที่ก่อให้เกิดสัปปายะ ...แม้การศึกษาพระปริยัติธรรม ก็เป็นไปเพื่อให้เปรียญได้ประโยคสูง ๆ จะได้เป็นช่องทางให้ได้สึกหาลาเพศไปรับราชการ ท่านที่คงสมณเพศอยู่ต่อไปก็หวังเพียงกระเตื้องในทางสมณศักดิ์ อย่างยากที่จะมีผู้ซึ่งแสวงหาโลกุตรธรรมอยู่ในวงการของนักปริยัติ จนบางเกจิอาจารย์ถึงกับประกาศว่าความเป็นอรหันต์นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว บวชเรียนไปก็เพียงหวังสวรรค์สมบัติ หาได้ต้องประสงค์นิพพานสมบัติไม่...ปัจจัยเหล่านี้ เป็นเหตุให้พระมหาเงื่อมไม่มีแก่ใจอยู่ต่อไปในกรุงซึ่งเต็มไปด้วยพระซึ่งฉันหมาก สูบบุหรี่ นัตถุ์ยา รวมทั้งที่เป็น ไสยเวทวิทยาต่างๆ อีกมาก ซึ่งปนเปเข้ากับพุทธศาสนาอย่างแยกกันแทบไม่ออก ใช่แต่เท่านั้น การสอบเปรียญของสนามหลวง ก็ติดอยู่กับรูปแบบของการแปลที่มุ่งในทางนิรุกติ ยิ่งกว่าในการเข้าถึงอรรถธรรมให้แตกฉาน"

"ฟางเส้นสุดท้ายสำหรับพระมหาเงื่อม ที่ช่วยให้ท่านตัดสินใจอย่างเร่งด่วนในการละเมืองกรุง กลับไปสู่บ้านเดิมที่ไชยาก็คือ ท่านเห็นพระร่วมวัดต้มถั่วเขียวฉันในยามวิกาล ท่านเห็นว่าพระพวกนั้นเป็นอลัชชี ไม่มียางอาย เพราะสมาทานสิกขาบทในเรื่องวิกาลโภชน์ แล้วไม่ทำตามนั้น" ...ข้อความข้างต้นมาจาก ปาฐกถาเรื่อง "สังคมไทยกับทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ" ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

พระมหาเงื่อมจึงกลับมาสร้างสถานที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงที่บ้านเกิดดัง "สิบปีในสวนโมกข์" ของท่านว่าไว้ "ปลายปี พ.ศ.2474 ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับนายธรรมทาส พานิช (น้องชาย) โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้...และเพราะเรามีกำลังน้อย เราจะทำน้อยๆ เผื่อผู้มีกำลังมากเห็นตัวอย่างแล้วเกิดพอใจขึ้นมาก็จะจัดทำให้แพร่หลายได้สืบไป หรืออย่างน้อยที่สุด การทำของเราอาจเป็นเรื่องสะดุดตาสะกิดใจ ให้เพื่อนพุทธบริษัทเกิดสนใจในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ...เราทำตนเป็นเพียงผู้ปลุกเร้าความสนใจ ก็นับว่าได้บุญกุศลเหลือหลายแล้ว เมื่อตกลงกันดังนี้ ฉันก็ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในตอนสิ้นปี 2474 นั้นเอง"

เหตุที่ท่านเลือกออกจากเมืองหลวง ยังอาจเพราะพระมหาเงื่อมนิยมพระในบ้านนอกมากกว่าในเมือง เพราะพระที่บ้านเกิดท่าน แม้จะมีความรู้น้อย แต่วัตรปฏิบัติก็เคร่งมากกว่ายิ่งนัก

                                     - 2 -

"พระบ้ามาแล้วๆ"

เช้าตรู่...ตำบลพุมเรียง เสียงเด็กๆ เจี้ยวจ้าว เมื่อเห็นนักบวชรูปหนึ่งออกบิณฑบาตจากสถานที่รกทึบและวิกเวกชวนผีหลอกซึ่งไม่น่ามีใครอยู่ ในบริเวณที่เรียกว่า "วัดร้างตระพังจิก" ซึ่งพระเงื่อมได้ร่วมมือกับน้องชายตั้งขึ้นเป็น "สวนโมกขพลาราม" ในปี พ.ศ. 2475

ที่ซึ่งอาจารย์พุทธทาสบอกลูกศิษย์ลูกหาภายหลังว่าตั้งใจให้เป็น "ป่าไม้ที่น่ายินดีเป็นกำลังให้ถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์" และ 2 ปีแรกในสวนโมกข์ ท่านก็ต้องอยู่เพียงรูปเดียว ในวันเวลาที่คนยังไม่รู้จัก "สวนโมกข์"

"เรื่องสวนโมกข์ในระยะ 2 ปีแรกนั้นก็มีแต่เรื่องเกี่ยวกับฉันเป็นส่วนมาก เพราะตลอดเวลา 2 ปีแรกนั้น ไม่มีใครอาศัยอยู่ในสวนโมกข์เลย มีแต่ฉันอยู่คนเดียว ยังไม่มีใครในต่างจังหวัดได้ยินชื่อสวนโมกข์ เพราะเราเพิ่งจัดออกหนังสือพุทธศาสนารายตรีมาศ ในปีที่สองของการตั้งสวนโมกข์ กว่าจะมีภิกษุสามเณรจากที่อื่นไปเยี่ยมสวนโมกข์บ้าง ก็ตกเข้าในปีที่สาม ฉันจึงอยู่คนเดียวตลอดเวลา 2 ปี ทั้งในและนอกพรรษา"

อาจารย์พุทธทาสท่านว่าไม่แปลกถ้าใครๆ จะไม่เข้าใจ "การมีสวนโมกข์และการไปอยู่ที่นั่นของฉัน เป็นการกระทำที่บอกกล่าวกัน เฉพาะผู้มีความสนใจร่วมกัน แม้คนในถิ่นนั้นเองที่ไม่เข้าใจความมุ่งหมายอันแท้จริงก็มีจำนวนไม่น้อย...อธิบายให้ฟังกันเองว่าฉันเป็นคนบ้าที่เขาเอาตัวมากักเพื่อรักษาที่ป่าวัดร้างนั่น ให้ระวังให้ดี นานตั้งหลายเดือนจึงค่อยหมดความเข้าใจเช่นนั้นอย่างสนิท" (จาก "สิบปีในสวนโมกข์" ของพุทธทาสภิกขุ)

ท่านอยู่และปฏิบัติของท่านที่นั่น จนวันหนึ่ง สมาธิจิตก้าวหน้าไปสู่ภาวะบางอย่าง เกิดบันทึกที่ พจน์ ยังพลขันธ์ ผู้รวบรวมประวัติอาจารย์พุทธทาสจำข้อความมาเล่าสู่กันฟังว่า "จะมอบกายถวายชีวิตเพื่อเผยแพร่ความสุขที่พบ ซึ่งผมเชื่อว่านั่นหมายถึงท่านเป็นพุทธทาสแล้ว"

                                            * * * *

ดังนั้น 2475 นอกจากเป็นปีที่เกิดการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คือการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา และอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ยังเป็นปีที่สำคัญเพราะเกิดสวนโมกขพลารามขึ้นด้วยก่อนหน้าการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ราวๆ 1 เดือน (12 พฤษภาคม 2475)

"ปฏิทินของสวนโมกข์จึงเป็นสิ่งที่จะจดจำได้ง่ายที่สุด โดยแฝงในประโยคสั้นๆ ว่า 'ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง' ข้อนี้, พวกเราถือว่าเป็นนิมิตแห่งการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ เพื่อการแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเท่าที่เราจะพึงทำได้"

                          - 3 -

บุรุษคนนี้ พระภิกษุรูปนี้ "พบ" และ "เห็น" อะไรหรือ จึงกล้าประกาศว่า "ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกๆ อย่างต่อความสุขนี้ และการประกาศเผยแผ่ความสุขนี้เท่านั้น" ?

คำถามนี้เราพบในหนังสือหนึ่งในหลายเล่มเกี่ยวกับสวนโมกข์และท่านพุทธทาส และเป็นคำถามเดียวกัน เมื่อเรานั่งลงต่อหน้ารูปท่านพุทธทาสในศาลาธรรมโฆษณ์ สถานที่รวมผลงานและบรรจุอังคารของท่านส่วนหนึ่งในสวนโมกขพลารามปัจจุบัน ที่คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าที่นี่คือที่ดั้งเดิมแต่เริ่ม

คำถามข้างต้นสวนโมกข์และธรรมะของพระศาสดาอาจเป็นผู้ให้คำตอบได้....ทั้งที่เก่า (วัดตระพังจิก) และที่ปัจจุบัน (วัดธารน้ำไหล) ก็ไม่ต่างกัน "เธอทั้งหลายจงไปสู่ป่า โน่น โคนไม้ โน่น ไม้ใหญ่ นี่คำของพระพุทธเจ้า จะได้รู้จักตนเองว่าสิ่งที่ค้นอยู่ที่ไหน วัดที่เราเห็นตอนนี้เตียนมาก สมัยก่อนมีทั้งงูกะปะที่มีพิษร้ายมาก มีนาคถึกโทนที่ท่านอาจารย์พบตอนบิณฑบาต ที่นี่มีความเป็นป่าสูงมาก ท่านมาอยู่กับตะเกียงแท้ๆ หนังสือ 'ตามรอยพระอรหันต์' เขียนที่นี่ จากพระที่บริสุทธิ์ที่สุด มีบันทึกชัดเจนทุกวัน" พจน์ ยังพลขันธ์ ยืนท่ามกลางแมกไม้ที่วัดตระพังจิก เล่าสิ่งที่อาจารย์พุทธทาสดำริและพบเจอ

"รสชาติของการอยู่คนเดียวในสถานที่อันสงัด และดึกสงัดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจบอกให้เข้าใจกันได้ด้วยตัวหนังสือ หรือด้วยการนึกเทียบเอาจากการที่อยู่ในที่อันเป็นธรรมดาของผู้ที่ไม่เคยไปอยู่ มีอำนาจอะไรอย่างหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าได้ริบเอากำลังใจไปเสียหมดแล้ว ตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้สึกตนว่าได้อยู่ผู้เดียวในที่ที่ปราศจากการคุ้มครองแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อมีอะไรหวอหรือโครมครามวูดวาดออกมา ในเวลาที่ไม่รู้สึกตัว และเพิ่งประสบเป็นครั้งแรก ย่อมเป็นการเหลือวิสัยที่จะไม่ให้เกิดการสะดุ้ง ครั้นกำลังใจค่อยเข้มแข็งขึ้น สติค่อยรวดเร็วขึ้น สิ่งนั้นๆ ค่อยธรรมดาไป"

"มันมีอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะนับว่าเป็นของวิเศษมาก และเคยเป็นที่พึ่งของฉันมามากแล้วคือ ความรักในการศึกษา เมื่อกำลังใจและสติยังสมบูรณ์อยู่กับตัว ก็อยากลองไปเสียทั้งนั้น...ให้ผีหลอกและให้ภูตหรือเปรตมาสนทนาปราศรัยกัน ทั้งนี้เพื่อถือเป็นโอกาสสำหรับศึกษาสิ่งเหล่านั้นและทดลองกำลังน้ำใจของตนเองด้วย...ดูเหมือนโชคไม่เคยอำนวยให้เป็นเช่นนั้นเลย ความกลัวกลายเป็นของหลอกและกลัวเปล่าๆ..."

การได้อยู่ที่สวนโมกข์ครั้งนั้น นอกจากท่านพุทธทาสได้ศึกษาจิตอย่าง "ประณีต" แล้ว ท่ามกลางธรรมชาติ ท่านยังได้เรียนรู้ความตื่นบางอย่างของป่า "กลางคืนทุกสิ่งทุกอย่างพากันหลับจริงหรือ? ข้อนี้ไม่มีความจริงเลยแม้แต่น้อย จากการศึกษาด้วยธรรมชาตินั่นเอง เราจะรู้สึกว่ากลางคืนเสียอีกเป็นเวลาที่โลกตื่นที่สุด แต่ว่าเป็นความตื่นอย่างประณีตเหลือเกิน...เมื่อจะมองดูกันในแง่ของสัตว์นานาชนิดก็พบว่า มีสัตว์ที่ตื่นและทำงานไม่น้อยกว่ากลางวัน วิ่งว่อนเอาจริงเอาจังไม่น้อยกว่ากลางวัน เว้นเสียแต่มนุษย์ของโลกและสัตว์บางประเภทเท่านั้น ที่ดูเหมือนว่าหลับเอาเสียจริงๆ ส่วนมนุษย์ของธรรมะนั้น กลางคืนเป็นเวลาที่ตื่นที่สุด เพราะว่ากลางวันความรู้สึกของจิตมักจะถูกริบไปเสียในด้านต่างๆ จนแทบจะหมดสิ้น ด้วยสิ่งอันรบกวน หรือยากที่จะดิ่งลงสู่อารมณ์อันสงัด ครั้งตกถึงกลางคืน ความว่างได้มีขึ้นอย่างสดชื่น ความแจ่มใสของจิตแหลมคมยิ่งกว่ากลางวัน ในภายในจึงรุ่งเรืองด้วยแสงสว่างของการมองเห็น..."

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิตและการค้นพบอะไรบางอย่างของท่านอาจารย์พุทธทาสในสวนโมกข์แห่งเก่าที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ท่านจึงให้ความสำคัญกับเรื่องสถานที่มากและเน้นให้ศึกษาจากธรรมชาติโดยตรง

เป็นที่มาของสวนโมกข์แห่งใหม่ซึ่งท่านดำริขึ้นในปี 2482 "สมัยก่อนท่านอยู่พุมเรียง การคมนาคมยังใช้ทางเรือ คนส่วนมากชอบอยู่ที่พุมเรียงมากกว่าไชยา แต่หลังจากทางรถสายใต้มาความเจริญก็ตามมา อีกเหตุหนึ่งที่ท่านโยกย้ายเพราะว่าท่านต้องการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมสู่สังคม ต้องเข้าหาคน ไม่ใช่เข้าป่า ประกอบกับครอบครัวได้ซื้อบ้านเป็นห้องแถวที่ตลาดไชยาด้วย แรกๆ ท่านก็เดินจากพุมเรียงมาแสดงธรรมที่บ้านธรรมทานแห่งใหม่ในไชยา ระยะหลังท่านพักที่วัดไชยารามในตลาด มีกุฏิและทำงานที่นั่นและยังสะดวกไปที่ต่างๆเพื่อแสดงธรรม" เมตตา ผู้เป็นหลานเล่า

"เมื่อมีคนมาหามากก็มีปัญหาเรื่องที่พัก ท่านจึงดำริกับสหธรรมิกซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักคือ พระครูสุคนธ์ธรรมสาสน์ ที่ท่านนับถือเหมือนพี่ชายจะสร้างสโมสรธรรมทานให้คนมาพักที่วัดไชยาราม เลยเดินมาหาไม้ในป่ามาพบที่นี่ซึ่งเป็นสวนร้าง เจ้าของไม่ได้ดูแลและยินดีขาย"

สวนโมกข์แห่งใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นจากดำริของท่านและศรัทธาของชาวบ้านที่ช่วยกันหักร้างถางพง "สมัยก่อนคนจะมาที่นี่ ต้องลงรถไฟที่สถานีไชยา แล้วเดินมา เทียบกับสมัยนี้ไม่ได้เลย สมัยก่อนนั้นเงียบมากจริงๆ" คุณเมตตาเปรียบเทียบก่อนบอกต่อ "ท่านว่าไม่มีแม่ก็ไม่มีสวนโมกข์ ตอนนั้นท่านทำงานในที่ห่างไกลไม่มีใครรู้จัก ก็ได้โยมแม่ช่วยสนับสนุนในการซื้อที่ตรงนี้ 400 บาทซึ่งสมัยนั้นเป็นเงินที่มากทีเดียว"

                          - 3 -

เท่าที่ประจักษ์ ท่านพุทธทาสไม่ได้เน้นการสร้างวัตถุในวัดแต่อย่างใด ต่างกับวัดอื่นๆ ทั่วไปที่เน้นเรื่องเหล่านี้ ที่สวนโมกข์ได้กลายเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วเผยแผ่ออกสู่สังคมและผู้สนใจซึ่งแวะเวียนมา ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผ่านหนังสือและการจัดสถานที่ในสวนโมกข์เช่นลานหินโค้ง โบสถ์เขาพุทธทองที่มีฟ้าเป็นหลังคา ต้นไม้รอบๆ เป็นเขต ฯลฯ

"ท่านขอใช้ชีวิตกับพื้นดิน เคยมีคนศรัทธาขอปรับพื้นกุฏิให้ท่าน ท่านไม่เอา ท่านว่าจะนั่งเก้าอี้โยกธรรมดาที่ติดกับกับดินจริงๆ ท่านว่าธรรมชาติสอนธรรมะได้ดีกว่าคนสอน คิดไหมว่าพระพุทธเจ้าเรียนธรรมะจากใคร ถ้ารังเกียจธรรมชาติอยากอยู่บนวิมานก็อย่าหวังจะเข้าใจสิ่งที่พระพุทธองค์สอน" เมตตากล่าว

"จะศึกษาธรรมะต้องเป็นเกลอกับธรรมชาติ" คือคำของพุทธทาสซึ่งยืนยันแม้กระทั่งวินาทีเผาสรีระที่ทำอย่างเรียบง่ายที่สุดกลางพื้นดินของสวนโมกข์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ...

วันนั้นคนทั้งแผ่นดินสงบนิ่ง พุทธศาสนิกชนหวั่นไหวว่าได้เสียยอดนักรบแห่งกองทัพธรรมอันเป็นหัวหอกแห่งการสู้รบกับพญามารยุคโลกศิวิไลซ์ ผู้ใดจะก้าวมาแทนท่าน เพราะในวันนั้นมองไปรอบๆ สัมพันธ์ ก้องสมุทร ถึงกับเขียนไว้ใน "พระอาจารย์โพธิ์ จันทสโร ผู้ตามรอยพระพุทธทาส" สะท้อนอะไรบางอย่าง

"แผ่นดินธรรมทั่วทิศมากหลายด้วยภูตผีแห่งความชั่วร้าย มองทางใดก็พบเห็นแต่ข่าวคราวที่แพร่หลายด้วยอลัชชีและพวกเนรคุณพระพุทธเจ้าอยู่โดยรอบ ศีลธรรมจะกลับมาได้อย่างไร" แม้สถาบันชั้นสูงของต่างประเทศก็ยังยกย่องท่านว่า "การสูญเสียพระพุทธทาส คือการสูญเสียบุคคลสำคัญอันดับที่ 6 ของโลก"

26 พ.ค. 2548...ก่อนครบ 99 ปีหนึ่งวันและก้าวสู่ปีที่ 100 ของท่านพุทธทาสภิกขุ เราสัญจรลงมากับสนพ.สุขภาพใจ ตามรอยท่านอาจารย์ และได้มีโอกาสกราบรูปท่านที่ศาลาธรรมโฆษณ์ พลางคำนึงว่าสถานการณ์ของพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นอย่างไร?

เพราะไม่นานนี้ก็มีข่าวอลัชชีมั่วสีกาอีกแล้ว...

                          - - - -
* ฐานข้อมูลบางส่วนจาก สนพ.สุขภาพใจ

ปฏิทินชีวิต "พุทธทาสภิกขุ"

บุตรนายเซี้ยง และนางเคลื่อน พานิช เกิดวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ค. 2457 ที่หมู่บ้านกลาง ต.พุมเรียง (ที่ตั้งเดิมของจังหวัดไชยาก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น "สุราษฎร์ธานี")

2457 รับการศึกษาเบื้องต้นแบบโบราณด้วยการเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียงใกล้บ้าน
2460 กลับบ้าน เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดโพธารามจนถึงชั้นมัธยม
2464 เรียน ม.2 ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ตำบลตลาด อำเภอไชยา
2469 บวชก่อนเข้าพรรษาเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม ได้ฉายา อินฺทปญฺโญ
2471 สอบได้นักธรรมเอก
2472 เป็นครูสอนนักธรรม ที่วัดพระบรมธาตุไชยา ปีนี้น้องชายได้เปิดคณะธรรมทานโดยมีหีบหนังสือธรรมะให้คนยืมอ่านที่ร้านไชยาพานิช
2473 สอบได้เปรียญธรรมสามประโยค เขียนบทความชิ้นแรก "ประโยชน์แห่งทาน"
2475 กลับพุมเรียงมาอยู่วัดร้างตระพังจิก ตั้งสวนโมกขพลารามและคณะธรรมทาน
2476 ออกหนังสือพิมพ์พระพุทธศาสนารายตรีมาส
2486 ซื้อที่ดินบริเวณวัดธารน้ำไหลโดยความสนับสนุนจากโยมมารดา
2487 ย้ายมาจำพรรษาที่สวนโมกขพลารามแห่งใหม่ (ที่ปัจจุบัน)
2498 ไปอินเดีย
2509 เริ่มงานล้ออายุ (วันเกิด) ครั้งแรก
2527 อาพาธด้วยโรคหัวใจขาดเลือด
2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระธรรมโกศาจารย์"
2534 อาพาธด้วยโรคหัวใจวายและน้ำท่วมปอด
2535 อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน
2536 อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก และมรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม
2549 ครบ 100 ปีชาตกาล "พุทธทาสภิกขุ"

คลิกที่นี่เพื่อฟังรายงานพิเศษ “พุทธทาสฯ” ...ไม่ตายจากพระพุทธศาสนา












กำลังโหลดความคิดเห็น