xs
xsm
sm
md
lg

20 ปี แห่งมิตรภาพ รวมพล (คน) 'พันธุ์หมาบ้า'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับแต่เมื่อตีพิมพ์ตอนแรกลงนิตยสารลลนา ฉบับเดือนสิงหาคม 2528 ถึงบัดนี้ นวนิยายเรื่องนี้กำลังจะมีอายุครบ 20 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ถ้าเป็นคน… เขาหรือเธอก็กำลังจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมาย บรรลุนิติภาวะ

ถ้าเป็นชายหนุ่ม… เขาก็มีอายุครบวัยบวชเรียน

แต่เพราะนี่เป็นนวนิยาย เรื่องราวเนื้อหาในหนังสือจึงคล้ายจะหยุดนิ่งในวันวาน มีเพียงผู้อ่านเท่านั้นที่หมุนเวียนเปลี่ยนรุ่นและเติบโตไปตามกาลเวลา

บ้างว่า - นี่คือคัมภีร์ชีวิตของคนหนุ่มสาวในช่วงวัยแสวงหา ถึงขนาดมีคนเปรียบว่ามันคือ The Catcher in the Rye ของวัยรุ่นไทย

แต่ "ชาติ กอบจิตติ" มักบอกเสมอว่า มันคือความจริงบางส่วน ในบางช่วงชีวิตวัยหนุ่มของเขาและผองเพื่อน ซึ่งคนเขียนยัง (เคย) ชอบรื้อหิ้งพระเวลาเมา (ฮา)

เรื่องราวของคนหนุ่มที่ต่างมีเคมีบางอย่างในตัวตรงกัน เมื่อมารวมกลุ่มกันจึงกลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์พิเศษ…
"พันธุ์หมาบ้า"

เหล้า - เล่า

แสงแดดยามสายทอประกายเจิดจ้า น้ำทะเลสีฟ้าครามสวย "เหล้าเช้า" (อันที่จริงต้องเรียกว่าไวน์ถึงจะถูก) ถูกเสิร์ฟแกล้มบทสนทนา ดูไปคล้ายฉากในเรื่องพันธุ์หมาบ้า ผิดตรงที่ว่าที่นี่คือทะเลสัตหีบ ไม่ใช่ภูเก็ต

และไม่มีอ๊อดโต้เล่าเรื่องให้ฟัง…

"ดีนะ ไม่ได้มาตั้งนานแล้วทะเลนี่…" ชายผู้ที่ละม้ายคล้าย "ชวนชั่ว" เปรยขึ้น สายตาเขาจับอยู่ที่ทะเลเบื้องหน้า

"ไม่ค่อยได้มาเมาที่ทะเลนานแล้ว แต่ที่บ้าน ผมเมาของผมประจำ" เขาพูดต่อ เรียกเสียงหัวเราะได้รอบวง (เล่า)

"บ้าน" ของเขา คือไร่ที่ตั้งอยู่ใกล้รอยต่อพื้นที่ 3 จังหวัด ตัวบ้านเขาอยู่ในเขตนครราชสีมา ต่อไฟฟ้าใช้จากสระบุรี และจอดรถในพื้นที่ลพบุรี

เขาคนนี้คือเจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัย รางวัลศิลปาธร และล่าสุดได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2547

ชาติ กอบจิตติ… ผู้ซึ่งมักรู้สึกจั๊กจี้ทุกครั้งที่มีคนเรียกเขาว่า "ท่าน"

"อย่ายกยอผมมาก เดี๋ยวผมเหลิง เรียกผมเป็นศิลปินแห่งโส่ยดีกว่า"

บทสนทนาในวันนั้นจึงว่ากันด้วยเรื่อง "เพื่อน" และนวนิยายเรื่องเด่นของเขา "พันธุ์หมาบ้า" ล้วนๆ ให้สมกับบรรยากาศริมทะเล อันเป็นสถานที่จัดงาน "ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 คืนหมาบ้าหอน ออน เดอะ บีช" คนจัดงานก็ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นกลุ่มนักอ่านเหนียวแน่นของชาติ "กลุ่มนกขมิ้นพิมาย" ซึ่งหลงใหลในนวนิยายที่ว่าด้วยสัมพันธภาพในหมู่เพื่อนเรื่องนี้ของเขา จากคนอ่านจึงงอกงามกลายมาเป็นเพื่อน ดุจวลีที่ว่า "หลากหลายผองเพื่อนล้วนพันธุ์เดียว"

"ตอนนั้นเรามีเรื่องยาวอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับจังหวะนั้นโดนว่าว่านักเขียนใหม่เขียนเรื่องเป็นตอนๆ ไม่เป็น เพราะปกติเราจะพิมพ์เป็นเล่ม ไม่เคยลงเป็นตอนมาก่อน ก็เลยส่งไป อยากบันทึกไว้ ตอนนั้นไปเที่ยว แล้วก็อยู่กับอ๊อดโต้สองคน ก็คุยอะไรกันไป" ชาติเล่าถึงที่มาของนวนิยายพันธุ์หมาบ้า ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ 2 เล่ม คือ "หลายชีวิต" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ "บางลำภูสแควร์" ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์' จึงนำเรื่องราวในหมู่เพื่อนมาบันทึกไว้ในรูปแบบนวนิยาย

ตอนที่ส่งพันธุ์หมาบ้าไปลลนานั้นเขามีต้นฉบับในมืออยู่กว่า 80 หน้าแล้ว และในทีแรกเกือบไม่ได้ใช้ชื่อนี้

เขาตั้งไว้ 2 ชื่อ คือ "คนเหล่านั้น" กับ "พันธุ์หมาบ้า" แต่สุดท้ายก็ใช้ชื่อพันธุ์หมาบ้าเพราะมันตรงเนื้อเรื่อง บอกให้คนอ่านรู้ว่าเป็นเรื่องยังไง

เมื่อตอนแรกของนวนิยายถูกตีพิมพ์ไป ปฏิกิริยาของเพื่อนๆ เป็นอย่างไร ?

"เขาก็รู้ว่ามันเป็นนิยาย บางทีตอนเขียนจะมาบอกว่า เฮ้ย! เดี๋ยวมึงไปชกไอ้นี่นะ เดี๋ยวมึงเอาฟันมันร่วงหรือเปล่า กูทำให้ อันนี้ในฉากที่เขาแย่งผู้หญิง" ชาติเล่ายิ้มๆ

ครั้นมีคนอ่านแล้วทึกทักว่าในหนังสือเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ชาติยืนยันว่าไม่ใช่ อย่างชีวิตของ "ทัย" ในเรื่องก็เป็นเรื่องของเพื่อนหลายคนมาผสมกัน แต่ "สมาคมผู้เริ่มตั้งตัวแห่งประเทศไทย" ที่ภูเก็ตนั้นมีอยู่จริงในกลุ่มเพื่อน ถึงอย่างนั้นคนอ่านหลายคนโดยเฉพาะวัยรุ่นก็ยังยึดหนังสือเล่มนี้ดุจคัมภีร์การใช้ชีวิต

"มันไม่ใช่หรอก..." ชาติว่า "ประเด็นคือเพื่อน ไม่ใช่การใช้ชีวิต ตอนเขียนเราก็คิดว่าทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้คิดว่าจะทำเลยเถิด เท่าที่เจอคนอ่านเด็กมัธยมก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่เคยมีเด็กเกษตรโทร.มา มันบอก...น้า ช่วยคุยกับเพื่อนผมหน่อย มันจะไม่เรียนหนังสือ มันจะไปเป็นอ๊อดโต้ ก็คุยโทรศัพท์กับมัน ไม่รู้ว่าตอนนี้เป็นยังไง ไม่ได้ติดตามผล เขาก็ไม่ได้โทร.มาอีก มันอาจจะไปเป็นเป็นอ๊อดโต้แล้วก็ได้"

นอกจากแก่นเรื่องเพื่อนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ชาติต้องการสื่อในนวนิยายเล่มนี้คือ

"การเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก สังเกตว่าทุกตัวละครครอบครัวมีปัญหา ทัยก็มีปัญหา อ๊อดโต้ก็มีปัญหา ล้านมันไม่กล้าเข้าบ้านเพราะกลัวแม่ ผู้ปกครองสำคัญต่อตัวเด็ก สำคัญต่อชีวิตในอนาคตของคนนั้น"

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "เพื่อน"

"20 ปี ความหมายของคำว่าเพื่อนไม่เปลี่ยนเลย เคยรู้สึกกับเพื่อนยังไงก็ยังรู้สึกอย่างนั้น" ชาติเอ่ย

การมารวมกลุ่มพันธุ์หมาบ้าที่ร้านทำเครื่องหนัง ทั้งที่สยามสแควร์และพัทยา ชาติมองว่าอาจเพราะการทำเครื่องหนังเป็นงานอิสระ ทำให้คนที่รักความอิสระมารวมกัน แต่คนที่มาก็มีทั้ง "เพื่อน" และแค่ "คนรู้จัก" แม้จะสลายตัวไปรวมกันอีกครั้งที่ภูเก็ต แต่วงจรชีวิตแบบเดิมก็ยังตามมาถึงที่นั่น

ตอนจบของนวนิยาย ชาติจบด้วยการให้หมู่เพื่อนแยกย้ายกันไปจากภูเก็ต และอ๊อดโต้ไปอยู่เยอรมัน แต่ในความเป็นจริงอ๊อดโต้จากเพื่อนๆ ไปแล้วจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีติดต่อกันบ้าง

"ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ อย่างเล็กฮิปก็ยังติดต่อกันถึงทุกวันนี้ แก่ไปอยู่ญี่ปุ่นถ้ามาก็เจอ ไอ้นี่มันแก่จริงๆ สมัยนั้นก็ 40-50 แล้วมั้ง รูปที่มันขี่ชอปเปอร์หน้าย่นนี่อ๊อดโต้เป็นคนเล่าให้ฟัง"

อ๊อดโต้...คนดีของเพื่อน ชาติให้เขาเป็นตัวละครที่โดดเด่นมากในเรื่องนี้ เราจึงขอให้เขาพูดถึงอ๊อดโต้ให้ฟัง

"มันเป็น "เพื่อน" น่ะ มันมีอันหนึ่งเป็นสิ่ง... เช้ามันก็ตื่นไปเอาน้ำขวด ข้าวห่อหนึ่งไว้กินกลางวัน แล้วก็บุหรี่ครึ่งซองไว้ให้ อย่างในเรื่องน่ะ เราก็นั่งทำงาน หน้ามรสุมไม่มีแขก มันก็ไปเล่นของมันไปเรื่อย ถ้ามันจะอยู่กับเรามันก็ไม่รู้จะทำอะไร พอตอนเย็นก็มาชวน ป่ะ...ไปกินเหล้ากัน ทุกวัน แล้วหลังจากนั้นมาก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างนั้นด้วยกันอีก คือช่วงนั้นเรามีครอบครัวแล้ว ตอนหลังมันก็มีครอบครัว ไม่มีโอกาสได้กินได้นอนเป็นสิบๆ วันอย่างนั้นอีก ถ้าจะนึกถึงอ๊อดโต้ก็จะนึกถึงช่วงนั้น"

หลายคนบอกว่าชาติเป็นนายกสมาคมนักอำแห่ง "ชาติ" แต่เมื่อดูดีกรีแต่ละคนในเรื่องแล้ว เราว่าพอๆ กัน

"มีวันหนึ่งไปเที่ยวกัน ก็นอนที่สถานีรถไฟ ตื่นขึ้นมาก็อำกันแบบ...แม่-ง บ้านเราใหญ่โว้ย รถไฟเข้ามาจอดได้ทั้งขบวน" ชาติเล่าแล้วหัวเราะเมื่อนึกถึงความหลัง แต่เพราะการใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง หรือ "ใช้ชีวิตเปลือง" อย่างที่ชาติว่า เพื่อนในกลุ่มจึงทยอยจากไปทีละคน

เชน สำลี ดำ เม็ดขนุน รัตน์ อ๊อดโต้ และอีกหลายคนที่ไม่มีชื่ออยู่ในหนังสือเสียชีวิตไปแล้ว ชาติบอกว่าไม่ใช่แค่เพราะเหล้าหรือยา แต่ร่างกายที่ใช้งานหนักก็พลอยเสื่อมทรุดเร็วไปด้วย เราถามเขาว่าเมื่อมองย้อนกลับไปมันคุ้มกันหรือไม่ "คุ้มมันคุ้มอยู่แล้ว ในแง่ประสบการณ์เราคุ้ม แต่ในแง่สภาพร่างกายมันเปลืองไง มันก็ได้อย่างเสียอย่าง ถนอมมากเดี๋ยวโดนรถชนตายก็ยังมี"

ชาติโชว์นาฬิกาเรือนโตดูทนทานที่เขาคาดอยู่ให้ดู "นี่ก็ของเชนเขา ที่เราปลดมาอย่างในเรื่องน่ะ นี่เราใส่ให้เห็นนะ เดี๋ยวแม่-งมายุ่งเลย" เขาไม่วายอำถึงเพื่อนผู้จากไป

เมื่อถามถึงเล็กฮิปว่าตอนนี้ไปทำอะไรอยู่ ชาติอำสนุกเหมือนชวนชั่วว่า "มันคงไปทำเฒ่า ทำแก่มั้ง" พลางหัวเราะชอบใจ เราจึงต่อสายโทรศัพท์ไปถึง "เล็กฮิป" หรือ เปี๊ยก เพื่อพูดคุยไม่ให้น้อยหน้ากัน

"ชาติเขาเป็นคนขี้เล่น" เปี๊ยกเอ่ยถึงเพื่อน "ในกลุ่มก็จะอำกันไปอำกันมา อำแรงๆ เยอะ"

แล้วที่ว่าอ๊อดโต้เคยเอาข้าวสารมาเสกใส่แฟนเก่าคนหนึ่งของเล็กฮิปล่ะ ?

"(หัวเราะ) เออ... อันนี้มันทำจริง เขาก็คงเป็นห่วง คือตอนนั้นเราวัยรุ่นไง เรารู้จักผู้หญิงบางครั้งเราไม่เห็นส่วนไม่ดีเขา แต่เพื่อนที่มันอยู่ข้างนอกมันก็เห็นว่า เฮ้ย...อย่าไปยุ่งนะ มันก็พยายามจะบอกเรา แต่เราก็เหมือนกับตามัว อ๊อดโต้มันก็เลยหาวิธี มันก็อำด้วยนั่นแหละ ก็ใช้ลูกนี้เลย...เอาข้าวสารมาเสก ก็ไม่ได้โกรธอะไร มองเป็นเรื่องตลกไป"

"มันเป็นกลุ่มเพื่อนที่จะคลุกคลีอยู่ด้วยกันตลอด ไปแฮงก์บ้านใครสักบ้านที่จะอยู่ได้ เราก็ไปอยู่รวมกัน อย่างไปอยู่บ้านอ๊อดโต้ แต่หลายคนก็ไม่ได้มาอยู่ด้วย เขามีบ้านก็จะมาเสาร์อาทิตย์ บางคนก็จะอยู่ที่นั่นเลยประจำ ตอนที่อยู่ภูเก็ตก็ใช้ชีวิตเหมือนฮิปปี้เลย มันไม่คิดอะไร ถ้าผมคิดผมก็คงมีที่อยู่ภูเก็ต เราไปเที่ยวแฮงค์ไป บางคนเขาจะให้ที่เราก็ไม่อยากเอา ไม่อยากมีภาระอะไร "

รักกันมากขนาดนี้ แล้วเคยทะเลาะกันแรงๆ บ้างไหม

"โอ้ย! มีอยู่แล้ว ส่วนมากคือเมาแล้วคุยกัน ชกกันตอนกลางคืน พอตอนเช้าก็ลืม มันไม่ค่อยมีเรื่องที่ทะเลาะกันจริงๆ จังๆ แค่ไอ้นี่เมาแล้วอาละวาด พอมันตื่นขึ้นมาสร่างเมาก็กลับมาเป็นอย่างเก่า ไม่โกรธกันจริงๆ จังๆ "

สิบกว่าปีผ่านมา... เพื่อนในกลุ่มตายจากไปหลายคน เปี๊ยกเล่าว่าในกลุ่มก็เริ่มคิดกันแล้วว่าใครจะเป็นรายต่อไป แต่ชีวิตก็ยังต้องดำเนินของมันต่อไป นอกจากแก่ที่ได้ภรรยาชาวญี่ปุ่นและอพยพไปอยู่ที่นั่นแล้ว ก็มีนิดที่เป็นเชฟร้านอาหารอิตาเลียนอยู่ที่นิวยอร์ก หรั่งทำงานอยู่ที่ออสเตรเลีย จ๋าอยู่อเมริกาทำหนังอยู่ในฮอลลีวูด มีเขา (เล็กฮิป) ชวนชั่ว และตุ๋ยอิตาลีอยู่ที่เมืองไทย

แต่สายใยแห่งมิตรภาพก็ไม่อาจถูกทำลายลงด้วยเวลา ระยะทาง หรือแม้แต่ความตายก็ตาม...

ร่างเงาของ "ทัย"

เป็นที่รู้กันดีว่าตัวละครในหนังสือเรื่องนี้หลายตัวมีอยู่จริง บางตัวก็เป็นการนำเรื่องราวชีวิตของหลายๆ คนมาผสมกัน สบโอกาสเราจึงนัดพบเจ้าของบุคลิกนักดนตรีของตัวละคร "ทัย" คือ "อารักษ์ อาภากาศ"

"ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบ ไม่แน่ใจว่าชาติเขาเขียนถึงใครชื่อไหน" เขาออกตัวในช่วงต้นของการพูดคุย แต่อารักษ์บอกว่าที่เขาอ่านไม่จบ ไม่ใช่เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ดี หากเพราะเป็นเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนกันที่รู้อยู่แล้ว

"ชีวิตตอนนั้นมันเหมือนความฝันน่ะ คนมารวมกลุ่มใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ร่วมกัน แล้วก็แยกย้ายจากกันไป แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็มีคุณค่า หนังสือเล่มนี้มันก็เป็นการบันทึกอย่างหนึ่ง"

เหมือนในหนังสือ – อารักษ์หรือ "ทัย" มารู้จักกับกลุ่มพันธุ์หมาบ้านี้ได้ โดยการชักนำของ "แก่" ที่เขาเรียกว่าศักดิ์ หรือ "ศักดิ์ฮิป" บ้าง ไอ้เฒ่าบ้างของเพื่อนๆ เพราะแก่อายุมากที่สุดในกลุ่ม เขาชอบแต่งกายรุงรัง ขี่ชอปเปอร์ ถือเป็นฮิปปี้รุ่นแรกๆ ของเมืองไทย

ตอนนั้นอารักษ์เป็นนักดนตรีในห้องอาหารแถบสุขุมวิท แก่ได้ฟังแล้วเกิดติดใจฝีมือเล่นกีตาร์ของเขา จึงได้พูดคุยกันและเขาก็ตามแก่ไปพัทยาจนได้รู้จักเปี๊ยก หรือ "เล็กฮิป" รวมทั้งกลุ่มเพื่อนคนอื่นๆ

"เล็กฮิปเขาเป็นคนชอบโรแมนติก ชอบสุนทรีย์ แสงแดดสายลม ชอบถ่ายรูป ว่ายน้ำ อาบแดด เขาไม่กินเหล้า"

พัทยาสมัยเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนนั้น อารักษ์บอกว่า "เหมือนแถบพังงาบางแห่งหลังจากสึนามิเข้าแล้ว" ด้วยสภาพหาดทรายและทะเลที่ยังบริสุทธิ์ไร้มลทินจากความเจริญ อย่างผับ บาร์ และการซื้อขายเซ็กซ์มากเช่นทุกวันนี้

"ตอนนั้นมีแต่กระต๊อบเรียงราย สภาพเพิงหมาแหงน มีรถเข็น มีร้านข้าวแกง ไม่มีอะโกโก้ทันสมัยหรูหรา มันก็ประหยัดในการใช้จ่าย คนอยู่คนเที่ยวมันก็เรียบง่าย"

แต่หลังจากกลุ่มที่พัทยาแตก อารักษ์จึงตัดสินใจลงไปภูเก็ตกับเล็กฮิปแล้วทำร้านอาหารและบังกะโล ช่วงนั้นเองที่ "อ๊อดโต้" มาอยู่กับเขาด้วย

"ร้านอยู่บนเนินเขา ห่างหาดกะรนหลายร้อยเมตรมองไปเห็นคนตัวเท่าขา ก็หุ้นกับพี่ยันต์ แล้วก็ชาวบ้านแถวนั้น ช่วงนั้นอ๊อดโต้มาอยู่ด้วย อ๊อดโต้ชอบทำกับข้าว เช้ามาเขาก็จะไปซื้อกับข้าวมาทำเองแต่เช้า แล้วเราเป็นคนขี้เซาเนาะ (หัวเราะ) ชอบอ๊อดโต้ตรงนี้ ทำเครื่องหนังก็เป็น เล่นกีตาร์ก็พอเป็น เต้นสนุกๆ แขกก็ชอบ"

เมื่อถามถึง "ไอ้เหลย" เด็กชายสุดแสบที่ยึดอาชีพขายเห็ดเมาแก่นักท่องเที่ยวบนเกาะ อารักษ์ทำหน้างงก่อนยิ้มกว้าง

"จำได้แล้ว เคยเห็นมัน ในช่วงนั้นที่ผมอยู่ภูเก็ตมีร้านอาหาร ไปรับรู้มาว่าคนต่างชาติจำนวนหนึ่งนอกจากมาเที่ยวทะเล ชอบกินเห็ดเมา ทีนี้นักท่องเที่ยวมันไปเก็บเห็ดเมา เด็กๆ ลูกชาวบ้านอย่างไอ้เหลยนี่มันเห็นฝรั่งไปเก็บเห็ดเมา มันก็เลยไปเก็บเห็ดเมามาขายพวกฝรั่งแทนซะเลย"

ช่วงมรสุม ไม่มีนักท่องเที่ยวอารักษ์ก็จะคว้ากีตาร์มาแต่งเพลง เขาบอกว่าได้เพลงดีๆ ช่วงที่อยู่ภูเก็ตนี้หลายเพลงเหมือนกัน

อารักษ์ทำร้านอยู่ได้กว่า 4 ปี ก็เกิดปัญหาเรื่องการแบ่งสันปันส่วนไม่ลงตัวในหมู่หุ้นส่วน จึงแตกหุ้นกันไปแต่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร ไม่กี่ปีก่อนเขามีโอกาสกลับไปที่ภูเก็ตจึงแวะไปหาดกะรน แม้จะพบความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ร้านและบังกะโลที่เคยเป็นของเขายังคงอยู่ โดยใช้ชื่อเดิมภายใต้การดูแลของหุ้นส่วนเก่า

สำหรับอารักษ์ เขาแบ่งเพื่อนกลุ่มพันธุ์หมาบ้าเป็น 2 สาย คือ สายเพื่อนเรียนเพาะช่างของชาติ และสายที่ไม่ได้เรียนในระบบ แต่เรียนโรงเรียนชีวิตด้วยวิชาการทำเครื่องหนัง

"คนสองกลุ่มนี้มาเจอกันในวัยหนุ่ม มันก็เลยมีความรักในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และแต่ละคนก็มีพื้นฐานตรงกันในเรื่องของศิลปะ แต่ก็มีรสนิยมต่างๆ กันไป หลากหลายความคิด หลากหลายความเชื่อ แต่พวกเราก็เป็นเหมือนเสรีชน รักอิสระ ดิ้นรนด้วยตัวเอง กลุ่มพันธุ์หมาบ้า...กลุ่มอ๊อดโต้ก็คือเด็กวัยรุ่นที่ไม่ชอบอยู่ในครอบครัว ก็จับกลุ่มอยู่กันเองหาเลี้ยงชีพไป แต่ในยุคนั้นก็มีเหมือนกันนะคนที่พึ่งพ่อแม่ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรมันเป็นเรื่องของชนชั้น พี่ว่าการพึ่งครอบครัวหรือไม่ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เขามีเป้าหมายอย่างไร"

ปิดท้าย...เราถามอารักษ์ว่ามิตรภาพสำหรับเขาคืออะไร

"ความจริงใจ ถ้ามนุษย์สามารถอยู่ได้ด้วยมิตรภาพได้ ก็หมายถึงว่าความปึกแผ่นทางทรัพยากร แทบจะไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะทรัพยากรมีเหลือเฟือที่จะเลี้ยง ถ้าทุกคนเข้าใจความหมายคำนี้เท่ากันทุกคนในโลก ถ้าน้ำปนกับน้ำมันมันกลืนกับน้ำมันไหม น้ำ...มันก็เป็นน้ำ ถ้าเราเอาน้ำมันออกมันก็คือมิตรภาพอันแท้จริง อันบริสุทธิ์ มิตรภาพสุดยอดคือ sincerity เป็นตัวสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นที่สุด"

ฝากถึงพันธุ์ (อยาก) หมาบ้ารุ่นหลัง

"ผมก็พยายามบอกอยู่เสมอนะว่ามันเลียนไม่ได้ อย่าเลียนเลย คือยุคนี้มันไม่เหมือนกัน คุณควรตามมุมมองในแง่ของเพื่อนมากกว่า ไม่ใช่เรื่องความเมาที่จะต้องมาตาม มองแค่เรื่องความกลมเกลียวของเพื่อน การให้ การเสียสละของเพื่อนดีกว่า หรือมองในสิ่งที่พวกเราทำผ่านไปว่าอันนี้ไม่ดี คุณก็ต้องอ่านแล้วพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าจะตามอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตามแล้ว คุณทำไม่ได้หรอกสมัยนี้ อย่างสมัยก่อนผมไปแฮงค์กับเพื่อนที่ภูเก็ตเป็นเดือนเป็นปี แต่เดี๋ยวนี้มันยากนะที่จะทำอย่างนั้น คุณก็ต้องทำงานมีเงินพอที่จะอยู่ได้" เล็กฮิปแนะถึงคนรุ่นหลังที่คิดดำเนินตามรอยพันธุ์หมาบ้า โดยเฉพาะเรื่องการยึดติดกับ "เปลือก" ของเสรีภาพในการใช้ชีวิตเสพสุข โดยที่ยังไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้

อารักษ์ อาภากาศมองว่า เนื้อหาในหนังสืออาจจะไปกระทบใจคนอ่าน ซึ่งอาจจะเป็นคนชอบทะเลอยู่แล้ว ทำให้มีแรงผลักดันมากขึ้น อยากไปใช้ชีวิตอยู่แบบนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด-ถูก

"นักอ่านถ้ามีอายุในการอ่านหน่อย ก็อาจอ่านหนังสือได้ถูกวิธี ชอบหนังสือที่มีคุณค่าได้ถูกวิธี ก็ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญา ถ้าจะจับตรงแค่ที่นวนิยายก็ต้องมีประสบการณ์เปรียบเทียบว่า อันไหนมันดีกว่ากัน แล้วมันดีแค่ไหน มันดีเชิงไหน หรือแค่เคลิบเคลิ้มไปแล้วคิดว่าดี นวนิยายของผู้ประพันธ์ที่มีอำนาจต่างกัน มันก็ผลักดันได้ไม่เท่ากัน"

ส่วนชาติ กอบจิตติ – ผู้เขียน แนะว่าถ้าจะให้เหมาะคนอ่านหนังสือเล่มนี้ควรจะอายุสักประมาณ 18 ปีขึ้นไป ไม่ใช่อะไร... เขาคิดว่าอายุคงช่วยกรองเนื้อหาแก่คนอ่านได้ในระดับหนึ่ง

เอ่อ... รู้สึกจริงจังไปใช่ไหม งั้นมาฟังอีกคำแนะนำจาก "ชวนชั่ว" เขาแล้วกัน

"ก็แนะนำให้ซื้อกันอ่าน อย่ายืมกันอ่าน เพราะว่าผมจะได้ตังค์"

                                        **
หมายเหตุ
-The Catcher in the Rye แต่งโดย JD Salinger ตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้ที่มีลักษณะเป็น 'outsider' หรือคนนอก ซึ่งเบื้องลึกในจิตใจรู้สึกแปลกแยก และขัดแย้งกับจารีตของสังคมอย่างสิ้นเชิง จัดเป็นหนังสืออมตะในใจวัยรุ่นตะวันตกหลายยุคสมัย
- "โส่ย" ภรรยาของชาติ กอบจิตติ












กำลังโหลดความคิดเห็น