ลังกระดาษสีน้ำตาลใบใหญ่ถูกยกลงจากชั้นหนังสือสูงขนาดชนเพดานลงมาวางเรียงรายอยู่ด้านหน้า ฝากล่องทั้ง 4 ด้านที่ขัดกันอยู่ถูกเปิดออกอย่างเชื่องช้าคล้ายกับจะยั่วเย้าให้แขกผู้มาเยือนได้ลุ้นระทึกอยู่ในใจว่าสิ่งใดกันแน่ที่ซ่อนอยู่ภายใน ฝุ่นผงสีเทาฟุ้งกระจายไปทั่วยามที่ชายวัยกลางคนบรรจงหยิบหนังสือเล่มบางๆ ที่มีอักษรไทยโบราณรูปร่างแปลกตาขึ้นมาให้เราดู
"ชัยพฤกษ์ การ์ตูน" คือสิ่งแรกที่เราได้เห็นบนปกหนังสือเล่มนั้น กระดาษปรู๊ฟสีเหลืองเจือน้ำตาลที่ด้านขอบมีร่องรอยของการกัดกร่อนอันเกิดจากการกระทำของกาลเวลาถูกพลิกผ่านทีละหน้าๆ ด้วยความทะนุถนอม ไม่นานหนังสือการ์ตูนนับร้อยที่ถูกจัดเก็บไว้เป็นอย่างดีก็ถูกรื้อออกมาวางเพื่ออวดโฉมแก่หนุ่มสาวผู้แปลกหน้า แม้จะเป็นเวลาเช้าตรู่แต่เจ้าของบ้านก็พร้อมที่จะยิ้มรับด้วยความเต็มใจและดีใจที่จะมีคนเข้ามาร่วมแบ่งปันความสุขจากหนังสือการ์ตูนนับหมื่นเล่มที่เจ้าของใช้เวลาเกือบค่อนชีวิตในการเก็บสะสมจนกลายมาเป็น "ห้องสมุดการ์ตูนไทย"
ห้องสมุดที่เริ่มต้นมาจากความรักและความฝัน
ห้องสมุดที่อัดแน่นไปด้วยโลกแห่งจินตนาการในวัยเยาว์
ห้องสมุดที่ใครหลายคนกำลังจะลืมเลือน......
กาลครั้งหนึ่งของการ์ตูนไทย
"บนชั้นหนังสือนี้มีแต่หนังสือการ์ตูนไทย อายุแต่ละเล่มไม่ต่ำกว่า 30 ปี ทั้งหมดนี้รวมแล้วก็ประมาณ 20,000 เล่ม ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะสะสมหรอกอาศัยว่าชอบอ่านมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ พออ่านแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเก็บสะสมไว้ จะทิ้งก็เสียดาย พอเก็บได้เยอะๆ ก็อยากที่จะให้คนอื่นเข้ามาร่วมแบ่งปันความสุขจากสิ่งที่เรารักด้วย อีกอย่างหนึ่งถ้าเราไม่ทำเด็กรุ่นใหม่ก็คงจะลืมเลือนการ์ตูนสายเลือดไทยแท้ๆอย่างนี้ไป" คุณ วรวิชญ เวชนุเคราะห์ เจ้าของห้องสมุดการ์ตูนไทย หรือคุณลุงวรวิชญ ที่แสนใจดีของเด็กๆระแวกนั้นเกริ่นนำก่อนที่จะเปิดประตูสีฟ้าบานเล็กพาพวกเราเข้าไปยังด้านในของห้องสมุด... ห้องซึ่งจะนำพาความฝันและจินตนาการให้ย้อนคืนไปยังเมื่อประมาณปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นปีที่การ์ตูนไทยเติบโตและรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด ถึงขั้นผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในแถบคาบสมุทรอินโดจีนแห่งนี้เลยทีเดียว
ในช่วงที่เป็นยุคทองของการ์ตูนไทยนั้นไม่ว่าจะเป็นหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารล้วนแล้วแต่ถูกจับจองให้เป็นพื้นที่ของการ์ตูนไทยด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งการ์ตูนผี การ์ตูนล้อการเมือง หรือแม้แต่การ์ตูนประกอบนวนิยายก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน อย่างด้านหลังของปกหนังสือพิมพ์รายวันก็ถูกยกให้เป็นพื้นที่ของ "คอมมิค สตริป" หรือการ์ตูนช่อง ส่วนเรื่องที่ลงก็จะมาจากวรรณคดีเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น พระอภัยมณี ไกรทอง ปลาบู่ทอง แต่วิธีการนำเสนอก็ไม่ได้เชยแสนเชยอย่างที่คนรุ่นใหม่หลายคนเข้าใจ เพราะแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะสรรค์สร้างให้แตกต่างกันออกไปเป็นเวอร์ชันต่างๆ
"เท่าที่จำได้ก็จะมีปลาบู่ทองนี่แหละที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีประมาณ 10 เวอร์ชันเลยทีเดียว" คุณลุงวรวิชญพูดย้ำถึงความโด่งดังของการ์ตูนไทยในสมัยก่อน
อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถการันตีความเฟื่องฟูของการ์ตูนไทยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดีก็คือภาพของแผงหนังสือที่แต่ละวันจะถูกอัดแน่นไปด้วยหนังสือการ์ตูนหลากหลายประเภท บางร้านจะนำการ์ตูนมาหนีบไม้หนีบ ห้อยเป็นแผงยาวจากเพดานลงมาระพื้น บางร้านที่มีเนื้อที่น้อยหน่อยก็จะนำการ์ตูนนับ 10 สำนักพิมพ์มาวางซ้อนแล้วซ้อนอีก ซ้อนจนแทบจะมองไม่ออกว่าเล่มไหนเป็นเล่มไหน แต่นั่นก็แทบจะไม่เป็นอุปสรรคอะไรในการหยิบฉวย เพราะเหตุผลหลักในการเลือกซื้อที่นอกเหนือมาจากเนื้อหาแล้วผู้ซื้อยังดูที่นักเขียนเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพียงแค่เห็นลายเส้นอยู่เพียงรำไรก็ทำให้บรรดาแฟนประจำทั้งหลายสามารถคาดเดาได้แล้วว่าเล่มนี้เรื่องอะไร ใครเขียน และเป็นของสำนักพิมพ์ใด
ด้วยความที่เนื้อหาและเค้าโครงเรื่องของการ์ตูนไทยส่วนใหญ่อิงแอบอยู่กับนวนิยาย วรรณคดี นิทาน และตำนาน จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่การอ่านการ์ตูนจะคล้ายกับเป็นการฝึกสมาธิในขั้นต้นๆ ทั้งยังทำให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน
"การ์ตูนแต่ก่อนตัวหนังสือเยอะมาก แต่เรื่องมันสนุกก็เลยอ่านได้แบบเพลินๆ ทั้งวัน บางครั้งมันก็ทำให้คนที่อ่านหนังสือไม่ออกต้องพยายามขวนขวายหาวิธีเพื่อให้รู้ความหมายของตัวหนังสือเหล่านั้นให้ได้" คุณลุงวรวิชญเล่าย้อนไปถึงสมัยที่คุณลุงเริ่มอ่านการ์ตูนครั้งแรก ตอนนั้นคุณลุงอายุได้ 3-4 ขวบเอง และคุณลุงก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อ่านออกเขียนได้ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อจะได้อ่านการ์ตูนที่คุณพ่อจะต้องซื้อมาฝากในตอนเย็นของทุกวันให้ได้
"จำได้ว่าตอนนั้นอ่านไม่ออกหรอกดูแค่ภาพเอา แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรเพราะการ์ตูนมันเป็นภาษาสากลนะ แค่ใช้รูปก็สามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่องแล้ว" คุณลุงวรวิชญเล่าถึงความน่าพิศวงของการ์ตูนพร้อมกับกระซิบบอกเราว่า สำหรับตัวคุณลุงเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าการ์ตูนไทยได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณลุงได้อย่างไร มารู้ตัวอีกทีก็ตอน 10 ขวบที่คุณลุงเอาการ์ตูนไปหนุนนอนแทนหมอนไปสียแล้ว
จากจุดสูงสุดสู่วัยอันร่วงโรย
หลังจากที่ตลาดการ์ตูนไทยได้ทำรายได้อย่างสูงสุดบนแผงหนังสือได้ไม่นานก็ถึงวันที่ตลาดการ์ตูนไทยต้องทรุดฮวบจนใครหลายคนไม่ทันได้ตั้งตัวเมื่อสิ่งซึ่งชาวเมืองผู้ศิวิไลซ์เขาเรียกว่า "โทรทัศน์" ได้คืบคลานเข้ามา บางสำนักพิมพ์ถึงกับต้องปิดตัวลง นักวาดหลายคนก็เริ่มทยอยเปลี่ยนอาชีพจากนักวาดการ์ตูนไทยไปวาดการ์ตูนญี่ปุ่น บ้างก็หันไปเอาดีกับงานสร้างการ์ตูนไทยแต่เปลี่ยนเป็นเวอร์ชันใต้ดิน จากคนเขียนบทก็หันไปจับตลาดนวนิยาย จนท้ายสุดแทบจะไม่เหลือคนทำงาน และตลาดการ์ตูนไทยก็ถึงวันที่ต้องปิดตัวลงอย่างเงียบๆ
"แรกๆ ก็ไม่คิดว่าตลาดหนังสือจะกระเทือนมาก เพราะเครื่องรับโทรทัศน์ในสมัยก่อนราคาแพงลิบลิ่ว อีกทั้งยังต้องซื้อเป็นเงินสดเลยไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่พอถึงปี พ.ศ. 2505 สถานีโทรทัศน์ที่ขณะนั้นมีอยู่แค่ 2 ช่อง ต่างแข่งกันผลิตรายการดีๆ ออกมาแย่งคนดู ตอนนั้นรายการโทรทัศน์จึงมีทั้งการ์ตูนและละครซึ่งเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้เงินออมในกระเป๋าของใครหลายคนเบนเป้าไปที่จอสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้างในมีคนตัวเล็กๆ เคลื่อนไหวไปมาได้" คุณลุงวรวิชญ เล่าต่อถึงผลของการสิ้นสุดยุคทองของการ์ตูนไทยว่านอกจากเด็กๆ จะติดโทรทัศน์แล้ว เด็กก็เริ่มที่จะพูดคุยกับตัวการ์ตูนในโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว
จากนั้นไม่นานการ์ตูนที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ทางจอเงินก็ถูกนำมาแปลงเป็นหนังสือครองแชมป์ตามแผงหนังสือแทนการ์ตูนไทย สิ่งที่น่าใจหายสำหรับคุณลุงก็คือการที่ได้เห็นหนังสือการ์ตูนไทยเหล่านั้นถูกโละออกจากแผงไปกองไว้หลังร้านไม่ต่างอะไรกับขยะกองหนึ่ง และนี่เองคือเหตุผลที่ทำให้คุณลุงคิดที่จะก่อตั้งห้องสมุดการ์ตูนไทยแห่งนี้ขึ้นมา
"ลุงรักการ์ตูนไทยและลุงก็ไม่อยากให้ลูกหลานหลงลืมการ์ตูนที่มีสัญชาติไทยแท้อย่างนี้ไป" คุณลุงวรวิชญ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตัดพ้อ
แกะรอย...ตามล่าหาการ์ตูนไทย
"ที่นี่จะรวมการ์ตูนไทยที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ขึ้นไป มีทั้งที่เก็บมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ทั้งที่ได้รับบริจาคมาจากเพื่อนฝูงและคนที่รู้ข่าว แต่นั่นก็ยังไม่พอเพราะการ์ตูนไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว เราต้องออกตระเวนหาและศึกษามันอยู่เรื่อยๆ" คุณลุงวรวิชญเล่าถึงภารกิจสำคัญของห้องสมุดการ์ตูนไทยแห่งนี้ นั่นคือแต่ละสัปดาห์คุณลุงจะต้องออกตระเวนหาซื้อการ์ตูนไทยทั้งเก่าและใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และนี่เองที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณลุงเต็มใจที่จะลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาทำงานห้องสมุดอย่างเต็มตัว
ก่อนที่จะมาทำทั้งผู้จัดการ ผู้จัดซื้อ บรรณารักษ์ ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาดให้แก่ห้องสมุดแห่งนี้ คุณลุงเล่าให้ฟังว่าคุณลุงเคยทำงานอยู่ในโรงพิมพ์มาก่อน ทำทั้งฝ่ายผลิต ดูแลห้องฟิล์ม ไปจนถึงทำเพลต "ตอนนั้นเริ่มงานตอน 4 โมงเย็น ออกงานตอนตี 1 พอตื่นมา 6โมงเช้าก็จะมาทำห้องสมุดต่อ แต่ทำได้ไม่นานพอบ่าย 3 โมงก็ต้องแต่งตัวไปทำงานที่โรงพิมพ์ต่อ เลยคิดว่ายังทำได้ไม่เต็มที่เลยลาออกมาทำห้องสมุดอย่างเดียวดีกว่า คิดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่า" คุณลุงวรวิชญเล่าถึงเหตุผลที่ต้องลาออกจากงาน พร้อมยังบอกว่าที่เลือกทำงานโรงพิมพ์ก็เพราะความรักในการ์ตูนเช่นกัน ในตอนนั้นคุณลุงเลือกทำที่โรงพิมพ์เพียงเพื่ออยากจะรู้ว่า กว่าจะออกมาเป็นการ์ตูนที่คุณลุงรักเขาต้องทำอย่างไรกันบ้าง
"โรงพิมพ์ก็เป็นงานที่ลุงรัก แต่การ์ตูนคือสิ่งเป็นแรงผลักให้ลุงเข้าไปทำงานโรงพิมพ์ และในเมื่อสิ่งที่ลุงรักกำลังจะจางหายลุงก็ไม่ลังเลที่จะนำสิ่งนั้นกลับคืนมา และลุงก็อยากจะให้คนรอบข้างได้ร่วมแบ่งปันความสุขจากสิ่งที่ลุงรักด้วย" นี่คือพลังที่ผลักดันให้คุณลุงลุกขึ้นมาก่อตั้งห้องสมุดการ์ตูนไทยเพียงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักกับเสน่ห์และสิ่งดีๆ ที่สรรค์สร้างอยู่ในการ์ตูนไทย...การ์ตูนที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะจับต้องอีกต่อไป
เริ่มต้นจากรักกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่
นอกจากการแกะรอยตามหาการ์ตูนเมื่อครั้งก่อนเก่าแล้วอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นงานสำคัญของห้องสมุดนี้คือ "การบันทึกประวัติศาสตร์การ์ตูนไทย" ทุกวันคุณลุงจะนำการ์ตูนมาถ่ายสำเนาเก็บไว้ทั้งในรูปของเอกสารและแผ่นซีดี ไม่เพียงแต่ถ่ายสำเนาเก็บไว้เท่านั้นคุณลุงวรวิชญยังทำหน้าที่เป็นนักวิจัยศึกษาค้นคว้าทุกเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือการ์ตูนเหล่านั้น
"การ์ตูนเหล่านี้ก็เหมือนกับบันทึกทางประวัติศาสตร์เล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง เมื่อสภาพบ้านเมืองเปลี่ยน เนื้อหาในการ์ตูนก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อย่างในช่วง 14 ตุลา เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ซึ่งนี่ก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของคนในรุ่นนั้น" คุณลุงวรวิชญเล่าต่อไปถึงความสำคัญของการ์ตูนต่อประวัติศาสตร์ไทย
แม้ห้องสมุดแห่งนี้จะก่อตั้งมาเป็นเวลาร่วม 15 ปี แต่ก็ยังมีหนังสืออีกเป็นจำนวนมากที่คุณลุงยังไม่ได้หยิบขึ้นมาถ่ายสำเนาเก็บไว้เป็นหนึ่งในหน้าของสมุดบันทึก เพราะในความคิดของคุณลุงหนังสือหนึ่งเล่มอาจหมายถึงหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งหน้า ไม่ใช่แค่หยิบขึ้นมาถ่ายสำเนาแล้วพับเก็บแต่คุณลุงต้องใช้เวลาถึงครึ่งค่อนวันในการศึกษาและวิเคราะห์หนังสือเล่มนั้นๆ
"ถ้าเราไม่ศึกษาเราก็จะไม่รู้ว่าการ์ตูนไทยมีส่วนในการสรรค์สร้างสิ่งดีงามให้กับอย่างไร และคนรุ่นหลังคงจะรู้จักการ์ตูนไทยในแง่ที่เป็นของเชย เป็นของเก่าไปเสียหมด" คุณลุงวรวิชญพูดย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาการ์ตูนไทย
และเมื่อเราย้อนถามไปว่าคุณลุงคิดที่จะเอาหน้าประวัติศาสตร์ที่คุณลุงบันทึกไว้ออกไปเผยแพร่บ้างรึเปล่า??? คุณลุงก็ตอบกลับทันทีว่า "เคยคิดไว้ว่าอยากจะเอาการ์ตูนเหล่านี้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพราะจะให้เด็กๆ รุ่นนี้เข้ามาอ่านการ์ตูนที่ห้องสมุดก็เห็นจะยากเต็มที เราเอาขึ้นทางอินเทอร์เน็ตคงจะมีคนเข้ามาอ่านบ้าง แต่เราทำอยู่คนเดียวก็คงจะไม่ค่อยไหว"
ณ วันนี้ ห้องสมุดการ์ตูนไทย อาจร้างไร้ซึ่งแขกผู้มาเยือน แต่ทว่ากลิ่นอายของความรักที่คุณลุงมีให้แก่การ์ตูนไทยเหล่านี้ยังคงตลบอบอวลไปทั่ว ตอนเช้าคุณลุงยังเดินออกไปปากซอยเพื่อดูว่าวันนี้มีการ์ตูนเล่มใหม่ออกบ้างรึเปล่า บ่ายคล้อยคุณลุงยังคงง่วนอยู่ที่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องสแกน เย็นๆ คุณลุงจะเอาสิ่งที่ได้รวบรวมมาทั้งวันมาจดลงสมุดบันทึก บางครั้งคุณลุงก็ออกตระเวนไปตามร้านขายของเก่าเผื่อว่ายังมีหนังสือการ์ตูนเล่มไหนที่ยังคงหลงหูหลงตาคุณลุงไป
ห้องสมุดการ์ตูนไทยแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่ในการต่อเติมหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของการ์ตูนไทยต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดตราบชั่วชีวิตของคุณลุง
ชั้นวางหนังสือหลายชั้นยังว่างเปล่าหวังเพียงว่าเย็นนี้คุณลุงจะซื้อหนังสือเล่มไหนมาเติมเต็ม ความรักของคุณลุงที่มีต่อห้องสมุดแห่งนี้ก็กำลังรอเด็กรุ่นใหม่เข้ามาแบ่งปันและเติมเต็มอีกเช่นกัน
** ห้องสมุดการ์ตูนไทยตั้งอยู่กลางซอยพญานาค ข้างโรงเรียนกิ่งเพชร ถ.เพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ( ถ้าจะแวะมาควรโทร.บอกล่วงหน้าที่เบอร์ 02-215-2258 )
****
ธนาคารการ์ตูน...มุมแบ่งปันเพื่อผู้ด้อยโอกาส
พอพูดถึงห้องสมุดแห่งจินตนาการก็อดไม่ได้ที่จะไม่เอ่ยถึง "ธนาคารการ์ตูน" ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์เยาวชนวัดมหาธาตุ โรงเรียนวัดมหาธาตุ ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานครนี่เอง ธนาคารการ์ตูนแห่งนี้ไม่ได้มีไว้รับ - ฝากเงิน ไม่ได้มีไว้ปล่อยกู้หรือปลดหนี้ แต่ธนาคารแห่งนี้เป็นสถานที่ที่รวบรวมหนังสือการ์ตูนทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่นับร้อยนับพันเล่ม มีตั้งแต่การ์ตูนไทย การ์ตูนญี่ปุ่นตาหวาน การ์ตูนจีนกำลังภายในไปจนถึงการ์ตูนผจญภัยของฝรั่ง นอกจากจะมีการ์ตูนให้เลือกอ่านได้อย่างเพลิดเพลินแล้วที่นี่ยังมีนิตยสารให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ระแวกนั้นได้แวะเวียนมาอ่านอีกด้วย
ที่เรียกว่าธนาคารการ์ตูนก็ด้วยเหตุผลที่ว่านอกจากจะให้บริการอ่านหนังสือการ์ตูนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแล้ว ที่นี่ยังรับฝากหนังสือการ์ตูนแถมมีการจ่ายดอกเบี้ยให้ได้ชื่นใจด้วย แต่ดอกเบี้ยของธนาคารการ์ตูนแห่งนี้ไม่ได้แตกดอกออกผลในรูปของเงินตราแต่อย่างใด เพราะที่นี่จ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบของความฝันและจินตนาการ
"ถ้าเด็กเอาการ์ตูนมาฝาก 3 เล่ม ก็จะสามารถยืมการ์ตูนกลับบ้านได้ 5 เล่ม" ผู้ดูแลธนาคารการ์ตูนเล่าให้ฟังถึงกฎกติกาง่ายๆ ของธนาคารแห่งนี้
การนำการ์ตูนมาฝากก็คล้ายกับการแบ่งปันหนังสือกันอ่าน ที่ธนาคารการ์ตูนแห่งนี้จึงมีหนังสือการ์ตูนทั้งใหม่เก่าหมุนเวียนกันอย่างไม่ขาดมือ นอกจากการฝากแล้วหนังสือส่วนใหญ่ของที่นี่ยังมาจาการรับบริจาคด้วยทั้งจากสำนักพิมพ์ และจากผู้ใจดีที่เห็นความสำคัญของการอ่านทั้งหลาย เพราะคนที่มาใช้บริการธนาคารแห่งนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กๆ ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการซื้อหาหนังสือการ์ตูนดีๆ เหล่านี้มาอ่าน ธนาคารการ์ตูนแห่งนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเปิดโลกแห่งจินตนาการของเด็กๆ ที่ขาดโอกาสได้โลดแล่นไปได้อย่างกว้างไกล
เมื่อครั้งที่เปิดทำการใหม่ๆ ที่นี่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นธนาคารแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ที่ช่วยถักทอสายสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้เข้มแข็งและอบอุ่นขึ้นอีกด้วย อย่างในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ภาพที่จะเห็นจนชินตาก็คงไม่พ้นภาพคุณพ่อ คุณแม่ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวบ้านระแวกนั้นอุ้มลูกจูงหลานมานั่งอ่านหนังสือที่ธนาคาร บ่ายหน่อยก็ชวนกันออกไปหาข้าวกิน บ้างก็พากันออกไปกินไอศกรีมกะทิสดใต้ต้นไม้ใหญ่กลางลานวัด....
ผ่านมา 6 ปี แล้วสำหรับธนาคารแห่งนี้ แม้ปัจจุบันผู้คนที่เข้ามาใช้บริการจะบางตาลงไปมาก แต่ที่นี่ก็คงยังยืดหยัดที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเปิดโลกของเด็กที่ขาดโอกาสต่อไป