สำหรับคนเป็นพ่อแม่… การที่ลูกของตนเป็นเด็กฉลาด มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าเด็กอื่น ย่อมนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ครอบครัว
สำหรับประเทศชาติ เด็กผู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเหล่านี้ คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ
ใครเลยจะรู้ว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือมีแววเป็นอัจฉริยะได้นั้น กลับต้องทนทุกข์ทรมานจากความสามารถของตัวเอง เพราะสังคมไทยยังขาดความรู้ ความเข้าใจกระทั่งกลายเป็นการทำลายโอกาสการพัฒนาเป็นอัจฉริยะของพวกเขาในที่สุด
เรียกได้ว่า อัจฉริยะก็ทุกข์เป็นเหมือนกัน
เรื่องของน้องปืน
เด็กชายอายุเพียง 2-3 ขวบ แต่กลับแตกฉานภาษาอังกฤษเกินตัว เขาพูดภาษาอังกฤษสำเนียงดีเลิศ จนคนรอบข้างพากันประหลาดใจ
จะไม่ให้แปลกใจอย่างไรไหว ก็น้องปืนอายุยังน้อยอย่างนี้ มิหนำซ้ำเขาเป็นเพียงหลานชายชาวประมงธรรมดาๆ แห่ง จ.ระนอง ไม่ใช่ลูกหลานคนร่ำรวยเก่งกาจ ที่เงินและความรู้สามารถบันดาลให้ฉลาดล้ำเลิศขึ้นสักเพียงไหนก็ได้
น้องปืนจึงถือเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือมีแววพัฒนาเป็นอัจฉริยะได้ในอนาคตคนหนึ่ง
แต่ทว่าความสามารถพิเศษนั้น ทำให้น้องปืนกลายเป็นเด็กมีปัญหา!
………………………
บนรถยนต์ป้ายทะเบียนระนองที่กำลังมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งมองออกไปนอกหน้าต่างด้วยความสนใจ มองเผินๆ เขาดูคล้ายกับเด็กทั่วไปที่มักตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมแปลกใหม่
แต่หากสังเกตจะพบว่าแววตาของเขากลับมีแววเพ่งพินิจเกินวัยนัก
"ดูผู้บริหารกรุงเทพมหานครสิครับ เขาช่างมีวิสัยทัศน์กว้างไกลจัง จัดระบบการจราจรได้ดีจริงๆ"
คนทั้งรถหันมามองคนพูดพร้อมกัน ก็มันน่าทึ่งน้อยอยู่หรอกหรือ เมื่อได้ยินคำว่า "วิสัยทัศน์" จากปากเด็กอายุเพียง 3 ขวบ
สำหรับคนที่เพิ่งรู้จักน้องปืนอาจอมยิ้มด้วยความเอ็นดู แต่สำหรับตาและอาจารย์ผู้เป็นรองผอ.โรงเรียนของเด็กชายแล้ว ทั้งคู่ซ่อนความหนักใจไว้เงียบๆ โดยมีความกังวลร่วมกันถึงอนาคตของน้องปืน
ใช่แล้ว… อนาคต – คุณอ่านไม่ผิดหรอก แต่ทำไมพวกเขาต้องเป็นกังวลด้วยเล่า เด็กมีแววอัจฉริยะอย่างเขาเป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ ?
เรื่องราวของน้องปืนถูกถ่ายทอดให้ฟัง…
ในสายตาของครู น้องปืนคือเด็กมีปัญหา สมาธิสั้น ไม่สนใจการเรียน ขณะที่เพื่อนๆ นั่งเรียนหนังสืออยู่ เขากลับเดินพล่านไปทั่วห้อง เพื่อหากิจกรรมหรือหนังสือที่น่าสนใจอ่าน แน่นอน, มันต้องเป็นสิ่งที่เขายังไม่รู้มาก่อน
น้องปืนจึงมักโดนครูทำโทษเป็นประจำ
เพื่อนๆ มองน้องปืนเป็นเด็กเกเร ไม่มีใครอยากเล่นด้วย ถึงมี…ก็คุยกับน้องปืนไม่รู้เรื่องอยู่ดี
"เพื่อน" ของน้องปืน จึงเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน ส่วนใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ที่ให้คำปรึกษาแก่เขาได้อย่างเข้าใจ และเมื่อน้องปืนเดินทางมาที่ มศว และรู้ว่าเขาไม่ได้เป็นเด็กมีปัญหา แต่เป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษโดดเด่น เขาจึงมีที่ปรึกษาเพิ่มอีกคนคือ ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ นักวิชาการคนแรกๆ ของประเทศไทยที่สนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ Gifted หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
ผศ.ดร.อุษณีย์เล่าว่า เคยมีเด็กที่มีความสามารถพิเศษอายุ 3 ขวบ โทรมาคุยกับอาจารย์ในประเด็นที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่ายาก เช่น เรื่องชีวิตคืออะไร มนุษย์เราเกิดมาทำไม เรื่องเกี่ยวกับปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศาสนา การเมือง แม้กระทั่งเรื่องภาวะผู้นำ
แต่ถึงแม้จะเป็นอัจฉริยะ แต่เด็กก็ยังคือเด็กอยู่วันยังค่ำ ต่อให้ผู้ใหญ่สามารถตอบสนองความอยากรู้ หรือสนทนาทางความคิดกับพวกเขาได้ แต่ช่องว่างระหว่างวัยก็ยังปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ผศ.ดร.อุษณีย์กล่าวว่าเด็กกลุ่มนี้จึงมีทั้งความขัดแย้งภายในตัวเองและความขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมภายนอก ส่งผลให้กลายเป็นคนมีปัญหาด้านบุคลิกภาพและไม่ค่อยมีทักษะด้านสังคม หรือมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น
เส้นแบ่งของ "เก่ง" กับ "อัจฉริยะ"
จาก "ทฤษฎีและข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการหาแววเด็ก" โดย ผศ.ดร.อุษณีย์ ระบุว่า ในอดีตเด็กเก่งมักถูกเรียกกันด้วยคำต่างๆ อาทิ เด็กฉลาด เด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีพรสวรรค์ เด็กอัจฉริยะ ในศัพท์สากลก็มีหลายคำที่ใช้กันทั่วๆ ไป เช่น precocious accomplishment, smart , genius หรือ talented ฯลฯ แต่ละคำก็มีการตีความหมายไปหลายๆ แบบ ซึ่งผศ.ดร.อุษณีย์บอกว่าไม่มีอะไรผิดถูก แต่พบว่ามักมีการสับสนว่าเด็กเก่งหมายถึงอย่างไรกันแน่ และมักทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างความเก่งที่แสดงให้เห็นชัดเจน กับความเก่งที่แฝงเร้นอยู่ แล้วมักลงเอยด้วยการให้ความสำคัญกับความเก่งที่แสดงออกมา
ประเด็นที่มักเข้าใจผิดกันก็คือ ความเชื่อที่ว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษ คือ เด็กที่เก่งรอบด้าน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะคนเก่งส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงความสามารถหลายๆ ด้านในระดับโดดเด่น อย่างไรก็ตาม มีบุคคลบางคนมีความสามารถมากกว่า 1 ด้าน เช่น ลีโอนาโด ดาร์วินชี ที่เป็นทั้งจิตรกร สถาปนิก ฯลฯ จนแยกไม่ออกว่าเขาเด่นด้านไหนมากกว่ากัน หรือม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มีความเก่งทัดเทียมกันหลายๆ ด้านในตัวเอง
อีกประเด็นหนึ่ง คือ เด็กเก่งๆ มักจะถูกเรียกว่า เด็กอัจฉริยะ ซึ่งผศ.ดร.อุษณีย์และนักวิชาการหลายท่านมีความเห็นว่า คำว่า "อัจฉริยะ" ควรจะใช้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ยอมรับระดับสากล และที่สำคัญต้องเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ คำว่า "อัจฉริยะ" จึงเป็นคำที่ควรใช้เรียกเด็กที่มีแววเด่นมากๆ ซึ่งเด็กที่ถูกเรียกเช่นนี้ก็มีทั้งผลดีและผลเสียต่อตัวเด็ก เนื่องจากคนทั่วไปและแม้แต่คนในแวดวงการศึกษาเองก็ยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเด็กที่อาจมีแววเด่นกว่าเด็กอื่นๆ ทำให้มีการปฏิบัติที่ผิดๆ
นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่ถูกเคี่ยวกรำมาอย่างหนักจนมีผลงานคล้ายๆ เด็กที่เก่งมาก อาจถูกเรียกว่าเด็กอัจฉริยะ ซึ่งผศ.ดร.อุษณีย์บอกว่ามีศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า "อัจฉริยะเทียม" ส่วนเด็กที่มีพรสวรรค์จริงเมื่อฉายแววออกมาหลายคนอาจไม่เข้าใจ หรือที่พบบ่อยคือไม่เคยมีโอกาสฉายแววที่แท้จริงออกมา ทำให้ไม่มีโอกาสพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ได้
'Gifted' พรหรือคำสาป
"อย่าไปยุ่งกับมัน เด็กคนนี้มันกลับชาติมาเกิด มันระลึกชาติได้ มันถึงจำได้ รู้ภาษาอย่างผู้ใหญ่ ทิ้งมันไว้อย่างนี้แหละ เดี๋ยวพอมันลืม มันก็หาย!"
เชื่อหรือไม่ว่านี่คือคำพูดที่หลุดจากปากบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักการศึกษา" ของประเทศไทย !!!
ถ้าหากบุคลากรด้านการศึกษาของชาติยังคิดได้แค่นี้ อนาคตเด็ก Gifted ของไทยคงมืดมัวแน่ๆ
ในช่วงแรกของการทำงานเกี่ยวกับ Gifted ในเมืองไทยของ ผศ.ดร.อุษณีย์ จึงเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงก็ทำให้ผลงานด้านต่างๆ ของผศ.ดร.อุษณีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ปัจจุบัน ผศ.ดร.อุษณีย์ ดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ผศ.ดร.อุษณีย์ อธิบายถึงเด็กที่มีลักษณะพิเศษว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษไม่ใช่กลุ่มเด็กที่มีความสามารถเหมือนกัน แต่ละคนจะมีลักษณะการเรียนรู้ การแสดงออก การประมวลข้อมูล หรือบางคนก็ไม่ได้แสดงอะไรออกมาให้เห็นเด่นชัด
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กเหล่านั้นไม่ใช่เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เพราะความสามารถพิเศษใดๆ ก็ตาม เป็นกระบวนการ มีพัฒนาการที่เป็นขั้นตอน เด็กที่มีศักยภาพโดดเด่นในระดับอัจฉริยะ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนหรือกระตุ้นให้ความสามารถนั้นๆ ได้แสดงออกและฝึกปรือแล้ว ความสามารถนั้นก็จะหายไป
จึงไม่น่าประหลาดว่าคนที่มีสติปัญญาปราดเปรื่องในวัยเด็ก กลับไม่ได้แสดงความเป็นอัจฉริยะเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ จากประสบการณ์ของ ผศ.ดร.อุษณีย์ ที่ได้พบเด็กที่มีความสามารถพิเศษสูงเป็นประจำ ทำให้ได้พบว่ามีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในเรื่องเด็กที่มีความสามารถพิเศษมากมาย จึงทำให้เด็กจำนวนมากที่น่าจะประสบผลสำเร็จในชีวิตและช่วยเหลือสังคมได้ กลับกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีผลสำเร็จใดๆ เลย
น้องเก่ง เป็นเด็กที่มี IQ สูงมาก เมื่อจิตแพทย์ส่งตัวมาพบผศ.ดร.อุษณีย์ เด็กคนนี้เก็บตัวอยู่ในโลกส่วนตัวตามลำพัง พ่อแม่ทราบดีว่าลูกมีพรสวรรค์โดดเด่นหลายอย่าง แต่ไม่ต้องการให้ลูกแตกต่างจากเด็กคนอื่น ตัวเด็กเองก็พยายามปกปิดความสามารถเมื่ออยู่ที่โรงเรียน อีกทั้งพยายามทำลายศักยภาพของตัวเอง เพื่อที่จะได้เหมือนคนอื่น
ครูอนุบาลเห็นแววของนักเรียนคนหนึ่งอย่างชัดเจนว่าเป็นเด็กที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่โดดเด่น แต่เมื่อผศ.ดร.อุษณีย์ ตามไปที่โรงเรียนประถมของเด็กคนนั้น ครูกลับบอกว่า เด็กคนนี้ท่าทางจะเป็นปัญญาอ่อน!
นี่คือตัวอย่างของเด็กที่มีความสามารถพิเศษส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องเผชิญกับความเข้าใจผิดอยู่อีกมากมาย เพราะความไม่เข้าใจของพ่อแม่หรือครูอาจารย์ แต่ก็ยังมีเด็ก Gifted บางส่วนที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหา รักษาความสามารถพิเศษของตนเอาไว้ เพื่อสักวันหนึ่งอาจจะเจียระไนแววเก่งจนกลายเป็นอัจฉริยะในอนาคตได้
เอ็มมิลี่
เอ็มมิลี่เป็นเด็กหญิงลูกครึ่งไทย-ฮ่องกง แน่นอนว่าเธอเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งอาจเข้าขั้นอัจฉริยะ
เด็กหญิงวัยไม่เกิน 8 ขวบผู้นี้ เป็นหนึ่งในนักศึกษาทางด้านฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา
และเอ้อ…เอ็มมิลี่มีปัญหากับระบบการศึกษาไทย
เอ็มมิลี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างเด็กไทยที่มีแววอัจฉริยะ ที่ต้องเผชิญอุปสรรคนานาจากความไม่เข้าใจของสังคม แต่ผู้ปกครองของเธอไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้มาขัดขวางศักยภาพของบุตรหลาน
เมื่อสังคมไทยไม่มีที่สำหรับเด็กแบบเธอ ต่างประเทศที่เปิดกว้างสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษมากกว่า จึงกลายเป็นตำแหน่งแห่งที่ของเด็กหญิงผู้ที่มีเลือดไทยกว่าครึ่งในตัว
แล้วประเทศไทยก็สูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าอีกคนไปอย่างน่าเสียดาย
"ระบบการศึกษาของเมืองไทยยังเป็นเหมือนกับขนมชั้น ที่แบ่งว่าพออายุเท่านี้ๆ ต้องเรียนอยู่ระดับนี้ ทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษหลายคนต้องทำลายศักยภาพตัวเองด้วยการทำให้ช้าลง ขณะที่ในต่างประเทศ เด็กอายุ 12 สามารถเข้าเรียนโรงเรียนแพทย์ได้ ดิฉันอยากเห็นการทำลายระบบ ทำลายกำแพงประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย" ผศ.ดร.อุษณีย์แสดงทัศนะต่อระบบการศึกษาไทยที่กลับกลายเป็นตัวสร้างความทุกข์แก่เด็กเก่งเหล่านี้
"บ๊วย" ที่ไม่บ๊วย
เช้าวันหนึ่ง ในห้องเรียนชั้นอนุบาล 2 ของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง
"เอ้า! นักเรียน อ่านออกเสียงตามคุณครูนะคะ เอ บี ซี ดี…" ครูสาวชี้ที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัวให้เด็กๆ อ่านตาม แต่พอถึงตัว H กลับมีเสียงเล็กใสแต่ดังฉาดฉานแทรกเสียงเด็กคนอื่นขึ้นมาว่า
"อ่านว่า 'เอช' ไม่ใช่ 'เฮ็ด' ครับครู ถ้าเฮ็ดก็ 'เฮ็ดหยัง' สิ"
ครูสาวมองไปที่เด็กชายต้นเสียงอย่างไม่พอใจ ใบหน้าแดงสลับขาวด้วยความโกรธ
"เด็กชายดิเรก เธอออกไปยืนข้างนอกห้อง แล้วไม่ต้องมารบกวนเวลาครูสอนอีก เพื่อนๆ เขาจะเรียนหนังสือกัน !"
ด.ช.ดิเรก หรือน้องบ๊วยเดินออกมารับโทษตามที่ครูสั่งอย่างงวยงง ในดวงใจเล็กๆ ตอนนั้นคงนึกสงสัยว่าเขาทำอะไรผิดไปหนอ คุณครูถึงได้ทำท่าไม่พอใจและลงโทษเขาบ่อยนัก
ถ้าน้องบ๊วยจะผิด ก็คงเป็นที่เขารู้มากกว่าครู…
นับแต่วันนั้นเมื่อเด็กชายกลับไปถึงบ้าน เขาก็ไม่ใส่ใจ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่พ่อของเขาสอนให้เป็นประจำอย่างเคย น้องบ๊วยบวกลบเลขได้ตั้งแต่อนุบาล 1 ท่องสูตรคูณและหารเลขได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 (พอขึ้นอนุบาล 3 น้องบ๊วยก็ทำเลขระดับ ป.4 ได้แล้ว) แต่ตอนนั้นเขากลับต่อต้านวิชาที่เคยชื่นชอบ และยังเริ่มมีนิสัยก้าวร้าวขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ดุสิต พรหมสาขา ณ สกลนคร คุณพ่อของน้องบ๊วยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกชายอย่างกังวล เขาและภรรยาตกลงว่าจะพาน้องบ๊วยไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในตอนนั้น เขาไม่รู้ว่าลูกชายจะเป็นเด็ก Gifted กระทั่งคุณหมอแนะนำให้เขามาพบกับ ผศ.ดร.อุษณีย์
ผศ.ดร.อุษณีย์ แนะนำให้คอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กชายว่า การแสดงออกถึงความก้าวร้าวของเขานั้นมีสาเหตุมาจากอะไร จนกระทั่งเขาทราบว่าน้องบ๊วยมีปัญหากับครูที่โรงเรียน เพราะความสามารถเกินวัย ดุสิตจึงเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูน้องบ๊วยใหม่ กระทั่ง 2 เดือนให้หลัง น้องบ๊วยก็กลับมาเป็นเด็กร่าเริง สุภาพเรียบร้อยเหมือนเก่า
ครั้นพอน้องบ๊วยเตรียมจะขึ้นอนุบาล 3 ดุสิตจึงย้ายเด็กชายมาสอบเข้าที่ ร.ร. สาธิต มศว ประสานมิตร ตามคำแนะนำของผศ.ดร.อุษณีย์ จนกระทั่งจบป.6 และไปเรียนต่อมัธยมที่ ร.ร.สาธิตปทุมวัน
ทุกวันนี้น้องบ๊วยมีความสุขกับการเป็นเด็กมีความสามารถพิเศษ เขาไม่ปฏิเสธพรสวรรค์ของตนอีกต่อไป น้องบ๊วยหรือ ด.ช.ดิเรก เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ Math Gifted หรือเด็กที่มีอัจฉริยภาพทางด้านคณิตศาสตร์ ของ สสวท. ให้ร่วมเข้าค่ายอบรมที่ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนอีกแห่งที่เปิดรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง
"แม้ถูกปิดด้วยระบบโรงเรียนและครู แต่มีเด็กอีกหลายรายที่พ่อแม่เข้าใจ และพยายามเลี้ยงดูด้วยความรักและความเข้าใจอย่างถูกต้อง อยากจะฝากความหวังไว้กับพ่อแม่ เพราะว่างานวิจัยชี้ชัดว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กที่มีลักษณะพิเศษ พยายามเลี้ยงดูโดยให้เวลากับลูก สังเกตว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และที่สำคัญคือ อย่าคาดหวัง ถึงเขาจะมีแววมีความสามารถพิเศษ ก่อนจะส่งเสริมก็ควรดูก่อนว่าเขาชอบหรือเปล่า ต้องให้เขาเป็นในสิ่งที่อยากเป็น สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องฝึกในเรื่องความอดทนให้ลูก ลูกจะทำอะไรต้องทำให้เสร็จ นั่นล่ะคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกเป็นคนเก่ง" ผศ.ดร.อุษณีย์ฝากท้ายถึงพ่อแม่ที่มีลูกมีแววเป็นอัจฉริยะ
**********
ผู้ปกครองที่สนใจสามารถพาบุตรหลานไปศูนย์วัดศักยภาพ ซึ่งทาง มศว ได้ร่วมกับสภากาชาดไทย,ร.ร.ไผทอุดมศึกษา ถนนวิภาวดีและ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ศาลายา ให้บริการวัดแววความสามารถพิเศษแก่เด็กไทย