xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งชื่อหนังให้โดนใจ เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นสิ่งใกล้ตัว เป็นสิ่งที่เห็นกันจนชินตากระทั่งกลายเป็นเรื่องที่ใครต่อใครอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจใคร่รู้กันสักเท่าไหร่ แต่จะมีใครรู้บ้างหรือไม่ว่า บรรดาชื่อหนังภาษาไทยที่ถูกตั้งให้กับภาพยนตร์จากต่างประเทศเหล่านี้ จะมีนัยและเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย

ว่ากันตั้งแต่เส้นทางกว่าจะเป็นชื่อหนัง (ไทย) สักเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่ง่ายเพราะต้องอาศัยทั้งหลักทางจิตวิทยาไปจนกระทั่งเรื่องของไสยศาสตร์…

ความจำเป็นของการที่จะต้องมีชื่อไทยทั้งๆ ที่ชื่อเดิมของบ้านเขาเมืองเขาก็ไพเราะเพราะพริ้งอยู่แล้ว เรื่อยไปจนถึงข้อสงสัยที่ว่าการตั้งชื่อหนังเหล่านี้ซึ่งโดยส่วนมากจะไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิม บางชื่อก็ชวนให้ตลกขบขัน ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการทำลายคุณค่าของภาพยนตร์ไปหรือไม่?



กว่าจะเป็นชื่อหนังสักเรื่อง

เชื่อว่าทุกคนคงจะต้องมีวิธีการทำงานที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเพราะด้วยประสบการณ์ที่สะสมมายาวนานไม่เท่ากัน หรือมาจากแนวความคิด-ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน หรือจินตนาการพรสวรรค์ที่มีมาก-น้อยต่างกัน ก็เลยทำให้กรรมวิธีตั้งชื่อหนังจากภาษาต่างชาติเป็นภาษาไทยของแต่ละคนออกมาแบบสไตล์ใครสไตล์มัน

หนึ่งในผู้ที่ตั้งชื่อไทยได้คลาสสิกและเป็นที่จดจำได้มากที่สุดคงจะเป็นใครไปได้นอกจาก ผศ.ดร.ชวนะ ภวกานันท์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาโฆษณา ผู้บุกเบิกการตั้งชื่อหนังตั้งแต่สมัยวิดีโอเรื่อยมากระทั่งหนังโรงและหนังแผ่นทั้งหลายเฉพาะอย่างยิ่งที่กลายเป็นโลโก้ไปแล้วก็คือหนัง "ตระกูลฟัด" และ "คนเล็ก" โดยขณะนี้เจ้าตัวก็ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่ กับการนั่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารการตลาดของบริษัท สหมงคลฟิล์มซึ่งไม่ว่าจะเป็นหนังที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ หรือหนังแผ่นทั้งวีซีดีและดีวีดีล้วนผ่านมันสมองของท่านกลั่นกรองคำจนออกมาเป็นชื่อหนังกว่า 3,000 ชื่อแล้ว

"บางทีเราก็ตั้งชื่อจากการได้ดูหนัง บางทีก็ตั้งชื่อจากการไม่ได้ดูหนัง อาจจะมีพวกแผ่นภาพมาให้เราสักใบหนึ่งที่เขาเรียกว่าอินฟอร์เมชัน คิตหรือเพรสคิตหรือว่าบางทีเป็นหนังใหญ่มากๆเห็นชื่อปุ๊บก็ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบนะ อย่างมีหนังบางเรื่องที่เราต้องสู้กับของชาวบ้านเราก็ต้องให้เขาเล่าเรื่องย่อให้ฟัง บางทีผมได้เรื่องย่อมาแค่ 4 บรรทัดผมก็ตั้งชื่อเลย ยกตัวอย่าง "ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอนหอคอยคู่กู้พิภพ" ผมเห็นแค่ใบปิดเท่านั้นเองแล้วก็รู้เรื่องย่อผมก็ตั้งเลย"

"คือหาจุดที่เราจะขายน่ะ ส่วนใหญ่ผมพูดตรงๆนะผมไม่ค่อยได้ดูหนังจนจบเรื่องหรอก และบางทีบางครั้งก็ไม่พยายามดูเพราะดูบางครั้งบางทีเราสนใจเนื้อหนังมากกว่าจุดขายน่ะ คือผมดูปั๊บเนี่ยผมจะดึงจุดให้คนมาดูหนังเรื่องนี้ได้ยังไง ผมเอาตรงนั้นน่ะมาขายคือ ผมมองหนังก็เหมือนสินค้าผมไม่ได้มองเหมือนหนังไง"

ทางด้าน Manager Director สาวแห่งบริษัท WPM Film International โรส อรพรรณ มนต์พิชิต ในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมสำคัญในการตั้งชื่อหนังซึ่งมีสิทธิ์คัดเลือกว่าจะเอาชื่อไหนออกมาขายนั้นก็ได้เล่าขั้นตอนกว่าจะได้ชื่อหนังสักชื่อว่า

"ส่วนมากเราจะดูหนังหรือต้องดูเทลเลอร์หรืออ่านเรื่องย่อ หลังจากนั้นเราก็มาสรุปกันว่าเนื้อเรื่องตกลงมันเป็นยังไง ถ้าเราดูหนังแล้วมันเป็นความเข้าใจเดียวกันครีเอทีฟเราก็จะหาคำที่คล้ายๆเป็นคีย์เวิร์ดน่ะค่ะว่าหนังเรื่องนี้ควรจะมีคำว่าอะไร ซึ่งเราก็ต้องมีตัวชอยส์ให้เลือกหลายๆตัวหน่อย แล้วก็ลิสต์ออกมาได้ปุ๊บเราก็มาเบรนสตรอมกันว่าชื่อไหนเหมาะสมที่สุดแล้วเราก็เลือกออกมา"

"ทุกคนที่เข้าร่วมดูหนังก็อาจจะมีผู้บริหาร,ครีเอทีฟ,พีอาร์แล้วก็พนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับซีนีม่าโคโอดิเนเตอร์มาร์เกตติ้ง ส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำโปรโมชั่นของหนัง ดูเสร็จเราก็มาร่วมวิเคราะห์กันว่าหนังเรื่องนี้มันขายอะไรและเราจะขายอะไร ยกตัวอย่าง"ซาฮาร่า"เป็นแอ็กชันผจญภัยในทะเลทรายไปหาสมบัติ พอได้คอนเซ็ปต์ปุ๊บครีเอทีฟก็ไปคิดชื่อมาผู้บริหารก็จะเป็นคนคอยดู ก็ได้ชื่อว่า"พิชิตขุมทรัพย์หมื่นฟาเรนไฮต์"คือทุกคนมีส่วนช่วยในการตั้งน่ะค่ะ"

"เอ่อ..ส่วนของผมตั้งชื่อแต่หนังแผ่นอย่างเดียวนะครับ" ธนัญชย์ ใจท้ง copy writer ของบริษัท ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ออกตัวก่อนที่จะบอกเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองในการตั้งชื่อหนังต่อว่า

"เวลาจะตั้งชื่อหนังสักเรื่องหนึ่งนี่นะครับมันก็มีหลายวิธี หนึ่งเราดูหนังก่อน จริงๆแล้วดูครั้งเดียวเรารู้เรื่องแล้วก็โอเค ส่วนอีกอันหนึ่งก็คือหนังเนี่ยจะต้องออกล่วงหน้าหลายเดือนมาก เพราะฉะนั้น เมืองนอกเขาจะไม่ส่งอะไรมาเลยนอกจากเป็นแค่เรื่องย่อ บางทีเราก็ต้องอ่านแค่ตรงนั้น หรือศึกษาจากพวกอินเทอร์เน็ตบ้างเพื่อที่จะรู้ข้อมูลหนังได้มากที่สุดเพื่อที่เราต้องจับจุดขายในแต่ละเรื่องของมัน"

"โดยกลยุทธ์หลักๆทั่วๆไปก็เหมือนๆ กัน ของซีวีดีนะครับก็ใช้เหมือนๆ กับหนังโรงก็คือใช้คำที่ดูเข้ากับเรื่องราวแล้วก็ให้มันดูสนุกน่าสนใจ เรียกกลุ่มเป้าหมายได้"

ไสยศาสตร์กับอักษรบนแผ่นฟิล์ม

เชื่อหรือไม่ว่าวิธีการตั้งชื่อหนังก็มีการเล่นคุณไสยกับเขาด้วยเหมือนกัน ก็ขนาดชื่อคนยังต้องดูว่าตัวอักษรตัวนั้นพยัญชนะตัวนี้จะเป็นกาลกิณีกับเวลาตกฟากของคนเราหรือเปล่าเลย ชื่อหนังก็เช่นกัน ก็มีหลักไสยศาสตร์เข้ามาช่วยให้หนังขายดิบขายดีให้ดังทะลุตลาดด้วย ซึ่งอ.ชวนะได้ยืนยันว่า เรื่องนี้มีเกิดขึ้นจริงและตัวอาจารย์เองก็ค่อนข้างจะเชื่อเรื่องพวกนี้ด้วย

"หนังบางอย่างจะลงเกิน 6 คำไม่ได้ หรือก็มีแบบว่าหนังแนวนี้คุณจะบวกตัวไปเท่าไหร่ แต่ต้องให้ได้ 15 ซึ่งไอ้เรื่องการบวกคำที่ทำให้ได้เงินได้ทองมันก็มีบ้างแต่มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่อารมณ์ของคนซื้อหนังนั่นก็สำคัญ อย่างคำว่าหกมันใช้ไม่ได้ 9 ก็ไม่ดี ตายก็ไม่ได้ อย่างผมตั้งชื่อหนังเรื่องหนึ่ง"เจ็ดต้องตายโกงความตาย" ถ้าเกิดผมเขียนเจ็ดต้องตายเจ้านายไม่ให้ผมตั้งแน่เพราะแสดงว่าหนังมันตายเพราะฉะนั้น คุณต้องโกงความตายคือไม่ตายหาคำที่เลี่ยงออกไป เรื่องภาษาหนังกับไสยศาสตร์มันมีเยอะ"

"หลักไสยศาสตร์ของการตั้งชื่อหนังมันมาจากความเชื่อว่าถ้าตั้งชื่อหนังแนวนี้พวกสายหนังเขาจะบอกเราว่าไอ้ตรงนี้มันไม่ได้เงิน สมัยเก่าเนี่ยคุณจะเห็นว่าใบปิดผมเนี่ยยังไงต้องใส่ปืนเพราะถือดาบยังไงก็เจ๊งครับ ยุคหนึ่งถ้าคุณเห็นคำว่าโหดเหี้ยมเลวดีอย่างนี้เยอะแยะมากเพราะว่าสายหนังเป็นคนรีเควสเรา ถ้าโหดปั๊บได้เงินโว้ย โหดมันก็เลยอยู่หน้าถ้าโหดไปอยู่หลังมันก็ไม่ได้"

"อย่างเช่นคำว่าลุยคุณใช้หนังเรื่องไหนก็เจ๊งตลอดเลยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปค้นดูได้ เพราะฉะนั้นต้องใส่คำว่าตะลุย หรืออย่างคำว่าเหิน บางคนบอกว่าเอ๊ยมันผิดหลักไวยากรณ์นี่หว่าเขียนมาได้ แต่ว่าถ้าใช้เหิรเนี่ยถ้าคุณใส่ร.เรืออยู่หลังเนี่ยจะได้เงินน้อยกว่าน.หนู คุณหาเหตุอะไรล่ะ บางทีเหมือนอุปทาน 0คือคล้ายๆว่าเหมือนเป็นโฉลกของคำที่ไปถูกกับคนดู ผมก็เคยลองใช้หลายเรื่องผมใช้ใส่เข้าไปแล้วก็พบความจริงว่ามันมีน่ะครับเรื่องแบบนี้"

ที่อ.ชวนะกล้ายืนยันขนาดนี้เป็นเพราะว่าท่านทำสถิติเอาไว้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไสยศาสตร์กับชื่อหนังมันมีความเกี่ยวข้องกันจริงๆ

"ผมตั้งมาตั้ง 2 – 3 พันชื่อเนี่ยผมบอกได้เลยว่าผมเก็บสถิติ ผมไม่ได้ตั้งแค่หนังใหญ่นะครับ ผมตั้งหนังวิดีโอด้วยแล้วหนังวิดีโอที่อยู่ท้องตลาดเนี่ยก็ส่วนใหญ่ชื่อผมทั้งนั้นน่ะ ในก่อนหน้าสักประมาณที่ยังไม่ได้แยกเป็นค่ายอื่นๆนะครับ เราก็เก็บสถิติว่าถ้าเป็นหนังวิดีโอเราต้องใช้คำแบบนี้ถ้าเป็นหนังใหญ่มันก็ต้องแยกประเภทเหมือนกัน อย่างเลข 9 กับเลข 6 ซึ่งเลข 9 มันมงคลสำหรับคุณไปทำรถแต่ถ้าคุณมาตั้งชื่อหนังผมไม่เอ่ยอย่างหนังไทยบางเรื่องคุณก็เห็นอยู่ก็เรียบร้อย"

เนื้อหาตรง-ไม่ตรงกับชื่อเรื่อง

ไม่ว่าจะมีวิธีการที่หลากหลายหรือแตกต่างกันมาก-น้อยเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการตั้งชื่อหนังที่ทั้ง 3 คนพูดถึงก็คือ "จุดขาย" ซึ่งจุดขายของแต่ละที่แต่ละบริษัทหรือแม้แต่แต่ละความคิดส่วนตัวของแต่ละคนก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป(อีก)อยู่ดี

หนังบางเรื่องเคยลองสังเกตกันมั้ยว่าชื่อเรื่องกับเนื้อหาจริงๆของหนังไม่เห็นจะเข้ากันสักเท่าไหร่ บางทีก็เป็นคนละเรื่องเดียวกันไปเลยก็มี ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้? หรือนั่นจะเพื่อแค่ต้องการขายของอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนดูเลยว่าเมื่อพวกเขาดูหนังจบแล้วเขาจะรู้สึกงง,เซ็งหรือผิดหวังกับชื่อหนังเรื่องนั้นสักเพียงไร

"เนื้อหาของหนังสำหรับผมไม่ใช่สิ่งสำคัญกับการตั้งชื่อ ผมว่าการดึงให้คนมาดูมากกว่าแต่สำคัญเราไม่ได้ไปหลอกคนละกัน" อ.ชวนะพูดออกมาตรงๆ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

"ผมถามว่าจะให้ชื่อหนังตรงกับแล้วคุณต้องการจะให้คนมาดูหนังรึเปล่า ผมก็ไม่ได้ไปหลอกคนดูนี่ว่ามันไม่มีในหนังน่ะ อย่างผมตั้งเรื่องที่เฉินหลงเล่นต้องมีฟัด เพราะมันมีมาตั้งแต่ยุคเดิมแล้วครับทุกคนรู้จักตั้งแต่"วิ่งสู้ฟัด" แล้วฟัดมันก็เป็นคำที่ดีมันแทนความเป็นจีนแล้วนอกจากนั้นภาษาไทยคำว่าฟัดก็โอ้โหแปลว่าบู๊แหลกลาญอย่างนี้คนต่างจังหวัดเห็นปั๊บพวกเขาก็ดูกันถล่มทลายแล้ว เราเคยมีหนังรักที่มีเฉินหลงแล้วก็ไม่บู๊เลย เราตั้งชื่อ"เบ่งหัวใจฟัดให้ใหญ่"คนก็ดูกันเยอะจริงๆเรื่องนี้ตั้งว่า"ฟัดให้ใหญ่"แค่นั้นก็โอเคแล้ว แต่เรารู้สึกว่าเอ๊ย! มันเหมือนว่าเราหลอกคนดูว่าหนังมันไม่ได้แอ็คชั่นซะหน่อย ก็เลยต้องใส่คำว่าเบ่งหัวใจเข้าไป"

"หรือถ้าจะยกตัวอย่างชื่อเรื่องที่มียัยตัวร้ายมันก็คือซิมโบลิกหมายความว่าถ้าดาราคนไหนเป็นสัญลักษณ์ของหนังแล้วคือ หนังเรื่องแรกเขาชื่ออะไรคนจำชื่อนี้ได้ เราก็จะเอาตรงนั้นน่ะมาใช้อย่างอาโนลด์เห็นรึเปล่ากี่เรื่องก็คนเหล็ก"

"เรื่องอารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต เนี่ยที่ผมใช้กับหนัง 3 ภาคบางทีคุณไปนั่งดูตรงไหนวะอารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาตมันเป็นฟิลลิ่งที่คุณต้องเข้าไปสู่ในหนังไง อย่างผมได้ชื่อเรื่องนี้มาผมก็ได้นั่งดูหนังเป็นเดือนๆก็หาจุดไม่ได้เลยเพราะหนังมันก็เป็นหนังผีธรรมดา มาสะดุดตัวคุณอุ๋ย นนทรีย์น่ะ เพราะคุณอุ๋ยชื่อเขา ตัวอ.ตามหลักภาษาไทยตัว อ.มันมีเป็นพยัญชนะที่ให้อารมณ์ในความรู้สึกก็ดึงหาคำมา ผมลองไปตั้งชื่อหนังตรงเรื่องรับรอง "อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต" ไม่ดัง"

หรือการตั้งชื่อหนังไม่ตรงกับเนื้อหาของเรื่องจะกลายเป็นอีกกลยุทธ์วิธีหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้คนมาดูหนังมากขึ้น แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรด้วยที่จะทำอย่างนั้น ?

"ตอนหอคอยคู่กู้พิภพเนี่ย (เรื่อง"ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์") ตอนนี้หลายคนงงมากว่าเอ๊ะ!หอคอยคู่มันเป็นศัตรูนี่หว่า แล้วเราเอามาตั้งเป็นหอคอยคู่กู้พิภพได้ยังไง แต่ว่าผมดึงเสน่ห์ตรงนั้นให้คนสงสัยไงมันรู้สึกเฮ้ยทำไมเขาตั้งแบบนี้วะ คือผมก็หาเสน่ห์เพื่อให้คนไปบอกต่อแล้วไอ้คนที่ยังสงสัยก็กลับมาดูหนัง คือมันเป็นกลยุทธ์เชิงจิตวิทยาน่ะ"

"ผมไม่ใช้ตามเนื้อหนังคือถ้าตามเนื้อหนัง มันก็ตั้งไม่กี่เรื่องมันก็คล้ายๆกันน่ะ ถามว่าหนังรักมันคืออะไรคือพระเอกนางเอกรักกัน รักกันเสร็จก็เป็นไงครับก็สมหวังมั่งตายมั่งจากกันมั่ง มีกิ๊กใหม่ไปบ้างหนังบู๊ก็ยิงกันถล่มทลายสุดท้ายพระเอกก็ชนะหรือแม้พระเอกแพ้ก็มีอยู่เท่านี้น่ะ แล้วคุณก็หาคำแบบผมอยากจะเรียกคำพวกนี้ว่า creature vampire คือแบบว่าหาคำที่ชาวบ้านเขาคิดได้น่ะแบบผีดิบดูดเลือดกันน่ะ"

"ถ้าถามผมว่าการตั้งชื่อหนังแบบนี้เป็นการลดค่าของหนังมั้ย ก็ไอ้พวกที่วิจารณ์อย่างนั้นคือบรรดาพวกนักดื่มคาราบาวแดงคือ ทำอะไรจะต้องให้ตรงเป๊ะ ผมกำลังขายสินค้านะครับผมไม่ได้ขายอย่างอื่น อย่างสินค้าทั่วไปในตลาดเราเนี่ยคุณว่าคุณกินเข้าไปมันมีอะไรที่มันตรงบ้าง ชาเขียวคุณแน่ใจเหรอว่าชาเขียวจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่เขาก็ฉลาดนะผมฝากไว้ด้วยพวกที่ชอบวิจารณ์ คนรุ่นใหม่เขาก็รู้ว่ามนุษย์มันไม่มีดี 100% หรอก การขายสินค้าการขายอะไรมันก็ไม่มี 100% ทีเดียวแต่ขออย่างเดียวว่าเขารู้ว่าเราต้องการบอกเขาอย่างไรเท่านั้นเอง"

แต่ธนัญชย์ยังเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องของเนื้อหาหนังกับชื่อเรื่องหนังที่ต้องเข้ากัน

"การที่ชื่อเรื่องหนังไม่ตรงกับเนื้อเรื่องก็คือว่าอาจจะเป็นเพราะว่าหนังมันขายยากรึเปล่า เขาก็เลยต้องตั้งชื่อให้มันหลอกล่อเพื่อจะให้คนมาดูนะครับก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าถ้าเกิดว่าคนเข้ามาดูแล้วเขาผิดหวังล่ะโอ้โห! มันตั้งชื่อหลอกกันนี่มันก็คือรู้สึกกันได้ซึ่งถ้าเป็นหลายๆหนเขาอาจจะอุ๊ยตาย!แล้วหนังของยี่ห้อนี้ก็คือไม่น่าไว้วางใจเท่าไหร่ ทางที่ดีเราควรทำให้ถูกต้องหรือบิดเบือนให้น้อยที่สุดดีกว่า"

ชื่อ(ไทย)นั้นสำคัญไฉน?

มีใครรู้สึกบ้างมั้ยว่าอันที่จริงแล้วหนังต่างชาติก็มีชื่อมาให้แล้วเสร็จสรรพ ทำไมเราต้องเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยให้ยุ่งยากเสียเวลาคิดและเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างทีมครีเอทีฟมาตั้งชื่อกันอีก ทำไมเราถึงไม่ใช้ชื่อเดิมของเขาไปเลย แล้วการเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นภาษาของเรามันดูเหมือนเราเป็นประเทศที่ 3หรือเปล่าที่ดูล้าหลังกว่าประเทศอื่นที่เขาได้ใช้ทับศัพท์ไปเลย ซึ่งทั้ง 3 คนที่เชี่ยวชาญและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงได้ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดว่า

"ชื่อหนังเหมือนเป็นคำอธิบายตัวหนังย่อๆ ซึ่งดิฉันคิดว่าสำคัญมากทีเดียวนะคะ เพราะว่าการตั้งชื่อหนังเนี่ยบางคนไม่เข้าใจว่าหนังมันจะบอกอะไรเช่น "SAHARA" คนก็อาจจะอึ๊ย! มันคืออะไร แต่ถ้าเรามีชื่อภาษาไทยที่ตั้งขึ้นมาใหม่เนี่ยว่า"พิชิตขุมทรัพย์หมื่นฟาเรนไฮต์" ก็จะรู้ว่าเออเนื้อเรื่องสรุปใจความหนังสำคัญว่าประมาณนี้นะ แล้วก็การตั้งชื่อมันก็เป็นจุดดึงดูดให้คนสนใจไปดูด้วย มันจะทำให้คนไปดูหนังมากขึ้น" ผู้บริหารสาวแห่ง WPM โรส อรพรรณพูดถึงข้อดีที่มีการตั้งชื่อใหม่เป็นภาษาไทย

ธนัญชย์ นักตั้งชื่อหนังแผ่นได้กล่าวถึงการที่เขาไม่ได้ใช้ทับศัพท์เป็นเพราะ "การใช้ทับศัพท์บางเรื่องมันน่าจะเป็นเซนส์ที่คนเข้าใจกันง่ายเข้าใจกันเยอะอย่าง"แบทแมน"คุณไม่ต้องบอกเลยว่าหนังเรื่องอะไร ตั้งชื่ออย่างนี้ไปเลยก็ขายได้อยู่แล้ว แต่หนังบางเรื่องสมมติบอกชื่อหนังอินดี้เรื่องหนึ่งซึ่งคนที่ไม่ใช่คอหนังจริงๆเขาคงไม่รู้เรื่องหรอกครับว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร การตั้งชื่อไทยเนี่ยมันสามารถทำให้ขยายตลาดคนระดับปานกลางถึงระดับล่างได้เยอะขึ้นมากน่ะนะครับในการที่จะเรียกลูกค้าขึ้นมา"

"ถ้าสำหรับตลาดในตอนนี้ผมว่าการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยมันยังมีความสำคัญอยู่นะครับ เราต้องคิดว่ากลุ่มเป้าหมายของเรามันก็มีเยอะนะครับโดยเฉพาะหลายๆจังหวัด แล้วก็สินค้าอย่างเรามันขายคนตลาดต่างจังหวัด แล้วอย่างหนึ่งเนี่ยตลาดหนังพากย์ไทยก็ยังเป็นตลาดที่ทำเงินมากกว่าเพราะว่าเราอยู่กรุงเทพฯอาจจะคิดว่าหนังซาวนด์แทร็กนี้มันขายได้ดี แต่ว่าจริงๆ แล้วลูกค้าต้องการหนังพากย์ไทยเยอะมากเลย"

อ.ชวนะ ผู้มีความรู้เกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการตลาด,การโฆษณาหรือแม้แต่เรื่องการเมืองซึ่งถือว่าท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลคนหนึ่งก็ยังเสริมถึงความคิดที่ว่าการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่ควรมีอยู่ต่อไป

"จริงๆ ชื่อหนังที่ใช้ทับศัพท์มันก็มีครับถ้าหนังที่คนที่เขารู้จักเรื่องราวหนังดี แต่เราต้องมีคำขยายเพราะคำขยายเราเอาไว้ให้คนต่างจังหวัดครับเพราะประเทศไทยประเทศหนึ่งไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เราต้องเผื่อต่างจังหวัดด้วย"

"แล้วการตั้งชื่อหนังจากภาษาต่างประเทศมาเป็นชื่อภาษาไทยมันก็ช่วยในเรื่องของการตลาดด้วย โธ่!บางทีผมไม่อยากจะพูดหนังบางเรื่องเนี่ยนะผมยังเปลี่ยนแม้กระทั่งชื่อหนังต่างประเทศนี่พูดตรงๆเลย คือมันหาจุดขายไม่ได้ อย่างยิ่งตอนนี้กระแสคำนี้มันแรงแล้วดาราคนนี้เขาก็กำลังเล่นหนังแนวนี้อยู่เราก็เปลี่ยนของเราให้มันใกล้เคียงไปดิ"

ที่สุดของอ.ชวนะ

ชื่อของหนังจากประเทศไหนตั้งยากมากที่สุด

"ยากมากที่สุดเลยคือหนังที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอย่างเช่นหนังสเปน,อิตาลีเนี่ยผมเองต้องไปค้นภาษาอิตาลี อย่างล่าสุดที่ตั้งไปก็อาศัยคำละตินมาผสมแล้วก็กลับมาเป็นภาษาไทยทำให้เกิดเสน่ห์ เช่น"AFTER MIDNIGHT" เนี่ยเป็นหนังเฮาส์สูงมาก ภาษาอิตาลีใช้ชื่อเรื่องแปลว่าอะไรจำไม่ได้ แต่ผมไปเปิดดิกฯมันมีเสน่ห์อยู่คำหนึ่งซึ่งเขาหมายความว่าเป็นเหมือนการลา ผมก็นั่งคิดอยู่หลายวัน สุดท้ายผมก็ได้คำมา "ก่อนรักลาสั่งใจว่ารักเธอ" ซึ้งมั้ย แต่จะบอกว่ายากที่สุดคือชาติไทยครับเพราะว่าคุณตั้งออกมาก็ต้องให้พอใจผู้กำกับด้วย"

ประเทศไหนตั้งชื่อง่ายที่สุด

"อังกฤษครับแต่ก็ไม่ได้ง่ายมาก เพราะความที่ว่าหนังบู๊แอ็กชั่นเนี่ยสมัยหลังก็ตั้งยาก เพราะว่าคำมันจะเริ่มจนแล้วมหากาฬอันตรายมหาประลัยมันต้องหนีคำพวกนี้บ้าง ใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยหนังรักก็เหมือนกัน"

หนังแนวไหนที่ตั้งยากที่สุด

"หนังเป็นแบบเชิงคลาสสิกมากๆ เนี่ยตั้งยากเพราะว่ามันจะหาจุดขายไม่ได้เลย คนดูเขาก็รอฟังด้วยว่าเธอจะพาฉันมาดูหนังอะไร ไม่ใช่อาฟเตอร์มิดไนต์ อะไรหลังเที่ยงคืน"

ชื่อที่ชอบมากที่สุด

"ที่ชอบมากเป็นหนังประเภทคลาสสิคมากๆเรื่องนั้น ผมตั้งได้เพียงผมก้มลงไปผูกเชือกรองเท้าแล้วผมก็ได้ชื่อ"หัวใจไม่มีเชือกผูก"เป็นหนังที่เกี่ยวกับเรื่องการไม่แบ่งสีผิวน่ะชื่อภาษาอังกฤษว่าคาเรลลา"

ชื่อที่แปลกที่สุด "ที่สร้างการถกเถียงทั่วเมืองสำหรับคนที่เขาไปดูหนังแล้วก็อ่านเรื่องไปก่อนคือเรื่อง"หอคอยคู่กู้พิภพ" หลายคนก็เฮ้ย! คนตั้งชื่อมันอะไรของมันวะ แม้กระทั่งเพื่อนสนิทที่ทำงานมาถามว่ามันไม่ได้ไปกู้ภิภพ ผมบอกว่าผมบอกคุณที่ไหนว่ามันไปกู้พิภพ คือคนรู้อยู่แล้วว่าแหวนไปกู้แต่ว่าบังเอิญหอคอยคู่กู้พิภพมันใช้คำที่สัมผัสกันแล้วลงตัวพอดี บางทีเราต้องตั้งให้มันท้าทาย"

หนังประเภทไหนที่ต้องระวังที่สุดในการตั้งชื่อเรื่อง

"หนังคลาสสิกเพราะว่าต้องหาคำที่มันให้คลาสและเอ่อเจ้านายที่เขาคุมผมอยู่เนี่ยก็ยังอายุเยาวเรศรุ่น ไม่ใช่เสี่ยเจียงรุ่นทายาทเขาแล้ว เวลาเราอธิบายเขาเนี่ยบางทีต้องระวังเพราะมันมีเรื่องของความคลาสสิกระหว่างกันอยู่"    อ.ชวนะเล่าทิ้งท้ายให้รู้ว่าที่มาของชื่อหนังแต่ละเรื่องว่าเป็นเช่นนี้เอง





กำลังโหลดความคิดเห็น