ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของหนังสือ 'รหัสลับดาวินชี' ปลุกกระแสให้ตลาดหนังสือรหัสคดีแนวลึกลับสืบสวนในบ้านเราคึกคักเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา มีหลากหลายสำนักพิมพ์ออกหนังสือแนวนี้เป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงจำนวนคนอ่านว่าคงเป็นกลุ่มใหญ่ไม่น้อย
สำหรับคอหนังสือรหัสคดีคงไม่ต้องอธิบายถึงรสชาติความสนุก ตื่นเต้นที่ได้รับจากการอ่านกันมาก แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งจะลิ้มลองหรือไม่รู้จักหนังสือแนวนี้มาก่อน การเริ่มต้นอ่านหนังสือรหัสคดีดีๆ สักเล่มอาจช่วยเปิดโลกแห่งจินตนาการและลับสมองของคุณไปในตัว!
'รหัสคดี' คืออะไร ?
หลายคนอาจตั้งคำถามถึงหนังสือตระกูลนี้
เรืองเดช จันทรคีรี นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์รหัสคดี ได้บัญญัติศัพท์คำว่า "รหัสคดี" จากคำว่า mystery ในภาษาอังกฤษ โดยได้ให้นิยามรหัสคดีไว้สั้นๆ ว่า หมายถึง "เรื่องเล่าที่เน้นการคลี่คลายปัญหาซ่อนเงื่อนของเหตุการณ์ชุดหนึ่ง"
เรืองเดชอธิบายว่า เรามักจะแปลคำว่า mystery ที่หมายถึงตระกูลวรรณกรรมว่า "เรื่องลึกลับ" ซึ่งเขาบอกว่าฟังดูแล้วกระเดียดไปทางเรื่องเหนือธรรมชาติประเภทภูตผีปีศาจ ในขณะที่ mystery เป็นเรื่องของการใช้ตรรกะ การใช้เหตุผล รวมๆ แล้ววรรณกรรมตระกูลนี้มุ่งเสนอแนวความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์
รหัสคดีจะครอบคลุมนิยายสืบสวน (detective story) เอาไว้ทั้งหมด นิยายสืบสวนก็คือเรื่องแต่งที่มีนักสืบเป็นผู้คลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยอาศัยหลักเหตุผล หัวใจของนิยายสืบสวนคือปมปริศนา (puzzle) ที่นักสืบจะต้องสะสางให้ได้ว่า "ใครคือฆาตกร" หรือที่เรียกกันว่ารหัสคดีแนว "whodunit"
"เมื่อนิยายสืบสวนได้คลี่คลายจากแนว whodunit ไปสู่แนว howdunit และพัฒนาเป็น whydunit ในท้ายที่สุด จุดมุ่งเน้นจะไม่หยุดอยู่แค่การค้นหาตัวอาชญากร แต่จะขยายไปสู่การศึกษาจิตใจส่วนลึกของอาชญากร และเหตุผลในการก่ออาชญากรรม"
คำว่าอาชญนิยาย (crime story) จึงถูกนำมาใช้แทนรหัสคดี และนิยามก็เปลี่ยนเป็น "เรื่องเล่าเกี่ยวกับการตามจับผู้ร้ายและอธิบายให้เห็นขั้นตอนการประกอบอาชญากรรม"
เรืองเดชเสริมว่า เราจะพบว่า mystery มักใช้คู่หรือสลับกับ detective story และบ่อยครั้งก็จะเห็นอยู่คู่กับ crime story แต่จะแยกจาก horror story หรือนิยายสยองขวัญซึ่งจัดเป็นวรรณกรรมตระกูล (genre) ต่างหากออกไป
"โดยส่วนตัวผมคิดว่ารหัสคดีครอบคลุมบางส่วนเสี้ยวของนิยายสยองขวัญ นิยายสยองขวัญมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเป็นเรื่องผี เช่น แดร๊คคิวล่า ของบราม สโต๊คเก้อร์ หรือ เอ๊กซอร์ซิสต์ ของปีเต้อร์ แบล๊ตตี้ ส่วนประเภทที่ 2 ผมจัดเป็นรหัสคดี คือเรื่องเกี่ยวกับสภาพจิตใจที่แปรปรวนของมนุษย์ เช่น ไซโค ของ โรเบิร์ต บล๊อช" เรืองเดชยกตัวอย่าง
ส่วน suspense กับ thriller ที่หลายสำนักพิมพ์ประทับตราบนปกนั้น เขาบอกว่าไม่ใช่ตระกูลวรรณกรรม เป็นเพียงบรรยากาศในการแต่ง ซึ่งนิยายทุกเรื่องก็ว่าได้ จะใช้ความตื่นเต้นเร้าใจหรือ suspense มาดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน
"นักเขียนที่ชำนาญรู้ดีว่าคนโดยทั่วไปไม่ค่อยอดทนต่อความอยากรู้อยากเห็น เขาก็ยิ่งสร้างความกระหายใคร่รู้ ความคาดหวัง และปมเงื่อนซึ่งจะทำให้ผู้อ่านโล่งใจก็ต่อเมื่ออ่านนิยายของเขาจบ อาชญากรรมเป็นเรื่องที่มีความตื่นเต้นเร้าใจอยู่ในตัวเอง รหัสคดีแทบทุกเรื่องจึงมีบรรยากาศ suspense ด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการแล้ว คำว่า suspense ถูกนำไปประกอบกับคำอื่น กลายเป็นชื่อประเภทย่อยของรหัสคดี 2 แนว คือ แนวจิตวิทยาระทึกขวัญ (psychological suspense) และแนวรักระทึกขวัญ (romantic suspense)
เมื่อสถานการณ์ ฉาก และบทบาทของตัวละครขยายขอบเขตออกไปอีก ความตื่นเต้นเร้าใจระดับ suspense (ระทึกขวัญ) ก็พัฒนาไปสู่ระดับ thriller (เขย่าขวัญ) กลายเป็นรหัสคดีแนวต่างๆ อีกหลายแนว ได้แก่ spy story, technothriller, conspiracy thriller, logal thriller, serial killer ซึ่งเรืองเดชกล่าวว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้ล้วนเป็นประเภทย่อย (subgenre) ของวรรณกรรมตระกูลรหัสคดี
ช่องว่างและตลาดของหนังสือรหัสคดี
ในฐานะที่เป็นสำนักพิมพ์แรกๆ ที่ปักธงรหัสคดีในบรรณพิภพไทย สำนักพิมพ์รหัสคดีของเรืองเดชได้จัดพิมพ์หนังสือแนวเฉพาะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องคลาสสิกที่ไม่ได้อิงกระแส อาทิ เรื่องชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ และ จอมโจรลูแปง
เรืองเดชกล่าวว่าในรอบ 10 ปีนี้ ธุรกิจหนังสือเปลี่ยนไปโดยถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอุปโภค ไม่ใช่สินค้าวัฒนธรรมเช่นที่เป็นมา กลุ่มทุนที่หวังกำไรมากๆได้เข้ามารุกพื้นที่ของนักทำหนังสือในอุดมคติ มีสำนักพิมพ์ใหม่ที่ทุนใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงที่ได้สยายปีกดาหน้าเข้าสู่ธุรกิจหนังสือเล่ม อาทิ กันตนา แกรมมี เวิร์คพอยต์ สมทบกับธุรกิจสื่อขนาดใหญ่ที่ทำมาแต่เดิม
ดังนั้น ในแต่ละเดือนจึงมีหนังสือออกใหม่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ร้านหนังสือเครือข่ายมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น อายุการวางหนังสือในร้านสั้นลงมากเหลือไม่ถึง 1 เดือน สภาพการณ์เช่นนี้ เขามองว่าสำนักพิมพ์ทุนเล็กทุนน้อยมีแต่จะถูกกันให้ออกไปจากระบบโดยปริยาย
"ผมคิดว่าทางอยู่รอดให้นานที่สุดของสำนักพิมพ์เล็ก จำเป็นต้องเจาะตลาดที่เป็นช่องว่าง (niche market) ซึ่งสำนักพิมพ์ใหญ่ทำให้ดีได้ยาก ทำในสิ่งที่ตัวเองรักชอบและถนัดให้ดีที่สุด ทำให้มีคุณภาพและผู้อ่านเชื่อถือ สำนักพิมพ์รหัสคดีเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้และดำเนินมาในแนวทางนี้ ที่สำคัญคือ ผมไม่ได้หวังว่าหนังสือแต่ละเล่มจะต้องขายดิบขายดีเป็นหมื่นเป็นแสนเล่มในเวลารวดเร็ว ผมเคยพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิก 2,000 เล่ม ขาย 5 ปีได้แค่ 800 กว่าเล่ม หากหนังสือของรหัสคดีเรื่องใหม่ๆ ออกมาแล้วขายได้เรื่องละ 3,000 เล่มต่อปีก็เป็นตัวเลขที่ผมพอใจแล้ว"
การ "บูม" ของตลาดหนังสือรหัสคดี โดยเฉพาะเรื่องแปลนั้น เรืองเดชมองว่ากระแสในช่วงปลายทศวรรษ 2540-49 นี้ถือว่าแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอาศัย ‘รหัสลับดาวินชี’ ของแดน บราวน์ เป็นตัว "โหน"
"นี่คือนิยายรหัสคดีฉบับแปลภาษาไทยที่ขายดีที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา ตอนนี้นวนิยาย 4 เรื่องของแดน บราวน์ ถูกแปลเป็นภาษาไทยหมดแล้วภายในเวลาเพียง 1 ปี และสำนักพิมพ์แพรวก็ใช้นวนิยายของแดน บราวน์ เป็นเครื่องมือฉุดดึงนวนิยายของนักเขียนอื่นๆ มาแนะนำกับผู้อ่านออกมาเป็นชุดรวมเล่ม 4 ชุด (Unputdownable mystery) และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ผมก็ยังเชื่อว่า เมื่อไม่มีนวนิยายเรื่องใหม่ของแดน บราวน์ ออกมากระตุ้น กระแสก็จะตกลงสู่ระดับปกติ"
นอกจากของแพรวสำนักพิมพ์แล้ว รหัสคดีที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จัดพิมพ์ออกมา เรืองเดชมองว่าถ้าไม่ใช่ผลงานของนักเขียนญี่ปุ่น ก็เป็นรหัสคดีประเภทตลกเบาสมองและรหัสคดีสำหรับเยาวชน
"ประเภทจริงจังอย่างที่แพรวนำเสนอถ้าไม่มีวิธีการตลาดที่ดี ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เห็นได้จากที่สำนักพิมพ์บลิสไม่ได้ทำชุด Masters of Suspense ต่อ แต่ยังพิมพ์รหัสคดีจากญี่ปุ่น (J-suspense) อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนสำนักพิมพ์อื่นที่ไม่เคยพิมพ์นวนิยายตระกูลนี้เริ่มเข้ามาขอมีส่วนในตลาด"
ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย บรรณาธิการอำนวยการ ผู้ดูแลส่วนพ็อกเก็ตบุ๊กของสำนักพิมพ์บลิช พับลิชชิ่ง เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสำนักพิมพ์บลิชถือเป็นผู้เปิดตลาดวรรณกรรมญี่ปุ่นแปลหมวดนี้ ซึ่งสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์กว่า 60% จากรายได้ทั้งหมด
กลยุทธ์ทางการตลาดโดยลดราคาขายหนังสือเป็นแพ็ค ผนวกการประชาสัมพันธ์ทำให้หนังสือชุด J-suspense อย่างมิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ แมวสามสียอดนักสืบ,คินดะอิจิ ยอดนักสืบ และล่าสุด ฆาตกรรมระดับ 7 หรือ Level 7 ติดอันดับเบสท์เซลเลอร์ ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำ แต่ทั้งหมดที่ว่านี้ล้วนเป็นรหัสคดีแนวระทึกขวัญที่มุ่งไขปมปริศนา สืบหาฆาตกรเท่านั้น
"ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ผ่านมา ค่ายใหญ่อย่างมติชนและเนชั่นไม่มีรหัสคดีแปลออกมาเลย สำนักพิมพ์นานมี บุ๊คส์ ก็มีของพี.ดี. เจมส์ เล่มเดียว จากข้อเท็จจริงนี้ทำให้ผมเชื่อว่านิยายรหัสคดีที่เป็นฮาร์ดคอร์คงไม่ใช่แนวหนังสือที่น่าจะทุ่มเทลงทุนในสายตาของสำนักพิมพ์ใหญ่" บรรณาธิการสำนักพิมพ์รหัสคดีกล่าว
สำนักพิมพ์เพิร์ล พับลิชชิ่ง
ลัดดา พงศ์พิชญ์พิทักษ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เพิร์ล พับลิชชิ่ง สำนักพิมพ์ที่กำลังมาแรง กล่าวว่า ที่ผ่านมาหนังสือรหัสคดีของสำนักพิมพ์ที่ขายดีมักเป็นงานเขียนแนวสืบสวน ฆาตกรรมซ่อนเงื่อน แต่ก็มีกลิ่นอายของความโรแมนติก กุ๊กกิ๊ก เจือปนอยู่ด้วย อาทิ หนังสือชุด สายลับช็อกโกแลต,นักสืบสตอว์เบอร์รี่ และยอดนักสืบบลูเบอร์รี่
ล่าสุดที่เพิ่งออกในงานสัปดาห์หนังสือสดๆ ร้อนๆ คือ เรื่อง 'เพชรสังหาร' ที่มี 2 ภาค คือ ภาคแรก ค.ศ.2000 และ ภาคจบ ค.ศ.2059 แต่ที่ทำให้หนังสือสองเล่มนี้น่าสนใจคงจะเป็นเพราะผู้เขียน... ที่เป็นรู้จักอย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรมระดับโลก และมีผลงานตีพิมพ์ออกมาแล้วกว่า 200 ล้านเล่ม
"นอร่า โรเบิร์ตส์ เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากในอเมริกา เพราะว่าผลงานของเขาติดเบสท์เซลเลอร์ถึง 87 ครั้ง และมีผลงานกว่า 150 เรื่อง ซึ่งงานเขียนของเขาจะมีโรมานซ์เข้ามาปน ทำให้เป็นงานเขียนที่มีผู้หญิงอ่านเยอะมาก" ลัดดาเอ่ยถึงหนังสือเล่มเด่นของสำนักพิมพ์
เนื่องจากสำนักพิมพ์เพิร์ลได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี ทำให้มีหนังสือหลากหลายแนวออกมา ทั้งวรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซี ไปจนหนังสือฮาวทู ส่วนแนวรหัสคดีทั้งที่ตีพิมพ์และขอลิขสิทธิ์ไว้แล้วมีปริมาณอยู่ที่ร้อยละ 20-30 ของจำนวนหนังสือทั้งหมดของสำนักพิมพ์ ลัดดาคาดว่าอนาคตหนังสือรหัสคดีของเพิร์ลน่าจะไปได้อีกไกล
"อนาคตหนังสือดีเมื่อดูจากกลุ่มลูกค้าของเพิร์ล คิดว่าน่าจะมีกลุ่มที่เขาสนใจอ่านแนวนี้เป็นพิเศษ แต่ว่าหนังสือของเพิร์ลจะไม่ถึงกับหนักจนเกินไป ไม่เครียดมาก จะอ่านสบายๆ มากกว่า แต่ว่าถ้าถามว่าตัวหนังสือดีไหม ดิฉันคิดว่าดี ส่วนในอเมริกาแนวสืบสวนสอบสวน แนว thriller suspense เป็นที่นิยมมากยิ่งกว่าในบ้านเรา ถ้าดูจากหนังสือที่เขาตีพิมพ์ออกมา ของบ้านเราเพิ่งจะมาบูมเมื่อไม่นานนี้"
แม้จะเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 3 ปี แต่ธุรกิจสำนักพิมพ์ที่เติบโตเร็ว ทำให้เพิร์ล พับลิชชิ่งแตกสำนักพิมพ์ออกมาเพิ่ม คือ สำนักพิมพ์เมเปิ้ล พับลิชชิ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือรหัสคดีเด่นๆ ออกมาหลายเล่ม
เมเปิ้ล พับลิชชิ่ง
หากรหัสลับดาวินชีเคยครองแชมป์ความสำเร็จในฐานะหนังสือรหัสคดีที่โด่งดังเล่มล่าสุด บัดนี้หนังสือเล่มดังกล่าวก็คงมีคู่แข่งมาท้าชิงแล้ว และเป็นมวยดีที่ล้มแชมป์ได้เสียด้วย
The rule of four หรือ 'ตำรามรณะ' หนังสือเบสท์เซลเลอร์ยอดฮิต ซึ่งมียอดขายอันดับ 1 ใน Amazon.com และเป็นอันดับหนึ่งของ new york times bestseller หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนสองคนใช้เวลาเขียนร่วมกันถึง 6 ปีทีเดียว
"วันหนึ่งไปเซิร์ชในอินเทอร์เน็ต แล้วเห็นใน Amazon.com ว่าหนังสือเล่มนี้ขึ้นอันดับหนึ่ง มียอดขายอันดับหนึ่งแซงดาวินชีโค้ด ก็เลยสนใจ เลยโทรไปขอลิขสิทธิ์" อาทิตย์ ประชาเรืองวิทย์ แห่งสำนักพิมพ์เมเปิ้ล พับลิชชิ่ง ที่เพิ่งมีอายุได้ขวบปีเดียว แต่ก็สามารถคว้าลิขสิทธิ์หนังสือดังมาตีพิมพ์ได้แล้ว เล่าถึงที่มาของหนังสือเรื่องดัง
สาเหตุหนึ่งนั่นก็เพราะความเป็นสำนักพิมพ์เครือญาติใกล้ชิดกับเพิร์ลพับลิชชิ่ง ทำให้ทางเอเจนซี่วางใจยอมมอบลิขสิทธิ์ต้นฉบับหนังสือให้สำนักพิมพ์เมเปิ้ล และเมื่อวางขายในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา เฉพาะบูธเมเปิ้ลแห่งเดียว หนังสือตำรามรณะสามารถขายได้กว่า 1,500 เล่ม ในระยะเวลา 8 วัน (ยังเหลือเวลาขายต่ออีก 5 วัน) ทั้งที่สำนักพิมพ์ไม่มีสื่อโปรโมทมากมายเหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ
"ตอนนี้เห็นว่าคนไทยนิยมอ่านหนังสือแนวนี้ ที่ผ่านมาก็ขอลิขสิทธิ์หนังสือแนวสืบสวนสอบสวนมาเยอะเหมือนกัน ก็คิดว่าคงจะไปได้อีกพักใหญ่ เพราะมันเป็นไปตามกระแสความนิยมการอ่านของโลกด้วย อย่างเช่น แต่ก่อนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกมา แนววรรณเยาวชนแฟนตาซีก็จะดัง แล้วพอดาวินชีโค้ดออกมาแนวนี้ก็จะดัง ก็อยากให้คนไทยหันมาอ่าน ใครที่อ่านแต่วรรณกรรมก็อยากให้มาลองอ่านรหัสคดีดูบ้าง ก็จะได้ความสนุกสนานและความรู้ไปพร้อมๆ กัน"
อาทิตย์เปรียบเทียบระหว่างหนังสือตำรามรณะกับรหัสลับดาวินชีว่า รหัสลับดาวินชีมีความสนุกตื่นเต้น แต่มีตัวละครเยอะและบางคนอ่านไม่ค่อยเข้าใจเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ขณะที่ตำรามรณะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ที่ผู้เขียนใช้เวลาถึง 6 ปีในการหาข้อมูลมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราว ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรส
ตำรามรณะเป็นนิยายที่อิงหนังสือที่ชื่อ ฮิปเนโรโทมาเชีย โพลิฟีลี ที่มีอยู่จริงในอดีต เป็นหนังสือที่สอนปริศนาบางอย่างเพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อมารู้ว่าเมื่อ 500 ปีก่อนเป็นอย่างไร ฟังพล็อตแล้วก็น่าสนุก ตื่นเต้นไม่แพ้รอยยิ้มปริศนาของโมนาลิซาและจอกศักดิ์สิทธิ์ของแดน บราวน์ ในรหัสลับดาวินชีเลยทีเดียว คอหนังสือรหัสคดีไม่ควรพลาด!
เสน่ห์ของรหัสคดี
ลองมาฟังทัศนะของแต่ละสำนักพิมพ์ถึงเสน่ห์ของหนังสือแนวรหัสคดีนี้ดูบ้าง
"หนังสือแนวนี้มีเสน่ห์ในตัวเองตรงที่ว่า มันเป็นหนังสือที่น่าติดตาม และนักเขียนแนวนี้เขาจะเก่งตรงที่ว่า เขาจะสามารถผูกเรื่องให้เราคล้อยตามและจินตนาการเดาตามเรื่องไป หนังสือสืบสวนสอบสวนที่ดีมันควรจะมีความซับซ้อนอยู่ในเนื้อเรื่องที่ยากแก่การคาดเดา เพราะถ้าเราอ่านปุ๊บเดาได้เลย ดิฉันว่าหนังสือหมดเสน่ห์ทันที คนอ่านหนังสือสืบสวนสอบสวนโดยธรรมชาติเขาน่าจะชอบอะไรที่ให้เราเดานิดหนึ่ง และเนื้อเรื่องควรมีความสอดคล้องสมเหตุสมผล ไม่ดำเนินเรื่องช้าจนเกินไป จริงๆ แล้วหนังสือมันมีหลายแนว บางเล่มที่ดูเหมือนผู้หญิงอ่าน ผู้ชายก็อ่านได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องสืบสวนสอบสวนจริงๆ แล้วไม่ควรแบ่งแยกว่าเพศไหนอ่าน ขึ้นอยู่กับว่าใครชอบแนวไหน" บก.บห.สำนักพิมพ์เพิร์ล พับลิชชิ่ง กล่าว
ด้านผู้เชี่ยวชาญหนังสือแนวรหัสคดีคนหนึ่งของเมืองไทย เรืองเดช จันทรคีรี กล่าวถึงเสน่ห์ 2 ประการของหนังสือรหัสคดีว่า
"ประการแรก มันเป็นบันเทิงคดีสำหรับปัญญาชน พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นนิยายสำหรับคนอ่านที่ฉลาดๆ เวลามีนักเรียนมาซื้อหนังสือที่บูธรหัสคดี ผมทายเกรดของพวกเขาถูกเสมอว่าต้องเกรด 3 ขึ้นไป รหัสคดีเป็นเรื่องของการใช้ตรรกะ ใช้เหตุใช้ผล คนที่ไม่ฉลาดอ่านนิยายรหัสคดีไม่สนุกหรอก นี่พูดตามข้อเท็จจริงนะครับ ไม่ได้เจตนาจะว่าใคร
ประการต่อมา รหัสคดีเป็นเหมือนภาชนะที่เราจะเอาเนื้อหาอะไรใส่ลงไปก็ได้ รหัสคดีจึงมีประเภทย่อยต่างๆ มากมาย และสามารถผสมพันธุ์กับวรรณกรรมตระกูลอื่นได้ทุกตระกูล เราสามารถเสนอเรื่องรัก เรื่องตลก เรื่องเคาบอย เรื่องศาสนา เรื่องอิงปรัชญา อิงจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ผ่านทางรหัสคดีได้ทั้งนั้น
ผมอยากจะนำเสนออะไรโดยผ่านรหัสคดีก็ได้ทั้งนั้น การทำรหัสคดีของผมจึงเท่ากับการทำหนังสือทุกประเภทนั่นเอง ความยากของผมอยู่ที่การสรรหาวัตถุดิบมาประกอบให้ได้เป็นชิ้นเป็นอันเท่านั้น" ผู้ให้กำเนิดคำว่ารหัสคดีสรุปทิ้งท้าย