xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน "แม่ครัวหัวป่า" แห่งเมืองสิงห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อพูดถึงปัจจัย 4 หากสังเกตให้ดีเรื่องสำคัญสองอันดับแรกของมนุษย์ จะเป็นเรื่องอาหารการกินทั้งหมด (น้ำและอาหาร)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่คนเรารู้จักไฟเมื่อหลายหมื่นปีก่อน นอกจากแสงสว่างที่ได้แล้ว ยังรวมถึงความร้อนและอารยธรรมต่างๆ ซึ่งต่อยอดออกไปอีกมากมายด้วย และหนึ่งในอารยธรรมที่ว่าคือวัฒนธรรมการ "ปรุงอาหาร"

นานมาแล้ว แต่ละประชาชาติสร้างสรรค์วิธีปรุงอาหารที่เหมาะกับวัตถุดิบในท้องถิ่น จนเกิดรายการอาหารทั่วโลกอันเป็นเอกลักษณ์มากมาย

ไทยเราเองก็มีชื่อเรื่องอาหารมาตั้งแต่โบราณ...ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องราวของ "แม่ครัวหัวป่า" ซึ่งกลายเป็นคำสากลในการเรียกบรรดาคนปรุงอาหารฝีมือฉกาจทั่วฟ้าเมืองไทยไปแล้ว


- 1 -

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2452...

อำแดงอึ่ง อำแดงสิน อำแดงหงส์ ตื่นเต้นเป็นพิเศษ วันนั้นคนในบ้านของเธอและเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมดพากันตื่นเช้าด้วยใจระทึกเพื่อเตรียมทำอาหารกันใหญ่โต

สิ่งที่ทำให้คนทั้งหมู่บ้านต้องขมีขมันตื่นขึ้นกันอย่างอึกทึก มาจากการบอกเล่าของท่านผู้หญิงโหมด ภริยาเจ้าเมืองพรหมบุรีที่บอกกับพวกเขาว่าต้องเตรียมการต้อนรับเรือน้อยลำหนึ่ง ซึ่งกำลังล่องทวนน้ำขึ้นมาจากบางกอกเพื่อมาทำบุญทอดกฐินที่วัดชะลอน (วัดพรหมเทพาวาส) และในเรือนั้นมีบุคคลสำคัญมาด้วย

ถ้าจะว่าไป เมืองพรหมบุรีกับการต้อนรับขุนน้ำขุนนางนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมืองนี้ขุนนางจากกรุงเทพฯ ไปตรวจราชการบ่อย ข้าราชการที่ของพรหมบุรีจึงเกิดความคล่องแคล่วไปโดยปริยายในการต้อนรับ ถึงขนาดเกิดคำกล่าวว่า "ก้นถึงฟาก ยกเชี่ยนหมากให้เจ้า หุงข้าวให้กิน" อยู่คู่เมืองพรหมบุรี

แต่ขุนนางที่มาตรวจราชการครานั้นต่างจากขุนนางทั่วไปมาก เพราะวันนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาได้นำเสด็จเรือพระที่นั่งของ "พระพุทธเจ้าหลวง" ประพาสมาถึงบ้านจวนหัวป่า เมืองพรหมบุรี

เป็นที่รู้กันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกษัตริย์ที่โปรดการเสด็จฯไปสัมผัสราษฎร การเสด็จประพาสต้นครั้งนั้นเกิดจากคำกราบบังคมทูลฯ เชิญเสด็จพระราชดำเนินฯ ทอดกฐินของพระยาอภัยราชา สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ซึ่งไปเมืองพรหมบุรีบ่อยและประทับใจมากถึงขนาดก่อสร้างและบูรณะ "วัดชะลอน" (วัดพรหมเทพาวาส) ไว้

วันนั้นเป็นเวลาเที่ยง ที่บนฝั่ง กระทะใบบัวถูกตั้ง น้ำถูกเทลงในกระทะ ข้าวสารถูกซาวจนสะอาดแล้วใส่ลงน้ำเดือดที่ตั้งบนเตาถ่าน ผู้ชายพากันใช้ใบพายกว้านทั่วกระทะจนข้าวเริ่มแตกเม็ด ภาชนะสานคล้ายบุ้งกี๋ถูกกดลงให้น้ำข้าวแยกกับเมล็ดข้าว อำแดงคนหนึ่งนำกระบวยตักน้ำข้าวออกไปจนเหลืออยู่ไม่มาก ฟืนถูกชักออกจนเหลือแต่ขี้ถ่านแดงๆ ใบพายถูกนำมากวนข้าวจากก้นกระทะขึ้นมาข้างบนอีกครั้ง ผ้าขาวบางถูกนำมาคลุมในกระทะราว 15 นาที

กลิ่นหอมข้าวอบอวลไปทั่วบริเวณ...ข้าวสุกแล้ว

อีกด้านหนึ่ง กับข้าวอย่างอื่นถูกปรุงตามวิธีแบบชาวบ้าน อาหารอย่าง แกงบอน แกงขี้เหล็ก ปลาร้าสับ ต้มกะปิแตงกวาใส่ปลาเค็ม ฯลฯ ถูกลำเลียงนำขึ้นโต๊ะเสวยบนเรือ

มีคำเล่าลือต่อๆ กันมาว่าด้วยทรงถูกพระทัยฝีมือการทำอาหารของแม่ครัวบ้านจวนหัวป่า ซึ่งนำโดยคุณหญิงโหมดภรรยาเจ้าเมืองพรหมบุรี อำแดงอึ่ง อำแดงสิน และชาวบ้านคนอื่นๆ เรือน้อยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงจอดลอยลำอยู่ที่บริเวณบ้านจวนหัวป่า แถววัดพรหมเทพาวาสหรือวัดชะลอนอยู่พักใหญ่ๆ

บันทึกของพระภาวนาวิสุทธิคุณ (เข้าใจว่าเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี) ซึ่งคาดว่าจะเกี่ยวข้องไม่ทางใดทางก็หนึ่งกับท้องถิ่นหัวป่า กล่าวถึงรับสั่งของพระองค์เอาไว้

"นี่แน่ะ แม่ครัวหัวป่า แม่ครัวทั้งหลาย ขออนุโมทนา ข้าพเจ้าขอบใจที่ทำอาหารอร่อย อาหารดี โปรดรักษารสอาหารอย่างนี้ไว้ถึงลูกหลาน..."

เล่ากันว่านับแต่นั้นชาวบ้านตำบลหัวป่าก็ทำอาหารอร่อยมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และคำว่า "แม่ครัวหัวป่า" ก็ติดพระโอษฐ์ของรัชกาลที่ 5 ลงไปจนถึงบางกอก เมื่อทรงพบพระกระยาหารที่มีรสชาติดี ก็ทรงตรัสเปรียบเทียบว่าอร่อยอย่างกับ "แม่ครัวหัวป่า" เสมอๆ

เป็นเหตุให้คำว่า "แม่ครัวหัวป่า" ติดปากคนสยามบัดนั้นมาจนถึงบัดนี้ เมื่อพูดถึงคนทำอาหารอร่อย

- 2 -

แทบไม่น่าเชื่อว่าการสัญจรไปยังจังหวัดสิงห์บุรีท่ามกลางเปลวแดดอันร้อนแรงของต้นเดือนเมษายน ตามคำแนะนำของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำให้เราพบที่มาของตำนานและอาจเรียกได้ว่าพบต้นกำเนิดของคำว่า "แม่ครัวหัวป่า" ขนานแท้

เย็นวันนั้น อาหารอย่าง ก๋วยเตี๋ยวผัด น้ำพริกเผา แกงบอน แกงขี้เหล็กของคุณป้าคุณลุงแห่งตำบลหัวป่า ที่ร่วมกันทำ กลายเป็นมื้อวิเศษสุดในความทรงจำของเราไปโดยปริยาย เมือทราบว่าเป็นฝีมือจากทายาทสายตรงของ "แม่ครัวหัวป่า" ที่รับเสด็จรัชกาลที่ 5 เมื่อ 96 ปีก่อน

เป็นรสชาติที่เรียกได้ว่าไม่น่าจะทิ้งห่างฝีมือของแม่ครัวหัวป่าในอดีตเท่าใดนัก...

"...เรื่องราวที่ว่ามีแม่ครัวที่นี่นำอาหารมาถวายรัชกาลที่ 5 นั้นไม่ได้มีบันทึกชัดเจนในการเสด็จประพาสต้น ...สถาบันฟื้นฟูชุมชนกำลังจะเข้ามาทำโครงการที่นี่ ผมกำลังจะพยายามช่วยเขาเขียนประวัติหมู่บ้าน และพยายามสืบค้นอยู่ในขณะนี้"

อาจารย์บรรหาร ตันหยก แห่งวิทยาลัยเทพสตรี ลพบุรี ลูกบ้านหัวป่าแท้ๆ ที่กลับมาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของหมู่บ้านอย่างจริงจังนี้เล่าให้เราฟังเช่นนั้น

แต่หากลองไปสืบดูในทำเนียบประวัติเมืองพรหมบุรี จะมีบันทึกในหมายเหตุรับเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจนว่า "แม่ครัวเครื่องคาวได้แก่ อำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง อำแดงแพร อำแดงสรวง ส่วนเครื่องหวานได้แก่อำแดงหงส์ อำแดงสิน อำแดงพลับ อำแดงพา"

ถึงวันนี้ลูกหลานอย่างคุณลุงเศวต แก้วสว่าง หรือ คุณป้าชวนชื่น พรหมายน และคนอื่นๆ ได้รับสืบทอดตำรับอาหารแบบคนหัวป่ามาได้อย่างเต็มภาคภูมิ มีการประยุกต์เทคนิคการทำอาหารบ้างตามยุคสมัย

โดยเฉพาะการทำอาหารที่ไม่ทิ้งวิถีดั้งเดิมแต่ก็ไม่ล้าหลัง เพราะมีนำอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาร่วม อีกทั้งสิ่งน่านใจคือเคล็ดลับต่างๆ ที่พวกเขารับสืบทอดมาไม่ใช่ในรูปแบบของตำราอาหาร แต่เป็นแบบมุขปาฐะ คือการเล่าแบบปากต่อปากและถ่ายทอดผ่านการปฏิบัติจริงในห้องครัว

คุณป้าชวนชื่นยังคงจำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากรุ่นทวดได้ อย่างเรื่องการใช้ถ่านทำอาหาร หรือการนำน้ำพริกมาผัดผสมเครื่องบางอย่าง

"ถ่านจะไม่ร้อนแรงเหมือนกับเตาแก๊ส ไฟจะร้อนขึ้นอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ แต่เตาแก๊สถ้าเราคุมไม่ดีมันจะไหม้ได้ง่ายๆ" แต่คุณป้าก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะบางครั้งก็นำเอาเตาแก๊สมาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็วในยามไม่มีถ่าน

น่าคิดเหมือนกัน บางทีคนเราจะพัฒนาไปข้างหน้า ก็ต้องไม่ลืมและทิ้งข้อดีอันเป็นรากเหง้าของวิธีการดั้งเดิม

"แม่ครัวหัวป่า" แห่งตำบลหัวป่า จังหวัดสิงห์บุรี ไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่งอย่างที่เราเข้าใจ ในอดีตที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานชื่อให้ "คณะ" แม่ครัวหัวป่า ซึ่งหมายถึงชาวบ้านหัวป่าทั้งหมดที่ทำอาหารรับเสด็จฯ ในครานั้น และมีการสืบทอดสูตรอาหารแบบปากต่อปากในหมู่ลูกหลานบ้านหัวป่า พร้อมคำกำชับกำชาให้รักษาความดีที่เคยทำไว้

"ทำมาดี มึงต้องรักษาให้ดี"

ทุกวันนี้ เศวต แก้วสว่าง ทายาทสายหนึ่งของอำแดงอึ่ง ผู้มีฝีมือในการทำแกงขี้เหล็ก ยังคงจำได้ดีถึงคำของคุณทวดที่บอกเขาในวัยเด็ก

- 3 -

กาลเวลากลืนกินทุกสิ่งแม้กระทั่งความทรงจำ หากไม่มีกระบวนการรักษาที่ดีและเหมาะสม ...

เรื่องราวของแม่ครัวหัวป่าก็เช่นกัน หากปล่อยไปนานๆ ไม่มีการรักษาที่ชัดเจนก็น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อปี 2544 ก็เกือบที่จะกลายเป็นเรื่องของบ้านอื่น ที่ไม่ใช่ของดั้งเดิมคือบ้านหัวป่าไป อาจารย์บรรหารและชาวบ้านหัวป่ายังคงจำได้ดีถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น

"เรื่องแม่ครัวหัวป่าปรากฏว่าปีก่อนๆ เกือบกลายเป็นของหมู่บ้านอื่น ผมเลยเขียนโครงการขึ้นฉบับหนึ่งเพื่อการฟื้นฟู ไปให้กำนันนำเสนอสภาวัฒนธรรม แต่ตามไปดูแล้วอารมณ์ไม่ดีเลยครับ ตัดยุบยับจนจับอะไรไม่ค่อยได้ หวังลึกๆ ว่าจะได้ทำ แต่คงไม่เป็นโครงการขนาดนั้น"

ก่อนจะขยายความว่า "ตั้งใจว่าเร็วๆ นี้เราจะมีโครงการฟื้นฟูแม่ครัวหัวป่า... เรื่องโครงการสำหรับปีนี้ผมเพิ่งเข้ามาสนใจหมู่บ้าน และทราบว่าโครงการดังกล่าวล้มลุกคลุกคลานมาหลายสมัย โอกาสที่เราจะฟื้นฟูคือขณะนี้มีชาวบ้านพยายามทำขาย ออกไปจัดเลี้ยง จำหน่ายเรื่อยๆ ใช้ชื่อติดต่อ แล้วก็พยายามขึ้นป้าย ต้องใช้การตลาดนำ อาหารจึงยั่งยืนสอดคล้องกับเศรษฐกิจหมู่บ้าน"

เราพบว่าบ้านหัวป่านอกจากจะมีความสำคัญคือ เป็นจุดกำเนิดของเรื่องราวแม่ครัวหัวป่าแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ประวัติศาสตร์ เพราะที่นี่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพรหมบุรีเก่าอีกด้วย จากคำบอกเล่าของของอาจารย์บรรหารในเย็นวันนั้นนั่นเอง

"บริเวณนี้เป็นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเป็นเขตตัวเมืองพรหมบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรีคู่กับอินทรบุรี สถานที่ตั้งเมืองพรหมบุรีจริงๆ เลยจากที่วัดชะลอนตรงนี้ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นตัวเมือง รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกเอาไว้ว่าเสด็จฯมาถึงบ้านหมื่นหาญ คือตลาดปากกวางปัจจุบัน"

พรหมบุรีในอดีตนั้นหากจะลองสืบสาวตำนานเก่าไปกว่านั้นก็จะเป็นเรื่องเล่าที่ว่าเมืองนี้สร้างโดยพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งต่อมาพระโอรสของพระองค์คือพระเจ้าไกรสรราชได้สร้างเมืองสิงห์บุรีขึ้น พรหมบุรียังปรากฎในพงศาวดารว่าเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาโดยเรียกว่า "พรหมนคร" เป็นเมืองสำหรับหลานหลวงปกครอง หรือแปลให้เข้าใจง่ายว่าผู้ปกครองย่อมเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้ากรุงศรีอยุธยาเท่านั้น แต่ไม่ถึงกับเป็นพระราชโอรสหรือพระวงศ์ใกล้ชิดกษัตริย์แบบเมืองลูกหลวง

ช่วงที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯนั้นจังหวัดสิงห์บุรียังไม่เกิด แต่ก็เป็นพระองค์นี่เอง ที่มีรับสั่งให้ยุบเมืองพรหมนครลงในภายหลัง ไปรวมกับเมืองสิงห์บุรี

เรื่องเล่าของแม่ครัวหัวป่าไม่ได้จบแค่ที่บ้านหัวป่าเท่านั้น หลังการเสวยครั้งนั้นแล้ว นอกจากการที่คำว่าแม่ครัวหัวป่าติดพระโอษฐ์กลับมาบางกอก ยังมีการบันทึกว่าภายหลังยังทรงให้คุณหญิงโหมดจัดอำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง อำแดงหงส์ และอำแดงสิน มาเป็นแม่ครัวในวังหลวงอีกด้วย

- 4 -

ปีเดียวกับที่ทรงได้เสวยอาหารฝีมือชาวหัวป่า ยังมีหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจออกมาด้วยคือ "ตำราแม่ครัวหัวป่าก์" ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งเขียนคำว่า "หัวป่า" เป็น "หัวป่าก์"

"หนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ นับถือกันว่าเป็นตำรากับข้าวที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกและเก่าที่สุด คือ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ.127 ตรงกับ พ.ศ. 2451 แต่งโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาศกรวงศ์ ภรรยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการเขียนตำรากับข้าวกันเป็นกิจจะลักษณะเลย ดังนั้น "แม่ครัวหัวป่าก์" ชุดนี้จึงนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกของคนไทยที่ได้มีการจดบันทึกขึ้นไว้..." (ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ต้นฉบับใน "ถ้อยแถลงของผู้จัดพิมพ์" ฉบับที่ตีพิมพ์ปี 2545)

มีข้อน่าสังเกตคือ กรุงรัตนโกสินทร์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2325 และหากจะนับรัตนโกสินทร์ศกก็ต้องนับในปีนั้นเป็นปีที่ 1 ดังนั้นรัตนโกสินทร์ศก 127 หากเอา 2325 บวกกับ 127 แล้ว จึงควรจะเป็นปี พ.ศ. 2452 มากกว่า

ที่พูดถึงเรื่องพุทธศักราชนี้ ก็เพราะเราเกิดคำถามขึ้นมาว่า ระหว่าง "แม่ครัวหัวป่า" ของรัชกาลที่ 5 กับ "แม่ครัวหัวป่าก์" ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ท่านใดใช้ถูกต้องหรือนำมาใช้ก่อนกันแน่

ซึ่งจากข้อผิดพลาดข้างต้นของการคำนวณปีปฏิทินของผู้จัดพิมพ์ ประกอบกับเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นที่บ้านจวนหัวป่า เมืองพรหมบุรีในปี พ.ศ. 2452 คำว่า "แม่ครัวหัวป่า" ที่ชาวบ้านยืนยันว่าพระราชทานโดยไม่มีตัว ก การันต์ ซึ่งค่อนข้างเชื่อถือได้ เพราะปรากฏในหมายเหตุรับเสด็จของเมือง

ประกอบกับหากลองไปเปิดพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานฉบับปี พ.ศ. 2525 และปี พ.ศ. 2542 เราจะพบการให้ความหมายว่า "หัวป่า น. คนทำอาหาร" และ "หัวป่า น. คนทำอาหาร คนโบราณใช้ ก์" อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้รายการ "เรียงร้อยถ้อยไทย" ตอน หัวป่าก์ ทางช่อง 3 ได้บอกว่า "แม่ครัวหัวป่าก์ คือ คนทำอาหาร ที่มีรสชาติดีจนคนกินถูกใจ มาจากชื่อหนังสือ "แม่ครัวหัวป่าก์" ซึ่งเป็นตำราทำอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้ซึ่งมีฝีมือเลิศในการทำอาหารในสมัยรัชกาลที่ 5 และคำว่า ป่าก์ ก็มาจากภาษาบาลีว่า ปากะ หมายถึงการทำอาหารการกิน"

ในหนังสือของท่านผู้หญิงเองก็ยืนยันไว้ว่า "วิธีทำของรับประทานที่เข้าใจโดยสามัญว่า การหุงต้มทำกับเข้าของกินที่ฉันให้ชื่อตำรานี้ว่าแม่ครัวหัวป่าก์ คือ ปากะศิลปะคฤหะวิทยาก็เปนสิ่งที่ว่าชี้ความสว่างในทางเจริญของชาติมนุษย์ ที่พ้นจากจารีตอันเปนป่าร้ายให้ถึงซึ่งความเปนสิทธิชาติที่มีจารีตความประพฤติ์อันเรียบร้อยหมดจดดีขึ้น..."

ที่ราชบัณฑิตยสถานบอกคนโบราณใช้ ก์ จึงน่าจะมาจากตำราของคุณหญิงเปลี่ยน ขณะที่แม่ครัวหัวป่าที่หมายถึงคำติดพระโอษฐ์ในรัชกาลที่ 5 จึงน่าจะเป็นหัวป่า ที่ไม่มี ก การันต์ แต่อย่างใด

ทำให้ได้ข้อสรุปบางอย่างว่า คำที่ติดปากคนไทยว่า "แม่ครัวหัวป่า" ซึ่งหมายถึงคนทำอาหารอร่อยซึ่งมาจากพระโอษฐ์ของรัชกาลที่ 5 นั้นไม่น่าจะมี ก การันต์แต่อย่างใดแบบคำที่คุณหญิงโหมดใช้ แต่ถ้าจะเขียน ก การันต์ไปด้วยก็ไม่น่าจะเป็นข้อผิดพลาดอะไร แล้วแต่จะเลือกใช้กันมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางภาษาสืบค้นกันต่อไป

ไม่แน่คุณหญิงอาจจะนำพระดำรัสของรัชกาลที่ 5 มาผสมกับภาษาบาลีจนเกิดคำนี้ก็ได้...

- 5 -

หากมาพูดถึงสิงห์บุรี ดูเหมือนผู้คนจะรู้จักที่นี่จากเรื่องราววีรกรรมของชาวบ้านบางระจันซะมากกว่าเรื่องอื่นๆ หากแต่ความจริงเรื่องของบ้านเมือง หัวเมืองและโบราณสถานต่างๆ ของไทยยังถูกซุกซ่อนเป็น Unseen อยู่อีกมาก ซึ่งเราสามารถค้นหาได้โดยไม่ต้องรอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาบอก

ซึ่งบางสิ่งก็มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์และรักษาให้มีชีวิตต่อไปตราบรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่นเดียวกับเรื่องของแม่ครัวหัวป่าแห่ง อ.พรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี นี่เอง ที่หน่วยงานราชการน่าจะลองเข้าไปสนับสนุนการอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวหัวป่า และต่อยอดให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ของชุมชน นำรายได้เข้าท้องถิ่นต่อไปดีกว่ารัฐบาลไปส่งเสริมอาหารจังก์ฟูดของต่างชาติเป็นไหนๆ

ว่าแต่...ทราบแล้วท่านนายกฯ สนใจไปเป็นพรีเซ็นเตอร์กินอาหารแม่ครัวหัวป่าบ้างไหม !

                                        ***

หากต้องการลองชิมฝีมือของแม่ครัวหัวป่า ถ้าไปแบบหมู่คณะสามารถติดต่อสอบถามได้ที่คุณป้าชวนชื่น พรหมายน ที่โทร. 036-537572







กำลังโหลดความคิดเห็น