“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
ไอน์สไตน์ เจ้าของแนวคิดทฤษฎีสัมพัทธภาพเคยกล่าวไว้เช่นนั้น
แต่เราอยากจะเสริมว่า จินตนาการสำคัญพอๆ กับความรู้ และมีหลายองค์ความรู้ที่มีรากฐานมาจากจินตนาการ
หากมนุษย์เราต่างมีบ่อน้ำแห่งชีวิต บ่อแห่งความฝันและจินตนาการนั้นคงเปี่ยมล้นที่สุดในช่วงวัยเยาว์ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการสั่งสมประสบการณ์ของผู้ใหญ่ ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านรูปแบบของนิทานหรือเรื่องเล่า คือสิ่งที่มาช่วยแต่งแต้มความฝันและจินตนาการของเด็กๆ ให้ยิ่งบรรเจิดขึ้น เมื่อพวกเขาเรียนรู้ที่จะเริ่มหัดอ่านหนังสือ
หนังสือเด็กจึงมิใช่เป็นเพียงแค่เรื่องราวของเด็กๆ แต่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ช่วยเปิดประตูแห่งจินตนาการ นำพาเด็กน้อยสู่โลกกว้าง ก่อนที่พวกเขาจะไปสร้างเรื่องราวเป็นหนังสือชีวิตของตัวเองต่อไป
ตลาดหนังสือเด็กในเมืองไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับชาติตะวันตก หรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกันอย่างญี่ปุ่น จะพบข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าใจว่า หนังสือเด็กของไทยถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าหนังสือประเภทอื่นๆ ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลาย
แม้จะยังไม่มีสถิติชัดเจนถึงจำนวนหนังสือเด็กที่ออกมาในแต่ละเดือนของประเทศไทย แต่จากการคะเนตามปริมาณหนังสือเด็กที่วางจำหน่ายในร้านหนังสือทั่วไป หนังสือเด็กของไทยนับว่ามีปริมาณน้อยและหนำซ้ำยังมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนไทย
ที่สำคัญคือ มักมีการสับสนนำหมวดหนังสือเด็ก อันได้แก่ หนังสือภาพ นิทาน หนังสือเสริมการเรียนรู้ ไปปะปนกับหนังสือแบบฝึกทักษะด้านต่างๆ ของเด็กๆ ส่งผลให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะตลาดหนังสือเด็กในเมืองไทยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงบ่อยครั้ง
“หนังสือเด็กในบ้านเราต้องตีความให้ชัดว่า แบบฝึกไม่ถือเป็นหนังสือเด็ก นั่นเป็นการเตรียมความพร้อมไม่ใช่เพื่ออ่าน แต่เรื่องการอ่านจะตามมาทีหลัง หนังสือเด็กจะเป็นกลุ่มที่เป็นนิทานภาพ เป็นความรู้เชิงสารานุกรมซึ่งถือว่ายังมีน้อย จะเห็นว่าร้านหนังสือในบ้านเรามุมหนังสือเด็กจะเล็กที่สุด” ริสรวล อร่ามเจริญ ให้ความเห็นในนามอุปนายกฝ่ายในประเทศของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นข่าวดีสำหรับแวดวงธุรกิจหนังสือเด็ก เมื่อข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยพบว่า ในปี 2547 หนังสือเด็กเล็กเป็นหนังสือหมวดที่มีการอ่านมากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมาคือวรรณกรรม คู่มือเรียน-สอบ หนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และบริหารธุรกิจ
ตรงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของตลาดหนังสือเด็กที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหลายสำนักพิมพ์ให้ความสนใจจัดพิมพ์หนังสือเด็กออกมาเพิ่มขึ้น เห็นได้จากจำนวนหนังสือออกใหม่ในปี 2547 ที่มียอดสูงถึง 11,680 ชื่อเรื่อง ในจำนวนนี้หนังสือเด็กเป็นหมวดที่ออกมามากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากวรรณกรรมและหนังสือประเภทคู่มือ
สอดคล้องกับการที่ ระริน อุทกพันธุ์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ออกมาเผยถึงธุรกิจกลุ่มหนังสือเด็กว่า เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดอันดับ 2 ของสำนักพิมพ์ โดยปีที่แล้วกลุ่มหนังสือเด็กของอมรินทร์มีอัตราเติบโตขึ้นถึง 50% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก
จากการมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานหนังสือในต่างประเทศ ริสรวลพบว่าในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสำเร็จในการใช้หนังสือเด็กสูงที่สุด รองลงมาคือ เกาหลี ไต้หวัน จีน และเวียดนาม
สาเหตุที่หนังสือเด็กในญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าและอัตราการเติบโตของตลาดสูงนั้น นอกจากความใส่ใจของผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นที่มีต่อพัฒนาการของบุตรหลานแล้ว ภาครัฐเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของหนังสือเด็ก โดยมีห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีแต่หนังสือเด็กโดยเฉพาะ
“เมื่อสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นทำหนังสือเด็กออกมา ส่วนกลางก็จะมีคณะกรรมการที่คัดเลือกและซื้อหนังสือให้แก่ห้องสมุดทั่วประเทศ พ่อแม่ก็ได้ใช้หนังสืออย่างสม่ำเสมอก็เป็นการฝังรากให้ลูกพอสมควร คุณภาพของงานหนังสือเด็กของญี่ปุ่นที่เห็น แม้จะไม่ใช่งานเบสต์เซลเลอร์แต่เป็นรองเบสต์เซลเลอร์ แต่ละเรื่องที่เขาคัดสรรกลั่นกรองมามีคุณงามความดี บางเรื่องพิมพ์ซ้ำเป็นร้อยๆ ครั้ง”
ด้วยคุณภาพทั้งรูปแบบและเนื้อหาของหนังสือเด็กต่างชาติ ทำให้ในตลาดหนังสือเด็กของไทยส่วนหนึ่งจึงเป็นการแปลมาจากต้นฉบับหนังสือเด็กของต่างประเทศ
“เรื่องที่ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามา สิ่งที่เราคำนึงถึงในการคัดเลือกคือ ต้องมีความสนุกขณะเดียวกันก็ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่จินตนาการฟุ้งเพียงอย่างเดียว และต้องมีความเข้าใจในแต่ละวัยของเด็ก แต่พอถึงจุดหนึ่งเราเริ่มพัฒนาหนังสือของเราเอง อย่างเช่น ชุดนิทานไทยที่อยากให้เด็กมีรากได้รู้จักนิทานไทย เรามองว่าการอ่านของเด็กในวัยนี้เป็นการอ่านเอาเรื่อง เป็นการปูพื้นให้รู้จักการดำเนินเรื่อง รู้จักตัวละครอย่างสุดสาคร จะเป็นเรื่องเล่าไม่ยาวมาก ใช้ภาษาไม่ยากจนเกินไป เน้นให้ภาพมีความตื่นตาตื่นใจ”
“เมื่อลูกเอาหนังสือไปอ่านที่บ้าน สิ่งที่พ่อแม่เห็นก็คือ ลูกอ่านหนังสือได้ ทั้งๆ ที่ลูกยังอยู่อนุบาล 2 อนุบาล 3 ที่ยังผสมคำไม่ได้ แต่มันเป็นภาษาธรรมชาติ พอถึงวันที่เขาเรียนพยัญชนะ เขาจะไปเร็วมาก...” ริสรวลบอกว่า การเล่าเรื่องด้วยภาพผ่านการอ่านหนังสือเด็กนี้ เป็นวิธีที่แยบยลสามารถเข้าถึงเด็กได้ลึกซึ้งและได้ผลดีกว่าการสอนโดยตรง
“หนังสือเด็กมีความงามตรงที่สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีอนาคตที่กว้างไกล ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจในการใช้หนังสือเลี้ยงลูก เชื่อว่าเด็กคนนั้นจะมีนิสัยใฝ่รู้ตลอดชีวิต หนังสือจะพาเด็กท่องไปไกลแสนไกล การใช้หนังสือสอนลูกโดยเฉพาะในวัยเล็กๆ ที่เด็กจะมีความคิดและจินตนาการของเขา ถ้าพ่อแม่จับทางได้ถูกก็สามารถสอนลูกได้ด้วยวิธีการแยบยล นิทานเรื่องนั้นๆ สามารถเป็นตัวอย่าง เหมือนเป็นประสบการณ์ชีวิตที่พ่อแม่สามารถหยิบยกขึ้นมาสอนลูก”
เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านในวัยเด็ก จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งได้ต้นแบบแนวความคิดจาก คณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน (International Board on Book for Young People-IBBY) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาพันธมิตร ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการอ่านในหมู่เด็กไทย
อีกทั้งรัฐบาลไทยยังประกาศให้ วันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันหนังสือเด็กสากลที่มีต้นกำเนิดมาจากวันเกิดของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Andersen) นักเขียนนิทานเด็กชื่อก้องโลก ผู้ซึ่งหากวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะอายุครบรอบ 200 ปีในปีนี้
จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หากแคมเปญรณรงค์ให้เด็กไทยรักการอ่านได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ริสรวลเชื่อว่าในอนาคตตลาดกลุ่มหนังสือเด็กหรือหนังสือเยาวชนจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทว่าคงไม่หวือหวาแบบก้าวกระโดด
“แฮร์รี่ พอตเตอร์ช่วยปลุกกระแสกลุ่มวรรณกรรมเด็กโต แต่ก็ยังขาดช่วงหนังสือที่จะมาเชื่อมร้อยกลุ่มหนังสือในวัยเด็กเล็ก” ริสรวลชี้ให้เห็นช่องว่างทางการตลาดของหนังสือเด็กในเมืองไทย
“อ่านสนุก-เหมาะกับวัย” หัวใจของหนังสือเด็ก
ด้วยความที่ริสรวลสวมหมวกหลายใบ ทั้งในนามอุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและคนทำหนังสือเด็ก ทำให้เธอต้องรับบทบาทเป็นทั้งผู้ดูแลบังเหียนและฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนทิศทางหนังสือเด็กในเมืองไทยไปพร้อมๆ กัน
หากจะถามถึงประเด็นการผลิตหนังสือเด็ก ริสรวลคงต้องแสดงทัศนะในฐานะบรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ สำนักพิมพ์ในเครือบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ ผู้ผลิตหนังสือเพื่อส่งเสริมจินตนาการ ทักษะและกิจกรรมต่างๆ ด้วยหนังสือภาพสีสันสดใส สำหรับเด็กเล็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 9 ขวบ
ในกระบวนการผลิตหนังสือเด็ก นับตั้งแต่การเขียนเรื่อง วาดภาพ บรรณาธิการ จัดพิมพ์และจัดจำหน่าย จนกระทั่งหนังสือไปสู่มือเด็กนั้นทุกขั้นตอนล้วนต้องพิถีพิถัน โดยก่อนนั้นผู้จัดทำต้องมีการหาข้อมูลก่อน ริสรวลบอกว่าโจทย์สำคัญอันดับแรกในการผลิตหนังสือเด็กคือ
“เราต้องรู้จักพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกคลอด นั่งบนตักแม่ได้ เริ่มใช้หนังสือเล่มแรกควรมีลักษณะหนังสือยังไง ไปจนกระทั่งเด็กโต 1-6 ขวบ ที่สำคัญคือเราจะต้องรู้พัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาของเขา แต่ละวัยพัฒนาต่างกันยังไง ความสนใจเขาอยู่เรื่องอะไร พอเรารู้ตรงนี้เราก็จะรู้ว่าจะเลือกหนังสือประเภทไหนให้เหมาะกับเด็ก”
จากการวิจัยพบว่า ช่วงวัยตั้งแต่ 0-6 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กกำลังมีพัฒนาการทางสมอง การกระตุ้นให้เด็กในวัยนี้รู้จักคิด โดยการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางความคิดและจินตนาการ และเติบโตเป็นเด็กฉลาดในอนาคต
พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางสำนักพิมพ์จึงผลิตหนังสือที่ต้องใช้ทักษะการบังคับกล้ามเนื้อในช่วงวัยเด็กเล็ก สำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์จะแบ่งหนังสือออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ หนังสือสำหรับเด็กแรกเกิด-3 ปี, หนังสือสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี
ในส่วนของเด็กแรกเกิด-3 ปี จะเป็นหนังสือที่ทำจากโฟม หรือผ้าที่ลอยน้ำได้ เด็กโตขึ้นมาหน่อยก็ใช้วัสดุกระดาษที่มีสีสันสวยงามดึงดูด ทั้งนี้ ริสรวลกล่าวว่า เด็กในวัยนี้มักชอบให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังซ้ำๆ จากนั้นเด็กจะเกิดกระบวนการจำขึ้นมา ถึงแม้จะยังอ่านไม่ได้ ต่อมาเด็กจะเริ่มอ่านไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ได้ กระทั่งอ่านเองได้ในที่สุด หนังสือในกลุ่มเด็กเล็กจึงมักทำจากวัสดุทนทานต่อการใช้อ่าน
ปรากฏการณ์ที่กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็กไม่มีหนังสือเล่มใดสมควรได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากการประกวดของกระทรวงศึกษาธิการต่อเนื่องมาหลายปี เนื่องจากรูปแบบหนังสือและรูปเล่มมีความบกพร่อง สะท้อนว่าหนังสือสำหรับเด็กเล็กในบ้านเราที่มีมาตรฐานนั้นหาได้ยาก
“นิทานแต่ละเรื่องต้องใช้เวลานาน กว่าจะได้แก๊ก กว่าจะได้ภาพ นักเขียนบางคนต้องทำเวิร์กชอปกับเด็กก่อน ความที่ตลาดมันไม่ได้โตเร็ว คนที่จะเข้ามาคิดมาทำหนังสือเด็กก็มีน้อย” ริสรวลกล่าวถึงอุปสรรคของคนทำหนังสือเด็ก
อย่างไรก็ตาม หนังสือชุดธรรมชาติหรรษา “ผีเสื้อ” ของสำนักพิมพ์แฮปปี้คิดส์ก็ได้รางวัลดีเด่น ประเภทหนังสือสวยงามสำหรับเด็ก ซึ่งมีภาพประกอบสวยงามเป็นหัวใจสำคัญ
“หนังสือเด็กสิ่งที่สำคัญคือมาตรฐานของภาพ เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยจะเหมาะกับการรับรู้ภาพแตกต่างกันไป เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องแยบยล มันไม่สามารถบอกได้ชัด แต่จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการหนังสือเด็ก เรารู้ว่าคุณภาพของภาพที่ดีและหลากหลายมันค่อยๆ สะสมในตัวเด็ก พร้อมกับเรื่องราวที่ผูกเป็นเนื้อเรื่องในนิทานด้วย มันก็เป็นประสบการณ์ชีวิตนั่นเอง” ซึ่งริสรวลว่าสิ่งนี้จะทำให้เด็กติดหนังสือและกลายเป็นคนรักการอ่านในที่สุด
“อยากจะเชิญชวนให้ร้านหนังสือใช้หนังสือเด็กเป็นตัวกระตุ้นลูกค้าของร้าน อย่างเช่นจัดไว้ที่วินโดว์ได้ไหม คืออย่าให้เป็นมุมแย่ที่สุดแล้วเอาหนังสือเด็กไปไว้ น่าจะเข้าถึงเด็กได้ด้วยการมีกิจกรรมที่หลากหลาย แล้วก็มีมุมที่เขาสามารถเลือกซื้อหนังสือได้อย่างสบายใจ“ ริสรวลฝากทิ้งท้าย
****
สายธารหนังสือเด็กของไทย
ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า หนังสือสำหรับเด็กของไทยในยุคแรกเริ่มนั้นเป็นหนังสือประเภทร้อยกรอง ได้แก่ บทเห่กล่อมต่างๆ ต่อมาจึงได้เขียนเป็นร้อยแก้ว เรื่องที่เขียนส่วนมากมักเป็นนิทาน คำสอนต่างๆ
ยุคที่หนังสือเด็กเฟื่องฟูมากเป็นยุคที่อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2491 - พ.ศ. 2513 ในยุคนั้นโรงพิมพ์คุรุสภาได้จัดทำหนังสือสำหรับเด็กขึ้นสองชุดคือ “คลังนิยาย” กับ “นิทานประทีปทอง” เป็นที่นิยมของเด็กอย่างมาก นับเป็นการจุดชนวนหนังสือเด็กให้เฟื่องฟูขึ้น จนมีสำนักพิมพ์เอกชนอื่นๆ พิมพ์หนังสือเด็กแบบเดียวกันออกมาอีกมาก แต่หลังปีพ.ศ. 2513 กระแสความนิยมหนังสือเด็กกลับเงียบหายไป
ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นปีเด็กสากล วงการหนังสือสำหรับเด็กตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เปิดสอนวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มีสำนักพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กโดยเฉพาะเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 สำนักพิมพ์คือ สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก และสำนักพิมพ์ปาณยา
ศูนย์พัฒนาหนังสือกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ก็นับว่ามีส่วนช่วยให้หนังสือสำหรับเด็กเฟื่องฟูยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการผลิตหนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นชุดๆ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ส่งเสริมการสร้างประสบการณ์ชีวิต ส่งเสริมสร้างนิสัยฯลฯ ตามหลักสูตรในระดับการศึกษาต่างๆ ยิ่งกว่านั้นยังส่งเสริมให้มีหนังสือเด็กที่ดี โดยจัดการประกวดหนังสือสำหรับเด็กดีเด่นขึ้นทุกๆ ปี
ในช่วงปีเด็กสากลนี้ปรากฏว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กเฟื่องฟูมาก จากสถิติหนังสือเด็กที่ส่งเข้าประกวดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2523 ซึ่งให้ส่งหนังสือสำหรับเด็กที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2522 มีผู้ส่งเข้าประกวดถึง 59 เรื่อง นับว่ามากกว่าปีก่อนๆ เกือบเท่าตัว
ในปัจจุบัน ตลาดหนังสือเด็กขยายตัวมากยิ่งขึ้น มีสำนักพิมพ์ซึ่งพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช วัฒนาพานิช ธีรสาสน์ ปลาตะเพียน ต้นอ้อ สุรีวิยาสาสน์ บรรณกิจ กะรัต มาร์เก็ตติ้งมีเดีย แอสโซซิเอทส์ ซีเอ็ดยูเคชั่น ฟาร์อีสพลับบลิเคชั่น แพรวเพื่อนเด็ก นานมีบุ๊คส์ เป็นต้น
สำนักพิมพ์เหล่านี้ดูจะพยายามผลิตหนังสือให้ตรงกับความต้องการและความสนใจของเด็ก มีการวิเคราะห์ วิจัยประเภทของหนังสือเด็ก รวมทั้งเนื้อหา ฯลฯ ที่เหมะสมกับพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ และพยายามใช้เทคนิคแปลกๆ ใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อแข่งขันกันในตลาดหนังสือสำหรับเด็ก ในขณะเดียวกันก็มีการตื่นตัวในการประกวดหนังสือเด็กทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มอบรางวัลหลากหลายประเภท เหล่านี้แสดงถึงการเพิ่มจำนวนการผลิต การจำหน่ายหนังสือเด็ก ตลอดจนจำนวนผู้อ่านหนังสือมีมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งทรัพย์ทางปัญญาสำหรับเด็กต่อไป
ที่มา ; www.culture.go.th/oncc/knowledge/book