ยามเช้าบนแผ่นดินอาเจะห์....
อาสาสมัครหนุ่มไทยในชุดป้องกันเชื้ออย่างดี ผ้าปิดจมูก พร้อมรองเท้ายางเต็มสูตร เดินเหยียบย่ำไปบนหลุมศพที่เบื้องล่างเต็มไปเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47เกือบ 50,000 ศพนอนเรียงรายอยู่ใต้ผืนแผ่นดินจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย ซึ่งนับได้ว่าเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในโลก
คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้ได้ว่ามีอาสาสมัครจำนวนเกือบสิบคนที่ยอมจากลูกเมีย พ่อ แม่ไปใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก นำชื่อเสียงและธงของประเทศไทยไปโบกสะบัดท่ามกลางธงประเทศอื่นๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ
อาสาสมัครเหล่านี้มีหน้าที่ในการเข้าไปจัดการกำจัดเชื้อโรคและดับกลิ่นศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังคงมีซากศพของเหยื่อทยอยส่งมาฝังอยู่ทุกๆ วัน โดยที่ทหารและอาสาสมัครเก็บศพของอินโดนีเซียจะนำศพที่ชาวบ้านพบแล้ววางเรียงรายอยู่ตามข้างถนนใส่รถบรรทุก แล้วนำมาทิ้งใส่หลุม
คนไทยน้ำใจงาม
ผลของสึนามิทำให้คนอาเจะห์ต้องเสียชีวิตไปกับโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์นับแสนคน และปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือ กลิ่นศพที่มีความรุนแรง และส่งกลิ่นตลบอบอวลไปแทบจะทุกหย่อมหญ้า
ความเหม็นที่ไม่เข้าใครออกใคร ส่งผลทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ สุสานได้ออกมาประท้วงทางการที่ไม่สามารถจัดการกับกลิ่นเหม็นเน่ากับศพได้ ขณะที่รัฐบาลเองก็หมดหนทางไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดแล้ว จึงแก้ขัดด้วยการถมดินในหลุมฝังศพให้สูงขึ้นอีก 2 – 3 เมตร ซึ่งก็ช่วยบรรเทาให้กลิ่นเบาบางลงได้บ้าง
และในที่สุดปัญหาก็คลี่คลายไปในระดับหนึ่งเมื่อมีอาสาสมัครคนไทยรับอาสาเข้าไปทำงานนี้
“ไม่เคยมีประเทศไหนเลยที่เข้ามาช่วยในการดับกลิ่นศพ ก็มีแต่ประเทศไทยนี่แหละที่เข้ามารับงานตรงนี้ ไม่อย่างนั้นนะชาวบ้านแถวนี้คงจะย้ายหนีออกไปกันหมด” มุฮัมหมัด กอซิมผู้ช่วยปลัดอำเภออาเจะห์ เบอร์ซาร์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลหลุมฝังศพที่ลำบารูชื่นชมอาสาสมัครชาวไทยที่เข้าไปรับหน้าที่บรรเทากลิ่นให้เบาบางลงโดยใช้น้ำยาจุลินทรีย์เข้าไปกินแบคทีเรีย รวมทั้งช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของซากศพ
ผู้ช่วยปลัดรายเดิมเล่าผ่านล่ามต่อว่า บริเวณที่ฝังศพนั้นมีพื้นที่รวมแล้ว 9 ไร่ แต่คาดว่าอาจจะต้องซื้อที่ดินของชาวบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีศพถูกส่งมาฝังเป็นประจำทุกวันวันละ 4-5 ศพ พร้อมทั้งยอมรับด้วยว่า ทางการเองก็ยังเก็บศพผู้เสียชีวิตได้ไม่หมดมีทั้งยังติดค้างอยู่ในเขตเมือง และบางหมู่บ้านก็ยังเข้าไปไม่ถึง
ส่วนในอนาคตคาดว่าหลุมศพแห่งนี้จะจัดเป็นอนุสรณ์สถานให้ญาติผู้เสียชีวิตและคนที่สนใจได้เดินทางมาเคารพศพและรำลึกถึงความสูญเสียจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยจะแบ่งพื้นที่แยกออกเป็นสัดส่วนในการประกอบพิธีของแต่ละศาสนา
สำหรับโครงการควบคุมโรคและดับกลิ่นศพของอาสาสมัครไทยในครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลาไว้ในเบื้องต้น 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ แต่ด้วยกับความล่าช้าและความผิดพลาดของเรือขนส่งชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการดับกลิ่นศพกว่า 3 ตัน ทำให้ภารกิจในครั้งนี้อาจจะต้องเพิ่มระยะเวลาออกไปอีก
ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาที่ทางอินโดนีเซียสั่งให้องค์กรเอกชนและประเทศต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากอาเจะห์ภายในวันที่ 26 มีนาคม แต่ทางอาสาสมัครชาวไทยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าหากพิจารณาดูแล้วว่าสถานการณ์ปลอดภัยก็จะยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น
เจาะลึกภารกิจรายวัน
ตั้งแต่เดินทางมาถึงอาสาสมัครกลุ่มนี้ได้เริ่มสำรวจพื้นที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งพื้นที่หลักๆจะเป็นหลุมศพใหญ่ 5 หลุมที่อยู่ในจังหวัดบันดาอาเจะห์ นอกจากนี้ยังมีภารกิจพิเศษที่ได้รับการร้องขอมาจากทางการของอินโดนีเซีย เช่นการดับกลิ่นและฆ่าเชื้อตามโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการต่างๆ
ณรงค์ ตั้งสุกุล หนึ่งในทีมอาสาสมัครครั้งนี้เล่าถึงภารกิจในแต่ละวันว่าอาสาสมัครจะต้องเริ่มตั้งแต่การผสมชีวภัณฑ์แบบแห้งที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาผสมลงในน้ำก่อนนำไปใช้ประมาณ 6 – 12 ชั่วโมงเพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ที่หลับอยู่ตื่นมากินรำ จมูกข้าวสาลี และนมสกัดที่ผสมเป็นผงรวมกับจุลินทรีย์และปล่อยเอนไซม์ออกมา ซึ่งเอมไซม์ตัวนี้เองที่จะมากำจัดกลิ่นและย่อยจุลินทรีย์
“แต่เดิมชีวภัณฑ์ดับกลิ่นเหล่านี้จะใช้อยู่ที่ประมาณอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แต่ด้วยความรุนแรงของกลิ่นและสภาพเน่าเปื่อยมานานของศพทำให้ต้องเพิ่มความเข้มข้นเป็นชีวภัณฑ์ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร” ณรงค์เล่าให้ฟังถึงที่มาของน้ำยาที่ใช้ดับกลิ่นและควบคุมเชื้อโรคก่อนที่จะนำไปใช้ฉีดตามสถานที่ต่างๆ
ในแต่ละวันอาสาสมัครจะตื่นแต่เช้าแต่งตัวป้องกันเชื้ออย่างรัดกุมออกไปฉีดน้ำยาตามหลุมศพทั้ง 5 หลุมเป็นเวลา 5 วันติดกันเพื่อให้น้ำยาลงไปถึงตัวศพ และบางครั้งหากมีศพลงมาใหม่อาสาสมัครเหล่านี้จะเข้าไปช่วยกันฉีดน้ำยาโดยไม่รังเกียจต่อกลิ่นเน่าเหม็น เพื่อให้น้ำยาเข้าถึงศพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขณะที่น้ำที่นำมาใช้ในการผสมชีวภัณฑ์ก็ได้รับการสนับสนุนจากทางด้านผู้ว่าการเมืองอาเจะห์ที่จะจัดส่งรถดับเพลิงบรรทุกน้ำมาเต็มคันเป็นประจำทุกวัน
ก่อนมาอาเจะห์
ก่อนหน้าที่อาสาสมัครกลุ่มนี้จะถือธงไตรรงค์เข้ามาปฏิบัติภารกิจนี้ในอินโดนีเซีย พวกเขาเคยผ่านการดับกลิ่นศพที่วัดย่านยาว จ.พังงามาก่อนแล้ว ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงเกิดความคิดที่จะนำประสบการณ์นี้มาแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่ประสบความเสียหายอย่างรุนแรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ
ชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยาประธานศูนย์ประสานงานจังหวัดสงขลาซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าอาสาสมัครชาวไทยเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนเดินทางมาอาเจะห์ว่า อาสาสมัครรายหนึ่งที่ร่วมดับกลิ่นศพอยู่ที่วัดย่านยาวได้เสนอความคิดว่าประเทศไทยควรจะไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆที่ทุกข์ร้อนหลังจากที่งานในบ้านเราเองเสร็จสิ้นแล้ว
“ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมที่วัดย่านยาวจึงเห็นว่าข้อเสนอของสมาชิกน่าสนใจดีจึงลองติดต่อไปยังคุณอัจฉรา เสรีบุตรเอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียให้ช่วยประสานงานในเรื่องนี้ให้ ซึ่งทางท่านทูตก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยช่วยติดต่อไปยังสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซียเพื่อให้ช่วยบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการครั้งนี้” หัวหน้าทีมอาสาสมัครไทยกล่าว
ภายหลังจากการติดต่อประสานงานทางสภานักธุรกิจไทย-อินโดนีเซียจึงได้ร่วมกันลงขันบริจาคเงินจำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัท บ้านปู จำกัดรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่รวบรวมนำเงินมาซื้อชีวภัณฑ์และเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ก่อนหน้านี้ทางอาสาสมัครไทยเคยเดินทางมายังอาเจะห์ก่อนแล้ว 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกเดินทางมาเมื่อเดือนมกราคมเพื่อสำรวจความเสียหายและช่วยกับทางองค์กรพุทธสมาคมอินโดนีเซียหรือ ( WALUBI) ในการเก็บศพ
ส่วนครั้งที่ 2 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ทางทีมงานได้นำชีวภัณฑ์มาด้วยจำนวน 500 กิโลกรัม ในครั้งนั้นสุรเกียรติ์ เสถียรไทยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศได้เดินทางมายังจังหวัดอาเจะห์เพื่อดูสภาพความเสียหายรวมทั้งแวะเยี่ยมอาสาสมัครไทย และรับปากว่าจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ขณะที่รอบที่ 3 อาสาสมัครไทยได้เตรียมตัวเตรียมใจลงมาช่วยเหลือในปฏิบัติการครั้งนี้อย่างเต็มที่โดยนำงบประมาณที่หาได้มาซื้อสารชีวภัณฑ์ที่ทางบริษัทนิววิสท์ เจิมส์ จำกัดลดราคาลงให้กว่าครึ่ง และเตรียมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัทเอกชนไทยและอินโดนีเซียมาอย่างครบครัน
เก็บศพ : ภารกิจที่สอง
นอกจากกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ จะมีหน้าที่ในการช่วยเหลือคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ดำรงชีวิตได้อย่างสบายใจปลอดจากกลิ่นและเชื้อโรคจากซากศพมารบกวนใจแล้ว พวกเขายังช่วยเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียเก็บศพหากว่าสถานที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานยังมีศพติดค้างอยู่
ณรงค์อาสาสมัครรายเดิมเล่าว่าเมื่อพวกเขาไปเห็นสภาพศพของคนที่นั่นตายนอนตายเป็นเบือถูกนนำมากองไว้ข้างถนนแล้วรู้สึกอนาถใจกว่าที่เขาได้เห็นที่วัดย่านยาว และเมื่อศพมาถึงก็ดัมป์ลงหลุมโดยไม่มีการตรวจพิสูจน์ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นใคร
“มีอยู่วันหนึ่งพวกเราได้เข้าไปดับกลิ่นและฆ่าเชื้อที่วัดในอาเจะห์ แต่ดับอย่างไรกลิ่นก็ไม่หายสักที เมื่อเข้าไปเปิดแผ่นไม้ที่ปิดอยู่ก็พบศพแม่และลูกอีก 2 คนอยู่เคียงข้าง” ณรงค์เล่าถึงเหตุการณ์ประทับใจหลังจากที่ได้ช่วยเหลือศพให้ออกจากที่ที่พวกเขาต้องทุกข์ทรมานอยู่
อาสาสมัครรายนี้เล่าว่าเขาสบายใจทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือศพให้ออกจากที่ที่พวกเขาติดอยู่ ขณะที่บางครั้งเขาเองก็เสียใจที่บางศพอยู่ต่อหน้าแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือใดๆ ได้
“มีอยู่ศพหนึ่งเป็นผู้ชาย ผมเห็นจมอยู่ในน้ำเมื่อดึงกางเกงขึ้นมา กระดูกก็หักครึ่งตัว น้ำเหม็นเน่ากระเด็นติดเสื้อ ส่วนหัวก็ร่วงตกลงไปในน้ำ ควานหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ผมเลยไหว้ศพแล้วบอกว่าผมขอโทษผมทำได้เพียงเท่านี้” ณรงค์กล่าวด้วยความเศร้าที่ไม่สามารถเก็บชิ้นส่วนศพมาได้หมดทั้งๆที่เห็นอยู่ต่อหน้า
....ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่าแม้ว่าอาสาสมัครเหล่านี้จะต้องทำงานคลุกคลีอยู่กับกลิ่นเหม็นคละคลุ้งของศพ ครั้นตกกลางคืนก็ต้องทนลำบากนอนเต็นท์ท่ามกลางลมที่หนาวเย็นและยุงจำนวนมากที่รบกวนจนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่พวกเขายังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่นเพื่อให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่ายังคงมีธงของไทยที่โบกสะบัดอยู่ในดินแดนที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์มากที่สุด