ขณะที่มีความพยายามผลักดันหนังไทยก้าวสู่ระดับอินเตอร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติกลุ่มหนึ่งกลับมองเห็นความงดงามของดินแดนสยามเมืองยิ้ม ส่งผลให้โลเกชันในเมืองไทยได้ออกไปโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอวดสายตาชาวโลก
บางสถานที่แม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่รู้ว่า นี่...คือแผ่นดินเกิดของเรา
“ผู้จัดการปริทรรศน์” จะพาคุณไปรู้จักโลเกชันสวยๆ และเรื่องราวของคนไทยผู้ที่อยู่เบื้องหลังฉากในภาพยนตร์ต่างประเทศเหล่านี้
เสน่ห์แบบไทยจับใจผู้กำกับโลก
“โลเกชันจริงๆ ถ่ายทำที่ไหนก็ได้ แล้วทำไมเขาถึงมาเมืองไทย ก็เพราะคนไทยทำงานคล่องทำงานเป็น ปัจจุบันนี้มีคนไทยพูดภาษาอังกฤษกับเขาเข้าใจเยอะ เรามีเครื่องมือพร้อม และที่สำคัญค่าจ้างแรงงานก็ถูก คือได้ของถูก ของดี และทำได้เร็วด้วย อาหารบ้านเราก็อร่อย คนมีไมตรียิ้มแย้มแจ่มใส มาอยู่เมืองไทยก็สบายใจอากาศดี” ศศิสุภา สังวริบุตร นายกสมาคมผู้สนับสนุนภาพยนตร์ต่างประเทศ บอกข้อได้เปรียบของทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ชาวไทย ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดเข้ามานับพันล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา หนังฟอร์มใหญ่ที่เข้ามาใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ คือ ภาพยนตร์ที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เรื่อง "อเล็กซานเดอร์” ของผู้กำกับชื่อดัง Oliver Stone โดยใช้จังหวัดสระบุรีและอุบลราชธานีเป็นโลเกชัน และเพียง 2 ฉากนี้เขาเอาเงินมาทิ้งในประเทศไทยถึง 500 ล้านบาท
จังหวัดสระบุรี ถูกใช้เป็นฉากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกกองทัพเข้ารุกรานอินเดีย และได้ต่อสู้กับกองทัพช้าง ในฉากนี้เองมีการนำช้างไทยหลายเชือกมาร่วมแสดง
จากนั้นทีมงานได้ยกกองถ่ายไปปักหลักสร้างฉากบนอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งใช้เป็นฉากเหตุการณ์หลังจากกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์พ่ายแพ้กองทัพของชาวภารตะและทรงตรอมใจจนตัดสินใจปลงพระชนม์ตนเอง โดยโดดจากหน้าผาลงสู่แม่น้ำคงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของคนอินเดีย
เจ้าหน้าที่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ถึงสาเหตุที่เลือกผาแต้มเป็นที่ถ่ายทำขั้นสุดท้ายของภาพยนตร์ว่าเพราะผาแต้มมีน้ำโขงไหลผ่าน มีความเหมือนแม่น้ำคงคา รวมทั้งเกรงข้อกฎหมายหากเข้าไปถ่ายทำ ณ สถานที่จริงในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ กองถ่ายยังเกรงการต่อต้านจากประชาชนชาวอินเดียอีกด้วย
ประจวบฯ-เพชรบุรีแชมป์ฉากสงคราม
นับตั้งแต่ The Bridge On The River Kwai โดย William Holden ในปี 1957 ที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักจังหวัดกาญจนบุรี หรือ The Ugly American (1963) ฝีมือกำกับของ George Englund ที่โชว์ความงามแห่งพระบรมมหาราชวังของไทย หรือฉากพัฒนพงษ์อันลือลั่นใน The Deer Hunter (1978) ของผู้กำกับ Michael Cimino
ล้วนเป็นสิ่งบ่งบอกว่าช่วงทศวรรษ 1980 ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นยุคทองแห่งการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติในไทยอย่างแท้จริง มีตัวอย่างเพิ่มอีกคือ The Killing Fields (1984) , Off Limits (1988) ที่โลเกชันบ้านเราถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นนครไซง่อนของเวียดนาม เช่นเดียวกับเรื่อง Good Morning,Vietnam (1987) ,Casualties Of War (1989) กับฉากจับใจบนทางรถไฟริมแม่น้ำแคว หรือเป็นทั้งฉากเวียดนามและลาวใน Air America (1990)
อาจยกเว้นเพียงเรื่อง The Killing Fields ที่ท้องทุ่งนาและชายทะเลแถบ นครราชสีมา หัวหิน และภูเก็ต ถูกทำให้กลายเป็นฉากทุ่งสังหารในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงตามบทภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ สันต์ เปสตันยี ผู้บุกเบิกและสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย เคยกล่าวไว้ว่า “นับเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องแรกซึ่งเปิดแผนที่การถ่ายทำภาพยนตร์ บอกโลกให้ทราบว่าประเทศไทยเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ใหญ่ได้...”
ศศิสุภา บอกเล่าประสบการณ์จากการร่วมงานกับภาพยนตร์เรื่อง The Killing Field ที่โด่งดังเมื่อ 20 ปีก่อนว่าแถบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ และในพื้นที่เพชรบุรี มีสภาพเป็นท้องทุ่งนา ป่าเขา มีต้นตาลและชายหาดใกล้เคียงกับเขมรและเวียดนามมาก จึงเป็นสถานที่ถ่ายหนังสงครามบ่อยครั้ง
“The Killing Field" ถ่ายทำในไทยเกือบทั้งหมด ประสบการณ์คราวนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะทีมงานสมัยนั้นปัจจุบันก็มาทำธุรกิจเกี่ยวกับการประสานงานภาพยนตร์เยอะเหมือนกัน และหลังจากทำหนังเรื่องนี้มา ก็มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ได้รับอิทธิพล เช่น สยามไลท์ที่ให้เช่าอุปกรณ์ เพราะสมัยนั้นทีมงานฝรั่งเขาเอาอุปกรณ์เข้ามาแม้กระทั่งรถทำกับข้าว เอามาเองหมดทุกอย่าง แต่หลังจากนั้นคนไทยมองเห็นช่องทางจากธุรกิจพวกนี้ ก็มีบริษัทเปิดขึ้นตามมาเรื่อยๆ”
สมาคมผู้สนับสนุนภาพยนตร์ต่างประเทศ
ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อสมาคมแห่งนี้ ก็ชวนนึกว่าเป็นสมาคมคนรักหนังฝรั่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นสมาคมผู้สนับสนุนภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย
ศศิสุภา สังวริบุตร นายกสมาคมฯ เล่าว่า สมาชิกสมาคมประกอบไปด้วยบุคคลที่ทำงานกับภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งหมด ตั้งแต่ ผู้ประสานงาน ให้เช่าอุปกรณ์ ไปจนถึงโพสต์โปรดักชั่น และคำว่า “ภาพยนตร์” ก็ไม่ได้หมายถึงเพียงภาพยนตร์เรื่องยาว ยังรวมถึงภาพยนตร์ที่เป็นสารคดี โฆษณา โทรทัศน์ ภาพนิ่ง ตลอดจนมิวสิกวิดีโอด้วย
“ธุรกิจที่พวกเราทำอยู่ต่างจากภาพยนตร์ไทยตรงที่พวกเราไม่ใช่เจ้าของโปรดักต์ แต่ทำเรื่องขายบริการ เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศเป็นหลัก ธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยเราอยากให้มองว่าประเทศเราเหมือนโรงถ่ายใหญ่ หนังที่เข้ามาถ่ายในบ้านเรามีเพียง 10% เท่านั้นที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยพื้นที่ โลเกชั่น อาศัยประสบการณ์ของคนทำงานเรา เพื่อทำโปรดักต์ของเขาไปขายข้างนอก ฉะนั้น บางทีเขาก็จะสมมติประเทศเราเป็นเขมร เป็นพม่า เป็นลาว หรือเวียดนามบ้าง”
เนรมิตสลัมคลองเตยให้เป็นพม่า
นอกจากเป็นนายกสมาคมฯ ศศิสุภายังสวมหมวกอีกใบเป็นกรรมการผู้จัดการ เดอะซิกซ์ เอลเลเม้นท์ บริษัทด้าน Production Support ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย
ศศิสุภากล่าวว่าขณะนี้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูด ให้เป็นผู้ประสานงานถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในประเทศไทย โดยร่วมงานกับ Rob Cohen ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง xxx (Triple x) , Fast & Furious และ Bennett Walsh ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีชื่อว่า “Stealth” สร้างมาจากการ์ตูนเกี่ยวกับเครื่องบินที่หลบหลีกเรดาร์ได้ โดยผู้สร้างเนรมิตย่านสลัมคลองเตยให้กลายเป็นชุมชนในพม่า เนื่องจากไทยกับพม่ามีสภาพบ้านเรือน ความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งศศิสุภาบอกว่าแม้จะเป็นการถ่ายจากมุมสูงของเครื่องบิน แต่ฉากก็ต้องละเอียดถึงขั้นแต่งป้าย ข้อความที่มีตัวอักษรต่างๆ เป็นภาษาพม่าทั้งหมด
นอกจากโลเกชันที่กรุงเทพฯ ทางผู้สร้างก็ยังไปถ่ายทำที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศพม่า “เรื่องนี้ลงทุนทั้งเรื่องประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ใช้เงินในไทยประมาณ 47-50 ล้าน ฉากบ้านเราอยู่ในหนังแค่ 10 นาที” ศศิสุภากล่าว
แม้ว่าจะมีหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดมาสร้างความฮือฮา แต่ ผอ.สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวเปิดเผยว่า ชาติที่เข้ามาถ่ายภาพยนตร์ในไทยมากที่สุดไม่ใช่อเมริกาอย่างที่ใครๆ คิด กลับเป็นชาติเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่น”
“ปี 2545 ญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทำ 166 เรื่อง แล้วก็ลดลง ปี 46 เหลือ 154 เรื่อง ปี 47 เหลือ 147 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นหนังสารคดีและโฆษณา เพราะญี่ปุ่นโฆษณาสินค้าหลายอย่างต้องอาศัยฉากชายหาด แสงอาทิตย์ ภูมิประเทศที่มีทิวทัศน์เป็นทะเลที่สวยงาม เขาชอบถ่ายโลเกชันทะเลมาก”
รองลงมาคือกลุ่มยุโรป มีปะปนกันไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ถัดมาคือสหรัฐที่มีภาพยนตร์สารคดีจำนวนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว อย่าง Heaven and Earth (1993) ผลงานสร้างของผู้กำกับคนเดียวกันกับภาพยนตร์มหากาพย์เรื่องอเล็กซานเดอร์
“Heaven and Earth ถ่ายที่ภูเก็ตเกือบทั้งเรื่อง เป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวเวียดนามที่หนีภัยสงครามไปอยู่อเมริกา แล้วผู้กำกับ Oliver Stone เขาก็ติดอกติดใจเมืองไทยก็เลยกลับมาถ่ายอเล็กซานเดอร์”
ซาร์ส หวัดนก ไฟใต้ และสึนามิ ทำหนังใหญ่หาย
ธนิษฐา มณีโชติ รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ขณะนี้รายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศลดลง 10% จากที่เคยเพิ่มมาทุกปีนับแต่ปี 2541จนถึงปี 2544-45 ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายได้สูงสุด ถึง 1,400 ล้าน จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลง เนื่องจากวิกฤตโรคซาร์ส เมื่อปี 2546
หนำซ้ำเมื่อไข้หวัดนกระบาดรวมกับเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสึนามิในช่วงสิ้นปี 2547 ทำให้รายได้ลดส่งผลกระทบกับคนในท้องถิ่นที่ทำงานด้านนี้
จากสถิติในช่วงปี 2547 มีผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายหนังในไทย 441 เรื่อง สารคดี 207 เรื่อง,โฆษณา 173 เรื่อง, ภาพยนตร์เรื่องยาว 28 เรื่อง, ภาพยนตร์โทรทัศน์ 11 เรื่อง และมิวสิกวิดีโอ 22 เรื่อง รวมแล้วทุกเรื่องใช้เงินงบประมาณในประเทศไทยถึง 1,128 ล้านบาท
ธนิษฐากล่าวว่าโดยปกติ ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติจะเดินทางมาถ่ายทำในประเทศไทยมากช่วงเดือนมกราคม และสิงหาคม ซึ่งเวลาหลังคริสต์มาสและช่วงซัมเมอร์ แต่ต้นปี 2548 นี้ หลังเหตุการณ์สึนามิ ยังไม่มีผู้ภาพยนตร์ต่างประเทศระดับยักษ์ติดต่อเข้ามายังสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวเลย มีเพียงแต่ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทำในเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ทะเลอันดามันยังยอดฮิต
นิภาภรณ์ โพธิ์ทอง transport co-ordinater กองถ่ายเรียลิตี้โชว์ทางโทรทัศน์ของเบลเยียม ซึ่งถ่ายทำรายการ “Temptation Island” ที่จังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า รายการที่ถ่ายทำตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มมาได้เกือบ 2 เดือนแล้ว โดยคืนนี้ (13 มี.ค.) จะเป็นคืนสุดท้าย
สถานที่ขึ้นกับคอนเซ็ปต์รายการเป็นหลัก ซึ่งของรายการนี้คือ จับคู่รักมาอยู่เกาะ 4 คู่แล้วแยกกันอยู่ ห้ามพูดกันเป็นเวลาสองอาทิตย์ ให้แต่ละคู่ใช้เวลาเป็นโสดบนเกาะนี้ไปตลอด โดยจะมีหนุ่มโสด สาวโสดอีกฝั่งละ 10 กว่าคนมายั่วยวนให้สำเร็จให้ได้ มิฉะนั้น จะถูกคัดตัวกลับไปวันละหนึ่งคน จุดประสงค์เพื่อพิสูจน์รักแท้
โลเกชันจึงมีตั้งแต่ เกาะไม้ท่อน แหลมพันวา บางครั้งก็อ่าวฉลอง แหลมพรหมเทพ โดยจะถ่ายทำเป็นช็อตสั้นๆ ส่วนวิธีการทำงานก็ไม่ได้แตกต่างไปจากภาพยนตร์ไทย โดยทางทีมงานไทยจะเป็นคนสำรวจหรือค้นหาให้ได้ตรงตามคอนเซ็ปต์แล้วให้ผู้กำกับมาดู หากพอใจก็จะทำเรื่องขออนุญาตถ่ายทำผ่านไปทางฟิล์ม บอร์ด จากนั้นจึงเตรียมงานให้พร้อมสำหรับทีมงานต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาถ่ายทำ
“เขารู้ว่าประเทศไทยเป็นฮับ ศูนย์กลางในการถ่ายทำหนังอยู่แล้ว เหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นทุกคนเข้าใจว่ามันเกิดได้ มีการตรวจเช็กสภาพอากาศทุกวันขณะถ่ายทำ” นิภาภรณ์ยืนยันความมั่นใจของทีมงานต่างชาติต่อโลเกชั่นแถบอันดามันของไทย
ด้านบริษัท ซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด ของสันต์ เปสตันยี ผู้ประสานงานฝ่ายไทยให้กับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ Oliver Stone เมื่อดูจากโปรไฟล์ของบริษัทแล้วก็ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงได้รับการยอมรับจากผู้สร้างและผู้กำกับชื่อดังระดับโลก
Bridget Jones’s Diary 2 : On the Edge เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาได้ร่วมงาน เริ่มถ่ายในเดือนธันวาคม 2546 เฉพาะในไทยใช้เงินลงทุน 130 ล้านบาท โลเกชั่นที่ได้รับเลือกในเมืองไทยมีอยู่หลายแห่ง เช่น หมู่เกาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลต่างๆ รวมทั้งภูเก็ต เกาะปันหยี ซึ่งเป็นชุมชนกลางน้ำที่ยังคงวิถีดั้งเดิมตามคอนเซ็ปต์ภาพยนตร์
นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์เรื่องใหญ่ Star Wars Episode 3 เป็นการถ่ายที่เรียกว่า Plate Shooting ที่ไม่ได้ถ่ายทำภาพยนตร์จริง แต่ถ่ายเป็นแบ็กกราวนด์เกาะ และทะเลสวยๆ ฝั่งอันดามันของไทยหลายแห่งเพื่อประกอบภาพยนตร์ทำเทคนิคดิจิตอล
ถึงแม้ว่าการเข้ามาถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Beach เมื่อปี 1998 ของค่าย 20th Century Fox ที่อ่าวมาหยา เกาะพีพี จ.กระบี่ จะเกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อผู้สร้าง นักแสดง และบริษัทของสันต์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจากนั้นมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกาะพีพีเพิ่มมากขึ้น ด้วยอยากสัมผัสความงามของหาดทรายในหนังด้วยตาของตนเอง
ก่อนหน้านี้ทะเลอันดามันของไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นโลเกชั่นที่งดงามอยู่แล้ว เห็นได้จากการถูกเลือกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลกหลายเรื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง James Bond 007 Tomorrow Never Dies และ The Man with the golden gun ซึ่งถ่ายทำที่ภูเก็ต พังงา และเกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี
โดยโลเกชั่นในหนังนั้นประทับใจคนดู จนกระทั่งนักท่องเที่ยวพากันเรียกเขาตาปูที่ จ.พังงา ซึ่งใช้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวว่า “เกาะเจมส์บอนด์”
แว่วมาว่าหนังโจรสลัดทำเงินอย่าง Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl ภาคแรกก็เคยสนใจมาถ่ายทำที่ทะเลไทยเหมือนกันและถึงขั้นติดต่อมายังบริษัทของสันต์แล้ว แต่เกรงว่าจะมีปัญหาประท้วงสิ่งแวดล้อมอย่างกรณี The Beach ทำให้ทีมผู้สร้างไปถ่ายทำยังทะเลแคริบเบียนเหมือนชื่อเรื่องแทน รวมทั้งภาคสองที่เริ่มถ่ายมาตั้งแต่ต้นปีและคาดว่าจะสำเร็จทันออกฉายในปีหน้า
จากปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า กอปรกับประเทศคู่แข่งทั้งในและต่างภูมิภาคที่สนใจและให้ข้อเสนอที่ดีกว่าแก่ทางผู้สร้างในแง่กฎหมายและการลดหย่อนภาษี ทำให้ไทยถูกประเทศเหล่านี้ยื่นข้อเสนอตัดหน้าอยู่บ่อยครั้ง อาทิ ภาพยนตร์เรื่องอนาคอนด้า 2 ตอนแรกจะมาถ่ายทำในไทย แต่เมื่อฟิจิยื่นข้อเสนอดีกว่าให้ ทำให้ผู้สร้างเปลี่ยนใจไปถ่ายทำที่ฟิจิแทน
โลเกชั่นไทยๆ ที่ไปเหมือนเพื่อนบ้าน
รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กล่าวว่า ไทยมีทั้งหมด 76 จังหวัด และมีจังหวัดที่ถูกถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมาแล้วถึง 55 จังหวัด
เชื่อหรือไม่ว่าสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ (location Shooting) ยอดนิยมคือ เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และอยุธยา ตามลำดับ
นอกจากจะคล้ายกับพม่าแล้ว เชียงใหม่และเชียงรายยังเป็นโลเกชันที่นิยมใช้เป็นฉากในประเทศจีนบ่อยครั้ง อาทิ พื้นที่หมู่บ้านสันติคีรี ( กองพล 93 ก๊กมินตั๋ง ) บนดอยแม่สลองในจังหวัดเชียงรายที่มีหมู่บ้านชาวจีนอพยพ ปลูกไร่ชาและมีดอกไม้บานในฤดูหนาวสวยงาม
หรือจะเป็นภาคใต้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสก ดินแดนที่ถูกเรียก “กุ้ยหลินเมืองไทย” ในเขตอ.คีรีรัฐนิคม อ.พนม และอ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูนสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยหุบลึก ร่องลำธาร ถ้ำ และน้ำตก ใจกลางผืนป่าเขาสก คือเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ซึ่งเกิดจากการกั้นลำคลองแสง จนเกิดทัศนียภาพของทะเลสาบขนาดใหญ่กว่า 1 แสนไร่ และเกาะหลายร้อยเกาะ ธรรมชาติของเทือกเขาหินปูนในทะเลสาบที่งดงามไม่ต่างจากเมืองกุ้ยหลินในประเทศจีน ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติต่างเคยมาใช้ที่นี่เป็นโลเกชันแทนกุ้ยหลินมาแล้วทั้งนั้น
นอกจากนี้ ยังมีโลเกชันเขาหินโบราณ ที่บ้านผางาม ต.ปวนพุ อ.หนองหิน จ.เลย ซึ่ง ได้รับฉายาว่า "คุนหมิงเมืองไทย" เนื่องจากไปมีลักษณะคล้ายคุนหมิงที่เมืองจีนนั่นเอง
สมแล้วกับที่บริษัทประสานงานภาพยนตร์ต่างประเทศของไทยมักตอบอยู่เสมอ เมื่อลูกค้าตั้งคำถามว่า ทำไมต้องถ่ายภาพยนตร์ในเมืองไทย ?
นั่นก็เป็นเพราะความหลากหลายของโลเกชัน
ไม่ว่าจะพม่า เขมร ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
สถานที่เหล่านั้นพบได้..."ที่เมืองไทย”
***********
*ภาพบางส่วนจาก santafilm.com