สุมินตรา ราศี ภาณุมิตร พัชรา และอีกหลายๆชื่อที่ผู้ประกาศทำหน้าที่อ่านรายชื่อของบรรดานักเรียนหญิงและนักเรียนชายในชุดครุย สวมหมวกติดพู่กำลังเข้าแถวเตรียมย่างก้าวเล็กๆเข้าไปเอื้อมคว้าแผ่นกระดาษ พร้อมกับสาวเท้าถอยหลังเดินลงจากเวที
บรรยากาศเหล่านี้ดูจะไม่แปลกตาประหลาดใจสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา หากบนเวทีนี้บรรดาบัณฑิตที่เดินขึ้นไปรับวุฒิบัตรเป็นเพียงเด็กเล็ก เรียกตัวเองว่า "บัณฑิตน้อย" ผู้ซึ่งกำลังสำเร็จการศึกษาระดับชั้นอนุบาล 3 เตรียมที่จะเลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1
จากงานรื่นเริงเล็กๆเพื่อให้เด็กได้แสดงออก หลายปีที่ผ่านมาโรงเรียนอนุบาลต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ได้สร้างค่านิยมใหม่ทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กไทยผ่าน "พิธีมอบวุฒิบัตรนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 3"โดยมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องสูญเสีย เพื่อแลกกับความชื่นมื่นที่ได้เห็นลูกเล็กในชุดครุยแบบผู้ใหญ่
ท่ามกลางกระแสการจัดงานดังกล่าว แท้จริงแล้วคนในสังคมให้คุณค่าของงานบัณฑิตน้อยอย่างไร.....
บัณฑิตน้อย เบื้องหลังความภูมิใจของใคร ?
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับปริญญาบัณฑิตน้อยของโรงเรียนอนุบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านลาดพร้าว ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เข้าสู่การแสดงของเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นอนุบาล หลังเวทีเต็มไปด้วยบรรดาคุณแม่และผู้ปกครองนักเรียนระดับอนุบาลชั้นอื่นที่มาร่วมงาน
แม้ลูกชายคนเดียววัย 3 ขวบจะยังไม่ถึงเวลารับบัณฑิตน้อย ทว่า บุญวิสาห์ คุณแม่ของน้องดีม - ด.ช.ปุณณวิชญ์ ทักษิณาสัมพันธ์ พร้อมครอบครัวยกกันมาเกือบทั้งบ้านเพื่อชื่นชมการแสดงของลูกชายและหลานรัก
"มากัน4คน มีแม่ น้องดีม น้า หลานชาย เสียคูปองเข้างานรายละ 300 บาท วันนี้มาดูลูกแสดงเต้นเพลงเราเป็นเพื่อนกัน" อีกไม่กี่ปีลูกของเธอก็จะได้รับบัณฑิตน้อย เธอมองเด็กหลายคนที่มารับบัณฑิตน้อยวันนี้ว่า
"การที่โรงเรียนพยายามให้มีการรับปริญญาของเด็กเหมือนกับเป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ผู้ปกครองได้ชื่นใจมากกว่า ว่าลูกเราจบ ได้ใส่ชุดครุยเหมือนผู้ใหญ่ คิดว่าเป็นการเลียนแบบผู้ใหญ่ ถามว่าในความน่ารักก็ดูน่ารัก แต่ว่าเด็กบางคนคงไม่รับรู้ลึกซึ้งว่าเค้าจบตรงนี้ มีความภูมิใจแค่ไหน บางคนรู้สึกภูมิใจกลับไปเล่าให้ปู่ย่าตายายฟัง"
คำตอบที่ว่าการจัดงานบัณฑิตน้อยไม่เป็นการฟุ่มเฟือยดูเหมือนจะไม่ใช่แค่ครอบครัวเดียว ครอบครัวของน้องคิว ชั้นอนุบาล 3 ซึ่งมาพร้อมหน้าคุณพ่อ คุณแม่ และคุณยายก็เช่นนั้น
"ลูกคนเดียวภูมิใจและประทับใจโรงเรียนอบรมเด็กได้ดี ทันสมัย" พ่อของน้องคิวกล่าวพร้อมถามน้องคิวว่า "ตื่นเต้นไหมลูก" แต่ดูเหมือนด้วยวัยของเด็ก จึงยังไม่เข้าถึงบรรยากาศของงาน มีเพียงความรู้สึกสนุกเท่านั้น
คุณแม่เสริมขึ้นมาว่า "ไม่คิดว่าฟุ่มเฟือย 3 ปีครั้ง เสียค่าใช้จ่ายนิดหน่อย ทางโรงเรียนถามความเห็นจากผู้ปกครองก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดงาน ผู้ปกครองเห็นว่าควรจะจัดงานรูปแบบใด ค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับงานหรือไม่ คุยกับผู้ปกครองโรงเรียนอื่นจะเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ แต่ที่นี่เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก"
คุณพ่อแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า "ถามว่าหากไม่มองเรื่องอายุ หรือระดับการศึกษาของเด็ก มันก็เป็นกิจกรรมของเค้าในการรับปริญญาบัตร หรือมีความรู้สึกว่าเค้าทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จดีขึ้น มุ่งมั่นว่าทำอะไรแล้วจะประสบความสำเร็จไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปสรรค มีจุดมุ่งหมายในชีวิตดีขึ้น ภูมิใจในงานบัณฑิตน้อย"
"ไม่มีของรางวัล คิดว่าไม่อยากผูกติดให้ลูกรู้สึกว่าทำอะไรแล้วต้องได้สิ่งตอบแทน ทำเพื่อตัวเค้าเอง สิ่งที่เค้าได้คือวันนี้ เวลาได้ใบประกาศอะไรก็ตามจะอธิบายให้เค้าฟังว่านี่คือผลงานของเค้า สิ่งนี้จะทำให้หนูอยู่ในสังคมด้วยความภาคภูมิใจ เราไม่ได้อยู่กับเค้าตลอด ไม่เคยสอนลูกให้เป็นคนเก่ง ต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่พยายามสอนให้ลูกเป็นคนดี อยู่ในสังคมได้ ช่วยคนที่ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า รักผู้ใหญ่มากๆ"
บนเวทีนอกจากขึ้นไปรับบัณฑิตน้อย น้องคิวบอกว่ายังทำหน้าที่โฆษก "ตื่นตั้งแต่ 7 โมงเช้า วันนี้เป็นวันรับวุฒิบัตร ซ้อม 5 วัน ขึ้นไปรับดีใจ ภูมิใจ ชุดนี้ใส่แล้วเท่ สบาย"
วราภรณ์ งามวุฒิพร พร้อมสามีและลูกชาย มาให้กำลังใจน้องเฮอร์คลูกชายอีกคนที่ขึ้นไปรับวุฒิบัตรบัณฑิตน้อย
"มาร่วมกิจกรรมของทางโรงเรียนทุกปี ปีนี้พิเศษตรงนี้น้องเฮอร์ค จบอนุบาล 3 รับวุฒิบัตรของตัวเองน้องตื่นเต้น ซ้อมการแสดงให้ดู 2 รอบ เต้นให้ดูว่าทำได้ไม่ลืมถึงนอน สบายใจว่าทำได้ นอนแต่หัวค่ำ ตื่น 6 โมงตื่นเช้ามาก รู้ว่าต้องตื่นเช้า เพราะต้องส่งตัวตั้งแต่ 8 โมงถึง 8 โมงครึ่ง"
"ไม่คิดว่าเป็นการฟุ่มเฟือย เป็นแค่กิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้ผู้ปกครองมาเจอกัน คิดว่ามันได้มากกว่าเสีย" คุณแม่ยังสาวสาธยายค่าใช้จ่ายต่อว่า"ค่าใช้จ่ายคนละ 300 บาทถือว่าไม่แพง เราเคยจัดงานรู้ว่าต้องมีอะไรบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่มีอะไร ชุดครุยของผู้ใหญ่เคยเช่า 800 บาท เด็ก 200 บาทถือว่าแพงนิดหน่อย คนไม่เคยมีลูกคิดอีกแบบ แต่สำหรับเราคิดว่าเป็นก้าวแรกของลูก สำหรับการเรียนของเด็กอันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเค้าที่จะให้ความมั่นใจกับเด็ก จะได้รู้สึกว่าเรียนจบด้วยความภาคภูมิใจที่จะได้เลื่อนชั้นไปเรียนระดับประถม และชั้นสูงๆต่อไป"
ด.ช.ราศี หรือน้องเฮอร์คนั่งอยู่ข้างๆบ่นหิวเนื่องจากปกติรับประทานข้าวเช้าประจำ แต่วันนี้ตื่นเช้าจึงไม่ได้รับประทานมาก่อน เด็กชายวัย 6 ขวบส่งเสียงเจื้อยแจ้วว่า "วันนี้มาเต้นเงาะ และรับปริญญา ตื่นเต้น ชอบ ใส่ชุดสีฟ้าเท่ วันนี้สนุกมาก" ถึงตอนนี้คุณแม่เสริมว่า "เด็กคงไม่คิดว่าเค้าจะรับปริญญา เป็นจุดดีของเด็ก ไม่คิดว่าคงจะต้องจากเพื่อนแล้ว สนุก ถ้าเป็นเรารู้สึกว่าต้องสูญเสีย บรรยากาศทำให้ต้องล่ำลาจากกัน"
เมื่อหลายปีก่อน สุนีย์ เล่ารุ่งโรจน์ คุณแม่วัย 44 ปีของลูกๆทั้ง 4 คน น้องฟินอายุ 11 ปี น้องพันซ์ อายุ 10 ปี น้องฟรองอายุ 10ปี และน้องเบย์ น้องนุชสุดท้องที่กำลังจะขึ้นชั้นอนุบาล 2 บรรดาลูกๆ 3 คนแรกของสุนีย์ล้วนผ่านการพิธีรับบัณฑิตน้อยมาแล้วทั้งสิ้น
"ลูก 3 คนแรกรับบัณฑิตน้อยทุกคน 2 คนแรกรับที่โรงเรียน พอถึงคนที่ 3 เปลี่ยนมาจัดที่โรงแรม ซึ่งมีความพร้อมเรื่องสถานที่มากกว่า ระยะหลังทางกระทรวงไม่ต้องการให้มี เพราะดูฟุ่มเฟือย จึงเปลี่ยนมาจัดแบบเงียบๆ มีจดหมายถามความเห็นผู้ปกครองควรจัดงานหรือไม่"
สุนีย์นึกย้อนเล่าบรรยากาศในงานบัณฑิตน้อยให้ฟังว่า "ปกติเป็นแม่บ้านไม่ค่อยได้ออกงานสังคม ไม่มีชุดเป็นทางการ พอมีงานของลูก ซื้อใหม่แต่งให้ดูดี ลูกตื่นเช้าเป็นธรรมดาของเด็ก ดีใจได้ใส่ชุด ผู้ปกครองเด็กในห้องไปกันทุกคน แสดงความยินดีที่ลูกจะได้รับวุฒิบัตร นอกจากรับวุฒิบัตรยังแสดงบนเวที พี่ก็เอาวิดีโอไปถ่ายเก็บไว้ อนาคตเด็กโตขึ้น หยิบมาดูจะได้เกิดความภูมิใจ ตอนนี้ยังเล็กอาจจะไม่เข้าใจอะไรมาก ถ้าหวนกลับมาดู อาจจะเกิดความภูมิใจ ณ วันนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เอิกเกริกถึงกับนำช่อดอกไม้ไปให้ดูเว่อร์ไป"
ความรู้สึกของผู้เป็นพ่อแม่ เพื่อลูกแล้วอะไรก็ไม่เสียดาย "ไม่เลย ค่าใช้จ่ายไม่ได้มากมาย เสียค่าบัตรเข้างานรายละ 300 บาท ความเป็นพ่อแม่ถ้าลูกจะทำอะไรไม่ค่อยเสียดาย ให้ความร่วมมือ ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง ทางโรงเรียนค่อนข้างกันเองกับผู้ปกครอง ไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาก ที่อื่นไม่ทราบ สำหรับอนุบาลปราณีมองว่าไม่ใช่เพื่อธุรกิจ เด็กจบไปมีความผูกพัน อบอุ่นระหว่างครูกับนักเรียน"
คุณแม่ยังสาวกล่าวต่อไปว่า หากมองในด้านความเหมาะสมของเด็กวัยนี้ ต้องมาแต่งครุยแบบผู้ใหญ่ เด็กยังมีวุฒิภาวะเล็กเกินไป "ยังไม่ค่อยเหมาะ มองว่าเด็กยังอยู่ชั้นเล็ก ที่ต้องมาใส่ หรือแต่งตัวแบบผู้ใหญ่ ฟุ่มเฟือยพ่อแม่บางคนมองลูกแล้วเหมือนลูกโต ใส่แล้วดูน่ารัก สำหรับพี่ลูกเยอะ จัดทุกปีรู้สึกธรรมดา"
"โรงเรียนที่มีตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมอาจไม่จัดงานบัณฑิตน้อย ส่วนใหญ่โรงเรียนที่จัดมีแค่ระดับอนุบาล ทางโรงเรียนคงมองว่าเด็กอนุบาล 3 เป็นเด็กโตขั้นสูงสุดของโรงเรียน เมื่อจบทำให้รู้สึกว่าเด็กโตขั้นหนึ่งที่จะไปเผชิญขั้นต่อไป มีวันนี้ให้เด็กภูมิใจจบแล้ว มีกำลังใจ รู้สึกว่าโตขึ้นก้าวเรียนชั้นสูงอีก เห็นจัดเกือบทุกโรงเรียน จบมาแล้วทำเพื่อให้ความสำคัญ เหมือนปริญญาตรีแต่ว่าคนละระดับชั้น"
"บ้านเราให้ค่านิยมเรื่องปริญญา ในสังคมคนยอมรับถ้าไปทำงานที่ไหน ความหวังของคนเป็นพ่อแม่อนาคตก็อยากให้ลูกเรียนสูงที่สุด แต่ถ้าถามส่วนตัวมองว่าความสามารถและประสบการณ์สำคัญกว่า"
โชว์ศักยภาพตลอด 3 ปีในชั้นอนุบาล
ณัฏฐนันท์ รัตน์วลัยเดช ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลจิตรเกษม กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 14 สำหรับการจัดกิจกรรมงานอนุบาลรำลึก โดยในวันงานจะมีการมอบวุฒิบัตรแก่นักเรียนชั้นอนุบาล 3 หรือเรียกว่าบัณฑิตน้อย
"พิธีรับบัณฑิตน้อยเพื่อสรุปความรู้ความสามารถที่เรียนมา 3 ปี ไม่จบอนุบาล 3 รับไม่ได้ เด็กมีจุดเริ่มต้นไปถึงจุดจบ ประเมินผลจบแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง เล่นดนตรีได้ พูดกลอนได้ รู้จักชื่อ เดินมารับวุฒิบัตร คนโตจบไปทำงาน เด็กอนุบาล 3 จบแล้วเลื่อนขึ้นไปเรียนต่อป.1 ให้เด็กรู้จักความสำเร็จในช่วงหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เด็กรู้สึกทึ่งในความสามารถเล็กๆที่ทำได้ เพื่อให้เด็กรู้หน้าที่เบื้องต้น ครั้งหนึ่งในชีวิต อยู่อนุบาลสามารถทำกิจกรรมโชว์ฝีมือให้พ่อแม่ดู"
ครูใหญ่สาธยายถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่ผู้ปกครองให้การสนับสนุนว่า "โรงเรียนเก็บไม่แพง ผู้ปกครองพ่อ-แม่ลงทุนสนับสนุนเรื่องการเรียน การจัดกิจกรรม เรื่องชุด ภาพถ่าย โรงเรียนลงทุนเรื่องของการสอนที่เหมาะสมแก่เด็ก ค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 กว่าบาท ชุดครุยประมาณ 100-200 บาท ค่าปริญญาบัตร 150 บาท ดอกไม้ไม่มีการซื้อข้างนอก ปลูกฝังเด็กเรื่องการใช้ของไทย ไม่ให้ออกนอกประเทศ ค่าถ่ายรูป ประมาณพันกว่าบาท แล้วแต่ความต้องการของผู้ปกครอง จัด 4 โมงเย็นเลิก 2 ทุ่ม งานเลี้ยงเป็นส่วนประกอบหัวละ 270 บาท"
"สังคมภายนอกอาจมองเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แต่ถ้ามองการรับปริญญาของผู้ใหญ่เต็มไปด้วยช่อดอกไม้ก็เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเหมือนกัน ถามว่าคุ้มหรือไม่เด็กบางคนร้องเพลงอนุบาลรำลึก น้ำตาซึมไม่อยากจากกัน ถ้าเค้าอินถือว่าคุ้ม แต่ถ้าเด็กเดินรับเสร็จกลับบ้าน ไม่ได้ซาบซึ้งหรือทำกิจกรรมแสดงความสามารถจึงถึงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย"
อนาคตของกิจกรรมบัณฑิตน้อย"แนวโน้มการจัดบัณฑิตน้อยดูเหตุการณ์อนาคต เท่าที่ทำมา ถ้าเด็กต้องการยังคงทำต่อ ถ้าไม่ต้องการก็ไม่ทำ รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ต่อไปถ้าบัณฑิตน้อยได้รับความนิยมน้อยลง ก็เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นที่ส่งเสริมเรื่องของการเรียนการสอนได้ดี
ความเวอร์ของผู้ใหญ่ครอบงำเด็ก
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติและอาจารย์ภาควิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กิจกรรมรับบัณฑิตน้อยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กระดับชั้นอนุบาล
"การศึกษาระดับชั้นอนุบาลเป็นขั้นของการเตรียมความพร้อม เด็กเรียนจบอนุบาลไม่มีพิธีรีตองมาก แต่ช่วงหลังเมื่อการเรียนระดับอนุบาลมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าการเรียนจบเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ จริงแล้วการเรียนจบระดับชั้นอนุบาลไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ "
"เรื่องของเรื่องเริ่มจากทำเป็นพิธีเล็กๆ มองว่าไม่เป็นไร ตอนหลังกลายเป็นกระแส ชักจะเวอร์และฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ สวมใส่ชุดครุย ทำให้เด็กติดความหรูหราเกินจำเป็น กลุ่มพ่อแม่มี 2 ฝ่าย ทั้งที่นิยมชมชอบและคัดค้าน"
ชุดครุย งานเลี้ยง รูปแบบการจัดงานหรูหราเป็นตัวเน้น ดึงเด็กเข้าสู่แข่งขันด้านการศึกษามากขึ้น
"ครุยเป็นรูปแบบของผู้ใหญ่ เมื่อนำมาให้เด็กใส่กลายเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็ก แข่งกันเรียนจบเพื่อสวมครุย เอาวิธีคิดผู้ใหญ่ เอารูปแบบการแข่งขันของผู้ใหญ่ครอบให้เด็กเข้าสู่แข่งขันด้านการศึกษาสูง ต่อไป โรงเรียนอาจแข่งชุดครุยใครสวยกว่ากัน มองอีกแง่การจัดเลี้ยงโต๊ะจีนเป็นช่องทางทำให้ผู้ปกครองเสียตังค์โดยไม่เกิดประโยชน์ ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าจบขั้นหนึ่งยิ่งใหญ่ ต้องเลี้ยงใหญ่โต ทำให้เด็กติดหรู ติดฟุ่มเฟือย จริงๆเรียนจบก็จบไม่เห็นมีพิธีวุ่นวายเป็นค่านิยม การเลี้ยงน่าจะให้พอดีๆ อย่างพาไปกินไอติม"
อาจารย์อมรวิชช์กล่าวว่าจริงๆแล้วความรู้สึกดี ความสุขในการเรียนของเด็กต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เด็กพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปเรียนชั้นประถมปีที่ 1
"บัณฑิตน้อยเป็นความเวอร์วัตถุนิยมของผู้ใหญ่ เอาความคิดผู้ใหญ่ส่งเสริมการแข่งขันมาครอบให้เด็ก เด็กอนุบาลดูใสดีอยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้เป็นบัณฑิตหน้าแก่ ทุกอย่างไม่เป็นธรรมชาติ การรับบัณฑิตน้อยไม่แสดงความหมายสื่อถึงอะไรได้ ครุยไม่ใช่สาระสำคัญของการเรียนรู้ ความสุขจริงๆไม่ได้วัดจากบัณฑิต ความสำเร็จของการจบอนุบาลคือมีความสุขจากการเรียน ถ้าไม่มีความสุขในการเรียนมาใส่ครุยก็เท่านั้น พ่อแม่ภูมิใจ แต่ที่สำคัญให้ลูกรู้สึกว่าพร้อมมีความสุขอยากเรียนหนังสือ"
อาจารย์อมรวิชช์เปรียบเทียบในต่างประเทศว่า "ต่างประเทศเห็นแต่น้อยมาก ไม่เป็นกระแสมากเท่าบ้านเรา มีพอดีๆเหมือนปาร์ตี้ ไม่ใส่ครุยเวอร์ ไม่น่าทำตาม ถ้าไม่ใช่สาระของการเรียนรู้"
ความบ้าคลั่งปริญญาของสังคมไทย
ในมุมมองของนักวิชาการ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า
"ไม่ค่อยเห็นด้วย ประเด็นเอาเรื่องปริญญาเป็นจุดขายของการศึกษา เป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสม พอเป็นจุดขายเป็นเรื่องธุรกิจมากเกินไป โดยเฉพาะกับเด็กวัยนี้ไม่ควรใส่เรื่องนี้ เด็กไม่ได้ต้องการแต่ผู้ใหญ่ไปกระตุ้น ชี้นำเตรียมการเหมือนเป็นเรื่องที่เหมาะสม มีหลายโรงเรียนพยายามเอาเรื่องนี้เป็นจุดขายของโรงเรียน จุดขายน่าจะเป็นตัวความคิด อันนี้เอาความฟุ่มเฟือยมาเป็นจุดขาย เอาผู้ปกครองมาดูแล้วเหมือนถูกต้อง จริงๆแล้วไม่เหมาะสม น่าจะหยุดตั้งนานแล้ว"
สะท้อนภาพกว้างของสังคมไทยทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีปริญญา "ไปหลายประเทศไม่เคยเห็นสังคมไหนบ้าปริญญาเท่านี้ ต่างประเทศเน้นความพร้อมพัฒนาการของเด็ก เด็กอนุบาลไทยใส่เสื้อครุยไปรับปริญญา สะท้อนความบ้าคลั่งทางปริญญาบัตรของสังคมที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่อนุบาล เป็นค่านิยมที่ไม่ควรปลูกฝังในตัวเด็ก"
ขาดหน่วยงานดูแลกลายเป็นค่านิยมแพร่หลาย "แพร่กระจายเพราะไม่มีใครออกมาให้ความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ตรงไปตรงมา ขนาดอนุบาลยังเท่านี้ ระดับอื่น ยิ่งมาก ทำให้คนทำทุกอย่างไม่คิดว่าผิดหรือถูกทุจริตเพื่อเอาปริญญา ซึ่งตรงนี้คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าไปใส่ค่านิยมที่ไม่ดี ที่ไม่เหมาะสมลงในความคิดของเด็ก เด็กไม่รู้ตรงนี้ แต่ผู้ใหญ่กำลังใส่มโนทัศน์ลงไป ไม่มีสังคมไหนเอาเรื่องปริญญาบัตรมาขายในสังคมไทย
"มีการแข่งขันยิ่งทำให้เด็กกระตุกอยู่ตลอดเวลา ด้วยระบบไปเร่งเด็ก เด็กต้องแข่งขันให้ได้เกรดดี เรียนเพื่ออะไร สูญเสียความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมชาติไปครึ่ง อย่าทำลายลูกด้วยระบบการศึกษาแบบนี้ ตอนเด็กไม่มีอะไรแต่โตขึ้นจะมีผลยาว เด็กจริงๆมีเพื่อนมีสังคม เล่าด้วยกันรู้จักการแบ่งปันถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้าใส่เรื่องการแข่งขันทำให้มีผู้แพ้ชนะได้เปรียบเสียเปรียบสร้างความเห็นแก่ตัว มองเชิงปริมาณเป็นหลัก ปริญญาที่เกร่อขึ้นมาสะท้อนความรุนแรงของการแข่งขันทางการศึกษา มันยังไม่ถึงวัยที่จะเข้าไปสู่ความบ้าครั่งทางการศึกษา ให้คนแข่งขันสู้กัน เด็กควรเรียนอย่างธรรมชาติ ร่าเริง ไม่ใช่เรียนเพื่อผลพลอยได้ของการศึกษา"
เรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล "พ่อแม่อย่าไปใส่ในให้ความสำคัญ พอใส่ใจคุณค่าอื่นๆที่จะได้รับจากโรงเรียนหาย เจ้าของโรงเรียนควรมีจิตสำนึกมากกว่านี้ในการทำอะไรเกี่ยวกับเด็กหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีบทบาทมากกว่านี้ ผมว่าในส่วนของกระทรวงศึกษา สช.ต้องมาดูประเด็นนี้ เรื่องบางเรื่องไม่เหมาะกับเด็กวัยนี้แต่ก็ปล่อย โรงเรียนที่ทำควรหยุดดูคิดว่ากำลังทำอะไรกับเด็กรุ่นจิ๋ว"
ด้าน อนุสรณ์ ไทยเดชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า "เรื่องนี้มีมานานแล้ว และได้แจ้งไปตามโรงเรียนว่าไม่เหมาะสม ทางโรงเรียนแจ้งว่าเป็นความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งตามหลักแล้วไม่ถูกต้อง แต่หากการจัดกิจกรรมบัณฑิตน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กพัฒนาตนเองไปถึงระดับการศึกษาสูงขึ้นไป สามารถรับได้ ตรงข้ามหากเป็นการบังคับผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเป็นการฟุ่มเฟือยถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้"